ปกิณณกธรรม ตอนที่ 107


    ตอนที่ ๑๐๗

    สนทนาธรรม ที่ เขาเต่า หัวหิน

    พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๖


    ท่านอาจารย์ เพราะว่าโดยมากถ้าสติของคนนั้นไม่เกิดเลย ไม่เข้าใจเลย เขาก็ไม่สามารถที่จะรู้ความต่างกันของปัญญา ๒ ขั้น คือ ปัญญาขั้นฟังเข้าใจ และปัญญาขณะที่สติระลึก แต่ถ้าสติระลึกจริงๆ จะรู้เลยว่า การศึกษาไม่ใช่ศึกษาโดยขั้นฟังระดับหนึ่ง เท่านั้น แต่จะต้องศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นจริงๆ ผู้นั้นจะรู้ด้วยตัวเองทุกอย่างว่า คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นจริงอย่างนี้ และต้องเป็นอย่างนี้ตามลำดับ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากเข้าใจให้ถูกต้อง เรื่องของขณะที่สติเกิด แล้วก็กำลังค่อยๆ ศึกษาเพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม กิจอื่นไม่มีเลย นอกจากกิจญาณ และถ้าเข้าใจจริงๆ แล้วก็ไม่มีใครไปทำให้สติปัฏฐานเกิดได้ ต้องเป็นเรื่องของความอดทน และเป็นเรื่องความเป็นผู้ตรงต่อธรรม

    ทศพล ขณะที่สติปัฏฐานเกิดที่ไม่รู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด มีสภาพธรรมกำลังปรากฏในขณะนี้ปกติธรรมดา หลงลืมสติคือปกติ แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิดหมายความว่า มีการระลึกที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะขณะนี้เป็นธรรม การระลึกได้อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสัมมาสังกัปปะด้วย มีวิตกเจตสิกด้วย

    ทศพล อย่างเช่น โลภะเกิด เราก็รู้ได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ รู้อย่างไร ถ้าถามคุณทศพลว่า กาแฟอร่อยไหม คุณทศพลตอบได้ใช่ไหมว่า อร่อย ขณะนั้นเป็นสติหรือเปล่า

    ทศพล ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่แล้วขณะไหนเป็นสติ

    ทศพล ขณะที่ระลึกรู้

    ท่านอาจารย์ ระลึกรู้อะไร

    ทศพล รู้รส

    ท่านอาจารย์ รู้รสใช่ไหม ขณะนั้นรู้รสว่าอย่างไร

    ทศพล รู้ว่าเป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ตอบว่า รู้รส เห็นไหม อันนี้ต้องแยกว่า ถ้าสติระลึกลักษณะที่สภาพลิ้มรส สภาพที่รู้รสว่า เป็นลักษณะรู้ นั่นถึงจะเป็นสัมมาสติที่จะระลึกที่ลักษณะรู้ แต่ยังต้องอาศัยสัมมาสังกัปปะด้วยขาดไม่ได้เลย

    ทศพล ต่างกันที่ขณะที่โมหะนี้ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ โมหะก็ไม่รู้เลย เวลานี้หลังจากเห็นแล้วเป็นโมหะก็ไม่รู้ หลังจากได้ยินเป็นโมหะก็ไม่รู้ หลังจากลิ้มรสเป็นโมหะก็คือไม่รู้ ไม่รู้คือ ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ขณะที่มีโมหะก็ไม่รู้ว่า เป็นโมหะ เช่น เวลาเราเห็น หลังจากเห็นก็เป็นโมหะก็ไม่รู้ว่าเป็นโมหะ นั่นคือโมหะแล้วที่ไม่รู้ แต่ถ้าเกิดดีใจเกินกว่านั้นไปอีกนิดหนึ่งว่า สามารถที่จะผ่องแผ้วได้หรืออะไรอย่างนี้ ก็ต้องมีความละเอียดว่า มีเราแทรกอยู่หรือเปล่าว่าเป็นเราที่สามารถจะมีความผ่องแผ้วได้ หรืออีกลักษณะหนึ่ง คือ ความผ่องแผ้วเป็นของเรา เพราะฉะนั้นลักษณะของความเป็นตัวตนจะมี ๓ อย่างคือความยึดมั่นด้วยตัณหา ๑ ด้วยความเป็นของเรา แล้วความยึดมั่นด้วยความเป็นตัวเราด้วยทิฏฐิ ๑ และด้วยความยึดมั่นว่า เป็นเราตัวใหญ่ๆ ด้วยมานะอีก ๑ ซึ่งมันมีลักษณะ ๓ อย่าง แต่ถ้าเป็นฝ่ายกุศลจริงๆ จะสะอาดจริงๆ ขณะนั้นสามารถที่จะเห็นความผ่องแผ้วของจิต สภาพซึ่งปราศจาก โลภะ โทสะ โมหะ แต่ต้องเป็นปัญญาที่สามารถที่จะแยกความต่างกันของความผ่องแผ้วหรือความปีติออกไปว่า ขณะนี้มีความแฝงไว้ด้วยเรา หรือว่าของเรา หรือว่าตัวตนหรือเปล่า อีกอย่างหนึ่งที่รู้สึกว่าเป็นปัญหามากๆ แล้วก็เป็นปัญหาตลอดเลยระหว่างคนที่ศึกษาธรรมแล้วคือ มีความคล้ายๆ กับว่า อยากจะให้ตัวเองดีกว่าความเป็นจริง ฟังดูเหมือนไม่มีใครเป็นอย่างนี้เลยใช่ไหม แต่ถ้าสังเกตคำถาม “เมื่อไหร่จะเป็นอย่างนี้” “ทำไมฉันมีอกุศลมาก” “เมื่อไหร่กุศลของฉันจึงจะเป็นอย่างนี้ได้” ฯลฯ แสดงให้เห็นว่า ทำไมเราไม่คิดถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เรามีทั้งกุศล และอกุศล ตามความเป็นจริงคือกุศลก็เป็นกุศล อกุศลก็เป็นอกุศล และไม่ต้องไปคิดว่า “เมื่อไหร่เราจะไม่มีอกุศลอันนี้” หรือ “เมื่อไหร่กุศลอันนี้เราจะเพิ่มขึ้น” เช่น ”เมื่อไหร่สติปัฏฐานจะเกิดบ่อยๆ ” ลืมไปเลยคำถามนี้ จะเห็นว่า ถ้าเป็นอย่างนี้แปลว่า เราไม่รู้จักตัวเราเองตามความเป็นจริง เราอยากจะดีเกินกว่าความจริงที่เราเป็นอยู่ใช่ไหม คือ เราอยากจะมีสติมากๆ ถ้าคนในมีสติมากๆ นี่คือ ต้องการดีเกินความเป็นจริงที่ตัวเองเป็น ในเมื่อตัวเองไม่มีเหตุพอที่จะให้สติปัฏฐานเกิดมากๆ แต่ว่าใจคิดว่า “เมื่อไหร่นะสติปัฏฐานจะเกิดมากๆ ” นี่คือหวังจะดีเกินความเป็นจริง เพราะฉะนั้นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ตรงที่สุด อกุศลทั้งหมดยังมีตราบใด ก็เป็นผู้ที่ตรงต่อความเป็นจริงว่ายังมีตราบนั้น ยังมีความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม ก็คือสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม ยังไม่มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิด ก็ไม่มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิด ไม่ต้องคร่ำครวญว่า “วันนี้สติเกิดน้อย” หรือว่าเมื่อนั้นเมื่อนี้ นั่นแสดงว่า เราต้องการที่จะดีเกินกว่าความเป็นจริงที่เราเป็น ถ้าทราบว่า สติปัฏฐาน คือ ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็ไม่สนใจเลยว่า จะรู้มากรู้น้อย รู้อะไรแค่ไหน จะไปรู้โลกสว่างโลกมืดก็ไม่ต้องสนใจอีก แต่ว่า ปริยัติเป็นอย่างไร ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติแล้วรู้จริงตามนั้นไม่ผิดกัน

    ผู้ฟัง คำว่า ปิดบัง รู้สึกว่า ไม่เห็นว่ามีอะไรปิดบังนอกจากความไม่รู้ของเราเอง ทำให้ไม่สามารถเห็นธรรมตามความเป็นจริงได้ จนกว่าจะได้การอบรมสะสมสติ และปัญญาก็จะเห็นตามความเป็นจริงอย่างที่ผู้เห็นแล้วอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ความจริงในขณะนี้ คือ ไม่ผิดจากปกติ เวลานี้เห็นเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น จะผิดจากขณะนี้ไม่ได้เลย ที่กล่าวว่า ทางตาที่กำลังสว่าง หรือว่าทางปัญจทวารทางอื่นทั้งหมด ไม่ว่าทางหูที่เสียงกำลังปรากฏ ปิดบังมโนทวาร เพราะเหตุว่า เรารู้ว่า มโนทวารเกิดต่อทุกวาระของการเห็น หรือทุกวาระของการได้ยิน แต่ทำไมสภาพล้วนๆ ของมโนทวารจึงไม่ปรากฏเลย ใช่ไหม ทางตามีสีปรากฏ สักครู่หนึ่งมีเสียงปรากฏ กระทบแข็งๆ ปรากฏ แล้วลักษณะของมโนทวารล้วนๆ ซึ่งเกิดต่อจากทางตา ทางหู เหล่านี้ไม่เห็นปรากฏ เพราะว่า ทางนี้ทางตาปรากฏ เสียงปรากฏ แข็งปรากฏ นี้แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมตามความเป็นจริงคืออย่างนี้ ไม่ได้ผิดปกติเลย เพราะฉะนั้นปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่เปลี่ยน ลักษณะนี้ยังเป็นอย่างนี้ และสำหรับผู้ที่เริ่มเข้าใจ และเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ผู้นั้นก็จะรู้ว่า ขณะใดที่สติเกิด สติมีลักษณะอย่างนี้ กำลังระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติอย่างนี้ และปัญญาในขั้นต้นยังไม่สามารถที่จะรู้ชัด แน่นอนที่สุดเหมือนกับมีดยังไม่คม แล้วเราก็ต้องลับมีจนกว่ามีดนั้นจะคม ถ้ามีดคมแล้วไม่ต้องลับ ถ้ารู้แล้วไม่ต้องระลึก แต่เพราะเหตุว่า ไม่รู้จึงต้องระลึก และไม่รู้อีก แล้วระลึกอีก แล้วก็ไม่รู้อีก คำว่า ไม่รู้ ที่นี่หมายความว่า ความรู้ขั้นปริยัตินี้มี ตอบกันได้หมดว่า ทางตากำลังเห็นเป็นสภาพรู้ และสีนี้ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่สภาพรู้ แต่เวลาสติระลึกจริงๆ ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ธาตุรู้ หรืออาการรู้ หรือเพียงลักษณะรู้ ซึ่งไม่ใช่เรา ลักษณะของธาตุรู้จะต้องเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเพียงเกิดขึ้นแล้วจริงๆ ก็ดับด้วย เกินกว่าที่เราจะไปยับยั้งได้ นี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า พระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กว่าที่จะได้ประจักษ์ความจริง แล้วก็ทรงแสดงให้เราเข้าใจว่า ทุกอย่างไม่เที่ยง เว้นไม่ได้เลย ทุกอย่างรวมทั้งการเห็นขณะนี้ไม่เที่ยง ไม่เที่ยงที่นี่คือ ดับทันที ไม่ใช่ว่าเราจะต้องมานั่งคิดว่า ไม่เที่ยงเมื่อตาเราบอดไปหรืออะไรอย่างนั้น แต่ขณะนี้กำลังเกิดดับ แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นอวิชชามากมายสักแค่ไหน ก่อนอื่นต้องเห็นอวิชชาของตัวเอง และก็ต้องรู้ว่า อวิชชานี้จะละได้ต่อเมื่อปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้นโดยสติระลึก เพราะว่า ปัญญาขั้นปริยัติทั้งหมด ฟังเท่าไรก็อยู่แค่นั้น คือ ทางตาก็เป็นธาตุรู้ และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นแต่เพียงสีสันวรรณะต่างๆ ก็อยู่แค่นี้ไม่ไปไหน นั่นคือปัญญาขั้นปริยัติ จะเจริญมากมาย ๗ คัมภีร์ กี่อรรถกถาก็ตามแต่ ก็จะอยู่เพียงเท่านี้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมีจริงๆ กำลังทำการงาน สภาพธรรมทุกอย่างเกิดขึ้นทำการงาน “เห็น” ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ กำลังทำกิจเห็น มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้จิตเห็นทำหน้าที่เห็น เสียงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็เกิดขึ้น แล้วจิตได้ยินก็มีหน้าที่เกิดขึ้นคือ ได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ นี่คือกิจการงานหน้าที่ต่างๆ

    ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารย์กำลังให้คำอธิบาย ตามความเป็นจริงเดี๋ยวนี้ เห็นท่านอาจารย์ และก็เสียงที่ท่านพูดได้ยินทุกถ้อยคำ รู้หมดเลย จำได้เลย มันมีลักษณะที่เกือบจะพร้อมกันไปเลย

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็เป็นของจริงอีก จริงอย่างไรต้องเป็นจริงอย่างนั้น จริงอย่างนี้ ถ้าไม่เคยฟังพระธรรมเลย ใครจะมาบอกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลตัวตน ก็ต้องหัวเราะ หรือเมินเฉย หรือไม่เชื่อ แต่ถ้าศึกษาพระธรรมถึงขณะจิต ทีละขณะ ซึ่งต่างกัน จากทางตาแล้วผ่านไปถึงทางหู และมีการคิดนึก มีการจำได้ หรือเสียงที่กำลังปรากฏ ขณะแรกวาระแรกก็ได้ยินเสียง และภายหลังก็รู้ความหมาย เพราะเหตุว่า ถึงเราจะไม่ได้ยินเสียง เรานึกคำได้ นึกถึง ”เขาเต่า” ทุกคนนึกในใจ “เขาเต่า” เสียงไม่ได้ออกมาเลย แต่ใจนึกได้ ไม่ว่าเราจะนึกถึงใครก็ตาม จะมีชีวิตอยู่หรือว่าจะสิ้นชีวิตไปแล้วก็ตาม ทันทีที่นึกเป็นเรื่องเป็นคำนี้ให้ทราบว่า เป็นสัญญาความจำเสียงซึ่งทำให้มีชื่อต่างๆ แล้วก็ทำให้เรานึกถึงเรื่องราวต่างๆ นี้ก็เป็นจริง ทั้งหมดเป็นจริงอย่างไรเป็นจริงอย่างนั้น ไม่ต้องไปบิดเบือน ไม่ต้องไปคิดว่า ธรรมคืออย่างอื่นแต่ว่า เวลาที่ปัญญาอบรมเจริญแล้วรู้ความจริงอย่างนี้สามารถที่จะรู้ได้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งการไม่ใช่ตัวตนนี่ ไม่ใช่เพียงแต่ขั้นปริยัติที่เรามาพูดกันทุกวันๆ กางตำรามากี่เล่มว่าไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าสามารถที่จะเข้าใจในธาตุรู้ที่กำลังเห็น เมื่อเข้าใจในลักษณะของธาตุรู้ซึ่งเป็นอาการรู้ที่กำลังเห็น จะรู้ว่านั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิด ๑ เป็นธาตุชนิด ๑ เพราะฉะนั้นเวลาที่มีได้ยินเกิดขึ้น ก็สามารถที่จะเข้าใจในธาตุที่ได้ยินเสียงว่า เป็นธาตุรู้เสียง ที่เราใช้คำว่า ได้ยิน เพราะฉะนั้นก็จะมีความคุ้นเคยกับธาตุรู้ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และก็ยังสารพัดของลักษณะที่เรามีอยู่ในวันหนึ่ง เช่น ความโกรธ ความดีใจ ความเสียใจทั้งหมด หรือการนึกคิดทั้งหมด ปัญญาสามารถจะรู้ในลักษณะอาการซึ่งเป็นธาตุรู้แต่ละอย่างๆ จนกว่าจะทั่ว ต้องใช้คำว่า จนทั่ว ถ้าไม่ทั่วแล้วไม่มีทาง จะไปไม่ใช่ตัวตนไม่ได้ จะละคลายการยึดถือไม่ได้ เพราะว่าปัญญาเพียงแต่รู้จักชื่อนามกับรู้จักชื่อรูป แต่ตัวจริงของนาม ตัวจริงของรูป ซึ่งกำลังทำกิจการงานในขณะนี้ไม่เคยรู้ นี่คือ ปัญญาที่ต่างขั้น เพราะฉะนั้นเวลาที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ไม่ผิดปกติ ปกติเป็นอย่างไร ตามที่ทรงแสดงไว้ จะต้องรู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น แม้แต่มโนทวาร ซึ่งเกิดต่อจากทวารทางตา ทางหู ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น

    ผู้ฟัง มีคำเปลี่ยนในเรื่องของคำว่า ธาตุรู้ แต่เวลาที่เราพูดก็พูดว่า เป็นเรื่องของโสตวิญญาณ จักขุวิญญาณ ถ้าไม่เปลี่ยนมาเป็นคำว่า ธาตุรู้ อาการรู้นี้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางเลย เพราะเหตุว่า มีลักษณะ ๒ อย่างคือ นามธรรมกับรูปธรรม ทั้งหมดย่อโลกจักรวาลลงมาแล้ว จะมีสภาพธรรมเพียง ๒ อย่างคือ สภาพซึ่งเป็นธาตุรู้กับสภาพที่เป็นรูปธรรมคือ ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ปัญญาก็จะต้องอบรมจนกว่าจะรู้ว่า เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง เป็นของจริงชนิดหนึ่ง เป็นอาการรู้ชนิดหนึ่ง

    ผู้ฟัง ความรู้ไม่มากมายอย่างนี้ก็คงจะได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปคิดถึงการรู้แจ้งสภาพธรรมหรืออะไร ทั้งหมดที่เรียนมาก็คืออยู่ในตำรา

    ผู้ฟัง ช่วยขยายอีกนิด

    ท่านอาจารย์ จากความไม่รู้ สู่ความรู้จะทำอย่างไร ถ้ารู้ว่า ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ และปัญญาจริงๆ ที่รู้จริงสามารถประจักษ์การเกิดดับได้ แต่ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ทันทีที่ฟัง ความอดทนมีไหม ที่จะฟังต่อไปจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจ จนกว่าสติจะเริ่มระลึก แม้แต่ระลึกครั้งแรกก็ยังไม่เข้าใจหรือว่ายังไม่รู้ชัด ก็จะต้องอดทนที่จะระลึกต่อไปอีก ระลึกต่อไปอีก คนที่เจริญสติปัฏฐานเป็นคนที่จะรู้ความอดทนอย่างยิ่ง จะไม่มีความอดทนอะไรที่จะอดทนเท่ากับการรอผลโดยที่ไม่หวังว่า ผลนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ คนเราเวลาทำอะไรก็จะมีความหวังใช่ไหม คิดว่า สัก ๑ ปีก็คงจะเรียนจบหรือว่า ๒ ปี ๓ ปีก็คงจะได้ปริญญา หรือสามารถที่จะทำงานนี้ โครงการนั้น เสร็จภายใน ๕ ปี ๑๐ ปีนั่นคือ ความหวัง แต่สำหรับสติปัฏฐานนี้แต่ละขณะซึ่งกำลังไม่รู้ และจะค่อยๆ รู้ขึ้น คนที่เจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะรู้ว่า ลักษณะของความอดทนแท้ๆ ความอดทนจริงๆ นี้คืออย่างไร เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่รู้ยากกว่าอย่างอื่นทั้งหมด ไม่ใช่รู้ง่าย

    ผู้ฟัง สติคงยังไม่เกิดง่าย แต่คิดว่า คงจะเริ่มต้นด้วยการฝึกอบรมบารมีก่อน คือคิดในแง่นี้ก่อน

    ท่านอาจารย์ ต้องการทราบผลของการปฏิบัติ

    ผู้ฟัง มีสมาธิแล้วช่วงนั้นมีการเกิดดับ เราเพ่งที่การเกิดดับจะเห็นได้ชัดเจนช่วงนั้น

    ท่านอาจารย์ เวลานี้จิตเกิดดับหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จิตเกิดดับแต่ช่วงก่อนที่ทำสมาธิเราไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เวลานี้รู้ไหมว่า จิตกำลังเกิดดับ ประจักษ์การเกิดดับของจิตหรือเปล่าขณะนี้

    ผู้ฟัง ทราบว่ามีจิตเกิดดับ

    ท่านอาจารย์ ประจักษ์การเกิดดับหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ เพราะฉะนั้นเวลาที่ทำสมาธิก็เป็นโมฆะ เพราะไม่สามารถจะทำให้ประจักษ์การเกิดดับของกำลังเห็นขณะนี้ กำลังได้ยินขณะนี้

    ผู้ฟัง แต่ก็ให้เกิดปัญญาได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าปัญญาสามารถที่จะรู้ความจริงขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ของจริงคือเดี๋ยวนี้ เช่น เสียงเมื่อกี้นี้ เสียงสุนัขเป็นชีวิตประจำวัน เป็นของจริง ถ้าปัญญาเกิดปัญญารู้ได้ สามารถประจักษ์การเกิดดับได้ ถึงไม่ใช่เสียงสุนัขเมื่อกี้นี้ ขณะนี้เสียงที่กำลังปรากฏขณะนี้ ปัญญารู้ได้ ให้ทราบว่า เมื่อเป็นปัญญา และปัญญารู้ได้ ไม่ใช่อวิชชา เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ได้ ไม่ใช่เพื่อไม่รู้ หรือรู้ไม่ได้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์สอนมาแบบนี้ หมายถึงคนที่รับได้ก็ต้องมีกำลังพอสมควรที่จะรับ

    ท่านอาจารย์ ทุกคนกำลังพูดถึงเรื่องการอบรมเจริญปัญญาเพื่อให้รู้อย่างนั้น นี่คือความอดทน นี่คือบารมีด้วย ไม่ใช่รู้อย่างอื่น รู้ของจริง อย่างพวกเราก็เป็นผู้ที่เห็นคุณของพระธรรม แม้ว่าชีวิตประจำวันของเราจะตื่นขึ้นมาแล้วก็เดินทางมาเที่ยวน้ำตก เราก็ยังมีการสนทนาธรรมกับการฟังธรรม นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่า เราเห็นความสำคัญ และเห็นพระคุณของพระธรรม แต่อีกสิ่งหนึ่งซึ่งอาจจะเตือนเราด้วย คือ การเคารพในธรรม เพราะการเคารพในธรรมหมายความว่า ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ยิ่งขึ้น และประพฤติปฏิบัติตามด้วย นี่คือ การเคารพในพระธรรม

    ผู้ฟัง การฟังธรรมด้วยการเคารพนี้ไม่ใช่ฟังด้วยความประคองมือ หรือก็มีอย่างไหนก็ฟังให้เข้าใจแล้วก็เป็นการเคารพในธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ นั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดิน ด้วยความเคารพ คือ การฟังเพราะเห็นคุณประโยชน์จริงๆ ต้องการเพื่อเข้าใจจริงๆ อันนี้แล้วแต่การสะสม เพราะดิฉันอนุโมทนาคนที่แสดงความเคารพด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยความนอมน้อมว่า เขาสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องขัดเกลาในชีวิตมีมาก บางคนกายดี วาจาไม่ดี ใจไม่ดี บางคนวาจาดี กายไม่ดี ใจไม่ดี บางคนใจดีแต่กายไม่ดี วาจาไม่ดี เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ ก็ต้องขัดมาก

    ผู้ฟัง เริ่มต้นรู้ว่า ต้นไม้ แล้วก็รู้ว่า ต้นไม้นั้นชื่ออะไร แล้วก็รู้ตลอดสภาพธรรม จะถามว่า รู้สภาพธรรมแล้วรู้อะไรอีก

    ท่านอาจารย์ มีอะไรอีกนอกจากสภาพธรรม แต่ว่าสภาพธรรมมีหลายอย่าง ไม่ใช่มีแต่ทางกายที่กระทบหรือทางตาที่เห็น ต้องทั้งจิต เจตสิก รูป และสภาพธรรมสุดท้ายที่จะต้องประจักษ์แจ้งก็คือ พระนิพพาน

    ผู้ฟัง คน……กำลังแสดงธรรมแล้วก็ตั้งใจฟังธรรม เป็นธรรมได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ธรรมมีอยู่แล้วทั้งกุศล และอกุศล ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ธรรมที่เป็นรัตนะที่นำมาซึ่งความปลื้มใจเหนือรัตนะอื่นใด เราจะได้แก้วแหวนเงินทองก็ยังไม่ปลื้มใจเท่ากับได้ความรู้ความเข้าใจในพระธรรม เพราะฉะนั้นธรรมที่เป็นรัตนะก็ต้องเป็น “สรณะ” คือ เป็นที่พึ่งที่ทำให้เราสามารถที่จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่ฟังนี้เป็นการฟังปริยัติเพื่อที่จะให้ประพฤติปฏิบัติตามหนทางที่จะทำให้ถึงนวโลกุตตรธรรม เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่า จะเป็นพรหมบุคคลหรือคนที่มีอิทธิฤทธิ์ มีความสงบ เหาะเหินเดินอากาศได้ ก็ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่า ไม่รู้หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ผู้ที่เห็นพระคุณของพระธรรมก็คือรู้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ทำให้เราเกิดปัญญาด้วยตัวเราเองที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

    ผู้ฟัง คุณจาวาบอกว่า ฟังธรรมแล้วก็มีปีติ แต่เป็นโลภะหรือไม่เป็นโลภะก็ไม่รู้ แต่ว่ามีปีติในการฟังธรรมแล้วก็อยากฟังธรรมบ่อยๆ อย่างนั้นก็……ในตัวเองอีกหรือไม่ ก็อยากฟังธรรมบ่อยๆ อย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นการที่เราจะเห็นพระกรุณาคุณที่ว่า ทรงแสดงธรรมให้เราพิจารณาโดยละเอียด ไม่มีใครสามารถที่จะรู้จิตใจของคุณจาวาได้ หรือจิตใจของคนที่กำลังพูดเอง ก็เกิดดับสลับกันเร็วมาก ต้องอาศัยการเจริญสติปัฏฐานซึ่งประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๕ จริงๆ คือ ไม่ใช่มีแต่สัมมาสติเท่านั้น ยังต้องมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาทิฏฐิที่จะรู้ว่า เฉพาะในขณะนั้นจริงๆ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะเหตุว่า ถ้าในขณะที่กำลังฟังแล้วปีติในธรรม ขณะนั้น ชั่วขณะนั้นเป็นกุศลแน่นอน แต่ว่า ขณะที่มีความอยาก ไม่ว่าจะอยากอะไรทั้งสิ้น ลักษณะที่อยากเป็นลักษณะที่ติดข้อง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    3 พ.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ