แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1011


    ครั้งที่ ๑๐๑๑

    สาระสำคัญ

    ชาตินี้เป็นอดีตของชาติหน้า จุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีล ความวิจิตรของจิตต่างกันไปตามสัมปยุตตธรรม สังขารมีหลายนัย


    . เพื่อนของผมโทรศัพท์มาถามว่า ถ้าเราทำสมถะก็ดี ทำสติปัฏฐานก็ดี เมื่อเราจุติจากโลกนี้แล้ว ความทรงจำในโลกใหม่ยังมีไหม ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า ถ้าจำไม่ได้ การเจริญสมถะก็ดี การเจริญสติปัฏฐานก็ดี ประโยชน์อะไรจะเกิดขึ้น ในเมื่อจำชาติก่อนไม่ได้ และก็ไม่รู้ว่า ตัวตนของเราเป็นอย่างไร ทำบาปทำกรรมอะไรมาก็ไม่รู้

    สุ. จำเป็นต้องจำได้หรือ

    . คนที่ตั้งปัญหาเขาบอกว่า เมื่อไม่รู้ การเจริญต่างๆ จะมีผลหรือ

    สุ. ชาตินี้ที่เขาจะทำกุศล จำเป็นหรือที่เขาจะต้องจำชาติก่อนได้ กุศลทั้งหลายที่เขาจะกระทำ หรือได้กระทำ หรือกระทำในชาตินี้ จำเป็นหรือที่เขาจะต้องจำชาติก่อนว่า เขาเป็นใคร อยู่ที่ไหนได้ ฉันใด ชาติหน้าก็เหมือนกับชาตินี้ เพราะว่าชาตินี้จะเป็นอดีตของชาติหน้า เหมือนกับชาติก่อนก็เป็นอดีตของชาตินี้ เมื่อชาตินี้ยังจำชาติก่อนไม่ได้ แต่ยังทำกุศลได้ เจริญกุศลได้ เจริญสติปัฏฐานได้ แม้ในชาตินี้ซึ่งจำชาติก่อนไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จำเป็นหรือที่จะต้องจำชาติก่อนได้

    . คืออยากจะรู้ว่า เมื่อจำชาติก่อนไม่ได้ เมื่อไปอยู่ในชาติใหม่ …

    สุ. ชาตินี้ก็เป็นชาติใหม่ของชาติก่อน กำลังเป็นอยู่แล้วตามปกติอย่างนี้เอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องจำชาติก่อนได้ สงสัยอะไร ในเมื่อชาตินี้กำลังอยู่อย่างนี้ ซึ่งชาตินี้ก็เป็นอนาคตของชาติก่อน และก็จำชาติก่อนไม่ได้ แต่ชาตินี้ก็เป็นอย่างนี้ คือ มีทั้งกุศลอกุศลเกิดได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปจำชาติก่อนจึงจะเกิดกุศลจิต หรือถ้าจะเจริญ ฌานจิตในชาตินี้ก็เจริญได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องไปจำชาติก่อนว่าเคยเจริญหรือเปล่า

    . ที่เขาถาม ตามความเข้าใจของผมคือว่า ภพใหม่ที่ไปเกิดนี้ เมื่อไม่รู้ผลของชาตินี้แล้ว เขาก็ไม่รู้ว่า ที่เขาไปเกิดเพราะอะไร จะตกนรก หรือไปเป็นเทวดา หรือไปพรหมภูมิก็ตาม เมื่อไม่รู้ที่มาอย่างนี้ การทำสมถะหรือเจริญสติปัฏฐานก็ไม่มีผลอะไร

    สุ. เพราะฉะนั้น ขอให้คิดถึงชาตินี้ ซึ่งก็คือชาติหน้าของชาติก่อน และเขาก็เกิดมาแล้วเป็นอย่างนี้ ถ้าเขาจะเจริญสมถะ เขาก็เจริญได้ จะเจริญสติปัฏฐาน ก็เจริญได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปจำอะไรที่เกี่ยวกับชาติก่อน ชาตินี้ก็เห็นกันอยู่ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจำชาติก่อนได้ ทำไมจะห่วงชาติหน้า ชาติหน้าก็เหมือนชาตินี้

    . ที่เขาห่วงเพราะอยากจะรู้ว่า ...

    สุ. อยากจะรู้ โดยที่รู้ไม่ได้ ก็ยังอยาก ถ้ารู้ได้ ชาตินี้เขาก็รู้ชาติก่อนได้

    . น่าคิดเหมือนกันที่ว่า เมื่อไปเกิดในภูมินั้นแล้ว เขาก็อยากจะรู้เหตุผลเหมือนกัน สมมติว่าไปตกนรก ทำบาปอะไรมา รู้บ้างหรือเปล่าเหตุที่ทำให้ไปสู่อบาย

    สุ. เวลาที่ถึงชาตินั้นก็จะรู้เอง ถ้ายังไม่ถึง ก็ไม่ถึง ก็ไม่รู้ ก็ยังสงสัย ใครจะบอกอย่างไรก็ไม่เชื่อ

    . ขอประทานอภัย การศึกษาเมื่อมีข้อสงสัยอะไรก็ต้องถาม

    สุ. เพราะฉะนั้น คำถามของท่านควรที่จะได้พิจารณาว่า พอใจคำตอบอย่างไร เพราะว่าถึงจะตอบอย่างไรๆ ก็ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่หมดความสงสัย นอกจากจะพิจารณาด้วยตัวเอง เช่น ในชาตินี้จำชาติก่อนได้ไหม ชาติก่อนต้องมีแน่ ทั้งๆ ที่จำชาติก่อนไม่ได้ ก็ยังเจริญกุศลได้ จะเจริญสมถภาวนาก็ได้ หรือว่าจะเจริญสติปัฏฐานก็ได้ โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องจำชาติก่อนได้ ฉันใด เมื่อเกิดชาติหน้า แม้จะจำชาตินี้ไม่ได้เลย ก็ยังสามารถที่จะอบรมเจริญกุศลได้ทั้งสมถะและวิปัสสนาใน สุคติภูมิ

    ใครจำชาติก่อนนี้ได้บ้าง

    ท่านผู้ฟังไม่สามารถที่จะระลึกถึงชาติก่อนได้ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านจุติจากชาตินี้แล้วเกิดใหม่ในภูมิซึ่งจำไม่ได้ ก็ชาตินี้ ถ้าท่านผู้ฟังทราบว่า ปัจจุบันชาติกำลังจะเป็นชาติอดีตของชาติหน้า ซึ่งท่านผู้ฟังอยากนึกออกเหลือเกินใช่ไหมว่า ชาติก่อนเราทำอะไรบ้าง ทำบุญกุศลที่ไหน อย่างไร กี่ครั้ง เกิดเป็นใคร ที่ไหน อย่างไร เพราะฉะนั้น ชาตินี้ที่กำลังเป็นอยู่นี้ชัดเจน ซึ่งชาติหน้าไม่มีวันจะจำได้หมด ชาติหน้าจะนึกถึงชาตินี้แต่ละวันๆ นึกอย่างไรก็นึกไม่ได้ ใช่ไหม แต่ชาตินี้ซึ่งกำลังเป็นของจริง ปรากฏทุกวัน แต่ละวันๆ ท่านผู้ฟังทราบดีว่า ท่านมีอกุศลจิตอะไรบ้าง ท่านทำอกุศลกรรมอะไรบ้าง และท่านมีกุศลจิตอะไรบ้าง ทำกุศลกรรมอะไรบ้างในชาตินี้ ไม่มีใครรู้ดียิ่งกว่า ตัวท่าน แจ่มแจ้งชัดเจนเหลือเกินสำหรับปัจจุบันชาติซึ่งจะเป็นอดีตของชาติหน้า ที่ชาติหน้าจะจำไม่ได้เลย แต่ชาตินี้จำได้หมด ชัดเจน พอใจหรือยัง ถ้าอยากจะรู้อดีตชาติ ก็คือชาตินี้เอง เป็นอดีตชาติของชาติหน้าซึ่งแสนที่จะชัดเจนว่า ใครทำกรรมอะไรบ้าง ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม ไม่ต้องไปนั่งทำสมถภาวนาที่จะย้อนระลึกชาติ เพราะว่าชาตินี้ก็ชัดเจนอยู่แล้ว และกำลังเป็นอดีตชาติของชาติหน้าด้วย

    ในปัจจุบันชาติท่านจะรู้ดีชั่วทุกประการที่เกิดขึ้น รู้ว่าเกิดเป็นใคร มีวงศาคณาญาติ มีลาภ มียศ มีสุข มีสรรเสริญ มีทุกข์อย่างไร และมีกุศล อกุศลอะไร โดยไม่ต้องอาศัยคนอื่นบอก

    . เรื่องของศีล ในอุโบสถศีลข้อที่ ๗ ห้ามร้องรำทำเพลง ขับร้องประโคมดนตรี ห้ามแต่งตัวด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องแต่งตัวทั้งหลาย พยัญชนะว่าอย่างนั้น แต่เมื่อปฏิบัติไปแล้วเกิดความสงสัย คือ ๒ – ๓ วันพระก่อน ผมได้สมาทานอุโบสถศีล และบ่ายนั้น ผมกำลังฟังรายการธรรมอยู่ เมื่อจบรายการแล้ว เขามีเพลงคั่น ขณะที่เสียงเพลงดังขึ้น ผมหลงลืมสติ ในขณะนั้นก็เอานิ้วเคาะไปที่ท้าวแขนของเก้าอี้ เคาะไปตามจังหวะโดยไม่มีเสียง แต่จิตในขณะนั้นก็ไปตามจังหวะของเพลง เรียนถามอาจารย์ว่า ขณะนั้นศีลข้อที่ ๗ ขาดหรือยัง

    สุ. ความจริงแล้วจุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีล ก็เพื่อขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้นจากศีล ๕ ไม่ใช่ว่าเพื่อต้องการอะไรจากการที่รักษาอุโบสถศีล เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรักษาอุโบสถควรจะทราบจุดประสงค์จริงๆ ว่า เพราะเหตุใดจึงรักษาอุโบสถศีล เมื่อทราบจุดประสงค์จริงๆ แล้ว ใจที่ต้องการจะห่างจากวัตถุกาม เป็นเหตุทำให้ละการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ทำให้ละการประดับประดาตกแต่งร่างกายและการขับร้องฟ้อนรำต่างๆ และทำให้ละการนอนที่นอนสูงใหญ่ นั่นเป็นเพราะเข้าใจในจุดประสงค์จริงๆ ต้องการเพื่อที่จะอบรมอัธยาศัยที่จะห่างจากวัตถุกามทั้งหลาย ไม่ใช่เหตุอื่น

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีจิตมั่นคงที่จะห่างจากวัตถุกาม แม้ในชั่วคืนหนึ่งหรือวันหนึ่ง ด้วยจิตนั้นเองย่อมทำให้น้อมไปสู่กุศลเท่าที่สามารถจะเกิดได้ ตามความรู้ความเข้าใจ เช่น ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็จะมีการสนใจฝักใฝ่ในการฟังธรรม ในการสนทนาธรรม ในการตรึกถึงธรรม ในการพิจารณาธรรม

    ท่านผู้ฟังบอกว่า ในขณะนั้นท่านฟังธรรมทางวิทยุอยู่และก็มีเพลงคั่น ซึ่งความจริงแล้วขณะนั้นหลงลืมสติ จึงเป็นปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดยินดีในเสียงเพลง ในขณะนั้นเกิดความยินดีในเสียงเพลง จะกล่าวว่าไม่ยินดี ได้ไหม

    กายไหวไปแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่มีเสียงออกมา แต่กายก็ไหวไปแล้วด้วยความยินดีพอใจในเสียงเพลง เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องคิดว่า ครบหรือไม่ครบอย่างไร จะขาด หรือไม่ขาดอย่างไร แต่ควรจะคิดถึงจุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีล ซึ่งจะทำให้มีปัจจัยให้กุศลจิตเกิด และไม่เผลอถึงกับทำให้กายไหวไปอย่างนั้นได้ แต่เมื่อไหวไปแล้ว ก็ช่วยไม่ได้ เป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ถ้าขาดก็ขาดไปแล้ว ถ้าแหว่งๆ เว้าๆ ก็แหว่งๆ เว้าๆ ไปแล้ว ทะลุด่างอะไร ก็ไปแล้วทั้งนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวังต่อไป ด้วยการเข้าใจจุดประสงค์ยิ่งขึ้น

    . อีกเรื่องหนึ่ง เรื่องของการแต่งตัว คนสมัยนี้จะสมาทานอุโบสถศีล หรือไม่สมาทานอุโบสถศีลก็ดี นาฬิกาข้อมือส่วนใหญ่มีกันทุกคน ไม่ได้สมาทานอุโบสถศีล นาฬิกาเขาก็ใส่ ซึ่งการใส่นาฬิกาก็มีจุดประสงค์ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือใช้ดูเวลา อีกอย่างหนึ่งใส่เพื่อประดับก็มี นาฬิกาข้อมือเวลานี้เรือนหนึ่งเป็นแสน หลายแสนก็มี เพราะฉะนั้น การใส่นาฬิกานั้นจะเป็นการผิดศีลหรือเปล่า

    สุ. ใส่อยู่กับบ้านหรือ

    . ก็ใส่ประจำ ปกติไม่ได้สมาทานอุโบสถศีลก็ใส่อยู่ และวันนั้นสมาทานอุโบสถศีลก็ไม่ได้ถอด

    สุ. ก็แล้วแต่จะพิจารณาว่า ใส่เพื่ออะไร ในขณะที่กำลังใส่ จิตเกิดดับสลับกัน อย่าลืม ไม่ใช่จิตเที่ยง เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังใส่อยู่ จิตเกิดความยินดี สำคัญในนาฬิกาที่ใส่อย่างไรหรือเปล่า หรือไม่เกิดความยินดีสำคัญในนาฬิกาเรือนแสนที่ใส่ เห็นว่าเป็นแต่เพียงสิ่งซึ่งบอกเวลาเท่านั้น

    . เท่าที่ผมสังเกต นาฬิกาที่เคยใส่อยู่แล้วเป็นประจำ ไม่ได้ใส่ใจว่า นาฬิกาเป็นแสน เป็นหมื่น ไม่ได้ใส่ใจ เคยใส่อยู่อย่างไรก็ใส่อยู่อย่างนั้น แต่ว่าวันอุโบสถนั้น สมาทานแล้วไม่ได้ถอดออก จะถือว่าผิดศีลหรือไม่

    สุ. อยากถอดไหม

    . ไม่อยากถอด

    สุ. คิดว่าควรจะถอดหรือเปล่า

    . ก็ไม่ทราบ จึงถาม

    สุ. ทุกท่านต้องพิจารณาเอง เพราะว่าใจของแต่ละคนก็ต่างกันไป บางคนอาจจะอดใจกำเริบไม่ได้ที่จะเห็นความสวยงาม และเป็นสิ่งที่ตนมีอยู่ เกิดความยึดมั่นสำคัญในสิ่งนั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องละ แต่เรื่องของศีลอุโบสถเป็นเรื่องที่ละเพิ่มขึ้นจากศีลห้า ศีลห้าละเพียงทุจริตทางกาย ทางวาจา แต่ว่าอุโบสถศีลไม่ได้เกี่ยวกับการทุจริตกับใคร หรือทำให้ใครเดือดร้อนเลย เป็นเรื่องของตัวเอง ซึ่งปกติเคยบริโภคอาหารเมื่อไรก็ได้ตามใจชอบ แต่งตัวสวยงามอย่างไรเมื่อไรก็ได้ตามใจชอบ จะทัดทรงดอกไม้ เครื่องประดับต่างๆ เมื่อไรก็ได้ตามใจชอบ แต่เมื่อเห็นว่าทำตามใจชอบแล้วกิเลสจะกำเริบ จึงรักษาอุโบสถศีลเท่าที่สามารถจะกระทำได้

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของจิตใจของแต่ละคน ทุกคนย่อมจะพิจารณาจิตใจได้ว่า ทำอย่างไรกิเลสจึงจะไม่กำเริบสมเจตนา แต่ไม่ใช่ว่าตั้งศีลขึ้นมาใหม่เองว่า ในเมื่อใจไม่กำเริบแล้วจะใส่อย่างนั้นอย่างนี้ก็ได้ ที่จริงการใส่อย่างนั้นอย่างนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความกำเริบ ซึ่งไม่สามารถที่จะรักษาอุโบสถศีลได้

    เป็นเรื่องของความตรง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะเอาบัญญัติที่ทรงแสดงไว้มาพยายามอนุโลม หรือว่าปรับเข้ากับตัวเองโดยที่คิดว่า อย่างนี้ก็คงจะใช้ได้ หรือว่าคงจะถูก

    สำหรับอุโบสถศีล ไม่มีการประดับประดาตบแต่ง เครื่องสำอางก็ใช้ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าหน้าหนาวปากก็คงจะแตก ถ้าใช้นิดหน่อยคงจะไม่เป็นไร ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะอนุโลมอะไรอย่างนั้นได้ แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนจะพิจารณาดูว่า จิตสามารถขึ้นสู่ระดับนั้นได้หรือไม่ตามความเป็นจริง ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อจิตของตนเองในขณะนั้นว่า ไม่ใช่ทำเพื่ออย่างอื่น แต่ว่าทำเพื่อที่จะไม่ให้กิเลสกำเริบ เพราะมีศรัทธาที่จะกระทำอย่างนั้น ถ้าทำได้ก็ทำ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะว่าไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร แต่เป็นเรื่องที่จะพยายามอบรมขัดเกลากิเลสของตนเองเท่านั้น

    ก็ลองพิจารณาว่า จะใส่หรือไม่ใส่ต่อไป

    ในคราวก่อนยังคงอยู่ในเรื่องของอรรถ คือ ความหมาย ที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๔ ที่ว่า ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

    แสดงให้เห็นว่า จิตแม้ว่าจะเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ หรือว่าทีละ ๑ ดวงและดับไปอย่างรวดเร็ว ชั่วขณะที่เกิดและดับนั้น จิตต่างกันมากเหลือเกินตามสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า จิตต่างกันไปโดยนัยต่างๆ

    เช่น โดยชาติ เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง วิบากบ้าง กิริยาบ้าง และเรื่องของกุศล ก็เป็นกุศลต่างๆ กันออกไปอีก เรื่องของอกุศลก็ต่างๆ กันออกไปอีก เรื่องของวิบากก็ต่างๆ กันออกไปอีก เรื่องของกิริยาก็ต่างๆ กันออกไปอีก

    และโดยภูมิ คือ ถ้าเป็นกุศล เป็นกุศลภูมิไหน ระดับไหน ถ้าเป็นไปในระดับของกามาวจร ก็เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือว่าเป็นไปในระดับของรูปฌาน อรูปฌาน หรือว่าเป็นไปในระดับของโลกุตตระ และถ้าเป็นอกุศล ก็มีหลายประเภท เป็นอกุศลประเภทโลภะ หรือว่าประเภทโทสะ หรือประเภทโมหะ เป็นอกุศลที่เป็นไปทางกาย หรือทางวาจา หรือทางใจ

    อย่างตัวอย่างที่ท่านผู้ฟังถามเมื่อครู่นี้ ก็เป็นความวิจิตรของจิต ซึ่งเมื่อเกิดความยินดีในเสียงเพลงแล้ว ก็ทำให้อกุศลเกิดขึ้นเป็นไปทางกาย นั่นก็เป็นความวิจิตรของจิตที่เกิดมาชั่วขณะหนึ่งและก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น เรื่องความวิจิตรของจิต แม้ว่าจะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวทีละ ๑ ขณะ ก็ย่อมต่างกันไปตามสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ซึ่งได้แสดงความต่างกันของจิตโดยชาติ โดยภูมิ โดยเวทนา โดยสัมปยุตต์และวิปปยุตต์แล้ว ต่อไปเป็นความต่างกันของจิตโดยอำนาจของสัมปยุตตธรรมที่ทำให้จิตต่างกันโดยเป็นอสังขาร หรือสสังขาร

    ท่านผู้ฟังได้ยินคำว่า สังขาร บ่อยๆ ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกก็ได้กล่าวถึง สังขารหลายนัย ซึ่งควรที่จะได้เข้าใจตามลำดับว่า

    สังขารที่หมายความถึง สังขารธรรม นัยหนึ่ง

    สังขารที่หมายความถึง สังขารขันธ์ นัยหนึ่ง

    สังขารที่หมายความถึง อภิสังขาร นัยหนึ่ง

    สังขารที่หมายความถึง อสังขาร และสสังขาร อีกนัยหนึ่ง

    สำหรับสังขารธรรม หมายความถึง สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ปรุงแต่งและดับไป ไม่เที่ยง ที่กล่าวว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง หมายความถึง ธรรมทุกอย่าง ไม่เว้น ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น และก็ดับไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ

    เสียงเป็นสังขารธรรม เพราะเสียงเกิดขึ้น และไม่เที่ยง สภาพธรรมใดๆ ก็ตามซึ่งเกิดแล้วจักไม่ดับ ไม่มีเลย และสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วไม่ได้ตั้งอยู่นานเลย เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อยและดับไป หมดสิ้นไป นั่นเป็นลักษณะของสังขารธรรม ซึ่งได้แก่ จิต เจตสิก และรูป

    ปรมัตถธรรม มี ๔ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑ และนิพพานปรมัตถ์ ๑ แต่เฉพาะปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูปเท่านั้นเป็นสังขารธรรม มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเป็นไปต่างๆ และตั้งอยู่ชั่วเวลาที่สั้นมากและดับไป นั่นเป็นความหมายของสังขารธรรม



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๐๑๑ – ๑๐๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564