แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 975


    ครั้งที่ ๙๗๕

    สาระสำคัญ

    อถ.อภิธรรม วิภังค์ อธิบายความปรารถนาลามก  ผู้มีปัญญาหรือมีปัญญาทราม 


    ตลอด ๔๕ พรรษา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เกิดความยินดี หรือยินร้าย หรือเป็นกุศล เป็นชีวิตประจำวันทุกขณะ การได้ยินเสียงที่ปรากฏ เกิดความยินดี หรือยินร้าย หรือเป็นกุศล เป็นสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฟัง พิจารณา เข้าใจ และน้อมประพฤติปฏิบัติตาม คือ ระลึกในขณะที่เห็นและศึกษาเพื่อให้ประจักษ์จริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพรู้ ธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา จึงจะเข้าใจคุณประโยชน์ของพระธรรมที่ทรงแสดงเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยละเอียดว่า เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะจะสละปริยัติ เพราะเห็นว่า ผู้ที่ศึกษาหรือสนใจปริยัติ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์

    ขอกล่าวถึงลักษณะของผู้ที่มีความปรารถนาลามกลักษณะอื่นๆ ซึ่งพระธรรมทั้งหมดนี้จะเกื้อกูลอุปการะบุคคลที่ยังมีกิเลสที่แฝงลึกอยู่ในจิตใจ เพราะถ้าไม่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด จะไม่มีใครรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง มักจะมองเห็นบุคคลอื่นมากกว่าตัวเอง แต่พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ นอกจากจะเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่ชัดเจนแล้ว ยังไม่เลือกว่าจะเป็นแต่เฉพาะบุคคลอื่น แม้แต่ตัวเอง ถ้ารู้ว่าขณะใดเป็นอกุศล การรู้สภาพธรรมถูกต้องด้วยปัญญาตามความเป็นจริง ย่อมเห็นโทษของอกุศลนั้นและละได้

    สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา ขุททกวัตถุวิภังค์ ปาปิจฉตานิทเทส มีข้อความที่อธิบายถึงความปรารถนาลามก ซึ่งทำให้เกิดอาการต่างๆ ให้บุคคลอื่นเลื่อมใสว่า

    สำหรับคนที่ไม่มีศรัทธา แต่พอถึงวันที่พวกมนุษย์ไปวัด ก็ปัดกวาดลาน พระเจดีย์ ล้างอาสนะ เกลี่ยทราย รดน้ำมหาโพธิ์

    ปกติไม่มีศรัทธา แต่พอถึงวันที่พวกมนุษย์ทั้งหลายไปวัด ก็กระทำกิจให้คนอื่นเห็นว่าเป็นผู้ที่มีศรัทธาในการปัดกวาดลานพระเจดีย์ ล้างอาสนะ เกลี่ยทราย รดน้ำมหาโพธิ์

    นี่ก็เป็นลักษณะหนึ่ง

    สำหรับบางท่าน แม้ผู้ทุศีล ก็ยังเข้าไปหาพระวินัยธร และเล่าเรื่องที่รังเกียจว่า บางครั้งเดินไปทำให้โคตกใจ ทำให้หญ้าขาด หรือว่าบางครั้งก็เผลอสติ บ้วนน้ำลาย ทำให้แมลงซึ่งอยู่ในที่นั้นย่อมตาย เพราะฉะนั้น ก็กราบเรียนถามพระวินัยธรว่า เป็นอกุศลกรรมหรือเปล่า ซึ่งพระวินัยธรท่านก็ต้องยกเจตนาขึ้นว่า ในขณะนั้นมีเจตนาหรือไม่ เมื่อไม่มีเจตนาที่จะฆ่าสัตว์ ขณะนั้นก็ไม่ใช่อกุศลกรรม บุคคลนั้นก็ดีใจว่า ตัวเองได้กระทำสิ่งที่ปราศจากเจตนา

    เพราะฉะนั้น ก็ดูเสมือนเป็นผู้ที่สนใจในเรื่องของวินัย ถึงกับไปกราบเรียน พระวินัยธรให้ทราบถึงความประพฤติ ซึ่งก็ทำให้มนุษย์ทั้งหลายมีความเลื่อมใสว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้ที่มีความสนใจในพระวินัย

    แม้ผู้ที่ศึกษาน้อย แต่ว่ามีความปรารถนาลามก ก็อ้างว่าบุคคลนั้นๆ เป็นศิษย์

    นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งอาจจะเกิดขึ้นแก่ใคร อย่างไร วันไหน ก็ได้ทั้งนั้นตามการสะสมของกิเลส

    แม้ผู้ที่ยินดีด้วยหมู่คณะ ก็ทำเป็นไม่ยินดีในหมู่คณะ ไปพักกลางวันเสียที่ โคนไม้ สุดเขตแดนแห่งวิหาร

    แม้ผู้ที่เกียจคร้านก็ยังอ้างว่า มีแสงสว่างใหญ่ในเวลาจงกรมในมัชฌิมยาม

    พูดได้ทุกอย่าง จะเห็นกำลังของอกุศลว่า เวลาที่มีความปรารถนาลามกเกิดขึ้น จะมีการกระทำด้วยกาย ด้วยวาจาต่างๆ ที่จะให้บุคคลอื่นเลื่อมใส

    แม้ผู้หลงลืมสติก็ยังอ้างว่า เรียนพระสูตรนิกายนั้นๆ ในกาลโน้นๆ ในสมัยโน้นๆ ส่วนภิกษุอื่นยังปากให้ส่ายเพื่อถามปัญหา เป็นราวกะแพะ

    ก็ยังว่าคนอื่นต่อไปอีก เวลาที่บุคคลอื่นถามปัญหา

    ข้อความต่อไป

    แม้มีจิตไม่ตั้งมั่น ก็ถามถึงเรื่องการเจริญสมถะ เช่น อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ แล้วแสดงว่าได้สมาบัติ

    ต้องแสดงไหม ใครได้อะไร ถ้าใครแสดงน่าคิดไหมว่า แสดงทำไม จุดประสงค์เพื่ออะไร โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่กล่าวว่า การสนใจในปริยัติย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ เป็นผู้ที่ย่อมสละปริยัติ เพราะว่าไม่เห็นคุณของปริยัติ

    แต่ว่าสำหรับท่านผู้ฟัง จะเห็นได้ว่า การศึกษาธรรมโดยละเอียดจะทำให้ระลึกถึงข้อความที่ได้ยินได้ฟัง และไม่ใช่เพียงแต่ระลึกถึงเท่านั้น ยังเป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พร้อมทั้งการสำเหนียก สังเกต ค่อยๆ เกิดขึ้น จนกว่าจะเป็นปัญญาที่ถึงขั้นแทงตลอดในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมได้

    เพราะฉะนั้น ต้องค่อยๆ เป็นไป ตามปกติตามความเป็นจริง ตามชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน จึงจะเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่ถูกต้อง

    . ผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมให้ฟังโดยย่อ และได้บรรลุความเป็น พระอรหันต์ ผู้นั้นรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคแล้วหรือยัง

    สุ. ธรรมของพระผู้มีพระภาคจะเกินตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไหม บุคคลนั้นมีตาที่กำลังเห็น มีหูที่ได้ยิน มีจมูกที่ได้กลิ่น มีลิ้นที่ลิ้มรส มีกาย มีใจ เหมือนบุคคลในครั้งนี้ ไม่ว่าจะอีกกี่หมื่นปีกี่ล้านปีก็ตาม เพราะฉะนั้น เมื่อมีตากำลังเห็น รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา สภาพธรรมใดเป็นสังขารธรรมเกิดขึ้นและดับไป เมื่อประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สามารถดับกิเลสได้ ก็ชื่อว่า ประจักษ์ในสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

    ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เท่านั้นจริงๆ

    . ผู้ที่บรรลุเป็นพระอริยบุคคลในครั้งพุทธกาล ซึ่งไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรม พระอริยบุคคลเหล่านั้น ท่านรู้เรื่องของวิถีจิตไหม

    สุ. พระอภิธรรมคืออะไร

    . ก็คือธรรม

    สุ. คือ ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย พระอภิธรรมไม่ใช่อยู่ในหนังสือ ไม่ใช่ตำราเป็นเล่มๆ หรือเป็นหน้าๆ แต่เป็น สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เมื่อผู้ที่เป็นเนยยบุคคลไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ทันที พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอภิธรรม โดยละเอียด เพื่อทรงอนุเคราะห์เกื้อกูลให้สติของบุคคลที่ได้ฟังโดยละเอียดเกิดระลึกได้

    อย่างในคราวก่อน ได้พูดถึงอรรถ คือ ลักษณะของจิตประการที่ ๓ ที่ว่า ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก

    สั้นๆ แค่นี้พอไหม เข้าใจไหม เกื้อกูลให้สติระลึกรู้ประจักษ์แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือยัง สำหรับผู้ที่เป็นเนยยบุคคล

    ผู้ที่เป็นเนยยบุคคล ต้องไม่ใช่ผู้ที่เป็นปทปรมะ

    ผู้ที่เป็นเนยยบุคคลนั้น คือ ผู้ที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยช้า อย่าลืม รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่โดยช้า

    แต่ผู้ใดแม้จะสอนมาก จะฟังมาก จะแสดงหรือกล่าวธรรมมาก ก็ไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ผู้นั้นเป็นปทปรมบุคคล

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นเนยยบุคคลต้องฟังมาก เพียงฟังว่า ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก ย่อมไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ซึ่งเป็นจิต กิเลสก็มี ไม่ใช่ว่าหมด วิบากก็มี ไม่ใช่ว่าหมด กรรมก็มี ไม่ใช่ว่าหมด แต่ทำไมไม่ประจักษ์แจ้ง เพียงฟังว่า ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของกิเลสโดยละเอียด ทรงแสดงเรื่องของกรรมโดยละเอียด ทรงแสดงเรื่องของวิปากซึ่งเป็นผลของกรรมโดยละเอียด ทรงแสดงเรื่องปฏิจจสมุปปาทะ คือ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ โดยละเอียด ทรงแสดงว่า ในขณะหนึ่ง ซึ่งสภาพธรรมใดที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมเกิดขึ้น สภาพนามธรรมที่เกิดขึ้นนั้นมีปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดขึ้น และรูปนั้นมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดขึ้น ที่กำลังเห็นแต่ละขณะ กว่าจะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุรู้ สภาพรู้เท่านั้นจริงๆ ดับไปแล้ว ที่กำลังพูดถึงการเห็นนี้ ก็ไม่รู้ว่านามธรรมกี่ประเภทได้ดับไปแล้ว และการเห็นแต่ละขณะที่จะเกิดได้ ก็มีปัจจัยหลายปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส วิบากจิตประเภทต่างๆ อกุศลจิตประเภทต่างๆ หรือกรรมประเภทต่างๆ มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด เพื่อให้ผู้ที่เป็นเนยยบุคคลฟัง ฟังแล้วก็ฟังอีก และพิจารณาเพื่อที่จะไม่หลงลืม

    เพราะถ้าไม่อาศัยการฟัง ทุกคนไม่พ้นความคิด ก็จะต้องคิดเรื่องอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องอภิธรรม ไม่ใช่เรื่องของธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่เมื่อฟังเรื่องของอภิธรรม หรือธรรมที่มีจริงที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจมากขึ้น บ่อยขึ้น ก็เป็นปัจจัยให้ไม่หลงลืมที่สติจะเกิด ระลึกศึกษาเพื่อรู้ชัดลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ปฏิจจสมุปปาทะโดยย่อที่เป็นกิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ ไม่ใช่เพียงให้เข้าใจว่า เมื่อกิเลสยังมี กรรมก็ต้องมี เมื่อกรรมยังมี วิบากซึ่งเป็นผลของกรรมก็ต้องมี และเมื่อกิเลสยังไม่หมดก็เป็นปัจจัยให้เกิดกรรมอีก และเมื่อกรรมมีก็เป็นปัจจัยให้วิบากเกิดขึ้นอีก เข้าใจเท่านี้ไม่พอ ต้องเข้าใจโดยละเอียด แม้แต่ในขณะที่เห็นครั้งหนึ่ง หรือวาระหนึ่ง กิเลสเมื่อไร วิบากเมื่อไร กรรมเมื่อไร ต้องรู้ชัด และสามารถที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพที่เกิดดับจริงๆ ในขณะนี้ได้ จึงจะเข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ว่า เป็นประโยชน์เกื้อกูลที่จะให้บุคคลที่ได้ฟังอบรมเจริญปัญญาสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    แต่ถ้าไม่อาศัยการฟัง เพียงแต่ได้ยินได้ฟังบ้างนิดๆ หน่อยๆ เข้าใจบ้างนิดๆ หน่อยๆ ไม่มีทางสามารถอบรมเจริญปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะแม้แต่การที่จะรู้ลักษณะของกิเลสวัฏฏ์ หรือกัมมวัฏฏ์ หรือวิปากวัฏฏ์ ก็ไม่ใช่ในขณะอื่น ไม่ใช่ว่าพอเจ็บไข้ได้ป่วยก็กล่าวว่า วิบากแล้ว นี่เป็นผลของกรรม และก็จะต้องเป็นผลของอกุศลกรรมหนึ่งในอดีต เวลาที่ได้ความสุข ได้ลาภ ได้ยศ ก็กล่าวว่า บุญแล้ว เป็นผลของกรรมในอดีตกรรมใดกรรมหนึ่งซึ่งเป็นกุศลให้ผล

    แต่ว่าขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ขณะที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ นี่คือปฏิจจสมุปปาทะ เพราะการที่จะรู้ชัดจริงๆ ในวิบาก ถ้าไม่ใช่ในขณะที่เห็น ไม่ใช่ในขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่ในขณะที่ได้กลิ่น ไม่ใช่ในขณะที่ลิ้มรส ไม่ใช่ในขณะที่กระทบสิ่งที่ปรากฏทางกายแล้วจะเป็นขณะไหน เพราะวิบากทั้งหมด คือ ในขณะที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู ได้กลิ่นที่กระทบทางจมูก ลิ้มรสที่กระทบทางลิ้น รู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจปฏิจจสมุปปาทะให้ละเอียดลึกซึ้งขึ้น ต้องในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่เพียงการเข้าใจ เผินๆ หรือย่อๆ ว่า กิเลสเป็นเหตุให้เกิดกรรม กรรมเป็นเหตุให้เกิดวิบาก แต่ในขณะที่กำลังเห็นไม่รู้ว่า เป็นวิบากอย่างไร

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเข้าใจธรรมจริงๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดทุกประการ หมดความสงสัยได้ คือ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจนชำนาญ จนคล่องแคล่ว จนมีปัจจัยที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ และก็จะรู้ชัดขึ้นในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมว่า ขณะใดเป็นวิบาก ขณะใดเป็นกิเลส ขณะใดเป็นกรรม

    . อรรถกถาที่อาจารย์ยกมากล่าวว่า ผู้ที่จะพ้นทุกข์ ไม่ต้องอาศัยการศึกษา ปฏิบัติอย่างเดียว เพราะว่าผู้ที่ศึกษานั้นไม่สามารถที่จะพ้นทุกข์ได้ คำพูดแค่นี้เป็นโจรปล้นศาสนา ผมไม่เข้าใจว่า ปล้นอย่างไร

    สุ. สำหรับบุคคลที่กล่าวอย่างนั้น ท่านผู้ฟังต้องพิจารณาว่า เป็นผู้ที่มีปัญญาหรือว่ามีปัญญาทราม ที่กล่าวอย่างนั้น พูดถูกหรือพูดผิด มีใครสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงได้

    . ก็มี ครั้งพุทธกาล ผู้ที่ศึกษาโดยย่อ หรือฟังธรรมนิดหน่อย

    สุ. ก็ยังเป็นผู้ที่ศึกษาอยู่นั่นเอง เพราะได้อบรมเจริญปัญญาในอดีต พร้อมที่จะประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยเพียงทรงแสดงสั้นๆ ไม่ทำให้ พระผู้มีพระภาคต้องทรงเหน็ดเหนื่อยเหมือนอย่างผู้ที่เป็นเนยยบุคคล เพราะเพียงคาถาสั้นๆ เทศนาสั้นๆ ก็สามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม

    . ผมก็คิดว่า ท่านอรรถกถาจารย์ท่านกล่าวถูก เพราะว่าพระพุทธศาสนาจะเสื่อมก็ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ ปฏิเวธเสื่อมไป ปฏิบัติเสื่อมไป ปริยัติเสื่อมไป ลิงคเสื่อมไป ธาตุเสื่อมไป พุทธศาสนาจะหมด ก็หมดด้วยอย่างนี้ ถ้าบุคคลกล่าวว่า ไม่ต้องศึกษา ก็หมายความว่า ทำให้ปริยัติเสื่อมเร็วกว่าปกติ เพราะฉะนั้น ที่ท่านกล่าวว่า เป็นโจรปล้นพระพุทธศาสนา ก็ด้วยประการนี้กระมัง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๙๗๑ – ๙๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564