แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 978


    ครั้งที่ ๙๗๘

    สาระสำคัญ

    อบรมเจริญสติรู้ลักษณะของสภาพธรรม อรรถกถา พิจารณาถึงธาตุทั้ง ๔ ที่ร่างกาย พุทธโฆษนิทาน


    กลิ่นดิบที่จะหมดไปได้ ต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และรู้ลักษณะของกิเลสอย่างละเอียดที่แต่ละท่านสะสมมาซึ่งจะเกิดขึ้น ตามความเป็นจริง

    ท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านได้ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ท่านบอกว่า ท่านทำงานมาก เหนื่อยเหลือเกิน เครียด เพราะฉะนั้น อยากจะทำสมาธิให้สบายๆ

    ท่านก็จะเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการจะทำสมาธิให้สบายๆ เพราะเวลาเครียดทีไร หรือเหน็ดเหนื่อยทีไร ท่านก็นึกถึงแต่จะทำสมาธิให้ร่างกายสบายๆ ซึ่งนั่นไม่ได้ละกิเลสอะไร เป็นความต้องการ และท่านก็ทำบ่อยๆ ยิ่งทำบ่อยก็จะยิ่งชำนาญ โดยหลงลืมสติ ไม่เห็นว่าการอบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นลักษณะใดทั้งสิ้น เป็นประโยชน์ที่สุด เพราะสงบจากความต้องการ ไม่ใช่เพื่อพักผ่อนให้ร่างกายสบายๆ ซึ่งขณะนั้นเป็นตัวตน เป็นร่างกาย เป็นเราที่ต้องการสบาย

    เพราะฉะนั้น กว่าปัญญาจะเกิดจริงๆ กว่าสติปัฏฐานจะระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่ว่าร่างกายจะสบายหรือไม่สบาย เหมือนกับบางท่านที่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องเลือด เนื้อ กระดูก จะเหือดแห้งไป ก็จะอบรมเจริญความเพียร แต่เมื่อเหน็ดเหนื่อย ก็อยากจะให้ร่างกายสบาย ก็ไม่ตรงกับที่ว่า สติสามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่กำลังปรากฏ นั่นประเสริฐที่สุด

    กลิ่นดิบมีมาก และคงจะเหม็นขึ้นทุกวันๆ ถ้าไม่ได้ขัดเกลาให้ละคลายลงไป และรอได้ไหม ซึ่งทุกคนถ้ารอไป กลิ่นดิบก็ยิ่งจะเพิ่มขึ้น ยากแก่การที่จะดับ ยากแก่การที่จะละ และในโลกนี้ ก็มีสิ่งที่จะเตือนให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยเป็นผู้ที่ไม่ประมาท เมื่อเห็นความชรา ความเจ็บ หรือความตาย

    สำหรับวัยที่ชรา จะต้องถึงแน่นอนวันหนึ่ง ถ้าท่านผู้ใดมองเห็นบุคคลที่ชรามาก งกเงิ่น ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่สามารถที่จะยืนเดินได้ตามปกติ เป็นผู้ที่หลงลืม เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะถึงเวลานั้น ถ้าทุกท่านมีอายุยืนจนกระทั่งถึงเวลานั้น และก็ไม่อบรมเจริญ สติปัฏฐาน ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่หลงลืมสติอย่างมาก เพราะฉะนั้น จะรอไหม ให้ถึงวัยนั้นก่อน ก็ไม่สมควรเลยที่จะรอ ยิ่งเป็นเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีใครรู้เลยว่า วันไหนอะไรจะเกิดอะไรขึ้น เพราะมหาภูตรูป ๔ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็เหมือนกับ งูพิษ ๔ ตัว ตราบใดที่ยังไม่ขบกัด เมื่อนั้นก็จะคงอยู่ไป กินไป บำรุงรักษาไป

    ทุกท่านต้องทะนุถนอมงูพิษ ๔ ตัว ตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ ด้วยการชำระล้างขัด สิ่งสกปรกออกไป บำรุงด้วยอาหารต่างๆ และยังต้องให้พักผ่อน ให้งูทั้ง ๔ มีเรี่ยวแรง มีกำลัง แต่เวลาที่เกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น เมื่อนั้นจะรู้ว่า ที่มีการเจ็บไข้ได้ป่วยเพราะมีมหาภูตรูปทั้ง ๔ ถ้าไม่มีมหาภูตรูปทั้ง ๔ ความชราจะอาศัยรูปอะไร โรคภัยต่างๆ จะอาศัยรูปอะไรเกิดขึ้น ก็มีไม่ได้ และเรื่องของโรคภัยต่างๆ ไม่มีใครรู้เลยว่าวันไหนจะเกิดขึ้น เพราะมีโรคร้ายแรงที่ไม่มีใครคาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ หรือแม้แต่ส่วนต่างๆ ของร่างกายซึ่งยังควบคุมประชุมรวมกันอย่างดีในวันนี้ วันรุ่งขึ้นอาจจะกระจัดกระจายขาดหายไปส่วนหนึ่งส่วนใดก็ได้

    ถ้าจะพิจารณาถึงธาตุทั้ง ๔ ที่ร่างกาย ข้อความใน อรรถกถา แสดงว่า

    ถ้าธาตุดินเสีย ร่างกายนี้ก็จะแข็งทื่อ

    บางส่วนอาจจะเป็นอย่างนั้น ทำให้เคลื่อนไหวลุกนั่งลำบาก นั่นเป็นเพราะ ปฐวีธาตุเสีย

    ถ้าเตโชธาตุเสีย ก็จะทำให้ร่างกายร้อนระอุ

    เวลาที่เป็นไข้ ตัวร้อน นั่นเป็นเรื่องของธาตุไฟ

    ถ้าธาตุน้ำ คือ อาโปธาตุเสีย จะทำให้เป็นแผลเน่าต่างๆ ถึงกับต้องตัดเนื้อออกไป

    นั่นเป็นเรื่องของธาตุน้ำเสีย

    และถ้าธาตุลมเสีย ส่วนต่างๆ ก็จะหลุดออกไปได้

    เพราะเท่าที่ส่วนต่างๆ ยังปกติดี ควบคุมประชุมทรงอยู่เป็นรูปสัณฐานตามเดิม ก็เพราะธาตุลมเป็นธาตุที่พัดให้สิ่งนั้นคงอยู่ในลักษณะนั้น ไม่ให้หลุดขาดกระจายออกไป

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรที่จะรอ ไม่ว่าจะเป็นวัยชรา หรือความเจ็บ หรือความตาย ซึ่งความตายก็ไม่แน่ ซึ่งในอรรถกถาอุปมาว่า

    ผลไม้ที่อยู่บนต้นไม่แน่เสมอไปว่า ผลที่สุกงอมเท่านั้นที่จะร่วงหล่น แม้แต่ผลอ่อนๆ ก็ยังสามารถที่จะตกได้

    เพราะฉะนั้น ทุกวัยสามารถที่จะถึงมรณะ หรือความตาย ในวันหนึ่งวันใดก็ได้

    ทุกคนมีกิเลสเป็นเหตุให้กระทำกรรม และกรรมจะเป็นปัจจัยให้วิบาก คือ ปฏิสนธิ เกิดขึ้นต่อจากจุติ แล้วแต่ว่าจะปฏิสนธิในภูมิไหน ถ้าไม่ใช่ในสุคติภูมิ ไม่ใช่ในภูมิมนุษย์ เป็นต้น ก็ไม่สามารถที่จะอบรมเจริญกุศลถึงการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แม้ว่าจะมีสัตว์เดรัจฉานได้ยินเสียงแสดงธรรม เป็นข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจและอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    เวลานี้ ภูมิอื่น มองไม่เห็น แต่อบายภูมิภูมิหนึ่งซึ่งเห็นได้ และก็มีมากกว่ามนุษย์ในโลกนี้ คือ สัตว์เดรัจฉาน ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิในภูมินั้น

    ในพุทธโฆษนิทาน มีเรื่องที่กล่าวถึงในสมัยพุทธโฆษาจารย์ไว้ ซึ่งเป็นข้อความที่ท่านผู้ฟังไม่ต้องคิดมาก เพียงแต่ฟัง จะได้ทราบว่า มีเรื่องอะไรในพุทธโฆษนิทานที่เป็นคติ

    เมื่อพระพุทธโฆษาจารย์แปลคัมภีร์อรรถกถาจากภาษาสิงหลเป็นภาษามคธ จบแล้ว ภิกษุชาวเมืองลังกาที่ชำนาญในคัมภีร์สันสกฤตนั้น ได้กล่าวหมิ่นนินทาท่านว่า ท่านพระพุทธโฆษาจารย์แปลได้ แต่ว่าเทศนาภาษาสิงหลหรือภาษาสันสกฤตไม่ได้

    เมื่อท่านได้ทราบอย่างนี้ ท่านก็ได้ไปทูลพระสังฆราชว่า วันรุ่งขึ้น ๑๕ ค่ำ จะเทศนาคัมภีร์สันสกฤตให้บริษัททั้งปวงฟัง ซึ่งชาวลังกาทั้งหลายก็ได้ป่าวร้องให้บริษัททั้งหลายไปฟัง มีแม่สุนัขตัวหนึ่งพาลูกไปฟัง ซึ่งในระหว่างทางที่ไปได้ผ่านป่าช้า เห็นซากศพของหญิงคนหนึ่ง ลูกสุนัขก็อ้อนวอนแม่ว่า จะกินนัยน์ตาของซากศพนั้น แม่ก็ห้ามว่า อย่ากิน ลูกก็ถามว่า ทำไมไม่ให้กิน แม่ก็บอกว่า หญิงคนนี้นัยน์ตาชั่ว เห็นพระสงฆ์ก็เมินเสีย ไม่มีศรัทธา ลูกก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นขอกินปาก แม่ก็ห้ามว่า อย่ากิน ลูกก็ถามว่าทำไม แม่ก็บอกว่า ปากก็ชั่ว ด่าผู้เฒ่าผู้แก่ เห็นเขากระทำบุญก็ นิ่ง ไม่อนุโมทนา ลูกก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นจะกินหัวใจ แม่ก็บอกว่า ใจก็ชั่ว ไม่รู้จักพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ลูกก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นจะกินมือ แม่ก็บอกว่า อย่ากิน มือก็ชั่ว ตีพ่อตีแม่ ตีปู่ตีย่าตายาย ลูกก็บอกว่า จะกินเท้า แม่ก็บอกว่า เท้าก็ชั่ว ไม่ไปไหว้พระไหว้ภิกษุทั้งหลายในอาราม แม่สุนัขห้ามปรามลูก และก็พาลูกไปฟังพระธรรมเทศนา

    ท่านผู้ฟังไม่ต้องคิดมาก เรื่องอะไรที่เป็นคติก็รับฟัง พร้อมกันนั้นก็พยายามที่จะอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะละกลิ่นดิบของตัวเอง

    สำหรับลักษณะประการที่ ๓ ของจิต ที่ว่า ชื่อว่าจิต เพราะกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก ประโยชน์ที่รู้อย่างนี้ เพื่อให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพื่อที่จะได้เข้าใจจริงๆ ว่า กำลังเห็นเป็นวิบาก ไม่ลืม ที่สติจะระลึกและรู้จริงๆ ว่า กำลังเห็นเป็นวิบาก กำลังได้ยินเป็นวิบาก กำลังได้กลิ่นเป็นวิบาก กำลังลิ้มรสเป็นวิบาก กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นวิบาก

    แต่ขณะที่เกิดต้องการ ยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น ไม่ใช่วิบากจิต ขณะนั้นเป็นกิเลส

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ ในขณะที่เข้าใจเรื่องของกิเลส กรรม และวิบากว่า ไม่ใช่ขณะอื่น เมื่อเข้าใจแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้สติระลึกเพื่อที่จะรู้ชัดในลักษณะของธรรมที่ได้ยินได้ฟังว่า เป็นวิบากอย่างไร

    เวลาที่เสียงเกิดขึ้น ก่อนนั้นไม่เคยรู้เลยว่า เสียงนั้นจะเกิด จะปรากฏ แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยให้ได้ยินเสียงหนึ่งเสียงใด รู้ว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เมื่อพร้อมด้วยปัจจัยที่จะให้ได้ยินเสียงใดเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นวิบากจิตที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ซึ่งจะรู้ชัดยิ่งขึ้นเวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    ลักษณะประการที่ ๓ ของจิต ที่ว่า ชื่อว่าจิต เพราะกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก

    มีคำว่า กิเลส มีคำว่า กรรม และมีคำว่า วิบาก ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยแต่ละอย่าง แต่ละประเภท

    กิเลส เป็นสภาพธรรมที่ไม่บริสุทธิ์ เศร้าหมอง เศร้าหมองในที่นี้หมายความถึง ความไม่ผ่องแผ้ว ไม่บริสุทธิ์ เช่น เวลาที่เกิดความยินดี ความพอใจ ความปรารถนา ความต้องการเกิดขึ้น ในขณะนั้น สบายหรือไม่สบาย กำลังอยากได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด สบายหรือไม่สบาย ถ้าไม่อยากได้ ไม่เกิดโลภะ จะสบายกว่านั้นอีก ใช่ไหม ไม่ต้องปรารถนา ไม่ต้องต้องการ ไม่ต้องพอใจ ไม่ต้องติด ไม่ต้องอยากได้ แต่เวลาที่กำลังอยากได้ กำลังพอใจ อวิชชาไม่สามารถที่จะเห็นได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพที่เศร้าหมอง ไม่บริสุทธิ์ ไม่สบาย เดือดร้อนแล้วเพราะความพอใจ

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเกิดความพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ให้ทราบว่า เป็นความติด เป็นความเศร้าหมอง เป็นความเดือดร้อน ซึ่งอวิชชาไม่สามารถจะรู้ได้ บางท่านเข้าใจว่าเป็นศรัทธา ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ปัญญาไม่พิจารณา จะไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ หรือว่าเป็นศรัทธา

    ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าของบรรพชิตหรือของฆราวาส ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยเจ้า จะพ้นไปจากโลภะได้ไหม ครอบครองอยู่เสมอ ไม่ว่าสิ่งใดจะปรากฏ ลืมตาเห็นเกิดขึ้น พอใจแล้ว ต้องการแล้ว ตราบใดที่ความรู้สึกยังไม่ปรากฏว่า เป็นความไม่แช่มชื่น หรือเดือดร้อนกระสับกระส่าย ขณะนั้นเป็นลักษณะอาการของความติดหรือความพอใจในสิ่งที่ปรากฏ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สำหรับของคฤหัสถ์ ฉันใด บรรพชิตที่ยังเป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ฉันนั้น จะต่างกันไหม

    เพราะฉะนั้น แต่ละชีวิตจะต้องมีปัญญาที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะมีความพอใจในชีวิตแบบใด จะต้องพิจารณาตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นไปด้วยศรัทธาจริงๆ หรือว่าเป็นไปด้วยโลภะ ความชอบ ความพอใจในชีวิตอย่างนั้น

    การที่จะเป็นผู้ที่เจริญในธรรมวินัยได้ต้องเป็นผู้ที่ตรง และลักษณะที่ตรงนั้น เป็นลักษณะของปัญญา พร้อมการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติ ตามการสะสม ตามเหตุปัจจัยจริงๆ

    ผู้ที่ยังเป็นปุถุชน มีทั้งธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลและอกุศลที่สั่งสมมามากมายเหลือเกิน เวลานี้สภาพธรรมใดยังไม่เกิดขึ้นปรากฏให้เห็น ให้รู้ว่าสะสมมา ก็อาจจะคิดว่าไม่มี หรือคิดว่าหมดไปแล้ว แต่ว่าตามความเป็นจริง ถ้ามีปัจจัยพร้อมที่จะปรุงแต่งให้เกิดขึ้นขณะใด ก็เกิดขึ้นปรากฏให้เห็นตามความเป็นจริงว่ายังมีอยู่ แม้อกุศลอย่างนั้นๆ หรือกุศลนั้นๆ ที่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้น จะต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เมื่อมีการเกิดขึ้นของกุศลและอกุศล ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นการสะสมเปล่าๆ แต่ว่า ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก

    กิเลสที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ถ้ามีมากๆ จะปรากฏเป็นทุจริตกรรมทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ถ้าไม่มีกิเลสต่างๆ เหล่านั้น อกุศลกรรมทางกาย ทางวาจาก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย และเมื่อกรรมได้กระทำไปแล้ว ถึงแม้ว่ากรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันกระทำกรรมนั้นสำเร็จลงไปแล้ว ดับไปแล้วก็จริง แต่ว่าการเกิดดับสืบต่อๆ กันของจิตทุกๆ ขณะต่อไป เจตนาที่กระทำ กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่สะสมอยู่นั้นเป็นกัมมปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่จะทำให้ผล คือ วิบาก เกิดขึ้น

    แต่ละขณะนี้มีปัจจัยจริงๆ ที่กำลังเรียนเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป ให้ทราบว่า มีปัจจัยอยู่ด้วยทุกขณะ ไม่ใช่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเอง แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่อาศัยปัจจัยหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น กำลังเห็นขณะนี้ ไม่ใช่กิเลส เพียงเห็น แต่เมื่อจิตนั้นดับไปแล้ว ความพอใจซึ่งเป็นโลภะก็เกิด หรือความไม่พอใจซึ่งเป็นโทสะก็เกิด หรือว่าผู้ที่สะสมกุศลมามาก กุศลก็เกิด หรือว่าผู้ที่สะสมสติปัฏฐานอยู่เสมอ สติก็ระลึก รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อมีความยินดีพอใจสะสมสืบต่อ กระทำกรรมแล้ว กรรมนั้นดับไปแล้ว แต่ว่าเป็นปัจจัยให้เกิดวิปากจิตและเจตสิก ในขณะที่เห็น ในขณะ ที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า ขณะใดเป็นกิเลส ขณะใดเป็นกรรม ขณะใดเป็นวิบาก

    กำลังเห็น เลือกไม่ได้ ทุกคนอยากจะเห็นสิ่งที่น่าพอใจ เท่าไรก็ไม่พอ เห็นแล้วก็อยากจะเห็นอีกทุกวันไป แต่ว่าเลือกไม่ได้ แล้วแต่ว่าจะเห็นสิ่งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ แม้ว่าทุกคนจะมีจักขุปสาทที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏกับจักขุวิญญาณโดยกระทบกับจักขุปสาท แล้วแต่กัมมปัจจัยจะเป็นปัจจัยให้เกิดการเห็นสิ่งที่ดี เป็นผลของกุศลกรรม หรือเห็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นผลของอกุศลกรรม

    การได้ยินเสียงก็เหมือนกัน ได้ยินเสียงที่ดี เป็นผลของกุศลกรรม ได้ยินเสียงที่ไม่ดี เป็นผลของอกุศลกรรม สภาพที่เป็นผลของกรรมชื่อว่า วิปากะ หรือภาษาไทยใช้คำว่า วิบาก เป็นผลของกรรม แล้วแต่ว่าใครจะมีกุศลวิบากมาก หรือว่าอกุศลวิบากมาก ขณะต่อไปทราบไหมว่า จะได้ยินเสียงอะไร ก็แล้วแต่กรรมเป็นปัจจัย

    เพราะฉะนั้น กรรมนั้นเองเป็นปัจจัย โดยเป็นกรรม จึงเป็นกัมมปัจจัย

    และปัจจัยทั้งหมดก็มีเพียง ๒๔ ปัจจัย ถ้าจะค่อยๆ ศึกษาไป พร้อมทั้งสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็จะยิ่งเข้าใจชัดในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่มีจริงซึ่งควรรู้ และต้องรู้ ปัญญาจึงจะเจริญขึ้นถึงความแก่กล้าที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้

    แต่ถ้ายังไม่รู้ ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้ และความรู้ ก็ค่อยๆ รู้ขึ้นๆ อย่าพอใจว่ารู้แล้ว เพราะไม่แล้วเลย ถ้าแล้วก็คือพระอรหันต์ แต่ว่าผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ก็จะ รู้ขึ้นๆ ตั้งแต่ขั้นการฟัง ขั้นเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง ขั้นที่สติระลึกรู้ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง และขั้นที่ปัญญาน้อมพิจารณา ที่ค่อยๆ เข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๙๗๑ – ๙๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564