แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1002


    ครั้งที่ ๑๐๐๒

    สาระสำคัญ

     ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ขณะอื่น แต่กำลังปรากฏขณะนี้  อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องรู้ แล้วละความไม่รู้ 


    ผู้ที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเพิ่มความรู้ลักษณะ ต่างๆ กัน จึงรู้ว่าขันธ์ ๕ หมายถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในแต่ละขณะนั้น เป็นสภาพธรรมที่จัดประเภทออกได้เป็นทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน และยังจำแนกลักษณะต่างกันเป็นหยาบ ละเอียด หรือเลว ประณีต

    เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงแต่จะบอกให้ระลึกขันธ์ ๕ ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้รู้ชัดในลักษณะของขันธ์ ๕ แต่ถ้ารู้ว่าขันธ์คือเมื่อไร ซึ่งไม่ใช่ขณะอื่นเลย ขณะที่กำลังเห็น เป็นขันธ์ เป็นรูปขันธ์ สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าเป็นเวทนาขันธ์ ความรู้สึกที่เกิดในขณะที่เห็น หรือว่าเป็นสัญญาขันธ์ ที่จำในสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือว่าเป็นสังขารขันธ์ ซึ่งเป็นสภาพที่พอใจ หรือไม่พอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือว่าเป็นวิญญาณขันธ์ คือสภาพที่กำลังรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏนั้นจะมีลักษณะต่างกันไปอย่างไรก็ตาม วิญญาณขันธ์เป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ขณะอื่น แต่เป็นในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏในขณะนี้

    . เรื่องให้รู้ขันธ์ ๕ บางคนคิดว่า พอจะรู้ได้ แต่ถ้าให้รู้ปรมัตถธรรมทั้ง ๔ บางคนคิดว่าปรมัตถธรรมรู้ยาก แต่แท้ที่จริงแล้ว ขันธ์ ๕ กับปรมัตถธรรมก็อย่างเดียวกัน ปรมัตถธรรมทั้ง ๔ พระผู้มีพระภาคก็จัดใหม่ เรียกขึ้นมาอีกชื่อหนึ่งว่า ขันธ์ ๕ จัดรูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ เวทนาทั้งหมดเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาทั้งหมดเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลืออีก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ จิตทั้งหมดจัดเป็นวิญญาณขันธ์ นิพพานจัดเป็นขันธวิมุตติ

    ถ้าจะให้ผู้ปฏิบัติธรรมรู้ปรมัตถธรรม ๔ รู้ยาก ถ้าให้รู้ขันธ์ ๕ คิดว่าพอจะรู้ได้ เพราะฉะนั้น ให้รู้ขันธ์ ๕ หรือให้รู้ปรมัตถธรรม ๔ เหมือนกันไหม

    สุ. เหมือนกัน แต่ไม่ง่ายทั้ง ๒ เพราะขณะที่กำลังเห็น เป็นปรมัตถธรรมหรือยังที่กำลังปรากฏ ถ้าเห็นไม่ใช่ปรมัตถธรรม เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุ สิ่งต่างๆ ไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นไม่ใช่รู้ปรมัตถธรรม

    หรือในขณะที่กำลังเห็น ซึ่งทุกท่านกำลังเห็นอยู่ในขณะนี้ ถ้าสติไม่ระลึกได้ และปัญญาไม่เริ่มน้อมที่จะพิจารณารู้ว่า ขณะที่เห็นเป็นเพียงชั่วขณะหนึ่งในชีวิต ชั่วขณะที่ได้ยินก็เป็นอีกขณะหนึ่งในชีวิต เป็นเพียงแต่ละขณะในสังสารวัฏฎ์ ถ้าไม่รู้ว่าในขณะที่กำลังเห็นเป็นเพียงสภาพรู้ หรือธาตุรู้ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในขณะที่เสียงปรากฏ ก็มีธาตุรู้เสียง เป็นสภาพรู้เสียง เป็นปรมัตถธรรม คือ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ถ้านามธรรมที่ได้ยินเสียงยังไม่ปรากฏว่าเป็นแต่เพียงธาตุรู้ อาการรู้ หรือสภาพรู้ ก็ไม่ใช่ว่าปรมัตถธรรม ๔ จะรู้ได้ง่าย

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยของปรมัตถธรรม ๔ หรือขันธ์ ๕ หรืออริยสัจธรรม ๔ ก็ตาม หรือว่าโดยนัยอื่นๆ ก็ไม่ใช่ว่าเป็นสภาพธรรมที่รู้ง่าย เพราะต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะประจักษ์ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นประจำวันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนชื่อแล้วจะรู้ง่ายขึ้น ไม่ใช่พูดว่า ปรมัตถธรรม ๔ และจะรู้ง่ายกว่าขันธ์ ๕ หรือจะรู้ง่ายกว่าอริยสัจ ๔

    . ผู้ที่จะบรรลุเป็นพระอริยบุคคล จะต้องรู้ปรมัตถธรรมทั้งหมดหรือเปล่า

    สุ. ตามความสามารถ แต่ว่าจะหมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่มีความสงสัยในลักษณะว่า นามธรรมนี้เป็นเรา หรือเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือนามธรรมนั้นเป็นเรา หรือเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือรูปธรรมนี้เป็นเรา หรือเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    ถ. ผมคิดว่า ปรมัตถธรรมทั้ง ๔ ประการ ชาตินี้คงจะรู้ไม่ทั่วแน่ เพราะว่าผมอบรมเจริญสติปัฏฐานมาตั้งสิบๆ ปีแล้ว ธรรมต่างๆ ที่ปรากฏได้ ก็แค่สิบกว่าปรมัตถ์เท่านั้น

    สุ. อะไรบ้าง

    . ก็มีลักษณะของสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ พอปรากฏบ้าง และลักษณะของสติ ลักษณะของเวทนา ลักษณะของปัญญา ธรรมเหล่านี้เคยปรากฏ แต่ธรรมอื่นๆ เช่น ปสาทรูป ๕ วิบากจิตทั้ง ๑๘ ไม่เคยปรากฏเลย เพราะฉะนั้น เมื่อไม่เคยปรากฏ เราก็รู้ไม่ได้ จึงคิดว่า ชาตินี้รู้ทั่วถึงธรรมของปรมัตถธรรมทั้ง ๔ ไม่ได้

    สุ. เวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิด สีสันวัณณะปรากฏหรือเปล่า

    . ไม่ปรากฏ

    สุ. ขณะนี้มองเห็นอะไรหรือเปล่า

    . เห็น

    สุ. สีสันวัณณะหรือเปล่า สิ่งที่ปรากฏทางตา

    . ไม่เป็น

    สุ. ถ้าไม่เป็น จะเป็นอะไร

    . เป็นวัตถุ เป็นสิ่งของ เป็นบุคคล

    สุ. ก่อนที่จะเป็นวัตถุสิ่งของทั้งหลายในขณะที่เห็น เห็นอะไร ไม่ใช่ว่า คนที่สติปัฏฐานไม่เกิด จะไม่มีสีสันวัณณะปรากฏทางตาเลย เป็นไปได้อย่างไรที่ รูปารมณ์ หรือวัณโณ หรือสีสันวัณณะต่างๆ ที่ปรากฏในขณะที่ลืมตา จะไม่ปรากฏถ้าสติไม่เกิด

    ถึงแม้ว่าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็มีการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ถึงแม้ว่าสติปัฏฐานไม่เกิด เสียงก็ปรากฏ ไม่ใช่ว่าเสียงจะไม่ปรากฏ สำหรับผู้ที่สติปัฏฐานไม่เกิด เสียงก็ยังปรากฏ แต่ไม่รู้ ไม่รู้ในลักษณะสภาพที่แท้จริงของเสียง เช่นเดียวกับไม่รู้ลักษณะสภาพที่แท้จริงของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่ว่ารูปต่างๆ จะไม่ปรากฏ สี รูปารมณ์ ปรากฏทางตา สัททะ คือ เสียง สัททารมณ์ปรากฏทางหู กลิ่นต่างๆ ปรากฏทางจมูก รสต่างๆ ปรากฏทางลิ้น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง กำลังปรากฏอยู่เสมอ แต่ปัญญาและสติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล โดยการประจักษ์แจ้ง

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดซึ่งเป็นวิสยรูป หรือโคจรรูป คือ สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นของจริง เป็นสัจธรรม เป็นอริยสัจจะ เป็นขันธ์ ๕ เป็นปรมัตถธรรม แต่ว่าปัญญายังไม่ได้รู้จริงๆ ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นเป็นสัจธรรม เป็นขันธ์ ๕ เป็นปรมัตถธรรม เพียงแต่รู้โดยศึกษา เข้าใจได้ ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็น สภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เสียงที่ปรากฏทางหู นี่เป็นการรู้ขั้นศึกษา

    สำหรับการที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมอื่นที่ยังไม่ปรากฏ แต่ต้องเริ่มด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ จนกว่าสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมจะปรากฏโดยความขาดตอน ไม่ประชุมรวมกันเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุ เป็นโลก ซึ่งกำลังปรากฏรวมกันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    การอบรมเจริญสติปัฏฐาน อย่าลืมว่าเป็นเรื่องรู้ ซึ่งจะละความไม่รู้ เมื่อรู้แล้ว หรือความรู้เกิดขึ้น จะค่อยๆ ละความไม่รู้ แต่ไม่ใช่ต้องการที่จะรู้อย่างอื่น ถ้าขณะใดเกิดความต้องการที่จะรู้รูปอื่นที่ไม่ปรากฏ เช่น จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป หทยรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ชีวิตินทริยรูป อาโปธาตุ อิตถีภาวรูป ซึ่งการที่จะรู้ลักษณะของรูปเหล่านั้น ไม่ใช่จะรู้ได้ด้วยความอยาก เพียงแต่ว่าปัญญาของบุคคลใดจะประจักษ์ในลักษณะของรูปใด หรือว่ารูปใดจะปรากฏในขณะที่ปัญญาถึงความสมบูรณ์พร้อมที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของรูป โดยไม่เลือก

    ในขณะนี้เอง อิตถีภาวรูปก็มี ปุริสภาวรูปก็มี อาโปธาตุก็มี ชีวิตินทริยรูปก็มี หทยวัตถุก็มี แต่เวลาที่วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้น ก็เพราะมีเหตุปัจจัยสมบูรณ์พร้อมที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แล้วแต่ว่ารูปหนึ่งรูปใดกี่รูปจะปรากฏกับบุคคลแต่ละคน ตามการสะสมที่ต่างกัน แต่ไม่มีวันที่จะปรากฏเพราะความต้องการอยากจะรู้รูปหนึ่งรูปใด

    อบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ความรู้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น จะละคลายความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมชนิดหนึ่งชนิดใดก็ได้ที่กำลังปรากฏ โดยไม่เลือก โดยไม่มีความเป็นตัวตนที่อยากจะรู้รูปนั้น หรือว่าอยากจะรู้นามนี้ และเวลาที่ปัญญาถึงความสมบูรณ์พร้อม ไม่มีใครสามารถที่จะกั้นนามธรรมและรูปธรรมประเภทต่างๆ ซึ่งจะปรากฏในลักษณะความไม่ใช่ตัวตนสำหรับแต่ละบุคคลตามการสะสม แต่อย่าลืม ขณะใดที่อยาก ขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขันธ์หนึ่งขันธ์ใดโดยความเป็นขันธ์ โดยความเป็นปรมัตถ์ คือ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ไม่มีวันที่จะประจักษ์ได้โดยความอยาก หรือโดยความต้องการ แต่เพราะอบรมเจริญปัญญาแล้วละ เมื่อละ สภาพธรรมจะค่อยๆ ปรากฏเพิ่มขึ้น แจ่มแจ้งขึ้น ละเอียดขึ้น ชัดเจนขึ้น จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมที่เป็นวิปัสสนาญาณ ที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมประเภทที่ปรากฏทางมโนทวาร เพราะทาง มโนทวารจะแยกขาดลักษณะของสภาพธรรมซึ่งกำลังปรากฏสืบต่อกันทั้ง ๖ ทวาร ออกเป็นแต่ละลักษณะโดยชัดเจน

    . ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ หรืออาโปธาตุเหล่านี้ จะต้องได้วิปัสสนาญาณขั้นไหน รูปต่างๆ นี้จึงจะปรากฏ

    สุ. อย่าลืมว่า ขณะนี้รูปใดกำลังปรากฏ อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏเพื่อละความต้องการ และเวลาที่ปัญญาถึงความสมบูรณ์พร้อมที่จะเป็นวิปัสสนาญาณ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า สำหรับบุคคลไหน รูปธรรมไหนจะปรากฏ หรือว่านามธรรมไหนจะปรากฏ แต่ตามระดับขั้นของการอบรมปัญญาของแต่ละท่าน มิฉะนั้น ย่อมไม่มีพระอัครสาวกซึ่งเป็นผู้ที่อบรมปัญญาบารมีมากกว่า พระมหาสาวก

    ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมโดยตลอด โดยละเอียดเท่าๆ กันทุกคน แต่ว่าสภาพธรรมใดจะเกิดปรากฏกับบุคคลใด บุคคลนั้นประจักษ์แจ้งแล้วละ ไม่ใช่จะอยากรู้ขึ้นมาอีก แต่เมื่อประจักษ์แจ้งลักษณะของ สภาพธรรมใดก็ละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ยัง ไม่พอ เพราะวิปัสสนาญาณไม่ได้มีเพียงขั้นเดียว เพียงชั่วระยะที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏบางส่วน คือ บางนาม บางรูป ชั่วขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ หลังจากนั้นก็มีปัจจัยที่จะให้อวิชชาเกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่ได้ดับไปก็เกิดขึ้น ปิดบังลักษณะของสภาพธรรมไม่ให้ประจักษ์แจ้งที่จะเป็นวิปัสสนาญาณได้ตลอดติดต่อกันไปจนถึงความเป็นพระอรหันต์ สำหรับผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะสามารถบรรลุคุณธรรมจากพระโสดาบันถึงความเป็น พระอรหันต์

    และยิ่งสำหรับผู้ที่เป็นเนยยบุคคล เป็นทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา คือ ผู้ที่ปฏิบัติลำบากและรู้ช้า ซึ่งควรจะเป็นบุคคลในยุคนี้ ไม่ใช่ในยุคนี้จะเป็นสมัยของอุคฆฏิตัญญูบุคคล หรือวิปัญจิตัญญูบุคคล ซึ่งเป็นผู้ที่ตรัสรู้โดยเร็วโดยง่าย แต่เป็น ผู้ที่ต้องฟังแล้วฟังอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีก สติอบรม เกิดแล้วเกิดอีก นานแสนนาน อย่าหวัง หรือว่าอย่ารอ ยิ่งหวัง ยิ่งรอ ก็ยิ่งจะเป็นเครื่องกั้นไม่ให้ประจักษ์รู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะว่าเหตุยังอบรมไม่สมควรแก่ผลที่จะเกิดตราบใด ผลจะเกิดขึ้นก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ในยุคนี้ สมัยนี้ กว่าสภาพธรรมจะปรากฏเป็นวิปัสสนาญาณ แต่ละขั้น จะต้องห่างกัน และจะต้องมีวิริยะ มีความพากเพียรจากการฟัง จากการน้อมรู้สิ่งที่ปรากฏ โดยอาศัยการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้น และไม่หลงลืมที่จะพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏให้ตรงกับที่เคยประจักษ์ ไม่ใช่ว่าวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นจะเกิดขึ้นได้โดยรวดเร็วและโดยง่าย และประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมโดยตลอดหมด แต่ว่าการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพื่อละความไม่รู้ เพื่อละความสงสัย เพื่อละสีลัพพตุปาทาน หรือสีลัพพตปรามาสกายคันถะ คือ การลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด จนกว่าจะถึงความเป็น พระโสดาบันบุคคล จึงจะหมดเป็นสมุจเฉท

    ไม่ใช่ไปคอยว่า เมื่อไรจะรู้สภาพธรรมนั้น ญาณไหนจะรู้สภาพธรรมนี้ ไม่ใช่วางไว้ว่า พอถึงนามรูปปริจเฉทญาณจะประจักษ์แจ้งลักษณะของรูปธรรมที่เป็น รูปารมณ์ หรือว่าเป็นหทยวัตถุ หรือว่าเป็นอาโปธาตุ และพอถึงปัจจยปริคคหญาณ จะประจักษ์แจ้งลักษณะของปสาทรูป หรืออะไรๆ อย่างนั้น ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แล้วแต่ว่าการสะสมของแต่ละบุคคลจะทำให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมใด ซึ่งรูปทั้งหลายก็มีอยู่ในที่นั้น แต่รูปใดจะเกิดปรากฏกับบุคคลใด ไม่ใช่จะมีกฎเกณฑ์ตายตัวว่า เมื่อถึงวิปัสสนาญาณขั้นนั้นแล้ว รูปนั้น กลุ่มนั้น กลาปนั้นจะปรากฏ หรือว่าพอถึงอีกขั้นหนึ่ง รูปอื่น กลาปอื่นจะปรากฏ

    เรื่องของแต่ละบุคคล เป็นเรื่องที่สะสมมาต่างกัน วิจิตรต่างกันมากเหลือเกิน เพราะฉะนั้น แม้แต่การที่วิปัสสนาญาณของแต่ละบุคคลจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ก็ไม่ใช่มีกฎเกณฑ์ว่าจะต้องเหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    ความอยากนี้ก็น่ากลุ้มใจ ไม่ทราบว่าจะเอาไปทิ้งได้ที่ไหน เพราะช่างมากมายเหลือเกิน และยิ่งอยาก ก็ยิ่งไกลออกไปทุกที แต่ถ้าอบรมเจริญปัญญา และเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองว่า สติระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมหรือเปล่า แม้ว่าสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาที่ค่อยๆ น้อมรู้ ขณะนั้นก็เป็น อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ขณะที่กำลังน้อมศึกษาเพื่อที่จะรู้ ในขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ แม้ว่าจะไม่ครบ ๘ องค์ แต่ก็เป็นหนทางที่จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น จนกว่าวิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่ปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๐๐๑ – ๑๐๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564