ปกิณณกธรรม ตอนที่ 75


    ตอนที่ ๗๕

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าศึกษาคืออะไร ถ้าใช้คำว่าเรากำลังศึกษาธรรม ก็คือ ศึกษาให้เข้าใจธรรมตัวจริงซึ่งมี เราไม่ได้ศึกษาสิ่งที่เลื่อนลอย แต่ศึกษาสิ่งที่มีอยู่ทุกวันตั้งแต่เกิดจนตาย ให้รู้ความจริงว่าสภาพนั้นๆ ไม่ใช่เรา การศึกษาธรรมไม่ใช่การศึกษาตามหนังสือตามตัวเลข ซึ่งตัวจริงอยู่ที่ไหนไม่รู้ ถ้าคนไม่รู้ว่าธรรมตัวจริงอยู่ที่ไหนแล้วก็ศึกษาธรรม เป็นชื่อเป็นคำ เขาก็ไม่รู้ว่าเขากำลังศึกษาอะไร แต่ถ้าเรามีความเข้าใจว่าธรรมคือเดี๋ยวนี้ พระธรรมที่ทรงแสดงก็ทรงแสดงเรื่องความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งพิสูจน์ได้ แต่เมื่อธรรมนั้นเกิดปรากฏไม่ใช่เป็นเพียงการคิดเอา ขณะนี้มีจิต ศึกษาเรื่องจิต ศึกษาว่า จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ ขณะนี้เห็น เป็นจิตหรือเปล่า ถ้าฟังใหม่ๆ ก็อาจจะงง เพราะว่าเราทุกคน ก็ทราบว่ามีจิต แต่ไม่เคยรู้จักจิตที่ผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง จิตที่ทุกคนเข้าใจรางๆ ว่ามี มีลักษณะอย่างไร เป็นสภาพที่ต่างกับเจตสิกอย่างไร เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาธรรม ก็ศึกษาตั้งแต่ขั้นต้นที่มีคำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหมายถึงธรรมประเภทไหน มีลักษณะอย่างไร แต่ต้องเป็นตัวจริงของธรรม เช่นในขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นจิตหรือเปล่า เราเรียนเรื่องจิต และขณะนี้กำลังเห็น เป็นจิตหรือเปล่า หรือว่าตอบว่าจิตตามตำรา แต่ว่าตัวจริงที่กำลังเห็นจะเป็นจิตอย่างไรไม่ทราบ แต่ต้องตรงกัน คือเมื่อศึกษาว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นสภาพที่สามารถจะรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ชัดเจน เพราะเหตุว่าขณะนี้อะไรกำลังปรากฏ จิตรู้แจ้งในลักษณะนั้น เพียงรู้ ถ้าเป็นจิตที่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็เพียงเห็น ขณะนี้ที่กำลังเห็น ใบไม้เห็นไม่ได้ คนตายก็เห็นไม่ได้ แต่ขณะที่เห็นมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นกับจิตที่เห็น ไม่ใช่จิตที่ได้ยิน ไม่ใช่จิตที่คิดนึก การฟังธรรมต้องค่อยๆ ฟัง แล้วจะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ยากที่จะต้องประจักษ์ ซึ่งการศึกษาว่ายากแล้ว แต่การที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ศึกษา ยิ่งยากกว่า เพราะเหตุว่าต้องพิจารณาต้องเข้าใจ เราศึกษาเรื่องจิตตามตำราแล้ว และขณะนี้จิตกำลังมีให้เราศึกษา ทางตาที่กำลังเห็นขณะนี้ นี่คือการศึกษาอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ศึกษาเพียงชื่อ แต่ศึกษาลักษณะจริงๆ ของจิตที่กำลังเห็น ศึกษาลักษณะของจิตที่กำลังได้ยิน ในขณะนี้ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นได้ยิน เสียงก็ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่เราเรียนทั้งหมด เราจะค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมที่มี เมื่อมีการระลึกที่จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นต้องเป็นสติแล้ว ตั้งแต่เกิดจนตายไม่ว่าเราจะคิดดีคิดร้ายยังไง ก็คือสภาพธรรม ไม่ใช่เป็นเรา ซึ่งพออกุศลเกิดก็พยายามคิดดี เป็นเราที่จะเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างนี้ แม้ขณะที่คิดที่ทำอย่างนั้นก็คือจิตเจตสิก ไม่มีสักขณะเดียวเลยซึ่งสภาพธรรมจะเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุปัจจัย แต่ว่าปัญญาจะต้องรู้ทั่วจริงๆ จึงจะละได้ เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมปรากฏ เมื่อไม่รู้ จะละความไม่รู้ และความสงสัยในสิ่งที่กำลังปรากฏได้อย่างไร ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลดับความสงสัยในสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังเกิดดับ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ถึงจะเป็นพระอริยเจ้าได้ ไม่ใช่ยังมีความสงสัยอยู่ ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วก็จะไปละอะไร ในเมื่อวันๆ หนึ่ง ก็มีสิ่งที่ปรากฏคือ เห็นทางตา ได้ยินทางหู ได้กลิ่นทางจมูก ลิ้มรสทางลิ้น รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก ก็มีอยู่อย่างนี้ทุกวัน ทุกชาติ ไม่เกินกว่านี้เลย แล้วจะให้รู้อะไร นอกจากนี้ การตรัสรู้ของพระองค์ไม่ใช่ตรัสรู้อย่างอื่น แต่ตรัสรู้ธรรมที่มีที่ปรากฏ ให้รู้ แล้วก็ทรงแสดงหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาว่า ถ้าเป็นปัญญาก็ต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏนี่แหละ ไม่ใช่ไม่รู้สิ่งนี้ แต่พยายามจะไปรู้สิ่งอื่น จะไม่มีการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้น เป็นปกติตามความเป็นจริง คุณซีศึกษาธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ศึกษา

    ท่านอาจารย์ ศึกษาแบบไหน

    ผู้ฟัง คงทั้งแบบที่ไม่เข้าใจ และมีเข้าใจบ้าง

    ท่านอาจารย์ ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็มีการสังเกต

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ค่อยๆ เข้าใจ หมายความว่าค่อยๆ รู้ลักษณะ ซึ่งเป็นสภาพรู้ ซึ่งกำลังเห็นหรือเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตา ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นคนนั้นคนนี้ สารพัดที่จะคิด เวลาที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่การที่จะละความติดในนิมิตอนุพยัญชนะ เพราะสามารถที่จะเข้าใจถูก ตั้งแต่เริ่มว่า ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นเริ่มที่จะคลายความติดในนิมิตอนุพยัญชนะ เพราะกำลังเข้าใจว่าขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เท่านั้น หลังจากนั้นก็เป็นคิด ซึ่งสืบต่อเร็วมาก แต่ละทางๆ ถ้าศึกษาธรรมอย่างนี้ เวลาที่โทสะเกิดขึ้น คุณซีต้องคิดหรือไม่ว่า ปฏิฆสัมยุปต์อสังขาริก หรือว่าสสังขาริก แต่รู้ลักษณะของสภาพนั้นว่าเป็นธรรม การศึกษาของเราปริยัติขั้นต้นอย่างไร เวลาประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมก็ต้องตามลำดับขั้นต้นอย่างนั้น คือต้องมีความเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง มีลักษณะอย่างนั้นที่กำลังปรากฏ ให้เข้าใจว่าลักษณะนี้ไม่ใช่ลักษณะของเมตตา ไม่ใช่ลักษณะของโลภะ ไม่ใช่ลักษณะของริษยา ไม่ใช่ลักษณะของกรุณามุทิตา ก็แล้ว แต่ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ซึ่งมีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ว่าเราศึกษาชื่อ แต่ต่อไปเวลาที่สภาพธรรมเกิด แล้วเราเข้าใจความเป็นธรรม ก็จะค่อยๆ คลายความเป็นเรา เพราะเหตุว่ารู้ว่าลักษณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ต้องบอกหรือไม่ว่าชื่อเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม

    ผู้ฟัง ไม่ต้องบอก

    ท่านอาจารย์ เพราะลักษณะเป็นนามธรรมอยู่แล้ว หรือลักษณะที่เป็นรูป ก็เป็นรูปธรรมอยู่แล้ว แต่เข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราก็ไม่ต้องพูด ถ้าเข้าใจว่าเป็นธรรม ก็เป็นธรรม จะเป็นเราได้อย่างไร แต่ไม่ได้ห้าม คือว่าคนที่ฟังเผินๆ ก็เหมือนว่าจะห้ามไปทุกอย่าง พอพูดถึงอกุศลก็ไม่ให้เกิด เป็นไปได้อย่างไร ตามความเป็นจริงทุกอย่างเกิด เมื่อสักครู่ใครจะมี กุศลจิตประเภทใดเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมดาเป็นปกติ จะเปลี่ยนการสะสมของคุณนีน่า ไม่ให้คิดไม่สบายใจได้หรือไม่ ในเมื่อความไม่สบายใจเกิดแล้ว ผ่านไปแล้วด้วย ที่สำคัญคือไม่ใช่คุณนีน่าเลย เมื่อไหร่จะรู้ว่าไม่ใช่เลย เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ ทุกขณะ ต้องเข้าถึงความเป็นธรรม สิ่งใดที่มีเกิดขึ้น ปรากฏ แล้วก็หมดไป ค่อยๆ เข้าใจ นี่คือการศึกษาธรรม เมื่อมีปัจจัยพอที่จะระลึกในขณะนั้น ขณะนั้นมีปัจจัยพอที่จะลึกลักษณะของสภาพธรรม หรือว่าคิด

    ผู้ฟัง นิดหน่อย เริ่มต้น แต่มีความรู้สึกว่า ที่นี่สังเวชนียสถาน จะละอกุศล และโทสะแรงๆ ไม่เหมาะ แต่ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่าปกติธรรมดา คิดว่าระลึกนิดหน่อย แล้วก็คิดมากๆ ก็ได้

    ท่านอาจารย์ เป็นโอกาส ณ สถานที่นี้ ก็จะมีผู้ที่ไม่ประมาท ในการที่จะอบรมเจริญปัญญาด้วยความละเอียดความรอบคอบ มิฉะนั้นพระศาสนาก็จะตั้งมั่นคงต่อไปไม่ได้ และเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีนี้ เป็นที่ที่มีพระอรหันต์มากมาย แต่หลังจากนั้นแล้ว ยังไม่ถึง ๕๐๐๐ ปี เรานั่งอยู่ในที่นี่ เราเป็นผู้ที่มีการศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ และก็ด้วยความที่มั่นคงที่จะศึกษาต่อไป เพราะเหตุว่า การที่จะได้พบพระพุทธศาสนาไม่ง่ายเลย ไม่ทราบว่าคุณซีได้ฟังเรื่องของเต่าตาบอดหรือไม่

    ผู้ฟัง เคย

    ท่านอาจารย์ รบกวนบอกให้ฟังหน่อยได้ไหม

    ผู้ฟัง บุคคลที่เมื่อตกอยู่ในอบายภูมิแล้ว ที่จะสามารถเกิดมาเป็นมนุษย์ได้ใหม่ อุปมาเหมือนกับเต่าตาบอดในมหาสมุทร แล้วทุกร้อยปีก็จะโผล่ขึ้นมาในมหาสมุทรครั้งหนึ่ง ในมหาสมุทรก็จะมีห่วง ห่วงหนึ่ง ในขณะที่เต่าจะสอดหัวโผล่ขึ้นมาได้ ก็มีลมทั้งทางใต้ ทางเหนือ ทางตะวันออก และตะวันตกที่จะพัดห่วงนี้ไปมา ร้อยปีเต่าโผล่หัวขึ้นมาครั้งหนึ่ง เมื่อเตาโผล่หัวขึ้นมา แล้วหัวรอดห่วงนั้น ก็เปรียบเหมือนโอกาสที่บุคคลที่ตกอบายภูมิแล้วจะเกิดมาเป็นมนุษย์ได้ใหม่

    ท่านอาจารย์ ก็น่าอนุโมทนาในกุศลของทุกคน ที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ซึ่งเราไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่าเป็นผลของกุศลกรรมอะไร ไม่ใช่รูปาวจรกุศลแน่ เพราะไม่ได้เกิดในพรหมโลก แล้วก็ไม่ใช่อรูปาวจรกุศลแน่ เพราะว่าต้องเกิดในอรูปพรหมภูมิ แต่เราเป็นผู้ที่ยังติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ตามความเป็นจริงทุกวันตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตั้งแต่ชาติก่อนจะถึงชาตินี้ และชาติต่อไป เพราะเหตุว่าผู้ที่จะไม่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็คือพระอนาคามี แต่แม้กระนั้นเราก็ได้เกิดแล้วด้วยกุศลหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นกุศลใด ชาติไหน ทำอะไรไว้ ทำให้เกิดเป็นเราวันนี้ แล้วก็มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมด้วย ซึ่งยากกว่าการที่เกิดเป็นมนุษย์ และก็ไม่มีโอกาสได้ฟังธรรม เพราะแม้ว่าเกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่ใช่มนุษย์ทุกคนจะมีโอกาสได้ฟังธรรม แต่ว่า เราก็พ้นจากเต่าตาบอด มาถึงยุคที่มีโอกาสที่จะเกิดเป็นมนุษย์ และก็อยู่ในยุคสมัยที่ได้ฟังพระธรรมด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นยุคสมัยที่จะต้องอบรมต่อไปจนกว่าที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ทราบว่าอีกนานเท่าไหร่ บ่วงนั้นก็พัดไปพัดมาอยู่กลางมหาสมุทร แต่ก็ไม่พ้นจากขันติความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ตรงแล้วพิจารณาเหตุผล และสภาพธรรมก็เป็นจริง ใครก็เปลี่ยนไม่ได้ สภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร ปัญญาก็จะต้องรู้แจ้งตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น

    ผู้ฟัง สถานที่นี้เป็นที่ปฐมเทศนา อยากเรียนถามว่ามี อนุตตริยะ ๖ ประการ ในที่นี้ทำให้บุคคลคนหนึ่ง ได้บังเกิดขึ้น ได้มีทัศนานุตริยะ ทัศนานุตริยะนี้กินความมากน้อยแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ การเห็นที่ประเสริฐสุด ก็คือการเห็นธรรม คือการรู้แจ้งธรรม ซึ่ง ณ ที่นี้ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้รู้แจ้งธรรมเป็นคนแรก หลังจากนั้นมาก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๕ ท่าน

    ผู้ฟัง มีข้อสังเกตอะไร สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่จะไม่เข้าใจผิดว่าขณะสติเกิด

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ที่รู้ลักษณะของสติปัฏฐาน ถ้าไม่รู้ลักษณะของสติปัฏฐาน ก็จะเอาสมาธิเป็นสติ หรือจะเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นการอบรมเจริญปัญญา ทั้งที่ไม่มีความรู้ในเรื่องของสภาพธรรมเลย เพราะฉะนั้นการที่สติปัฏฐานจะเกิดได้ ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจสภาพธรรม พอที่จะทำให้มีการระลึกได้ว่าขณะนี้เป็นธรรม ทางตาที่กำลังเห็น เป็นธรรม แต่ว่าเรามักจะพูดหรือคิดในใจว่าขณะนี้เป็นธรรม แต่เรายังไม่มีการระลึกลักษณะของธรรมหนึ่งธรรมใด เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่าเรารู้จริงๆ ไม่ได้ จนกว่าจะรู้จริงก็ต่อเมื่อมีการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ได้ เป็นสิ่งที่สติกำลังค่อยๆ เข้าใจขึ้น ในขณะที่เข้าใจ ขณะนั้นก็มีสติอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องไปห่วงชื่อว่า เป็นสติปัฏฐานหรือไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะเหตุว่ามีลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ กำลังปรากฏ และก็กำลังมีการเข้าใจลักษณะนั้น ซึ่งก่อนนั้น เวลาที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดปรากฏ ก็มักจะคิดเป็นเรื่องราวต่อไปเลย แต่แทนที่จะคิดเป็นเรื่องราว ก็กำลังมีการพิจารณาหรือว่ามีการสังเกต มีการค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็คือสติปัฏฐาน ซึ่งถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางอื่น ลักษณะนี้มีจริง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เราก็จะไม่ปนกับความคิดนึกว่ามีคน หรือมีดอกไม้ หรือมีต้นไม้ มีหญ้า มีเสื่อ มีอะไรในสิ่งนี้ ต้องเป็นคนละขณะ เพราะฉะนั้นการที่สติค่อยๆ เข้าใจว่าสิ่งที่เราเคยเห็น เป็นคนเป็นสัตว์ ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ความคิดเรื่องคนเรื่องสัตว์ก็มีไม่ได้เลย แต่เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา แต่ไม่เคยรู้เลย และไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถจะปรากฏทางตาได้เท่านั้น การที่ค่อยๆ เข้าใจอย่างนี้ ก็จะคลายความติดในนิมิตคือรูปร่างสัณฐาน และอนุพยัญชนะ ขณะนี้ก็มีนิมิต และอนุพยัญชนะ ถ้าเรายังติด ก็หมายความว่าขณะนั้นสติปัฏฐานก็ไม่ได้เกิด ไม่ได้มีความเข้าใจว่าเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปคิดถึงว่าจะมองไปยังไง ถึงจะทำให้ไม่เห็นเป็นคนเป็นสัตว์ นั้นผิด เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เพียงแต่ว่าในขณะนี้เอง มีสี มีเสียง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อเห็นแล้วก็หมดไป เมื่อได้ยินแล้วก็หมดไป ด้วยความเข้าใจถูกต้องว่าเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าเสียงไม่หมด เห็นก็มีไม่ได้ ถ้าเห็นไม่หมด เสียงก็ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ทุกอย่างในชีวิต เปลี่ยนจากเป็นเรา มาเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง นี่คือขั้นเข้าใจ แต่ขั้นระลึกคือ ระลึกที่ลักษณะเฉพาะอย่าง ทีละอย่าง แล้วก็ค่อยๆ เริ่มรู้ลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือไม่ใช่สภาพรู้ เพราะว่าทั้ง ๒ อย่างนี้มีลักษณะที่ต่างกันมาก สภาพรู้ไม่มีรูปร่างเลย ไม่มีสีสันปรากฏ ไม่มีรสปรากฏ ลองคิดดูว่าถ้าประจักษ์ลักษณะของสภาพรู้จริงๆ ขณะนั้นจะมืดหรือไม่ มืดยิ่งกว่าความมืดทั้งหมด แต่ว่าปัญญาขณะนั้นก็ยังสามารถที่จะเกิด และประจักษ์แจ้งลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ได้ เพราะฉะนั้นปัญญาสามารถที่จะรู้ตามที่ทรงแสดงทุกอย่าง เพราะว่าสภาพธรรมความจริงเป็นอย่างไร ประจักษ์อย่างนั้น และทรงแสดงอย่างนั้น ให้ผู้ที่อบรมสามารถจะเข้าใจถูกตามที่ได้ศึกษาทั้งหมด เช่นภวังคจิต ขณะใดที่ไม่มีเสียง ไม่มีสี ไม่มีอะไรปรากฏเลย แล้วมี ก็จริงใช่ไหม เพราะว่าก่อนที่จะมีการเห็นสิ่งที่ปรากฏตาปรากฏ ต้องไม่มีอะไร แล้วมี แล้วก็หามีไม่ เพราะฉะนั้นทุกพระพุทธวจนะ เป็นความจริงซึ่งปัญญาจะต้องค่อยๆ อบรมค่อยๆ รู้ตามกำลังของตนเอง ไม่ใช่ไปรู้ทั่วทั้งหมดอย่างที่พระไตรปิฏกทรงแสดง เพราะเหตุว่าผู้ที่แสดงรู้ทั้งหมด โดยความเป็นปัจจัย โดยความเป็นธาตุ โดยความเป็นอายตนะ แต่ว่าผู้ที่เริ่มเรียน ยังไม่รู้ลักษณะที่เป็นธรรม ทั้งๆ ที่เป็นธรรมก็เป็นเรา เพราะฉะนั้นผู้ที่ศึกษาก็เป็นผู้ที่ตรงว่าการฟังทำให้เข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ว่าการที่จะรู้ลักษณะแท้ๆ ของสภาพธรรมได้ ก็ต่อเมื่อสภาพนั้นกำลังปรากฏ แล้วขณะที่เริ่มค่อยๆ เข้าใจ เพราะเคยฟังมาว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ขณะนี้ก็ค่อยๆ น้อมไปเข้าใจว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ขณะที่ค่อยๆ น้อมไปเข้าใจว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ไม่ต้องเป็นชื่อหรือเป็นคำ แต่มีความเข้าใจในลักษณะนี้ว่าต่างกับลักษณะอื่น เพราะฉะนั้นก็มีสภาพธรรมที่ปรากฏให้ค่อยๆ อบรมความรู้ความเข้าใจถูก ซึ่งขณะนั้นสติต้องมี ปัญญาต้องมี เป็นสติปัฏฐาน แม้ว่าจะไม่เรียกชื่อว่าสติปัฏฐาน ก็มีสภาพธรรมกำลังค่อยๆ เข้าใจโดยสติปัฏฐานเกิด และปัญญาก็สามารถที่จะน้อมไปเข้าใจความจริงสภาพนั้น จะเว้นทางหนึ่งทางใดไม่ได้เลย ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าก่อนนี้ได้ยินเสียงอย่างนี้ เราอาจจะคิดว่าเสียงกลอง หรือ พระทิเบต หรือพระพม่า แล้วแต่ความคิดของเรา แต่ขณะที่เราไม่สนใจเลยว่าจะเป็นพระ เป็นกลอง เป็นอะไร แต่เสียงปรากฏให้ค่อยๆ เข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ในชีวิตของเราก็มีสภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเท่านั้น ไม่มีอื่นเลย และทุกอย่างเป็นธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นเมื่อไม่สนใจ ก็ละความติดข้องในนิมิต และอนุพยัญชนะ เพราะฉะนั้นก็เข้าใจความหมายของการละในนิมิตอนุพยัญชนะ ไม่ใช่เป็นตัวเราที่ละ แต่เพราะขณะนั้นเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม จึงไม่สนใจในนิมิตอนุพยัญชนะ ก็จะทำให้เราค่อยๆ เข้าใจตรงลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งปรากฏแล้วก็ดับ ซึ่งแต่ก่อนนี้พอปรากฏแล้วดับ ความคิดนึกติดตามมาทันที แต่ขณะที่กำลังมีเสียงปรากฏแล้วค่อยๆ รู้ลักษณะว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าธรรมอื่นปรากฏ ก็แสดงว่าธรรมนั้นดับไปแล้ว และมีสภาพอื่นปรากฏให้รู้ ก็ค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรม จนกระทั่งเข้าใจการตั้งต้นของความเข้าใจว่า ต้องตั้งต้นด้วยความเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม เมื่อสติระลึกก็ยิ่งเห็นจริงว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ถ้าไม่ระลึกทุกอย่างเป็นธรรมก็เป็นแต่เพียงความจำจากการฟัง แต่ไม่รู้จริงๆ ว่าทุกอย่างคือ แต่ละอย่างที่สติกำลังระลึกเป็นธรรมทั้งนั้น

    ผู้ฟัง ในขณะที่เสียงต่างๆ กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าสติปัฏฐานเกิด สติปัฏฐานจะเป็น มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ทางสายกลาง ไม่ใช่ชื่อ แต่หมายความถึงหนทาง ซึ่งไม่เป็นไปด้วยความติดข้องด้วยโลภะหรือด้วยโทสะ ถ้าขณะใดที่สติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ถ้าไม่ใช่ทางสายกลางก็คือ อารมณ์นี้ไม่เอา จะต้องไปทำให้อารมณ์อื่นเกิดขึ้น อารมณ์ที่ยังไม่มาถึงก็ไปทำให้เกิดขึ้น หรือไม่ก็คิดถึงอารมณ์ที่ผ่านมาแล้ว แต่ถ้าขณะใดที่สติกำลังระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นทางสายกลาง ข้อความในพระไตรปิฏกแสดงไว้แล้ว ว่าทางสายกลาง ได้แก่ สติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจในการอบรมเจริญปัญญาอย่างนี้แล้ว และการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับธรรม ไปเจอบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สามารถทำความเข้าใจได้ แล้วครุ่นคิดกับสิ่งตรงนั้นจะเป็นเครื่องกั้นการเจริญสติปัฏฐาน หรือไม่

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    22 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ