ปกิณณกธรรม ตอนที่ 112


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๑๒

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศกัมพูชา

    ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓


    ผู้ฟัง ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานกับสมถกรรมฐาน ทั้ง ๒ นี้ ธรรมข้อใดข้อหนึ่งที่ได้ถึงพระนิพพานอย่างรวดเร็วกว่า

    ท่านอาจารย์ สมถภาวนา คือการอบรมจิตให้สงบจากอกุศลมั่นคงขึ้น ผลก็คือว่าสามารถที่จะเกิดเป็นพรหมบุคคลได้ แต่ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาที่รู้จักลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ตามความเป็นจริง ก็ไม่มีทางที่จะถึงนิพพานได้เลย สภาพธรรมกำลังปรากฏแท้ๆ ยังไม่รู้ แล้วจะไปรู้นิพพานได้อย่างไร

    ผู้ฟัง กามราคะ และกามุปาทานต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต่างกันที่อุปาทานเป็นการยึดถือในกามนั้น

    ผู้ฟัง แล้วก็กามราคะ

    ท่านอาจารย์ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ผู้ฟัง ก็เป็นอุปาทานด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่มีความยึดมั่น ขณะนั้นก็เป็นอุปาทาน

    ผู้ฟัง วิภวตัณหาที่แปลว่า ตัณหาที่ปราศจากภพ ถ้าตัณหานี้ปราศจากภพอย่างนี้ ทำไมจึงจัดเป็นตัณหาด้วย

    ท่านอาจารย์ ข้อความในพระไตรปิฎกที่แสดงว่า วิภวตัณหาได้แก่ความยินดีในความเห็นผิดว่าสูญ

    ผู้ฟัง คำถามนี้คือ ในขณะที่มีวิปัสสนาแล้วก็ถามว่า วิปัสสนาที่เป็นโลกียะ ที่อาจจะทำให้มีวิบากเป็นไปในภพด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าตราบใดที่ไม่ใช่โลกุตรภูมิ กุศลนั้นก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดภพได้

    ผู้ฟัง กรุณาช่วยแนะนำเพราะเป็นคำถามถึงธรรมขั้นสูงคือพระนิพพาน มีอยู่ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย มีพระพุทธพจน์แสดงถึงพระนิพพานเป็นอายตนะ แต่ว่าอายตนะนั้นไม่ใช่อากาสานัญจายตนะเป็นต้น ไม่ใช่เป็นที่ไป ไม่ใช่เป็นที่มา ถามว่าอายตนะนั้นเป็นอายตนะอะไร มีบางครั้งก็ว่าเป็นธัมมายตนะ เป็นพระนิพพาน คำว่าธัมมายตนะนี้ถูกต้องหรือไม่

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมทุกอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ว่าสภาพธรรมนั้นจะจัดเป็นประเภทใด สำหรับนิพพานเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่สามารถจะรู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่สามารถจะรู้ได้ทางใจ จึงเป็นธัมมายตนะ

    ผู้ฟัง โลภะ โทสะ โมหะ ทั้ง ๓ นี้ ธรรมใดที่ง่ายจะละกว่ากัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าถามถึง ๓ อย่าง สำหรับพระอนาคามิบุคคลสามารถที่จะละโทสะได้ สำหรับโลภะกับโมหะต้องเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง เพราะมีสำนักปฏิบัติบางสำนักก็มีการกล่าวว่า นั่งเป็นรูป รู้ว่านั่งเป็นนาม เป็นอย่างไร ขอเชิญ

    ท่านอาจารย์ ถ้าบอกว่านั่งเป็นรูป แล้วรูปเป็นอย่างไร ต้องทราบก่อน ว่ารูปคืออะไร รูปเป็นอย่างไร รูปมีจริงหรือเปล่า สิ่งที่มีจริงแล้วก็ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย ไม่ว่าจะมองเห็นหรือมองไม่เห็น เป็นรูปธรรมทั้งหมด เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ต้องรู้อย่างนี้ก่อนที่จะไปพูดว่านั่งเป็นรูป ก็ต้องรู้ว่ารูปเป็นอย่างไร จะได้ทราบว่าอะไรเป็นรูปบ้าง วันนี้ก็คงจะมีการบ้าน ขณะนี้มีรูปไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ อะไรบ้างที่เป็นรูป ต้องรู้ก่อน

    ผู้ฟัง ก็ตอบว่าอรูปที่กำลังเห็นนี้ แล้วก็อยู่ในกายก็มีการ มีการบ้านไป ตึงไปนี่เป็นรูป คำตอบอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เสียงเป็นรูปหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นรูป

    ท่านอาจารย์ เข้าใจถูกต้องว่า สิ่งที่มีลักษณะจริงที่ปรากฏ แต่ไม่สามารถจะดูอะไรได้เลยเป็นรูป ถ้าไม่มีตาจะเห็นรูปไหม

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีหู ได้ยินเสียงรูปไหม ไม่ใช่เป็นเสียงของรูป แต่เสียงนั่นเองเป็นรูป รูปที่ตาเห็นกับรูปที่หูได้ยินเหมือนกันไหม

    ผู้ฟัง ไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่เหมือนกัน ก็มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า รูปมีหลายอย่าง แล้วแต่ละอย่างก็ปรากฏได้ในแต่ละทาง

    ผู้ฟัง ขอถามว่า ตัตรมัชฌัตตตา และอุเบกขา ทั้ง ๒ นี้ต่างกันอย่างไร แล้วก็มีการเกี่ยวข้องกับการเจริญสติปัฏฐานหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ตัตรมัชฌัตตตาเป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเป็นโสภณเจตสิก ลักษณะของตัตรมัชฌัตตตาก็คือสภาพที่เป็นกลาง ไม่เป็นไปในอกุศลฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลย ขณะที่เวลาที่เกิดพร้อมกับสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรมอื่นๆ ลักษณะของตัตรมัชฌัตตตาก็ทำให้เป็นกุศลในขณะนั้น ตามธรรมดาจิตย่อมตกไป ด้วยโลภะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง หวั่นไหวไปในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เป็นกุศล เพราะฉะนั้นเวลาที่ธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้น ก็มีตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งขณะนั้นก็เป็นสภาพที่ไม่หวั่นไหว เป็นกลาง จึงเป็นกุศลได้ ความไม่หวั่นไหว ความเป็นกลางของตัตรมัชฌัตตตา ก็มีลักษณะที่เป็นอุเบกขา คือเหมือนกับการที่วางเฉย เพราะฉะนั้นคำว่า อุเบกขา กว้าง หมายความถึงความรู้สึกซึ่งไม่สุข ไม่ทุกข์ก็ได้ ขณะนั้นก็เป็นเวทนาเจตสิก แต่วันหนึ่ง วันหนึ่ง ก็เห็นสัตว์บุคคลที่เป็นทุกข์ เป็นสุขมาก เพราะฉะนั้นถ้าเป็นตัตรมัชฌัตตตา ก็คือว่า วางเฉยด้วยการที่เข้าใจในเรื่องกรรมของแต่ละสัตว์นั้น เวลาที่รู้สึกเฉยๆ หรือวางเฉยไม่หวั่นไหว เป็นเวทนาเจตสิกก็ได้ เป็นตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกก็ได้ เป็นปัญญาเจตสิกก็ได้ ในการอบรมเจริญวิปัสสนา แต่ต้องเป็นสังขารุเปกขาญาณ เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่าสภาพธรรมเกิดร่วมกัน แล้วก็มีหลายระดับ เวลาที่สภาพธรรมใดมีหน้าที่อย่างไร ในระดับไหน ก็ทำหน้าที่ในระดับนั้น

    ผู้ฟัง นี้ก็เป็นคำถามต่างหากคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสแสดงว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา แต่เฉพาะโลภเจตสิกไม่เป็นทุกขสัจจะ คือเป็นสมุทยสัจจะ ถามว่า ที่โลภะไม่ใช่ทุกขสัจจะแล้วก็เป็นทุกข์อย่างไร เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ในสัจจะนี้ โลภเจตสิกไม่ใช่ทุกขสัจจะ คือเป็นสมุทยสัจจะ เพราะฉะนั้นโลภะเป็นทุกข์อย่างไร

    ท่านอาจารย์ พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ เป็น ๑ ไม่เป็น ๒ คือว่าตรัสอย่างไร ความจริงก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อทรงแสดงว่า สังขารธรรมทั้งหลายเป็นทุกข์ คำนี้ไม่ผิดเลย ต้องถูก เพราะว่าสภาพธรรมใดก็ตามที่มีเหตุปัจจัยเกิด แล้วจะไม่ดับนั้นไม่มีเลย เพราะฉะนั้นสังขารธรรมทั้งหมดเป็นทุกข์ แม้แต่โลกุตตรจิต ก็เกิด และดับก็เป็นทุกข์ แต่ในการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้อริยสัจจธรรม ก็จะต้องทราบด้วยว่า การที่จะเข้าใจสภาพธรรมต้องเข้าใจในธรรมที่เป็นผล และในธรรมที่เป็นเหตุด้วย เช่นในขณะนี้ ที่ปัญญาจะเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นยังไม่มีการที่โลกุตตรจิตจะเกิดให้ระลึกรู้ แม้ว่าโลกุตตรจิตก็เป็นทุกข์ เพราะว่าเป็นสังขารธรรมเกิดดับได้เช่นกัน แต่เว้นเพราะเหตุว่า ตามความเป็นจริงคือไม่มีโลกุตตรจิตที่จะเกิดให้เห็นพิจารณาว่าเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นสำหรับจิตทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นจิตอะไร เช่นจิตที่มีราคะ สราคจิตตัง หรือว่าจิตที่ปราศจากราคะ ซึ่งก็ได้แก่โลภะนั่นเอง ขณะนั้นก็พิจารณาได้ ไม่ใช่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นทั้งหมดต้องถูกต้อง ที่ว่าสังขารธรรมทั้งหลายที่เกิดแล้วดับเป็นทุกข์ แต่อะไรเป็นเหตุของทุกข์ ในบรรดาสภาพธรรมทั้งหมดที่เกิด ต้องมีเหตุ เพราะฉะนั้นเหตุของทุกข์ทั้งหมดก็ได้แก่โลภเจตสิกที่ทรงแสดงไว้ เพื่อให้เห็นว่าตราบใดที่ยังไม่เห็นลักษณะของโลภะ ยังไม่ละโลภะ ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ทรงแสดงตามเหตุ ตามผล ตามกิจการงาน เช่นทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ หรือว่าควรพิจารณาให้รู้ความจริง ในขณะที่อบรมเจริญปัญญา ต้องมีปัญญาที่จะเห็นโลภะซึ่งเป็นเหตุของทุกข์ด้วย มิเช่นนั้นก็ละโลภะไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นโลภะไม่ใช่เป็นสิ่งที่ควรจะต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เหตุ แต่ชี้ให้เห็นว่าโลภะนั้นเองเป็นเหตุของทุกข์ทั้งมวล ถ้าไม่เห็นอย่างนี้ก็ไม่มีการละโลภะ การละโลภะไม่ใช่ว่าใครอยากจะละได้ แต่ว่าต้องเป็นปัญญาที่อบรมแล้วจึงสามารถที่จะเห็นโลภะแล้วละโลภะได้ การละโลภะต้องละตามลำดับ คือต้องละโลภะที่เกิดจากความเห็นผิด ในการอบรมเจริญปัญญาด้วย เพราะบางคนก็เข้าใจผิดว่าหนทางนั้น จะทำให้ปัญญาเกิดได้ แต่ความจริงนั่นไม่ใช่หนทางเพราะว่าเข้าใจผิดได้ การอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องละโดยตลอด ด้วยความรู้ และความรู้นั้นจึงละได้ มิฉะนั้นถ้าไม่มีความรู้เกิดขึ้นก็ไม่มีอะไรจะละโลภะหรืออกุศลได้เลย ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาแล้วไม่มีความรู้ ความเข้าใจเลยเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าปัญญาต้องเป็นความเห็นถูก ซึ่งเริ่มจากการฟัง และก็เข้าใจขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยสติเกิดแล้วระลึกรู้ลักษณะของสภาพนั้น ขณะนั้นจึงจะเป็นปัญญา การรู้การเข้าใจอริยสัจจ์ ๔ ไม่ใช่เพียงแต่รู้ชื่อ เช่นรู้ว่าอริยสัจจ์มี ๔ ได้แก่ ทุกขอริยสัจจะ สมุทยอริยสัจจะ นิโรธสัจจะ และมัคคสัจจะ ไม่ใช่เพียงแต่การจำชื่อได้ ท่องชื่อได้ แต่ต้องเป็นความเข้าใจในอริยสัจจ์ ๔ ด้วยปัญญาขั้นฟังอย่างละเอียด เพราะเหตุว่าข้อความในพระไตรปิฏกแสดงไว้ว่าอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ลึกซึ้งมาก ยากที่จะเห็นได้ เพื่อไม่ให้พุทธบริษัทเข้าใจผิด คิดว่าการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ง่าย ก็ได้ทรงแสดงอริยสัจจธรรม ๔ ไว้ ๓ รอบคือสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ แสดงให้เห็นว่ายากหรือง่าย ต้องมีความเข้าใจอย่างถูกต้องจริงๆ จึงสามารถอบรมเจริญสติปัฎฐานที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจ์ธรรมได้ ถ้าไม่เข้าใจสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณของอริยสัจจ์ก็จะเข้าใจผิด คิดว่าตนเองสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    ผู้ฟัง ในคำถามต่อไปอีกนี้ก็ถามในตัวปัญญาที่กำหนดรู้อุปาทานขันธ์ ในสติปัฏฐาน ๔ มีกายอยู่ในกาย ตอนนี้ก็การเจริญปัญญาเพื่อกำหนดรู้ คือมีปัญญากำหนดอุปาทานขันธ์ทุกข์ แล้วก็มีคำถามว่า การกำหนดรู้เป็นตัวปัญญานี่ก็เป็นอุปาทานขันธ์ทุกข์ด้วย เพราะฉะนั้นการอบรมการเจริญปัญญานี้ ก็ชื่อว่าเป็นการเจริญสภาพธรรมเป็นทุกข์ด้วย เพราะปัญญานี้ก็จัดอยู่ในอุปาทานขันธ์ทุกข์ด้วยหรืออย่างไร เพราะการเจริญปัญญาเป็นการกำหนดรู้รูปธรรม นามธรรมนี้ก็การกำหนดเป็นตัวปัญญานี่ก็เป็นสภาพธรรม แล้วก็อยู่ในอุปาทานขันธ์ทุกข์ด้วย เพราะฉะนั้นก็เหมือนว่าเป็นการเจริญทุกข์ด้วยหรือเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ปัญญามีหลายระดับ ปัญญามีทั้งโลกียปัญญา และโลกุตตรปัญญา ถ้ายังไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์ขณะนั้นก็เป็นปัญญาที่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเป็นขันธ์เป็นอุปาทานขันธ์ เพราะฉะนั้นตราบใดที่ปัญญายังไม่ถึงระดับที่เป็นโลกุตตระ ก็ยังไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ปัญญาที่เป็นไปในทาน ในศีล ในสมถภาวนา ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นการอบรมปัญญา ซึ่งไม่ใช่ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นภาวนา จึงจะเป็นการที่สามารถจะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้

    ผู้ฟัง คำถามต่อไป เป็นปกติผู้เจริญสติปัฏฐาน บางครั้งก็มีมโนทวารปิดบังปัญจทวาร คือปิดบังไม่ให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง บางครั้งก็เป็นมโนทวารปิดบังปัญจทวารด้วย ข้อความนี้เป็นอย่างไร เพื่อผู้ปฏิบัติในสติปัฏฐานนี้ อย่าหลงในสภาพธรรม ขอเชิญขยายความ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตากำลังเห็น แต่ว่าไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏเพราะเห็นคน เห็นสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้นความคิดนึกเรื่องคน เรื่องสิ่งต่างๆ จากสิ่งที่มองเห็น ก็ปิดบังไม่ให้เห็นความจริงว่าแท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมที่ปรากฏสั้นมาก เกิดแล้วก็ดับไป คือความคิดนึกทางมโนทวารปิดบังปัญจทวาร ทุกคนมีความรู้สึกเหมือนว่าเห็นตลอดเวลา แท้ที่จริงแล้วมีมโนทวารวิถี เกิดสืบต่อระหว่างจิตที่เห็น จิตที่ได้ยินทางปัญจทวาร แต่ละวาระ เพราะฉะนั้นพอพูดถึงทางตาทุกคนก็รู้กำลังเห็น ทางหูทุกคนก็รู้กำลังได้ยิน ถ้าเป็นได้กลิ่น กลิ่นดอกไม้หอมๆ ก็เป็นทางจมูก รสอร่อยๆ ที่ปรากฏหรือไม่อร่อยก็เป็นรูปที่ปรากฏทางลิ้น ขณะนี้เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ก็ปรากฏทางกาย แต่ไม่รู้เลยว่าหลังจากที่ทางปัญจทวาร วาระหนึ่งวาระใด ทวารหนึ่งทวารใดดับแล้ว มโนทวารวิถีต้องเกิดสืบต่อทันที หลังจากที่ภวังคจิตคั่นแล้ว เพราะฉะนั้นในขณะนี้เอง เหมือนกับว่าเห็นแล้วก็ได้ยิน มโนทวารอยู่ที่ไหนไม่ทราบ ในขณะที่ทางปัญจทวารเกิดดับสืบต่อกันปรากฏโดยมีมโนทวารคั่น จึงไม่ประจักษ์ลักษณะของมโนทวารจะรู้ได้ เข้าใจได้ ก็ขณะที่ไม่มีทางปัญจทวารเกิดเลย แล้วก็มีแต่สภาพคิดนึกถึงจะเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นมโนทวาร

    ผู้ฟัง สติปัฏฐานอาจจะเป็นไปตามปัญจทวารได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีทางตา และทางหูสติเกิดหรือเปล่า ถ้าสติปัฏฐานเกิด สติปัฏฐานนั้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอะไร

    ผู้ฟัง ในที่นี้คือ อยากจะถามว่าสติปัฏฐาน นี่อาจจะเป็นไปในปัญจทวารที่เป็นกุศลชวนะ อยู่ในทางตา ทางหูได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ การเข้าใจในสภาพธรรมขณะนี้ กำลังมีจริงๆ เพราะฉะนั้นก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่ากำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏ และมีจิตที่เห็นในขณะนี้เป็นสภาพรู้ สติปัฏฐานเกิดหรือเปล่า เราไม่ใช่พูดเรื่องราว แต่หมายความว่าต้องมีลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งสามารถที่จะเข้าใจได้ ถ้าจะพูดถึงเรื่องสติปัฏฐานทางปัญจทวารเกิดได้ไหม ก็ต้องเข้าใจว่าขณะนี้กำลังเห็น เป็น ๑ในปัญจทวาร หรือขณะที่กำลังได้ยินก็เป็น ๑ ในปัญจทวาร ขณะที่กำลังกระทบสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อนก็เป็น ๑ ในปัญจทวาร สติปัฏฐานเกิดหรือเปล่า เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ต้องไตร่ตรองสิ่งที่ได้ยินได้ฟังด้วย ไม่ใช่เพียงฟังแล้วก็คิดว่าจะต้องตามสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แต่ต้องพิจารณาว่าเป็นความจริงหรือไม่ ถ้าสติปัฏฐานเกิดในขณะนี้ สติปัฏฐานจะระลึกรู้อะไร ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด นามธรรม รูปธรรมเมื่อกี้ก็ดับไปโดยเปล่าประโยชน์ คือไม่มีใครรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นถ้าสติปัฏฐานเกิดไม่ใช่ระลึกรู้อย่างอื่น แต่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ทางหนึ่งทางใด เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานซึ่งเป็นมหากุศลจิตที่เกิดทางมโนทวาร ไม่ใช่พร้อมกับปัญจทวารซึ่งรูปกำลังปรากฏ เมื่อสติปัฏฐานเกิดจึงตามรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด แต่ไม่ใช่ทวารเดียวกัน ในขณะที่สติปัฏฐานทางมโนทวารเกิดขึ้นรู้ลักษณะของรูป ก็เป็นการรู้รูปที่ปรากฏทางหนึ่ง ทางใดในปัญจทวาร ถ้าระลึกรู้นามธรรม ก็นามธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อ แล้วยังปรากฏลักษณะของสภาพธรรมนั้นให้ศึกษาให้เข้าใจถูกว่า นั่นเป็นลักษณะของนามธรรมซึ่งไม่ใช่รูปธรรม การเกิดดับสืบต่อของสภาพธรรมเร็วมาก ขณะนี้ที่กำลังเห็นมีใครสามารถที่จะบอกได้ว่า ทางปัญจทวารหรือจักขุทวารดับไปแล้ว ภวังค์เกิดขึ้นแล้วมโนทวารก็รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ มีใครสามารถจะแยก ๒ ทวารนี้ได้ ขณะที่อ่อนหรือแข็งกำลังปรากฏ และสติระลึกลักษณะที่ปรากฏ มีใครบอกได้ว่าลักษณะนั้นปรากฏทางทวารไหน เพราะปัญญาที่จะรู้ความต่างของมโนทวาร และปัญจทวาร ต้องเป็นวิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้นก็ต้องถามผู้ที่ศึกษาธรรมว่ามหากุศลจิต เกิดได้กี่ทวาร

    ผู้ฟัง ๖ ทวาร

    ท่านอาจารย์ คำตอบมีแล้วใช่ไหม ๖ ทวาร เพราะฉะนั้นก็จะรู้ได้ว่า ขณะไหนซึ่งทางปัญจทวาร มีมหากุศลญาณสัมประยุตต์เกิด เพราะว่ารู้ลักษณะของรูปธรรม ขณะใดที่สติปัฎฐานระลึกเพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นไม่ได้หมายความว่าไม่มีทางปัญจทวาร ทวาร ๑ ทวารใด ปรากฏให้รู้ แต่หมายความว่ามโนทวารก็ต้องมี ปัญจทวารก็ต้องมี เมื่อทางมโนทวารค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมขึ้น มหากุศลจิตที่รู้ลักษณะของรูป ก็ต้องรู้ชัดเจนโดยสภาพที่มีความเข้าใจถูกในลักษณะของรูปธรรมนั้นด้วย

    ผู้ฟัง ถามว่าการเจริญสติปัฏฐาน ก็ต้องมีศีลเป็นก่อน หรือก็ไม่มีศีลก็อาจจะเจริญสติปัฏฐานได้ ขอคุณแม่กรุณาตอบปัญหานี้ให้ชัดเพื่อการเข้าใจไม่มีการสงสัย เชิญ

    ท่านอาจารย์ มีศีลแต่ไม่มีปัญญาก็เจริญสติปัฏฐานไม่ได้

    ผู้ฟัง เป็นคำถามในเรื่องสติปัฏฐานในอิริยาปถปัพพะ อยู่ในอิริยาปถปัพพะ ท่านก็มีการแสดงในอิริยาปถปัพพะทั้ง ๔ มีการเดิน การยืน การนั่ง การนอน แล้วก็มีคำถาม ถามว่าใครเดิน การเดินของใคร เดินได้เพราะอาศัยอะไร คำถามทั้งหมดนี้ ถามเพื่อให้มีสัมมาสติหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพื่อให้เข้าใจถูกต้อง ถ้าเป็นความคิดว่าเราเดินถูกต้องหรือไม่ ตอนนี้ไม่มีใครเดิน กำลังนั่ง ถ้าคิดว่าเป็นเราที่นั่งถูกต้องหรือเปล่า ถ้าเห็นถูก ไม่ได้หมายความว่าเราคิดเองว่าถูก แต่ว่าต้องมีสภาพธรรมที่ปรากฏ และเราสามารถที่จะเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้น แต่ถ้าไม่มีสภาพธรรมปรากฏแล้วก็คิดเอาเองไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน อย่างนั้นจะเป็นเพียงความคิดหรือว่าเป็นการรู้จริงๆ ไม่ใช่เรา ถ้าเป็นเพียงความคิดว่าไม่ใช่เรา ก็ไม่ต้องอาศัยการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ก็แค่คิดกันว่าไม่ใช่เราที่กำลังนั่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นการตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงก็คือต้องมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ แล้วไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจถูก เห็นว่าสภาพธรรมนั้นเป็นเรา เพราะฉะนั้นปัญญาความเห็นถูกจะเริ่มเมื่อได้ฟังพระธรรมที่ทรงแสดงจากการตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมให้เข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมจริงๆ ทุกคนยึดถือสภาพของรูปตั้งแต่ศีรษะจดเท้าว่าเป็นเราแม้ว่ารูปนั้นไม่ปรากฏ แต่ก็จำไว้ว่ามีรูป ขณะนี้ทุกคนกำลังจำ เป็นอัตตสัญญา ความจำว่ามีเรา โดยที่ไม่รู้ความจริงว่าการยึดถือรูปที่ตัวว่าเป็นเรายึดถือรูปอะไร จะมีใครตอบไหม ว่ายึดถือรูปอะไรที่ตัวเป็นเรา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ