ปกิณณกธรรม ตอนที่ 106


    ตอนที่ ๑๐๖

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศอังกฤษ

    กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙


    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่สติไม่ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม ขณะนั้นก็ยังเป็นเราทั้งหมดไม่ว่าจะกี่ขันธ์ เพราะว่า เมื่อกี้นี้เหมือนกับเวทนาโดยชื่อ แต่พอถามว่า เวทนาอะไร ต้องหาแล้วว่าเป็นเวทนาอะไร เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า มันเป็นเรื่อง เพราะฉะนั้นเวลาที่สติระลึกเป็นขณะที่ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ไม่ใช่เรื่องน่าสงสัยหรือน่าคิดกังวลอะไร ติดทั้ง ๕ ขันธ์นั้นแหละ

    ผู้ฟัง ระลึกเวทนานี้หมายความว่า ขณะที่สติเกิดระลึกถึงเวทนานี้ก็

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ระลึกถึง

    ผู้ฟัง เวทนาเกิดแล้วสติระลึก

    ท่านอาจารย์ ลักษณะที่เป็นปรมัตถ์

    ผู้ฟัง ระลึกได้ถึงลักษณะของเวทนาที่เป็นปรมัตถ์ คือ โสมนัสก็เป็นโสมนัสของเขาโดยที่ไม่มีชื่อ

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ ขณะนั้นที่สติระลึก ต้องมีจริงในขณะที่สติระลึก พ้นขณะนั้นแล้วก็ดับไปแล้วถ้าสติไม่ระลึก

    ผู้ฟัง คำว่า “สติเกิด” ไม่ว่าทวารไหนเหมือนกับไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน โดยเฉพาะเรื่องทางกายทวาร ไม่เคยคิดเลย มันเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีสภาพธรรมปรากฏ กายวิญญาณก็ปรากฏ เราก็ไม่ได้ไปสนใจ

    ผู้ฟัง มันก็หนีปริยัติไม่พ้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ปริยัตินั่นอยู่ตอน ๑ เราเรียนมานี้ตอน ๑ และตอนที่กายวิญญาณเกิดเราก็เลยไม่รู้ มันก็เกิดอย่างที่เราเคยศึกษามาว่า นี้กายวิญญาณเกิดอย่างนี้ มันก็อย่างนี้ นั่นคือไม่ใช่ศึกษาลักษณะปรมัตถ์ที่ไม่ใช่ตัวตน แต่เรามีความรู้ว่า ปรมัตถธรรมมีจริงๆ แล้วเราฟังมา และเวลานี้มันก็มีที่ปรมัตถธรรม มีเรารู้ว่ามี แข็งมี เห็นมี ได้ยินมี แต่ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา เพราะว่า ขณะนั้นเราเอาความเข้าใจที่เป็นปริยัติ แล้วเวลาที่กายวิญญาณเกิด รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เท่านั้นเองที่เรามาบอกว่า มันก็มี และมีแล้วมันเฉยๆ

    ผู้ฟัง ไม่ได้คิดว่า เป็นกายวิญญาณด้วย

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องคิด แต่หมายความว่า เราเข้าใจแล้ว เราเข้าใจมาแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาที่ปรากฏก็รู้เพียงแค่ปรากฏ เหมือนความรู้ขั้นปริยัตซึ่งเราฟังมาตอนหนึ่ง กับสิ่งที่กำลังปรากฏเวลานี้มีลักษณะ แต่ปัญญาไม่ได้เจริญ

    ผู้ฟัง ซึ่งผิดกับแต่ก่อนที่เราก็ไม่ได้ไปสนใจอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ถูก คือแต่ก่อนพอถามว่า ขมไหมเราบอกขม ทีนี้เราเรียนปริยัติมารู้ว่า มันเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แล้วก็มีความรู้ ๒ ตอน คือ ก่อนศึกษา ขม หวาน เสียงดัง สุข เจ็บ เราก็มีความรู้ แต่มันเป็นเราเต็มตัว ทีนี้เวลาที่เราฟังปริยัติ เรารู้ว่า นี่ไม่ใช่เรา ตอนฟังมีความเข้าใจว่า ไม่ใช่เรา พอรู้ว่าไม่ใช่เราแล้ว พอสภาพธรรม เช่น กายวิญญาณปรากฏ เราก็รู้ว่านี่คือ กายวิญญาณ บางคนก็ใส่ชื่อ บางคนก็ไม่ใส่ชื่อ ไม่ต้องนึก แต่มันก็ยังคงเป็นความรู้ขั้นปริยัติ เวลาที่กายวิญญาณปรากฏเหมือนกับพื้นของมันมีที่จะรู้ว่า นี่คือสภาพธรรม แต่ปัญญาไม่ได้เจริญ เพราะฉะนั้นหนทางที่ปัญญาจะเจริญ จะต้องรู้ลักษณะที่แยกขาดของนามธรรม และรูปธรรม

    ผู้ฟัง เป็นเรื่องที่ยากมาก สังเกตดูเมื่อสติเกิด ถ้าหากว่า ทางหู ไม่รู้ หูไม่รู้เรื่อง

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่การที่กำลังพิจารณาลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมกับรูปธรรม เพราะว่า การที่สติระลึกเพื่อที่จะรู้ลักษณะที่ต่าง มีสภาพธรรม ๒ อย่าง เช่น เย็นก็ปรากฏทางกาย จะไปปรากฏทางอื่นไม่ได้ แต่ก็คือ กายวิญญาณ ธรรมดาๆ เรายังไม่รู้ความต่างของสภาพรู้ กับ ลักษณะเย็น แต่ถ้าเราไม่สามารถที่จะรู้ความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมอันนั้นก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ยอมรับว่า ไม่รู้ว่าเป็นรูปหรือนาม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีใครมีสติปัฏฐานสักคน

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ จะไปปฏิเสธอย่างนั้นได้อย่างไร ไม่ต้องถามใครเลยเรื่องของการศึกษาธรรมเป็นเรื่องเฉพาะตัว ที่เรารู้ เราเข้าใจ และเมื่อมีสติเกิด

    ผู้ฟัง แล้วเป็นสติอะไร

    ท่านอาจารย์ เวลาที่สติเกิดได้เราจะรู้เลยว่า ขณะนี้ปัญญารู้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่รู้ ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ถ้าปัญญาไม่รู้ ทางที่ปัญญาจะรู้คืออย่างไร ทุกคนนี้เป็นปัจจัตตังที่จะต้องมีความเข้าใจของตัวเองค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งรู้ว่า ทางที่ปัญญาจะเกิด ไม่ใช่ว่าปล่อยให้ไม่คิด นั่นก็ไม่ใช่ว่า เราเป็นตัวตนที่ปล่อย เกิดไม่คิดขึ้นมา และความรู้ที่เราเคยรู้มาก่อนว่า นี่เป็นสติ อย่างที่จี๊ดหยิบส้ม มีสติของเขาที่จะระลึกถึงขั้นว่า นี่เป็นสติ แต่นั่นเขาไม่ได้รู้ลักษณะสติที่ไม่ใช่เขา แต่มีความรู้อาการที่เกิดการระลึกแล้วก็ใส่ชื่อเลยว่า สติเกิด ลักษณะของสติก็มี แต่ไม่ใช่ขั้นที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน แต่จะต้องมีความละเอียดเข้าไปอีกเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ถ้าสติเกิดแล้วไม่รู้ ก็ไม่เป็นสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ เป็นสติหลายขั้น สติปัฏฐานอาจจะมีน้อยมากหรือว่าไม่มีเลย แต่ว่ามีสติขั้นระลึกเรื่องราวได้ เพราะฉะนั้นแต่ละคนคำว่า ปัจจัตตัง คือ ตรงนี้ ไม่ใช่ไปรู้ของคนอื่น แต่รู้เฉพาะตัวจริงๆ ว่าขณะนี้กายวิญญาณกำลังมีเย็นปรากฏ

    ผู้ฟัง แล้วตอบไม่ได้ว่า นามเป็นอารมณ์หรือรูป

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสติก็ไม่เจริญ จะเจริญได้อย่างไรในเมื่อไม่ค่อยรู้ขึ้นในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม อยู่อย่างนี้ก็จะไม่มีการรู้ จะไม่มีการเจริญที่จะรู้

    ผู้ฟัง แล้วเจริญให้รู้ ทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า เราฟัง แล้วเรารู้ว่า ไม่ใช่เพียงแต่สภาพธรรมปรากฏ ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ยังจะต้องค่อยๆ รู้ลักษณะที่เป็นธาตุรู้ ขณะที่เป็นลักษณะที่เย็นหรือร้อน

    ผู้ฟัง สติเกิดหรือไม่ เรารู้

    ท่านอาจารย์ สติเกิดหรือกายวิญญาณเกิด

    ผู้ฟัง สติเกิด

    ท่านอาจารย์ แล้วกายวิญญาณเกิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เกิดด้วย

    ท่านอาจารย์ ต่างกันอย่างไร

    ผู้ฟัง เราไม่มีวัตถุประสงค์ในการรู้สติ แต่เราต้องการรู้สภาวธรรมของนาม และรูป

    ท่านอาจารย์ กายวิญญาณก็รู้อยู่เวลานี้ว่า แข็ง กายวิญญาณก็รู้อยู่ว่า เย็น นี้คือ กายวิญญาณที่รู้

    สนทนาธรรมเขาเต่าหัวหิน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๖

    ผู้ฟัง เหมือนว่า กำลังมีนิพพานเป็นอารมณ์ และก็รู้ทุกข์ด้วย แต่นิพพานไม่ใช่ทุกข์ เพราะฉะนั้นถามว่า กำหนดทุกข์อย่างไรที่กำลังมีนิพพานเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้หมายความว่า ขณะนั้นทำกิจรู้ทุกข์ แต่ทำกิจแจ้งนิพพาน เพราะว่าก่อนนั้นรู้ทุกข์ แล้วรู้เหตุของทุกข์ แล้วละเหตุของทุกข์ แล้วกำลังเจริญมรรคยังไม่สมบูรณ์ แต่สมบูรณ์เฉพาะเมื่อโลกุตตรจิตหรือมรรคจิตเกิด เพราะว่าขณะนั้นแจ้งนิพพาน ทำกิจครบ ๔ แต่ไม่ใช่หมายความว่า ทำพร้อมทั้ง ๔ ในขณะนั้น แต่หมายความว่า ก่อนนั้นทำแล้ว เห็นทุกข์แล้ว แล้วก็รู้เหตุของทุกข์ แล้วละเหตุของทุกข์ด้วย แต่ยังไม่ครบ ขาดอีก ๑ กิจ จนกว่าจะถึงโลกุตตรจิตเมื่อไหร่ มรรคจิตเกิดเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็ครบ ครบที่ได้ทำแล้ว

    ผู้ฟัง นิพพานเป็นเพียงผลของการกำหนดรู้

    ท่านอาจารย์ เป็นอารมณ์ของโลกุตตรจิต

    ผู้ฟัง หลังจากที่รู้ทุกข์แล้วก็มีนิพพานเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ คือธรรมดาจิตอื่นไม่สามารถที่จะมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้เลย เฉพาะโลกุตตรจิตเท่านั้นที่จะมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ กว่าจะถึงนิพพานเป็นอารมณ์ก็ต้องทำกิจอื่นๆ ซึ่งกำหนดรู้ทุกข์โดยปริญญา และวิปัสสนาขั้นอื่น แล้วก็มีการละเหตุของทุกข์โดยปริญญา และวิปัสสนาขั้นอื่นแล้วมรรคก็ได้เจริญ แต่ยังไม่สมบูรณ์จนกว่าจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน นิพพานไม่ได้เกิดเป็นผล แต่ผลคือ มรรคจิตถึงนิพพานหลังจากที่ได้อบรมเจริญแล้ว มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่แยกเป็นโลกุตตรกุศลกับโลกุตตรวิบาก เพราะว่า โคตรภูจิตก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ จึงมีคำแย้งว่า โคตรภูจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์แต่ว่าไม่ใช่โลกุตตรจิต เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ เมื่อโคตรภูจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์แต่เป็นเพียงมหากุศลญาณสัมปยุตต์ เพราะอะไร เพราะเหตุว่า ไม่ได้ทำกิจดับกิเลสเป็นสมุจเฉท จะทำกิจดับกิเลสเป็นสมุจเฉทตรงมรรคจิตซึ่งประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานเต็มที่ ทำกิจนั้นจึงได้เป็นการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท และเมื่อโลกุตตรจิตที่เป็นโลกุตตรกุศลดับแล้ว ผลจิตซึ่งเป็นวิบากเกิดมีนิพพานเป็นอารมณ์ต่อ เพราะฉะนั้นคำจำกัดความของโลกุตตรจิตจึงต้องเพิ่มเติมว่า คือจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์โดยดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้แก่มรรคจิต และโดยมีนิพพานเป็นอารมณ์โดยดับกิเลสแล้วซึ่งได้แก่ผลจิต แต่โคตรภูจิตจะไม่อยู่ใน ๒ ข้อนี้เลย

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นขณะที่เป็นโลกุตตรจิตก็ต้องครบทั้ง ๔

    ท่านอาจารย์ ต้องมีครบ เพราะว่า ถึงที่ ๗ จึงชื่อว่าครบ แต่ถ้าไม่ถึงที่ ๗ ยังเหลืออีก ๑ ก็ชื่อว่าครบไม่ได้ ถึง ๖ ไม่ถึง ๗ ก็ครบไม่ได้ ในพระไตรปิฏกจะต้องสอดคล้องกันทั้งพระวินัยบ้าง พระสูตรบ้าง พระอภิธรรมบ้าง

    ผู้ฟัง ในปรมัตถสังคหะ …… มโนทวารวิถี …… ปัญจทวารวิถี

    ท่านอาจารย์ มโนทวารวิถีไม่ปรากฏ ทำให้เราไม่รู้ว่า ขณะนี้มีมโนทวารวิถี เพราะว่า ปัญจทวารวิถีปรากฏสืบต่อ แต่เวลาที่เราบอกว่า เราไม่เคยรู้จักรูปารมณ์เลย ไม่เคยเห็นรูปารมณ์เลย บางคนบอกไม่เคยเห็นรูปารมณ์เลย เห็นแต่ตัวเรา เห็นแต่โต๊ะ เห็นแต่เก้าอี้เหล่านี้ แสดงว่า ความจริงแล้วสิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดแล้วดับเร็วมาก แต่ทางใจสืบต่อจนกระทั่งแม้สิ่งที่ปรากฏก็ไม่รู้ความจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วดับ เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจว่า มโนทวารไม่ปรากฏเวลานี้ตามความเป็นจริง มีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีเสียงที่ปรากฏทางหู คิดจริง แต่ขณะนี้ยังมีรูปารมณ์ปรากฏแล้วก็มีเสียงด้วย เพราะฉะนั้นมโนทวารวิถีจริงๆ ไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่ถูกปิดบัง แต่เวลาที่ปัญญารู้แจ้งชัดในลักษณะสภาพธรรมทางมโนทวารวิถี มโนทวารวิถีเหมือนปิดบังปัญจทวารวิถี เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจ ๒ ตอนคือ กำลังพูดถึงเรื่องสภาพธรรมที่ปิดบังว่า ระหว่างปัญจทวารวิถีกับมโนทวารวิถี อะไรปิดบังอะไร ตอนไหน ขณะนี้ทุกคนเห็นแล้วก็คิดนึกนี้เป็นของธรรมดา ได้ยินแล้วก็คิดนึกเป็นของธรรมดา แต่มโนทวารวิถีที่คิดนึกไม่ได้ปรากฏเหมือนทางตาที่กำลังเห็น ขณะนี้มีสีกำลังปรากฏ เสียงก็ปรากฏแต่ว่า ตัวมโนทวารที่คิดนึกไม่ได้ปรากฏเลยใช่ไหม ทั้งๆ ที่เราศึกษานี้ เรารู้ว่า มี มโนทวารวิถีมีแน่นอน และหลังจากเห็นวาระจิตทางจักขุทวารวิถีจิตดับ ภวังค์คั่น มโนทวารวิถีจิตต้องเกิด และไม่ใช่วาระเดียว เกิดแล้วมีสีที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ ดับไปวาระ ๑ ภวังค์คั่นแล้วมีมโนทวารวิถีจิตวาระต่อมาเกิดอีก เราถึงสามารถจะรู้ได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไรด้วยความจำ แสดงให้เห็นว่า มโนทวารวิถีเกิดมากมายหลายวาระ แต่ไม่ปรากฏเลยว่า มโนทวารวิถีเป็นอย่างไร ถ้าถามเวลานี้ว่า มโนทวารวิถีเป็นอย่างไร ไม่รู้เห็น มโนทวารวิถีอยู่ที่ไหน ถ้าศึกษาแล้วก็จะตอบได้ว่า มโนทวารวิถีมีโดยมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน หลังจากนั้นวาระแรกก็จะมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์สืบต่อ หรือว่าถ้าเป็นทางหูก็มีเสียงที่เป็นปรมัตถอารมณ์ต่อ โดยการศึกษาจึงได้รู้ว่า มีมโนทวารวิถีคั่นทุกๆ วิถีไป แทรกอยู่ระหว่างทางตา ทางหู นี่คือชีวิตปกติประจำวัน แต่ว่าเวลาที่อบรมเจริญปัญญามากๆ จนกระทั่งสภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริงทางมโนทวาร ที่จะใช้คำว่า สภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริงได้ ต้องทางมโนทวาร เพราะว่า ขณะนี้มีมโนทวารคั่นก็ไม่ปรากฏ จะเรียกว่าตามความเป็นจริงได้อย่างไร แต่ถ้าตามความเป็นจริงแล้วสภาพธรรมที่ปรากฏคือว่า ปัญญาสามารถที่จะรู้ความต่างกันของนามธรรม ซึ่งจะรู้ได้ทางมโนทวารเท่านั้น ในลักษณะที่กำลังเป็นนามธรรมซึ่งไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีรูปร่าง ไม่มีสัญฐานใดๆ ทั้งสิ้น และเวลาที่รูปธรรมปรากฏทางมโนทวาร มโนทวารก็สามารถจะรู้รูปนั้น โดยรูปนั้นไม่ปรากฏเหมือนการสืบต่ออย่างที่เคยปิดบังมโนทวารไว้ เพราะฉะนั้นลักษณะของวิปัสสนาญาณ ความรู้ชัดทางมโนทวารปิดบัง เหมือนปิดบังปัญจทวาร เพราะทางปัญจทวารจะปรากฏเพียงสั้นๆ เล็กมากไม่เหมือนอย่างนี้ เพราะฉะนั้นรูปก็ปรากฏเพียงนิดเดียวแล้วเป็นมโนทวารทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปอะไรทั้งหมด จะไม่มีการปรากฏสืบต่ออย่างชนิดซึ่งติดกันแน่น แต่จะเป็นแต่ละลักษณะ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า ปกติธรรมดามโนทวารไม่ปรากฏ แต่เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณ มโนทวารเหมือนปิดบังปัญจทวาร เพราะเหตุว่าจะไม่มีการรู้เลยว่า นั่นคือวิถีจิตซึ่งเคยมีเป็นปกติทางการปัญจทวาร เพราะว่า ถ้าเป็นรูปจะปรากฏสั้นมาก นั่นคือลักษณะของรูปจริงๆ

    ผู้ฟัง ทำไมต้องมีการปิดบัง มีการเห็นสีน้อยกว่าในการรู้เรื่องทางมโนทวารไหม

    ท่านอาจารย์ เวลาที่สภาพธรรมปรากฏ ขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณจะไม่มีความสงสัยในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เพราะเหตุว่า ขณะนี้โดยการศึกษาทุกคนทราบว่า ไม่มีตัวตนเลย ขณะที่กำลังเห็นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะที่กำลังได้ยินเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะที่รู้สึกดีใจเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะที่กำลังคิดนึกเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แล้วก็ค่อยๆ รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมจนปัญญาสมบูรณ์ ขณะใดที่มีปัจจัยที่จะให้วิปัสสนาญาณเกิด ขณะนั้นมโนทวารวิถีปรากฏ เมื่อมโนทวารวิถีปรากฏ เราจะรู้ว่า ลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างไรซึ่งต่างกับรูปธรรมโดยเด็ดขาด และลักษณะของรูปจะปรากฏสั้นจริงๆ เพราะเวลานี้รูปมีอายุเพียงแค่ ๑๗ ขณะจิตเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นการปรากฏของรูปอย่างสั้น ถ้าเราไม่ศึกษาเราจะไม่รู้เลยว่า นี้เพราะมีปัญจทวาร เราก็จะคิดว่า มโนทวารนั่นเองที่รู้รูป เพราะเหตุว่า มโนทวารวิถีจิตรับรู้รูปต่อจากปัญจทวารนั่นเอง เพราะฉะนั้นจะไม่มีความสงสัยในพระธรรมที่ทรงแสดงว่า หลังจากทางปัญจทวาร ทวารหนึ่งทวารใดดับ มโนทวารรับรู้ต่อ เพราะว่า เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน และเป็นขณะที่สั้นมาก สั้นจนไม่มีการที่จะคิดว่าเพราะเป็นปัญจทวาร รูปจึงได้ปรากฏ เพราะเหตุว่า ขณะนั้นมโนทวารรู้รูปนั้นได้ทางมโนทวาร ถ้าไม่รู้ชัดในลักษณะของมโนทวารที่รู้นามธรรม และรูปธรรมจริงๆ จะไม่มีทางดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเลย เพราะโลกยังเหมือนเดิม นี่โลกต่างจากที่เคยเป็น เพราะเหตุว่า โลกเดิมนั้นปัญจทวารปิดบังมโนทวาร แต่เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณ มโนทวารเหมือนปิดบังปัญจทวาร

    ถ. ……

    ท่านอาจารย์ เหมือน เพราะเหตุว่า ไม่ใช่ว่าการที่สภาพธรรมปรากฏติดต่อกันโดยที่ไม่มีมโนทวารปรากฏ ขณะนี้สภาพธรรมปรากฏทางตาเหมือนไม่มีทางมโนทวารปรากฏเลย แต่ตามความเป็นจริงมโนทวารต่างหากที่เกิดมาก และรูปที่ปรากฏทางตานิดเดียวๆ ถ้าไม่ประจักษ์ความจริงอย่างนี้ว่าต่างกันจริงๆ จากที่เคยเข้าใจ ก็ไม่มีการละการยึดถือว่า เป็นตัวตน เพราะว่ายังมีเรา มีการเห็นแล้วก็ยังรู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร แล้วก็มีการคิดโดยมโนทวารไม่ปรากฏเลย แต่เพราะมโนทวารปรากฏจึงรู้ความจริงว่า โลกคืออย่างนี้ ไม่มีตัวตนเลย มีแต่สภาพธรรมล้วนๆ จริงๆ แต่ละอย่าง

    นีน่า ลักษณะของการคิด

    ท่านอาจารย์ มีแต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ปรากฏ ปิดบัง เห็นกำลังปิดบังความคิดคุณนีน่า เพราะว่า เห็นตลอดไม่รู้เลยว่าคิดตรงไหน ขณะกำลังเห็น คิดตรงไหนบอกไม่ได้ เพราะเห็นกำลังเห็นตลอด เวลาที่เราไม่เห็น ไม่ได้ยินเลย มีคิด ไม่เห็น เช่น นอน นอนหลับตาไม่เห็น และไม่ได้ยินด้วย แต่มีคิด แต่แม้กระนั้น มโนทวารก็ไม่ได้ปรากฏเพราะเราคิด ยังเป็นเราก็ไม่ใช่มโนทวาร

    นีน่า เป็นเราที่คิด มันมีแต่ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ไม่ปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นต้องใช้คำว่า โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเมื่อมโนทวารวิถีปรากฏก็ต้องมีจิตเห็น

    ท่านอาจารย์ วิปัสสนาญาณเท่านั้น ถ้าไม่ถึงวิปัสสนาญาณ มโนทวารไม่ปรากฏเลย ต้องใช้คำว่า ไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นเวลาที่วิปัสสนาญาณเกิด คนนั้นจะรู้เลยว่า เมื่อไหร่เป็นวิปัสสนาญาณ เมื่อไหร่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ

    ผู้ฟัง หมายความถึงลักษณะของวิปัสสนาด้วย

    ท่านอาจารย์ แน่นอน วิปัสสนาญาณ เพราะว่า เมื่อนามรูปปริจเฉทญาณเกิด คนนั้นจะรู้เลยว่า นี่เป็นวิปัสสนาญาณ แล้วหลังจากนั้นคนนั้นจะรู้ว่า เมื่อไหร่เป็นปัสสนาญาณ เมื่อไหร่ไม่เป็นวิปัสสนาญาณ ถ้าวิปัสสนาญาณยังไม่เกิด คนก็พยายามจะคิดสงสัยว่า นี่ใช่วิปัสสนาญาณหรือเปล่า เป็นวิปัสสนาญาณหรือยัง เพราะสติของเขากำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมเพียงอย่างเดียว ขณะนั้นเขารู้จริงๆ ว่า ลักษณะเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่นั่นคิด เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณแล้วไม่ต้องคิดอย่างนั้นเลย เป็นสภาพธรรมที่มีจริง สิ่งนี้ก็ปรากฏ แต่เราไม่รู้ เรียกว่า ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ มีจริงๆ ให้รู้แต่ไม่รู้ ไม่ใช่ว่าไม่มี ยังมีอยู่ ถึงแม้ว่าจะคิดก็ยังมี กำลังคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นถ้วยแก้ว ฯลฯ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ยังมี

    ผู้ฟัง มีแล้วทำไมถึงไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า มีอวิชชา อวิชชาไม่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ แต่ปัญญาไม่ใช่รู้อื่นเลย รู้สิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏหรือเป็นความคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏก็เป็นความจริงมาก เพราะฉะนั้นสภาพธรรมจึงต้องละเอียด สติจึงต้องรู้ทั่ว รู้ชัดว่า แม้แต่เห็นแล้วคิดถึงสิ่งที่เห็น สภาพที่คิดไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา จะต้องรู้อย่างนี้ แต่เวลาที่บอกว่า มีสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วคิด แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ยังปรากฏอยู่ ไม่ทราบผู้ถามคิดว่า จะปิดบังหรือเปล่า เพราะว่า ขณะกำลังคิด สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ยังปรากฏ เพียงแต่ว่าไม่รู้ความจริง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นคำว่า ปัญญาปิดบังปรมัตถ์ และอวิชชาปิดบังหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เพียงแต่ว่า ไม่ให้รู้ความจริงเพราะคิดถึง แต่ไม่ได้หมายความว่า สิ่งนั้นไม่ปรากฏ ถึงเรากำลังคิด สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ยังปรากฏ แต่ว่าปัญญาไม่รู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่คิด เพราะฉะนั้นเวลาที่สัมมาสติระลึก หมายความว่า ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมอย่างธรรมดาขณะนี้ แล้วสติระลึก และสัมมาสังกัปปะก็จรดในลักษณะของนามธรรม ไม่ใช่ไปจรดที่ลักษณะของรูปธรรม หรือถ้าสัมมาสังกัปปะกับสติจะระลึกที่ลักษณะของรูปธรรม ขณะนั้นก็จรดที่ลักษณะของรูปธรรม แล้วอะไรเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง เข้าใจว่า ปัญญาเกิด

    ท่านอาจารย์ เพราะว่า โดยมากถ้าสติของคนนั้นไม่เกิดเลย ไม่เข้าใจเลย เขาก็ไม่สามารถที่จะรู้ความต่างกันของปัญญา ๒ ขั้น คือ ปัญญาขั้นฟังเข้าใจ และปัญญาขณะที่สติระลึก

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    3 พ.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ