ปกิณณกธรรม ตอนที่ 78


    ตอนที่ ๗๘

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ โดยมากเรามักจะคิดถึงความเป็นเราที่จะพยายาม แต่ตามความจริงถ้าเรารู้ถูกต้องว่า มีใครจะพยายามนอกจากสภาพธรรมทั้งหมด เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ เมื่อไหร่เราจะละความเป็นเราที่จะพยายาม แล้วค่อยๆ รู้ความจริงของสภาพธรรม ไม่อย่างนั้น ประโยชน์ของการเรียนอภิธรรมก็จะน้อย เช่นเราเรียนว่า วิริยะเกิดกับจิตกี่ดวง ก็เป็นเครื่องเตือนแล้วว่า อย่างไรก็มีวิริยะ แต่วิริยะขณะนั้นที่เกิดเป็นสัมมาหรือเป็นมิจฉา เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ทุกอย่างที่มีที่ปรากฏที่เรียนมาทั้งหมด คือขณะนี้เดี๋ยวนี้ ถ้าสติปัฏฐานเกิดระลึกก็สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เราเรียนแล้ว เพื่อที่จะละความเป็นเรา แต่ว่าก็ยาก เพราะว่าโลภะครอบงำเป็นครูเป็นศิษย์ด้วยกัน มีชีวิตต่อไปเรื่อยๆ นานแสนนาน เดี๋ยวเป็นครูเดี๋ยวเป็นศิษย์ ตามกันไปตามกันมา

    ผู้ฟัง วิริยะที่เป็นสัมมัปปธานนั้นแสดงว่า ความเพียรในการที่จะระวังสังวรไม่ให้อกุศลที่ยังไม่เกิดได้โอกาสเกิดขึ้น จะต่างอย่างไรกับความเพียรในการที่จะละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้น วิริยเจตสิกเกิดกับสัมมาสติเท่านี้จบเลย เพราะว่าขณะอื่นก็ไม่ใช่ ขณะอื่นก็เป็นเราที่เพียรจะเว้น ละอกุศลซึ่งยังไม่เกิดหรืออกุศลซึ่งเกิดแล้ว หรือเจริญกุศลซึ่งยังไม่เกิดหรือรักษากุศลที่เกิดแล้ว เพราะฉะนั้นทั้งหมดที่เป็นเรื่องของธรรมทั้งหมดจากการตรัสรู้ ก็ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเป็นความเพียรในเรื่องทานไม่ใช่สัมมัปปธาน ไม่ได้เกิดกับสัมมาสติ แต่ชั่วขณะที่สัมมาสติเกิดพร้อมวิริยะ วิริยะทำกิจ ๔ อย่างซึ่งเป็นกิจของสัมมัปปธาน ไม่ใช่เป็นเราที่จะทำทีละอย่าง ๒ อย่าง แต่ในขณะที่สัมมาสติเกิดนั้นเอง วิริยะขณะนั้นเป็นสัมมัปปธานทั้ง ๔

    ผู้ฟัง ดูเหมือนกับว่าสัมมัปปธานทั้ง ๔ จะไม่เกิดพร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ เวลาที่สัมมัปปธานทั้ง ๔ เกิด เช่น สัมมาสติเกิด ขณะนั้นละอกุศลที่ยังไม่เกิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จะเหมือนกับวิรตีไหมว่า เวลาที่วิรตีเกิดขึ้นแล้วก็มีการระลึกรู้ลักษณะของวิรตีขณะนั้นก็เป็นมรรคมีองค์ ๖ ด้วย

    ท่านอาจารย์ วิริยเจตสิกต่างกับวิรตีเจตสิก หน้าที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ความหมายของศีลอีกอย่างหนึ่งคือไม่ก้าวล่วง ขณะใดที่ไม่ก้าวล่วง ขณะนั้นไม่ได้หมายความว่าไม่มีศีล แต่ไม่ใช่ศีลที่เป็นวิรตีเจตสิก นี่ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการเรียนสมัยนี้ เรียนเรื่องราวมาก แล้วพยายามหาตัวธรรมว่าตัวธรรมนี้เป็นอะไร ตรงไหน อย่างไร แต่ความจริงสภาพธรรมทำหน้าที่ของสภาพธรรมของเขาเอง ทรงแสดงความต่างของขณะที่เป็นสัมมาสติ หรือการอบรมเจริญสติปัฏฐานว่า ขณะนั้น มีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยคืออะไร แต่ว่าทำหน้าที่ต่างกับขณะอื่นอย่างไร เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาก็ต้องรู้ตามลำดับด้วย มิฉะนั้นเราก็จะไปหาเบื้องปลายเรื่องราวใหญ่โตเยอะแยะ และก็มาหาตัวจริง เหมือนกับโลภะเลย พอบอกว่ามี ๘ ดวงก็หาตัวอย่างว่า ๘ ดวง ดวงไหนดวงที่ ๑ เป็นอย่างไร ดวงที่ ๒ ดวงที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ เป็นอย่างไร แต่เวลาที่ขณะนี้โลภะเกิด เป็น ๑ ใน ๘ หรือเปล่า แล้วทำไมเราจะต้องไปหาในเมื่อกำลังมีให้รู้ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงไม่ใช่เป็นเพียงการศึกษาเรื่องราวให้ครบจำนวน แต่ว่าเป็นเรื่องที่เมื่อสภาพธรรมนั้นเกิดปรากฏก็ให้รู้ความจริงว่า ขณะที่มีความเห็นผิด หรือมีความเข้าใจผิด ต่างกับขณะที่ไม่มีความเข้าใจผิด ไม่มีความเห็นผิด เพราะฉะนั้นโลภะ ๒ อย่างนี่จึงต่างกันตามสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะค่อยๆ เข้าใจจากตัวเราเองใช่ไหม เวลาที่มีความติดข้องในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส นี้โสมนัสหรืออุเบกขา ก็เป็นความรู้สึกจริงๆ ซึ่งสามารถที่จะเข้าใจได้ในขณะนั้น และความจริงก็หลากหลายมากตามความวิจิตรของจิต ตามความวิจิตรของอารมณ์ตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แต่ทรงประมวล เป็นประเภทใหญ่ได้แก่โลภมูลจิต ๘ ซึ่งขณะใดที่เกิดขณะนั้นเราก็รู้ก็คือไม่ต่างจาก ๘ นั่นเอง เพราะฉะนั้นการศึกษาจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็จะทำให้เราไม่ลืมสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยที่ไม่ต้องไปท่อง หรือว่าไปจำว่าแต่ดวงได้แก่อะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ขอความกรุณาท่านอาจารย์อธิบายถึงการที่เราจะพิจารณาสภาพธรรมที่เป็นรูป ที่กาย ที่ภายใน ที่เรายึดถือว่าเป็นเรา เสมอกับ รูปที่เป็นรูปภายนอก

    ท่านอาจารย์ รูปที่กายของเราที่เป็นภายในมีลักษณะอย่างไร

    ผู้ฟัง ถ้ากระทบสัมผัสก็มีลักษณะของธาตุ ๓ ก็คือ ไม่อ่อนก็แข็ง ไม่เย็นก็ร้อน และ ไม่ตึงก็ไหว

    ท่านอาจารย์ แล้วรูปภายนอก

    ผู้ฟัง ไม่แตกต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ใช่ไหม พิจารณาจนกว่าไม่แตกต่าง สิ่งที่เรียนมาทั้งหมด เป็นความจริงเวลาที่สภาพธรรมปรากฏมีการระลึก จึงรู้ความจริงว่า รูปเป็นรูป ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก รูปไม่สามารถที่จะรู้อะไร

    ผู้ฟัง การจะเป็นผู้ที่มีสติเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ที่จะมีการพิจารณาสภาพธรรมในขณะที่เดิน นั่ง ยืน นอน ในชีวิตประจำวันเพื่อเป็นการอบรมเจริญปัญญา รบกวนขยายความ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังทำอะไร อิริยาบถไหน

    ผู้ฟัง ถ้าโดยบัญญัติ ก็เป็นท่านั่ง

    ท่านอาจารย์ เป็นปกติหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นปกติ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ไม่ต้องขัดสมาธิ สติก็สามารถจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมได้ เมื่อเป็นสติสัมปชัญญ ะ เป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่เรา ไม่ต้องเตรียมตัว ไม่ต้องทำอะไรเลย ขึ้นอยู่กับว่ามีการระลึกหรือไม่ เวลานี้ปัญหามี ๒ อย่างสภาพธรรมก็เกิดดับเป็นปกติของสภาพธรรมทุกอย่าง สติระลึกหรือไม่ระลึก ก็เท่านี้ แต่เปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้เลย ขณะนี้ถ้าสติเกิดก็เกิด สติไม่เกิดก็ไม่เกิด ก็เป็นปกติ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์แสดงว่า ในสมัยนี้มีการศึกษาขั้นปริยัติ มีการศึกษาเรื่องราวกันเยอะ คือศึกษาชื่อของธรรม แล้วก็หาตัวอย่างกันว่าชื่อของธรรม มันเป็นอย่างไร มีความสงสัยว่า ถ้าไม่ศึกษาในลักษณะเช่นนั้นแล้ว ในเมื่อสติปัฏฐานยังไม่เกิด ก็หมายความว่า จะนำเอาสภาพธรรมที่รู้อยู่แล้ว ที่ไม่ใช่เป็นขั้นสติปัฏฐาน แล้วก็เอาชื่อเข้าไปใส่หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าการศึกษาธรรม อย่าเข้าใจว่า ศึกษาชื่อ อันนี้สำคัญที่สุด ต้องรู้ว่า ธรรมขณะนี้มีจริงๆ การศึกษาเรื่องราวของธรรมเพื่อให้เข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรม แม้แต่คำว่าธรรมคำเดียว ถ้าเราไตร่ตรองจริงๆ ว่า เรารู้จักธรรมหรือยัง เพียงความหมายของคำว่าธรรม เป็นสภาพที่มีจริงๆ ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย เรารู้จักลักษณะนี้หรือยัง และธรรมก็มี ๒ อย่างคือ นามธรรมอย่างหนึ่ง กับ รูปธรรมอย่างหนึ่ง เรารู้จักสภาพ ๒ อย่างนี้จริงๆ หรือยัง แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าการศึกษาของเราทั้งหมดเพื่อรู้ความจริงอันนี้ เราก็จะศึกษาเรื่องราว ซึ่งเราควรจะรู้ว่า เราสามารถประจักษ์หรือรู้ได้ไหม หรือเราเพียงแต่จำได้ ใครถามเราก็ตอบได้ อยู่หน้านั้น หน้านี้ในพระไตรปิฏก แต่ว่าปัญญาของเราสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะนั้นหรือเปล่า เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ก็เพื่อให้รู้ว่าธรรมเป็นจริงอย่างแน่นอน ละเอียด และลึกซึ้งแล้วก็สุขุมจริงๆ แต่ความรู้ของเราจะถึงระดับไหน ที่เราสามารถที่จะประจักษ์สิ่งนั้นได้หรือเปล่า ถ้าเราประจักษ์สิ่งนั้นไม่ได้ แล้วเราก็เรียนเพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่าไม่ใช่เรา ยิ่งเรียนละเอียด ยิ่งรู้ว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นขั้นคิด ซึ่งจะเกื้อกูลเวลาที่สติปัฏฐานเกิด เมื่อสติปัฏฐานเกิด สิ่งที่เราเข้าใจ ไม่ใช่สิ่งที่เราจำ เพราะฉะนั้นการเรียนนี้จะมี ๒ อย่าง คำเดียวแต่เข้าใจลึก เข้าใจไปตลอดในคำนั้น คำว่าธรรม ทุกอย่าง ปัจจัยก็เป็นธรรม อะไรๆ ก็เป็นธรรม ธาตุ อายตนะ ขันธ์ ปฏิจจสมุปปาท ทุกเรื่องที่มีในพระไตรปิฏกเป็นธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นความเข้าใจของเราในธรรม เราเข้าใจเพียงเรื่องราว หรือว่าในทั้งหมดเช่นคำว่า อายตนะ อายตนะ ๑๒ ใช่ไหม ตอบได้เลย และความเป็นอายตนะ เมื่อไหร่ อย่างไร เราไตร่ตรองไหม หรือเราเพียงจำว่าอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ ตอบได้มีอะไรๆ บ้าง แต่ถ้าเราพิจารณาว่า อายตนะนี้คือเมื่อไหร่ เช่น ขณะที่เรานอนหลับสนิทมีจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีจิต แต่ไม่มีอารมณ์ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นอายตนะหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นอายตนะอะไร

    ผู้ฟัง เป็นมนายตนะ กับธัมมายตนะ คืออารมณ์ของภวังคจิต

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าอารมณ์ของภวังคจิต เป็นธัมมายตนะหรือ

    ผู้ฟัง รู้โดยเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ เรื่องเป็นธัมมายตนะ แล้วจะรู้ไหมว่าจิตขณะที่เป็นภวังค์ อารมณ์เป็นธัมมายตนะ หรือเป็นอะไร เพราะว่าขณะนั้นก็จะมีจิตกับเจตสิก เจตสิกเป็นธัมมายตนะหรือเปล่า ไม่มีเจตสิกแล้วมีจิตได้ไหม ไม่มีจิตแล้วมีเจตสิกได้ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะเข้าใจอายตนะอื่น เช่นเวลาเห็น ต้องมีจักขุปสาทเป็นจักขายตนะ ต้องมีรูปารมณ์เป็นรูปายตนะ ๒ อย่างพอไหม

    ผู้ฟัง ไม่พอ

    ท่านอาจารย์ มีอายตนะอะไรอีกตรงนั้น

    ผู้ฟัง มนายนะ คือวิญญาณจิต

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเข้าใจว่า ธรรม แต่ละคำที่เราได้ยินได้ฟัง เพื่อประจักษ์แจ้ง เพื่อเข้าใจขึ้น จะได้ไม่ลืม แต่ตราบใดที่เป็นเพียงตัวหนังสือ อย่างไรๆ ก็ลืม เป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่าเราเรียนเพื่อเข้าใจธรรม แม้แต่ความเป็นอายตนะ ความเป็นธาตุ และความเป็นปัจจัยต่างๆ เพื่อให้เข้าใจกว้างขวางลึกซึ้งขึ้นจากสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง แต่ต้องด้วยความเข้าใจ เข้าใจเพื่อเวลาที่สติปัฏฐานเกิด แม้สภาพธรรมปรากฏ เกื้อกูลต่อการละคลายความเป็นเรา ถ้าปัญญาของเราไม่พอจากการฟัง จนกระทั่งเห็นความเป็นอนัตตาเพิ่มขึ้น อะไรจะไปคลายความติดข้องในสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น เพราะโลภะติดทุกอย่างที่ปรากฏ แม้แต่ว่าไม่มีอะไรเลย เป็นแต่เพียงธาตุร้อนซึ่งปกติธรรมดาที่ตัว มีใครมีธาตุร้อนบ้าง ปรากฏบ้างไหม เวลาบอกว่ามี มีเมื่อไหร่ มีเมื่อปรากฏ เกิดแล้วดับแล้วโดยที่จิตไม่รู้เลย เพราะว่ารูปธรรมที่เกิดจากกรรมก็มี เกิดจากจิต ก็มีเกิดจากอุตุก็มี เกิดจากอาหารก็มี แต่รูปใดไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว เพราะมีปัจจัยให้เกิด เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับ แต่ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นการเกิดดับของสภาพธรรม เร็วมาก รูปใดนามใดที่สติไม่ระลึก รูปนั้นนามนั้นก็เกิดแล้วดับแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจากการไตร่ตรอง ก็จะเป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ที่มี

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์แสดงว่า ธรรมที่ปรากฏก็คือธรรมที่มี แต่ธรรมที่ไม่ปรากฏ ถ้ามีก็เหมือนจะไม่มี หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วก็ดับ ตามปัจจัยของสภาพธรรมนั้น อย่างขณะนี้ รูปที่เกิดจากกรรมมี ปรากฏหรือเปล่า ดับหรือเปล่า เกิดแล้วดับแล้วโดยที่ไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง อยากจะทวนความเข้าใจที่ว่า การศึกษาเรื่องของโลภเจตสิก แล้วก็เอาตัวอย่างมาใส่ โลภเจตสิกนี้มีลักษณะอย่างไรตามชีวิตประจำวัน ที่อาจารย์บอกว่าเป็นการหาเรื่องกับเป็นการเข้าใจสภาพธรรม หมายความว่า ถ้ามีความตั้งใจที่จะจำว่า โลภเจตสิกดวงนี้มีชื่ออย่างนี้ แล้วตัวอย่างมันก็เป็นอย่างนี้ นั้นไม่ใช่การศึกษาอย่างถูกต้อง แต่ถ้าเป็นการหาตัวอย่างมาเพื่อที่จะเข้าใจว่า ความจริงแล้วก็มีอยู่ในชีวิตประจำวัน นั้นก็เป็นการศึกษาที่จะมีประโยชน์เกื้อกูลให้สติปัญญาเจริญมากขึ้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โลภมูลจิต ๘ จำได้กันหมดเลย คงจะไม่ลืมไปง่ายๆ เพราะมีเวทนา ๒ อย่างที่เป็นโสมนัสก็มี ที่เป็นอุเบกขาก็มี แล้วที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดก็มี ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิดก็มี ที่เป็นสสังขาริกก็มี อสังขาริกก็มี จำได้ใช่ไหม ๘ ดวง แล้วก็พูดเรื่อง ๘ ดวงนี้เสร็จ ก็มีคนถามเลย อย่างวันนั้นไปที่นั่น มันเป็นโลภมูลจิตดวงไหน นี่คืออะไร เรียนแล้ว ชื่อก็จำได้ แต่ก็ถาม มีทิฎฐิเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า อะไรอย่างนี้ เป็นโลภะหรือเปล่า ก็ถาม แต่เรียนชื่อแล้ว และก็รู้ด้วยว่ามี ๘ แต่ถ้าเขาจะเข้าใจชื่อ ๘ ชื่อ ก็หมายความถึงจิตซึ่งมีโลภะเกิดร่วมด้วย จึงเป็นโลภมูลจิต เวลาที่โลภมูลจิตเกิด เขาจะเกิดร่วมกับเวทนาเพียง ๒ อย่าง คืออุเบกขาหรือโสมนัส ส่วนอสังขาริกหรือสสังขาริก ก็คือว่าต้องเป็นผู้ที่ฟังเข้าใจ จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ จึงจะเข้าใจได้ว่าสสังขาริกคืออย่างไร อสังขาริกคืออย่างไร แต่ขั้นแรก ก็จะรู้จักชื่อ แล้วก็มีการเข้าใจเพียงคร่าวๆ ว่า เป็นสภาพจิตที่อ่อนไม่มีกำลัง หรือว่ามีการชักจูงจึงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการชักจูงของคนอื่นหรือตัวเองก็ได้ ใช่ไหม เข้าใจคร่าวๆ อย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้แล้ว จะถามใคร เรียนไปให้ถามคนอื่น หรือว่าเรียนให้รู้จักสภาพธรรมเป็นความเข้าใจของตัวเองจริงๆ

    ผู้ฟัง ความจริงแล้ว ถ้าเป็นการศึกษาปริยัติข้างต้นๆ แม้จะยกตัวอย่างนั้น ตอนแรกนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าต้องมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าธรรมตามความจริงนั้นเป็นอย่างไรมีลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ศึกษาด้วยความเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง ลักษณะของโลภะคือความติดข้อง ติดข้องทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และก็เมื่อไหร่เกิดร่วมกับโสมนัส เมื่อไหร่เกิดร่วมกับอุเบกขาแล้วไม่ต้องถามใคร

    ผู้ฟัง รบกวนอธิบายตั้งแต่การพิจารณาถึงขั้นสูงที่สุด วิธีการพิจารณา

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมแล้วก็อย่าเพียงจำ ต้องคิดต้องไตร่ตรอง ต้องเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ฟังเพิ่มขึ้นๆ

    ผู้ฟัง การพิจารณา ก็คือมีการคิดมาก่อน เป็นเรื่องราวคือขั้นต้นก่อน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ตั้งแต่ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมรูปธรรม เป็นการที่เราจะต้องรู้ด้วยตัวเอง เพราะว่าลักษณะของนามธรรมก็คือสภาพรู้หรือธาตุรู้ ลักษณะของรูปธรรมก็คือไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย นี่คือคำที่เป็นจริงที่แสดงลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นเราจะไปถามใครไหมว่านี้เป็นนามธรรม หรือนั้นเป็นรูปธรรม ต้องเป็นความรู้ของเราเองที่ค่อยๆ เกิดจากการพิจารณาเข้าใจว่าลักษณะไหนเป็นนามธรรมลักษณะเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง ความหมายของการพิจารณา สติก็เป็นการพิจารณาใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเราเลย ขณะใดที่เป็นโสภณจิต ต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง เรียนอย่างไรไม่ให้ลืม แล้วเรียนอย่างไรจึงจะมีสติเกิด

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจเท่านั้นเอง เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรมคือเป็นสิ่งที่มีจริง และมีลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้นๆ ด้วยซึ่งลักษณะเฉพาะ ก็มีจิต เจตสิก กับรูป

    ผู้ฟัง ก็จำได้ และเข้าใจว่ามีแค่จิต เจตสิก กับรูป แต่ก็หลงลืมสติบ่อยๆ และยังยึดว่าเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นเพื่อน เป็นตัวเอง ก็ยังไม่ได้ละสักที เข้าใจตามปริยัติ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีโสตปสาท จะได้ยินไหม ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างมั่นคงในเรื่องนามธรรมรูปธรรม สติปัฏฐานจะเกิดไหม มีคำที่แสดงไว้ว่า สัญญาความจำที่มั่นคง เป็นปัจจัยให้เกิดสติปัฏฐาน คนก็เอาแค่พยัญชนะนี้ ก็จำแล้ว แล้วทำไมสติปัฏฐานไม่เกิด แต่จำอะไร ใช่ไหม ก็เป็นเรื่องที่แค่พยัญชนะ เขาก็ไม่เข้าใจว่าจำ ต้องเป็นจำสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง สิ่งที่เข้าใจในเรื่องของสภาพธรรม ไม่ใช่ไปจำเรื่องอื่น เพราะฉะนั้น ขณะนี้ความจำของเราเรื่องสภาพธรรม ลักษณะของนามธรรมคืออย่างนี้ ขณะที่กำลังเห็น ขณะที่กำลังได้ยิน เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ซึ่งไม่มีรูปร่างเลย เสียงเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ปรากฏกับจิตที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นจิตเกิดดับ ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ไม่มีอาการปรากฏเหมือนสี เหมือนเสียง เหมือนกลิ่น เหมือนรส เพราะว่าเป็นเพียงธาตุรู้หรือสภาพรู้ ค่อยๆ เข้าใจความต่างของจิตเจตสิก และสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟัง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจ แล้วเราไม่ต้องไปกังวล ถ้าเข้าใจอย่างนี้เราจะลืมไหม ถ้าไม่ลืมก็ต่อไปอีกหน่อย ไม่ลืมก็ต่อไปอีกหน่อย แต่ต้องพิจารณาด้วยความเข้าใจจริงๆ

    อาจจะบอกว่า จำได้แล้ว แต่สติปัฏฐานก็ไม่เกิด ใช่ไหม แค่นี้พอไหม แต่เมื่อไรที่สัมมาสติเกิด เมื่อนั้นรู้เลย มีสัญญาความจำที่มั่นคงพอที่สติจะเกิด แต่ว่ากี่ครั้งมากหรือน้อย นั่นก็เป็นเรื่องซึ่งเราไม่ต้องไปนับ หรือไม่ต้องไปรอ หรือไม่ต้องไปหวัง เพราะเหตุว่าโลภะ จะไม่จากเราไปเลย คอยกระซิบ คอยให้หวัง หรือรอ หรือต้องการอยู่เรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ที่ว่ามีความเข้าใจจรดกระดูกเช่นการฟังในขณะนี้ ก็มีความจำด้วยแล้ว ก็มีความเข้าใจบ้าง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เช่นไม่มีการฟังธรรม อาจจะไปซื้อของช้อปปิ้ง ในขณะนั้น ก็หลงลืมสติ ความจำที่ถูกต้องก็ไม่มี แต่ถ้าเป็นความเข้าใจที่จรดกระดูกหมายความว่า แม้ว่าสติปัฏฐานจะไม่เกิด แต่ก็มีการพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้น ที่เป็นเรื่องราวที่สัมพันธ์กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นอยู่ เพื่อย้ำสัญญาของเรื่องราวของธรรมตามความเป็นจริงเพิ่มขึ้น หรือว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ได้ยินคำนี้ก็สงสัย ต้องการอีกแล้วว่า จรดกระดูกคืออย่างไร ถ้าบอกว่าเข้าใจจริงๆ แค่นี่ได้ไหม เข้าใจจริงๆ คงจะไม่ต้องมีคำอธิบายอื่น

    ผู้ฟัง ถ้าเข้าใจจริงๆ สัญญาที่มั่นคงจริงๆ ตอนช็อปปิ้งจะหลงลืมสติไหม

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้สัญญาอะไรมั่นคง

    ผู้ฟัง อัตตสัญญา

    ท่านอาจารย์ ใช่ ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นอย่างไรๆ ก็เป็นอัตตสัญญา เพราะมีเหตุปัจจัย เพราะว่ามั่นคงมาก

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    23 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ