ปกิณณกธรรม ตอนที่ 93


    ตอนที่ ๙๓


    ท่านอาจารย์ พระสุตตันตปิฎกเป็นเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมกับใคร ที่ไหน เรื่องอะไรซึ่งเหมาะกับอุปนิสัยของคนนั้น ที่รับฟังแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ และปิฎกที่ ๓ ใครจำได้ไหม พระอภิธรรมปิฎก ๓ ปิฎกนี้เป็นประโยชน์อย่างไร ไม่อย่างนั้นไม่เห็นประโยชน์เลย พระวินัย ส่วนใหญ่แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความประพฤติของพระภิกษุ เพราะว่า พระภิกษุเป็นผู้ที่ได้ฟังธรรมเหมือนอย่างเราๆ แต่ว่ามีอุปนิสัยที่เคยสะสมมา ที่จะอบรมเจริญปัญญาในอีกเพศหนึ่ง เพศที่บรรพชาหมายความถึงสละ บรรพชา คือ สละ อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย คือ สละบ้าน สละพ่อแม่ สละความสนุกซึ่งทุกคนรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ไม่มีการบังคับให้คนฟังทั้งหมดไปบวชหรือว่าไปอุปสมบท ไปบรรพชา ในพระพุทธศาสนาไม่มีคำว่า “ต้อง” หรือไม่มีคำว่า “อย่า” แต่ทรงแสดงเหตุ และผลทั้งหมด ให้คนฟังพิจารณาให้เป็นความเข้าใจของคนนั้น เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ว่าไม่ได้สะสมมาที่จะเป็นบรรพชิตที่จะสละ ไม่ต้องสละ ไปฝืนสละแล้วเป็นทุกข์ แต่สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาได้ทุกหน ทุกแห่ง ทุกขณะแม้แต่ที่นี่ ที่นี่ไม่ใช่วัด ไม่ใช่เป็นที่เงียบในป่า แต่ว่าที่ไหนที่มีการฟังให้เข้าใจธรรม ที่นั้นสามารถที่จะเป็นการอบรมเจริญปัญญาได้ ชาติก่อนเคยบวชไหม ไม่รู้ ลองคิดดูว่าเคยไหม สังสารวัฏฏ์นี้ยาวนานมากยาวนานจนกระทั่งมีคำกล่าวว่า ทุกคนที่อยู่ที่นี่ตรงนี้ ไม่มีใครสักคนซึ่งไม่เคยเป็นญาติพี่น้องกัน หรือว่าไม่เคยมีความสัมพันธ์โดยสถานหนึ่งสถานใด เด็กคนนี้อาจจะเป็นแม่ของผู้ใหญ่คนนั้นหรือเป็นพ่อ หรือเป็นอะไรก็ได้ สังสารวัฏฏ์นี้ยาวนานมาก ถ้าสมมติว่า เด็กคนนี้ตายก่อน และไปเกิด อายุมาก และเด็กอีกคนตาย ไปเกิดเป็นลูกคนนั้น เป็นเรื่องที่รู้ไม่ได้ แต่ให้ทราบว่า จริงๆ แล้ว ธรรมเป็นเรื่องที่จะต้องฟังทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก สำหรับพระวินัยปิฎกสำหรับบรรพชิตทรงแสดงว่า สิ่งใดที่ควรสำหรับพระภิกษุ และสิ่งใดที่ไม่ควร เพราะว่า เพศต่างกัน พระภิกษุจะมาอยู่บ้าน ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือพิมพ์ เล่นเทนนิสได้ไหม ไม่ได้ นั้นไม่ใช่นิสัย ไม่ใช่อุปนิสัย พระภิกษุต้องเป็นผู้ที่สงบ ผู้ที่สละ พระภิกษุจะยินดีในการกราบไหว้ของคนอื่น สมควรไหม ไม่ สละ คือ สละทุกอย่าง ถ้าใครจะกราบไหว้เพราะความดีของคนนั้น แต่ไม่ใช่ว่า จะต้องไปสำคัญตนว่า มีความสำคัญ ดี พิเศษ และคนอื่นต้องมายกย่อง มากราบไหว้ นี้คือการที่จะศึกษาพุทธศาสนาให้ถูกต้อง ต่อไปต้องไม่ลืมว่า ศึกษาทั้งหมดนี้เพื่อขัดเกลา เพื่อละทุกอย่าง แม้แต่ความที่ติดในลาภ ยศ หรือในคำสรรเสริญ เพราะว่าขณะนั้นตรงกันข้ามกับคำสอน เพราะว่าคำสอนสอนให้เห็นโทษของการติด ทุกอย่างที่ติดจะนำความทุกข์มาให้ ถ้าชอบถ้วยแก้วสวยๆ แล้วถ้วยแก้วแตกก็เป็นทุกข์ ใช่ไหม จะชอบใครสักคนหนึ่ง คนนั้นก็ต้องตาย เวลาเขาตายเป็นทุกข์ไหม ก็เป็นทุกข์ ชอบอาหารชนิดหนึ่งซึ่งอร่อย และวันนั้นไม่ได้ทานอาหารอย่างนั้น ได้รับประทานอย่างอื่นหรือรสอื่นก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ทุกข์ทั้งหมด ความไม่สบายใจ ความไม่แช่มชื่น มาจากความติดข้อง ถ้าคลายความติดข้องลง ไม่เดือดร้อนเลย เปรี้ยวก็ได้ หวานก็ได้ เค็มก็ได้ จืดก็ได้ จะเดือดร้อนไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า แม้ว่าทุกคนติดในสิ่งที่เห็น ต้องเห็นสิ่งที่สวยๆ ในเสียงที่ได้ยิน ต้องได้ยินเสียงเพราะๆ ในกลิ่น ต้องเป็นกลิ่นที่หอม ในรส ต้องเป็นรสที่อร่อย ในสิ่งที่กระทบสัมผัส ต้องสบาย แม้เก้าอี้ก็ต้องสบาย เก้าอี้ไม่สบาย นั่งแล้วก็เป็นทุกข์ เจ็บตรงนั้นตรงนี้ ใช่ไหม แสดงให้เห็นว่า ทั้งหมดที่จะเป็นความทุกข์มาจากความติดข้อง พระภิกษุที่มีอัธยาศัยเห็นโทษของกิเลส ความติดข้อง ท่านจึงสามารถสละ เพราะว่าตรงข้ามกัน โลภะ คือ ความติด อโลภะ คือความไม่ติด ตั้งแต่ก่อนมาฟังธรรม ติดอะไรไว้มากมายเลย และฟังแล้วลองคิดดูว่า สามารถที่จะละความไม่ติดนี้สักนิดหนึ่งได้ไหม ไม่ต้องหมด ละหมดไม่มีใครละได้ แต่นิดหนึ่ง ทางตานิดหนึ่ง ทางหูนิดหนึ่ง ทางจมูกนิดหนึ่ง ทางลิ้นนิดหนึ่ง ทางกายนิดหนึ่ง ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ก็จะเป็นคนที่ไม่เดือดร้อน ไม่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ต้องทราบจริงๆ พระวินัยสำหรับบรรพชิต แต่ถ้าสิ่งไหนดี ทำได้แม้ว่าไม่บวช หรือว่าทำไม่ได้เพราะไม่ใช่พระ ลองคิด ไม่จำเป็นใช่ไหม อะไรที่ดี และสากล ไม่ใช่เฉพาะคนไทย ไม่ใช่เฉพาะชาวพุทธ ไม่ใช่เฉพาะเด็ก ไม่ใช่เฉพาะผู้ใหญ่ วัยไหน แต่สิ่งที่ดีเป็นสภาพธรรมที่ดีจะต้องเป็นดีตลอดไม่ว่าที่ไหน เพราะฉะนั้นถ้าท่านสอนเรื่องการรับประทานอาหาร ในพระไตรปิฎกมี ไม่มีการเคี้ยวดังจั๊บๆ จั๊บๆ นี้ดีไหม เวลาเคี้ยวไม่ปิดปากมีเสียงแน่นอน คนโน้นจั๊บ คนนี้จั๊บ ดังสนั่น และไม่งาม แค่นี้พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงว่า ที่จริงแล้วกายอย่างไหนสมควร วาจาอย่างไหนสมควร เพราะฉะนั้นถ้าเห็นว่าสิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ ไม่ต้องไปห่วงเลยว่า สำหรับบรรพชิต เราทำได้ และไม่จำเป็นต้องไปนับว่า มีศีลเหมือนบรรพชิตเพิ่มมากี่ข้อ เพราะเรื่องละเป็นเรื่องเดียวเท่านั้น คือ เรื่องละทั้งหมด เพราะว่าศึกษาถึงปรมัตถ์จะทราบว่า เป็นจิต เจตสิก รูปซึ่งเกิดแล้วดับ สิ่งที่ดับไปแล้วกลับคืนมาไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า กระทบแข็งตรงนี้ มีเฉพาะตรงนี้ที่ปรากฏ พอได้ยิน แข็งตรงนี้ดับแล้ว เพราะฉะนั้นจะไม่มีอะไรเหลือ จริงๆ แล้วไม่เหลืออะไรเลย เพราะฉะนั้นสมควรไหมที่จะติด แต่ต้องติดเพราะว่าปัญญาไม่ถึงระดับที่จะละ นี้เป็นเรื่องที่ไม่จำกัด พระไตรปิฎกอ่านได้ศึกษาได้ ใครก็ตามที่มีเวลา และอยากอ่านพระวินัยปิฎก อ่านเลย เป็นภาษาธรรมดา และเป็นเรื่องของการประพฤติทางกาย ทางวาจา แต่ถ้าไม่เข้าใจต้องถามผู้ที่รู้ เพราะว่า พระวินัยปิฎกเป็นเรื่องของกาย วาจา จริง แต่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้นความลุ่มลึกของพระวินัยลุ่มลึกโดยกิจ กิจ คือ การประพฤติของกาย ของวาจา ชอบฟังเรื่องสนุกๆ ไหม ชอบ คือ โลภะ มีจริงๆ และชอบเรื่องสนุกที่เขาแต่งให้เราสนุกใช่ไหม คิดเองไม่ออกต้องไปอาศัยทีวีบ้าง หนังสือบ้าง แล้วเพลิดเพลินไปกับเรื่องที่สนุกต่างๆ และจะสังเกตได้แม้กาย วาจา ของคนที่อยู่ในจอโทรทัศน์ เราเห็นได้ ความประพฤติอย่างไหนถูกหรือไม่ถูก ดีหรือไม่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าอ่านพระวินัยปิฎกจะเป็นคนที่ละเอียดขึ้นในเรื่องความลุ่มลึกของกิจของกาย ของวาจา นี้เป็นความละเอียด ความลึกของปิฎกหนึ่ง ซึ่งละเอียดมาก ทุกคนไม่ต้องคิดว่า ฉันยังเด็ก ยังไม่อ่าน อ่านเลยพระไตรปิฎกทั้งหมด นี้เป็นปิฎกที่ ๑ แต่ถ้าคิดว่าพระไตรปิฎกที่เป็นพระวินัยปิฎกละเอียด ลองไปอ่านพระสุตตันตปิฎก เพราะฉะนั้นชีวิตทุกวันนี้จะมีปัญหามากในเรื่องการกระทำทางกาย ทางวาจาซึ่งถ้าใครสนใจ อยากจะรู้ความละเอียดว่าอะไรดี ก็อ่านพระวินัย แต่ถ้าเป็นธรรมวินัยไม่เห็นมีเรื่องมีราวอะไรเลย ก็อ่านพระสูตร ซึ่งพระสูตรนี้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม คือ ธรรม ถ้าไม่มีธรรม คือ จิต เจตสิก รูป จะไม่มีแม้พระวินัย หรือพระสูตร หรือพระอภิธรรมเลย แต่เพราะเหตุว่า มีธรรมซึ่งจำแนกออกไปได้หลายอย่าง คือ ถ้าเป็นธรรมที่เกี่ยวกับรวบรวมกันแล้วมีการสมมติบัญญัติว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นคน เป็นสัตว์ คนคือ จิต เจตสิก รูป สัตว์คือ จิต เจตสิก รูป แต่ทำไมบอกว่า นี้แมว นั้นนก นี้คน ถ้าไม่ใช้คำอย่างนี้จะรู้ไหม ไม่รู้ว่าหมายถึงปรมัตถธรรมอะไร แต่พอบอกว่า คน รู้ว่าต้องมี จิต เจตสิก รูป แต่ปฏิสนธิจิตรึการเกิดนี้เป็นผลของกุศล ได้เกิดเป็นมนุษย์ ถ้าเป็นผลของอกุศลเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นจิ้งจก ตุ๊กแก งู คือ มีความเข้าใจทั้ง ๒ อย่าง คือ เข้าใจเรื่องราว และเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม แต่ต้องทราบว่า ปรมัตถธรรมสำคัญที่สุดเพราะว่าเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เคยคิดว่า คนเที่ยงใช่ไหม เกิดมาแล้วก็ตาย ตอนไม่เที่ยง คือ ตอนตาย แต่ความจริงเป็นจิตทุกขณะซึ่งเกิดดับ เจตสิกที่เกิดพร้อมจิตก็ดับ รูปก็เกิดดับ แต่ว่าดับเร็วจนกระทั่งเหมือนไม่ดับเลย เหมือนกับอยู่ตรงนี้ตลอด แต่ว่าอยู่ตรงนี้ตลอดได้อย่างไร ในเมื่อเห็นไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่คิดนึก เป็นแต่ละขณะซึ่งสั้นมาก เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจจริงๆ ว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ แม้แต่ ธรรม คำเดียวซึ่งได้ยิน ได้ฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่มีอะไรเลยซึ่งไม่ใช่ธรรม แต่ธรรมมากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีธรรมที่แบ่งประเภทใหญ่ๆ ให้เข้าใจเป็นนามธรรมกับเป็นรูปธรรม และธรรมมากมายเหลือเกินไม่ใช่อยู่ที่อื่นเลย ชีวิตวันนี้จนถึงขณะนี้ ธรรมมากไหม ตลอดเวลาเลย ตลอดเวลาจนนับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้น จึงต้องแสดงธรรมโดยนัยของพระสูตร เพื่อที่จะกล่อมเกลาจิตใจของแต่ละอัธยาศัย ให้เห็นประโยชน์ของกุศลธรรม และให้เห็นโทษของความไม่รู้หรืออกุศลทั้งหมด ทรงแสดงไว้ละเอียดมากกับแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นธรรมที่น่าฟังมากในพระสูตร เรื่องราวในพระสูตรเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีจะต่างกับคนสมัยนี้ไหม เรื่องชีวิตไม่ต่างเลย คนสมัยก่อนมีโลภ มีโกรธ มีหลง มีความสนุกสนาน มีความเมตตากรุณา คนสมัยนี้ก็เหมือนกัน เปลี่ยนแต่ชื่อใช่ไหม ถ้าเอาชื่อในพระสูตรออกแล้วเอาชื่อยุคนี้ไปใส่ ก็เปลี่ยนสภาพธรรมไม่ได้ โลภะของคนนั้นก็ยังเป็นโลภะของคนนั้น โทสะของคนนั้นก็ยังเป็นโทสะของคนนั้น หรือจะเอาชื่อสมัยนี้ออกหมดแต่ก็เปลี่ยนสภาพธรรมไม่ได้ เพราะว่า สภาพธรรมเป็นปรมัตถธรรม ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ แต่การอ่านพระสูตรจะทำให้จิตใจอ่อนโยน และสอนละเอียดมาก เช่น ความเป็นคนตรง ในพระอภิธรรมจะพูดเรื่องจิต เจตสิก รูป ที่เป็นกุศล ที่เป็นอกุศล แต่ในพระสูตรจะเอาอุปนิสัยต่างๆ ของแต่ละคนมา และแสดงให้เห็นว่า แม้แต่ความเป็นคนตรงเป็นประโยชน์อย่างไร ถ้าไม่มีความเห็นถูกจะเป็นคนที่ตรงไม่ได้ ถ้าเป็นคนที่เห็นถูกก็จะต้องเป็นคนตรง ถ้าเวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น และรู้ว่า ความโกรธเป็นอกุศล เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีเลย เป็นประโยชน์กับตัวเองหรือเปล่า ไม่เป็น เป็นประโยชน์กับคนที่เราโกรธหรือเปล่า ก็ไม่เป็น เป็นประโยชน์กับใครสักคนหนึ่งไหม ก็ไม่เป็น ไม่เป็นเลยสักอย่างเดียว นั้นคือ ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เป็นความโกรธซึ่งไม่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าไม่ทรงแสดงโดยนัยของพระสูตร โดยหลากหลาย โดยละเอียด จะไม่เห็นโทษเลย ถ้าอกุศลที่ไม่ดีอย่างความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธของสาริตา แบลเห็นว่าดีไหม ไม่ดี แล้วความโกรธของแบลเองดีไหม หรือว่าความโกรธของแบลดี ของสาริตาไม่ดี นี้คือ ไม่ตรง เห็นไหม เพราะฉะนั้นเรื่องของการตรง ต้องตรง คือ เห็นถูกตั้งแต่ต้น และไม่มีเข้าใครออกใครเลย ไม่ใช่ว่า พ่อแม่โกรธไม่เป็นไร เราโกรธไม่เป็นไร คนอื่นโกรธเป็นไร อย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่า ความโกรธก็คือความโกรธ อยู่ที่ไหนก็ไม่ดี ต้องเป็นผู้ที่ตรง ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ยิ่งเรียนยิ่งรู้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะฉะนั้นสิ่งไหนที่เป็นความเห็นผิดแม้เพียงนิดเดียวต้องทิ้ง ต้องละ ไม่ใช่ว่ายังเก็บเอาไว้ ถ้าเป็นความเห็นถูกคือว่า สิ่งนั้นต้องอบรมให้เห็นถูกมากขึ้น ต้องเป็นคนตรง เพราะฉะนั้นผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาจนถึงกับดับกิเลสได้ ต้องมีคุณสมบัติ คือ เป็นอุชุปฏิปันโน การปฏิบัติต้องตรงด้วย เช่น ในขณะนี้ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะต้องเข้าใจแม้คำแรกคือ ธรรม หรือว่า ศาสนา ศาสนาคือ คำสอน พระพุทธศาสนาคือ คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนเรื่องอะไร ทรงสอนธรรมที่ใช้คำว่า พระธรรม เพราะว่า พระรัตนตรัย มี ๓ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สำหรับพระพุทธเจ้าทรงประกอบด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ แต่พระธรรมนี้ถ้าไม่ศึกษาจะไม่ทราบเลย และพระสงฆ์ที่นี้หมายความถึง ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว อบรมเจริญปัญญาจนสามารถที่จะดับกิเลสได้ เช่น พระอรหันต์ มีใครชอบกิเลสบ้างไหม หรือว่ายังไม่รู้จักว่า กิเลสคืออะไร ชอบหรือไม่ชอบ ชอบใช่ไหม ชอบกิเลส ชอบกิเลสเป็นบางอย่าง นี้เป็นความจริงใจเพราะว่า ชอบกิเลสบางอย่าง และไม่ชอบกิเลสบางอย่าง โทสะ ความโกรธ ความขุ่นใจ ความเสียใจ ความน้อยใจ เราไม่ชอบแน่ ไม่ว่าใคร เด็กๆ ก็ไม่ชอบ แต่ว่ากิเลสบางอย่างเราชอบ เช่น ความติดข้อง ความเพลิดเพลิน ความสนุกสนาน เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นเรื่องจริง และคำตอบตรง คือ คำตอบตรงกับความจริง แต่ว่าทรงแสดงไว้ว่า กิเลสทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นความติดข้อง ความสนุกสนานซึ่งเป็นโลภะ หรือว่าโทสะ ความขุ่นเคืองใจ ความน้อยใจ ความเสียใจ ความไม่สบายใจทุกอย่าง ไม่มีใครชอบ แต่ทั้งหมดที่เป็นกิเลส ความหมายของกิเลส คือ สภาพธรรมที่ทำให้จิตเศร้าหมอง เศร้าหมองที่นี้ไม่ได้หมายความว่าโศกเศร้า เศร้าหมองที่นี้หมายความว่า มีมลทิน หมายความว่า ไม่ผ่องใส เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่ทรงแสดงจากการตรัสรู้นี้ ให้ละกิเลสด้วยปัญญาเพราะเหตุว่า สิ่งใดก็ตามที่จะทำให้จิตใจไม่ผ่องใส สิ่งนั้นควรจะละ ไม่ควรจะติด แต่ไม่ได้ทรงแสดงแบบบังคับว่า ให้ละๆ เป็นไปไม่ได้ที่ใครจะมาบอก หรือว่าจะมาบังคับให้ละสิ่งนั้น ละสิ่งนี้ แต่ว่าให้ฟังพระธรรมจนกระทั่งเห็นจริง เห็นโทษ แล้วปัญญานั้นเองจะทำหน้าที่ละคลายกิเลสไปตามลำดับ ไม่ใช่ครั้งเดียวหมดเลย เป็นไปไม่ได้ที่ใครจะหมดโลภะ หมดไม่เหลือเลย ผู้ที่หมดโลภะมีบุคคลเดียวคือ พระอรหันต์ แต่ว่าผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์จะค่อยๆ หมดกิเลสตั้งแต่ขั้นแรกคือ ความเห็นผิด ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้วละกิเลสไป แต่ยังคงจะไม่ถึงตอนนั้นใช่ไหม ต้องเริ่มฟังเหมือนกับเข้าโรงเรียนอนุบาลจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้ามีใครบอกได้ว่า ธรรมคืออะไร พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม แน่นอนใช่ไหม สิ่งที่ทรงแสดงเรียกว่า พระธรรม เพราะฉะนั้นก่อนอื่นควรจะได้พิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมคืออะไร นี้เป็นจุดตั้งต้นของการศึกษาพุทธศาสนา หรือว่าจะเข้าใจพระพุทธศาสนาจริงๆ ต้องเข้าใจทุกคำที่ได้ยินตามลำดับ มีใครตอบได้ไหมว่า ธรรมคืออะไร ยากไหม ธรรมคืออะไรนี้ยากไหม เคยได้ยินบ่อยๆ ใช่ไหม ธรรมหรือพระธรรม และธรรมคืออะไร คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สั่งสอนเรื่องอะไร คำตอบมากเลย เรื่องของละความชั่ว ทำความดีให้ถึงพร้อม ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ย่อลงมาแล้ว ยากไหม ละความชั่ว แค่นี้ต้องตรง คำสอนของพระพุทธเจ้ายากไหมที่ให้ละความชั่ว

    ผู้ฟัง ยาก

    ท่านอาจารย์ เรา ถ้ายังมีเราอยู่ตราบใด ละได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องเป็นปัญญาจริงๆ เพราะว่าปัญญาทำหน้าที่รู้แล้วละสิ่งที่ไม่ดีทั้งหมด ทำความดีให้ถึงพร้อม ยากไหม ไม่ใช่แค่ทาน ยังต้องศีลอีก และยังความสงบของจิตเป็นความสงบจากกิเลส ชำระจิตให้บริสุทธิ์หมายความว่า ให้หมดจดจากกิเลสยิ่งยากใหญ่ แต่มิฉะนั้นถ้าไม่ทรงแสดงอย่างนี้ ไม่ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน ลองคิดดูว่า วันนี้มีกิเลสไหม วันนี้มีแล้วคิดดูว่า จะละได้อย่างไร มีใครสักคนหนึ่งไหมที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วสามารถที่จะให้เกิดปัญญาจนสามารถละกิเลสได้ บุคคลนั้นต้องเป็นผู้เลิศที่สุด เพราะว่ากิเลสไม่ใช่สิ่งที่จะเอาเงินไปซื้อแล้วทิ้งไป ให้หมดไปได้ ไม่มีใครสามารถที่จะหมดกิเลสได้ด้วยเงินทอง แต่กลับยิ่งติด แต่การที่สามารถจะเห็นพระคุณก็คือว่า ถ้าเกิดโกรธ และรู้ว่าบังคับความโกรธไม่ได้เลย แต่ผู้ที่ทรงแสดงธรรมจนกระทั่งสามารถให้ระดับความโกรธไม่เกิดอีกเลย ผู้นั้นคือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และไม่ใช่แต่เฉพาะความโกรธ ความติดข้องต้องการซึ่งเป็นเหตุให้เป็นทุกข์ ลองคิดดูถ้าไม่ติดข้อง ไม่ต้องการอะไรเลย จะดีไหม จะสบายไหม ไม่เดือดร้อนเลยใช่ไหม แต่ที่เดือดร้อนมากๆ เพราะเหตุว่า เราติด เราต้องการ เราขวนขวาย เราอยากได้ทุกอย่าง ที่จะมีการทุจริตต่างๆ เกิดขึ้นเพราะความต้องการหรือความติดข้อง เพราะฉะนั้นถ้าเกิดมีความพอใจอะไรสักนิดหน่อย และรู้ว่านั่นเป็นความติดข้อง แต่ผู้ที่สามารถทรงแสดงธรรมให้ดับความติดข้องได้หมด ไม่เหลืออีกเลย ไม่เกิดอีกเลย จะเป็นสุขสักแค่ไหน เพราะฉะนั้นจะเห็นพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ ต่อเมื่อได้พิจารณาตัวเอง และรู้ว่ากิเลสของเรามากอย่างนี้ กิเลสของคนอื่นก็มากอย่างนี้ แต่ว่าผู้ที่ประเสริฐหรือเลิศที่สุด ไม่ใช่เฉพาะในโลกนี้ไม่ว่าในเทวโลก พรหมโลก ไม่มีผู้ใดเหนือพระองค์เลยเพราะว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะทรงแสดงธรรมให้บุคคลที่ได้ยินได้ฟังนั้น สามารถที่จะสิ้นทุกข์โดยการที่ดับกิเลสได้หมดเป็นสมุจเฉท เป็นสมุจเฉท คือ ไม่เกิดอีกเลย นี้คือการเริ่มมีศรัทธาที่จะเห็นว่า ชีวิตของเราที่เป็นทุกข์ ได้สิ่งที่ไม่พอใจบ้าง หรือว่าต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจหรือต้องสูญเสียสิ่งที่พอใจ ซึ่งไม่มีใครบังคับบัญชาได้ ต้องเศร้าโศก เกิดมาแล้วไม่มีใครสักคนหนึ่งที่จะไม่เศร้าโศกด้วยประการใดๆ ก็ตาม จะมากจะน้อยก็ตาม แต่ผู้ที่มีปัญญาสามารถที่จะดับความเศร้าโศกได้ ไม่เกิดอีกเลย ด้วยเหตุนี้จึงต้องศึกษาจริงๆ เห็นประโยชน์จริงๆ ว่า ถ้าเป็นชาวพุทธแต่ยังไม่ได้ศึกษาพระธรรม เหมือนกับไม่เห็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย หลายคนตั้งแต่เกิดมาคงจะเห็นพระพุทธรูปที่บ้าน ที่วัด นั่นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า พระพุทธรูปเป็นเพียงเครื่องหมายที่ทำให้ระลึกถึงบุคคลผู้เลิศ ต้องทราบว่าระลึกถึงใคร ผู้ประเสริฐสุด ผู้ไม่มีกิเลสเลย ทรงแสดงพระธรรมเพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟังอย่างเดียว แม้ว่าบุคคลที่จะสามารถเข้าใจพระธรรมอยู่แสนไกลเพียงคนเดียว ในพระสูตรจะเห็นได้เลยว่า เสด็จไปเพื่อที่จะทรงแสดงธรรมกับบุคคลนั้นด้วยพระมหากรุณา ไม่ได้ทรงต้องการสิ่งใดเลย นอกจากให้บุคคลนั้นเกิดปัญญาสามารถที่จะเข้าใจธรรมได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    29 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ