ปกิณณกธรรม ตอนที่ 89


    ตอนที่ ๘๙


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกอย่างถ้ารู้แล้วจะรู้ได้ว่า มีแล้วหามีไม่ คือเกิดแล้วดับเร็วมากทันที ไม่มีอะไร ชีวิตตอนเด็กตั้งแต่เกิดไม่เหลือเลย ตอนเข้าโรงเรียนอนุบาลยังเหลือไหม ไม่เหลือ พรุ่งนี้ชีวิตขณะนี้จะเหลือไหม ก็ไม่เหลือ เพราะฉะนั้นจะมีคำเพิ่มอีกคำหนึ่งคือ “อนิจจัง” ไม่เที่ยง หมายความถึงเกิดจากคำว่า ไม่เที่ยงที่นี่หมายความว่า เกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นในพระพุทธศาสนา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดปรากฏจะต้องมีลักษณะ ๓ อย่างคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คนที่เคยไปวัดต้องเคยได้ยิน แต่ถ้าคนที่ไม่เคยก็ไม่ได้ยิน เคยได้ยินไหม อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่อาจจะไม่เคยรู้ความหมายแท้จริง ก็คิดคร่าวๆ ว่า เกิดแล้วแก่ แล้วเจ็บ แล้วตาย นั่นคือ อนิจจัง และทุกข์ด้วย แล้วอนัตตาด้วย แต่ว่าถ้ารู้ละเอียดทุกขณะ รูปธรรมทุกชนิด กลิ่นเกิดปรากฏแล้วหมด เสียงเกิดปรากฏแล้วหมด รสกระทบลิ้นปรากฏแล้วหมด เย็นกระทบกายแล้วหมด คือ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดปรากฏแล้วหมดๆ ไปจริงๆ ไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้นทุกคนเกิดมาแล้วต้องไป ไปจากเด็กเล็กๆ สู่ความเป็นเด็กโต สู่ความเป็นหนุ่มเป็นสาว สู่ความแก่ สู่ความเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วก็ตาย ไม่มีอะไรเลยสักขณะเดียว เพราะฉะนั้นถ้าความจริงเป็นอย่างนี้แล้วเรารู้ก่อนจะดีไหม ดีกว่าไม่รู้เลย เมื่อวานนี้มีโทรศัพท์มาจากเชียงใหม่ มีคนที่รู้จักกันเขาบอกว่า ลูกของเขาอายุ ๑๙ ขับรถชนกำแพงเสียชีวิต แต่ว่าก่อนจะเสียชีวิตนั้นก็สมองตายไปก่อน แต่เมื่อเช้ามีคนหนึ่ง ตอนตี ๔ บังเอิญจะเปิดฟังวิทยุ ยังไม่มีรายการธรรมก็ปรากฏว่า มีคนหนึ่งขับรถเบนซ์ชนกำแพงอีกเหมือนกัน รถเบนซ์ขาด ๒ ท่อน เสียชีวิตอายุ ๒๕ เพราะฉะนั้นไม่มีใครจะรู้เลยว่า ใครจะจากไปเมื่อไหร่ แต่ว่าจะจากไปด้วยการที่ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง ไม่ได้เข้าใจเรื่องชีวิต เรื่องธรรม เรื่องอะไรเลย หรือว่าจากไปด้วยการที่เริ่มจะเข้าใจว่า ธรรมคืออะไร คุณค่าของการที่มีชีวิตอยู่ด้วยความรู้ ความเข้าใจถูกในสิ่งที่อยู่รอบตัวรวมทั้งตัวเองด้วยว่า แท้จริงเป็นอนัตตาอย่างไร ไม่ใช่ของเราอย่างไร ก็จะทำให้เป็นคนที่สะสมความรู้ที่ถูกต้องต่อไปอีก เพราะว่า ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ และทรงแสดง ใครก็คิดเรื่องนี้ไม่ได้ ที่จะมากล่าวว่า ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม ๒ อย่าง คือ อย่างหนึ่งเป็นรูปธรรม อีกอย่างหนึ่งเป็นธรรมที่เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างกับรูป เพราะเหตุว่า รูปธรรมหมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริงแต่ไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ธาตุอีกชนิดหนึ่ง วิจิตรมากแปลกประหลาดอัศจรรย์จริงๆ เพราะเหตุว่า เป็นธาตุที่รู้ ไม่เหมือน โต๊ะ เก้าอี้ ไม่เหมือนอะไรเลยแต่ว่า ทันทีที่ธาตุชนิดนี้เกิดขึ้นจะต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เช่น ทางตาขณะนี้กำลังมองเห็นว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้เพราะเหตุว่า มีสภาพหรือธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเห็น แต่ถ้าไม่รู้ว่าเป็นธาตุหรือธรรมชนิดหนึ่ง ก็เป็นเรา และเราเห็นมาตลอดก็ไม่เคยรู้เลยว่า แท้ที่จริงสภาพที่กำลังเห็นไม่ใช่รูป ไม่ใช่สิ่งหนึ่งซึ่งมีจริงแต่ไม่รู้อะไร แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งซึ่งสามารถที่จะเห็น สามารถที่จะได้ยิน สามารถที่จะได้กลิ่น สามารถที่จะลิ้มรส สามารถที่จะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส สามารถที่จะคิดนึกทรงจำเรื่องราวต่างๆ ได้ นี่เป็นธาตุที่มีจริงๆ ที่ใช้คำว่า “ธาตุ” ก็คือ ธรรมหมายความว่า เราบังคับไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งที่จะเกิดเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ความโกรธไม่เห็น มีใครชอบสักคนใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ใช่แต่เกิด บังคับได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ บังคับไม่ได้ ความโกรธเป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมชนิดไหน เวลานี้เรามีธรรม ๒ อย่าง ประเภทใหญ่ๆ ต่างกันชนิดที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย รูปธรรม คือ สิ่งที่มีจริงไม่สามารถอาจจะรู้ จะเห็น จะคิด จะนึกอะไรได้เลย ส่วนธรรมอีกอย่าง เป็นสภาพที่มีจริง และต้องรู้ เกิดขึ้นแล้วไม่รู้ไม่ได้ ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏให้รู้ เช่น เสียง รู้ว่าเสียงอะไรเพราะว่า สภาพนั้นเกิดขึ้นได้ยิน คือ สามารถที่จะรู้ว่า เสียงนั้นเป็นอย่างนั้นต่างกับเสียงอื่น เพราะฉะนั้นความโกรธเป็นสภาพธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพธรรมอะไร

    ผู้ฟังเป็นธรรมที่รับรู้ได้

    ท่านอาจารย์ นามธรรม ตอนนี้จะให้ชื่อแล้ว มีรูปธรรมซึ่งเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย แต่สภาพธรรมที่เป็นฝ่ายรู้ ส่วนรู้ ต้องรู้ คือ นามธรรม ภาษาไทยเรานี่สับสน นามแปลว่า ชื่อ แต่ภาษาบาลี “นามะ” หมายความถึงสภาพที่น้อมไปรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด หมายความว่า ต้องเกิดแล้วรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่รู้ไม่ได้นั่นคือ นามธรรม มีอะไรสงสัยในเรื่องชื่อไหม นามธรรมกับรูปธรรม ไม่เอาพริก กะปิ หอม กระเทียมมาเกี่ยวข้อง เอาแต่เฉพาะที่กำลังได้ยินได้ฟังแล้วสามารถที่จะเข้าใจถูก แต่สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าเข้าใจแล้วบอกมาว่า มีนามธรรมอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ชื่อคน

    ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยวแล้ว นี่ไม่ใช่ภาษาไทยแล้ว เอาความหมายที่ว่ามีธรรม ๒ อย่าง ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง อย่างหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นก็เป็นรูปธรรม ไม่ว่าเป็นเสียงก็เป็นรูปธรรมเพราะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่คิดนึก ไม่จำ ไม่โกรธแต่ว่า นามธรรมเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับรูปธรรม ไม่มีรูปร่างใดๆ เจอปนเลย ไม่มีใครมองเห็นนามธรรมๆ ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส แต่เกิดขึ้นเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งสามารถที่จะรู้ จะเห็น จะจำ จะคิด จะนึก เพราะฉะนั้นให้ตัวอย่างมาอีกว่า อะไรเป็นนามธรรม ช่วยๆ กันทุกคน

    ผู้ฟัง ความรู้สึก

    ท่านอาจารย์ ความรู้สึกเป็นนามธรรมเพราะมีจริงๆ อะไรอีก ตอบมาได้เยอะแยะเลย ชีวิตประจำวันทั้งหมดเป็นธรรม ความโลภเป็นนามธรรม อะไรอีก

    ผู้ฟัง ความหลง

    ท่านอาจารย์ ความหลงเป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง จับต้องไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไหนจับต้องไม่ได้ เสียงจับต้องได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เป็นรูปหรือเป็นนาม

    ผู้ฟัง เป็นรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นรูปธรรมในทางธรรมกินความหมายกว้างกว่าสิ่งที่เราเคยเข้าใจว่า นาฬิกาหรือรูปภาพที่เขียนเป็นรูปใช่ไหม

    ผู้ฟัง เพราะเมื่อก่อนคิดว่า รูปธรรมเป็นสิ่งที่จับต้องได้เฉยๆ แต่เพิ่งจะทราบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ความรู้อื่นทั้งหมดเราไม่สนใจเลย เราฟังอะไรเราจะต้องเข้าใจเฉพาะในสิ่งที่เรากำลังฟัง ธรรมมีกี่อย่าง

    ผู้ฟัง ๒ อย่าง

    ท่านอาจารย์ ๒ อย่างคือ

    ผู้ฟัง รูปธรรมกับนามธรรม

    ท่านอาจารย์ รูปธรรมกับนามธรรม ที่มองไม่เห็นเป็นรูปได้ไหม

    ผู้ฟัง ที่มองไม่เห็นเป็นรูปธรรมก็ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะว่า สิ่งนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้ สิ่งอะไรก็ตามที่มีจริงๆ แม้มองไม่เห็นแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ สิ่งนั้นเป็นรูปธรรม รสก็มองไม่เห็น ใครเห็นรสหวานบ้าง ใครเห็นรสเค็มบ้าง ไม่เห็นเลยใช่ไหมแต่ว่า รสไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นรสเป็นรูปธรรม นี้คือ ความจริงแท้ๆ ถ้าเราไม่ใช้คำว่า รูปธรรม แต่รูปธรรมก็ยังมีจริงๆ ถ้าเราไม่ใช้คำว่า นามธรรม นามธรรมก็ยังมีจริงๆ แต่เราจำเป็นต้องใช้คำเพื่อที่จะแยกให้รู้ว่า เราหมายความถึงอะไร แต่ให้รู้ว่า ธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีจริง แม้ไม่ชื่ออะไรเลยก็มีจริงๆ บังคับให้ไม่มีธรรมได้ไหม ไม่ได้ มีแล้วเกิดแล้วมีจริงๆ จะเรียกชื่ออะไรหรือไม่เรียกชื่ออะไร ธรรมก็ยังคงเป็นธรรม ธรรมอย่างรูปธรรมจะเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ได้ไหม

    ผู้ฟัง เปลี่ยนชื่อได้ แต่ขึ้นอยู่กับความหมายคือความหมายเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนชื่อได้ แต่ลักษณะของธรรมเปลี่ยนไม่ได้ เช่น รูปธรรม ภาษาไทยมาจากภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ ภาษาอะไรก็เปลี่ยนไป เรียกอะไรก็ได้ แต่เปลี่ยนลักษณะของรูปธรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงธรรมซึ่งมีจริงๆ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะได้เลย เราจะเติมคำอีกคำหนึ่งคือ “ปรมัตถธรรม” ปรมัตถธรรมมาจากคำว่า “ปรม” หรือ “บรม” ในภาษาไทย บรมแปลว่า ใหญ่ อัตถะ (อรรถ) แปลว่า ความหมายหรือลักษณะ เพราะเหตุว่า ธรรมที่เราจะกล่าวว่า หมายความถึงอย่างนี้ หมายความถึงอย่างนั้น ต้องมีลักษณะเฉพาะตัวที่จะกล่าวถึงได้ ปรม อตฺถ ธมฺม รวมเป็น ปรมัตถธรรม อรรถ คือ ความหมายหรือลักษณะ ถ้าไม่มีลักษณะจะกล่าวถึงความหมายไม่ได้เลย เช่น ความโกรธมีลักษณะอย่างไร อรรถความหมายหรือลักษณะของความโกรธคือ เป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง เวลาที่ไม่โกรธก็เฉยๆ สบายดี แต่พอเกิดโกรธจิตใจเป็นอย่างไร หยาบกระด้างจริงๆ ในขณะนั้นมีความรู้สึกไม่สบายใจเกิดขึ้น นั้นคือว่า มีอรรถ มีลักษณะ ที่สามารถใช้ความหมายหรืออรรถอธิบายความหมายลักษณะของสิ่งนั้นได้ เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมคือ ธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตนๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะเหตุว่า ธรรมอย่างไรก็เป็นธรรมอย่างนั้น เป็นปรมัตถธรรม ถ้าจะเพิ่มอีกชื่อหนึ่งคือ “อภิธรรม” อภิแปลว่า ยิ่งใหญ่เหมือนกัน ในพระไตรปิฎกจะมี ๓ ปิฎกคือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ที่ใช้คำว่า พระไตรปิฎกทุกคนเข้าใจเลยว่า หมายความถึงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระสงฆ์ในครั้งต่อๆ มาหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ท่านก็สังคายนา รวบรวม ทำให้สะดวกในการที่จะศึกษาโดยแบ่งเป็น ๓ ปิฎก ๓ ส่วน “ปิฎก” จริงๆ หมายความถึงตะกร้าหรือที่รวมก็ได้ ที่รวมของพระธรรมวินัยมี ๓ ส่วนคือ (๑.) พระวินัยปิฎก เป็นข้อประพฤติปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ของพระภิกษุ แต่มีธรรมอื่นด้วยในพระวินัยปิฎกไม่ใช่ไม่มีธรรมเลย แต่ว่า ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะควรของเพศบรรพชิต (๒.) พระสุตตันตปิฎกเป็นการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมกับใคร ที่ไหน ก็ต้องเป็นธรรมอีก พระพุทธเจ้าที่จะไม่ทรงแสดงธรรมนี้ไม่มีเลย แต่ทรงแสดงกับใคร เรื่องอะไร แต่ละบุคคลวันนี้ทรงแสดงกับคนนี้ เรื่องนี้ วันต่อๆ ไปอาจจะแสดงกับบุคคลนั้น เรื่องนั้น เพราะฉะนั้นจึงมีมากมายหลายเรื่อง รวมเป็นพระสุตตันตปิฎกเรียกย่อๆ ว่า “พระสูตร” ส่วนปิฎกสุดท้าย คือ (๓.) พระอภิธรรมปิฎก ไม่เอาชื่อเสียงอะไรเลยทั้งสิ้น พูดเรื่องธรรมล้วนๆ อย่างที่กำลังพูดถึงว่า ธรรมมี ๒ อย่างประเภทใหญ่ๆ คือ นามธรรมกับรูปธรรม ไม่ได้บอกว่าเป็นคนนั้นหรือคนนี้เลยแต่ว่า เป็นตัวธรรมล้วนๆ นี่คือ อภิธรรมปิฎก เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ใครถามเรื่องพระไตรปิฎก ตอบได้เลยใช่ไหมว่า คืออะไร เพราะฉะนั้นให้ทราบได้เลยว่า วันนี้เราเรียนเรื่องพระไตรปิฎกโดยเฉพาะปิฎกที่ ๓ คือ พระอภิธรรมปิฎก ตัวธรรมซึ่งเปลี่ยนลักษณะไม่ได้แต่เปลี่ยนชื่อได้ทุกอย่าง เช่น เสียง ภาษาไทยว่าอะไร ภาษาอังกฤษว่าอะไร ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีนเรียกกันไปต่างๆ แต่ไม่มีใครเปลี่ยนลักษณะของเสียง ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบกับหูแต่ไม่ใช่หูทั้งหู ต้องเป็นส่วนพิเศษในหูที่สามารถจะกระทบเสียง แล้วมีธาตุรู้ที่ได้ยินเสียงเพราะว่า รูปทั้งหมดไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย มีใครสงสัยในเรื่องนามธรรม รูปธรรมไหม สงสัยได้ ถ้าสงสัยก็ถามได้

    ผู้ฟัง มีสิ่งที่ไม่สามารถจัดอยู่ใน ๒ ประเภทนี้ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ มี เช่นชื่อ

    ผู้ฟัง ชื่อ ตี้

    ท่านอาจารย์ ตี้เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ชื่อตี้เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ไม่ได้แล้ว ถ้าพูดถึงปรมัตถธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีจริง ตี้ไม่มี แต่เรียกนี่ว่า “ตี้” ให้รู้ว่า หมายความถึงตรงนี้ คนนี้ เพราะฉะนั้นมีอย่าง ๒ สิ่งซึ่งไม่มีจริงๆ ซึ่งถ้าไม่มีนามธรรม ไม่มีรูปธรรม ก็ไม่มีการเรียกอะไรหมดเลย จะไปเรียกอะไร ไม่มีอะไรจะให้เรียกใช่ไหม แต่พอมีธรรมแล้วจำเป็นต้องเรียก ไม่เรียกจะรู้ได้อย่างไร และคำที่ใช้เรียกไม่ใช่ปรมัตธรรม เป็นคำเป็นเพียงคำไม่ใช่สิ่งที่มีจริง เราเรียกคำนี้ว่า “บัญญัติ” หมายความว่า คำที่สมมติให้เข้าใจกันว่า หมายความถึงอะไร เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจปรมัตถธรรมจริงๆ ว่า ปรมัตถธรรมหมายความถึงธรรม คือ ธาตุหรือสิ่งที่มีจริง ต้องมีจริงๆ มีจริงอย่างไร มีลักษณะเฉพาะของแต่ละอย่างให้รู้ว่า เป็นจริงอย่างนั้นๆ เช่น ความโกรธเป็นลักษณะหนึ่ง ความไม่โกรธมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มี ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง เพราะฉะนั้นความโกรธก็เป็นปรมัตถธรรม ความไม่โกรธก็เป็นปรมัตถธรรม แต่ถ้าไม่เรียกชื่อ ๒ อย่างนี้ เราก็แยกไม่ออก บอกไม่ถูก ไม่รู้ว่า จะหมายความถึงอะไร เพราะฉะนั้นเมื่อมีปรมัตถธรรมแล้วจึงมีบัญญัติ คือ สมมติให้เข้าใจความหมายว่า คำนี้หมายความถึงอะไร เพราะฉะนั้นบัญญัติคือ สิ่งซึ่งไม่มีจริงๆ แต่เพราะมีปรมัตถธรรมจริง มีบัญญัติเพื่อให้เข้าใจว่า หมายความถึงอะไร ถ้าเข้าใจปรมัตถธรรมแล้วบัญญัติง่ายมาก ไม่ต้องไปสงสัยเลย อะไรก็ตามที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรมเป็นบัญญัติทั้งหมด นาฬิกาเป็นปรมัตถธรรมหรือเป็นบัญญัติ นาฬิกาเป็นบัญญัติเพราะว่า ไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น แต่ว่า เมื่อจะหมายความถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็รู้ว่า กำลังหมายความถึงอะไร ถ้าเข้าใจปรมัตถธรรมจะทราบว่า สิ่งที่มีจริงแยกอย่างใหญ่ๆ ก็คือ นามธรรมกับรูปธรรม แยกได้อีกๆ จนละเอียดขึ้นๆ แต่ว่า ต้องไม่สับสน ความรู้ที่สำคัญที่สุดคือ พื้นฐาน ถ้าพื้นฐานไม่มั่นคงจะไม่เข้าใจธรรมเลย แต่เราคิดว่า เราเข้าใจ เพียงอ่านแล้วคิดว่า เรารู้ แต่ความจริงถ้าไม่รู้จักว่า เป็นธรรม ถ้าเราไม่รู้ว่า เป็นปรมัตถธรรม ถ้าเราไม่รู้ว่า เป็นอภิธรรม เราจะไม่เข้าใจทั้ง ๓ ปิฎกเลย แต่เมื่อเราเข้าใจปรมัตถธรรมแล้ว อะไรทั้งหมดที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรมเป็นบัญญัติ เป็นสิ่งที่เราสมมติเป็นภาษาต่างๆ สำหรับที่จะให้เข้าใจว่า หมายความถึงปรมัตถ์อะไร ทีนี้มาถึงรูปธรรมกับนามธรรม มีใครยังสงสัยไหมในเรื่องนามธรรมกับรูปธรรม “น้ำแข็ง” เป็นปรมัตถ์หรือเป็นบัญญัติ

    ผู้ฟัง ชื่อเป็นบัญญัติ เป็นสิ่งที่ใช้เรียกสิ่งที่อยู่ตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปรมัตถ์จะมีบัญญัติไหม

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่มี

    ท่านอาจารย์ แต่ต่อไปจะรู้ว่า แม้ไม่มีปรมัตถ์เราก็มีบัญญัติได้

    ผู้ฟัง เช่น

    ส.พระราชา” เป็นปรมัตถ์หรือเป็นบัญญัติ

    ผู้ฟัง ถ้าเราใช้เรียกสิ่งนั้นก็น่าจะเป็นบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ เป็นบัญญัติ ปรมัตถ์ที่เป็น “พระราชา” ไม่มีเลย ปรมัตถ์คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็น ได้ยิน สี เสียง กลิ่น รส นี้เป็นปรมัตถ์แต่ “พระราชา” ไม่ใช่ปรมัตถ์ เพราะฉะนั้น “พระราชา” เป็นบัญญัติซึ่งไม่มีปรมัตถ์

    ผู้ฟัง ตาเป็นปรมัตถ์เพราะว่า

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ อะไรที่มีจริงทั้งหมดเป็นปรมัตถ์ ไม่ใช่ตาทั้งหมดนี้ เพราะว่า คนตาบอดก็ยังมีตาทั้งหมดนี้แต่ไม่มีจักขุปสาท เพราะฉะนั้นจักขุปสาทเล็กแล้วก็เป็นรูปพิเศษที่ตัวของเรา รูปนี้มีกรรมเป็นสมุฏฐานทำให้เกิดขึ้นเฉพาะตรงกลางตา จักขุปสาทจะไม่อยู่ตรงแขน จะไม่อยู่ตรงอื่นเลย แต่ว่า กรรมจะทำให้รูปนี้เกิดแล้วดับๆ ตลอดเวลา จนกว่าจะมีรูป คือ สีสันวรรณะกระทบกับจักขุปสาทเมื่อไหร่ เมื่อนั่นก็จะเป็นปัจจัยทำให้มีสภาพรู้ หรือธาตุรู้ คือจิตเกิดขึ้น และกำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าเอารูปของคุณออกหมดเลยหรือรูปของใครๆ ออกหมดเลย ตรงไหนที่มีเห็น ตรงนั้นก็คือ นามธรรมซึ่งต้องอาศัยจักขุปสาทตรงนั้น เพราะฉะนั้นเวลาที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ที่ไม่ใช่ตัวตน ต้องหมายความว่า ไม่มีตัวตนรวมอยู่ที่นั่น ถ้ายังมีตัวตนคือเรายังจำว่า เป็นเรายังนั่งอยู่ที่นี่ และจะบอกว่า ไม่ใช่เรา เป็นไปไม่ได้นอกจากคิดเอาเองว่า ไม่ใช่เรา แต่การประจักษ์แจ้งคือว่า ตรงนั้นจะต้องไม่มีอะไรอื่นทั้งสิ้น แต่มีปัญญาที่สมบูรณ์ที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นนามธาตุที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น เพราะฉะนั้นตัวไม่มี มีแต่สภาพธรรมเฉพาะอย่างๆ ซึ่งเป็นจิตแต่ละอย่างทีละหนึ่งขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน เพราะฉะนั้นตัวตนรูปร่างอะไรก็หายไปหมดไม่มี เมื่อไม่มีแล้วก็รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงรูปธรรมไม่ใช่นามธรรมๆ ก็เป็นแต่เพียงสภาพรู้หรือธาตุรู้ เพราะฉะนั้นจึงต้องแยกธรรมออกเป็น ๒ ฝ่ายเด็ดขาดคือ นามธรรมเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม รูปธรรมก็เป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม

    ผู้ฟัง จุดประสงค์ที่เรียนเพียงเพื่อรู้นามธรรมกับรูปธรรมเพื่อรู้ความจริง แล้วความจริงนี้ความหมายจริงๆ คืออะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรา อนัตตา

    ผู้ฟัง ก็คือให้รู้ว่า ไม่ใช่ตัวเรา

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเราเลยตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นธรรมทั้งหมดในสังสารวัฏฏ์ ทุกชาติเป็นธรรม

    ผู้ฟัง มีความคิดของความเป็นตัวเราจะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นความเห็นผิด

    ผู้ฟัง ซึ่งจะก่อปัญหาเยอะแยะ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมขั้นแรก ดับความเห็นผิด “สักกายทิฏฐิ” ไม่มีอีกเลยที่จะเห็นว่า เป็นเรา เห็นถูกตามที่พระพุทธเจ้าทรงประจักษ์แจ้ง ทรงตรัสรู้ ทรงแสดงให้คนที่อบรมเจริญปัญญาได้เห็นความจริงอย่างนั้นตามด้วย

    ผู้ฟัง ฉะนั้นที่ท่านอาจารย์กล่าวมาทั้งหมดว่า เรามีแต่เฉพาะ……

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมมี ๒ อย่าง เวลานี้ไม่มีเรา มีธรรมซึ่งมี ๒ อย่างคือ นามธรรมกับรูปธรรม

    ผู้ฟัง อาจารย์กำลังจะบอกว่า ที่กำลังเห็นตอนนี้ เด็กๆ กำลังคิดว่า ตัวเองมีคุณพ่อคุณแม่ มีท่านอาจารย์กำลังแสดงธรรมอยู่ มีเสียงที่กำลังได้ยินอยู่ตอนนี้ มาที่มูลนิธิเป็นตัวเราอย่างนั้นอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้บอกเด็กๆ ว่า เก็บเอาไว้ให้หมดเรื่องความคิดของตัวเอง กำลังฟังอะไรให้เข้าใจสิ่งนั้น จะได้ไม่ก้าวก่าย ไม่สับสน แล้วเราเริ่มจะเข้าใจ พอเข้าใจอย่างนี้เราคิดได้เลยว่าอะไรเป็นอะไรคือ ก่อนอื่นนามธรรมกับรูปธรรมต้องเข้าใจเด็ดขาด แยกกันโดยเด็ดขาด ไม่สับสน ไม่ว่าจะเคยคิดว่า เป็นอะไร ที่ไหน อย่างไรทั้งสิ้นให้ทราบว่า เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม นี่คือการบ้าน ถ้าสงสัย การบ้าน ง่วงมีจริงๆ ไหม ง่วงมี นามธรรมหรือรูปธรรม? นามธรรม นี่คือเราเข้าใจจริงๆ นี้คือการเข้าใจธรรม ไม่ใช่เรียนตามตัวหนังสือหรือต้องไปท่องเลย แต่ขณะนี้มีธรรม แล้วเรียนให้เข้าใจธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ให้ถูกต้อง โดยเริ่มที่ว่า เป็นธรรมทั้งหมด แล้วก็เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม จะต่อได้ไหมหรือว่าจะอยู่ตรงนามธรรมกับรูปธรรม

    ผู้ฟัง ทุกคนคงจะจับประเด็นได้ว่า ท่านอาจารย์พูดว่า ธรรมคืออะไร ธรรมก็คือของจริงที่มีอยู่จริงๆ ท่านอาจารย์พูดว่า ของจริงที่มีอยู่จริงๆ มีลักษณะ ๒ อย่างคือ ที่เป็นรูปธรรม สภาพที่ไม่รู้อะไรเลยอย่างหนึ่ง และที่เป็นนามธรรมคือ สภาพที่รู้อย่างหนึ่ง และของจริงที่มีอยู่จริงๆ เป็นรูปธรรม ลักษณะของรูปธรรมก็คือ ไม่รู้อะไรเลย ลักษณะของนามธรรมก็คือ รู้ รู้ได้ ก็มีอยู่แค่นี้เป็นหลักที่จะทำให้เราคิดได้เยอะๆ

    ผู้ฟัง ที่ว่าพ่อแม่ไม่มี แล้วที่เห็นเป็นพ่อเป็นแม่จริงๆ คืออะไร

    ท่านอาจารย์ เรามีไหม

    ผู้ฟัง ถ้าศึกษาแล้วจะบอกว่า ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาแล้วพ่อแม่ก็คือ นามธรรมกับรูปธรรม เป็นธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นตอนนี้เราผ่านพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก ซึ่งมีสมมมติบัญญัติทั้งนั้นเลย มีพระพุทธเจ้า และมีพระเจ้าสุทโธทนะ มีพระราชบิดา มีอะไรทั้งหมดมาสู่ปรมัตถธรรม คือ ธรรมล้วนๆ ซึ่งไม่กล่าวถึงชื่อ ไม่กล่าวถึงบุคคลเลย แต่กล่าวถึงความเป็นจริงที่มีว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่เราเคยคิด เคยเข้าใจว่า เป็นคน เป็นสัตว์ต่างๆ โดยแท้จริงเมื่อเอาชื่อเสียงเรียงนามออกหมดแล้วก็คือ ตัวธรรม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    28 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ