ปกิณณกธรรม ตอนที่ 87


    ตอนที่ ๘๗


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดว่าให้ทำอย่างนั้นๆ เป็นเราทำหรือว่าเป็นสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เวลาที่อ่านพระสูตร ถ้าอ่านไม่ดี จะเป็นตัวตนตลอด ทั้งๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คำใดที่ตรัสแล้วไม่เปลี่ยน เปลี่ยนไม่ได้ ไม่เป็นสอง เพราะฉะนั้นอนัตตาต้องเป็นอนัตตา ทั้งพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม แต่ทีนี้เมื่อไม่เข้าใจจริงๆ อย่างนี้ เวลาที่ได้ยินพระธรรมที่ทรงแสดงว่า ละชั่ว ทำความดีให้ถึงพร้อม ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ฟังเหมือนให้ทำ เหมือนสั่ง เหมือนบอก ละชั่ว แต่ไม่ได้เข้าใจเลย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม ตามเหตุ ตามผล ตามความเป็นจริง เมื่อเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ควรละ เป็นสิ่งที่จะต้องละ แต่ไม่ได้บอกว่าจงละ หรือทำละ แต่ให้รู้ตามความจริงว่า เป็นสิ่งที่จะต้องละ และความดีก็เหมือนกัน เมื่อเป็นสิ่งที่ดี ก็ควรที่จะอบรมควรเจริญให้ถึงพร้อม แต่ไม่ใช่สั่ง แต่เป็นการแสดงพระธรรม ตามเหตุตามผลทั้งหมด ซึ่งถ้าคนฟังไม่ดี หรืออ่านไม่ถูก จะมีโลภะ จะมีความเห็นผิด มีความเป็นตัวตน ทำทันที นี่บอกให้ทำ ก็ทำ แต่ว่าจริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น เหมือนอย่างทาน ทานที่ประณีต ให้ผลอย่างหนึ่ง ทานที่ไม่ประณีต ก็ต้องให้ผลตามขั้นของความเป็นทานที่ไม่ประณีต แต่พอฟังแล้วอยากทำทานที่ประณีต ไม่เข้าใจเลยว่า แท้ที่จริงแล้วจะประณีตหรือไม่ประณีต ตามเหตุตามปัจจัย และผลที่จะเกิดก็เกิดตามเหตุตามปัจจัย แต่ความเป็นตัวเรา และความต้องการผล ทำให้ขวนขวายจะทำแต่ทานที่ประณีต เหมือนอย่างที่มีคนถาม ที่วัดบวร มีน้ำดื่ม แล้วน้ำที่ดื่มก็เหลือ เจ้าของน้ำถามว่าจะถวายพระได้ไหม คล้ายๆ กับว่าของนี้เหลือแล้ว จะมีประโยชน์หรือควรจะทำหรือไม่ควรจะทำ เพื่อตัวเองหรือเปล่า ต้องการผลอะไรที่ดีประณีตหรือเปล่า ที่ว่าจะไม่ถวายอย่างนี้จะต้องถวายอย่างนั้น แต่ถ้าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ ไม่คำนึงว่าเราจะได้อะไร ไม่ได้อะไร แต่สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ต่อพระภิกษุหรือเปล่า ถ้าเป็นประโยชน์ และควรถวายไหม เพื่อท่านก็ต้องถวายไป ไม่ใช่เพื่อเรา จะคอยเอากุศลที่ประณีต เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจพระะรรมจริงๆ ว่าทั้งหมดแสดงตามเหตุตามผล ไม่ใช่ว่ายุให้เราเกิดโลภะว่าจะต้องเอาให้ประณีตมากๆ

    ผู้ฟัง ฟังแล้วท่านอาจารย์ก็ไม่ให้ทำ

    ท่านอาจารย์ ทำได้หรือเปล่า ความเป็นจริงทำได้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เหมือนว่าเราทำได้

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่เข้าใจความหมายของคำว่า อนัตตา ยังไม่หยั่งซึ้งลงไปถึงว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง ความเข้าใจในขั้นการฟัง เรื่องการให้ทาน ต้องเป็นความเข้าใจอีกระดับหนึ่ง หรือว่าปัญญาในขั้นการให้ทาน ก็ต้องมี เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการในขั้นการฟัง ในขั้นการให้ทาน ก็จะต้องมี ให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ในขณะนั้นเราให้ทาน ด้วยสภาพจิตที่หวัง หรือไม่หวัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น บารมีทั้งหมดจะมีปัญญาเป็นหัวหน้า บารมีอื่น เป็นแต่เพียงบริวารของปัญญา

    ผู้ฟัง ถ้าเราเข้าใจแค่นี้แล้ว ความเข้าใจก็ลึกไปอีกว่าปัญญาในขั้นการรักษาศีล ก็มีคล้ายๆ อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เหมือนกัน ไม่ใช่เพื่อหวังอะไรทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง ปัญญาในขั้นภาวนา ได้แก่สมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา ก็ปัญญาอีกระดับ

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องละคลายความต้องการทั้งหมด

    ผู้ฟัง ก็ต้องทำความเข้าใจตั้งแต่ต้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการศึกษาพุทธศาสนา เน้นแล้ว เน้นอีกเพื่อเข้าใจถูก มีพระสูตรหนึ่งที่แสดงว่า การฟังธรรมหรือการศึกษาธรรม ถ้าตั้งจิตไว้ผิด ก็เหมือนการที่ท่านใช้คำว่า ตั้งเดือยข้าวสาลี อาจจะเป็นส่วนที่แหลมคมของเปลือก ถ้าตั้งไว้ไม่ดี ก็ไม่สามารถที่จะบาดเท้า หรือเหยียบย่ำไปได้เพราะว่า ต้องเป็นเรื่องของการละอกุศล เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นเรื่องการทำลายอกุศล แต่ถ้าตั้งจิตไว้ไม่ดี พอกพูลอกุศล เต็มไปด้วยความต้องการความอยากได้ อยากถึงเมื่อไร ทำอย่างไร เป็นเรื่องของตัวตนทั้งหมด แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ละความไม่รู้ ละความเห็นผิด ละความต้องการ หนทางที่จะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ต้องเป็นเรื่องตั้งแต่ต้นจนตลอด ถ้ามีเรื่องไม่ละมาเมื่อไหร่ กั้นทันที เครื่องเนิ่นช้า

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ว่า ทำไมอกุศลเกิดมากกว่ากุศล อันนี้ยังสงสัย เพราะว่า เราไม่เบียดเบียนใครเลย และก็ไม่คิดร้ายใครเลย

    ท่านอาจารย์ เราไม่มีทุจริตกรรม แต่จะบอกว่าเราไม่มีอกุศลไม่ได้ เพราะว่าถ้าขณะในกุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าเราไม่พูดถึงวิบากกับกิริยาจิต เราจะพูดถึงแต่เฉพาะกุศลกับอกุศล ขณะใดที่กุศลไม่เกิด ขณะนั้นอกุศลเกิด เวลาตื่นขึ้นมาคุณประทีปมีกุศลอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ส่วนมากเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ เฉยๆ เป็นอะไร เป็นอกุศลแล้ว

    ผู้ฟัง ก็เป็นอกุศล ถ้าพิจารณาว่า ในขณะใดที่จิตไม่เป็นไปทาน ศีล ภาวนา เป็นอกุศล แต่มันละเอียดมาก

    ท่านอาจารย์ ละเอียด ถึงได้ว่ารู้ยาก

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวัน เราก็มีแต่อกุศล

    ท่านอาจารย์ ทำไมกลับไปคุณประทีปต้องอาบน้ำแล้ว ไม่เห็นเปื้อนตรงไหนเลย แค่ล้างมือ ถ้าไม่ล้าง เราก็ไม่เห็นมือเราเปื้อน แต่พอล้าง และใช้สบู่ ยิ่งเห็นเลย ทำไมมือก็ไม่มีหมึกไม่มีอะไร ทำไมมีสีดำออกมา ฝุ่นละออง ธุลีของอกุศลตลอดวัน หนาแค่ไหน ก็ไม่รู้ เพราะว่าเหมือนเดิมทุกวันๆ ไม่รู้เลยว่ามี แต่ความจริง มีอย่างไม่รู้ ไม่ใช่มีอย่างรู้ ถ้ามีอย่างรู้ โลภะมากๆ โทสะมากๆ ก็รู้ แต่ถ้าจางลงไปกว่านั้นอีก จะรู้ได้ไหมว่าตื่นขึ้นมาก็ติดแล้ว ทางตาเห็น ติดแล้ว ทางหูได้ยินก็ติด ติดหมดเหมือนลิง ห้ามือ ทั้งเท้า ทั้งมือ ทั้งหาง ทั้งปากงับ หนีไม่พ้น

    ผู้ฟัง ตัวอย่างนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ในชีวิตประจำวันของเรา และผมฟังท่านอาจารย์แล้ว แม้กระทั่งคำง่ายๆ ว่า ความโกรธมันห้ามไม่ได้ แต่ว่าอย่าเกลียด ท่านพูดไว้ตรงนี้ โกรธกับเกลียดคล้ายกันมาก

    ท่านอาจารย์ คุณประทีปเคยโกรธใครไหม

    ผู้ฟัง เคยครับ บ่อยด้วย

    ท่านอาจารย์ แล้วเกลียดคนที่คุณโกรธหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เกลียดด้วย

    ท่านอาจารย์ คนที่โกรธโดยไม่เกลียดมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ก็แสดงเห็นความต่างของโกรธกับเกลียด

    ผู้ฟัง ในความเกลียดหมายถึงว่า ยังจำไว้ตลอดเลย

    ท่านอาจารย์ แรงกว่าโกรธไหม

    ผู้ฟัง แรงกว่า นึกขึ้นมาทีไรก็โกรธ

    ท่านอาจารย์ คนในบ้านทำผิด เราต้องโกรธแน่ๆ จะบอกว่าไม่โกรธ คนนั้นก็เป็นพระอนาคามี เพราะว่าโกรธแม้แต่ความขุ่นใจนิดเดียว ไม่สบายใจเล็กที่สุด ก็ยังเป็นโทสะ แต่เราไม่ได้เกลียดเขา

    ผู้ฟัง พระพุทธองค์ได้เคยตรัสข้อความหนึ่ง ไม่แสวงหาเขตบุญนอกพระพุทธศาสนา การแสวงหาเขตบุญนอกพุทธศาสนา มันจะมีผลอย่างไร พระพุทธองค์ถึงได้ตรัสข้อความอันนี้

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็ตามความเป็นจริงอีก ไม่ใช่ไปกั้น ไปขวาง ธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ธรรมมีหลายระดับขั้น ระดับทานไม่จำกัดเลยว่าต้องให้กับชาวพุทธเท่านั้น ใครก็ตามที่ทุกข์ยาก ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เป็นสัตว์ เราจะเกื้อกูลสงเคราะห์เขา ให้พ้นจากความทุกข์ได้ ก็ไม่มีการห้ามเลย ระหว่างคนที่เป็นโจร กับคนที่เป็นคนดี เราก็ช่วยทั้งสองคนนั้น แต่ผลก็ต่างกัน แสดงโดยละเอียดยิบว่าเหตุคืออย่างนี้ เพราะฉะนั้นผลก็คืออย่างนี้ อย่างการให้ทานกับพระอรหันต์ ผลต้องมากกว่า เพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้ที่ประพฤติดี ประพฤติชอบ และท่านก็หมดกิเลส แล้วท่านก็ยังไม่เบียดเบียนใคร เพราะฉะนั้นไม่มีใครได้รับโทษจากท่าน เพราะฉะนั้นผลจากทานนั้นก็ต้องมากกว่า แต่ไม่ใช่หมายความว่าให้เราเที่ยวไปแสวงหาพระอรหันต์ที่เราจะได้บุญมาก ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าไม่ใช่อย่างนั้น แต่แสดงตามเหตุ ตามผล ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นในเรื่องระดับทาน ไม่มีการจำกัด แต่ในเรื่องของปัญญา ต้องเป็นเรื่องที่เราพิจารณาเห็นเองว่าเราจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในทางความเห็นผิดหรือเปล่า เพราะเหตุว่าไม่ได้ทำให้เราเกิดความเห็นถูก แต่ยังทำให้เกิดความเห็นผิดด้วย เพราะฉะนั้นเราอาจจะให้ทาน ทำทุกอย่าง แต่ว่าในเรื่องของสติปัญญาเราก็ไม่ไปเกี่ยวข้องด้วย ก็เป็นเรื่องๆ ไป

    ผู้ฟัง การถวายสังฆทานที่ถูกต้องควรจะทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจว่าสังฆทานคืออะไร ทุกอย่างนี้ไม่ใช่เพียงแต่เขาบอกวิธีทำ หรือวิธีการ แต่ต้องเป็นเรื่องเหตุผล กับความเข้าใจ เวลาที่ได้ยินคำว่าสังฆทาน เข้าใจว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ถวายสังฆานแล้วได้บุญมาก เลยทำ

    ท่านอาจารย์ ถ้าได้บุญน้อยจะทำไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทำ

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นจริงๆ ว่า เราไม่ได้เข้าใจ ถ้าเราเข้าใจ เราจะไม่คิดอย่างนี้ แต่ว่าเราจะรู้เหตุผลตามความเป็นจริง ทาน คือการให้ สังฆ คือหมู่สงฆ์ ซึ่งเราไม่เจาะจงว่าจะต้องให้พระคุณเจ้ารูปนี้ เจ้าอาวาส หรือว่าพระเพื่อนฝูง หรืออะไรที่เรารู้จักคุ้นเคย หรือญาติ ไม่ใช่อย่างนั้น การให้โดยไม่เจาะจง ให้แก่ภิกษุแม้แต่รูปเดียวก็ได้ ทั้งๆ ที่สงฆ์ที่นี้ไม่ได้หมายความถึง ภิกษุบุคคล แต่หมายความถึงหมู่ของพระอริยสงฆ์ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วเราไม่มีทางจะรู้เลยว่าเรารู้ไหมว่าพระภิกษุรูปใดเป็นพระอริยเจ้า แต่จิตใจของเราขณะที่ถวายทาน จิตขณะนั้น ที่เป็นสังฆทาน ไม่ได้อยู่ที่ถังหรือกระบุง หรือว่าข้าวสาร หรือว่าของแห้ง ที่เค้ามาตั้งวางอยู่ นั่นคือวัตถุทาน แต่สังฆทานตั้งอยู่ที่ใจของเรา เพราะว่าวัตถุทานคือสิ่งที่เราให้ จะเรียกว่าไทยธรรมก็ได้ จะเรียกว่าทานก็ได้ เป็นวัตถุทานที่มอบให้ แต่ว่าที่จะเป็นสังฆทาน ไม่ใช่อยู่ที่นั่น แต่อยู่ที่สภาพจิต ที่เรามีความอ่อนน้อม ให้ด้วยความเคารพ ด้วยความนอบน้อมในพระอริยเจ้า ท่านจะเป็นหรือไม่เป็น ท่านจะเป็นใครก็ตามแต่ แต่ใจของเรา ไม่หวั่นไหว และก็ในขณะนั้นเรามีความนอบน้อมต่อสงฆ์ ขณะนั้นจึงจะเป็นสังฆทาน เพราะฉะนั้นสังฆทานให้ทราบว่าไม่ใช่อยู่ที่วัตถุ แต่ว่าอยู่ที่สภาพของจิต เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่รู้ เขาบอกให้เราทำสังฆทาน เขาก็ยกถังมาให้ แล้วก็บอกให้เราทำ แต่นั่นไม่ใช่สังฆทาน นั้นเป็นวัตถุทาน สังฆทานตั้งอยู่สภาพจิต ถ้าสภาพจิตของเรานอบน้อมต่อพระอริยสงฆ์ ใครจะบอกว่านี้ไม่ใช่สังฆทานก็ไม่ได้ เพราะว่าใจของเราน้อมถวายต่อสงฆ์ ก็เป็นสังฆทาน

    ผู้ฟัง เราใส่บาตรทุกวันนี้ เราก็นึกเป็นสังฆทานใด้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่นึก จิตของเราเป็นหรือเปล่า เป็นการนอบน้อมต่อพระอริยเจ้าจริงๆ หรือเปล่า ไม่คำนึงว่าท่านเป็นภิกษุรูปไหน อยู่วัดไหน ทำอะไร ไม่สนใจ แต่ว่าใจของเราได้นอบน้อมต่อพระอริยเจ้า ถ้านอบน้อมเมื่อใด ก็เป็นสังฆทานเมื่อนั้น บุญมากไหม ที่ว่าบุญมากนี้ มากตอนไหน จิตของเราผ่องใส ไม่ติดข้องเราจะต้องถวายพระภิกษุรูปนั้นรูปนี้ ไม่หวังผล นี้คือจิตที่ผ่องใส แต่ถ้าหวังผลบุญมากไหม จะทราบว่าจะมากหรือจะน้อย อยู่ที่สภาพจิต ถ้าเป็นกุศลที่ผ่องใส ปราศจากความหวัง โลภะติดข้องใดๆ

    ผู้ฟัง ก็มีหวัง

    ท่านอาจารย์ นั่นคือโลภะ เพราะฉะนั้นบุญนี้มีโลภะเป็นบริวาร เมื่อกี้นี้ก็ถามคนที่มาก่อน บอกว่าไปอย่างไรมาอย่างไร บางคนก็บอกว่าเปิดวิทยุฟัง แล้วคิดว่าได้ยินบางคำที่คิดว่าจะมีประโยชน์ อย่างคำว่าธรรม ได้ยินบ่อยๆ แล้วคิดว่าคงจะไปสิ่งที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือว่ามีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน รู้สึกอย่างนี้เปล่า

    ผู้ฟัง รู้สึกว่าถ้าเกิดสมมติเราเอาธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ เราจะสามารถพัฒนาชีวิต ในทางที่ถูกได้ เราไม่หลงผิดไม่เข้าใจผิด

    ท่านอาจารย์ ที่บอกว่าธรรมจะมีประโยชน์กับชีวิตอย่างมาก เป็นเพียงความคิดของเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่ ทีนี้คือยังไม่รู้ว่าหัวข้อธรรมไหน พอแจกแจงออกมาแล้ว จะใช้สำหรับงานไหน ตรงนั้นคือยังมองไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ อันนั้นถูกต้อง คือเราทุกคนจะมีความคิด แต่ความคิดอย่างเดียวไม่พอ เราต้องมีเหตุผลด้วย อย่างเราบอกว่าธรรม น่าจะมีประโยชน์ แต่เรายังไม่รู้เลยว่าธรรมคืออะไร เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ว่าธรรมคืออะไร เราจะยิ่งเห็นประโยชน์มากขึ้น เพราะฉะนั้นก่อนอื่นเราก็จะต้องเข้าใจแต่ละคำที่เราได้ยินให้ชัดเจน แล้วก็เป็นคนที่มีเหตุผลด้วย ถ้าคนที่ไม่มีเหตุผล การศึกษาธรรมจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะเหตุว่าธรรม ทราบไหมว่าใครเป็นผู้แสดง

    ผู้ฟัง เข้าใจว่ามันเป็นสิ่งที่มีโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่พระพุทธเจ้าเป็นผู้เอาธรรมชาติตรงนั้นมาแยก แล้วก็มาสั่งสอนอีกที

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้แสดง ถ้าสมมติว่าเขาบอกว่าศาสดาอื่นแสดงธรรม จะถูกหรือจะผิด

    ผู้ฟัง ถูก

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรถึงว่าถูก

    ผู้ฟัง เพราะว่าธรรมเป็นของกลาง เป็นของธรรมชาติ ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ที่จะไปดึงธรรมชาตินำมาใช้ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นบางคนเขาอาจจะบอกว่า คนโน้นแสดงธรรม คนนี้แสดงธรรม หรือว่าศาสนาโน้นแสดงธรรม ศาสดานี้แสดงธรรม แต่ว่าธรรมจริงๆ หมายความถึงสิ่งที่มีอยู่จริงๆ เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่แสดงให้เราเข้าใจสภาพที่มีอยู่จริงๆ ได้ละเอียด ได้ลึกซึ้ง คนนั้นจึงชื่อว่าแสดงธรรม แต่ถ้าเขาเอามาเพียงบางส่วน ไม่ครบถ้วน คนนั้นก็ได้แต่มีความรู้ ความเข้าใจเพียงบางส่วน แต่สำหรับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พวกเราทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ต้องเคยได้ยินว่า เป็นผู้ที่เลิศกว่าบุคคลอื่นทั้งหมด เพียงแต่ว่าเรายังไม่ทราบว่าเลิศอย่างไร และก็เลิศแค่ไหน แต่ตอนเป็นเด็ก เราก็ถูกพ่อแม่สอนให้กราบไหว้ แม้แต่เพียงเด็กเล็กๆ ก่อนจะนอนให้ไหว้พระ นี้ก็จะได้เห็นว่าต้องมีคนหนึ่ง ซึ่งสูงที่สุด ฉลาดที่สุด เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าสมัยนี้จะไม่มี และผ่านไปแล้วถึง ๒๕๐๐ กว่าปี แต่ว่าพระธรรมที่ทรงแสดง และคนเลื่อมใสนับถือยังมีมากมาย และก็สืบต่อไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากจริงๆ ที่ว่าไม่สูญไป แต่ทีนี้ถ้าเราเป็นคนที่อยู่ในเมืองไทย ได้ยินคำว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระรัตนตรัย โดยที่เราไม่รู้เลยว่าคืออะไร เราก็เท่ากับว่าเหมือนกับคนที่เหมือนรู้ แต่ไม่รู้ ซึ่งเราจะยอมเป็นคนอย่างนั้นไหม คือเป็นคนที่เหมือนรู้ แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราควรที่จะรู้จริงๆ มากกว่าที่จะเหมือนรู้ แต่ความจริงพอคนอื่นถาม เราก็ไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าธรรม เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งไม่มีใครเทียบได้เลย เวลานี้เราอาจจะยังไม่รู้ว่าทำไมถึงกล่าวว่า ไม่มีใครเสมอเหมือน เพราะว่าเรายังไม่ได้ศึกษา แต่ลองคิดดู พระพุทธเจ้ากับคุณพ่อคุณแม่ ใครฉลาดกว่ากัน ต้องมีเหตุผลด้วย ใครจะตอบใคร ตอบได้เลย ตอบอย่างไรก็ตอบได้

    ผู้ฟัง พระพุทธเจ้าฉลาดกว่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าคิดอย่างนี้ต้องบอกว่าเพราะอะไร ต้องมีเหตุผลทุกอย่าง คนที่ศึกษาธรรมต้องมีเหตุผล ถ้าไม่มีเหตุผล จะไม่เข้าใจธรรมได้เลย

    ผู้ฟัง พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พ่อแม่ไม่ได้ตรัสรู้

    ท่านอาจารย์ แล้วอะไรอีก พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และคนอื่นไม่ได้ตรัสรู้ และคนอื่นจะตอบไหมว่าเพราะอะไร ลองคิด ยิ่งคิด ยิ่งเข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง คิดว่าคุณพ่อคุณแม่ฉลาดกว่า เพราะเลือกที่จะให้เราเกิดมา พระพุทธเจ้าไม่ได้เลือก

    ท่านอาจารย์ คุณแม่ไม่ได้เลือก

    ผู้ฟัง พ่อแม่เต็มใจให้เราเกิด และสามารถเลี้ยงดู และสอนให้เราเชื่อท่านได้ เพราะอย่างบางเรื่อง เราก็ยังไม่เชื่อพระพุทธเจ้าทีเดียว เพราะเราไม่ได้ศึกษา แต่อย่างคุณแม่ไม่จำเป็นต้องศึกษาแต่เราเชื่อท่าน

    ท่านอาจารย์ ความเป็นจริงคือแม้คุณแม่ก็ยังนับถือพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นต้องค่อยๆ ไต่ไปตามเหตุผล ความคิดของเราจะถูกจะผิดอย่างไร เราแสดงได้ แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องคิดให้กว้างไกลออกไป พระมหากษัตริย์กับคุณพ่อคุณแม่ ใครฉลาดกว่ากัน เดี๋ยวคำตอบเหมือนเดิมว่าคุณพ่อคุณแม่อีก แต่จริงๆ แล้วแม้พระมหากษัตริย์ ก็ยังต้องนับถือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่ากี่พระองค์ ตั้งแต่อดีตมาจนกระทั่งถึงสมัยนี้ เพราะฉะนั้นแสดงว่าต้องมีบุคคลหนึ่ง ซึ่งเลิศจริงๆ และเราก็มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ที่จะได้เห็นความไม่มีใครเปรียบได้เลยกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าขอถามว่า ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ที่ตอบเมื่อกี้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้จะยากหรือจะง่าย ลองคิดดู ต้องใช้ความคิด ต้องพิจารณาแล้วให้เป็นความเข้าใจของเราเอง ไม่ใช่ไปตามใคร แต่เราต้องพิจารณาจนกระทั่งมีความเห็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วมีเหตุผลด้วย เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงที่จะตรัสรู้ ยากหรือง่าย

    ผู้ฟัง ยากที่จะปฏิบัติ แต่ว่าถ้าเกิดปฏิบัติได้แล้ว ก็จะเป็นสิ่งที่ดีต่อการใช้ชีวิต การเข้าใจความเป็นไปของโลก

    ท่านอาจารย์ ปฏิบัตินี้คืออะไร จะปฏิบัติ

    ผู้ฟัง ปฏิบัติให้อยู่ในความเป็นไป ในวิถี

    ท่านอาจารย์ อย่างเวลานี้ พระพุทธเจ้าคำสอนมีแล้ว จะปฏิบัติอย่างไร คือพูด พูดได้ทุกอย่างตามความคิด แต่ต้องมีเหตุผล ถ้าจะปฏิบัติก็ต้องรู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร ต้องตั้งต้นฟัง และเรียนใช่ไหม ไม่อย่างนั้นจะไม่มีทางนึกออกเลยว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร พ่อแม่สอนเราก็ยังนึกออกว่าสอนให้เป็นคนดี มีความประพฤติดีต่างๆ ครูที่โรงเรียนก็สอนหลายอย่าง แต่ว่าไม่มีใครสอนเหมือนพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พูดอย่างนี้ถูกหรือผิด เพราะฉะนั้นต้องนับว่าเป็นบุญ บุญหมายความถึงสิ่งที่ดีงาม ที่เราได้สร้างไว้ สะสมมาแล้ว ที่เรามีโอกาสจะได้ยิน ได้ฟัง ธรรมซึ่งยากแสนยาก กว่าจะมีผู้รู้สักพระองค์หนึ่ง ซึ่งใน ๒๕๐๐ กว่าปีนี้ ยังไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกเลย สักพระองค์เดียว ต้องอีกนานแสนนานมาก กว่าจะมีการตรัสรู้อีก เพราะฉะนั้นเราก็เป็นผู้ที่มีโอกาสพิเศษที่ว่า ได้มีโอกาสได้ยิน ได้ฟัง สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ธรรมหมายความถึงทุกสิ่ง ทุกอย่างที่มีจริง แค่นี้งงไหม ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง เราไม่พูดเรื่องเท็จ แต่เราจะพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งแต่ละคน ก็จะเห็นได้ว่า ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ จริงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง คิดว่าไม่จริง

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะว่าดูลงไปลึกๆ แล้ว ความจริงมันอยู่ตรงไหน อะไรที่เรียกว่าจริง เนื้อหนังมังสามันก็เปลี่ยนไป ทุกสิ่งทุกอย่างก็คือไม่มีอะไรจริง ถ้าจริงแล้วอีกวันต่อไป ของที่ว่าจริงวันนี้ก็ไม่ใช่ของเดิม

    ท่านอาจารย์ คงจะต้องตั้งต้นกันหลายๆ แบบ หลายๆ ครั้ง หลายๆ ทาง เอาใหม่ทีเดียว อะไรสำคัญที่สุดในชีวิต น่าคิดไหม

    ผู้ฟัง ความสุข

    ท่านอาจารย์ ความสุขนี้มีตลอดวันหรือเปล่า

    ผู้ฟัง บางทีมีสุขบ้าง ทุกข์บ้าง แล้วคืออย่างไรที่ว่าความสุขแท้ๆ สุขแบบว่าถาวร

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีใครมีความสุขถาวรบ้างไหม ไม่มีเลย ความสุขมีจริงแต่ความสุขก็หมดไป เวลาที่ไม่สุข ขณะนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เวลาที่ไม่สุข เป็นทุกข์

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ไม่สุข ไม่ทุกข์เป็นอะไร มีไหมเวลาที่ไม่สุข ไม่ทุกข์

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    28 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ