ปกิณณกธรรม ตอนที่ 98


    ตอนที่ ๙๘


    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่เพียงเกิดแล้วดับไป เป็นของใคร ถ้ายังคิดว่าเป็นของเรา ถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง ผิด

    ท่านอาจารย์ ฉลาดหรือไม่ฉลาด ในเมื่อไม่มีแล้วยังบอกว่าเป็นของเรา ไม่มีเลยทุกขณะ เกิดแล้วดับหมดไปเลย แต่ด้วยความไม่รู้ เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่อให้เห็น ให้หลง ให้คิดว่า “เป็นเรา”ต่อไปอีก จนกว่าจะตาย แต่ตายแล้วยังต้องเกิดอีก แต่ไม่รู้ต่อไปอีก เพราะฉะนั้นอยู่ที่ว่า คนนั้นสะสมมาที่จะเห็นประโยชน์ของการที่จะมีความรู้ถูก เห็นถูก หรือว่าจะเพลิดเพลินไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส แต่ว่าสิ่งนั้นๆ ก็ทำให้เกิดความทุกข์ ในเมื่อพลัดพรากจากสิ่งต่างๆ เหล่านั้นซึ่งต้องพลัดพราก แม้แต่สิ่งซึ่งเรายึดถือว่าเป็นเรา ของเรานั้นก็ช่างเถอะ ข้างนอก แต่เราทั้งตัวที่ยึดถือว่าเป็นเราก็ต้องหมดไป ในเมื่อตาย จะไม่กลับมาเป็นบุคคลนี้อีกเลยโดยสิ้นเชิง จะเป็นคนนี้อีกไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะเป็นคนนี้อยู่เฉพาะตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายโดยกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้วทำให้เป็นคนนี้ แต่จากคนนี้ไปแล้วก็จะต้องเกิดโดยอีกกรรมหนึ่ง ซึ่งก็ไม่รู้ว่ากรรมใดจะให้ผล

    ผู้ฟัง พูดถึงขณะที่สติปัฏฐานเกิดแต่ละครั้ง ปัญญาย่อมเกิดร่วมด้วย แต่ละครั้งนั้นปัญญาก็ไม่เท่ากัน อาจจะบางครั้งมาก บางครั้งน้อย เป็นอย่างนี้สลับกันไปได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นค่อยๆ แล้วจะลดลงไปไหม

    ผู้ฟัง ที่เรียนถามท่านอาจารย์เพราะบางครั้งมันเหมือนกับว่า ไม่รู้เหมือนที่เคยรู้อะไรทำนองนั้น

    ท่านอาจารย์ แต่สิ่งที่รู้แล้วจะกลับไม่รู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็คงจะไม่ได้ แต่หมายความว่า ขณะที่เกิดอาจจะไม่เกิดเหมือนที่เราเคยรู้แล้ว

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าอันนั้นหายไปได้ไหม อันที่เกิด

    ผู้ฟัง ไม่หายแต่สะสม พูดเลยไปสักหน่อยถึงขั้นวิปัสสนาญาณว่า การที่สภาพรู้ๆ ลักษณะของการเกิดดับแสดงว่า ความต่างกันคือขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นรู้ลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด รูปอย่าง นามอย่าง แต่ถ้าเป็นไปในลักษณะของวิปัสสนาญาณการก็ต้องแสดงหมายความว่า ทั้งรูปก็เกิดไปแล้วๆ นามเกิดทั้ง ๒ อย่าง อาจจะเป็นวาระที่ต่อเนื่องยาวนานซึ่งต่างกับสติปัฏฐานซึ่งจะเกิดก็เกิดขึ้นทีละครั้ง อย่างนี้เข้าใจถูกหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานเกิดต่อกันก็ได้ ไม่ใช่ต้องทีละครั้ง

    ผู้ฟัง เกิดต่อกัน และก็สลับกันก็ได้

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่เพราะเป็นเรื่องของอนัตตาทั้งหมด

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นสติปัฏฐานเกิดต่อ ในกรณีที่สติปัฏฐานเกิดแล้วสลับกับสติปัฏฐานไม่ได้เกิด ทีนี้ขณะที่สติปัฏฐานเกิดแล้ว ขณะที่สติปัฏฐานไม่ได้เกิด ก็รู้ลักษณะของที่เคยเกิดมาแล้ว จะสลับกันไปอย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานเกิดสภาพธรรมที่ปรากฏดับก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วสติปัฏฐานก็เกิด แล้วก็มีการดูลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้วก็ดับ ก็หมดไป

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานเกิดต่อเนื่องก็ได้ หรือว่าเกิดแล้วก็ไม่เกิด สลับกันอยู่ตรงนี้

    ท่านอาจารย์ อันนี้คือการที่เราจะเป็นผู้ที่มั่นคงในความเป็นอนัตตาคือไม่ต้องมีกฏเกณฑ์อะไร

    ผู้ฟัง เพราะเป็นอนัตตาอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ใช่ คำถามเรื่องอัตตานี้จะไม่เข้ามาเลยถ้ามีความมั่นคงเรื่องอนัตตา แต่คำถามเรื่องอัตตาจะเข้ามาเรื่อยๆ ถ้าไม่มั่นคงในความเป็นอนัตตา ถ้าเราจะถามเพื่อกฏเกณฑ์ให้บอกมาว่า ให้ทำหรือไม่ให้ทำ เป็นอัตตาหรืออนัตตา

    ผู้ฟัง อีกเรื่องหนึ่งถ้าการสนทนาธรรมกันในเรื่องนี้ ใครที่พูดว่า กำหนดรู้ตัวนั้น คิดว่า อันนี้ยังเข้าใจผิดมากใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คำพูดต้องกระจ่าง กำหนดคืออะไร ถ้าเราไม่กระจ่างก็พูดตามเขาไป เขาให้เรากำหนดเราก็กำหนด แล้วก็ไปบอกคนอื่นให้กำหนด กำหนดกันไปหมด แต่ไม่รู้ว่า กำหนดคืออะไร

    ผู้ฟัง เกิดบ่อยไหมว่า สติปัฏฐานเกิดแล้วรู้มาก แล้วภายหลังกลับมารู้น้อย แล้วหลังจากนั้นก็อาจจะรู้มากอีก เป็นอย่างนี้บ่อยไหม

    ท่านอาจารย์ คำถามทั้งหมดเหมือนกับต้องการให้รู้มาก และเร็วๆ ด้วย ใช่ไหม แต่จริงๆ แต่ละคนนี้เป็นเรื่องอบรม จะเข้าใจความหมายของภาวนาตั้งแต่ขั้นการฟัง เราฟังยังต้องฟังมากแค่ไหนคิดดู ไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ อยากให้เกิดก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องอยาก และไม่ใช่เรื่องกั้นไม่ให้เกิด แต่เป็นเรื่องที่ขณะนี้เป็นเครื่องทดสอบปัญญา ทุกๆ ครั้งไม่ว่าเราจะอ่านมามาก ฟังมามาก สติระลึกบ้าง ไม่ระลึกบ้าง สภาพธรรมเป็นเครื่องสอบตลอดเวลาว่า สามารถจะเข้าใจลักษณะแท้จริงของสภาพธรรมที่ฟัง ที่ศึกษา ที่สติระลึกได้แค่ไหน ก็เป็นผู้ตรง เช่น ในขณะที่กำลังเห็น ทุกคนมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริงแน่นอน กำลังปรากฏเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่เรียกชื่อก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเรียกเลยก็ได้ แต่มีจริงๆ และสิ่งนั้นคือสิ่งที่เพียงสามารถปรากฏเมื่อกระทบจักขุปสาท แล้วทำไมจะไปมีคน มีวัตถุสิ่งต่างๆ ในสิ่งที่ปรากฏ แต่เมื่อมีความรู้สึกหรือความเข้าใจในสมมติบัญญัติว่า สิ่งนั้นเป็นอะไรก็เพราะความทรงจำ เพราะฉะนั้นถ้าขณะนั้นที่สภาพธรรมกำลังปรากฏแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นจริงๆ ว่า ลักษณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการที่จะคลาย ไม่ว่าจะเห็นเมื่อไรก็รู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏจริงๆ คือต้องตรงกับปริยัติ และต้องเป็นการอบรมด้วยสติที่ระลึก ไม่ใช่เรื่องราว แต่ว่ากำลังเข้าใจถูกต้องว่าสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งคนตาบอดไม่เห็น ใครจะตาบอดเดี๋ยวนี้สิ่งนั้นไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นก็เป็นเพียงสิ่งนั้น จะเป็นคน เป็นสัตว์ต่อเมื่อทรงจำไว้ในสีสันวรรณะต่างๆ เพราะฉะนั้นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจึงต้องรู้จักลักษณะของสัญญา และขันธ์ ๕ ทั้งหมดเลย จะไม่ขาดขันธ์ ๑ ขันธ์ใดเลย มิฉะนั้นจะคลายความเป็นสัตว์บุคคลในสิ่งที่ปรากฏได้อย่างไรในเมื่อไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพราะความทรงจำซึ่งเป็นขณะที่รู้ว่าอะไร หรือเพียงแต่การจะคิดเรื่องอะไรก็ตาม จะคิดคำว่า “พาราณสี” ถ้าไม่มีความจำเสียงแล้วจะเกิดความคิดอย่างนี้ได้ไหม เพราะฉะนั้นทุกอย่างมีสัญญาเจตสิกเป็นส่วนประกอบที่ใหญ่มาก ที่จะทำให้เป็นเรื่องเป็นราวทุกอย่างเพราะความทรงจำที่ยึดมั่นว่า สิ่งนั้นมีจริงๆ แต่ความจริงไม่ใช่ สิ่งที่มีจริงคือสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดดับอยู่ทุกขณะ แม้แต่ในขณะนี้เองที่กำลังพูดเรื่องสัญญา สัญญากับจิตขณะก่อนก็ดับ เพราะจริงๆ แล้วต้องมีการตรึกคือคิดถึงคำ แล้วเสียงก็เปล่งออกไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องมีใครไปทำว่า นึกก่อนนะเดี๋ยวจะเปิดตา อ้าปากให้ลิ้นกระทบฟัน ฯลฯ ที่จะให้เสียงปรากฏ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของสภาพธรรมทั้งนั้น ที่จิตเป็นปัจจัยให้รูปชนิดใดเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นแม้ในขณะนั้นที่รู้ก็รู้ว่า เพียงนึกตรึกเสียงออกมาแล้วเร็วมาก จะมีการเข้าใจในเรื่องของนามธรรม และรูปธรรมเพิ่มขึ้นซึ่งก็จะทำให้ละ แม้แต่ว่าความคิดก็คือความจำ ความทรงจำขณะนั้นมีอยู่ และวิตกเจตสิกไม่ใช่ความจำ แต่เป็นความคิดคือตรึกถึงเรื่องที่จำได้ เพื่อจะเข้าใจสภาพธรรม ตัวธรรมจริงๆ เราไปเรียนลักขณาธิจตุกะของวิตกเจตสิกบ้าง ของสัญญาเจตสิกบ้าง แต่เวลานี้ที่กำลังเห็นคือสัญญาเจตสิกหรือเปล่าที่จำ ค่อยๆ เข้าใจในเรื่องของการที่จะรู้บัญญัติ รู้คำ รู้ความหมายว่า เป็นเรื่องของสัญญา เพราะฉะนั้นสัญญาก็จำสิ่งที่มีจริงๆ ด้วย จำเรื่องราวบัญญัติต่างๆ ด้วย แต่ชีวิตก็หมุนไปเร็วมากเลย ถ้าไม่มีพระธรรมที่ทรงแสดงละเอียดยิบ ก็ไม่มีทางที่จะละความเป็นตัวตนได้ เพราะว่าเร็วเกินกว่าที่จะไปเห็นความจริงของแม้แต่ขันธ์ ๕ ซึ่งเกิดดับ อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น และดับอย่างเร็ว ประโยชน์แท้จริงคือเรียนแล้วเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งขณะใดที่สภาพนี้กำลังปรากฏแล้วค่อยๆ เข้าใจนั่นคือ “สติปัฏฐาน” ใช้คำเพื่อให้รู้ว่า ขณะนั้นต่างกับขณะที่ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ในขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏแล้วค่อยๆ เข้าใจแม้แต่ทางตาก็ธรรมดาๆ ไม่ใช่ไปทำอื่นเลย แต่การระลึกของเราเริ่มจะมีบ้างว่า ขณะนี้ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ถ้าพระอาทิตย์แตก โลกมืด ขณะนี้มีจักขุปสาท แต่เห็นมืด ไม่ใช่เห็นสิ่งที่ปรากฏ อันนี้ก็จะเข้าใจปัจจัยเพิ่มขึ้นว่า แสงสว่างก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้มีความทรงจำในสีสันวรรณะที่ปรากฏ ธรรมทั้งหมดที่เรียนจะกระจ่างเมื่ออบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง “วิตก” การที่วิตกจะเกิดคือจะต้องเกิดกับจิตหนึ่งจิตใดอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นโลภะหรือโทสะ แต่สภาพธรรมที่เป็นสติปัฏฐานก็ไม่ได้มาห่วงว่า วิตกจะเกิดกับจิตอะไร

    ท่านอาจารย์ คือเรื่องราวเราเรียนก่อนสติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าต้องสะสมความเข้าใจ ความเห็นถูกในลักษณะสภาพธรรม เป็นการเหมือนกับลับปัญญาให้คม เพราะมีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องราวพอสมควรที่จะเป็นปัจจัยให้มีการค่อยๆ คลายความเป็นตัวตนจากสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าใครไม่มีปัญญาระดับนี้แล้วสติปัฎฐานเกิดแล้วเขาอะไรมาละความเป็นตัวตน แต่เมื่อฟังแล้วเข้าใจแล้ว ก็ไม่ใช่ว่า ขณะนั้นเอาปัญญาขั้นนั้นมาคิดมาไตร่ตรองแต่ว่า จากการสะสมสืบต่อ สามารถมีกำลังที่จะคลายความเป็นตัวตน ด้วยกำลังของปัญญาที่สามารถฟังเข้าใจในเรื่องราวของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ที่เรียนถามตรงนี้เพราะอยากจะเปรียบเทียบว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิดไม่มีการตรึก

    ท่านอาจารย์ มีวิตกเจตสิกเป็นสัมมาสังกัปปะ คนละขณะกับคิด

    ผู้ฟัง นั่นถึงต่างกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกก็มีหลายระดับ ระดับที่เกิดกับกามาวจรจิต ระดับที่เป็นสติปัฏฐาน ระดับที่เป็นมรรคในมรรคมีองค์ ๘

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดถึงความมั่นคงในความเป็นอนัตตา ถ้าคำถามเกี่ยวกับความเป็นตัวตน คนนั้นก็ยังไม่มีความมั่นคงในความเป็นอนัตตา ความมั่นคงกับความไม่มั่นคงจะรู้ได้ ก็เพราะจากการมีสติใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าการฟังแล้วมีการพิจารณาความเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นอนัตตา เราเริ่มเข้าใจความเป็นอนัตตาขึ้น เวลาเรียนเรื่องจิต เจตสิก รูป ปรมัตถธรรมทั้งหมด ความเข้าใจว่าเป็นอนัตตาของเราไม่ได้ลืม แต่เมื่อเรียนอะไรก็เห็นในความเป็นอนัตตานั้น กว้างขึ้น ลึกขึ้น ตรงขึ้น เช่น เรียนเรื่องจิตก็รู้เลยว่า เป็นธาตุรู้ซึ้งใครก็ดับไม่ได้ถ้าไม่มีปัญญา เช่น ตัวอย่างของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านรู้ว่า ทุกอย่างมีปัจจัยเกิดขึ้น แต่ท่านแสวงหาทางที่จะดับปัจจัยเพื่อจะไม่ให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น แล้วเราไม่ได้สนใจเรื่องที่จะดับใช่ไหม แต่เราสนใจจะมีปัญญาจะอย่างนั้น จะอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมฟังให้เข้าใจจริงๆ แม้ว่าเป็นชีวิตของพระโพธิสัตว์ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมความคิดวิตกของพระองค์ต่างกับคนอื่น เพราะการสะสมที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ความคิดของท่านก็จะไม่เหมือนกับของคนอื่นคือ คิดเรื่องที่จะดับ ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิด

    ผู้ฟัง สำหรับผู้ที่ฟังจนกระทั่งมีความมั่นคงว่าอนัตตา ก็ไม่ได้หมายความว่า ความเป็นตัวตนของเขาจะไม่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ แต่เขาก็จะไม่มีความต้องการมหาศาล “ทำอย่างไรบอกมา” “กฎเกณฑ์เป็นอย่างไร” “อย่างนี้ไหม อย่างนั้นไหม” ถ้าเป็นเรื่องปรึกษาหารือนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งใช่ไหม แต่เรื่องที่จะต้องทำอย่างนี้เพื่ออย่างนั้น ไม่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เราก็นึกถึงเป็นขณะๆ ของสภาพธรรม อันนี้เป็นอกุศลวิบาก อันนี้เป็นกุศลวิบาก แล้วที่เกิดขึ้นบางอย่างเป็นสภาพกุศลซึ่งเป็นสภาพรู้ ทำให้เรามีความเข้าใจมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ ตอนที่รู้ว่า เป็นกุศล เป็นอกุศลนั้นเป็นชื่อ หรือเป็นเรื่อง หรือเป็นความคิด เพราะว่าถ้าเราคิดว่าขณะนั้นเป็นกุศล หรือสภาพนั้นเป็นกุศลคือว่า เรากำลังใส่ใจในความเป็นกุศล และอกุศล แต่ว่ายังไม่รู้ในความเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เพราะฉะนั้นปัญญาของเราจะค่อยๆ ละเอียดขึ้น

    ผู้ฟัง ซึ่งการรู้ในขั้นนั้นก็คิดว่าเป็นประโยชน์ขั้นหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงตัวธรรม แต่ที่ฟังท่านอาจารย์มากขึ้นๆ มันลึกไปกว่านั้นว่า สภาพที่เป็นกุศลหรืออกุศล หรือจะเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบากก็ตาม ก็คือสภาพรู้นั่นเอง คือตัวนามธรรม

    ผู้ฟัง เรียนธรรมเพื่อให้เราเข้าใจธรรม แต่ธรรมก็มีหลายอย่างเลย จะเข้าใจอย่างไร เพราะมีมากมายไปทั้งหมด เวลาพูดแบบนี้เหมือนกว้างไปหมด แล้วจะให้เข้าใจอย่างไรว่าเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เราจะรู้จักอะไรจริงๆ เราจะรู้จักทีละอย่างหรือว่าหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้นถ้าสัมมาสติไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งก็เป็นแต่ละอย่างที่มีวิเสสลักษณะอยู่แล้ว ก็ไม่มีทางที่จะไปรู้ว่า เป็นธรรมจริงๆ เราก็มีความคิดอย่างแบบการศึกษาว่า เป็นธรรมไปหมดอย่างที่เขาบอกว่า เป็นอนัตตาทั้งหมด แต่พอถามว่าอะไรเป็นอนัตตา เขาก็จะยืนยันว่าทุกอย่าง แต่เขาไม่บอกว่า ขณะที่สัมมาสติเกิดระลึกจะมีความเข้าใจในสภาพนั้นว่า เป็นธรรมมากแค่ไหน หรือยังไม่มีเลย

    ผู้ฟัง คำว่า “สัมมาสติ” ทั่วไปเรียกว่า สัมมาสติใช่ไหม เพราะบางครั้งก็เรียกว่า สติเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงสติเจตสิกก็เป็นโสภณเจตสิก แต่เวลาใช้คำว่า “สัมมาสติ” หมายความว่าเกิดที่ไหน ถ้าเกิดกับมรรคมีองค์ ๘ นั้นแน่นอนตามสัมมาทิฏฐิใช่ไหม และสำหรับสมถภาวนาก็ต้องเป็นสัมมาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวโดยชื่อ ก็ใช้คำว่า สติเกิดกับกุศลจิตทุกประเภทได้ แต่เวลาที่เป็นสัมมาสติ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาพวกนี้จะต้องหมายความถึงที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ หรือว่าในการอบรมเจริญสมถภาวนา เรื่องชื่อไม่สำคัญ แต่หมายความถึงระดับของสติเพิ่มขึ้น เช่น สัญญาความจำ พอเห็นแล้วก็จำได้ว่า เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ไม่ต้องมีวิริยะพิเศษต่างหากร่วมกับการศึกษาพิจารณาให้มากขึ้นเลย แต่เวลาที่มีการฟัง ต้องมีการไตร่ตรอง ขณะนั้นจะต้องมีสัญญาเกิดพร้อมกับวิริยะที่ไตร่ตรองแล้วเข้าใจเพิ่มขึ้นอีก ต่างกับตอนที่สัญญาเกิดพร้อมกับวิริยะตามปกติที่ไม่มีการฟัง ไม่มีการไตร่ตรอง วิริยะ ๒ อันนี้ต่างกันแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีคำ หรือมีอะไรที่แสดงโดยกว้างขวางให้รู้ว่าแม้เป็นวิริยเจตสิก แต่ว่ากิจการงานหน้าที่ของวิริยะนั้นๆ ต่างกัน โดยใช้ชื่อต่างกันให้รู้ว่าหมายความอย่างไร เช่น “สัมมัปปธาน” จะต้องหมายความถึงขณะที่เป็นวิริยเจตสิกที่เกิดร่วมกับมรรคมีองค์อื่นๆ เพราะว่าทำกิจ ๔ อย่าง โดยมากขณะที่เรากำลังฟัง มีเสียง และมีคิดด้วย เพราะฉะนั้นยากเหลือเกินที่เราจะหนีความคิด แต่ว่าการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมมีอีกระดับหนึ่ง ซึ่งหลังจากที่ฟังเข้าใจแล้วจะรู้ว่า ขณะนั้นเวลาที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม เรื่องวิถีจิตต่างๆ ไม่ต้องคิดเลย เพราะว่าขณะที่เสียงกำลังปรากฏ คนที่ชอบหรือว่ายังติดเรื่องการคิด เขาจะคิดว่า เสียงมากระทบ มาเลย มาอย่างนี้ๆ ๆ แล้วกระทบกับโสตปสาท แล้วก็จะมีจิตได้ยิน แต่ว่าตามความจริงนั่นคือคิดอีก เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ต้องทราบจริงๆ ว่า เราหยุดคิดไม่ได้ คิดก็เป็นของจริง และเป็นธรรมซึ่งปัญญาสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ในขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นลักษณะของความคิดอย่างหนึ่ง คือคิดเรื่องธรรม

    ผู้ฟัง ก็เป็นคิดเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เหมือนกัน เพราะเมื่อก่อนนี่เราคิดเรื่องอื่นซึ่งไม่ใช่เรื่องธรรม แต่พอเราเรียนเรื่องจิตเจตสิก เรื่องวิถีจิต เราก็มาคิดเรื่องธรรม ปัญญาทำให้เราเข้าใจลักษณะเป็นการไตร่ตรองเป็นความคิดที่จะเข้าใจธรรม แต่ตัวธรรมกำลังคิด ถ้าเราเพียงแต่ฟัง ไม่มีการไตร่ตรองเลย ปัญญาไม่เกิด เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการฟังแล้ว ทุกคนจะต้องมีการไตร่ตรองด้วย เพราะว่าคนพูดอาจจะพูดประโยคเดียว แต่การไตร่ตรองของเรามากกว่า ๑ ประโยค ไม่ใช่พูดคำนั้นซ้ำๆ อยู่ในใจแล้วคิดว่าเข้าใจได้ ใช่ไหม แต่ต้องมีการไตร่ตรองจริงๆ พิจารณาจากที่เคยได้ฟังมาแล้ว แล้วก็ฟัง และไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจจริงๆ ของเราเอง นั้นก็เป็นเรื่องปัญญาซึ่งเกิดจากการคิด มีปัญญาซึ่งเกิดจากการฟัง และเข้าใจ และมีปัญญาที่แม้ฟังแล้วก็ยังคิดไตร่ตรอง สะสมมาที่จะเข้าใจสภาพธรรมด้วยการคิดถูกอีกอย่าง ๑ แต่ทั้ง ๒ อย่างนั้นไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรม ต้องเป็นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งทั่วโลกสนใจมาก อยากถึง อยากทำ อยากปฏิบัติ แต่ไม่รู้หนทางจริงๆ ว่า หนทางจริงๆ ที่จะถึงได้ ไม่ใช่ด้วยความอยาก หรือว่าไม่ใช่ด้วยการไม่รู้อะไรเลย ทำสิ่งที่ถูกบอกให้ทำแล้วก็เข้าใจหวังว่าปัญญาจะเกิด โดยที่ไม่รู้ว่า ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ปัญญาสามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะว่าเป็นของจริง และเกิดดับด้วย เพราะฉะนั้นการที่จะประจักษ์ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมต้องเป็นไปตามลำดับขั้น แม้ว่าสภาพธรรมกำลังเกิดดับ แต่ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะไม่ใช่เรา ที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่เป็นขณะที่สภาพธรรมปรากฏกับปัญญาที่มั่นคง ที่รู้ว่านามธรรมมีลักษณะอย่างนี้ และรูปธรรมมีลักษณะอย่างนั้น แล้วไม่ใช่รอหรือหวัง แต่ว่าทุกอย่างแม้แต่วิปัสสนาญาณก็เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นเราจะถึงวิปัสสนาญาณด้วยความต้องการหรือด้วยความหวัง ไม่ได้เลย ใครที่ไปนั่งแล้วคิดว่า ตอนนี้รู้แล้ว นามธรรมเป็นอย่างนี้ รูปธรรมเป็นอย่างนี้ ค่อยๆ รู้ขึ้น หวังว่า สักครู่หนึ่งหรืออีกวันหนึ่งนามรูปปริจเฉทญาณจะเกิด เป็นไปไม่ได้เลย เพราะนั่นเป็นตัวตน แต่เวลาที่วิปัสสนาญาณหรือสภาพธรรมใดจะปรากฏ ยิ่งแสดงความเป็นอนัตตา ยิ่งเป็นวิปัสสนาญาณ ยิ่งเป็นอนัตตาที่ว่า เลือกไม่ได้ว่าจะรูปอะไร จะรู้นามอะไร เลือกไม่ได้ที่จะเกิดขณะไหน ขณะนี้หรือขณะโน้น หรือขณะไหนก็ได้แล้วแต่ความสมบูรณ์ของปัญญา เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องละ ถ้าลืมเรื่องนี้จะไม่ถึงเลย เพราะว่าเรื่องของปัญญาเป็นเรื่องละทั้งหมด เรื่องของโลภเป็นเรื่องของการติดทั้งหมด โลภะไม่เว้นเลยสักอย่างเดียว สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ดูธรรมดา แต่โลภก็ติดแล้วโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นโลภะเป็นเรื่องติด แต่ปัญญาเป็นเรื่องละ เพราะฉะนั้นทรงชี้โทษให้เห็นสิ่งซึ่งเราชอบมากๆ ตลอดชีวิตคือโลภะว่า โลภะที่จะต้องละก่อนคือโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เพราะอะไร เพราะไม่มีอะไรที่เป็นเรา เพราะฉะนั้นก็เป็นความเห็นผิดซึ่งต้องอาศัยการฟัง เข้าใจ และอบรมจนกว่าจะประจักษ์แจ้ง ต้องเป็นปัญญาจริงๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ความต่างของปัญญาขั้นฟัง ปัญญาขั้นพิจารณา และปัญญาพร้อมสติที่เกิด

    ผู้ฟัง ขณะที่บอกว่า ได้ยิน เสียงนั้นมีอยู่ด้วย แต่ขณะที่คิดนึกถึงเรื่องราว เสียงนั้นไม่ได้ปรากฏอยู่ แต่เราก็ยังคิดถึงเสียงใช่ไหม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    29 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ