แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1003


    ครั้งที่ ๑๐๐๓

    สาระสำคัญ

    ผู้อบรมเจริญ สมถภาวนา เพราะเห็นโทษของกาม ตอบจดหมายท่านผู้ฟัง บ้านพักวิทยาลัยเทคนิค บุรีรัมย์ อัง.ติก.อาชีวกสูตร-คนพวกไหนกล่าวธรรมดีแล้ว


    . ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานสำเร็จเป็นพระอนาคามีแล้ว เหตุใดจุติแล้วไปเกิดเป็นพรหม มีเหตุผลอะไร

    สุ. ผู้ที่จะเกิดในพรหมโลก เป็นผู้ที่เห็นโทษของกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าเป็นผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐานแต่ยังไม่ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ก็ยังไม่ได้ตัดขาดหรือดับสนิทซึ่งความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่สำหรับผู้ที่อบรมเจริญ สมถภาวนา เพราะเห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และความสงบมั่นคงขึ้นจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิโดยไม่เสื่อม เป็นผู้ที่มีวสี คือ ความชำนาญในการนึกถึงฌาน ในการเข้าฌาน ในการตั้งอยู่ในฌาน ในการออกจากฌาน ในการพิจารณา องค์ฌาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่การที่จะถึงอัปปนาสมาธิ และยังต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญจนแคล่วคล่อง คือ มีวสีทั้ง ๕ และเวลาที่ใกล้จะจุติมีปัจจัยที่จะให้ฌานจิตเกิดก่อนจุติ จึงเป็นผู้ที่สามารถจะเกิดในพรหมโลก เพราะกำลังของอัปปนาสมาธิสามารถที่จะข่มความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะไว้ได้ชั่วคราว เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่เป็นพรหมบุคคลในพรหมโลก ไม่ใช่เป็นผู้ที่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเหมือนอย่างในกามโลก หรือในกามภูมิ

    แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอนาคามีบุคคล ไม่ใช่เพียงระงับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนดับสนิท ไม่มีความยินดีพอใจติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ใครจะเป็นผู้ที่ตัดขาดความเกี่ยวข้อง หรือความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้มากกว่ากัน ผู้ที่ได้ฌาน หรือผู้ที่เป็นพระอนาคามีบุคคล

    . หมายความว่า ผู้ที่เป็นพระอนาคามีบุคคล ขณะนั้นจิตยังไม่ใช่เป็นฌาน

    สุ. สำหรับพระอนาคามีบุคคล ขอให้คิดถึงชีวิตประจำวันของท่าน ซึ่งท่านดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเป็นสมุจเฉทไม่เกิดเลย ชีวิตประจำวันของท่านก็เห็นเหมือนอย่างปุถุชน เหมือนอย่างพระโสดาบัน เหมือนอย่างพระสกทาคามี แต่เมื่อเห็นแล้ว สำหรับปุถุชนมีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทันที ถ้าขณะนั้นไม่เป็นโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต หรือกุศลจิต เช่นเดียวกับพระโสดาบัน หรือพระสกทาคามี

    นี่เป็นความรวดเร็วของวิถีจิตซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่มีใครมาบังคับ หรือมาระมัดระวัง ควบคุม กั้นทางนั้น กั้นทางนี้ที่จะไม่ให้โลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิตเกิด พระอนาคามีไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยทำกิจเหล่านี้เลย เพราะท่านดับ อนุสัยกิเลส คือ กามราคานุสัย ความยินดีพอใจติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น เป็นธรรมชาติของพระอนาคามีที่ว่า เมื่อเห็นแล้วโลภมูลจิตที่พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะไม่เกิด และด้วยเหตุนี้ โทสมูลจิตก็ไม่เกิดด้วย เพราะผู้ที่ยังยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเท่านั้นที่จะเป็นปัจจัยให้โทสมูลจิตเกิด เมื่อไม่ได้รูปที่พอใจ ไม่ได้เสียง ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้รส ไม่ได้โผฏฐัพพะที่พอใจ ก็มีความไม่แช่มชื่น มีจิตที่หยาบกระด้างประทุษร้าย เป็น โทสมูลจิตเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น พระอนาคามีไม่มีโลภะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และไม่มีโทสมูลจิต ในขณะนั้นถ้าอกุศลจิตจะเกิด ก็เป็นโลภมูลจิต ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ พอใจในกุศลจิต ในความสงบ ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นหลังจากที่เห็น สำหรับคนอื่นซึ่งเป็นปุถุชน บางคนเห็นแล้วกุศลจิตก็อาจจะเกิด ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นอกุศลเสมอไป แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอกุศลหลังจากที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญกุศลมากๆ บ่อยๆ เนืองๆ เช่น ในขณะที่สติปัฏฐานเกิดในขณะที่กำลังเห็น หลังจากที่ได้เห็นแล้วกุศลจิตก็เกิด เพราะฉะนั้น เมื่อพระอนาคามีท่านอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งดับกิเลสเป็นสมุจเฉท จิตของท่านก็ย่อมเป็นกุศลเกิด เป็นกุศลที่สงบ เพราะว่าไม่ใช่ยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น รส ในโผฏฐัพพะที่ปรากฏ แต่ท่านยังมีโลภะ ความยินดีพอใจในความสงบที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะในขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ตามปกติในชีวิตประจำวัน แต่ว่าไม่ใช่ความพอใจติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    นี่เป็นความต่างกันสำหรับพระอนาคามีและพระอรหันต์ ซึ่งพระอรหันต์ไม่มีแม้ความยินดีพอใจในภพ ในความสงบที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการเห็น

    ทุกท่านเห็นเหมือนกัน แต่จิตหลังจากที่เห็นต่างกันไปตามความวิจิตรของการสะสมของแต่ละบุคคล ของปุถุชน ของพระโสดาบัน ของพระสกทาคามี ของพระอนาคามี ของพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้น จิตของพระอนาคามีย่อมมีความสงบมากกว่าผู้ที่ยังมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และเพราะว่าท่านดับความยินดีพอใจในกาม คือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเป็นสมุจเฉท จึงไม่เกิดใน กามโลกหรือในกามภูมิอีกเลยเมื่อบรรลุถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล แต่จะเกิดในพรหมโลกชั้นหนึ่งชั้นใด แล้วแต่ความวิจิตรของจิต

    ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว พระอนาคามีบุคคล หรือพระอรหันต์ พระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล และปุถุชนทั้งหลาย ก็อยู่รวมกันในโลกนี้ โดยที่ว่า ท่านเหล่านั้นซึ่งเป็นพระอริยเจ้ามีตาเหมือนปุถุชน มีรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณวรรณะตามกรรม ซึ่งจำแนกให้ท่านเป็น พระอริยบุคคลในเพศนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย บรรพชิตหรือฆราวาส จึงยากที่ใครจะสามารถรู้ถึงคุณธรรม คือ ความเป็นพระอริยเจ้าได้ เพราะฉะนั้น บางท่านก็อาจจะนึกไม่ออกว่าบุคคลในครั้งกระโน้นที่ท่านเป็นพระอริยเจ้า ท่านจะเหมือนกับคนโน้นคนนี้ในยุคนี้สมัยนี้ รูปร่างหน้าตาอย่างนี้หรือเปล่า แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้ต่างกัน เพราะอยู่ในมนุษย์ภูมิ ในโลกเดียวกันนี้เอง เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี มีคิ้ว มีตา มีจมูก มีปาก มีกิริยาอาการ มีผิวพรรณวรรณะต่างๆ ก็เหมือนคนในยุคนี้สมัยนี้ เพียงแต่ว่าบุคคลใดได้ฟังธรรม เข้าใจแล้วก็ประพฤติปฏิบัติตามมากน้อยเท่าไร บุคคลอื่นไม่สามารถจะรู้ได้

    ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ขอเชิญท่านผู้ฟังช่วยอ่านด้วย แต่ไม่ต้องอ่านชื่อก็ได้

    บ้านพักวิทยาลัยเทคนิค บุรีรัมย์

    ๒๖ กันยายน ๒๕๒๓

    เรียน คุณกุลิน คงสวัสดิ์ที่นับถือ

    ดิฉันได้รับม้วนเทปที่คุณส่งไปให้หลายวันแล้ว ทีแรกตั้งใจว่า พอฟังจบก็จะส่งกลับคืนมาพร้อมจดหมายตอบรับ แต่พอดีดิฉันเดินทางกลับบ้านที่ฉะเชิงเทราได้เอาม้วนเทปติดไปด้วย ตั้งใจจะนำไปให้คุณแม่ฟัง และนี่ดิฉันกลับมาถึงบ้านพักแล้ว บอกท่านให้ฟังหลายๆ เที่ยว แต่ตัวดิฉันเองก็เปิดฟังหลายเที่ยว ยิ่งฟังก็ยิ่งเกิดประโยชน์มาก ไม่รู้สึกเบื่อเลย ดิฉันฟังไปพร้อมกับบันทึกใส่เทปดิฉันไว้ด้วย แต่ไม่ทราบว่าเป็นที่เครื่องเทปหรือเป็นที่ตลับเทป พออัดแล้วเปิดฟังดู เสียงมันค่อยมากค่ะ เป็นทุกบ้านเลย แต่เปิดฟังที่อัดไว้เดิมจากวิทยุ ก็ยังฟังได้ยิน ดิฉันจึงสุดวิสัยที่จะบันทึกไว้ได้ คุณแม่ของดิฉันท่านก็ชอบศึกษาและปฏิบัติธรรม แต่วิธีของท่านมักจะขัดกับดิฉันเสมอ เพราะท่านชอบท่องบ่นสวดมนต์ นั่งหลับตาภาวนาแล้วก็เดินจงกรม ดิฉันจึงแนะนำท่านให้ลองศึกษาวิธีของอาจารย์สุจินต์ดู โดยบอกท่านว่า เท่าที่ดิฉันได้ศึกษาธรรมมา ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่จากพระภิกษุหรือฆราวาสก็ตาม ก็เห็นมีของอาจารย์สุจินต์นี่แหละที่เผยแพร่ธรรมโดยครบถ้วนสมบูรณ์ และไม่มีการขัดแย้งกันเลย ส่วนท่านอื่นๆ นั้น ดิฉันเห็นว่ามักจะเน้นหนักไปในเรื่องอนิจจํ ทุกฺขํ แต่ลืมเรื่องอนตฺตา เพราะโดยมากมักจะแนะนำวิธีปฏิบัติ แล้วก็บอกว่าต้องทำจิตให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วผลก็จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยลืมไปว่าผู้ที่จะไปปฏิบัติแต่ละคนนั้น ในอดีตสร้างบารมีมาต่างกัน กุศลกรรมและอกุศลกรรมก็ทำมาต่างกัน เพราะฉะนั้น จะหวังผลอย่างเดียวกันในเวลาเดียวกันได้อย่างไร ซึ่งต่างกับที่ได้ฟังจากอาจารย์สุจินต์บรรยาย จะสอดคล้องกันและมีเหตุผล ดิฉันบอกกับคุณแม่ว่า การศึกษาธรรมมากๆ เป็นการดี แต่ต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนจึงค่อยรับ เพราะส่วนใหญ่ท่านฟังจากพระแล้วก็นำมาปฏิบัติ ดิฉันบอกว่า พระภิกษุส่วนใหญ่ท่านก็พูดตามแบบของท่าน คือ แบบของพระ แต่เราเป็นฆราวาส คนละเพศกัน เพราะฉะนั้น จะไปปฏิบัติเหมือนกันไม่ได้ ธรรมสำหรับฆราวาสก็มี เช่น การไหว้ทิศทั้ง ๖ ที่อาจารย์สุจินต์บรรยายในเทป ดังนั้น ขณะนี้ม้วนเทปจึงยังคงอยู่ที่คุณแม่ของดิฉัน เมื่อท่านส่งมาให้ดิฉันแล้ว ดิฉันจะส่งกลับมาให้คุณกุลินค่ะ

    ต้องขออภัยด้วยที่ตอบล่าช้า บางครั้งดิฉันได้พูดถึงคุณประโยชน์จากการได้รับฟังธรรมจากอาจารย์สุจินต์ บอกว่าท่านพูดดี แล้วเวลามีปัญหาสงสัย ท่านก็ตอบดี ยกสูตรนั้นสูตรนี้ขึ้นมาประกอบให้เข้าใจยิ่งขึ้น ดิฉันมีเจตนาจะให้คนฟังเขาเกิดความศรัทธาเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเขาเอง แต่บางทีผลกลับไม่เป็นอย่างนั้นหรอกค่ะ เพราะเขาตอบดิฉันว่า ที่ตอบได้ตรงและเปิดพระสูตรมาตอบได้ถูกต้อง เพราะมีการซ้อมกันไว้แล้ว และที่อาจารย์สุจินต์เผยแพร่ธรรมอยู่นี้ เพราะเป็นอาชีพ ดิฉันไม่ทราบว่าจะตอบเขาอย่างไร ได้แต่บอกว่าดิฉันก็ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะดิฉันก็ไม่เคยทราบประวัติหรือรายละเอียดในตัวท่าน ดิฉันสนใจแต่ธรรมที่ท่านบรรยาย และนิยมในความสามารถ พร้อมกับคุณธรรมที่ท่านมี เพราะดิฉันไม่ทราบว่าจะพูดอะไรได้ดีกว่านี้

    พร้อมกันนี้ดิฉันมีจิตศรัทธาที่จะเผยแพร่ธรรม โดยส่งเงินจำนวน ๑๐๐ บาท บริจาคในนามของดิฉันและสามี และขออุทิศส่วนกุศลนี้ไปให้ญาติมิตรทุกท่าน

    ด้วยความนับถือ

    สุ. ขอบพระคุณ ที่จะขอเรียนชี้แจงท่านเจ้าของจดหมาย ก็เพราะท่านมีความหวังดีใคร่ที่จะให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการฟังธรรม แต่ท่านที่ไม่สนใจและไม่คิดว่าการฟังรายการนี้จะมีประโยชน์เพราะท่านเข้าใจว่า การที่ตอบได้ตรง และการที่เปิดพระสูตรมาตอบได้ถูกต้อง เพราะมีการซ้อมกันไว้แล้ว และที่อาจารย์สุจินต์เผยแพร่ธรรมอยู่นี้ เพราะเป็นอาชีพ

    เข้าใจว่า ถ้าได้เรียนชี้แจงให้ทราบความจริง ท่านจะได้พิจารณาธรรมที่ได้ฟัง เพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากการพิจารณาธรรมบ้าง

    สำหรับการบรรยายธรรม ก็ได้บรรยายไปตามลำดับ พร้อมทั้งหลักฐานในพระไตรปิฎกและอรรถกถาซึ่งได้รวบรวมมาพร้อมที่จะบรรยาย เพราะฉะนั้น ก็ไม่เป็นการยากที่จะตอบคำถามของท่านผู้ฟังที่เป็นคำถามในเรื่องที่กำลังบรรยายอยู่ และสำหรับข้อความที่ว่า ซ้อมกันมาแล้ว ก็ขอเรียนให้ทราบว่า มีท่านผู้ฟังบางท่านที่ได้ซักถามบ่อยๆ ซึ่งเป็นคำถามที่มีประโยชน์ เกื้อกูลสำหรับท่านผู้ฟังอื่นๆ ซึ่งไม่ได้มาฟังด้วยตนเอง หรือว่าท่านผู้ฟังที่เริ่มฟัง ซึ่งก็เป็นกุศลจิตของท่านผู้นั้นที่คิดเกื้อกูลท่านผู้ฟังอื่นๆ ด้วยการถามแทน และเป็นการกระทำด้วยกุศลจิตของท่านผู้นั้นเอง ท่านไม่ได้มาปรึกษาหรือซักซ้อมอะไรกับดิฉันก่อนเลย และบางครั้งดิฉันก็รู้สึกว่า อยากให้ท่านผู้ฟังซักถามข้อความละเอียดบางตอน แต่ท่านผู้ฟังก็ไม่ได้ถาม รู้สึกเสียดายที่น่าจะถาม แต่เมื่อไม่มีท่านผู้ฟังที่สนใจ ความละเอียดของตอนนั้นก็ผ่านไป และบางครั้งก็รู้สึกว่า มีข้อความบางตอนในพระธรรมที่ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดจะช่วยกรุณาถาม ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับท่านผู้ฟังท่านอื่นด้วย ก็ได้เรียนให้ท่านผู้ฟังบางท่านทราบว่า ท่านมีความเห็นอย่างนี้หรือไม่ว่า ข้อความตอนนี้ควรที่จะได้ซักถามเพื่อที่จะได้ประโยชน์สำหรับท่านผู้ฟังทางบ้านและท่านผู้ฟังท่านอื่น ถ้าท่านผู้ฟังท่านนั้นเห็นด้วยว่าเป็นอย่างนั้น ท่านก็กรุณาถาม อย่างนี้ไม่ทราบว่า จะเรียกว่าซักซ้อมหรือเปล่า

    แต่ที่ได้เคยแนะนำท่านผู้ฟังให้เห็นประโยชน์ของการซักถามข้อธรรมบางประการนั้น ก็เฉพาะในตอนแรกๆ ที่เริ่มบรรยายเพียงไม่กี่ข้อเท่านั้น เพราะว่าในตอนนั้นเป็นระยะที่ท่านผู้ฟังเพิ่งเริ่มจะรับฟังเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ก็ย่อมเป็นเรื่องที่ยังใหม่สำหรับท่านผู้ฟังส่วนมากในตอนนั้น และคำถามทั้งหมดหลังจากตอนเริ่มบรรยายในครั้งแรกๆ นั้น ก็เป็นคำถามที่เป็นข้อสงสัยของท่านผู้ฟังเองทั้งหมด ซึ่งท่านผู้ถามทุกท่านก็คงจะทราบดีว่า คำถามที่ท่านถามนั้น ท่านไม่ได้มาซักซ้อมกับดิฉันก่อนเลย

    และคงจะไม่ลืมที่เคยกล่าวถึงข้อความที่ว่า ผู้บรรยายธรรมทุกท่านเปรียบเสมือนผู้อ่านสาส์นของพระราชา พระราชา คือ พระบรมศาสดา สาส์น คือ พระไตรปิฎกและข้อความในอรรถกถา เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็ไม่ควรที่จะคิดว่า ผู้อ่านเป็นใคร แต่ประโยชน์ที่จะได้รับจากการฟังธรรม คือ สนใจข้อความในสาส์น ซึ่งก็คือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง พร้อมกันนั้นก็อาจจะพิจารณาผู้อ่านได้ว่า ผู้อ่านอ่านผิดหรืออ่านถูกประการใดจากการพิจารณาของท่าน ไม่ใช่ว่าฟังแล้วต้องเชื่อ แต่ว่าในขณะที่ฟังนั้นเอง ก็ยังพิจารณาผู้อ่านได้ว่า ผู้อ่านอ่านผิดหรืออ่านถูก เข้าใจผิดหรือเข้าใจถูก คลาดเคลื่อนประการใด และถ้ามีข้อความตอนใดที่สงสัยก็ซักถามเพื่อประโยชน์ของทั้งผู้บรรยายและผู้ฟังด้วย

    ถ้าผู้ที่อ่านสาส์นนั้นเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรม และได้เลือกเฟ้นธรรมต่างๆ เพื่อที่จะได้นำสาส์นมาอ่านให้ฟัง เพื่อท่านผู้ฟังจะได้พิจารณา ไม่ทราบว่าควรจะตำหนิผู้อ่านสาส์น ผู้มีความสนใจศึกษาธรรมและเลือกเฟ้นธรรมที่จะนำมาอ่านหรือไม่

    ประการสุดท้ายที่จะขอเรียนให้ทราบ คือ การบรรยายธรรมไม่ใช่อาชีพของดิฉัน เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังท่านใดที่ไม่อยากจะฟังเพราะว่าคิดว่าเป็นอาชีพ จะได้ทราบว่า การบรรยายธรรมไม่ใช่อาชีพของดิฉัน

    สำหรับข้อความในพระไตรปิฎก มีอยู่สูตรหนึ่งที่ควรจะได้พิจารณา คือ ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ที่มีคฤหบดีซึ่งเป็นสาวกของอาชีวกผู้หนึ่ง ได้มาเรียนถามท่านพระอานนท์ว่า คนพวกไหนกล่าวธรรมดีแล้ว ซึ่งข้อความใน อาชีวกสูตร ข้อ ๕๑๒ มีว่า

    สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ที่โฆสิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี ครั้งนั้นแล คฤหบดีผู้เป็นสาวกของอาชีวกคนหนึ่ง เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว นั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามว่า

    ข้าแต่ท่านพระอานนท์ คนพวกไหนเล่าได้กล่าวธรรมไว้ดีแล้ว พวกไหนปฏิบัติดีแล้วในโลก พวกไหนดำเนินไปดีแล้วในโลก

    แทนที่ท่านพระอานนท์จะตอบว่า ตัวท่าน และสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้กล่าวธรรมดีแล้ว เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติดีแล้วในโลก และเป็นผู้ดำเนินไปดีแล้ว คือ บรรลุธรรมดีแล้วในโลก ท่านพระอานนท์ก็ได้ถามคฤหบดีผู้นั้น เพื่อที่จะให้คฤหบดีผู้นั้นได้พิจารณาและตอบด้วยตนเอง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๐๐๑ – ๑๐๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564