แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1018


    ครั้งที่ ๑๐๑๘

    สาระสำคัญ

    อภิ.วิภาวินี.ปริจเฉท ๗ - เรื่องปรมัตถธรรม สมมติธรรม และบัญญัติธรรม  พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมไว้เป็นอันมากเพื่ออนุเคราะห์สัตว์ ๓ เหล่า


    เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่สภาพธรรมที่มีจริงซึ่งเป็นรูปธรรมเป็นเพียงแข็ง แต่ก็ยังมีสมมติ ความยึดถือสภาพธรรมโดยสมมติว่า จานสำหรับใส่ข้าว ถ้วยสำหรับใส่แกง ช้อนสำหรับตักอาหาร ส้อมสำหรับจิ้ม และยังมีการยึดถือสิ่งที่ประชุมรวมกันนอกจากธาตุแข็ง เช่น เอาเหล็ก เอาวัสดุต่างๆ มาประกอบกัน ประชุมกัน และยึดถือว่า เป็นวิทยุ เป็นโทรทัศน์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ทั้งหมดนั้นคือการไม่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกิดขึ้นปรากฏแต่ละลักษณะและก็ดับไป

    นี่คือสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วแต่ว่าการประดิษฐ์จะประดิษฐ์วัตถุใดๆ เพิ่มขึ้น การยึดถือในสภาพของสิ่งซึ่งมาควบคุมประชุมรวมกัน ก็ยึดถือใน สิ่งต่างๆ เป็นวัตถุต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่ให้ทราบว่า ขณะเหล่านั้นทั้งหมด เป็นสมมติ หรือเป็นสมมติสัจจะ ไม่ใช่ปรมัตถสัจจะ

    นอกจากนั้น ยังไม่พอ ยังต้องอาศัยเสียงซึ่งเป็นบัญญัติให้รู้ความหมายของสิ่งซึ่งยึดถือ ทุกคนมีตาเห็นสิ่งต่างๆ ยึดถือสัณฐานของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ รู้ในอรรถของสิ่งที่สมมติ

    สัตว์เดรัจฉานก็เห็น แต่ผู้ที่เป็นมนุษย์สามารถใช้เสียงสำหรับบัญญัติเรียกสิ่งที่สมมติขึ้นให้เข้าใจว่า หมายความถึงสิ่งอะไร วัตถุอะไร ในขณะที่สัตว์เดรัจฉานไม่มีความสามารถพอที่จะใช้เสียงได้อย่างมนุษย์ที่จะบัญญัติโดยละเอียด

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า เวลาที่มีการพูด มีการใช้เสียง เสียงที่ใช้สำหรับบัญญัติเรียกสิ่งต่างๆ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เสียงมีจริงไหม เสียงมีจริงหรือไม่จริง เสียงมีจริง บัญญัติมีจริงหรือไม่จริง

    นี่เป็นเรื่องชีวิตประจำวันที่จะต้องรู้ชัดว่า สภาพธรรมใดเป็นปรมัตถธรรม สภาพธรรมใดเป็นสมมติ คือ สิ่งที่ไม่จริง

    เพราะฉะนั้น อาการสัณฐานต่างๆ ซึ่งปรากฏให้เป็นถ้วย เป็นชาม เป็นช้อน เป็นส้อมทั้งหมด เป็นสมมติ เป็นสิ่งที่ไม่จริง ส่วนสิ่งที่จริง คือ สภาพที่แข็ง และเมื่อมี สิ่งที่จริง แต่เพราะไม่รู้ความจริง ก็เกิดการสมมติขึ้นในสิ่งที่ปรากฏที่ไม่เกิดดับ และยังมีการบัญญัติเรียกสิ่งที่ปรากฏที่สมมติขึ้นเพื่อให้เข้าใจว่าหมายความถึงสิ่งใด แต่ว่าเสียงเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และถ้าไม่มีเสียง นาม คือ ชื่อ หรือคำทั้งหลายก็มีไม่ได้

    จริงหรือไม่จริง มีตาเห็น แต่ไม่มีเสียง จะมีชื่อหรือมีคำที่ใช้เรียกชื่อของสิ่งที่เห็นได้ไหม ถ้าไม่มีเสียงเลย เพราะฉะนั้น ที่เรียกชื่อต่างๆ เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ก็ให้ทราบว่า เพราะเสียง เพราะฉะนั้น ในบรรดาชื่อทั้งหลาย เป็นต้น ซึ่งทุกคนติดกันมาก ในชื่อของสมมติต่างๆ บัญญัติ คือ ชื่อ ซึ่งเรียกสิ่งที่สมมติขึ้น หรือว่าสิ่งที่เป็นปรมัตถธรรมเพื่อที่จะให้เข้าใจความหมาย เพราะฉะนั้น ให้ทราบลักษณะของธรรมชนิดหนึ่ง คือ เสียง ซึ่งเป็นสัททรูป

    เสียงเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น เสียงเป็นรูปธรรม และเสียงไม่ใช่ภาษาบาลี ไม่มีคำว่า เสียง ในภาษาบาลี แต่มีคำว่า สัททะ ในภาษาบาลี เพราะฉะนั้น เสียงคือสัททรูปะ เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงซึ่งปรากฏทางหู

    อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ซึ่งเป็น ฎีกาของอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๗ มีข้อความอธิบายเรื่องปรมัตถธรรม สมมติธรรม และบัญญัติธรรม ซึ่งท่านผู้ฟังพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่า เป็นสภาพธรรมที่เป็นชีวิตประจำวัน แต่ก็มีความลึกซึ้ง ที่ควรจะได้เข้าใจโดยถูกต้อง แม้แต่เรื่องชื่อต่างๆ ซึ่งจะมีได้ก็เพราะมีเสียง

    ข้อความใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา มีว่า

    ด้วยเหตุนี้ เสียง คือ สัททรูป จึงชื่อว่านามะ (หมายความถึงชื่อ ไม่ใช่นามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้) เพราะอรรถว่า น้อมไปในอรรถทั้งหลาย

    จริงหรือไม่จริง วันหนึ่งถ้าไม่พูดเลย ก็เห็น แต่เวลาที่พูด พูดเรื่องอะไร พูดทำไม พูดเพื่อที่จะให้คนเข้าใจเรื่อง เข้าใจสิ่งที่หมายถึง เพราะฉะนั้น สัททรูป ที่ชื่อว่านามะ เพราะอรรถว่า น้อมไปในอรรถทั้งหลาย

    อยู่ด้วยกัน ๒ คน เห็นกันอย่างนี้ ถ้าไม่พูดจะไม่รู้เรื่องเลย จะไม่เข้าใจเลยว่า ต้องการอะไร และเวลาที่ต้องการจะให้คนอื่นเข้าใจ ต้องทำอย่างไร ก็ต้องใช้เสียง คือ ต้องพูด ถ้าไม่มีเสียงไม่มีทางเลยที่จะเข้าใจได้ ด้วยเหตุนี้ เสียง คือ สัททรูป จึงชื่อว่านามะ เพราะอรรถว่า น้อมไปในอรรถทั้งหลาย คือ เป็นสิ่งที่ทำให้เข้าใจอรรถ ความหมายของสภาพธรรมทั้งหลายได้

    ด้วยเหตุนี้ชื่อจึงมี ๒ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งนาม คือ ชื่อที่คล้อยตามอรรถ ๑ และนาม คือ ชื่อตามนิยม ๑ แล้วแต่ว่าใครนิยมจะใช้ภาษาอะไรให้มีความมุ่งหมายว่าอย่างไร ให้เข้าใจเรื่องราว หรือว่าชื่อหมายความถึงอรรถของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ต้องการจะให้รู้ เช่น ใช้ชื่อว่า โต๊ะ หมายความถึงอะไร ใช้ชื่อว่า เก้าอี้ หมายความว่าอะไร ใช้ชื่อคนต่างๆ ก็หมายความถึงขันธ์ ๕ ไหน ขันธ์ ๕ นี้ หรือขันธ์ ๕ โน้น เป็นต้น นั่นก็เป็นเรื่องของนาม

    นอกจากนั้นข้อความใน อภิธัมมัตถวิภาวินี ยังกล่าวถึงนาม คือ ชื่อ อีกหลายนัย นอกจากนาม คือ ชื่อ โดยนัย ๒ ก็ยังมีนามซึ่งเป็นชื่อ โดยนัย ๔ คือ ชื่อมี ๔ อย่าง ด้วยสามารถแห่ง สามัญญนาม คือ ชื่อทั่วไป ฟ้า ฝน ลม ข้าว พวกนี้เป็นชื่อทั่วไป คุณนาม คือ ชื่อตามคุณความดี เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คนอื่นจะชื่อนี้ได้ไหม ไม่ได้ เพราะไม่ประกอบด้วยคุณซึ่งเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนั้นก็มีชื่อของการกระทำต่างๆ เป็น กิริยานาม และยังมีชื่อตามใจชอบ เป็น ยถิจฉนาม

    นี่เป็นเรื่องของบัญญัติต่างๆ ที่มีโดยละเอียด ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การศึกษาธรรมไม่มีวันที่จะจบ ถ้าจะศึกษาให้จบง่ายๆ ก็ได้ คือ บอกว่า จิตมีจำนวนเท่าไร เจตสิกมีจำนวนเท่าไร รูปมีจำนวนเท่าไร เท่านั้นก็จบแล้ว รู้แล้ว แต่ว่าไม่เป็นเหตุที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นและดับไป เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมไว้มาก ซึ่งข้อความใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ปริจเฉทที่ ๗ มีข้อความว่า

    ถามว่า เพราะเหตุไร แม้พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมไว้เป็นอันมากอย่างนั้น

    แก้ว่า เพราะทรงพระประสงค์การอนุเคราะห์สัตว์ ๓ เหล่า จริงอยู่สัตว์มี ๓ เหล่าด้วยอำนาจความหลงงมงายในนาม ๑ ในรูป ๑ และในนามและรูปทั้งสองนั้น ๑ ด้วยอำนาจอินทรีย์แก่กล้า ๑ ไม่แก่กล้านัก ๑ อ่อน ๑ และด้วยอำนาจแห่งความชอบคำย่อ ๑ ชอบคำปานกลาง ๑ ชอบคำพิสดาร (คือ ละเอียด) ๑

    ท่านผู้ฟังชอบอย่างไหน ชอบคำย่อ หรือว่าชอบคำปานกลาง หรือว่าชอบคำละเอียด ในสมัยที่ยังไม่รู้ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสรู้อะไรและทรงแสดงธรรมอะไร ก็อาจจะคิดว่า ย่อๆ ก็พอ สั้นๆ ก็พอ จะได้เร็วๆ ดี แต่เมื่อศึกษาแล้วก็รู้ว่า การที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยอาศัยการบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป หลังจากที่ทรงได้รับคำพยากรณ์แล้ว พระธรรมที่ทรงแสดงย่อมเป็นประโยชน์มาก

    บางท่านในตอนแรก ก็อยากจะให้มีแต่คำที่เป็นเรื่องของสติปัฏฐานเท่านั้น คล้ายๆ กับว่าเรื่องอื่นไม่สนใจเลย อยากจะเจริญสติ อบรมเจริญปัญญา ดับกิเลสโดยรวดเร็ว แต่เป็นไปได้ไหมที่คนที่ยังติดในนามธรรม ในรูปธรรม ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในการยึดถือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า เป็นเราตลอดหมด พร้อมด้วยความยินดีพอใจอย่างยิ่งในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะมีสติและปัญญาเกิดรู้แจ้งแทงตลอดในความเกิดขึ้นและดับไปของ สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนโดยรวดเร็ว โดยที่ไม่ได้ฟังธรรมจนกระทั่งเข้าใจโดยลึกซึ้ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมได้

    หรือว่าบางท่านก็ยังเป็นผู้ที่มากไปด้วยความโกรธ ซึ่งโดยมากท่านผู้ฟังจะถามว่า ทำอย่างไรถึงจะไม่โกรธ ทำอย่างไรจึงจะหายโกรธ แม้ในวันนี้เองก็มีท่านผู้หนึ่งถามว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่โกรธ เพราะว่าท่านโกรธง่ายจริงๆ กำลังฟังธรรมอยู่ก็โกรธ มีปัจจัยที่จะโกรธโดยรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ท่านก็อยากที่จะไม่โกรธ เป็นความอยากชนิดหนึ่ง คือ อยากที่จะไม่โกรธ แต่กิเลสอื่นไม่สนใจเลย โลภะเกิดไม่เป็นไร เพราะไม่ได้ถามว่า ทำอย่างไรโลภะจึงจะไม่เกิด แสดงว่าเวลาที่กิเลสอื่นเกิดไม่เดือดร้อน แต่ว่าเดือดร้อนเวลาที่โทสะเกิด จึงอยากจะดับแต่โทสะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ใครก็ตามยังมากด้วยความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ยังมากไปด้วยความโกรธเวลาที่กระทบกระทั่งกับอารมณ์ต่างๆ ซึ่งไม่น่าพอใจ ยังมีมัจฉริยะ ความตระหนี่ ยังมีความริษยา ยังมีมานะ ความสำคัญตนอย่างมาก และจะให้สติเกิดได้เนืองๆ บ่อยๆ ให้ปัญญาคมกล้าประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเป็นสภาพที่ลึกซึ้ง โดยที่จะไม่อาศัยการฟังธรรมอื่นๆ ประกอบ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพื่อที่จะเกื้อกูลบุคคลที่ต่างกันเป็น ๓ เหล่า ซึ่งข้อความใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา มีว่า

    บรรดาสัตว์ ๓ จำพวกเหล่านั้น สัตว์ผู้งมงายในนาม จะรู้เข้าใจขันธ์ได้ เพราะแจกนามไว้ ๔ อย่างในขันธ์นั้น

    สัตว์ผู้งมงายในรูป จะรู้เข้าใจอายตนะได้ เพราะแจกรูปไว้ ๑๐ อย่าง กับอีกครึ่งอายตนะ (เพราะธัมมายตนะมีทั้งนามธรรมและรูปธรรม)

    สัตว์ผู้งมงายในนามและรูปทั้งสอง จะรู้เข้าใจธาตุได้ เพราะแจกนามและรูปทั้งสองไว้ในจำพวกธาตุนั้นโดยพิสดาร

    ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่งมงายในนามเท่านั้น หรือว่างมงายในรูปเท่านั้น หรือว่า งมงายอยู่ทั้งในรูปและนาม ถ้างมงายอยู่ทั้งในรูปและนาม ก็จะต้องอาศัยการฟังธรรมโดยประการต่างๆ ที่จะให้เกิดกุศลประการต่างๆ เพื่อที่จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้

    ตามความเป็นจริง ในขณะนี้มีทั้งปรมัตถสัจจะและสมมติสัจจะ ถ้ายังไม่เข้าใจลักษณะที่ต่างกันโดยละเอียด โดยลึกซึ้ง โดยชัดเจน สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมได้ไหม เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจก่อน อย่าเพิ่งปฏิบัติทันทีโดยที่ไม่มีความเข้าใจในลักษณะของปรมัตถธรรม

    . ที่ว่างมงายในรูป งมงายในนาม งมงายทั้งในรูปและนาม เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เวลานี้เราเป็นผู้งมงายรูป หรืองมงายนาม

    สุ. รู้ลักษณะของรูปหรือเปล่า รู้ลักษณะของนามหรือเปล่า

    . ก็รู้อยู่

    สุ. เห็นอะไร นี่วิธีพิสูจน์

    . ถ้าหลงลืมสติเมื่อไร ก็เห็นเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ทุกที

    สุ. เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า ขณะใดเป็นสมมติ ขณะใดเป็นปรมัตถ์ เพื่อที่สติจะได้ระลึกตรงลักษณะของปรมัตถธรรม

    . ในครั้งพุทธกาล เรื่องนี้จะต้องอาศัยอาจารย์ซึ่งเขาจะรู้นิสัยจริตของบุคคลนั้นว่า เป็นจริตชนิดไหน นิสัยของคนนั้นหลงยึดถือรูปมาก หรือนามมาก สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะต้องพึ่งพาอาศัยอาจารย์

    สุ. สมัยนี้ไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้น ต้องพึ่งตัวเอง

    . ขณะใดที่หลงลืมสติ ก็เห็นเป็นช้อน เป็นถ้วย เป็นจาน แต่ว่าขณะที่มีสติ จะเห็นว่าเป็นรูปารมณ์ เป็นสิ่งที่ปรากฏได้ทางตา แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏได้ทางตานี้ ปรากฏไม่ใช่รูปารมณ์ แต่ปรากฏเป็นช้อน เป็นส้อม ทั้งๆ ที่สติเกิดขึ้น เห็นก็รู้ว่า นั่นเป็นช้อน นั่นเป็นส้อม เมื่อสติเกิดขึ้น รูปารมณ์ที่ปรากฏ ยังรู้ไม่ชัด จะพิจารณาอย่างไร

    สุ. ระลึกบ่อยๆ เนืองๆ หนทางเดียว ท่านผู้ฟังไม่ต้องการเหตุเลย ต้องการแต่ผลว่า ทำอย่างไรจึงจะรู้ เมื่อบอกว่า ให้ระลึกบ่อยๆ เนืองๆ รู้สึกว่า ไม่ต้องการ ใช่ไหม

    . ไม่ใช่อย่างนั้น ก็ระลึกมามากแล้ว

    สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ต้องการจะระลึกต่อไป เพราะว่ามากแล้ว เหมือนกับเวลาตกน้ำ ต้องการว่ายเป็นทันที ไม่ต้องหัด

    . เรื่องตกน้ำว่ายเป็นทันที ก็มี มีตัวอย่าง

    สุ. เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แม้แต่เพียงฟังคาถาสั้นๆ ก็ยังประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน เช่น ท่านพระสารีบุตร และ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ เป็นต้น หรือบางท่านก็สามารถที่จะเป็นถึงพระอรหันต์ได้โดยรวดเร็ว เป็นเอตทัคคะในการรู้แจ้งโดยพลัน เช่น ท่าน พระพาหิยทารุจีริยะ แต่ไม่ได้หมายความว่า โดยไม่มีเหตุที่สะสมมา

    เพราะฉะนั้น อยากจะรู้ แต่เบื่อตอนที่จะต้องระลึกบ่อยๆ เนืองๆ และไม่รู้สักที เมื่อยังไม่รู้ ก็ยังไม่รู้ จะให้ขณะที่ยังไม่รู้เป็นความรู้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ต้องอดทน วิริยะอยู่ที่ไหน พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญวิริยารัมภกถา คำพูดที่จะให้เกิดวิริยะ ความเพียร ไม่ใช่ให้ไปเพียรทำอย่างอื่น แต่เพียรระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏที่ยังไม่รู้ ให้ค่อยๆ รู้ขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ ได้

    ถ้าไม่อาศัยการค่อยๆ ระลึก ค่อยๆ รู้ และจะประจักษ์แจ้ง ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น การประจักษ์แจ้งต้องมาจากเหตุ คือ การอดทนที่จะระลึกศึกษารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏไปเรื่อยๆ จนกว่าความรู้จะเกิดขึ้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๐๑๑ – ๑๐๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564