ปกิณณกธรรม ตอนที่ 91


    ตอนที่ ๙๑


    ท่านอาจารย์ แต่นี้เป็นกิจกรรมซึ่งถ้าไม่มีการสะสมมา จะไม่มีขณะนี้ ต้องทราบว่า ทุกขณะจิต เลือกไม่ได้ ต้องมีการสะสมมาจริงๆ ที่จะเป็นอย่างนี้ จะไม่เป็นอย่างอื่น ต้องเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสแล้วจะทิ้งโอกาส หรือว่าจะเหมือนคนซึ่งไม่รู้ประเทศไหนมีพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาคืออะไรก็ไม่รู้ สอนอะไรก็ไม่รู้ ทั้งๆ ที่มีโอกาสอย่างมากที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้นคนฉลาดจะใฝ่หาความรู้ และความรู้อื่นๆ ไม่ใช่ความรู้ที่จะทำให้เข้าใจตัวเอง แต่ว่า มีเพียงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จากคำสอนของพระองค์ที่ทำให้เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งตัวเอง และคนอื่น ทั้งภายนอก ภายใน ทุกอย่างตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ว่ามีบุคคลซึ่งเลิศกว่าบุคคลอื่น ควรจะฟังหรือควรจะศึกษาไหม นี้เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะตัดสินใจเอง

    ผู้ฟัง ที่หมายถึง คือ ต้องการที่จะมีความสุขที่แท้จริง แต่สับสนว่า คงเป็นความโลภ

    ท่านอาจารย์ ตอบได้ไหมว่า ความสุขที่แท้จริงคืออะไร

    ผู้ฟัง คือ การที่ไม่มีเรา

    ท่านอาจารย์ คือ การที่ทุกอย่างไม่เกิดขึ้นอีกเลย ถ้ายังเกิดต้องมีสุข มีทุกข์ บังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน ใช้คำว่า ปรินิพพาน คือ ดับโดยรอบ ไม่มีสภาพธรรมใดเกิดอีกเลยเพราะว่า ไม่มีกิเลสที่ต้องการจะให้มีสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมได้เกิดขึ้นเพราะรู้ว่า สภาพธรรมใดที่เกิด สภาพธรรมนั้นดับ สิ่งที่เกิดดับแสนเร็ว และหมดไปเร็วมาก มีค่าอะไร มีอะไรเหลือ ไม่มีเหลือเลยสักอย่างเดียว ควรหรือที่จะติด ควรหรือที่จะยึดถือว่าเป็นสุข ไม่ใช่ ความสุขที่แท้จริง คือ ความสงบจากการเกิด ไม่มีการเกิดอีกเลย แต่ใครจะถึง ถึงได้ในวันหนึ่ง อย่างที่พระอรหันต์ทั้งหลายท่านได้ถึงแล้ว เพราะฉะนั้นต้องอาศัยการอบรมเพราะเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ใครอยากไม่เกิดก็ฆ่าตัวตาย ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ต้องเกิดอีกแน่ๆ

    ผู้ฟัง จากที่เราเรียนรู้ คือ ความโลภคือสิ่งที่เราควรละหรือ

    ท่านอาจารย์ เราละได้อย่างไร ทุกอย่างที่ไม่ดีควรละทั้งหมด แล้วละได้อย่างไร

    ผู้ฟัง โดยที่

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทาง

    ผู้ฟัง ถ้าเราพยายาม

    ท่านอาจารย์ เรา ไม่มีทาง เพราะเหตุว่า เป็นเราจึงไม่มีทาง เมื่อไม่มีเราเท่านั้น คือ ทาง ทางคือ เมื่อไม่มีเรา แต่ถ้ายังมีเราอยู่ ก็ไม่มีทาง ถ้าเป็นเราเป็นความเห็นผิดตั้งแต่ต้น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาจนเข้าใจว่าอย่างไร ถึงจะไม่เป็นเรา

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่มีบุญ ศึกษาคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะรู้ว่า คนนั้นสะสมมาที่จะรู้ว่า มีค่าที่สุด ประเสริฐที่สุด เป็นรัตนะที่สูงที่สุด ถ้าได้ลาภเพชรนิลจินดา หายได้ไหม ตกน้ำได้ไหม ขโมยลักได้ไหม โจรปล้นได้ไหม แต่ความรู้ใครจะเอาไปได้ ไม่มีทางที่จะไปได้เลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ประเสริฐที่สุด สูงที่สุดไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง ลาภอันประเสริฐ แต่คือ การได้มีโอกาสฟัง และเข้าใจพระธรรม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กำลังจะบอกว่า สิ่งที่ทุกคนกำลังได้ฟังวันนี้ และมีความเข้าใจ เป็นการสะสมความรู้ ความเข้าใจต่อไปในอนาคตข้างหน้า

    ท่านอาจารย์ จะรู้ผลของการฟังคราวนี้เมื่อไหร่ ทราบไหม

    ผู้ฟัง ผลหมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ที่ฟังวันนี้ ผลของการที่มานั่งฟังวันนี้ จะรู้ผลนี้เมื่อไหร่

    ผู้ฟัง ตอนนี้เข้าใจอะไรมากขึ้น รู้ผลตอนนี้แล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ตัวเองเป็นผู้รู้ ใช่ไหม แล้วจะรู้ด้วยว่า จะติดตามต่อไปหรือเปล่า เป็นผลคือว่า ติดตามต่อไป แต่ถ้าเห็นว่า ไม่มีค่า คือ ไม่ติดตามต่อไป เพราะฉะนั้นแต่ละคนจะรู้จักด้วยตัวของตัวเอง ไม่ต้องไปสอบที่ไหน แต่รู้จากกำลังฟัง เห็นประโยชน์ไหม มีคุณค่าหรือเปล่า สมควรที่จะศึกษาต่อไปไหม หรือจะรอไปเรื่อยๆ หรือแม้รอก็ไม่รอ ไม่มีประโยชน์ สนุกดีกว่า นี้เป็นเรื่องของแต่ละคน ซึ่งจะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ถ้าให้ยกมือจะยกไหม หรือยังไม่กล้าจะยก ไม่มั่นใจ

    ผู้ฟัง ถ้าเข้าใจว่า ธรรมเป็นเรื่องที่จะต้องมาฟังจากอาจารย์ ถ้าเข้าใจแค่นี้ จริงๆ แล้วถ้าทุกคนรู้ว่า ธรรม คือ ชีวิตทั้งชีวิต ถ้าไม่ศึกษาจะเป็นอย่างไร จะพลาดโอกาส จะเสียโอกาสหลายๆ อย่าง เพราะว่า ถ้าไม่รู้ตัวเราเป็นจริงๆ ไม่เข้าใจตัวเราจริงๆ ว่า เป็นธรรม ก็ถือว่า ชาตินี้เกิดมาทั้งชาตินี้ เป็นตัวเป็นตน ฟรีไปเลย เสียไปเลย ไม่ได้อะไร ไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้น ธรรม ท่านอาจารย์เป็นผู้แนะ เพื่อจะให้รู้จริงๆ ว่า ตัวธรรมจริงๆ มีอยู่กับทุกคนแล้ว ถ้าอย่างนี้ทุกคนจะต้องติดตาม เพราะถ้าไม่ติดตามแล้วจะไม่รู้ตัวเอง

    ท่านอาจารย์ อยากจะเรียนสิ่งที่ง่ายหรืออยากจะเรียนสิ่งที่ยาก ทุกคนช่วยกันตอบ คือถามว่า อยากจะเรียนสิ่งที่ง่าย หรืออยากจะเรียนสิ่งที่ยาก

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นตัวเองก็อยากจะเรียนสิ่งที่ง่าย

    ผู้ฟัง คิดเหมือนกัน

    ผู้ฟัง อยากเรียนสิ่งที่ยาก

    ผู้ฟัง จากง่ายก่อนแล้วค่อยไปยากขึ้น

    ท่านอาจารย์ วันนี้ง่ายไหม

    ผู้ฟัง ง่ายที่จะฟัง แต่ยากที่จะพยายามทำความเข้าใจให้สูงขึ้น ละเอียดขึ้น

    ผู้ฟัง อยากเรียนสิ่งที่ยาก เพราะว่า ถ้าเข้าใจสิ่งที่ยาก สิ่งที่ง่ายน่าจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น

    ผู้ฟัง สิ่งที่ง่าย

    ท่านอาจารย์ อยากเรียนสิ่งที่ง่าย

    ผู้ฟัง อยากเรียนสิ่งที่ง่ายๆ

    ท่านอาจารย์ วันนี้มีอะไรง่ายบ้าง

    ผู้ฟัง การได้รู้จักนามธรรม ความหมายของนามธรรม ความหมายของรูปธรรม รู้จักว่า ความสุขในชีวิตจริงๆ แล้ว คือ การที่ไม่ยึดว่า นี้คือ ตัวของเรา

    ท่านอาจารย์ นี้เป็นสิ่งที่ง่าย คือว่า บางคนสะสมมาที่จะเข้าใจได้ สิ่งนั้นไม่ยาก อยู่ที่การสะสม เวลาฟังแล้วสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า จริงๆ แล้ว การพูดวันนี้ พูดเรื่องอะไร และจุดประสงค์คืออะไร น่าสนใจไหม จะฟังต่อไปอีกหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จะศึกษาต่อ

    ท่านอาจารย์ พอหรือยัง นามธรรม รูปธรรมจะต่อไหม

    ผู้ฟัง ยังสงสัยเรื่องรูปธรรมนามธรรม ไม่ทราบว่า เข้าใจถูกหรือเปล่าว่า ถ้ารูปธรรมนี้คือ สิ่งที่สัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ถ้าเป็นนามธรรม คือ สัมผัสด้วยใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่เอา อย่างนี้ไม่เอาเลย อย่างนี้คือ เราคิดเอง เอาใหม่ รูปธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย นี้คือ คำจำกัดความตลอดพระไตรปิฏก นามธรรมที่เกิดขึ้นเป็นธาตุหรือธรรม ซึ่งไม่มีรูปร่างลักษณะเลย แต่สามารถหรือต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่น เห็น ขณะนี้ ตาเฉยๆ ไม่สามารถจะเห็นอะไรได้เลย แต่ตาสามารถกระทบสี และนามธรรมเกิดเห็นเพราะการกระทบกันของสีกับตา นามธรรมกำลังรู้ว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอย่างนี้ เช่นเดียวกับทางหู เสียงมีมากหลายเสียง แต่นามธรรม คือ ขณะที่กำลังได้ยิน รู้ว่าเสียงนั้นที่กำลังปรากฏ มีลักษณะอย่างนั้นๆ เสียงก๊อก เสียงน้ำไหลในก๊อก กับ เสียงคนพูด เห็นไหม นี้คือ นามธรรม ซึ่งสามารถจะรู้ความต่างของสิ่งที่ปรากฏให้รู้ คือ รู้แจ้ง รู้จริงในสิ่งที่ปรากฏให้รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏนั้น มีลักษณะต่างกันอย่างนั้นๆ กลิ่นก็มีต่างๆ เพราะนามธรรมสามารถที่จะรู้กลิ่นเวลาที่กลิ่นปรากฏ รู้ลักษณะของกลิ่นต่างๆ เวลาที่ลิ้มรสรู้สึกว่า หวาน เค็ม แต่ความจริงต้องมีสภาพที่รู้ความหวาน รู้ความเค็ม รู้ความเปรี้ยวในขณะที่กระทบลิ้น เพราะฉะนั้นนามธรรมไม่มีรูปร่างเลย แต่เป็นธาตุหรือสภาพธรรมที่ต้องเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ทางตาคือเห็น ทางหูคือได้ยิน ทางจมูกคือได้กลิ่น ทางลิ้นคือลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจแม้ว่า ไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็คิดนึก ที่ใช้คำว่า จิต เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ทุกคนมีจิตไหม ใครบ้างที่นี่ไม่มีจิต ไม่มีใช่ไหม ที่นี่มีใครมีจิตบ้าง มีหมด จิตเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง เข้าใจว่า เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรมเพราะว่า จิตนั่นเองเป็นสภาพที่เห็นเพราะว่า เวลาที่พูดถึงจิตโดยที่ยังไม่ได้ฟังธรรม เหมือนเข้าใจใช่ไหม จิตใจนี่เข้าใจ แต่ถ้าถามว่า จิตอยู่ที่ไหน ตอบได้ไหม ไม่ได้เลย จิตคืออะไร ตอบได้ไหม ไม่ได้อีก แต่พอศึกษาแล้ว พระพุทธศาสนามีคำตอบทั้งหมดว่า จิต คือสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรมที่สามารถที่จะรู้สิ่งที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด เพราะฉะนั้น ขณะเห็น คือ จิตนั่นเองที่เห็น ขณะได้ยินคือจิตได้ยิน ขณะได้กลิ่นเป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง ขณะที่ลิ้มรสเป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายเป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง ขณะที่คิดเป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น มีจิตมากมายหลายประเภท ไม่ใช่จิตอย่างเดียว เราคิดว่า เรามีจิตเดียว และรู้นั้น รู้นี้ แต่ความจริงไม่ใช่ เป็นจิตแต่ละชนิดซึ่งเกิด และดับ เกิด และดับ และทำหน้าที่เฉพาะอย่างๆ ของจิตนั้นๆ จิตเป็นนามธรรมแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงนามธรรมที่เกิดขึ้นที่ใชีวิตประจำวันหมายความถึงจิต แต่จริงๆ แล้ว นามธรรมมี ๒ ประเภทนามธรรมที่เกิดมี ๒ ประเภท คือ จิต ๑ และเจตสิก ๑ คงไม่เคยได้ยินคำว่า เจตสิก แน่ๆ ทีนี้นามธรรมมี ๒ อย่าง ธรรมอย่างเดียวแยกเป็นนามธรรมกับรูปธรรม นามธรรมต่างกันเป็น ๒ อย่าง นามธรรมที่เกิดขึ้นเป็นจิตชนิด ๑ และเป็นเจตสิกอีกชนิด ๑ คำว่า เจตสิก โดยคำแปลหมายความถึง สภาพธรรมที่เกิดกับจิต หรือว่าเกิดในจิตโดยรูปศัพท์ใช่ไหม เจตสิกเกิดในจิต หรือว่า เกิดกับจิต เวลาที่เห็นแล้วต้องมีความรู้สึกชอบหรือชัง ดีใจหรือเสียใจ ดีใจหรือเสียใจ ไม่ใช่จิตแต่เป็นเจตสิก เวลาที่เห็นทุกคนเห็นเหมือนกัน แต่คนนี้ชอบ อีกคนหนึ่งโกรธ เพราะฉะนั้น เห็นเป็นจิต แต่ชอบหรือไม่ชอบเป็นเจตสิก ความเมตตาเป็นจิตหรือเจตสิก เป็นเจตสิก หมายความถึงชีวิตประจำวันทั้งหมด ส่วนใหญ่ที่บอกว่า ขยัน เกียจคร้าน ดี ชั่ว พวกนี้เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตบางครั้งบางคราว แต่ว่า จิตต้องเกิดขึ้นเป็นประจำ เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตายไม่ขาดจิตเลย จะต้องมีจิตเกิดดับๆ สืบต่อ ตั้งแต่ขณะแรกที่เกิดจนกระทั่งถึงขณะสุดท้าย คือ ตาย หลังจากที่จิตขณะสุดท้ายดับไป คือ ตาย แต่ว่าระหว่างนั้น จะมีสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมแต่ไม่ใช่จิต แต่นามธรรมชนิดนี้ต้องเกิดกับจิต ดับพร้อมกับจิต เร็วเท่ากันเลย และจิตรู้อะไร เห็นอะไร เจตสิกนั้นรู้สิ่งนั้น และมีความรัก ความชอบ ความชัง ความโกรธ ความขยัน ความเพียร เจตสิกแบ่งเป็นประเภทซึ่งเป็นฝ่ายกลางๆ เกิดได้ทั้งกับจิตที่ไม่ดี และจิตที่ดี ส่วนเจตสิกอีกชนิดหนึ่งเป็นอกุศลเจตสิกฝ่ายไม่ดี ต้องเกิดกับจิตใด จิตนั้นเป็นจิตที่ไม่ดีเท่านั้น และเจตสิกฝ่ายดีเกิดกับจิตฝ่ายดี ค่อยๆ ไปทีละเล็กทีละน้อย แต่ให้ทราบว่า เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่ศึกษาธรรม คือ สิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่า เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงปรมัตถธรรมจะมี ๔ คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑ วันนี้ให้ทราบว่ามี ๔ อย่าง แต่ใครที่ยังไม่รู้จักนิพพานเลย แต่รู้ว่า นิพพานเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป จิตเป็นเจตสิกหรือเปล่า ไม่ใช่ จิตเป็นรูปหรือเปล่า ไม่ใช่จิตเป็นนิพพานหรือเปล่า ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ความจริงแท้ที่เป็นปรมัตถธรรมจะมี ๔

    ท่านอาจารย์ อะไรบ้าง

    ผู้ฟัง จิต เจตสิก รูป นาม

    ท่านอาจารย์ จิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง นิพพาน

    ท่านอาจารย์ แต่จริงๆ แล้วคนที่อยากได้ อยากได้เพราะไม่รู้ ถ้ารู้แล้วบางคนไม่อยากได้ มีใครจำ ๔ อย่างนี้ไม่ได้บ้างไหม

    ผู้ฟัง สิ่งที่สับสนคือว่า ถ้าเช่นนั้นก่อนที่จะไปถึงนิพพาน ยังต้องมีความอยากได้ ต้องอยากได้นิพพาน

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ถ้ายังไม่รู้อะไร ไม่น่าจะอยากได้ แต่ว่า วิสัยของสภาพธรรม คือ โลภะ เป็นสภาพที่ติดข้องทุกอย่าง แต่ไม่สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของนิพพานได้เลย เพราะเป็นอกุศล ต้องเป็นปัญญาที่อบรมจนกระทั่งเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงก่อน มีปัญญาหน่ายความติดข้องในจิต เจตสิก รูป แล้วจึงสามารถประจักษ์ลักษณะของนิพพานได้ แต่โลภะเป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น มีความติดข้องในชื่อ แต่ไม่ใช่ในสภาพของธรรม เพราะไม่มีโอกาสเลยที่จะสัมผัสนิพพานได้ แต่พอได้ยินชื่อก็อยากได้ทั้งนั้น

    ผู้ฟัง ที่อยากได้เพราะว่า ไม่รู้ว่าจริงๆ คืออะไร ได้แต่รู้แค่ว่าดี รู้ว่าเขาพูดกันว่าดี รู้ว่าเป็นสิ่งที่คนหลายๆ คนอยากได้ แต่ไม่รู้ว่าสภาพจริงๆ คืออะไร กว่าจะไปถึงได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริง คือ ต้องตรงต่อตัวเอง ไม่ใช่ว่า อยากได้นิพพานเพราะยังไม่รู้จักนิพพาน

    ผู้ฟัง ธรรมไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะเข้าใจได้เอง มีบางอย่างที่อาจจะทำให้เข้าใจผิด คือ สภาพธรรมบางอย่างที่เป็นอกุศล แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียดจะคิดว่าเป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ นี้เป็นเหตุที่จะต้องศึกษาตามลำดับจริงๆ ว่า ธรรมคืออะไร ธรรมมีอะไรบ้าง แล้วค่อยๆ ไปด้วยความเข้าใจจริงๆ จะได้ไม่สับสน ถ้าพูดถึงกุศล อกุศล โดยที่ไม่พูดเรื่องจิต เจตสิก จะรู้ไหมว่า กุศลนั้นคืออะไร เขาไม่รู้

    ผู้ฟัง ที่ผ่านมาท่านอาจารย์พูดถึงว่า พ่อแม่รักลูก ลูกรักพ่อแม่ ปัญหาคือว่า ความที่มีความรักซึ่งเป็นโลภะ แต่อย่างวันนี้ คุณพ่อคุณแม่พาลูกๆ มาฟังธรรม ส่วนหนึ่งจะเป็นทั้งโลภะสลับกันกับเมตตาใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าเมตตา คือ จะลูกหรือไม่ลูก อยากให้เขาฟังธรรม แต่ถ้าอยากให้ “ลูกเราฟัง” ก็ต้องละเอียด ถ้าไม่ละเอียด ไม่เห็นโลภะ ละโลภะไม่ได้เลย ถูกหลอกด้วยโลภะมาตลอดในสังสารวัฏฏ์ เพราะไม่เห็นโลภะ โลภะมีจริงแต่ไม่เห็น ไม่เห็นแม้หนทางที่จะละโลภะ เพราะคิดว่า จะต้องบังคับบ้าง จะต้องทำอย่างนี้อย่างนั้นบ้าง แต่ความจริงไม่รู้ว่า เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น ที่จะเห็นโลภะได้ และที่จะละโลภะได้ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นคนตรงมาก พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่เพียงเอามาวิจารณ์วิพากษ์ว่า อย่างนี้จะเป็นโลภะไหม อย่างนั้นจะเป็นโลภะไหม แต่ต้องเป็นขณะที่ประกอบพร้อมด้วยสติ และปัญญาที่จะรู้ขณะจิตว่าขณะนั้นความรู้สึกที่มีต่อลูกที่อยากจะให้ลูกฟังธรรม เหมือนกับความรู้สึกที่อยากจะให้ทุกคนได้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นลูกหรือไม่ลูกก็อยากให้ฟัง

    ผู้ฟัง ธรรมดาวัยรุ่นจะรู้สึกว่า การมีเพื่อนมากๆ เป็นเรื่องดี เพราะฉะนั้น จะรักเพื่อน ผูกพันกับเพื่อน และคิดว่า ความรักเป็นสิ่งที่ดี ที่นี้พอพูดว่า ความรัก ความผูกพัน

    ท่านอาจารย์ เพราะยังไม่เข้าใจพื้นฐานตั้งแต่ต้น ไม่เข้าใจแม้แต่นามธรรม รูปธรรม เพราะฉะนั้น ไม่มีโอกาสที่จะรู้ตัวจริง เพียงแต่ได้ยินเรื่องราว เป็นเรื่องไปหมด แต่ถ้ารู้ว่า เป็นสภาพธรรม และพิสูจน์ได้ รู้ได้ทันที จะค่อยๆ รู้จักชีวิตจริงๆ เริ่มเข้าใจความเป็นธรรม และเป็นนามธรรมรูปธรรมก่อน

    ผู้ฟัง หมายความว่า ทุกคนจะต้องพยายามพิจารณาจิตของตัวเอง

    ท่านอาจารย์ มีพื้นฐานในการเข้าใจธรรมก่อน ถ้าไม่อย่างนั้น ฟังได้แต่จะมีปัญหา ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งไม่ทราบว่า จะตัดสินอย่างไร แต่เวลาที่มีพื้นฐานมั่นคงแล้ว รู้ได้ถึงความต่างของโลภะกับความต่างของเมตตา

    ผู้ฟัง ข้อแตกต่างระหว่างเพศฆราวาสกับบรรพชิต ถ้าศึกษาธรรม ผลของการศึกษาจะต่างกันไหม

    ท่านอาจารย์ อยู่ที่ความเข้าใจ คฤหัสถ์ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในสมัยพระพุทธเจ้ามีมาก ในขณะที่พระภิกษุที่ไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็มี พุทธบริษัทมี ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ขณะนี้คงจะไม่มีปัญหาเรื่องอื่นนอกจากเข้าใจธรรมว่า เป็นธรรม เป็นธาตุ มีจริงๆ ปัญญาเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถที่จะรู้ ที่จะเข้าใจจากการฟัง การพิจารณา การไตร่ตรอง การอบรม จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมได้

    ผู้ฟัง ระหว่างอยู่ในเพศฆราวาสแต่ว่าอยู่เป็นพรหมจรรย์ กับมีครอบครัว

    ท่านอาจารย์ ในพระสูตรมีครบหมด พุทธบริษัททั้งหมดไม่ว่าจะครองเรือน ไม่ครองเรือน สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    ผู้ฟัง คือไม่มีผลในความแตกต่างระหว่างมีครอบครัว

    ท่านอาจารย์ ไม่ควรจะคิดเรื่องอื่นนอกจากเรื่องปัญญา พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องตรง เป็นเรื่องจริงปัญญารู้อะไร ขณะที่กำลังเห็น เห็นขณะนี้มีจริง ปัญญารู้ความจริง สภาพที่แท้จริงของเห็น ขณะที่กำลังคิดนึกซึ่งมีจริงๆ ขณะนั้นปัญญาสามารถที่จะรู้สภาพแท้จริงของความคิดนึก เพราะฉะนั้น แต่ละคนเป็นผู้ตรงว่า รู้สิ่งที่กำลังปรากฏหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน มีครองเรือน ไม่ครองเรือน ไม่เป็นปัญหา ปัญหาอยู่ที่ว่า รู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงหรือเปล่า ไม่ห้ามเลย ใครจะครองเรือนไม่มีการห้าม เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยแต่ว่า สะสมปัญญาได้ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ การฟังธรรมไม่ต้องนุ่งขาว ใส่ขาว ใส่อะไรก็ได้ ฟังธรรมให้เข้าใจ อยู่ที่ความเข้าใจถูก

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้ว ทำไมได้มีบัญญัติว่า ฆ่าบิดามารดาถึงเป็นอนันตริยกรรม สมมติว่า เด็กๆ โกรธเคืองพ่อแม่ มีจิตที่ขุ่นเคืองจะบาปมากกว่าโกรธผู้อื่นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ กลัวบาปหรืออย่างไร หรือกลัวอกุศลทุกชนิดแม้เล็กน้อย ที่จริงพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง คนที่ดีกับเราแสนดี และยังโกรธเขาได้ คิดดูแล้วกัน จิตเป็นอย่างไร ดีแสนดีตั้งแต่เกิดมา ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้หมด ทำสิ่งที่คนอื่นไม่สามารถจะกระทำได้ด้วย แล้วยังโกรธ แต่ความโกรธบังคับบัญชาไม่ได้ แต่ขณะนั้นจิตใจเป็นอย่างไร ทรงแสดงตามความเป็นจริงอย่างนั้น ลูกโกรธแม่เป็นของธรรมดา แม่โกรธลูกเป็นของธรรมดา เพราะมีโลภะ มีความผูกพัน ถ้าไม่มีความผูกพัน จะโกรธไหม ใครจะพูดอะไรก็ช่างเขาใช่ไหม ไม่เดือดร้อน แต่กับคนใกล้ชิด อาจจะขุ่นเคืองเดือดร้อนมาก เพราะว่ามีความผูกพัน และมีความคิดว่า ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ไม่ควรจะเป็นอย่างนี้ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา คือ บังคับบัญชาไม่ได้ แต่เมื่อแสดงถึงสภาพของจิตที่หยาบกระด้าง ตามลำดับขั้น เช่น การโกรธผู้มีคุณกับผู้ไม่มีคุณ ทั้งๆ ที่คนนั้นเป็นผู้ที่มีคุณก็ยังโกรธได้ เพราะฉะนั้น ความรู้สึกในขณะนั้นต้องหยาบกระด้างมากกว่าใช่ไหม และถ้าลงถึงกับเจตนาฆ่า ยิ่งรุนแรงที่สุด เพราะเหตุว่า ความโกรธโดยไม่ประทุษร้ายมี แต่ความโกรธถึงขนาดรุนแรงอย่างนั้น ยิ่งเพิ่มกำลังของความโกรธขึ้น ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง การได้ยินได้ฟังธรรมอย่างนี้ จะเป็นการค่อยๆ ละคลายความเป็นตัวเรา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    29 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ