แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1005


    ครั้งที่ ๑๐๐๕

    สาระสำคัญ

    จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรมที่เป็นเวทนาเจตสิก  สติขั้นคิดในชีวิตประจำวัน  เวทนา ๓ หรือ เวทนา ๕  สติระลึกลักษณะสภาพธรรมที่รู้สึก (เวทนา)


    เพราะฉะนั้น จะเห็นความต่างกันของสัมปยุตตธรรมว่า จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ คือ เป็นประธานในการรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสภาพที่รู้แจ้งใน สีสันวัณณะต่างๆ ที่ปรากฏ ไม่ว่าสีจะต่างกันไปละเอียดสักเท่าไร จิตก็สามารถรู้แจ้งในลักษณะของสีที่ปรากฏทางตาได้ ไม่ว่าเสียงจะสูง จะต่ำ จะเป็นที่น่ารื่นรมย์ หรือไม่สบายหู โสตวิญญาณเป็นสภาพที่ได้ยินเสียงก็เกิดขึ้นรู้แจ้งในอารมณ์นั้นได้ เช่นเดียวกับเวลาที่กลิ่นกระทบจมูก กลิ่นก็มีหลายกลิ่น และจิตก็เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งกลิ่นลักษณะต่างๆ แต่จิตไม่สามารถจะที่รู้สึกดีใจ หรือเสียใจ หรือเฉยๆ ในอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะลักษณะของจิตนั้นเป็นใหญ่ เป็นประธานเฉพาะในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ แต่สำหรับเวทนาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่รู้สึก เพราะฉะนั้น ในขณะใดก็ตามที่มีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใด ให้ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นสัมปยุตตธรรมที่เกิดกับจิต เป็นเจตสิกดวงหนึ่ง ซึ่งเมื่อเป็นสภาพที่รู้สึกในอารมณ์ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติเรียกสภาพธรรมนั้นว่า เวทนาเจตสิก

    การที่จิตมีต่างกันไปนั้น เป็นโดยชาติ คือ เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี และเจตสิกที่เกิดกับจิตนั้นๆ ก็ต้องเป็นเช่นเดียวกับจิต คือ ถ้าจิตเป็นกุศล เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ต้องเป็นกุศลทุกดวง หรือว่าเจตสิกที่เป็นกุศลเกิดขึ้น เจตสิกและจิตที่เกิดร่วมด้วยก็ต้องเป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น อกุศลเจตสิกจะไปเกิดกับกุศลจิตไม่ได้ หรือว่าวิบากจิตจะไปเกิดกับกิริยาเจตสิกก็ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อจิตต่างโดยชาติ เป็นกุศลจิตก็มี อกุศลจิตก็มี วิบากจิตก็มี กิริยาจิตก็มี เวทนาเจตสิกที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี ซึ่งถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ก็จะมีผู้ที่เข้าใจผิดในลักษณะของเวทนา เพราะส่วนมากจะไม่ชอบทุกขเวทนาทางกาย เช่น ความป่วยไข้ได้เจ็บต่างๆ หรือว่าเย็นไปบ้าง ร้อนไปบ้าง ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกาย ไม่มีผู้ใดชอบเลย ขณะที่มีการกระทบสิ่งที่ร้อนเกินไป เย็นเกินไป เป็นต้น ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบาย ขณะนั้นเป็นกายวิญญาณ เป็นจิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสและเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ ความรู้สึกไม่สบายกายเกิดขึ้น เพียงชั่วขณะเดียว อย่าปนกับความรู้สึกไม่แช่มชื่นหลังจากที่กระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจทางกาย นี่เป็นความละเอียดของจิต ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า จิตที่เป็นอกุศลแต่ละประเภทมีเวทนาอะไรเกิดร่วมด้วย จิตที่เป็นวิบากแต่ละประเภทมีเวทนาอะไรเกิดร่วมด้วย จิตที่เป็นกิริยาแต่ละประเภทมีเวทนาอะไรเกิดร่วมด้วย และจิตที่เป็นกุศลแต่ละประเภทมีเวทนาอะไรเกิดร่วมด้วย

    ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ศึกษาโดยละเอียด ไม่ปะปน มิฉะนั้นแล้ว ทุกท่านไม่ชอบทุกขเวทนา แต่ชอบสุขเวทนา ขณะที่เป็นสุขเวทนา เป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่ความรู้สึกชอบสุขเวทนา ขณะนั้นเวทนานั้นไม่ใช่วิบากแล้ว เพราะเป็นเวทนาที่เกิดกับโลภมูลจิต จึงเป็นอกุศลเวทนา ไม่ใช่ว่าดี เวลาที่ไม่ว่าจะกระทบกับอารมณ์ที่ปรากฏทางตา เห็นสิ่งที่น่าพอใจ จิตที่เห็น และเวทนาเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับจิตที่เห็นเป็นกุศลวิบาก เป็นผลของอดีตกุศลกรรม ในขณะที่เห็น ไม่มีใครสามารถยับยั้งการเกิดขึ้นของจักขุวิญญาณที่เห็นแล้วก็ดับไป ถ้าเห็นสิ่งที่น่าพอใจ เมื่อ จักขุวิญญาณดับไปแล้ว เกิดความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น โดยที่สิ่งที่เห็นนั้นยังไม่ดับไป ขณะที่มีความยินดีพอใจ ความรู้สึกอาจจะเป็นโสมนัสเวทนา มีความดีใจ เพราะชอบใจ พอใจในอารมณ์ที่เห็น ซึ่งขณะนั้นเป็นอกุศล

    และให้ทราบว่า ท่านที่ไม่ชอบทุกข์ทางกายเวลาที่ป่วยไข้ได้เจ็บ ชั่วขณะที่รู้สึกเจ็บ นั่นเป็นอกุศลวิบาก แต่ความไม่พอใจ ความไม่แช่มชื่น ขณะนั้นไม่ใช่วิบาก เป็นอกุศลเวทนาซึ่งเกิดกับอกุศลจิต ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดอกุศลวิบากข้างหน้า

    เพราะฉะนั้น การศึกษาพระอภิธรรมโดยละเอียด จึงได้แสดงเรื่องของเวทนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตเพื่อไม่ให้เข้าใจผิด มิฉะนั้นแล้ว ก็จะพอใจ หลงติดใน โสมนัสเวทนา ในสุขเวทนา หรือในอุเบกขาเวทนา โดยที่ไม่รู้ว่า แม้ว่าเป็นอุเบกขาเวทนา ที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นวิบากก็มี และที่เป็นกิริยาก็มี

    . จิตที่รู้อารมณ์ตอนนี้ เราจะตั้งสติปัฏฐาน โดยกำหนดว่า สิ่งที่เห็น หรือจิตที่เห็น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะเป็นการถูกต้องไหม

    สุ. ตั้งสติได้ไหม

    . เมื่อเห็นปั๊บสติเกิดขึ้น ที่เราชอบใจ หรือเจ็บป่วยอะไรขึ้นมา ก็นึกว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน อย่างนี้จะเป็นการถูกต้องไหม

    สุ. สติเกิดระลึกได้ ขั้นคิด คือ คิดอย่างนั้น เป็นสติที่ระลึกอย่างนั้น จึงคิดอย่างนั้น

    . สติกับคิดไม่ใช่อย่างเดียวกัน

    สุ. มีสติหลายขั้น สติเกิดกับโสภณจิต เกิดกับกุศลจิต ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นเพราะสติระลึกได้ จึงเป็นกุศลประเภทนั้นๆ เช่น วันหนึ่งๆ ส่วนใหญ่ อกุศลจิตที่เป็นโลภมูลจิตเกิด ทันทีที่ลืมตานึกถึงสิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นทางตา อยากเห็นอะไร อยากได้ยินเสียงอะไร อยากได้กลิ่นอะไร อยากลิ้มรสอะไร ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของโลภมูลจิต เพราะฉะนั้น ขณะนั้น ขณะที่เป็นโลภมูลจิต สติไม่ได้เกิด แต่ขณะใดก็ตามซึ่งกุศลจิตเกิด แทนที่คิดจะเอา ก็คิดที่จะสละ คิดที่จะให้ประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา เป็นสติที่ระลึกในการที่จะให้ ในการที่จะกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น นั่นเป็นสติขั้นที่จะให้ ซึ่งเป็นทาน ระลึกได้ในการที่จะให้ ในการที่จะสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น หรือเวลาที่จะเว้นทุจริต ขณะนั้นก็เป็นสติที่ระลึกที่จะเว้น ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ป่วยไข้และระลึกขึ้นได้ว่า เป็นผลของอดีตกรรม ทำให้มีความรู้สึกไม่สบายทางกายเกิดขึ้น เพราะว่าทุกคนอยากจะมีร่างกายที่แข็งแรง มีสุขภาพดี มีความสุขทางกาย แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้ทุกข์ทางกายเกิดขึ้นซึ่งเป็นผลของอดีตอกุศลกรรม ขณะนั้นก็มีความรู้สึกเป็นทุกข์เกิดขึ้นที่กาย อาจจะปวดตา ปวดหลัง เจ็บมือ หรือตัวร้อน หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ปรารถนา แต่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ขณะที่คิดอย่างนั้น นั่นเป็นสติที่ระลึกเป็นไปอย่างนั้น แต่ไม่ใช่สติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนโดยไม่ต้องคิด

    . ถ้าเป็นสติปัฏฐาน หมายความว่า เป็นลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน

    สุ. ขณะที่ไม่คิด แต่ว่ารู้ตรงลักษณะที่ปรากฏ

    . ว่าเป็นรูป ไม่ใช่ตัวตน

    สุ. ว่าอีกแล้ว กระทบสัมผัสสิ่งที่แข็ง ต้องว่าอะไรไหมเวลาที่กำลังรู้แข็ง กระทบสัมผัส คือ จับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่แข็ง ต้องว่าอะไรไหมในขณะที่แข็ง ไม่ต้อง ใช่ไหม แข็งปรากฏ เพราะฉะนั้น สติที่เป็นสติปัฏฐาน ระลึกได้ รู้ว่ามีแข็งกำลังปรากฏ รู้ ไม่ใช่ต้องคิดออกมาเป็นคำ ระลึกได้ จึงระลึกรู้ที่แข็งที่กำลังปรากฏ เหมือนกับทางตา สีสันวัณณะกำลังปรากฏ หลงลืมสติ คุยกันเพลินไป แต่เกิดระลึกได้ว่า มีสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ระลึกรู้ที่สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ได้นึกเป็นเรื่อง

    เพราะฉะนั้น สติขั้นคิด ก็คิดเป็นธรรมที่เป็นกุศล รู้ว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล นั่นเป็นสติที่ระลึกพร้อมการคิด แต่ไม่ใช่สติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะที่ขณะนั้นไม่ได้คิด แต่กำลังพิจารณาศึกษา น้อมที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามที่ได้ยินได้ฟัง

    . คิดมาก่อน

    สุ. ปกติคนเราหยุดความคิดไม่ได้ คิดกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเห็นทางตา ก็คิดถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาทันที ได้ยินเสียงทางหูในขณะนี้ ก็คิดถึงเสียงที่ปรากฏทางหู เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ทันที เวลาที่ได้กลิ่น ก็คิดเรื่องกลิ่นที่ปรากฏว่ากลิ่นอะไร ถ้าเป็นกลิ่นไม่ดี ก็หาทางที่จะกำจัด ถ้าเป็นกลิ่นที่ดี ก็หาทางที่จะได้มา

    เช่นเดียวกับเวลาที่รสปรากฏ ชิมอาหารต่างๆ ก็คิดตามรสที่ปรากฏว่า จะต้องปรุง จะต้องเติม หรือว่าจะต้องทำอะไร และก็เป็นความคิดซึ่งเกิดต่อจากทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น เรื่องคิด คิดอยู่เป็นประจำ ถ้าศึกษาสภาพธรรมจริงๆ จะรู้ได้ว่า ไม่มีใครสามารถจะทำอะไร เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ว่ามักจะคิดเสมอ แม้ว่ากำลังกระทบสัมผัสสิ่งที่แข็งก็อดคิดไม่ได้ว่า แข็งเป็นรูปธรรม สภาพที่รู้แข็งเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่ยับยั้งว่า อย่าคิดอย่างนั้น แต่ว่าสติปัฏฐานต้องละเอียดที่จะรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่กำลังศึกษาลักษณะแข็ง แต่เป็นสภาพที่กำลังคิดเรื่องแข็งที่กำลังปรากฏ

    . ในขณะที่กระทบสัมผัสกับสิ่งที่ดีๆ นั่นเป็นกุศลวิบากใช่ไหม เมื่อเกิดความพอใจในภายหลัง นี่เป็นอกุศลจิตที่เกิดร่วมกับเวทนาเจตสิกใช่ไหม เวทนาเจตสิกก็เป็นอกุศลเจตสิก และยังมีเวทนาที่เป็นกุศลด้วย ในสัพพจิตตสาธารณเจตสิกมีทั้งกุศลและอกุศลหรือ

    สุ. แน่นอน แล้วแต่ว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด ก็เป็นประเภทนั้น สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ชื่อยาว ซึ่งหมายความถึง เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง

    สัพพ แปลว่า ทั้งหมด สาธารณะ แปลว่า ทั่วไป สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ก็คือเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่า ถ้าจิตนั้นเป็นกุศล สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงก็เป็นกุศล ถ้าจิตนั้นเป็นอกุศล สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนั้นก็เป็นอกุศล ถ้าจิตนั้นเป็นวิบาก สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนั้นก็เป็นวิบาก ถ้าจิตนั้นเป็นกิริยา สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนั้นก็เป็นกิริยา

    . ถ้ามีทั้งฝ่ายดีและไม่ดี

    สุ. เกิดพร้อมกันไม่ได้ ผัสสะนับเป็น ๑ ไม่ว่าจะเป็นกุศล หรืออกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา แต่เจตสิกนั้นเป็นเจตสิกที่เกิดขึ้นกระทบอารมณ์ที่จิตกำลังรู้

    . เจตสิกนั้นก็เป็นกลางๆ ถ้าเกิดร่วมกับอกุศลก็เป็นอกุศล เกิดร่วมกับกุศลก็เป็นกุศล

    สุ. ถูกต้อง เพราะฉะนั้น จึงมีคำอีกคำหนึ่งสำหรับสัพพจิตตสาธารณะ คือ อัญญสมานาเจตสิก หมายความว่าเป็นเจตสิกซึ่งเสมอกับธรรมที่เกิดร่วมกัน คือ เป็นพวกเดียวกัน เพราะถ้าธรรมที่เกิดด้วยเป็นกุศล เจตสิกพวกนี้ก็เป็นกุศล เมื่อธรรมที่เกิดร่วมด้วยเป็นอกุศล เจตสิกพวกนี้ก็เป็นอกุศล

    ขณะนี้เวทนาเป็นอะไร เป็นอุเบกขา ส่วนมากในวันหนึ่งๆ เวทนาเป็นอะไร เวทนาไม่ใช่ความรู้สึกสงสารเวทนา แต่เวทนาหมายถึงสภาพธรรมที่รู้สึกในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ

    สภาพธรรมทั้งหลายเป็นลักษณะที่มีจริง เป็นจริงตามสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ท่านผู้ฟังสังเกตได้ไหมว่า ความรู้สึกเป็นอะไร

    . อุเบกขาเป็นส่วนใหญ่

    สุ. เพราะฉะนั้น สำหรับเวทนาเจตสิกซึ่งมี ๓ ประเภท ได้แก่ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อุเบกขาเวทนา ๑ หรืออีกนัยหนึ่ง เวทนา ๕ ได้แก่ ทุกขเวทนา ๑ สุขเวทนา ๑ โสมนัสเวทนา ๑ โทมนัสเวทนา ๑ และอุเบกขาเวทนา ๑

    อุเบกขาเวทนา วันหนึ่งๆ เกิดมากกว่าเวทนาอื่น และโดยประเภท จำนวนของจิตที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาก็มากกว่าเวทนาอื่น

    . อาจารย์ช่วยยกตัวอย่างอุเบกขาเวทนาที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต

    สุ. เวลาที่เป็นโลภมูลจิตที่ยินดีพอใจเกิดขึ้น แต่ไม่มีความรู้สึกว่าดีใจ โลภมูลจิตนั้นประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ความรู้สึกเฉยๆ ซึ่งมีอยู่เป็นประจำ จนไม่รู้สึกว่าเป็นโลภมูลจิต จึงไม่รู้ว่าเป็นอุเบกขา ความรู้สึกเฉยๆ ซึ่งขณะนั้นเกิดแล้ว

    . ที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต

    สุ. โลภมูลจิตเป็นอกุศลจิต ซึ่งมีอยู่เป็นประจำ เวลาเห็นรู้สึกอย่างไร ตามปกติ ดีใจตลอดทุกขณะที่เห็นตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเดี๋ยวนี้หรืออย่างไร ซึ่งการเห็น ก็เห็นตั้งแต่ลืมตาขึ้นมา และยังไม่หลับนอน การเห็นก็ไม่ได้รู้สึกว่าดับไปเลย ใช่ไหม เช่นในขณะนี้ ตื่นขึ้นแล้วยังไม่หลับ เวลาที่ลืมตาจะไม่รู้สึกเลยว่า จิตที่เห็นนี้ดับ เห็นและก็ดับๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นไม่ได้รู้สึกดีใจเป็นโสมนัสทันทีที่เห็นไปทุกขณะจนกระทั่งปรากฏว่า วันนี้ดีใจตลอดทั้งวัน ไม่ใช่อย่างนั้น ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นให้ทราบว่า จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น ในขณะนั้นประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะได้เข้าใจ และควรที่จะได้รู้ตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้เกื้อกูลกับการเจริญสติปัฏฐานให้รู้ว่า ขณะใดที่ระลึกถึงความรู้สึก ซึ่งวันหนึ่งๆ ความรู้สึกเกิดอยู่เป็นประจำ แต่ว่าไม่ค่อยจะรู้สึก ไม่ได้ระลึกถึงความรู้สึก โดยเฉพาะเวลาที่ความรู้สึกนั้นเป็นอุเบกขาเวทนา เพราะเห็นแล้วเฉยๆ ไม่ได้ระลึกถึงความรู้สึกเลย ใช่ไหม เพราะว่าเฉยๆ จึงไม่ได้ระลึกถึงความรู้สึกเฉยๆ

    เวลาที่ได้ยิน ก็ได้ยินบ่อย เวลาที่โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียง ในขณะนั้นความรู้สึกที่เกิดกับโสตวิญญาณที่ได้ยินเสียง ก็เป็นความรู้สึกเฉยๆ คือ อุเบกขาเวทนา ไม่ปรากฏว่าเป็นโทมนัส หรือว่าโสมนัส หรือว่าตื่นเต้นดีใจ หรือว่าเสียใจ เพราะฉะนั้น ผู้ที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึก ก็สามารถที่จะระลึกถึงในขณะที่เห็น และก็รู้ว่ามีความรู้สึกเฉยๆ หรือว่าในขณะที่ได้ยินเสียง ก็มีความรู้สึกเฉยๆ

    . อย่างความรู้สึกที่ต้องการจะเห็น ได้ยินได้ฟัง คือ ปรารถนาอยู่ทั้งวัน

    สุ. ขณะนั้น คือ ชีวิตปกติประจำวัน

    . เป็นอุเบกขา หรือว่า

    สุ. วันหนึ่งๆ ตั้งแต่ลืมตาจนกระทั่งหลับตา ดีใจกี่ครั้ง วันนี้ดีใจบ้างหรือยัง ลองคิดดู เห็นนี้มากมายเหลือเกินตั้งแต่เช้าจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ ได้ยินก็มีมากมายเหลือเกินตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ และในขณะที่ได้กลิ่นก็มี ในขณะที่ลิ้มรสก็มี มีความรู้สึกดีใจกี่ครั้ง วันนี้ดีใจแล้วหรือยัง หรือว่ายังเฉยๆ อยู่เรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมตามปกติเป็นอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ซึ่งถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ไม่สามารถที่จะละความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะแม้แต่ความรู้สึกมี ก็ไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่รู้สึกว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไป



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๐๐๑ – ๑๐๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564