ปกิณณกธรรม ตอนที่ 105


    ตอนที่ ๑๐๕

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศอังกฤษ

    กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙


    ท่านอาจารย์ แต่เราจะรู้ได้ว่า สติของเราจะเกิดระลึกขึ้นได้เร็วขึ้นเพราะว่า บางทีดิฉันเป็นคนที่พูดอาจจะไม่ค่อยดี พูดตรง

    ผู้ฟัง พูดตรงก็เป็นเรื่องตรง

    ท่านอาจารย์ และเร็วด้วยคือว่า ไม่รีรอ นั่นก็เป็นจุดหนึ่งซึ่งอาจจะทำให้คนอื่นไม่สบายใจ อันนี้ต้องมีแน่ๆ แต่ไม่สบายใจน้อยหรือมากใช่ไหมคือ เราไม่ใช่ไปใช้วาจาดุร้าย สามหาว หยาบคาย แต่ว่าคำพูดที่ตรง บางทีอาจจะทำให้คนที่ถ้าเขาไม่คิดก็ไม่คิด เขาก็ผ่านไปเลย แต่ถ้าคิดก็คงจะคิดว่าทำไมพูดอย่างนี้ พูดอีกอย่างก็ได้นี่นา หรืออะไรอย่างนี้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นทำให้ดิฉันรู้ว่า ที่พระสารีบุตรท่านกล่าวไว้ บางคนกายดี วาจาไม่ดี ใจดี ใช่ไหม มีสารพัดอย่างซึ่งเราไม่เข้าข้างตัวเอง เราต้องรู้ว่า ตรงไหนที่เราไม่ดี เพราะฉะนั้นจะมีทางที่เรียกว่า เราไม่หวังแต่เขาเกิดที่จะระลึกได้ ดิฉันไม่ใช่คนที่ดีพร้อม วาจานี้ก็แย่บางที

    ผู้ฟัง ทีนี้ถ้าหากว่า เรามีการระมัดระวัง โดยวิธีการเห็นสิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ

    ท่านอาจารย์ อันนี้สำคัญ “โยนิโสมนสิการ” คือตัวนี้

    ผู้ฟัง แต่ว่า จะหลงลืมหรือว่า จะระลึกได้แค่ไหนอย่างไรก็ไม่อยู่ในอำนาจ

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าเราคิดจริงๆ ให้ซึ้งจริงๆ ว่า ไม่มีประโยชน์ในการที่จะเกลียดใคร

    ผู้ฟัง คิดให้ซึ้งคิดให้ถูก มันคิดยาก

    ท่านอาจารย์ แต่จริงไหมว่า ไม่มีเขา

    ผู้ฟัง จริง

    ท่านอาจารย์ มีความคิด มีตัวคิด และจิตที่คิดเป็นอกุศล แล้วก็เพิ่ม แล้วก็เน่า แล้วก็ดำ แล้วก็ล้างออกยาก แล้วมันไม่ได้อยู่ที่อื่น และไปฝากใครไว้ก็ไม่ได้ ใครก็ไม่เอาใช่ไหม

    ผู้ฟัง ชื่อว่า จิตของเรา กับ ความไม่มีตัว ไม่มีตน

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ยังไม่ใช่เป็นธาตุรู้ ขณะนั้นก็เป็นของเรา ถ้าปัญญายังไม่รู้จริงๆ ว่า เป็นเพียงธาตุรู้ที่เกิดแล้วดับ

    ผู้ฟัง ถึงรู้เวลาที่เป็นอกุศลก็สะสมไว้สำหรับโอกาสที่มีเหตุมีปัจจัย

    ท่านอาจารย์ แค่นี้ไม่ได้ว่ารู้ แค่นี้เรียกว่าเข้าใจ ฟังเข้าใจ

    ผู้ฟัง ถ้ารู้คือแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ รู้ก็ต้องประจักษ์แจ้งในความเป็นธาตุรู้

    ผู้ฟัง ถ้าถึงขั้นประจักษ์แล้ว ทุกอย่างคงจะเบาบางลงไปมาก

    ท่านอาจารย์ อย่าเพิ่งหวัง เพราะว่า วิปัสสนาญาณมีหลายขั้น พระอริยบุคคลมีหลายขั้น แสดงให้เห็นถึงความหนา เหนียว ลึกของกิเลส ฟังทุกวันก็ยังเป็นเราเห็นไหม แค่ฟังแสดงให้เห็นว่า ต้องเจริญอบรมต่อไปอีก อย่างไรก็ตามได้เกิดมาในยุคที่ยังมีหนทางก็เรียกว่าดีแล้ว ไม่ต้องไปคิดไปหวังอะไรทั้งหมด นอกจากไม่ทิ้งพระธรรม ถ้าทิ้งเมื่อไหร่ก็เรียกว่าจบเมื่อนั้น

    ผู้ฟัง พระธรรมส่วนอื่นเป็นเรื่องค่อนข้างจะต้องใช้ความอดทนแล้วก็มีความยาก

    ท่านอาจารย์ ด้วยกันทั้งหมด

    ผู้ฟัง ธรรมส่วนที่เป็นพื้นฐานก็ยังไม่ค่อยจะมีกำลังเท่าไหร่

    ท่านอาจารย์ ด้วยกันทั้งหมด ค่อยๆ ไปด้วยกันทั้งหมด

    ผู้ฟัง กุศลอื่นที่อาจจะเป็นไปอย่างปกติ ก็ยังไม่ค่อยจะยกย่องเท่ากับปัญญา เพราะแม้แต่ความคิด ถ้าหากว่ามีปัญญา ก็ไม่คิดให้ตัวเองเดือดร้อน และในขณะเดียวกันปัญญานำไปสู่ความสงบทุกอย่าง คิดก็คิดถูก พูดก็พูดดี และก็อะไรดีไปหมดเพราะปัญญาแท้ๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องอบรมให้มากขึ้นเพราะเราเห็นคุณค่าแล้ว

    ผู้ฟัง คำว่า “ละ” คือหมายถึงว่า การตัดเลิกคิดไปว่าคือเรา หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เพราะเหตุว่า ถ้าบอกให้ละ ละอย่างไร ละได้หรือ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่สอนในสิ่งที่คนทำไม่ได้ จะไปบอกให้ละโดยไม่แสดงหนทางละ ไม่มี ต้องแสดงหนทางละโดย “รู้” รู้จากไหน จากการฟัง จากการศึกษา เมื่อค่อยๆ ฟังค่อยๆ ศึกษาค่อยๆ เข้าใจขึ้น ความรู้อีกระดับหนึ่ง จะเกิดพร้อมกับสติสัมปชัญญะที่ไม่ใช่ฟังเรื่องราวของจิต เจตสิก รูป ขณะนี้กำลังเห็น กำลังฟังเรื่องเห็น แต่ยังไม่รู้ว่าตัวจริงที่เห็นเป็นสภาพธรรมเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเห็น แต่กำลังฟังเรื่องชื่อ ตา จักขุ วิญญาณ เห็น ให้ละเสีย เราฟังเป็นเรื่องเป็นราว แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เพียงแต่ให้ฟังแล้วไปละซึ่งไม่มีใครทำได้ แต่ต้องฟังแล้วมีความเข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมให้ทราบว่า ขณะไหนที่ฟังเรื่องของจริง พิสูจน์ได้ เข้าใจได้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นนั่นคือ ได้ธรรมของพระพุทธเจ้า มิฉะนั้นแล้วจะไม่ใช่เลย ใครมาบอกให้เราละแล้วจะละได้อย่างไรในเมื่อไม่รู้ แล้วจะไปปฏิบัติ ไปปฏิบัติอะไรในเมื่อไม่รู้ แต่ว่า สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้พอฟังแล้วเข้าใจนี่คือ การอบรมแล้ว เริ่มที่จะเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจแล้วละไม่ได้ อย่างไรก็ละไม่ได้ เพราะ ละ เป็นปัญญา ปัญญาก็ไม่ใช่เรา แล้วถ้ายังไม่มี ยังไม่เกิด จะไปเอาปัญญาที่ไหนมาละ นอกจากอบรมจนกว่าปัญญาจะเกิดขึ้นเป็นลำดับขั้น ถึงต้องอาศัยการฟัง และการฟังนี้ฟังเพื่อเข้าใจ แค่ฟังแล้วไม่เข้าใจก็ไม่มีประโยชน์อีกเหมือนกัน เสียเวลาเป็นชั่วโมง แต่พอฟังแล้วเข้าใจขณะไหน ขณะนั้นจะสะสมสำหรับฟังต่อไป คราวหน้าก็เข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า การศึกษาธรรมมีหลายระดับ ระดับขั้นปริยัติเรียกว่า การฟัง การอ่านเรื่องราวของธรรมนั้นคือ “ปริยัติ” แต่ว่าเวลาที่ฟังแล้วเข้าใจแล้วไม่ใช่มีแต่เรื่อง เห็นมีจริงๆ ได้ยินก็มีจริงๆ เพราะฉะนั้นไม่ใช่มีแต่เรื่อง แต่มีตัวจริงของธรรม ซึ่งปัญญาอีกขั้นจะค่อยๆ ระลึกรู้ลักษณะที่เป็นตัวจริงๆ เอาชื่อออกหมดแล้วค่อยๆ เห็นความจริงของลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง อันนี้ถึงจะค่อยๆ ไปสู่ความรู้ชัด พอรู้ชัดเมื่อไหร่ไม่มีความสงสัยเลยว่า ไม่ใช่ตัวตนนั้นคืออย่างนี้ ตรงคำแรกกับคำสุดท้ายตลอดจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยว่า นามธรรมเป็นธาตุรู้ เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่มีรูปร่างใดๆ เจอปนเลย เป็นลักษณะรู้ ขณะนี้มีนามธรรม ก่อนเห็นก็มีนามธรรม เกิดมาคือมีนามธรรมเกิด ทุกอย่างคือนามธรรม ไม่เคยหายไปเลยตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ว่าเกิดดับเปลี่ยนแปลงเร็วมากจนกระทั่งไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า เป็นสภาพนามธรรมหรือรูปธรรม เพราะติดกันแน่นจึงปรากฏเหมือนเที่ยง แต่ถ้าไม่เที่ยงคือ ขณะใดที่เกิดแล้วดับทันที นั่นคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อริยสัจจ์

    ผู้ฟัง แต่มันใกล้กันเหลือเกินที่ว่า ฟังแต่เรื่องก็คือ รู้แต่เรื่องแต่ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเรื่อง

    ผู้ฟัง เข้าใจเรื่องธรรม

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้จักตัวจริง

    ผู้ฟัง ก็เหมือนเข้าใจแล้วทำไมไม่รู้สภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเรื่อง เข้าใจเรื่องก่อน เข้าใจเรื่องจนกระทั่งเป็นปัจจัยให้มีการระลึกขึ้นมาได้ว่า ไม่ใช่มีแต่เรื่อง มีตัวจริงด้วย เช่น พูดถึงได้ยิน

    ผู้ฟัง ผู้ที่เข้าใจแต่เรื่อง แต่ไม่เข้าใจตัวจริงก็มี

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นการศึกษาขั้นปริยัติ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นต้องทั้งเข้าใจเรื่อง และเจริญสติ อบรมสติ

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ เพราะสติบังคับไม่ได้ สติมีทำไม มีเพื่อรู้ว่า ของจริงเดี๋ยวนี้ตรงกับที่เราเรียน นี่คือสติเริ่มระลึกที่จะไม่ต้องอาศัยคำพูดใดๆ ทั้งสิ้น แต่กำลังค่อยๆ เข้าใจตัวจริงๆ ของธรรม ไม่ใช่เพียงเรื่องราวเท่านั้น เพราะฉะนั้นถึงต้องแยกธรรมออกเป็น ๒ อย่าง นามธรรมมีจริงๆ ธาตุรู้มีจริงๆ รูปธรรมก็มีจริงๆ ไม่รู้อะไร เพียงแค่ ๒ อย่าง ฟังจนกระทั่งเข้าใจ จนกระทั่งมีการระลึก และรู้ในลักษณะที่ต่างกันของทั้ง ๒ อย่าง

    ผู้ฟัง ที่ไม่ระลึก เพราะไม่เข้าใจจริงๆ จึงไม่ระลึก

    ท่านอาจารย์ เข้าใจไม่พอ ไม่ใช่ไม่เข้าใจ จนกว่าเข้าใจพอคือ สติเกิดระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ์

    ผู้ฟัง ฟังยังไม่พอ

    ท่านอาจารย์ นอกจากฟังไม่พอ ปัจจัยที่สติจะระลึกก็ยังไม่พอ เพราะว่า เราต้องไม่คิดถึงชาตินี้ชาติเดียว ต้องคิดถึงชาติก่อนๆ ด้วย แค่ชาตินี้ชาติเดียวตั้งแต่เกิดมาจนถึงเดี๋ยวนี้เคยได้ฟังธรรมจริงๆ อย่างนี้หรือเปล่า แล้วระหว่างที่ยังไม่เข้าใจธรรมจริงๆ โลภะ โทสะ โมหะเท่าไหร่ อกุศลเท่าไหร่ และอยู่ดีๆ จะให้พอฟังแล้วเข้าใจจะให้สติเกิดเลยไม่ได้

    ผู้ฟัง เทียบกันแล้วน้อยกว่ามาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง การระลึกนี้ก็ต้องเป็นตามลำดับขั้นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าอย่างไร ลำดับขึ้น

    ผู้ฟัง หมายความว่า ต้องฟังไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีความเข้าใจในการฟังมากขึ้นเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่มีการฟังเข้าใจ สติยังไม่เกิดเลยก็ได้ เพราะว่ายังไม่มีปัจจัยพร้อมที่จะให้สติเกิดระลึกว่า มีตัวจริงๆ มีธรรมจริงๆ ไม่ใช่มีแต่เรื่องราว เช่น เห็นเดี๋ยวนี้เห็นจริงๆ ใช่ไหม ถ้ามีปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะนี้มีเห็นจริงๆ สติก็ระลึกได้ว่า นี่ตัวจริงไม่ใช่เรื่องเห็น ตัวจริงกำลังเห็นแล้วตัวจริงก็กำลังได้ยิน นี่คือ ตัวจริงของธรรม เพราะฉะนั้นสติก็จะค่อยๆ ระลึกเพื่อที่จะรู้ให้ตรงกับที่เรียนว่า รู้คืออย่างนี้ ลักษณะที่รู้คืออย่างนี้ สภาพที่รู้อย่างนี้มีจริงๆ ให้เข้าใจว่า มีจริงๆ ลักษณะนั้นก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่ใช่เป็นอย่างอื่น ไม่ใช่ไปคอยสติหรือหวังให้สติเกิด แต่ว่าเพื่อเข้าใจตัวจริงของธรรมนั่นคือ สติระลึก

    ผู้ฟัง ที่เคยได้ฟังว่า ปกติจะชอบเดินออกกำลังกาย เดินไปก็เจริญสติไป หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าสติเกิดหรืออย่างไร ที่บอกว่า เข้าใจไม่พอสติจึงไม่ระลึกคืออย่างไร

    ผู้ฟัง ผู้ฟังก็อาจจะรู้สึกว่า พูดกลับไปกลับมา แต่ความจริงในขณะที่เกิดระลึกลักษณะ ก็มีสติแบบที่ระลึกตรงลักษณะเลย กับเราคิดนึกช่วยบ้างเป็นบางครั้ง เพราะฉะนั้นมีความรู้สึกว่า ค่อยๆ มีความรู้เพิ่มขึ้นๆ ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางแข็ง ฯลฯ ก็รู้สึกว่ามีความเข้าใจหรือความรู้เพิ่มขึ้น

    ท่านอาจารย์ อีกหน่อยอาจจะใช้คำว่า ขณะที่กำลังออกกำลัง บางทีสติก็เกิดบางทีสติก็ไม่เกิด แต่ก่อนนี้ใช้คำว่า “เจริญสติ” แต่ต่อไปจะรู้เลยว่า บางครั้งสติเกิด บางครั้งสติไม่เกิด แทนที่จะไปใช้คำว่า เจริญสติ เพราะว่า คนส่วนใหญ่จะใช้คำว่า “ปฏิบัติ” แต่จะบอกว่า เจริญสติ แต่จริงๆ ไม่มีตัวเราหรือใครที่จะเจริญเลย

    ผู้ฟัง คือใช้ตามที่ท่านอาจารย์เคยพูด และเป็นคำที่รัดกุมที่สุดอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ เจริญสติคือ สติเจริญ แล้วแต่สติจะเกิดหรือไม่เกิด

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์ว่า สติเกิดกับหลงลืมสติ นี้ก็ดี

    ท่านอาจารย์ เพราะว่า อย่างไรก็ตามตอนแรกทุกคนจะต้องมีความเป็นเราอย่างมากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้นยากเหลือเกินที่จะไม่คิดว่า เจริญสติหรือว่าจะเจริญสติ แม้แต่คำว่า “จะเจริญสติ” พอนึกขึ้นมาได้เหมือน “จะ” แล้วใช่ไหม แสดงให้เห็นว่า ความเป็นตัวตนยังมีอยู่มาก และภายหลังจะค่อยๆ ชิน ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ละ จนกระทั่งสติจะเกิดหรือไม่เกิดก็เป็นเรื่องของสติจริงๆ เพราะฉะนั้นจึงเห็นความต่างกันของขณะที่ สติเกิด กับ หลงลืม สตินี้ตอนหนึ่ง แต่เมื่อสติเกิดแล้ว ปัญญามีแค่ไหน

    ผู้ฟัง ถ้าสติเกิดจะเป็นเรื่องเป็นราวหรือว่า เป็นเพียงขณะนิดเดียว

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรมซึ่งเรียนมา และมีการระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ นั่นคือ สติเกิด แล้วแต่ว่าปัญญารู้แค่ไหน จะมากหรือจะน้อย จะนานหรือช้า นั้นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่สติต้องดับแน่นอน

    ผู้ฟัง สติเกิดก็ดับ

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ว่า สติจะเกิดต่อหรือไม่ต่อ หรือจะห่างไป หรือคิดนึกแทรกเข้ามาอีกมากมายแล้วสติเกิดอีกก็ได้ ไม่มีกฎเกณฑ์โดยความเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง เป็นความสงสัยที่ว่า สติกับความคิดมันใกล้กันมาก เหมือนอย่างเมตตากับโลภะ

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะรู้ว่า ขณะไหนสติเกิดจึงจะรู้ว่าต่างกัน ขณะที่หลงลืมสติ ต่างกับขณะที่คิด อย่าลืมว่า ศึกษาธรรมจะขาดการย้อนกลับมาหาปรมัตถธรรมไม่ได้ มิฉะนั้นแล้วแสดงว่า ไม่เข้าใจ เช่น บอกว่า กำลังเริ่มเข้าใจ แล้วก็ต้องรู้ว่าเป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง คิดว่าเป็นจิต

    ท่านอาจารย์ จิตไม่ใช่สติ จิตรู้เฉยๆ จิตที่ดีก็มีไม่ดีก็มี เพราะฉะนั้นจิตไม่ใช่สติ สติเป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล เช่น หนึ่งวันๆ เราไม่เคยระลึกเป็นไปในทานเลย แต่พอเกิดนึกที่จะให้นก ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่ต้องเป็นปรมัตถธรรม มีจิตนั้นแน่นอนตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ทีนี้เจตสิกที่เกิดกับจิตต่างชนิดว่า เจตสิกชนิดไหนจะเกิดกับจิตขณะไหน เพราะฉะนั้นขณะที่สติเกิด เขาจะระลึกเป็นไปในกุศลทั้งหมดทุกประเภท นั่นคือสติ ไม่เหมือนสติภาษาไทย สติเป็นเจตสิก เป็นสภาพที่มีจริง เป็นสภาพที่ระลึกในกุศล เช่น คนที่จะฆ่านกแล้วเขาหยุด ไม่ฆ่า สงสารเกิดขึ้นมา ขณะนั้นไม่ใช่เขา แต่เป็นสติที่ระลึกที่จะเว้นการทุจริต เพราะทุจริตนี้คนทำโดยขณะนั้นสติไม่เกิด แต่พอสติเกิด จะเว้นทุจริตทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ นั่นคือ สติเกิด เพราะฉะนั้นสติเป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิกซึ่งเป็นโสภณเจตสิกหมายความว่า เจตสิกฝ่ายดีใช้คำว่า “โสภณะ” เพราะไม่ใช่กุศลอย่างเดียว เป็นวิบากก็ได้ เป็นผลของกุศลก็ได้ ทำให้เรามีพื้นจิตใจตอนปฏิสนธิต่างกัน ถ้าจิตใจในขณะนั้นไม่ประกอบด้วยสติก็เป็นจิตชั้นเลว เกิดมาเป็นคนพิการ หรือว่าไม่มีสติปัญญา ปัญญาอ่อน แต่ถ้ามีสติครบถ้วนบริบูรณ์ และมีความรู้ความเข้าใจธรรมได้ เพราะว่ามีพื้นจิตซึ่งมีสติซึ่งเป็นวิบาก เกิดร่วมกับจิตซึ่งเป็นวิบากซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม ทำให้ปฏิสนธิจิตเป็นกุศลวิบากจิต เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจ ถ้าเราพูดกัน ๕ คน แล้วมีคนเดียวไม่รู้ว่า สติคืออะไร เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องรู้ว่า สติคืออะไร กำลังฟังมีสติหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร ทำไมว่ามี

    ผู้ฟัง เพราะมีการระลึก

    ท่านอาจารย์ ระลึกอย่างไร

    ผู้ฟัง ระลึกในกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะกุศลจิตเกิดระลึกเป็นไปในเสียง ในความเข้าใจ ในเหตุในผล ไม่ได้ระลึกผิด เพราะว่า กำลังฟังเรื่องเห็น เรื่องได้ยิน เรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป แล้วขณะนี้จิต เจตสิก รูปกำลังเกิดดับโดยที่สติไม่ได้ระลึกนี้ตอนหนึ่ง แต่เวลาที่มีการระลึกคือ สติเกิด สิ่งที่ปรากฏไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ต้องไปทำอะไรเลย เพียงแต่มีการรู้หรือค่อยๆ รู้ขึ้นว่า ขณะนี้เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งปรากฏทางตา แค่นี้ไม่ต้องไปนั่งกั้นว่า ยังไม่คิดหรือคิดอะไร ไม่ต้องสนใจเลย แต่เริ่มที่จะเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่คือค่อยๆ จะชินกับลักษณะของธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งกำลังปรากฏทางตา ตรงตามที่ได้ยินได้ฟังทุกอย่างคือ ค่อยๆ เข้าใจในขณะนี้ที่กำลังเห็น

    ผู้ฟัง ค่อยๆ เข้าใจนี้ก็ปัจจัตตัง ไม่มีใครมาทราบ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครทราบ แต่หมายความว่า เราไม่เคยรู้ ฟังมาก็เยอะ แต่ว่าขณะใดที่กำลังรู้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น นี่คือ สติปัฏฐานที่กำลังค่อยๆ เกิดค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ ค่อยๆ เข้าถึงลักษณะจริงๆ ของธรรม

    ผู้ฟัง เวลาสติเกิดบางครั้งรู้สึกว่า ทางตาจะง่ายกว่า ทางกายรู้สึกว่า แข็งกับสภาพที่รู้แข็งค่อนข้างที่จะใกล้ชิดกันเหลือเกิน

    ท่านอาจารย์ แล้วทางตา จิตเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตาใกล้หรือไกลกัน

    ผู้ฟัง ยังรู้สึกว่า สติเกิดกับสิ่งที่ปรากฏขณะที่เห็นก็รู้ว่า สิ่งที่เห็นคือสิ่งที่ปรากฏทั้งหมด แต่ขณะที่รู้สึกกระทบทางกาย พอแข็งแล้วจะรู้แข็ง รู้สึกว่าค่อนข้างที่จะชิดกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เราต้องรู้ว่าเป็นเพียงธรรมหรือสิ่งที่มีจริงเท่านั้น ไม่ต้องไปนึกถึงความกว้างหรืออะไรอย่างนั้น เหมือนกับทางกายเวลาที่กระทบก็คือลักษณะนี้เป็นธรรมอย่าง หนึ่ง ให้รู้ในลักษณะในสภาพที่เป็นธรรมอย่าง หนึ่ง ของแต่ละทาง เพราะว่าธรรมอย่างหนึ่ง ทางตา กับธรรมอย่างหนึ่ง ทางกาย มีลักษณะที่ต่างกัน แต่ก็คือธรรมอย่างหนึ่งๆ

    ผู้ฟัง ปกติแล้วก็ยอมรับว่า สติไม่เกิดหรืออาจจะเกิดแล้วก็ไม่รู้ แต่ถ้าโดยการศึกษาขณะใดที่จิตเป็นกุศลขณะนั้นมีสติแล้ว อันนี้ก็รู้จากการศึกษาอีกเหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่โอกาสของกุศลที่เป็นอย่างทานหรือศีล พอมาพิจารณาเรื่องเวทนาก็เป็นเครื่องที่ทำให้เราพยายามที่จะยึดถือความเป็นตัวเป็นตนมาก เพราะว่า เวทนาโดยการศึกษาก็รู้ว่า เป็นเจตสิกประเภทหนึ่งเกิดขึ้น แต่ว่ามีอำนาจในการที่ทำความคิดเป็นตัวเป็นตน แล้วทำให้เราเกิดความยินดียินร้าย รักชัง ต่างๆ มันมากจนกระทั่งมองเห็นว่า เวทนามีความสำคัญที่ทำให้ขาดการระลึก หลงลืมสติ และเป็นตัวเป็นตนมากที่สุดเลย

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ รู้ตรงตามสภาพตามความเป็นจริงขึ้น เกือบจะไม่มีเรื่องที่จะต้องมานั่งคิด ใคร่ครวญ วิจารณ์ ฯลฯ ฟังเข้าใจแล้วเมื่อไรสติเกิดก็ระลึกเท่านั้นเอง เป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ ปกติธรรมดา ไม่ใช่เป็นเรื่องน่าสงสัย น่ากังวล หรืออะไรสักอย่างเดียว

    ผู้ฟัง คงไม่พ้นไปจากที่ว่า พอนึกถึงเวทนาพอมีอะไรมากระทบ

    ท่านอาจารย์ ก็ไปนึกถึงเรื่องราว

    ผู้ฟัง ดีใจก็ลืมเป็นตัวเป็นตนไป พอมีสิ่งมากระทบทำให้ไม่พอใจ ก็เป็นตัวเป็นตน มีเขามีเราขึ้นมามาก

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นก็ทั้ง ๕ ขันธ์ดีกว่า

    ผู้ฟัง ลืมหมดเลย ก็เดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีเวทนาอะไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นโสมนัสเวทนา

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้ไม่รู้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ โสมนัสเรื่องอะไร

    ผู้ฟัง ที่ได้ฟังคำอธิบายแล้วมีความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แล้วเวทนาอื่นไม่มาสลับบ้างหรือ

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเห็นทางตา ได้ยินทางหู

    ผู้ฟัง นี่ล่ะ ทั้งๆ ที่ศึกษามาก็บอกว่า เห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มีแค่เวทนาอย่างเดียว แม้ความคิดนึกก็มีความสำคัญว่า เป็นเราด้วย ทุกอย่างไป เราไม่ต้องมานั่งคิด ใคร่ครวญเป็นเรื่องๆ ให้รู้ว่า ทั้งหมด ๕ ขันธ์นี้ ขณะใดที่สติไม่ระลึกปรมัตถธรรม ขณะนั้นก็ยังเป็นเราทั้งหมด ไม่ว่าจะกี่ขันธ์

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    3 พ.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ