แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 982


    ครั้งที่ ๙๘๒

    สาระสำคัญ

    โวฏฐัพพนจิต (จิตที่กระทำทางให้วิถีจิตต่อไปเกิดขึ้นเป็นกุศลหรืออกุศล)  จิต เป็นธรรมชาติวิจิตรโดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม


    เพราะฉะนั้น การรับผลของกรรมจะต้องรู้ละเอียดว่า วิบากจิตเกิดขึ้นเป็นผลของอดีตกรรมในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่รู้สิ่งกระทบสัมผัส ส่วนในขณะที่กำลังฟังหรือคิดเรื่องของผลของกรรมต่างๆ ขณะนั้นไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน

    เรื่องธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลสได้จะต้องอบรมเจริญปัญญาและพิจารณาอย่างละเอียดด้วย

    . เรื่องวิบาก รู้สึกว่าจะเข้าใจยากมาก ในขณะที่เห็น ได้ยิน รู้รส ก็เป็นวิบากแล้ว เป็นวิบากของกรรมในอดีต หมายถึงว่าเป็นผลที่ให้สัตว์นั้นๆ กลับมาเกิดเพื่อจะได้มีวิบากเหล่านี้ ใช่ไหม เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้มองไม่ออกว่า ได้ยินเฉยๆ เป็นวิบากอย่างไร ยังไม่ทราบเลยว่า เป็นวิบากอย่างไร ถ้าคนทำกรรมไว้ และกรรมนั้นตอบสนอง อย่างนี้เห็นชัด

    สุ. ตอบสนองทางไหน ถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย จะตอบสนองทางไหน

    . ก็ต้องตอบสนองทางใจ

    สุ. มิได้ ทางใจเป็นสภาพที่คิดนึก เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต การเรียนเรื่องวิถีจิตซึ่งรู้อารมณ์ทางใจแต่ละวาระ ซึ่งเฉพาะทางมโนทวารวิถีล้วนๆ มีวิถีจิตเพียง ๓ วิถี คือ มโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นกิริยาจิต นึกถึงเรื่องนั้น เกิดก่อนกุศลจิตและอกุศลจิต กุศลจิตและอกุศลจิตจะเกิดขึ้นทันทีไม่ได้ ต้องมี กิริยาจิตเกิดก่อนทุกครั้ง รำพึงถึง นึกถึงเรื่องนั้นทางใจ หรือว่าถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย กุศลและอกุศลก็จะเกิดทันทีไม่ได้ ต้องมีโวฏฐัพพนจิต คือ จิตที่กระทำทางให้วิถีจิตต่อไปเป็นกุศลหรืออกุศลเกิดขึ้น เมื่อดับไปแล้ว กุศลจิตหรืออกุศลจิตจึงเกิดได้ แต่หลักที่จะจำ คือ กุศลจิตและอกุศลจิตเกิดทันทีไม่ได้ ต้องมีกิริยาจิตเกิดก่อน

    ทางมโนทวารวิถี ขณะที่จะคิดนึกเรื่องใดๆ ก็ตาม ดูเหมือนว่าคิดนึกทันที แต่เพราะจิตเกิดดับอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นวิถีจิตแรกทางมโนทวารเกิดก่อน รำพึง คือ นึกถึงเรื่องนั้น และดับไป กุศลจิตหรืออกุศลจิตจึงคิดเป็นไปในเรื่องนั้นได้ ซึ่งไม่ใช่วิบาก

    ทางมโนทวารมีวิบากจิต ซึ่งเกิดต่อจากชวนวิถี แต่ไม่มีความหมาย ไม่มีความสำคัญอะไร เพราะว่าเป็นแต่เพียงวิบากจิต ๒ ขณะ ที่เกิดต่อจากชวนวิถีเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น การรับผลของกรรม ทุกคนปรารถนาจะได้รับผลของกุศลกรรม ทางตา ต้องการเห็นสิ่งที่ดี ทางหู ต้องการได้ยินเสียงที่ดี ทางจมูก ต้องการได้กลิ่นที่ดี ทางลิ้น ต้องการลิ้มรสที่ดี ทางกาย ต้องการกระทบสัมผัสสิ่งต่างๆ ที่ดี ลองพิจารณาดู ทุกท่านต้องการอย่างนี้หรือเปล่า ทุกท่านต้องการเพียงเท่านี้หรือเปล่า คงจะไม่ต้องการเกินกว่านี้ ใช่ไหม เพราะว่าแค่นี้ก็เหลือจะมากแล้ว คือ ต้องการเห็นอะไรก็ได้ที่เป็นสิ่งที่สวยๆ งามๆ ไม่จบ เมื่อเห็นสิ่งนี้แล้ว ก็ยังอยากเห็นสิ่งอื่นต่อไปทันที ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ต้องการผลของกรรมที่ดี

    . ในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกชนด้วยกัน ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้าพูดถึง ผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ซึ่งส่วนใหญ่การปฏิบัติตรงกับหลักศาสนาพุทธน้อยมาก แต่บุคคลเหล่านั้นก็ยังสามารถที่จะมีวิบากที่ดี เสวยความสุขอยู่ในโลกนี้ได้ ลักษณะอย่างนี้ใช่ไหมที่ทำให้พระพุทธเจ้าท่านห้าม ไม่ต้องคิดว่า เขาทำกรรมอะไรเขาจึงมีความสุข เพราะถ้าเราพูดตามหลักศาสนาพุทธ ก็หมายความว่า บุคคลเหล่านั้นน่าจะต้องเคยเกิดเป็นผู้ที่นับถือพุทธศาสนาในอดีตชาติมาก่อน มิฉะนั้นแล้วผลนี้ก็ไม่น่าจะมี ที่พูดนี่ ก็อยากจะวิเคราะห์ในฐานะที่นับถือพุทธศาสนาด้วยกัน คริสต์ก็ดี อิสลามก็ดี ก็ยังค่อยยังชั่ว เพราะเขายังมีโอกาสที่จะได้ทำความดีบ้าง แต่ผู้ที่นับถือลัทธิคอมมิวนิสต์ รู้สึกว่ามองหาวิบากนั้นไม่ค่อยพบ อย่างผู้บริหารของเขา บุคคลเหล่านี้สามารถจะครองความสุขอยู่ได้ ทำให้คิดว่า วิบากมีเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาหรืออย่างไร

    ส. ตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี กายก็ดี เป็นศาสนาอะไร ตาเป็นศาสนาอะไร เห็นเป็นศาสนาอะไร หู ได้ยินเป็นศาสนาอะไร จมูก การรู้กลิ่นเป็นศาสนาอะไร ลิ้น สภาพธรรมที่ลิ้มรสเป็นศาสนาอะไร การกระทบสัมผัสสิ่งที่ปรากฏเป็นศาสนาอะไร เป็นสภาพธรรมที่มีจริง สามารถที่จะพิสูจน์ได้ กล่าวถึงได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อ แล้วแต่ว่าใครต้องการที่จะรู้สภาพธรรมที่มีจริงๆ หรือไม่ต้องการจะรู้ นั่นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งทุกคนต่างกันตามลักษณะของจิตประการที่ ๔ ที่ว่า

    อนึ่ง จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

    เวลานี้จิตเกิดดับไปแล้วนับไม่ถ้วน แต่แม้กระนั้น จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามควรสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

    วิจิตร คือ ต่างๆ กันไปตามสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และการสั่งสมของแต่ละบุคคล

    เพราะฉะนั้น ที่จะให้เหมือนกัน ย่อมไม่ได้ ที่จะให้มีความคิดอย่างเดียวกัน เป็นศาสนาเดียวกัน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะแม้แต่รูปร่างกายก็ไม่เหมือนกัน ความคิดนึกย่อมเหมือนกันไม่ได้ ความเห็นความเชื่อต่างๆ ก็ย่อมเหมือนกันไม่ได้ แม้สมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคเองก็ไม่สามารถที่จะทรงทำให้บุคคลทั้งหลายมีความเห็นถูกได้ทุกคน

    สำหรับผู้ที่สะสมเหตุปัจจัยที่มีโอกาส มีวิบากที่ได้ยินได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษา ได้อ่าน ได้พิจารณาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เป็นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา และเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว จะพิจารณาใคร่ครวญสอบสวนให้รอบคอบละเอียดขึ้น จนเป็นปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ทรงแสดงไว้ ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา

    เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดไม่ใช่มีแต่ในลัทธิอื่น แม้แต่ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา ท่านผู้ฟังเองย่อมทราบว่า มีการศึกษาและมีการประพฤติปฏิบัติ ต่างๆ กัน ซึ่งไม่ใช่ของใหม่ แม้ในครั้งหลังจากการสังคายนาครั้งที่ ๒ ภิกษุชาววัชชี ผู้ซึ่งเป็นต้นเหตุให้กระทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ก็ได้ตั้งนิกายต่างๆ ตามความเห็นของตน เช่น ข้อหนึ่งมีว่า ผู้ใดก็ตามที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ต้องเปล่งวาจาว่า ทุกข์หนอ ทุกข์หนอ

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มีแต่สมัยนี้ที่มีการเข้าใจข้อประพฤติปฏิบัติผิดพลาดคลาดเคลื่อน แต่มีมาตั้งแต่ในครั้งนั้น ในสมัยนี้ ๒๕๐๐ กว่าปี ก็เป็นเรื่องที่ทุกท่านจะพิจารณา และเป็นผู้ที่ศึกษาโดยละเอียดเพื่อที่จะให้รู้ว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมสำหรับบุคคลที่ไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูบุคคลหรือวิปัญจิตัญญูบุคคล คือ ไม่ใช่บุคคลที่จะรู้เร็ว แต่ว่าบุคคลในสมัยนี้ถ้าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ต้องเป็นเนยยบุคคลแน่นอน และถ้าไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้แม้ว่าจะฟังมาก อ่านมาก สนทนามาก กล่าวธรรมมาก ก็เป็นปทปรมบุคคล

    พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ๔๕ พรรษา ก็เพื่อทรงอนุเคราะห์ผู้ที่เป็นเนยยบุคคลและปทปรมบุคคล เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาเพื่อที่จะได้รู้จริงๆ ว่า การรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้นคือรู้อะไร และหนทางที่จะรู้การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้จริงๆ ต้องอบรมเจริญอย่างไร

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ทุกท่านจะต้องเป็นผู้ที่ศึกษา พร้อมกันนั้นก็เข้าใจว่าประโยชน์ของการศึกษาเพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ทรงแสดงโดยละเอียด แม้แต่ลักษณะของจิตที่ได้กล่าวถึงแล้ว และวิบากจิตซึ่งกำลังเห็น ก็เป็น สติปัฏฐาน เป็นสภาพธรรมที่สามารถจะประจักษ์แจ้งในความเป็นอนัตตา ในสภาพที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และกำลังเกิดดับ แต่ต้องฟังโดยละเอียดและพิจารณาโดยละเอียด เพื่อที่จะระลึกรู้ได้ตรง ถูกต้อง โดยละเอียด

    ทุกขณะในชีวิตประจำวันไม่พ้นวิบาก เพราะว่าเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่พ้นจากกิเลส เพราะไม่ใช่เพียงแค่เห็น แค่ได้ยิน แค่ได้กลิ่น แค่ลิ้มรส แค่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ยังเกิดความยินดีพอใจ หรือว่าความไม่แช่มชื่น ไม่พอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากข้างหน้า

    เพราะฉะนั้น ต้องแยกกันให้ตรง ความหวัง ความปรารถนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ในขณะปัจจุบัน เป็นเหตุปัจจุบันที่จะให้เกิดวิบากข้างหน้า ตรงตามเหตุ คือ ถ้าเป็นอกุศลธรรมเกิดขึ้น ย่อมให้ผลเป็นอกุศลวิบาก เห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ได้กลิ่นที่ไม่ดี ลิ้มรสที่ไม่ดี กระทบสัมผัสสิ่งที่เป็นทุกข์ ถ้ากุศลจิตเกิด เมื่อเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่นแล้ว ลิ้มรสแล้ว รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้ว หรือคิดนึกเป็นกุศล ผลก็คือ จะได้เห็นสิ่งที่ดีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร

    ถ้าท่านหวังด้วยอกุศลที่จะเป็นเศรษฐีมั่งมี มีสมบัติมาก ลักษณะนั้นเป็นอกุศล อย่าลืมว่า จะไม่ให้ผลเป็นกุศลวิบาก แต่จะให้ผลเป็นอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องระลึกรู้ลักษณะของอกุศลเพื่อที่จะละอกุศล เพราะถ้าไม่รู้ ก็ไม่ละ แต่ถ้ารู้ ย่อมละ และในขณะที่รู้นั้นเป็นกุศล เป็นปัญญา เพราะฉะนั้น ย่อมเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก

    เมื่อทุกคนยังไม่สามารถดับกิเลสอกุศลได้ เพราะว่าพอเห็นก็เกิดอกุศล โลภะบ้าง โทสะบ้างก็จริง แต่อย่าให้ถึงความรุนแรงที่จะให้เป็นทุจริตกรรม พร้อมกันนั้นก็เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศลกรรม และกุศลกรรมที่ควรเจริญอย่างยิ่ง คือสติปัฏฐาน การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที ขณะนี้ก็ได้ ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ นั่นเป็นกุศลเหตุที่จะเป็นเหตุให้กุศลวิบากข้างหน้าเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น เหตุกับผลต้องตรงกัน วิบากขณะเห็นเป็นผลของเหตุในอดีต แต่กุศลหรืออกุศลในขณะปัจจุบันเป็นเหตุของวิบากข้างหน้า อย่าคิดว่า เวลาที่ปรารถนาสิ่งใดด้วยอกุศลและได้สิ่งนั้น อย่าเข้าใจว่า นั่นเป็นผลของการหวัง เพราะขณะที่หวังเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น กุศลวิบากที่ได้รับหลังจากหวัง ไม่ใช่ผลของอกุศลที่หวัง แต่เป็นผลของเหตุในอดีต แต่เพราะการเกิดดับสืบต่อกันจนกระทั่งไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงเวลาที่วิบากเกิดขึ้น ถ้าเป็นกุศลวิบาก ต้องเป็นผลของกุศลกรรมในอดีต ไม่ใช่เป็นผลเพราะความหวัง หรือความต้องการเมื่อสักครู่นี้ หรือว่าเมื่อวันก่อน เพราะว่าเหตุกับผลต้องตรงกัน

    นี่เป็นเหตุที่จะให้เจริญกุศลมากขึ้น พร้อมกันนั้นก็ควรที่จะละอกุศล แต่อกุศลก็ละยากเหลือเกิน ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ ก็ย่อมไม่สามารถจะละอกุศลได้เลย แต่ต้องทราบด้วยว่า สภาพธรรมที่เป็นวิบากเป็นนามธรรมอย่างเดียว คือ เป็นจิตและเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพรู้อารมณ์เช่นเดียวกับเหตุ คือ กุศลและอกุศล เมื่อกุศลหรืออกุศลเป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้อารมณ์ ผลของกุศลและอกุศลนั้นก็ต้องเป็นนามธรรม คือ เป็นสภาพที่รู้อารมณ์เช่นเดียวกัน

    เพราะฉะนั้น วิบากทั้งหมดไม่ใช่รูปธรรม วิบากทั้งหมด ได้แก่ นามธรรม คือ จิตและเจตสิก ซึ่งเป็นผลโดยตรงของเหตุที่เป็นนามธรรม คือ กุศลธรรมและ อกุศลธรรม

    กุศลและอกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดรูปธรรมได้ เช่นเดียวกับกุศลและอกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดนามธรรมซึ่งเป็นวิบาก แต่ว่ารูปธรรมนั้นไม่ใช่วิบาก เป็นผลของกุศลหรืออกุศลได้ แต่ไม่ใช่วิบาก สำหรับจิตและเจตสิกเท่านั้นที่เป็นวิบาก

    . คนที่ฆ่าหมูเป็นอาชีพ ก่อนจะตายบางครั้งก็ร้องเสียงเหมือนหมู บางครั้งคนที่ชอบฆ่าแมลงสาบ ตายแล้วคนไปเปิดหีบศพของเขาพบว่า มีแมลงสาบทั้งหีบเลย อย่างนี้ถือว่า นั่นเป็นผลของชาติที่แล้ว หรือว่าเป็นผลของกรรมในชาตินี้ที่เคยฆ่าหมูหรือฆ่าแมลงสาป

    สุ. อจินไตย ใช่ไหม

    . คนทั่วๆ ไป เขาเชื่อว่า เป็นจริงอย่างที่เขาคิด

    สุ. คิด แต่ไม่ใช่การรู้แจ้ง หรือการประจักษ์ ไมใช่บุคคลที่มีพลญาณ คือ ปัญญาพิเศษที่มีกำลังที่สามารถจะรู้กรรมและวิบากจริงๆ นั่นเป็นแต่เพียงการคาดคะเน และใครจะบอกได้ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระอรหันต์หรือผู้ที่ได้ทราบว่ามีใครได้รับผลของกรรม วิบากต่างๆ เกิดขึ้น ท่านเหล่านั้นไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลถาม ทั้งๆ ที่ท่านอาจจะคิดเองก็ได้ เหมือนอย่างคนในสมัยนี้ก็ยังคิดว่า คิดเองก็ได้ ว่าคงจะเป็นผลของกรรมนี้ หรือผลของกรรมนั้น

    เรื่องของความคิด คิดได้ แต่ว่าจริงหรือไม่จริง บุคคลในครั้งนั้นไปเฝ้ากราบทูลถามพระผู้มีพระภาค แต่บุคคลในครั้งนี้จะเชื่อความคิดว่า จริง โดยที่ไม่มีโอกาส เฝ้ากราบทูลถามพระผู้มีพระภาค แต่ก็พอที่จะทราบได้ว่า อกุศลวิบากทั้งหลายเป็นผลของอกุศลธรรม ตามที่ทรงแสดงไว้ว่า ผลของปาณาติบาตคืออย่างไร ผลของอทินนาทานคืออย่างไร ผลของกาเมสุมิจฉาจารคืออย่างไร ผลของมุสาวาทคืออย่างไร แต่ไม่สามารถที่จะพยากรณ์ได้ว่า ขณะที่วิบากนี้เกิดขึ้น เป็นเพราะกรรมอะไรในอดีต ในชาติไหน

    ถ้ามีใครพยากรณ์ จะเชื่อไหม หรือว่าท่านเป็นผู้ที่เชื่อง่าย ใครว่าอะไรก็ถูก เขาสามารถที่จะรู้ได้หรือ ในเมื่อบุคคลนั้นไม่มีพลญาณ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๙๘๑ – ๙๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564