ปกิณณกธรรม ตอนที่ 94


    ตอนที่ ๙๔


    ท่านอาจารย์ ในพระสูตรจะเห็นได้เลยว่า เสด็จไปเพื่อที่จะทรงแสดงธรรมกับบุคคลนั้นด้วยพระมหากรุณา ไม่ได้ต้องการสิ่งใดเลย นอกจากให้เขาเกิดปัญญาสามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ เพราะฉะนั้นธรรมเป็นสิ่งที่ประเสริฐมากที่ควรจะได้รู้จริงๆ ว่าคืออะไร และทรงแสดงไว้ที่เป็นประโยชน์กับเราในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ว่าต้องไปคอยให้เป็นทุกข์ แล้วเอาธรรมมาปลดเปลื้องความทุกข์ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะฉะนั้นขอตั้งต้นด้วยคำว่า “ธรรมคืออะไร” ได้ตอบกันไปพอสมควร แต่จริงๆ แล้วธรรมคือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้นการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ ตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงซึ่งยากแสนยาก แม้แต่เพียงจะคิดในขณะนี้ว่า อะไรมีจริง แค่นี้คือ การศึกษาธรรมต้องค่อยๆ เป็นปัญญาของเราเอง ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณา แต่ถ้าตั้งต้นถูก เข้าใจถูก ตั้งแต่ต้นตลอดทั้ง ๓ ปิฎก จะมีความเข้าใจถูกต้องโดยไม่สับสน ถ้ารู้ว่า ธรรมหมายความถึง ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นจริงๆ แล้วพิจารณาต่อไปอีกว่า สิ่งที่มีจริงต้องมีลักษณะปรากฏให้เห็น ให้รู้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ขณะนี้มีจริงๆ กำลังปรากฏ ปฏิเสธไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงทางตา ทางหูเสียงปรากฏ พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริง เสียงจริง สภาพที่ได้ยินจริง ทุกอย่างที่มีจริงนี้ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ความสุขของเราในวันหนึ่งๆ เกิดจากอะไรบ้าง ตาเห็นสิ่งที่พอใจ หูได้ยินเสียงที่พอใจ จมูกได้กลิ่นที่พอใจ ลิ้นลิ้มรสสิ่งที่พอใจ กายกระทบสัมผัสกับสิ่งที่พอใจ ใจนึกคิดในเรื่องที่เป็นสุข วันหนึ่งๆ แค่นี้เองแต่ทรงตรัสรู้ว่า ตลอดชีวิตไม่ว่าทุกภพชาติ จะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แหล่งที่เกิดของสุข และทุกข์คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นธรรมคือ สิ่งที่มีจริง และสิ่งที่มีจริงที่เป็นธรรมไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย ค่อยๆ เข้าไปถึงความหมายของคำว่า “อนัตตา” ซึ่งหมายความว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นคำสอนซึ่งสามารถที่จะพิสูจน์ได้ เช่น เสียง คนที่หูหนวกไม่ได้ยิน แต่คนที่มี “โสตปสาท” จึงได้ยินเมื่อเสียงกระทบ ถ้าเสียงไม่กระทบหู จิตได้ยินไม่เกิด เสียงก็ไม่ปรากฏ นี้แสดงความเป็นอนัตตาแล้วว่า ไม่มีใครบังคับอะไรได้เลยสักอย่างเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ขณะเกิดจนกระทั่งขณะตาย เป็นสภาพธรรมทั้งหมด และเป็นอนัตตาคือ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ขณะเกิดมีใครรู้ไหมว่า จะเกิดในโลกนี้ เป็นคนนี้ มีญาติพี่น้องอย่างนี้ มีวงศาคณาญาติ มีทรัพย์สินเงินทอง มีเพื่อนฝูง มีการสูญเสียลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อย่างไร ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เลย และขณะนี้วันนี้กำลังเป็นอย่างนี้ พรุ่งนี้ไม่มีใครรู้เลยว่า อะไรจะเกิดขึ้น นี้คือความหมายของอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาทั้งสิ้น ขณะนี้กำลังเห็น เป็นธรรม เพราะเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ยังไม่รู้ความจริงของเห็น ถูกไหม เห็นมีแต่เคยเป็น “เราเห็น” แต่ต่อไปจะรู้ว่า “เห็นไม่ใช่เรา” เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นไม่ใช่เรา “เห็น” เป็นอะไร ตอนนี้ตอบตามที่ได้ฟังแล้วง่ายๆ ว่า “เห็นเป็นธรรม” ถูกไหม เป็นธรรมหรือเปล่า ถ้าธรรมหมายความถึง “ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง” คำนี้ตายตัวไม่เปลี่ยนเลย เวลาที่ทรงตรัสรู้แล้วทรงแสดงธรรม ในพระไตรปิฎกจะใช้คำว่า พระธรรมที่ทรงแสดงเป็น ๑ ไม่เป็น ๒ หมายความว่า เมื่อทรงแสดงว่า เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่เปลี่ยน จะไม่เปลี่ยนว่า ธรรมเป็นอัตตา เป็นของเรา หรือว่าบังคับบัญชาได้ จะไม่มีในพระไตรปิฎก แต่ว่าทุกอย่างที่เป็นธรรมก็เป็นธรรมจริงๆ ใช้คำว่า “ธรรม” ทางโลกมีคำว่า “ธาตุ” ออกเสียงว่า “ธา-ตุ” ธ ธง สระอา ต เต่า สระอุ ทุกคนเคยได้ยินใช่ไหม ถ้าบอกว่า เป็นธาตุ เช่น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นของใครหรือเปล่า หรือว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ มีลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นคำว่า “ธรรม” มาจากคำว่า “ธาตุ” หมายความถึงเป็นสิ่งที่มีจริง ชั่วขณะที่ปรากฏ ชั่วขณะที่ปรากฏจริงๆ ขณะนี้เสียงกำลังปรากฏ จริงเมื่อไหร่ จริงเฉพาะเมื่อกำลังปรากฏ หมดแล้ว ไม่มีอีกแล้ว จะไปหาที่ไหนอีกก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริง จริงเฉพาะที่กำลังปรากฏ ถ้าศึกษาธรรมต่อไปจะเห็นว่า จะขยายทุกคำที่ทรงแสดงไว้ละเอียดขึ้นๆ และเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ตัวของเราซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นโลกที่กว้างใหญ่ แท้ที่จริงแล้วเป็นธรรมแต่ละอย่าง แต่ละชนิด เวลาที่พูดถึงธรรมควรจะได้ทราบก่อนตั้งแต่ต้นว่า “ทุกอย่างเป็นธรรม” แต่ธรรมมีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือสภาพธรรมอย่าง ๑ มีจริงๆ เช่น เสียงเป็นความดังหรือความกังวานของ “ปฐวี” คือ สภาพที่แข็ง ถ้าสิ่งที่แข็งกระทบกันจะทำให้เกิดเสียง แล้วดับ เสียงที่เกิดขึ้นมาไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่สภาพรู้ จำไม่ได้ หิวไม่ได้ โกรธไม่ได้ สิ่งใดที่มีจริงแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ในทางธรรมใช้คำว่า “รูป” หรือ “รูปธรรม” เพราะภาษาบาลีนั้นต้องออกเสียงคำสุดท้ายด้วย เพราะฉะนั้นเป็น “รู-ปะ” หรือว่าถ้ารวมกับ ธรรม ก็เป็น “รูปธรรม” รูปธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้น เสียงเป็นบุญไม่ได้ กลิ่นเป็นบุญไม่ได้ รสเป็นบุญไม่ได้ อ่อนแข็งเป็นบุญไม่ได้ แต่มีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งในขณะนี้กำลังมี ธาตุชนิดนั้นเป็นสภาพซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด รู้ในที่นี้หมายความว่า รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่น เสียง ที่จะบอกว่า มีเสียง ก็เพราะเหตุว่า มีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสภาพที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องได้ยินเสียง สภาพนั้นคือ “นามธาตุ” เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงที่เป็นธรรมดามี ๒ ลักษณะที่ต่างกันเป็นประเภทใหญ่ๆ คือ ประเภท ๑ เป็น “รูปธาตุ” อีกประเภท ๑ เป็น “นามธาตุ” รูปธาตุรู้อะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น แต่นามธาตุเป็นธาตุซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่น ทางตา กำลังเห็น เห็นมีจริงๆ เห็นไม่ใช่แสงสว่าง เห็นไม่ใช่สีสันวรรณะที่ปรากฏภายนอก แต่เห็นที่ใช้นามธาตุคือ ไม่ใช่ “รูป” โดยประการใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นสภาพที่สามารถจะรู้ สามารถที่จะเห็น สามารถที่จะได้ยิน สามารถที่จะได้กลิ่น สามารถที่จะจำ สามารถที่จะคิดนึก สามารถที่จะเป็นสุข เป็นทุกข์ ต่างๆ เหล่านี้เป็นนามธาตุ ต้องแยกธรรมออกเป็น ๒ ฝ่ายคือ “รูปธาตุ” กับ “นามธาตุ” เพราะฉะนั้น “บุญ” เป็นรูปธาตุไม่ได้ แต่บุญเป็นนามธาตุ เป็นสภาพของนามธาตุที่เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ขณะนี้มีรูปไหม ในห้องนี้มีรูปไหม มี มีนามไหม มี ถ้ามีคนตายอยู่ที่นี่ มีแต่รูป แต่นามไม่มี หรือไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก เพราะฉะนั้นสภาพต่างๆ เหล่านั้นแยกออกจากรูปเป็นนามธาตุหมด “หิว” เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม หิวเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เป็นนามธรรม โกรธ

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสามารถที่จะเข้าใจได้ ธรรมนี้ไม่ว่าในโลกนี้ ในเทวโลก ในพรหมโลก โลกไหนๆ ในจักรวาลไปจนถึงพระจันทร์ พระอังคาร ดาวพฤหัส มีสภาพธรรมเพียง ๒ อย่างคือ “นามธรรม” กับ “รูปธรรม” จะมีอย่างอื่นอีกไหมนอกจากนี้ ไม่มี แต่ความหลากหลาย ความละเอียดของนามธรรมกับรูปธรรมมากจริงๆ โดยที่ว่าสำหรับนามธรรมมี ๒ อย่าง ไม่ใช่มีอย่างเดียว นามธรรมอย่าง ๑ คือ “จิต” นามธรรมอีกอย่าง ๑ คือ “เจตสิก” ๒ อย่าง รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เสียงเมื่อล้านปีมีไหม ล้านปีก่อนมีเสียงไหม รูปในอดีตเป็นรูปตลอดคือ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้นเสียงในอดีต เสียงในปัจจุบัน เสียงในอนาคตก็เป็น “รูปธรรม” แต่นามธาตุหรือนามธรรม ก็คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ ความต่างกันของ ๒ อย่างคือคำว่า “จิต” เคยได้ยินบ่อยๆ ใช่ไหม ขณะนี้จิตไหม มีแน่นอน มีวิญญาณไหม จิตกับวิญญาณต่างกันหรือเหมือนกัน มีคำตอบที่ถูกครั้งแรกคือ มีจิต และถามว่าวิญญาณมีไหม ตอบมี ก็ถูกอีก แต่ถามว่า จิตวิญญาณต่างกันหรือไม่ต่างกัน ถ้าตอบว่าต่างกัน ผิด เพราะเหตุว่าคำว่า “จิต”หรือคำว่า “วิญญาณ” คำว่า “มโน” คำว่า “มนัส” คำว่า “หทย” เป็นชื่อหลายๆ ชื่อของธาตุรู้หรือสภาพรู้นั่นเอง จะเรียกว่าจิตก็ได้ เหมือนคำว่า ผู้หญิงเรียกนารีได้ไหม เรียกสตรีได้ไหม เรียกกุมารีได้ไหม เพราะฉะนั้นจิตก็เหมือนกัน เรียกวิญญาณก็ได้ เรียกมโนก็ได้ เรียกมนัสก็ได้ หมายความถึงสภาพที่มีจริงในขณะนี้ มีจริงๆ ให้พิสูจน์ธรรมที่ทรงแสดงว่า ทรงตรัสรู้ความจริงว่า “จิต” เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นี้คือ “จิต” เวลาที่ทุกคนพูดเรื่องจิต เหมือนรู้ เวลาที่ทุกคนใช้คำว่าวิญญาณ ก็เหมือนรู้ แต่ความจริงยังไม่รู้ถ้าไม่ศึกษา แต่ถ้าศึกษาแล้วจะทราบว่า จิตมีจริงขณะที่กำลังเห็นนี้เอง กำลังเป็นจิตชนิด ๑ ซึ่งเกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ลืมไม่ได้เลย สภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่เกิด มีปัจจัยปรุงแต่งเกิด แล้วดับทันที ไม่มีสักอย่างเดียวซึ่งยั่งยืนถาวร เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ขณะที่ได้ยินเป็นจิต เพราะว่าเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งในลักษณะของเสียงที่ปรากฏ เสียงมีหลายเสียง ฟัง ต่างกันใช่ไหม เสียงนี้ เสียงนั้น จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏให้รู้ นี่คือตัวจริง กำลังรู้เสียงต่างๆ แต่เจตสิกมีถึง ๕๒ ชนิด ความติดข้องต้องการ หรือโลภะเป็นเจตสิกชนิด ๑ ความโกรธเป็นเจตสิกชนิด ๑ ขณะที่ได้ยินมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ชนิด อย่างน้อยที่สุด ๗ แต่ถ้าเป็นอกุศลจิต จิตที่ไม่ดีจะต้องมีเจตสิกฝ่ายไม่ดีเกิดร่วมด้วยอีก ถ้าเป็นจิตที่ดี ที่จะมาถึงคำว่า “บุญ” จะต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย และโสภณเจตสิกมี ๒๕ ชนิด เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ถ้าศึกษาธรรมจะรู้จักสภาพจิตซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นเรา แต่ความจริงคือ จิตประเภทต่างๆ ที่เกิดดับสืบต่อตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะว่าถ้าไม่มีจิตเกิด จะไม่มีสัตว์ที่มีชีวิต ไม่มีคน ไม่มีเทพ ไม่มีอะไรหมด มีแต่เพียงรูปธรรมอย่างเดียว แต่ที่ว่าจะเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ เพราะมีจิตเกิด และจิตเกิดดับสืบต่อตั้งแต่เกิดจนตาย ตายคือ ขณะสุดท้ายของชาตินี้ เป็นจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดแล้วดับจะทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ จะกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย ธรรมทราบแล้วว่า หมายความถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด จะมองเห็นหรือมองไม่เห็น ถ้าสิ่งนั้นมีจริง สิ่งนั้นเป็นธรรม และธรรมเป็นรูปธรรมกับนามธรรม เพราะฉะนั้นธรรมมีลักษณะให้รู้ ปรมะ กับ อัตถะ (อรรถ) กับ ธรรม เป็น “ปรมัตถธรรม” อัตถ (อรรถ) คือ ความหมาย ถ้าสิ่งนั้นไม่มีลักษณะเฉพาะ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้คำที่จะอธิบายความหมายให้เข้าใจว่า หมายความถึงอะไร แต่เพราะเหตุว่า ธรรมแต่ละอย่างมีลักษณะเฉพาะของสภาพนั้นๆ เป็น “อรรถ” เป็นความหมายในลักษณะนั้น เช่น กลิ่น พอพูดถึงกลิ่นจะนึกถึงสภาพที่สามารถรู้ได้ทางจมูก หอมหรือเหม็น กลิ่นดอกไม้ กลิ่นแกงส้ม กลิ่นแกงเผ็ด นี้คือ สภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตนๆ เสียงดนตรี เสียงคน เสียงนก ต่างมีลักษณะเฉพาะของเสียงนั้นๆ เป็นอรรถเฉพาะของธรรมนั้น ใช้คำว่า “ปรมัตถธรรม” หมายความว่า ธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตนๆ นั้นเป็น “ปรม” หรือ “ปรมะ” ยิ่งใหญ่เพราะไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้เลย เสียงจะเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม ให้รู้ทางตาได้ไหม ให้รู้ทางจมูกได้ไหม ต้องรู้ได้ทางหู เพราะฉะนั้นลักษณะของเสียงโดยเฉพาะ คือ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ต้องกระทบกับโสตปสาทเท่านั้นจึงปรากฏกับจิตซึ่งกำลังได้ยินเสียง เป็นสภาพที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่า ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้เลย และอีกคำหนึ่งถ้าได้ยินคำว่า ธรรม และปรมัตถธรรม จะได้ยินคำหนึ่งคือ “อภิธรรม” เวลาที่พูดถึงพระไตรปิฎก มีพระวินัยปิฎก ๑ พระสุตตันตปิฎก ๑ พระอภิธรรมปิฎก ๑ พระวินัยปิฎกเป็นเรื่องส่วนใหญ่เกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติของเพศบรรพชิตแต่มีธรรมด้วย ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่ต้องมีพระวินัย แต่เพราะเหตุว่า มีกิเลส มีโลภะ มีโทสะ ที่ทำให้กายประพฤติในทางที่ไม่ดี วาจาประพฤติไปในทางที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นเพศบรรพชิตซึ่งหมายความถึงสละความไม่ดี จึงต้องมีระเบียบปฏิบัติทางกาย ทางวาจา ซึ่งกำจัด “วินัย” แปลว่า กำจัดกิเลส เครื่องเศร้าหมองที่จะทำให้เกิดความประพฤติทางกาย ทางใจที่ไม่ดี เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมด ถ้าไม่มีปรมัตถธรรมไม่ต้องมีวินัย พระสุตตันตปิฎกนี้ทรงแสดงสภาพธรรม ไม่ใช่ไม่มีธรรมในพระสูตร แต่เป็นเรื่องราวที่สนทนากับบุคคลต่างๆ ด้วยเรื่องต่างๆ มีท่านพระอานนท์ มีท่านพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ มีท่านพระมหากัสสปะทรงแสดงธรรมที่พระวิหารเชตวัน ที่บริหารเวฬุวัน กับใคร ที่ไหน มีธรรมที่ทรงแสดงกับบุคคลเป็นเรื่องราว และเหตุการณ์ต่างๆ เป็นสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎกเป็นเรื่องของธรรมล้วนๆ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม เป็นอภิธรรม ในบรรดาพระธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นความหมายเหมือนกัน ถ้าใครรู้จักธรรมคือ รู้จักปรมัตถธรรม รู้จักอภิธรรม ซึ่งต่อไปนี้ถ้าพูดถึง ๓ ปิฎก เข้าใจได้เลยใช่ไหมว่า ปิฎกที่ ๑ คืออะไร ปิฎกที่ ๒ คืออะไร ปิฎกที่ ๓ คืออะไร ปิฎกที่ ๓ ไม่มีชื่อ เรื่องราว บุคคลเลย ไม่มีท่านอนาถบิณฑิกะ ไม่มีวิสาขามหาอุบาสิกา ไม่มีพระนครสาวัตถี ไม่มีกรุงพาราณสี แต่เป็นเรื่องธรรมล้วนๆ ที่ได้กล่าวถึงคือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ อีกอย่าง ๑ ซึ่งจริง เป็นปรมัตถธรรมคือ “นิพพาน” เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมทั้งหมดมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ไม่มากเลยแค่ ๔ จิต ๑ เจตสิก ๑ เข้าใจแล้ว รูป ๑ จะเป็นกี่ประเภทก็ตาม หยาบ ละเอียดอย่างไร ใกล้ ไกล ภายใน ภายนอกคือ ธรรมประเภทนั้นๆ ส่วนธรรมประเภทสุดท้ายคือ นิพพานเป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ว่าไม่ได้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะปรากฏกับเฉพาะปัญญาที่ได้อบรมถึงกาลที่สามารถจะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานเท่านั้น ปัญญาระดับนี้ไม่สามารถจะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานได้ แต่เป็นธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้นวันนี้ก็ทราบความหมายของปรมัตถธรรม ๔ โดยสังเขป

    ผู้ฟัง

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้ยังอยู่ที่บุญใช่ไหม เพราะฉะนั้นบุญได้แก่ จิต และเจตสิกที่ดีงาม ไม่ใช่วัตถุ เป็นจิต เจตสิก แต่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ที่เคยได้ยินบ่อยๆ คือ มีรูปธรรมกับนามธรรม ขันธ์ ๕ ได้แก่ ขันธ์ ๑ เป็นรูปได้แก่ รูปขันธ์ อีก ๔ ขันธ์เป็นนามธรรมคือ จิต เจตสิก เพราะฉะนั้นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ มีรูป ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ครบขันธ์ ๕ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ คนไปวัดเคยได้ยิน แต่คนที่ไม่ได้ไปวัด ใหม่แน่ๆ ให้ทราบว่าได้แก่ จิต และเจตสิก เพราะฉะนั้นถ้ามีแต่จิต มองไม่เห็นเลยใช่ไหม จิตจะดีจะชั่วมองไม่เห็น แต่เวลาที่มีรูปด้วยสามารถจะอนุมานได้จากกาย และวาจา ถ้าจิตที่ดีเกิดขึ้น กายดี วาจาดี ซึ่งบุญมีทั้งหมดถึง ๑๐ อย่าง ไม่ใช่เพียงทาน การให้อย่างเดียว

    ผู้ฟัง อยากให้อาจารย์เปรียบเทียบระหว่าง ๒ บุคคลที่ทำบุญ บุคคลแรกอยากให้อาจารย์ขยายความว่า ๒ คนนี้ได้บุญแบบไหน บุคคลแรกไปวัดทำบุญ ทำทาน ตักบาตร ถือศีล แต่ว่าเวลามาอยู่กับบุคคลอื่น เขาทำให้บุคคลอื่นไม่ค่อยสบายใจด้วยคำพูดหรือการกระทำ แต่อีกบุคคลอาจจะไม่ได้ไปวัด แต่เวลาทำงานร่วมกับุคคลอื่นแล้วทำให้บุคคลอื่นสบายใจ ไม่เป็นทุกข์เมื่อทำงานด้วย ถามว่าบุคคล ๒ คนนี้ได้บุญลักษณะไหนบ้าง

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ศึกษาธรรม ตรงมาก และละเอียดมาก คือ พูดถึงจิตทีละ ๑ ขณะ ไม่ได้พูดปะปนรวมกันอย่างนี้เลย แต่ทีละ ๑ ขณะ เพราะฉะนั้นขณะใดที่จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ขณะนั้นเท่านั้นที่เป็นบุญ ขณะนี้มีศรัทธาจะมากหรือจะน้อย ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ แต่ละคนก็แต่ละตัวเองที่ฟังพระธรรม แต่ขณะที่กำลังฟังอาจจะไม่ทราบว่ามีอกุศลจิตเกิดสลับ ไม่ใช่มีแต่กุศลจิตตลอด ด้วยเหตุนี้จึงพูดถึงธรรมนี้ ตรงที่จิตแต่ละ ๑ ขณะ มีคำจำกัดความได้ว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นบุญ ขณะใดที่อกุศลจิตเกิดต้องเป็นผู้ตรง คือ ไม่ใช่เราแต่เป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดสลับกัน ขณะที่เป็นอกุศลไม่ใช่บุญ เพราะฉะนั้นจะไม่มีการไปคิดนึกเป็นเรื่องเป็นราว แต่จะพูดถึงจิตแต่ละขณะ ให้แต่ละคนมีธรรมเป็นกระจก เพราะฉะนั้นธรรม คือ ไม่ใช่ไปดูคนอื่น แต่เวลาที่เข้าใจธรรม คือ ดูตัวเองว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต เวลาอ่านหนังสือพิมพ์หรือได้ฟังเรื่องซึ่งแสนที่จะโหดร้ายทารุณเหลือเกิน ขณะนั้นคิดถึงจิตของคนที่กระทำสิ่งที่ไม่ดีใช่ไหม แต่จิตของเราที่กำลังคิดถึง มีกระจกส่องหรือยัง ลืมแล้ว ลืมกระจก ไม่ได้เอากระจกไปด้วยทุกหนทุกแห่ง แต่พระธรรมเหมือนกระจกจริงๆ ที่จะทำให้รู้ว่า ขณะนั้นกำลังเป็นจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งเพียงคิด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    29 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ