ปกิณณกธรรม ตอนที่ 103


    ตอนที่ ๑๐๓

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศอังกฤษ

    กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙


    ท่านอาจารย์ มิตรคือ ไมตรีนี้ต้องเป็นเพื่อนกับคนที่เราคบ แล้วเขาก็จำแนกไปเลย คนที่รักหรือคนที่ชัง หรือคนปานกลาง ตรงนี้ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า ต่างระดับกัน

    ผู้ฟัง สรุปคือว่า การที่เราศึกษาธรรมต่างๆ เพื่อละความไม่รู้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพื่อให้เกิดปัญญาความเข้าใจที่ถูกต้อง ความเห็นที่ถูกต้อง เพราะเราพูดกันเปล่าๆ ไปเรื่อยๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล พูดกันเรื่อย แต่ในขณะที่เห็นไม่ใช่ตัวตนอย่างไร ขณะที่ได้ยินไม่ใช่ตัวตนอย่างไร เพราะว่า ถ้าไม่พูดถึงเดี๋ยวนี้ เราก็เพียงแต่เอ่ยลอยๆ เป็นคำที่เลื่อนลอยมาก ถ้าบอกว่า ไม่ใช่ตัวตนโดยไม่มีสภาพธรรมที่แสดงความไม่ใช่เรา หรือไม่ใช่ตัวตนซึ่งกำลังมีอยู่ เพราะฉะนั้นไม่มีสภาพธรรมใดเป็นที่ยืนยันรองรับว่า นี่ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นก็เป็นปัญญาเพียงขั้นคิดที่เลื่อนลอยโดยที่ไม่รู้ว่า อะไรไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง พอได้คุยกับท่านอาจารย์ถึงได้รู้ว่า ตัวเองยังไม่เข้าใจหลักที่แท้จริงของการศึกษาธรรมเลย โดยการเริ่มต้นเราต้องศึกษาปรมัตถธรรมก่อน ต้องเข้าใจก่อนว่า ธรรม คือสิ่งที่จับต้องได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ มีจริงๆ

    ผู้ฟัง มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเห็นก็ได้ อย่างเสียงมองไม่เห็นใช่ไหม แต่อะไรก็ตามที่มีจริง ความโกรธมองไม่เห็นแต่มีจริงๆ ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม เพราะว่าไม่มีใครสร้าง แต่สภาพนั้นมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแน่นอนจึงได้ปรากฏให้รู้ว่ามี

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นสมมติว่า เราเห็นคน นั่นก็คือธรรม

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่าง

    ผู้ฟัง คือทุกอย่างเป็นธรรมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นการที่เราศึกษาแล้วเราก็ต้องนำมาปฏิบัติด้วยถูกไหม ที่เราศึกษาเพื่อให้มีปัญญาใช่ไหม มีปัญญา แต่ไม่เข้าใจว่า อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนคือ ต้องการให้ทุกคน แต่คำสอนจริงๆ ไม่ทราบว่า เข้าใจถูกต้องหรือเปล่าคือ ให้คนหลุดพ้นจากบ่วงตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ทีนี้บ่วงมาจากไหน

    ผู้ฟัง มาจากกิเลสใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องหลุดพ้นจากอะไรด้วย

    ผู้ฟัง จากกิเลส

    ท่านอาจารย์ และกิเลสตัวสำคัญที่เป็นต้นเหตุของกิเลสอื่นคืออะไร มันต้องมีตัวแม่ใช่ไหม พอจะจับได้ไหมว่า อะไรที่เป็นกิเลสที่ทำให้กิเลสอื่นเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ความต้องการหรือความอยาก

    ท่านอาจารย์ ความไม่รู้

    ผู้ฟัง ความไม่รู้

    ท่านอาจารย์ อวิชชาใช้คำว่า “อวิชชา” สภาพที่ไม่รู้ เดี๋ยวนี้ความไม่รู้อยู่ตรงไหน

    ผู้ฟัง ความไม่รู้อยู่ตรงไหน อยู่ตรงที่เราไม่มีปัญญาคือ เราไม่รู้ว่านั่นคือ……

    ท่านอาจารย์ อย่างกำลังเห็น เราไม่รู้ความจริงเลยว่า “เห็น” คืออะไร และสิ่งที่เห็นคืออะไร นี่คือความไม่รู้ กำลังได้ยิน ได้ยินตลอดเลยเป็นเรื่องเป็นราว แต่ความไม่รู้คือ ไม่รู้ว่าได้ยินคืออะไร และเสียงที่กำลังปรากฏคืออะไร เพราะฉะนั้นความไม่รู้มีทั้งวัน แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีความไม่รู้แล้ว เรามีความติดข้องในสิ่งที่เราไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้นกิเลสก็มีมาก จนกระทั่งถ้าไม่มีการฟังพระธรรมเลย ใครจะมาบอกเราถึงเรื่องความจริงอันนี้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้นั้นตรัสรู้ แต่ผู้ที่บอกให้เรารู้ว่า ความจริงสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และมี ๒ อย่างเท่านั้น คือ เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้นอย่างหนึ่ง ใช้คำว่า “รูปธรรม” ส่วนสภาพธรรมอื่นที่ไม่ใช่รูปธรรมนั้นเป็น “นามธรรม” ทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน ธรรมของพระพุทธเจ้าที่ต่างกับศาสนาอื่นทั้งหมดคือ สอนเรื่องสัจจธรรม ความเป็นอนัตตาของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิด ต้องมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดแล้วดับด้วย

    ผู้ฟัง แล้วดับด้วย

    ท่านอาจารย์ อย่างได้ยิน ได้ยินนิดเดียวแล้วดับ เห็นก็ต้องนิดเดียวแล้วดับด้วยเหมือนกัน

    ผู้ฟัง ตรงนี้ไม่เข้าใจว่า เห็นนิดเดียวแล้วดับ ในเมื่อถ้าเรายังไม่หลับ ยังไม่หลับตา

    ท่านอาจารย์ เห็นตลอด

    ผู้ฟัง เราก็ยังเห็นอยู่ เห็นตลอด

    ท่านอาจารย์ ทีนี้คุณหรือใครก็ตาม จะมีจิตพร้อมกันทีเดียว ๒-๓ ขณะไม่ได้ คนหนึ่งจะมีจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว เพราะว่า จิต เป็นสภาพที่รู้ เมื่อจิตเกิด จิตจะต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเขาเกิดขึ้นรู้ เมื่อเขาเกิดขึ้นรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ จะกล่าวว่า เมื่อจิตเกิดเป็นสภาพที่รู้ และไม่รู้อะไร ไม่ได้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เช่น จิตได้ยินรู้อะไร รู้เสียง เสียงจะสูง จะต่ำ จะวี้ดเมื่อกี้นี้ จิตรู้ตลอดเลย จิตรู้ไหมความละเอียดของเสียงของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกันเลย จิตก็รู้ความต่าง นั่นคือความวิจิตรของจิต ซึ่งเขาเป็นใหญ่จริงๆ ในการที่จะรู้ทุกอย่างตามอารมณ์ที่ปรากฏ รู้แจ้งในอารมณ์นั้น คำว่าอารมณ์ อาจจะคิดถึงว่า วันนี้อารมณ์ดี คนนี้หัวเราะยิ้มตั้งแต่เช้าเลย แต่ความจริงถ้าสิ่งที่เขาเห็นได้ยินไม่ดี อารมณ์ดีไม่ได้ในภาษาไทย แต่ว่า ภาษาไทยเอาภาษาบาลีมาใช้โดยไม่สมบูรณ์ คือ เอาปลายเหตุมาใช้ แต่ต้นเหตุคือ สิ่งใดก็ตามที่จิตกำลังรู้ สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต คือ พระธรรม ถ้าเรียนแล้วจะรู้ว่า มีความเพลิดเพลินเบิกบานที่ว่า เป็นสัจจธรรมซึ่งใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แม้แต่คำที่ใช้ๆ คำว่า “อาลัมพนะ” หรือ “อารัมมณะ” ในภาษาบาลี หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ ตลอดทั้ง ๓ ปิฎกจะใช้คำนี้ซึ่งเป็นภาษาบาลี เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วภาษามาทีหลัง สภาพธรรมมีก่อน เพราะว่าถ้าไม่มีสภาพธรรม ภาษาก็มีไม่ได้ ใช่ไหม ใครจะเป็นคนเรียกถ้าไม่มีสภาพธรรม คนก็คือธรรม ความคิดของคนก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมจริงๆ ยังไม่ต้องเรียกอะไรทั้งสิ้น สิ่งนั้นก็มี แล้วใครก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของสิ่งนั้นไม่ได้ เช่น กลิ่นเป็นสภาพธรรมที่มีเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ต้องเรียกกลิ่นแต่ลักษณะของกลิ่นก็ปรากฏโดยกระทบจมูก เสียงไม่ต้องเรียกว่าเสียง แต่ลักษณะของเสียงก็ปรากฏโดยกระทบหู นั่นคือลักษณะของเขา นี่คือธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเป็นธรรมหมด แล้วก็เป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ด้วย ท่านพระสารีบุตรซึ่งเป็นอัครสาวกกล่าวว่า ช่างน่าอัศจรรย์ที่ว่า ธรรมทั้งหมดเมื่อปรากฏแล้ว ก็ตรงตามที่ได้ทรงแสดงทุกอย่าง ไม่ผิดไปเลยแม้แต่ลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีรูปร่างเลย มองก็ไม่เห็น สัมผัสกระทบก็ไม่ได้ แต่จิตมี และจิตเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นต้องเป็นธาตุรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด และจิตสามารถที่จะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด ไม่มีอะไรเลยซึ่งจิตรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นตั้งแต่เกิดจนตายที่ว่า จะเป็นคนชื่อนั้น ชื่อนี้ แท้จริงก็คือ จิต เกิดขึ้นพร้อมกับรูป จิตเกิดขึ้นพร้อมกับรูปชนิดใด เราก็สมมติบัญญัติเรียกว่า เป็นคนเกิด เป็นแมวเกิด เป็นนกเกิด แล้วแต่รูปร่างที่จะทำให้เราสมมติเรียกสิ่งนั้นว่าอะไร แต่ว่าสิ่งนั้นถึงไม่เรียกก็ต้องเป็นอย่างนั้น จิตก็ต้องเป็นอย่างนั้น สภาพธรรมที่เกิดก็ต้องเป็นอย่างนั้น นี่คือ “สัจจธรรม” พอที่จะเข้าใจธรรมไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจ เข้าใจกว้างๆ ว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง ไม่จำเป็นต้องสัมผัสได้ใช่ไหม คือ เข้าใจตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ยกตัวอย่างว่าอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ยกตัวอย่างก็อย่าง เสียง

    ท่านอาจารย์ เสียงเป็นธรรม เพราะ

    ผู้ฟัง เพราะมีจริง

    ท่านอาจารย์ มีจริง ได้ยินเสียง เพราะรู้ว่า เสียงมี

    ผู้ฟัง ใช่ หรือว่าจะเป็นสิ่งของ สัตว์ ต้นไม้ ลำธาร ภูเขา ทุกอย่างเป็นธรรมหมด แต่มีธรรมอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถมองเห็น ไม่สามารถสัมผัสได้ แต่ก็เป็นธรรมเพราะมีจริง นั่นคือ จิต ใช่ไหม อันนี้คือธรรม ตัวธรรมนี้ก็มีมาทั้งเหตุใช่ไหม มีทั้งเหตุ และมีผล มีเกิดแล้วก็มีดับ

    ท่านอาจารย์ ลักษณะที่เกิดแล้วดับแสดงความไม่เที่ยง นั่นคือลักษณะที่เป็นทุกข์จริงๆ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นจิตเองก็มีจิตเกิด แล้วก็จิตดับ

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้น และดับไป

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็เป็นลักษณะอย่างนี้ ถ้าสมมติว่า คนเราพอตาย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ตายจิตเกิดดับหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จิตเกิดดับหรือเปล่า เกิด

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ดับ แล้วก็เกิดอีก แล้วก็ดับอีก แล้วก็เกิดอีก แล้วก็ดับอีก เพราะฉะนั้นจิตจึงมีต่างกันถึง ๘๙ ชนิด

    ผู้ฟัง หมายความว่าอย่างไร ลักษณะ

    ท่านอาจารย์ จิตเห็น จิตเห็นเพราะว่า โต๊ะ เก้าอี้ไม่เห็น รูปเห็นไม่ได้ รู้อะไรไม่ได้ จิตได้ยิน เวลากลิ่นกระทบจิตรู้กลิ่น เวลาที่มีรสกระทบลิ้น จิตรู้รส นี้คือจิตทั้งนั้น แต่ว่า จิตที่เห็นไม่ใช่จิตที่รู้รส ไม่ใช่จิตที่ได้ยิน จิตที่ได้ยินก็ไม่ใช่จิตที่รู้รส เพราะฉะนั้นก็เป็นชั่วขณะ ๑ ซึ่งแสนสั้น ซึ่งเกิดขึ้นทำหน้าที่แล้วดับ และนามธรรมซึ่งเป็นจิต เขาเป็นลักษณะซึ่งเป็นปัจจัยในตัวของเขา ที่ว่า ทันทีที่ดับเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ไม่มีระหว่างคั่นเลย สภาพที่เป็นปัจจัยนี้ใช้คำว่า “อนันตรปัจจัย” หมายความว่า จิตนี้ตัวจิตเองเป็นอนันตรปัจจัยคือ ทันทีที่ดับเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด เพราะฉะนั้นจิตทุกดวงเป็นอนันตรปัจจัย นอกจากจุติจิตของพระอรหันต์ซึ่งดับปัจจัยทุกอย่าง เพราะถ้ายังมีปัจจัยอยู่แม้สักนิดหนึ่งก็ยังเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมเกิดได้ แต่ว่าที่จะไม่มีสภาพธรรมเกิดหลังตายก็คือ จิตขณะนั้นเองไม่มีปัจจัยใดๆ ที่จะทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดอีก แต่สำหรับคนธรรมดามีปัจจัยมาก จิตขณะหนึ่ง ซึ่งเกิดมีปัจจัยมากมายที่จะทำให้ขณะต่อไปเกิดขึ้นเป็นอะไร เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เป็นผลของกุศล อกุศลก็ได้ ซึ่งเราจะต้องทราบละเอียดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยเพื่อรู้ว่า ไม่ใช่เรา เพื่อที่จะได้เข้าใจจริงๆ ว่า ไม่ใช่เราเพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นที่เราใช้คำแทนตัวว่า เรา ก็คือสภาพธรรมทั้งหมดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ที่แบ่งออกเป็นด้วยกัน ๖ อย่างใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เป็นจิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง จิต เจตสิก รูป อันนี้ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้ถามว่า ปรมัตถธรรมมีเท่าไหร่ คือ ปรมัตถธรรมหมายความถึงธรรมที่มีจริงๆ ใครจะเปลี่ยนแปลงลักษณะสภาพธรรมนั้นไม่ได้เลย แล้วสภาพธรรมที่มีจริงๆ ต่างออกเป็น ๔ อย่าง หมายความว่า ๔ อย่างนี้ปะปนกันไม่ได้เลย คือ ๑ จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นใหญ่เป็นประธานจริงๆ เขาสามารถที่จะรู้ทุกอย่างได้ คนที่มีความชำนาญ เขาจะเห็นเพชรแท้กับเพชรเทียม หรือหยกกับหิน เขาสามารถจะบอกได้ โดยจิต สามารถที่จะรู้แจ้งในความต่างอย่างละเอียด หรือฟ้ากับน้ำทะเล เราก็บอกได้เพราะมีลักษณะที่ต่างแม้ว่าสีจะคล้ายคลึงกัน แต่จิตสามารถที่จะรู้แจ้งในสิ่งที่ปรากฏ นี่คือลักษณะของจิต แต่จิตนี้เขาจะไม่ทำอะไรเลยสักอย่างเดียว เป็นใหญ่จริงๆ ในการที่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏเท่านั้น แต่จิตจะเกิดเองตามลำพังไม่ได้ ทุกอย่างที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัยหรือมีสภาพธรรมอื่นทำให้เกิดขึ้น อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาจิตจะเกิดต้องอาศัยเจตสิก เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต จะไม่เกิดกับอย่างอื่นเลย จะไม่เกิดกับรูป จะไม่เกิดกับโต๊ะ จะไม่เกิดกับเก้าอี้ จะไม่เกิดกับอะไร แต่จะเกิดกับจิตเท่านั้น ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ คือความรู้สึก บางครั้งมีความรู้สึกดีใจเกิดกับจิต เสียใจเกิดกับจิต นี้เป็นเจตสิกทั้งหมด เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดกับจิตชื่อว่า “เจตสิก” แต่ว่ามีหน้าที่คนละอย่างกับจิต เพราะฉะนั้นสภาพของเจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ชนิด มีลักษณะหน้าที่ต่างกับจิตโดยสิ้นเชิง และเจตสิกแต่ละชนิดก็มีลักษณะหน้าที่แต่ละอย่างๆ นอกจากความรู้สึกดีใจเสียใจแล้ว ลองยกตัวอย่างเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่เกิดกับจิตว่ามีอะไรบ้าง ที่เป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง ที่เป็นเจตสิก ตึงทำให้เกิดหรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่ เป็นเจตสิกคือสภาพซึ่งไม่ใช่จิตแต่เกิดจิต

    ผู้ฟัง ตัวอย่างเช่น เราง่วงนอน

    ท่านอาจารย์ จิตต้องรู้อารมณ์อย่างเดียว ง่วงไม่ได้ จิตเกิดขึ้นแล้วต้องรู้เท่านั้น ทำอะไรไม่ได้เลย รู้เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏ ลักษณะของสภาพของจิตเป็นใหญ่จริงๆ ไม่มีรูปหนึ่งรูปใดเกี่ยวข้องเลย ไม่มีว่าจะต้องไปคิดถึงหทยวัตถุหรือที่เกิดของจิตหรืออะไรเลย เพราะว่า ถ้าลักษณะนั้นปรากฏโดยสภาพที่เป็นจิต จะต้องเป็นใหญ่เป็นประธานในการที่รู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์ เป็นใหญ่ซึ่งเป็นธาตุรู้ ใช้คำว่า “มนินทรีย์” เพราะอินทรีย์คือสภาพที่เป็นใหญ่มีหลายอย่าง แต่ค่อยๆ เรียนตามลำดับ ที่นี้ความง่วง โต๊ะเก้าอี้ง่วงไม่ได้ แต่ลักษณะที่ง่วงนี้มี เพราะลักษณะที่ง่วงเกิดกับจิต จึงเป็นเจตสิกประเภท ๑ ใน ๕๒ ประเภท

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเป็นอาการที่ว่า เราหิว เราโกรธ พวกนี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเจตสิกทั้งนั้น

    ท่านอาจารย์ เจตสิกทั้งหมด

    ผู้ฟัง แต่จริงๆ แล้วจิตคือ เป็นธรรมโดยที่ไม่มี

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ แต่ไม่จำ ไม่คิด ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่อะไรทั้งหมดเลย พวกนั้นเป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต เพราะฉะนั้นจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ แล้วเจตสิกจะเกิดโดยไม่มีจิตไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงจิตหมายรวมเจตสิกด้วย

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่า เราง่วงนอน เราไปนอน นั่นคือสภาพของจิตหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ตั้งแต่เกิดจนตายหรือใครก็ตาม จิต เจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน คือ จิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกอะไรที่เกิดกับจิตต้องดับพร้อมจิต เจตสิกทุกดวงที่เกิดกับจิตนั้นต้องดับพร้อมจิตนั้น จะไปแยกดับทีหลังไม่ได้ และต้องรู้อารมณ์เดียวกันด้วย เช่น ขณะที่จิตรู้แจ้งสีของดอกกุหลาบ เจตสิกจำ และโลภะติดข้อง เจตสิกทำหน้าที่ในสิ่งที่จิตกำลังรู้แจ้งโดยที่ว่า เจตสิกไม่ใช่จิต เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จะเกิดที่เดียวกันด้วย เพราะว่าจิตไม่เกิดนอกรูป ต่อไปจะรู้ว่า จิตประเภทไหนเกิดที่รูปไหน ชั่วขณะนิดเดียวแล้วก็ดับ นี่คือชีวิตที่แสนสั้นของทุกคน เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่า เรามีอายุยืนยาวมากเลย ชั่วขณะจิตเดียวแล้วจิตขณะนั้นก็ดับ และจิตขณะต่อไปเกิดจนกว่าจะถึงจิตขณะสุดท้าย ซึ่งทำหน้าที่พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ จะไม่กลับมาสู่ความเป็นบุคคลนี้อีกเลย แต่ว่ากรรมหนึ่งจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อจากจุติทันที คือ เกิดภาษาบาลีใช้คำว่า “ปฏิสนธิ” สืบต่อจากจุตินี้คือ “สังสารวัฏฏ์”

    ผู้ฟัง อันนี้คือเกิดขึ้นในอีกภูมิหนึ่งใช่ไหม เพราะจิตจุติไปแล้วใช่ไหม คือ พอจิตดับไปก็มีการปฏิสนธิทันทีในอีกภูมิหนึ่งซึ่งก็สืบเนื่องมาจากผลกรรมที่ทำเอาไว้ บาป และบุญ จะส่งผลให้เราไปเกิดในภูมิไหน

    ท่านอาจารย์ ใช่ แต่ว่ากรรมนี้ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว กรรมเก่าทั้งหมดที่ได้กระทำแล้วในแสนโกฏิกัปป์ สามารถที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ หรือเมื่อไม่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดก็ให้ผลหลังปฏิสนธิ เพราะฉะนั้นเวลาที่เกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศล ไม่ได้เกิดเป็นสัตว์ อ่านได้ เขียนได้ คิดได้ ไตร่ตรองได้ เป็นมนุษย์สามารถที่จะมีปัญญาได้ อบรมได้ ก็เป็นภูมิที่ดี แต่ก็มีผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทำให้บางวันผลของกรรมที่เรียกว่า “อกุศลวิบากจิต” เกิดขึ้น อาจจะเห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ได้กลิ่นที่ไม่ดี ลิ้มรสที่ไม่ดี กระทบสัมผัสที่ไม่ดีนั่นคือ ผลของกรรมซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “วิบากจิต” เพราะฉะนั้นถ้ากรรมมี ๒ อย่าง กุศลกรรม ดับไปแล้วจริง แต่เป็นปัจจัยให้กุศลวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดได้ อกุศลกรรมดับไปนานแล้วก็จริง แต่ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมเกิดได้ เพราะฉะนั้นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากก็คือ ทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส หลังจากเกิด เพราะว่า เกิดนี้ต้องเป็นผลของกรรมแล้วแต่ว่า ไม่ทำให้ตาย ยังให้เป็นคนนี้อยู่ และเป็นคนนี้ไม่ใช่ว่าไม่ต้องแยกผลของกรรมอะไร เราหลับไปยังไม่ตายเพื่อตื่นขึ้นรับผลของกรรมต่อไป ทันทีที่ลืมตาก็เป็นการรับผลของกรรม

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเวลาเราหลับ จิตก็ไม่ได้หลับใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ความจริงแล้วหลับคืออะไร เห็นไหมว่า แต่ละคำๆ ที่เราใช้จะต้องมาตรงกับลักษณะของจิตแต่ละชนิดซึ่งทำหน้าที่แต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นเรายังไม่รู้ เราก็ใช้คำว่า หลับ หมายความว่า ขณะนั้นไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิด ไม่ฝันด้วยนั่นคือ หลับสนิท ขณะนั้นเป็นภวังคจิต ถ้าเคยได้ยินคำว่า “ภวังค์” หมายความว่าเป็นจิตซึ่งไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ คือ ไม่ฝันด้วย เพราะฉะนั้นต้องทราบจิตคือการสืบต่อตั้งแต่ขณะปฏิสนธิ ขณะแรกที่สุดของชาตินี้ที่เกิดชื่อว่า “ปฏิสนธิ” ที่เป็นผลของกรรม เป็นวิบากจิต ขณะนั้นไม่ได้ทำกุศลอกุศลใดๆ เลย แต่กรรมทำให้วิบากจิตประเภทหนึ่งเกิด ถ้าเป็นกุศลวิบากเกิดขณะแรกขณะเดียวแล้วดับ แต่ว่ากรรมทำให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อดำรงภพชาติ โดยยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน เพราะฉะนั้นหลักก็คือ ขณะซึ่งไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก แต่เป็นระยะเวลานาน เวลานี้ก็มีภวังค์คั่นแต่สั้น แต่เวลาหลับมีภวังค์ยาวจึงเรียกว่า หลับ

    ผู้ฟัง รูปไกล………

    ท่านอาจารย์ รูปไกลก็ยากต่อการที่จะพิจารณา

    ผู้ฟัง สุขุมรูปคืออะไร

    ท่านอาจารย์ สุขุมรูปเป็นรูปที่ละเอียด

    ผู้ฟัง ที่ละเอียด รูปหยาบอย่างเช่น ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม และถ้าสุขุมรูปอย่างเช่น รูปเบา รูปอ่อน รูปควรแก่การงานใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ รูป ๒๘ รูปแบ่งเป็นรูปหยาบเท่าไหร่ รูปละเอียดเท่าไหร่ ถ้าจำจำนวนได้

    ผู้ฟัง สุขุมรูปมี ๑๘ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สุขุมรูป ๑๖

    ผู้ฟัง ๑๖

    ท่านอาจารย์ วิธีจำไม่ยากเลย มันคล้องจองกับเหตุผลกับสติปัฏฐาน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    2 พ.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ