ปกิณณกธรรม ตอนที่ 70


    ตอนที่ ๗๐

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่คุณชินถามเรื่องปัญญา ปัญญามีหลายระดับขั้น เราเริ่มฟังพระธรรมอยู่ในขณะนี้ ปัญญาของเราในการที่จะพิจารณา หรือว่าเข้าใจในสิ่งที่เราได้ฟังก็เป็นปัญญาขั้นที่เราคิดพิจารณาอยู่ตลอดเวลา และคิดว่าเมื่อฟังนานขึ้น ความเข้าใจก็มากขึ้น แต่ปัญญาขั้นที่คิดพิจารณานึกคิดก็ยังเหมือนเดิม

    ท่านอาจารย์ ก็กั้นเลย สติปัฏฐานก็ไม่เกิดเลย

    ผู้ฟัง ยังไม่หวังถึงว่าจะเกิดสติปัฏฐาน แต่ว่าจากการที่เรามีปัญญาขั้นพิจารณาระลึกสภาพธรรม แม้กระทั่งเป็นเรื่องราว ก็จะเป็นปัจจัย คงต้องมีความเป็นตัวตนอยู่ อันนี้จะเป็นปัจจัย หรือว่าจะเป็นเครื่องกั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าอยาก เป็นโลภะกั้น

    ผู้ฟัง แต่ถ้าสภาพธรรมเขาพิจารณา นึกคิดเอง

    ท่านอาจารย์ คนละขณะ ปัญญาเป็นความเห็นถูกที่ตรงมาก ต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล การฟังธรรมน่าจะดีใจที่เรามีโอกาสได้ฟัง ไปห่วงอะไรกับตัวตน ที่ว่าฟังแล้ว มากแล้ว เมื่อใดสติปัฏฐานจะเกิด เมื่อใดสติปัญญาเกิดเยอะๆ เพราะฉะนั้นเวลาฟังด้วยความเป็นตัวตน จะกังวลใจ ไม่ใช่เป็นความเบาใจเลย ซึ่งความจริงขณะใดที่มีการเข้าใจสภาพธรรม ขณะนั้นเบาใจ เพราะไม่มีเรา ลืมได้อย่างไร ฟังว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ฟัง ก็ยิ่งทำให้เข้าใจความเป็นอนัตตาเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิถีจิต แต่ละทวาร ก็เป็นอนัตตาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเจตสิกชนิดใด ฝ่ายกุศล ฝ่ายอกุศลก็เป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง อย่างนี้เราจะสามารถเทียบเคียงได้อย่างไรว่า ตัวเรามีความเข้าใจมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ เราเองเป็นผู้รู้ ไม่ต้องไปเทียบเคียงกับอะไรเลย คือการฟังธรรม ขณะที่ฟังเข้าใจ ใครจะบอกเราได้ว่า ในที่นี้ใครเข้าใจแค่ไหน ทั้งๆ ที่ฟังเรื่องเดียวกัน แต่ว่าผู้ที่ฟังเป็นผู้ที่รู้ ทุกคำมีความหมาย แล้วเราเข้าถึงความหมายแค่ไหน เช่นคำว่า “ธรรม” “ธาตุ” สองคำแค่นี้ ถ้าสามารถเข้าใจจริงๆ ก็เป็นพระอริยบุคคลได้ แต่เพราะเหตุว่าเวลาที่ฟังเป็นตัวเราที่ฟัง เพราะฉะนั้นก็มีความห่วงกังวลว่า เมื่อใดเราจะรู้ความเป็นธาตุ เมื่อใดเราจะรู้ธรรม เมื่อใดสติปัฏฐานจะเกิด แต่ถ้าฟังแล้วก็รู้ว่า กำลังมีเหตุที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น จากการฟัง และการพิจารณาไปเรื่อยๆ จนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมเมื่อใด เมื่อนั้นก็รู้ว่ามาจากการฟัง ถ้าไม่มีการฟังเป็นปัจจัย ก็ไม่มีทางที่สติปัฏฐานจะเกิด

    ผู้ฟัง อย่างนี้ ก็ยังไม่ผิดใช่หรือไม่ ที่ว่าก็ยังมีการพิจารณาในขณะว่า เราเป็นผู้พิจารณา หรือ บางขณะที่สภาพธรรมน้อมไปในการคิดพิจารณาเรื่องราวในเรื่องธรรม ที่เรามีความเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่ จะคิดว่าผิดหรือไม่ ถูกหรือไม่ แต่ต้องเป็นปัญญาของเราเอง แล้วก็ไม่มีกฎว่า คิดแบบนี้ไม่ได้ ต้องคิดอย่างนั้น ใครจะคิดประหลาด ต้องใช้คำว่าประหลาด บางคนคิดประหลาดจริงๆ ก็เป็นขณะที่มีปัจจัยที่คิดประหลาดจะเกิด ไม่ต้องเดือดร้อน เพราะเหตุว่าคิดแล้วก็หมดไป คือถ้ามีความเข้าใจถ่องแท้ในความเป็นอนัตตา ในความเป็นธรรม เราก็จะไม่กังวลกับสิ่งที่ล่วงไปแล้ว หรือสิ่งที่ยังไม่มาถึง แต่ขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏ ฟังให้เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม ไม่มีเรา จะคิดอย่างไรก็คือสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ขณะที่คิด ทำให้คิดแปลกๆ คิดประหลาดๆ ก็ได้

    ผู้ฟัง แสดงว่าความเข้าใจในความเป็นอนัตตานี้ ยังไม่มั่นคง

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง เลยทำให้บางครั้งจะคิดว่าแล้วมีความคืบหน้าหรือไม่ แล้วพิจารณาธรรมมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ เราทั้งนั้นเลย ฟังไปเป็นเราไป ฟังด้วยความเป็นที่ต้องการความก้าวหน้า

    ผู้ฟัง ถ้าอยากจะให้ความเข้าใจในเรื่องของความเป็นอนันตา มั่นคงมากยิ่งขึ้นยิ่งขึ้น จากการที่เราได้ยินได้ฟังพระธรรม แล้วน้อมพิจารณา อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่ฟัง และเข้าใจ ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ไตร่ตรองตามความถูกต้อง ทิ้งคำว่าธรรมไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ขอถามเรื่องพระอริยเจ้า ก่อนที่จะเป็นอริยเจ้า ท่านอาจารย์พูดว่าการตั้งมั่นว่าท่านจะฟังธรรม หรือจะศึกษาตามพระพุทธองค์ ขณะนั้นจริงๆ เขามีปัญญาแล้ว น่าจะเป็นเช่นนั้นใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ มีปัญญาระดับหนึ่ง ทิฏฐุชุกรรม ความเห็นตรง เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะพูดเรื่องความเข้าใจในสภาพธรรม เราไม่ต้องไปคิดถึงคนอื่นเลย ไม่ใช่เอาปัญญาของคนอื่นมาเปรียบเทียบว่า เขารู้แค่ไหน เขาเข้าใจแค่ไหน เช่น ถ้ามีคนเห็นว่า พระธรรมเป็นสิ่งที่ประเสริฐสมควรที่จะศึกษา แค่นี้เป็นปัญญา

    ผู้ฟัง เป็นปัญญา

    ท่านอาจารย์ คิดถูกหรือคิดผิด ต้องกล้าที่จะเข้าใจ ตัดสิน แต่ปัญญาที่อ่อนมาก เพียงแค่เห็นว่าควร แต่ยังไม่ได้ศึกษา กับเห็นว่าควรแล้วศึกษา ต่างกันแล้วใช่ไหม ปัญญาเพิ่มขึ้นมาอีกหน่อย และศึกษาแล้วค่อยๆ เข้าใจตรงขึ้น เพิ่มขึ้นอีก ศึกษาจนกระทั่งสติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานเกิด คนนั้นก็รู้ว่าเป็นปัญญาต่างขั้น ศึกษาไปเรื่อยๆ นี่จะสบาย ไม่ต้องกังวลไม่เดือดร้อน และก็ศึกษาไปอีก ศึกษาไปอีก มีสภาพธรรมปรากฏ ให้ศึกษา ให้รู้ ให้ละ เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาธรรมจริงๆ จะเบาสบาย แต่พอต้องการเกิดขึ้นแล้ว วุ่นแล้ว นั่นคืออกุศล

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ บอกว่า เบาสบาย แล้วก็ไม่ต้องเดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ เวลาที่กุศลจิตเกิด ผ่องใสหรือไม่

    ผู้ฟัง ผ่องใส

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องรู้เลย ผ่องใส่นิดหนึ่ง หนักมากไหม แสดงว่ากุศลน้อย อกุศลมาก ใช่ไหม แต่ถ้าผ่องใส่ระหว่างที่ฟังตลอด ก็ไม่มีการที่เราจะไปหนักอะไรเลย ในขณะที่กำลังฟัง

    ผู้ฟัง การเข้าใจธรรม แล้วก็มาฟังว่า จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ถึงต้องสมควรที่จะ

    ท่านอาจารย์ นั้นคือฝัน อนาคต แต่ว่าเดี๋ยวนี้ กำลังมีสภาพธรรมปรากฏ คิดเรื่องตาย คิดเรื่องอะไรๆ หลายอย่าง แต่ว่าสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ไม่หวั่นไหว

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้น ต่างกันยังไง ที่เป็นมรณสติ

    ท่านอาจารย์ มรณสติ ต้องเป็นกุศล เวลาที่คิดถึงความตายแล้วกลัว เป็นกุศลหรือไม่ ขณะกลัว

    ผู้ฟัง เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ คิดถึงความตายแล้วห่วง เป็นกุศลหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาที่เป็นมรณสติ คิดแล้วเป็นกุศล แต่ว่าจะเป็นกุศลระดับใด บางคนก็อาจจะเกิดทานการให้ เสื้อผ้าเรามีเยอะแยะเราก็ใช้ไม่หมด เก็บไว้ทำไม ตายแน่ๆ พรุ่งนี้ หรือเมื่อไรก็ได้ ยังไงก็ต้องตาย ก็ให้คนอื่นใช้บ้าง เขาก็อาจจะคิดเพียงแค่นั้นก็ได้ ตามกำลังของปัญญา แต่ถ้าสติปัฏฐานเกิด นั่นก็เป็นเครื่องที่ยิ่งกว่ารู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ เพราะว่าสามารถที่จะรู้ความเป็นขณิกมรณะ คือความตายทุกขณะ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นปัญญา แม้ที่จะระลึกถึงความตายนั้นก็ต้องตามลำดับ อย่างท่านพระอานนท์ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ระลึกถึงความตายเมื่อไร ของท่านก็ต้องละเอียดกว่าผู้ที่ไม่ใช่ท่านพระอานนท์

    ผู้ฟัง ถ้าเรามีมรณสติ ด้วยความรีบร้อน รีบเรียน นั้นคือโลภะแล้ว

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้ามรณสติเกิด ก็ระลึกขณะนี้ ตายขณะนี้ จิตเกิด และดับ ตายอยู่ตลอดเวลา ทุกขณะ พบกันชาตินี้ ที่นี่ ไม่ทราบว่าเคยพบกันมาก่อนหรือเปล่า ที่ไหน และชาติหน้าจะพบกันอีกหรือเปล่า ที่ไหนด้วย แต่ก็เป็นชาติที่ดีมาก ที่ได้พบกันเกื้อกูลกันด้วยธรรม เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์แสดงว่า สภาพธรรมชาติที่เกิดแล้วดับไป ก็ไม่สามารถพิจารณาได้ แต่ว่าการพิจารณาตรงนี้จะเป็นขั้นไหน เพราะว่าบางครั้ง รู้สึกว่าอกุศลจิตเกิดแล้ว บางครั้งมีคนเตือน บางครั้งไม่มีคนเตือน มารู้ตัวเองว่าอกุศลจิตเกิด แล้วรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น คราวหลังเราจะไม่ทำอย่างนี้ต่อไป แต่ท่านอาจารย์แสดงว่า ถ้ามันดับไปแล้วพิจารณาไม่ได้ ก็คงไม่ใช่เป็นการพิจารณาอย่างนี้ ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าพูดถึงสิ่งที่ดับแล้ว ยังเหลือหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เหลือแล้ว แต่ว่ายังสามารถที่จะคิดตามได้

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ยังมีสัญญาความจำ ระลึกถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แต่ต้องทราบว่าต้องเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ให้พิจารณา

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้น การพิจารณาที่ท่านอาจารย์แสดง หมายถึงพิจารณาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีสภาพธรรมปรากฏ ไม่ต้องไปคิดถึงว่าดับไปแล้ว เพราะว่าการสืบต่อการเกิดดับเร็วมาก แต่ว่าขณะนี้ มีสิ่งที่ปรากฏชัดเจน ให้ค่อยๆ เข้าใจถูก ในสิ่งซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน เช่นกำลังเห็น มีแน่นอนกำลังเห็นอยู่ แต่ว่าไม่เคยรู้ความจริงของสภาพนี้เลย เป็นเรามาโดยตลอด เพราะฉะนั้นจะไม่ใช่เราได้อย่างไร ก็มีหนทางเดียว คือรู้ว่าขณะนี้มีสภาพรู้ ถ้าขณะที่กำลังนอนหลับสนิท ไม่มีอะไรปรากฏเลย ก็ไม่สามารถที่จะมีอะไรให้พิสูจน์ความจริง ให้รู้ความจริงได้ แต่แม้ว่ามีจิต กำลังหลับสนิทก็ไม่รู้ สามารถจะรู้เมื่อเห็นว่า ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่สภาพที่กำลังเห็น เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ในขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ มีธรรม ๒ อย่าง คือ อย่างหนึ่งเป็นสภาพที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ อันนี้แน่นอน เวลาที่ได้ยิน เสียงมีปรากฏก็แสดงว่าต้องมีสภาพที่ได้ยินเสียง แน่นอน ถ้าไม่มีสภาพที่ได้ยินหรือรู้ลักษณะของเสียง เสียงก็ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้นการที่ปัญญาจะรู้ความจริง ไม่รู้อื่นเลย นอกจากสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะค่อยๆ รู้ความจริงของสิ่งนั้น ไม่ใช่ไปรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏ หรือสิ่งที่ยังไม่มาถึง

    ผู้ฟัง คำว่าพิจารณา หลายคนฟังแล้วคงพอจะเข้าใจ แต่ว่าก็จะเข้าใจโดยการพิจารณา เป็นเรื่องราว เป็นคำๆ แต่อย่างที่ท่านอาจารย์แสดงมา การที่จะพิจารณาเหมือนกับคำที่อาจารย์แสดงหรือว่าจะเป็นความเข้าใจอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเวลาที่กำลังฟังธรรมเดี๋ยวนี้ พิจารณาด้วยหรือเปล่า หรือว่าฟัง ไม่พิจารณาเลย ถ้าไม่มีการพิจารณาจะเข้าใจหรือไม่ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราที่พิจารณา แต่หลังจากที่ฟังหลังจากที่ได้ยินเสียงแล้ว วิถีจิต วาระของจิต ต้องมีการพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าเป็นเราพิจารณานี้ยาวมากเลย ใช่หรือไม่ พิจารณาตั้งแต่ต้นจนปลาย พิจารณาเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ถ้าเป็นสภาพธรรมมาที่พิจารณา ลักษณะของเจตสิกมีมากที่เกิดร่วมกัน ส่วนในขณะใดที่เป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูก นั้นก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ในขณะที่ฟังเข้าใจจะต้องมีการพิจารณาด้วย เพราะฉะนั้นจะเห็นการพิจารณาที่ต่างกันของการฟัง ขณะที่กำลังฟังเรื่องราว ก็พิจารณาเรื่องราว จึงได้เข้าใจเรื่องราว แต่ขณะที่กำลังจะศึกษาพร้อมสติสัมปชัญญะ เช่นในขณะเห็นก็ฟังเรื่องราวของเห็น ในขณะได้ยินก็ฟังเรื่องราวของได้ยิน แต่ไม่ใช่สติสัมปชัญญะที่ระลึกลักษณะนั้น แล้วศึกษา แม้คำว่าศึกษาที่นี่ เดี๋ยวคนก็จะต้องหยิบปากกาดินสอขึ้นมาอีก หรืออะไร ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ศึกษาหมายความถึงเริ่มเข้าใจถูก ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น ซึ่งต้องเข้าใจถูกว่า นามธรรมเป็นนามธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรม ก่อน จนกว่าปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณเกิด เมื่อนั้นถึงจะรู้ว่า ไม่ต้องมีการคิด การพิจารณา การไตร่ตรองใดๆ ทั้งสิ้น แต่ว่าเป็นปัญญาที่ถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เพราะขณะนั้นสภาพธรรมนั้นปรากฏกับปัญญา โดยความเป็นธาตุ โดยความเป็นญาณ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้นการฟังคำต่างๆ เราต้องรู้ด้วยว่า หมายความถึงเจตสิกเกิดขึ้นทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ โดยระดับขั้นต่างๆ เช่น ขั้นฟัง จะไม่ไปถึงขั้นระดับสติปัฏฐาน แต่ว่าพระศาสนามีทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ไม่ใช่มีแต่เพียงขั้นปริยัติเท่านั้น เพราะว่าขั้นปริยัติอย่างเดียว ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ในเมื่อสภาพธรรมจริงๆ ขณะนี้มีตลอด แล้วก็กำลังเกิดขึ้นทำกิจการงานทุกขณะ แต่ว่าการศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรม ก็เพียงเข้าใจเรื่อง ทั้งที่จิตเจตสิกเกิดดับเร็วมาก แต่ว่าสติปัฏฐานก็ไม่ได้เกิดที่จะระลึก เพราะฉะนั้นจึงต้องฟังด้วยความเข้าใจ ในขณะที่เข้าใจ ไม่มีเราทำเลย ให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป เป็นธรรม บางคนเวลาที่อกุศลจิตเกิด เขาคิดที่จะระงับ แม้ความคิดนั้นเกิดเพราะเหตุปัจจัย รู้หรือไม่ว่าขณะนั้นเป็นนามธรรม คืออย่างไรก็ต้องรู้ความเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมทั้งหมด มิเช่นนั้น ตรงนั้นก็เป็นเราโดยที่ไม่รู้ตัวด้วยว่า แม้ขณะที่คิดก็เป็นนามธรรม ขณะที่ฟัง ใจของใครจะคิดอย่างไรได้หมด แต่ละคน ปัญญาจะต้องรู้ว่า ขณะที่คิด จะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ของแต่ละคนก็เป็นนามธรรม ที่เราเรียน เราเรียนอย่างนี้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นเวลาที่อบรมเจริญปัญญาก็อบรมให้เข้าใจถูกต้องอย่างนี้ ให้ประจักษ์อย่างนี้ มิฉะนั้นพระศาสนาต้องเป็นหมัน เป็นโมฆะ คือมีเพียงปริยัติ ไม่มีปฏิบัติ ไม่มีปริเวธ

    ผู้ฟัง ขอท่านอาจารย์อธิบายให้ละเอียดกว่าที่เข้าใจอยู่ ที่บอกว่าเสียงมากระทบกับ โสตวิญญาณกระทบ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ได้ยิน มีช่วงที่คุณชิน จะต้องคิดว่าเสียงมากระทบโสตประสาทหรือไม่ ได้ยินแล้ว ดับแล้ว ใช่หรือไม่ และคุณชินก็มาตั้งต้นที่เสียง มากระทบโสตประสาท คือการคิดนึก เพราะฉะนั้นเวลาที่สภาพธรรมเกิดปรากฏ ไม่ใช่ให้เราไปคิด ขณะนั้นก็เป็นเราใช่ไหม แต่ว่ามีลักษณะของเสียงหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีลักษณะของสภาพที่รู้เสียง หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ โดยไม่ต้องคิด ก็มี เพราะฉะนั้นจึงระลึกศึกษาสภาพธรรม สภาพธรรมนี้เราไม่ต้องไปคิดว่า เห็นจะต้องอยู่กลางตา ได้ยินจะต้องอยู่กลางหู ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็มีตัวเราทั้งตัว ยังเป็นอัตตสัญญา ทั้งๆ ที่อะไรก็ไม่ได้ปรากฏ ส่วนหนึ่งส่วนใดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าไม่ปรากฏ แต่ได้ยินมี แล้วก็เสียงมี อย่างเร็วมาก ถ้าเรามัวไปคิดว่าอยู่ตรงนั้น หรือมากระทบ ขณะนั้นไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะคิด จริงไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง แล้วจริงๆ ต้องเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจลักษณะ ลักษณะไม่ใช่ไปคิดเรื่องราว

    ผู้ฟัง สมมติว่าเข้าใจผิดว่า เสียง มากระทบโสตปสาท

    ท่านอาจารย์ อันนี้เรื่องราว ไม่ผิด เสียงมากระทบโสตปสาท ไม่ผิด แต่ว่าเป็นเรื่องราว ไม่ใช่เป็นการศึกษาขณะที่เสียงปรากฏ ถ้าเสียงปรากฏ ขณะนั้นจะมีเสียง กับได้ยิน ๒ อย่าง คุณชินก็ไม่มี รูปอื่นก็ไม่มี รูปใดๆ ก็ไม่มี รูปเกิดดับเร็วมาก รูปใดที่ไม่ปรากฏกับสติปัฏฐาน รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว แต่เรายังจำว่ามี สติปัฏฐานไม่ใช่จำ แต่เป็นการที่มีลักษณะปรากฏให้เห็นความจริง แต่ความจริงที่จะเห็นได้ ต้องเพราะความเข้าใจในเรื่องของปริยัติ มีสมบูรณ์ที่จะเป็นปัจจัยให้มีการระลึก ระลึกในที่นี้ภาษาไทยก็อาจจะทำให้คิดว่า เหมือนพิจารณา คือ ยาว แต่จริงๆ คือขณะใดที่มีสิ่งใดปรากฏ กำลังค่อยๆ เข้าใจสิ่งนั้น ยังไม่ต้องไปคิดเรื่องสิ่งนั้นเกิดดับ แต่มีสิ่งหนึ่งปรากฏ ให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ขณะนั้นสติต้องมี ปัญญาต้องมี วิริยะต้องมี เจตสิกอื่นต้องมี มรรคมีองค์ ๕ ต้องมี โดยที่เราไม่ต้องไปนั่งเรียง นั่งเลือก หรือนั่งคิดว่ามีอะไรบ้าง แต่ขณะนั้น มีแล้ว เหมือนอย่างขณะนี้ ที่กำลังเห็น มีเจตสิกเกิด ๗ ดวง ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ ใครให้ไปรู้อะไร ในเมื่อสภาพนั้นไม่ปรากฏ ผัสสะก็ไม่ปรากฏ เวทนาที่เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณขณะนั้นใครจะระลึก ในเมื่อลักษณะของนามธรรมกำลังเห็น เป็นธาตุรู้ ซึ่งคนที่ไม่มีจักขุปสาทไม่มีทางจะเห็นได้ และสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ ให้คิดถึงความจริงว่า รูปมีทั้งหมด ๒๘ รูป แต่รูปเดียวเท่านั้นที่ปรากฏ อีก ๒๗ รูปไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้นรูปนี้ คืออย่างนี้ ปรากฏอย่างนี้ หลับตาหรือตาบอดรูปนี้จะไม่มีทางปรากฏเลย ก็เป็นขณะที่เราจะศึกษาขณะที่กำลังเห็น ลักษณะของรูปชนิดหนึ่ง สภาพนี้มีจริง เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ความจริงก็คือธรรม กำลังปรากฏ แต่ความไม่รู้ของเรานานแสนนาน เนิ่นนานมาแล้วในสังสารวัฎฎ์ ทั้งอวิชชา ทั้งโลภะ ปิดกั้น อวิชชา คือ ไม่สามารถจะรู้ความจริงได้ ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ ไม่ทรงแสดง ไม่มีทางที่สัตว์โลกจะสามารถเข้าใจว่าสภาพธรรมในขณะนี้ไม่ใช่เรา เป็นเพียงนามธรรมหรือรูปธรรมซึ่งมีปัจจัยก็เกิดแล้วก็ดับ รวดเร็วมากทุกขณะ แต่ว่าปรากฏให้ศึกษาให้เข้าใจถูก ขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจ ขณะนั้นไม่จำเป็นต้องใช้คำว่าสติปัฏฐาน ไม่เหมือนกับเราไปเรียนชื่อสติปัฏฐาน แต่เราไม่รู้ว่าสติปัฏฐานมีลักษณะอย่างไร ถูกหรือไม่ ทุกคนก็พูดสติปัฏฐานมี ๔ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสนาสติปัฎฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่สติปัฏฐานเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ขณะที่กำลังเข้าใจ มีสิ่งที่ปรากฏ มีจริงๆ ไม่ใช่ไปสร้างหรือไปทำขึ้นมา มีแล้วเกิดแล้วปรากฏแล้วเพราะเหตุปัจจัย และกำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้น ขณะนั้นมีสติสัมปชัญญะ มีปัญญา มีวิริยเจตสิก มีเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ต้องไปห่วงอะไร ไม่ใช่ว่าเราไปเรียนชื่อมาก่อนแล้วเรามาหาตัว แต่การฟังธรรม ฟังว่ามีอะไรบ้าง เช่น ความติดข้องซึ่งเป็นโลภะ ที่ทรงแสดงไว้ ๘ แต่ความจริงหลากหลายมากมายนับไม่ถ้วน ระดับที่ต่างกัน แต่ประมวลไว้ว่าเป็น ๘ ประเภท นี่เราไปศึกษาชื่อว่ามีอะไรบ้าง แต่เวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิดไม่รู้ แต่ผู้ที่ศึกษาในอดีต ขณะที่กำลังฟังพระธรรม เดี๋ยวนี้เข้าใจทันทีว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นธรรม เป็นธาตุ เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็มีกิจการงานของธาตุนั้นๆ เช่น ธาตุเห็น ธาตุได้ยิน ถ้าพูดเป็นภาษาบาลี ซึ่งท่านรู้กันแล้ว เราเปลี่ยนเป็นภาษาไทยก็คือ ธาตุเห็น ธาตุได้ยิน ท่านก็พูดภาษาบาลีว่า จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ก็คือในขณะนี้ เพราะฉะนั้นท่านเหล่านั้นฟังเข้าใจ เวลาที่โลภะเกิด ขณะนั้น ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย จำเป็นที่จะต้องกล่าวหรือไม่ว่าขณะนั้น ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ในเมื่อลักษณะของโลภะกำลังเกิดปรากฏให้รู้ว่าขณะนั้นไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นการศึกษาของคนในสมัยก่อน ศึกษาจากสภาพธรรมที่มี

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    20 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ