ปกิณณกธรรม ตอนที่ 76


    ตอนที่ ๗๖

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


    ผู้ฟัง ถ้ามีความเข้าใจในการอบรมอย่างนี้แล้ว และการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับธรรม ไปเจอบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สามารถทำความเข้าใจได้ แล้วครุ่นคิดกับสิ่งตรงนั้นจะเป็นเครื่องกั้นการเจริญสติปัฏฐาน หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจว่า ปัญญาของเราสามารถที่จะเข้าใจพระไตรปิฏกได้ทั้งหมดอย่างละเอียดหรือเปล่า หรือว่าเราสามารถที่จะเข้าใจตามกำลังของเรา ถ้าเป็นพระอรหันต์ที่ท่านทำสังคายนา ท่านไม่มีข้อสงสัยเลย แต่ว่าคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ หรือไม่ใช่พระอริยะ เมื่อเริ่มศึกษา ก็รู้ตัวเลยว่ากำลังศึกษาพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้ละเอียด ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก เพื่อเกื้อกูลให้คนที่ศึกษาสามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ตามลำดับ เช่นถ้าศึกษาเรื่องสภาพธรรม ซึ่งเป็นนามธรรมกับรูปธรรม คนนั้นก็ควรที่จะได้รู้ตัวเองว่า รู้จักลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏหรือยัง เพราะฉะนั้นเวลาที่เขาศึกษา เขาศึกษาด้วยความรู้ถูกว่า เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น แล้วถ้าเป็นข้อความที่ลึกซึ้ง ก็ต้องค่อยๆ พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบที่จะมีความเห็นถูกมีความเข้าใจถูก ตามลำดับคือตั้งแต่เบื้องต้น ถ้าเข้าใจตอนต้นผิด ตอนปลายก็คลาดเคลื่อนไปหมด แต่ถ้าเรามีความเข้าใจตอนต้นถูก เวลาที่เราได้อ่านสภาพธรรมที่ละเอียด และกว้างขวางกว่าที่เราเคยตั้งต้นอ่าน เราก็สามารถที่จะเอาสิ่งที่เราได้อ่านภายหลัง ที่กว้างขวางละเอียดมาประกอบให้เข้าใจธรรมส่วนที่เราได้เข้าใจในเบื้องต้น ให้กระจ่างให้ชัดเจนขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าคัดค้านกัน แต่ต้องประกอบกันให้ชัดเจนขึ้น จึงจะเป็นการเข้าใจธรรมถูก แต่ถ้าไม่สามารถที่จะลงกันได้ นั่นก็คือว่ายังไม่ถูกต้อง หรือว่าปัญญาของเราขณะนั้นยังไม่ละเอียดรอบคอบพอ เมื่อไหร่ที่สามารถที่จะเข้าใจได้ลงกันทั้งหมดทุกข้อความ นั้นก็คือปัญญาสามารถที่จะรู้ความละเอียดของธรรมได้ และก็เป็นประโยชน์เกื้อกูล ที่เราจะเป็นผู้ที่ละเอียดยิ่งขึ้นไม่ประมาทเลย แม้แต่ในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา บางคนก็อาจจะคิดว่า เพียงคิดก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่ต้องทราบว่าโพธิปักขิกยธรรม ๓๗ จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับ จนกว่าจะสมบูรณ์

    ผู้ฟัง ขณะที่สติระลึกรู้สภาพรู้ แต่ว่าสภาพรู้ของเรานั้น เป็นเรารู้ เลยว่ามันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าสติของเราระลึกรู้ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง เรารู้ว่า ขณะนั้นมีสภาพรู้เกิดขึ้น ทางเสียงหรือว่าทางตาก็ตาม แต่ว่าในขณะนั้นเราไม่สามารถจะแยกได้ว่าเป็นสภาพรู้ แต่รู้ว่าเป็นสภาพรู้ รู้สิ่งนั้น

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นธรรมดาใช่ไหม ถ้าสติปัฏฐานเกิด ก็จะเป็นขณะซึ่งแทนที่จะคิดเรื่องอื่น ก็สามารถที่จะระลึกตรงนั้น แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจสภาพที่สติกำลังระลึกตามปกติ ไม่ผิดปกติเลย อย่างนี้ ธรรมดาอย่างนี้

    ผู้ฟัง พอรู้ว่าเป็นสิ่งนั้น ถึงแม้จะรู้ว่าเป็นความคิดไปแล้ว ก็รู้ว่าเป็นสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดต่อ เพราะสติก็ดับ

    ผู้ฟัง อันนี้หมายความว่า สติเรายังไม่ไวพอใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต้องอบรมไปเรื่อยๆ ต้องมีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ข้อสำคัญไม่ต้องไปคิดเรื่องสติเลยก็ได้ แต่ว่าคิดเรื่องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมขณะนี้อย่างไร หรือไม่เข้าใจเลย ขณะที่กำลังเห็น เข้าใจลักษณะของสภาพที่เห็นกับสิ่งที่ปรากฏ มากน้อยแค่ไหน เพราะอะไร ถ้าจะเข้าใจก็เพราะอะไร ต้องมีเหตุด้วย ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็จะเข้าใจได้ ศึกษาไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปห่วงอะไรทั้งสิ้น ความเข้าใจจะเกิดขึ้นเป็นสังขารปรุงแต่ง ให้รู้ความต่างกันของสติ ขั้นฟังขั้นศึกษา กับสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ องค์ธรรมบางอันก็ซ้ำๆ กัน แต่ทำไมถึงต้องมีหลายชื่อ

    ท่านอาจารย์ โลภะ ของคุณจรัญ มีอย่างเดียวหรือหลายอย่าง

    ผู้ฟัง หลายอย่าง

    ท่านอาจารย์ มีระดับเดียวหรือหลายระดับ

    ผู้ฟัง หลายระดับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นธรรมที่เป็นโพธิปักขิยธรรมก็เหมือนกัน

    ผู้ฟัง แต่ในขณะที่เป็นมรรควิถี ก็มีองค์ธรรมอันเดียวไม่ใช่เหรอ

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าก่อนล่ะ ก่อนหน้านี้มีอันเดียวมาเรื่อยๆ หรือ

    ผู้ฟัง สมมติว่าเป็นเจตสิก ก็เป็นเจตสิกดวงเดิม แต่ว่ากำลังต่างกัน ระดับก็ต่างกันเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะต่างกัน จึงได้แสดง ๓๗ ไม่ใช่มีขั้นเดียวตลอด อย่างอินทรีย์ กับ พละ ทำไมไม่ทรงแสดงว่าอินทรีย์อย่างเดียว แต่เมื่ออบรมไปแล้ว สภาพนั้นไม่หวั่นไหว ไม่ว่าอารมณ์ใดจะปรากฏ เพราะเหตุว่าสัทธินทรีย์ก็เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นศรัทธาความผ่องใสของจิต ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เวลาที่เกิดตอนต้นๆ จะมากหรือจะน้อย ทั้งศรัทธา ทั้งวิริยะทั้งสติ ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ตอนที่เริ่มเกิด เช่นในขณะนี้ ถ้าจะมีการที่ค่อยๆ เข้าใจ ที่ใช้คำว่าค่อยๆ เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจทันที จนประจักษ์ลักษณะที่เป็นนามธรรมรูปธรรมเกิดดับ ถ้าเป็นผู้ที่ได้อบรมมาแล้ว เพียงชั่วขณะสั้นมากที่โลกุตตรจิตเกิด แค่จิตที่เป็นวิถีจิต ๗ ขณะ สั้นแค่ไหน แต่ปัญญาขณะนั้นสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เท่ากับประจักษ์แจ้งลักษณะของอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่ได้เจริญมาแล้ว และขณะนั้นสามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย เพราะมีนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นกว่าที่จะถึงระดับนั้น ศรัทธาเพิ่มขึ้นหรือเปล่า วิริยะเพิ่มขึ้นหรือเปล่า สติเพิ่มขึ้นหรือเปล่า สมาธิเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ปัญญาเพิ่มขึ้นหรือเปล่า เพราะฉะนั้นก็เป็นการแสดงถึงว่าถ้าไม่มีความต่างของการอบรมเจริญปัญญาเป็นขั้นๆ ขึ้นไป ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะเหตุว่าถ้าใช้แต่เพียงคำว่าสติปัฏฐานก็แค่นั้นเอง ก็สติปัฏฐาน แต่สติปัฏฐานที่ได้อบรมแล้ว ศรัทธาเป็นอย่างไร มั่นคงขึ้นหรือเปล่า หวั่นไหวหรือไม่ เพราะว่าส่วนใหญ่ คนไม่ชอบอกุศลเลย พอมีอกุศลเกิดขึ้น เขาอยากจะทำอย่างอื่นใช่ไหม จะไปข่มไว้ จะเปลี่ยน จะทำอะไรก็แล้ว แทนที่จะอาจหาญร่าเริงเป็นพละ ไม่ว่าอกุศลระดับไหนก็สามารถที่ปัญญาจะระลึกรู้ได้ เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็ต้องเป็นความต่างของศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ที่เกิดพร้อมกับสติปัฏฐานในขั้นต้น ถ้าเป็นขั้นนั้นอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่มีทางที่จะรู้อริยสัจจธรรมได้ เพราะฉะนั้นก็ทรงแสดงไว้ว่าต้องประกอบด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗

    ผู้ฟัง และทั้งหมดนี้ก็ต้องเจริญขึ้นพร้อมกันหรือเปล่า หรือเมื่อปัญญาคมขึ้น แล้วธรรมทั้งปวงก็จะเจริญขึ้นด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ถึงวิปัสสนาญาณ ความหวั่นไหวก็ยังมี ตามลำดับขั้นด้วย จนกว่าจะดับได้เป็นสมุจเฉท วิจิกิจฉาก็ยังมี

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า ในการฟังธรรม ถ้าเรามีความเคารพ เราจะไม่สนใจสิ่งอื่นเลย แต่ว่าในขณะที่เราฟังธรรม เรามีสติปัฏฐานเกิด มีสิ่งซึ่งเป็นเสียงเล็กเสียงน้อย ที่อาจารย์บอกว่าถ้าคนมีสติเกิด เสียงเล็กเสียงน้อยก็จะได้ยินหรือว่าสิ่งที่ผ่านมาทางตา ทั้งสภาพรู้ ทั้งสิ่งที่ปรากฏ ก็เห็นหมด ทั้งขณะที่เราฟังธรรม ที่เราบอกว่าไม่สนใจสิ่งอื่น จะขัดกันอยู่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ปัญญาสนใจอะไร

    ผู้ฟัง ขณะที่เราฟังธรรมอยู่ มีทั้งสิ่งที่ปรากฏทางตามาด้วย หรือสภาพรู้ทางตาด้วย ทั้งๆ ที่เราก็ไม่สามารถบังคับได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการให้บังคับเลย

    ผู้ฟัง แต่ว่าเราก็ได้รับรู้อย่างอื่นเข้ามาด้วย

    ท่านอาจารย์ ทุกคนได้ยินเสียงเล็กเสียงน้อยใช่ไหม มีใครได้ยินเสียงใหญ่ และไม่ได้ยินเสียงเล็กเสียงน้อยบ้างไหม ไม่มีใช่ไหม เป็นปกติเป็นธรรมดา แต่เป็นเรา หรือไม่เป็นเราอีกต่อไปแล้ว เป็นธรรมเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง ยังเป็นเราอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลาที่ปัญญาเริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็จะไม่เรียกเลย เป็นปกติไม่ว่าจะเสียงเล็กเสียงน้อย แต่ความรู้พร้อมด้วยสติ จะชัดเจนมากกว่าเวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิด เพราะเหตุว่าเสียงเล็กเสียงน้อยที่ปรากฏ เวลาที่ปรากฏแล้วกับโมหะบ้าง กับโลภะบ้าง โลภะบางอย่างสั้นๆ ก็หมดไปเรื่อยๆ แต่เวลาที่ปรากฏกับปัญญาพร้อมสติ สิ่งนั้นจะมีความชัดเจนแม้ว่าเล็ก หรือว่าน้อย หรือว่าดัง หรือว่าใหญ่ ยังไงก็ตาม แต่ก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ได้สนใจอย่างอื่น แต่ว่าสภาพของสติ ก็ระลึกที่ลักษณะนั้น และปัญญาก็กำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้นด้วย เพราะฉะนั้น ทั้งสติ และปัญญา และเจตสิกอื่นๆ ก็เกิดร่วมกัน ที่จะเป็นสังขารขันธ์ ที่จะทำให้เข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่สติกำลังระลึก

    ผู้ฟัง ตอนนี้คงมีคนสงสัยหลายคน เพราะว่าคนที่ฟังใหม่ๆ แล้วก็เริ่มสนใจเรื่องของสติปัฏฐาน สงสัยว่าอาจารย์ก็จะแสดงบ่อยว่า มีสิ่งที่ปรากฏตา แต่ว่าเขาก็ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างไร คน สัตว์ จะแยกออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างไร จากการฟังแล้ว การที่จะอบรมให้มีปัญญารู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา กับ คน สัตว์ ที่เป็นบัญญัติ ต่างกันอย่างไรไม่เข้าใจว่าจะอบรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังฟังให้เข้าใจ ก็เป็นการอบรม เพราะเหตุว่าถ้าไม่ฟัง ไม่เข้าใจ ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ ขั้นฟังก็เป็นการอบรมความรู้เพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งมีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ก็คงต้องพูดซ้ำๆ อยู่ตลอดเวลาว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นธรรม แล้วเราก็เรียนเรื่องธรรม แต่ว่าเรายังไม่รู้จักตัวจริงของธรรมเลย เพราะฉะนั้นการเรียนที่มีประโยชน์ ก็คือเข้าใจถูกต้องว่ากำลังเรียนเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งมีลักษณะที่ต่างกัน ๒ อย่าง ถ้าโดยชื่อ คือ นามธรรมกับรูปธรรม แต่ว่าลักษณะจริงๆ ที่จะให้รู้ว่านามธรรมซึ่งกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็เป็นเพียงธาตุหรือธรรม ซึ่งมีลักษณะของนามธรรม ไม่ใช่ลักษณะของรูปธรรม เราก็ได้ยินอย่างนี้ แต่ขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ ความเป็นนาม ความเป็นธาตุ เป็นอย่างไรไม่ทราบ บอกได้โดยชื่อ แต่จริงๆ แล้วลักษณะนี้ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงชื่อ แต่มีลักษณะที่เป็นสภาพธรรม ซึ่งมีปัจจัยจึงเกิดแล้วก็เป็นสภาพที่ต้องรู้ เมื่อไหร่ที่สภาพนี้เกิดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่นขณะที่กำลังเห็นด้วย ก็เป็นธาตุที่ต้องเห็น กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นการศึกษาของเราจะไม่เป็นโมฆะ เวลาที่สติปัฏฐานเกิดกำลังค่อยๆ เข้าใจ ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องชื่อสติปัฏฐาน หรือประกอบด้วยเจตสิกเท่าไหร่ เป็นมรรคมีองค์ ๘ มีโพธิปักขิยธรรมเท่าไหร่ นั่นเป็นเรื่องทีหลัง แต่เรื่องแรกคือต้องเข้าใจความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติปัฏฐานเกิด เพราะว่าสติปัฏฐานต่างกับสติขั้นอื่น เช่น สติที่กำลังให้ทาน เมื่อสักครู่ก็อาจจะมีคนให้ ขณะนั้นก็ต้องไม่ลืมว่าไม่มีตัวตน ไม่มีเรา ขณะนั้นเป็นสภาพจิตที่ดี มีความต้องการที่จะช่วยเหลือก็ให้ไป ขณะที่วิรัติวจีทุจริต ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา แต่ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรา ก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่าไม่ใช่สติอีกระดับหนึ่งซึ่งเป็นขั้นสติสัมปชัญญะ สำหรับเวลาที่จิตสงบ เพราะเหตุว่า เห็นว่าขณะนั้นเป็นอกุศลบ้าง หรือว่ากำลังมีเมตตาบ้าง กำลังกรุณาบ้าง ขณะนั้นเป็นสภาพจิตซึ่งไม่ใช่เป็นไปในทาน ไม่ใช่เป็นไปในศีล แต่สงบจากอกุศล ไม่มีการคิดที่จะเบียดเบียน หรือว่าประทุษร้าย แต่ต้องการที่จะช่วยเหลือ ขณะนั้นก็เป็นสติ แต่ก็ไม่รู้อีกว่าไม่ใช่ตัวตน จนกว่าจะเป็นสติปัฏฐานซึ่งกำลังมีลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งในขณะนี้ จะเป็นทางตา จะเป็นทางหู จะเป็นทางกาย หรือจะเป็นทางใจก็ได้ ขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ ขณะนี้มีลักษณะสภาพธรรมปรากฏไหม เข้าใจใช่ไหมว่าเป็นสภาพธรรม จนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิดระลึกตรงลักษณะนั้น ไม่มีความจงใจตั้งใจ แต่เป็นเพราะเหตุว่าเมื่อมีเหตุพอคือการสะสมความเข้าใจเรื่องนามธรรม และรูปธรรมพอ ก็จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดระลึก แต่สิ่งที่ยากอีกอย่างหนึ่ง คือว่าเมื่อสติปัฏฐานเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นในขั้นต้นๆ ไม่มีการที่จะรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมโดยชัดเจน ทั้งๆ ที่ทราบว่าตลอดเวลาว่าเป็นนามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้นรู้ว่ามีหนทางเดียวจริงๆ คือไม่ใช่เพียงขั้นฟังรู้ แต่เวลาที่สติเกิดระลึกลักษณะ ค่อยๆ เข้าใจในความเป็นนามธาตุ และค่อยๆ เข้าใจในความเป็นรูปธาตุ ถ้าอุปมาว่าจับด้ามมีด แต่ทุกคนก็คงจะเข้าใจ กว่าปัญญาจะสมบูรณ์ ถึงขั้นที่ประจักษ์แจ้งความจริงว่าตรงนั้นไม่มีเราเลย นอกจากสภาพรู้ ที่กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น ก็เป็นจิรกาลภาวนา ชั่วชีวิตกี่ชาติก็คงไม่ต้องนับ จนกว่าจะถึงชาติที่พอฟังก็สามารถเข้าใจได้เลยว่า ขณะนี้เป็นนามธรรมเป็นสภาพที่เป็นธาตุรู้หรือเป็นรูปธรรม แต่ว่าการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องที่ละเอียด กว่าจะละความเป็นตัวตนได้ เพราะความเป็นตัวตนลึกมากเหนียวมาก เราไม่รู้ว่าเรามีการยึดติดในสภาพธรรมด้วยความเข้าใจว่าเป็นเรานานแสนนานมาแล้ว เพราะฉะนั้นการที่สามารถที่จะละความติดในสิ่งนั้นว่าเป็นเราจะยากสักแค่ไหน ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าทุกวันเป็นเราหมด นามธรรมก็เหมือนกัน ไม่ว่าเห็น ไม่ว่าได้ยิน เป็นเราทุกอย่าง กว่าจะค่อยๆ คลายความเป็นเรา เพราะสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมก็ต้องเป็นเวลาที่นานมาก แต่เป็นสิ่งที่ตรง เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาที่สามารถเข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ โดยที่ไม่มีการคิดไปทำให้เกิดขึ้น เพราะว่าจริงๆ แล้วไม่มีใครสามารถที่จะทำอะไรได้เลย มีใครจะทำอะไรได้บ้าง อาจจะทำแกงกะหรี่ได้ใช่ไหม แต่ทำสภาพธรรมไม่ได้ ทำอะไรก็ได้ทุกอย่างด้วยความคิดว่าเป็นเราทำ แม้แต่เสียง เวลาที่จะเปิดเทป บางคนก็อาจจะคิดว่าทำให้เสียงเกิด แต่แม้แต่เสียงใครก็ทำไม่ได้ เมื่อมีปัจจัยก็เกิด เพราะฉะนั้นทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นนามธรรมรูปธรรม ให้ทราบว่ามีแล้วในขณะที่ปรากฏ เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นก็อบรมเจริญความรู้ความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้น โดยที่ไม่ใช่ทำอย่างอื่น เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องเป็นสัจจญาณ มิฉะนั้นแล้วก็มีความคิดจะทำอย่างนั้น ที่จะเลือกอย่างนี้ เวลาที่อกุศลจิตเกิดก็อยากจะให้เป็นกุศล ถ้าเป็นอย่างนี้ตราบใด ก็ไม่มีการระลึกลักษณะของสภาพที่เป็นอกุศลว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นการฟังธรรมประกอบกันทั้ง ๓ ปิฎก และเป็นผู้ที่ตรง คือ รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ถ้าขณะนั้นเกิดความคิดที่จะให้เป็นกุศลด้วยประการใดก็ตาม ขณะนั้นเป็นเราหรือเป็นสภาพธรรมที่กำลังคิด พอคุณซีเกิดอกุศลจิต ก็อยากจะให้กุศลจิตเกิดแทน ขณะนั้นเป็นเราหรือเป็นสภาพธรรม

    ผู้ฟัง เป็นความอยาก เป็นตัวเรา

    ท่านอาจารย์ ความจริงเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ความจริงเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ แม้ขณะนั้นกว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เรา ต้องทั่วจริงๆ จะเป็นอะไรก็ได้ จะคิดอะไรก็ได้ ตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น บอกว่าอย่างนี้ ถึงเวลาจริงก็เป็นอย่างนั้น เพราะว่ามีเหตุปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมใดเกิด สภาพธรรมนั้นก็เกิด ตามเหตุตามปัจจัย เราอาจจะคิดว่าเราทำ แต่ความจริงมีเหตุปัจจัยที่ให้สภาพธรรมนั้นจะเกิด เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ว่า แม้คิดขณะนั้นก็เป็นนามธรรม และรูปธรรม จนกว่าจะไม่เหลือความสงสัยในสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ก็เป็นการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งในพระสูตรจะไม่กล่าวถึงเรื่องวิปัสสนาญาณอย่างละเอียดเลย เพียงแต่บอกว่ารู้ชัด แต่ความหมายของคำว่ารู้ชัดต้องมีเหตุ เพราะทรงแสดงเหตุคือสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ และปัญญาก็จะต้องอบรมค่อยๆ รู้ขึ้น เป็นเรื่องธรรมดา แต่กินเวลานานมาก นานเท่าไหร่ กี่กัปป์ ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องกัปป์อีก คือการศึกษาธรรมไม่ใช่เรื่องห่วง ถ้าห่วงคือเรา อยากจะถึงเร็วๆ แต่ความเป็นผู้ตรง คือขณะนี้ถ้าสติเกิด กำลังมีลักษณะของสภาพธรรมเป็นอารมณ์ กำลังค่อยๆ เข้าใจ หรือแม้ว่าวิปัสสนาญาณจะเกิด ก็ยังต้องเป็นไปด้วยการละความติดข้องตลอด มิฉะนั้นก็จะมีเครื่องกั้น ทำให้ปัญญาไม่สามารถที่จะก้าวไปสู่ความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมยิ่งขึ้น ตามความเป็นจริง ขณะนี้เกิดดับ ต้องมั่นใจแน่ใจ เพราะว่าสภาพธรรมใดก็ตาม เมื่อมีปัจจัยเกิดแล้วดับ ที่จะไม่ดับนั้นไม่มี และปัญญาก็สามารถที่จะประจักษ์จริงๆ จึงจะละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีทางถึง

    ผู้ฟัง จิตที่เกิดดับแต่ละขณะ นอกจากปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ปุถุชนคงจะรู้ได้เฉพาะการเรียน แล้วเข้าใจแค่นั้น แต่ทำไมขณะที่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต เราถึงสามารถที่จะระลึกแล้วก็รู้ได้ ไม่ทราบว่าจะอธิบายด้วยเหตุผลอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก่อนประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมต้องระลึกก่อน ใช่หรือไม่ เพราะว่ามีตัวจริงๆ ขณะนี้ ต้องเข้าใจขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดว่าไม่ใช่สมาธิ ไม่ใช่เจตนา เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเรียนลักษณะของสติ และสติก็มีหลายขั้น ถ้าสติที่เป็นสติสัมปชัญญะตามปกติ ตามรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกตินิดเดียว เพราะเหตุว่าแข็งปรากฏ ปกติไม่เคยระลึกตรงแข็ง ก็คิดเรื่องราวต่างๆ ไปเลย แต่ขณะนี้สติเกิดระลึกที่แข็ง ลักษณะแข็งปรากฏ กับกายวิญญาณแล้วก็ปรากฏกับสติด้วย เพราะถ้าไม่มีกายวิญญาณแข็งจะปรากฏได้ไหม ไม่ได้ แต่เมื่อแข็งเกิดแล้วเป็นปกติ ไม่เคยมีสติระลึกตรงนั้น เพราะฉะนั้นเวลาที่แข็งปรากฏตามปกติสติก็ระลึกตรงที่แข็งตามปกตินั่นแหละ แล้วค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่แข็ง ต่างกับสภาพที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง ก็เป็นสิ่งซึ่งกินเวลา ทำให้ดูเหมือนว่า แล้วเมื่อไร แล้วอย่างไร ระลึกอีกก็เป็นอย่างนี้ ระลึกอีกก็เป็นอย่างนี้ จะให้เป็นอย่างอื่นได้อย่างไร

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    22 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ