แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 971


    ครั้งที่ ๙๗๑

    สาระสำคัญ

    ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ไม่รู้อารมณ์ใดๆ ของโลกนี้  ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก  โดยนัยของพระอภิธรรมทรงแสดงอาสวะ ๔ 


    สุ. ที่ทุกท่านมีการเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด บุคคลหนึ่งบุคคลใด สถานที่หนึ่งสถานที่ใด วัตถุหนึ่งวัตถุใด มีการได้ยินเสียงหนึ่งเสียงใด มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึก ตลอดเวลาที่อยู่ในโลกนี้ สิ่งที่เห็นทั้งหมดเป็นของโลกนี้ เสียงเป็นของโลกนี้ ปรากฏในโลกนี้ ไม่เกี่ยวกับโลกก่อนเลย แต่เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นไม่รู้อารมณ์ใดๆ ของโลกนี้เลย เวลาที่จิตเป็นภวังค์ก็ไม่รู้อารมณ์ใดๆ ของโลกนี้เลย เวลาที่นอนหลับสนิท ไม่รู้แม้แต่ว่าตัวเองกำลังนอนหลับสนิท ไม่รู้อะไรเลย หมายความว่าไม่รับรู้อารมณ์ของโลกนี้ทั้งหมด นั่นคือขณะที่เป็นภวังค์

    จิตที่เป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ไม่ใช่จิตที่รู้อารมณ์ใดๆ ของโลกนี้ทั้งสิ้น ขณะเห็นเมื่อไร ไม่ว่าจะเห็นอะไร นั่นเป็นวิถีจิต เป็นการรู้อารมณ์ที่ปรากฏของโลกนี้ กำลังได้ยิน ก็ได้ยินเสียงของโลกนี้ ถ้าจะคิดนึก แม้ในขณะที่ฝันก็เป็นการฝันถึงสิ่งที่เป็นของโลกนี้นั่นเอง ลองพิจารณาดูความฝันว่า เมื่อวันก่อน คืนก่อน ฝันถึงอะไร เป็นอารมณ์ของโลกนี้หรือเปล่า เป็นสิ่งที่เคยเห็นในโลกนี้ ใช่ไหม เป็นบุคคลที่เคยรู้จักในโลกนี้ ใช่ไหม แม้แต่การจะคิดนึกก็คิดนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่เป็นของโลกนี้ทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่เป็นการรู้อารมณ์ของโลกนี้ เป็นวิถีจิตทางหนึ่งทางใด แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ และถ้าท่านผู้ฟังจะสังเกต มีช่องว่างคั่นระหว่างวิถีจิต ทางตาที่กำลังเห็นกับทางหูที่กำลังได้ยิน ซึ่งเป็นสภาพธรรมคนละชนิด สิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏทางตา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเสียงที่กำลังปรากฏทางหูเลย เพราะฉะนั้น มีช่องว่างคั่น ซึ่งเป็นภวังค์จิต ขณะนั้นไม่รู้อารมณ์ใดๆ เป็นความว่างจากสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือ ทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ นั่นคือภวังคจิต แต่ว่า ไม่ปรากฏ เพราะไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งปวง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ต่อเมื่อใดอบรมเจริญปัญญาก็สามารถรู้ขณะจิตที่ต่างกันแต่ละวิถีว่า วิถีจิตที่เห็นเป็นสภาพรู้ ทางตา ไม่ใช่ในขณะที่เป็นสภาพรู้ทางหู และลักษณะของภวังค์ที่ปรากฏมากพอที่จะรู้ได้ คือ ในขณะที่นอนหลับสนิท ในขณะนั้นไม่ใช่แม้แต่ฝัน

    . การรู้อารมณ์ทางตามี ๗ วิถีจิต อารมณ์ทางอื่นเหมือนกันไหม

    สุ. เหมือนกัน ทางปัญจทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะมีวิถีจิตอย่างมาก ๗ วิถี คือ ๗ ประเภทของจิตที่เป็นวิถีจิต แต่ถ้าทางใจ หรือทางมโนทวารไม่ถึง ๗ วิถี มีอาวัชชนวิถี ชวนวิถี และตทาลัมพนวิถี อย่างมากเพียง ๓ วิถี

    ธรรมเป็นเรื่องชีวิตประจำวันจริงๆ ทุกๆ วัน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงจุติ เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบลักษณะสภาพชีวิตของแต่ละท่าน หรือว่าจิตใจของท่านแต่ละขณะว่า เป็นธรรมประเภทไหน

    ในคราวก่อนได้กล่าวถึงลักษณะของจิตซึ่งมีอรรถว่า

    ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก

    เป็นการแสดงถึงปฏิจจสมุปปาทะทั้ง ๓ คือ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ และ วิปากวัฏฏ์นั่นเอง ซึ่งกิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ และวิปากวัฏฏ์ก็ไม่ได้อยู่ในขณะอื่น นอกจากทุกๆ ขณะนี้เองว่า ในขณะนี้จิตที่เกิดเป็นกิเลสวัฏฏ์ หรือกัมมวัฏฏ์ หรือ วิปากวัฏฏ์

    ซึ่งในคราวก่อนได้กล่าวถึงตั้งแต่อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ อายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา และเวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา คือ โลภะ เป็นประจำ จริงไหม

    นี่คือชีวิตจริงๆ ที่จะต้องพิสูจน์พระธรรมว่า เป็นอย่างนี้หรือเปล่า เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมจะทำให้เห็นว่า ทุกคนไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงหรือพ้นจากปัจจัยที่จะให้เกิดตัณหาเลย ผู้ที่จะพ้นจากตัณหาได้มีบุคคลเดียว คือ พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ตัณหาก็ต้องมีอยู่ เมื่อยังไม่ถึง ความเป็นพระอนาคามี ที่จะให้พ้นจากความติดความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อยังไม่ถึงความเป็นพระสกทาคามี ก็เป็นผู้ที่ยังไม่บางเบา ยังเป็นผู้ที่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และเมื่อยังไม่ใช่พระโสดาบัน ผู้ที่เป็นปุถุชนจะมีกิเลสหนาแน่นมากสักเพียงไหน หนีไม่พ้นความที่จะยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ตามความเป็นจริง แล้วแต่ว่าแต่ละบุคคลจะสะสมความพอใจในรูป หรือในเสียง หรือในกลิ่น หรือในรส หรือในโผฏฐัพพะมากน้อยต่างๆ กันไป

    และจะทำอย่างไร ตามความเป็นจริง นี่คือทุกชีวิตที่เกิดมา ซึ่งปัจจัยที่จะให้เกิดตัณหามีตั้งแต่อย่างบางที่ไม่รู้สึกเลยว่าขณะนี้เป็นความพอใจทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง จนกว่ากิเลสนั้นจะมีกำลังปรากฏเป็นปริยุฏฐานกิเลสซึ่งเป็นกิเลสที่ทำให้ปรากฏว่า ขณะนั้นจิตใจเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส เช่น นิวรณธรรม เป็นต้น จึงจะรู้ว่าตนเองกำลังมีกิเลส เพราะฉะนั้น การเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงจะต้องรู้ด้วยว่า ผู้ที่ยังมีกิเลสมาก จะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะขัดเกลาละคลายกิเลส

    และตั้งแต่เกิดมาจะทำอย่างไร

    สำหรับผู้ที่มีบุตรหลาน ญาติมิตรสหาย ซึ่งมีผู้ที่เกิดใหม่ ก็รู้ทันทีว่า ผู้ที่เกิดมานั้นเต็มไปด้วยกิเลส จึงต้องมีการอบรมกายวาจาตั้งแต่วัยเด็ก โดยผู้ที่เป็นมารดา บิดา ญาติมิตรสหาย หรือครูอาจารย์ ที่จะให้เห็นประโยชน์ของการอบรมธรรมที่จะให้เป็นฝ่ายกุศลเกิดขึ้น ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง โดยมารยาทซึ่งเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา อบรมให้เป็นผู้ที่รู้จักเคารพนอบน้อม ให้เป็นผู้ที่มีเมตตากรุณา มีความกตัญญู มีการช่วยเหลือบุคคลอื่น มีการบำเพ็ญประโยชน์ต่อบุคคลอื่น ซึ่งทุกท่านจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่เด็กมาแต่ละบุคคลก็มีพื้นของจิตใจที่จะรับฟังคำสอน คำอบรมในทางที่ดีงาม ในทางที่เป็นกุศล หรือถ้าไม่มีบุคคลใดที่จะกล่าวสอน ท่านก็อาจจะมีพื้นของจิตใจที่สะสมมาที่จะพิจารณาเห็นว่า ธรรมฝ่ายใดเป็นสิ่งที่ควรกระทำ สิ่งใดเป็นอกุศลที่ควรละเว้นโดยอัธยาศัยของท่านเอง นี่ตั้งแต่เด็ก แต่ในระหว่างนั้น ไม่มีใครพ้นจากโลภะหรือตัณหาได้ ซึ่งอวิชชานั่นเองเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ที่เป็นทั้งกุศลและอกุศล

    เพราะฉะนั้น แม้ว่ายังไม่ได้ดับอวิชชา ยังมีตัณหา แต่ก็ยังมีพื้นของจิตใจที่จะให้เกิดกุศลกรรมด้วย ไม่ใช่มีแต่อกุศลกรรมเท่านั้น และเมื่อเจริญเติบโตขึ้นก็ไม่ใช่ว่า ตัณหาจะหมดไปตามวัย ตราบใดที่ยังไม่ได้อบรมเจริญธรรมที่จะขัดเกลาอกุศล อกุศลทั้งหลายก็ยังมีอยู่เต็ม เพราะฉะนั้น ในชีวิตการงานของแต่ละบุคคล ซึ่งทุกท่านจะพิจารณาได้ว่า ระหว่างที่มีชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งถึงวัยที่ประกอบกิจการงาน อกุศลของท่านมีมากติดตามมา หรือว่ากุศลที่เป็นพื้นของจิตสามารถเกิดประคับประคองให้กิจการงานของท่านดำเนินไปพร้อมด้วยกุศลจิตได้

    ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะประกอบกิจการงานใดๆ ทั้งสิ้น ย่อมเจริญกุศลได้ทั้งนั้น แต่ทุกท่านจะต้องพิจารณาว่า ท่านมีกุศลเกิดด้วย หรือมีแต่อกุศล ในขณะที่ประกอบกิจการงาน

    ทุกท่านต้องมีผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา มีการเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขช่วยเหลือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือว่ามิตรสหายบ้างหรือเปล่า หรือถ้าเป็นข้าราชการ มีการช่วยเหลือผู้ที่มาติดต่อด้วยดี ให้ความสะดวกกับบุคคลอื่นบ้างหรือเปล่า

    นี่เป็นชีวิตจริงๆ ไม่ว่าจะประกอบกิจการใด ถ้าเป็นผู้ที่มีจิตใจสะสมมาในทางกุศล กุศลสามารถจะเกิดได้มาก ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นผู้ที่มีตัณหาก็จะไม่สามารถมี กุศลกรรมได้เลย แต่ทั้งๆ ที่ตัณหาก็ยังมี อวิชชาก็ยังมี ก็ยังมีการสะสมพื้นฐานของจิตที่จะทำให้กุศลจิตเกิด

    เป็นชีวิตประจำวันของแต่ละท่านจริงๆ ยังมีอวิชชา ยังมีตัณหา แต่ก็ยังมีกุศลเกิดได้มากหรือน้อย แล้วแต่การเห็นประโยชน์ของกุศลธรรม

    . เรื่องของปฏิจจสมุปปาทธรรม อวิชชามีอะไรเป็นปัจจัยให้เกิด

    สุ. ที่ทรงแสดงไว้ คือ อาสวะ ซึ่งเป็นกิเลสที่เกิดขึ้นอย่างบางเบาสืบต่อกันไปเกือบจะไม่ขาดสาย โดยไม่รู้เลยว่าเป็นกิเลส อาสวะที่ทรงแสดงไว้ บางแห่งมี ๓ บางแห่งมี ๔ บางแห่งมี ๕ บางแห่งมี ๖ บางแห่งมี ๗ โดยนัยของพระสูตร แต่โดยนัยของพระอภิธรรมทรงแสดงอาสวะ ๔ คือ

    กามาสวะ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    ภวาสวะ ความยินดีพอใจในภพ คือ การเกิดขึ้นของขันธ์

    ทิฏฐาสวะ ความเห็นผิดต่างๆ

    อวิชชาสวะ ความหลง ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม

    ที่ว่าเป็นอาสวะ เพราะว่าหมักดอง สะสม ไหลอยู่เป็นประจำ เหมือนกับแผล ซึ่งย่อมมีเลือดหรือหนองไหลออก เพราะฉะนั้น เวลาที่มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ เป็นทางออกของกิเลส คือ ทันทีที่เห็นรูป หยุดยั้งความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏไม่ได้ เพราะมีอวิชชาซึ่งเป็นอาสวะ ๑ ในอาสวะ ๔

    เพราะฉะนั้น กามาสวะ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ หมักดองและสะสมพอกพูนอยู่ พร้อมที่จะไหลอยู่ทุกขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นกามาสวะ ซึ่งเป็นความจริง ทุกท่านพิสูจน์ได้ เวลาที่หลงลืมสติ ไปแล้วกับความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ภวาสวะ คือ ความพอใจในภพ ในความเป็นอยู่ แม้ว่าผู้ที่เป็นพระอนาคามีบุคคลละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ สามารถที่จะดับกามาสวะ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเป็นสมุจเฉท คือ ไม่มีเชื้อที่จะเกิดขึ้นได้เลย ที่พระอนาคามีบุคคลจะพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าพระอนาคามีดับกามตัณหา ความยินดีพอใจในรูปที่ปรากฏทางตา ในเสียงที่ปรากฏทางหู ในกลิ่นที่ปรากฏในจมูก ในรสที่ปรากฏทางลิ้น ในการกระทบสัมผัสทางกาย

    แต่พระอนาคามียังมีความพอใจในอะไรอยู่ ลองคิดดูถึงสภาพของจิตที่ต่างกัน จากความเป็นปุถุชนซึ่งพอใจไปหมดทุกอย่างที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกระทั่งถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามี สามารถดับสนิทซึ่งความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น เวลาเห็น ปุถุชนยินดีแล้ว พอใจแล้ว เป็นอาสวะ เกิดขึ้นแล้ว ไหลไปแล้วทันที แต่พระอนาคามีไม่มีอนุสัยกิเลสที่จะทำให้เกิดความยินดีพอใจที่เป็นกามาสวะเลย เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น เป็นกุศลจิตสำหรับพระอนาคามี ในเมื่อวิถีจิตของผู้ที่เป็นปุถุชนเวลาเห็น โลภมูลจิตเกิดถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่น่าพอใจ โทสมูลจิตประกอบด้วยความรู้สึกไม่แช่มชื่นเกิดถ้าขณะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ โมหมูลจิตเกิดถ้าขณะนั้นไม่ประกอบด้วยโลภะและโทสะ คือ ถ้าในขณะนั้นไม่เป็นไปกับกุศลซึ่งเป็นทาน หรือเป็นศีล หรือเป็นความสงบของจิต หรือเป็นสติปัฏฐาน ต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด แต่พระอนาคามีไม่มีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นใดๆ ที่ปรากฏทางจมูก รสใดๆ ที่ปรากฏที่ลิ้น สิ่งใดๆ ที่กระทบสัมผัสกาย เพราะฉะนั้น ย่อมเป็นโมหมูลจิตในบางครั้งถ้าเป็นอกุศล แต่ไม่มีโทสมูลจิตเกิดอีกต่อไป เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกุศลจิต เมื่อเป็นกุศลย่อมสงบ พระอนาคามีบุคคลยังยินดีพอใจในกุศลที่เป็นความสงบ เมื่อมีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะว่าพระอนาคามียังไม่ได้ดับภวาสวะ ความยินดีพอใจในภพ ในชาติ ในการเกิดขึ้นของจิต ในการเป็นไปในระหว่างที่ยังไม่จุติ นี่คือความต่างกัน

    เพราะฉะนั้น อาสวะจึงมี ๔ ได้แก่ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ ความเห็นผิด และอวิชชาสวะ ความไม่รู้ ยังมีอยู่ ถ้ายังไม่ได้บรรลุคุณธรรมถึงขั้นความเป็นพระอรหันต์ อวิชชาสวะก็ยังคงมีอยู่

    ผู้ที่เป็นพระโสดาบันดับทิฏฐาสวะ ผู้ที่เป็นพระอนาคามีดับกามาสวะ ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ดับอาสวะและกิเลสทั้งหมด

    . อาสวะหมายถึงอกุศลจิตทั้งหมด ใช่ไหม ถ้าขณะใดเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ขณะนั้น ...

    สุ. โทสะไม่เป็นอาสวะ ต้องทราบว่า โลภะเป็นอาสวะ ๒ คือ กามาสวะและภวาสวะ ทิฏฐิเป็นอาสวะหนึ่ง คือ ทิฏฐาสวะ อวิชชาเป็นอาสวะหนึ่ง คือ อวิชชาสวะ กิเลสอื่นไม่ใช่อาสวะ

    . โทสะไม่ใช่อาสวะ โทสะไม่ได้ทำให้อวิชชาเกิดอย่างนั้นหรือ

    สุ. ที่ทรงแสดงไว้ อาสวะเป็นธรรมที่สะสม หมักดอง มอมเมา ทำให้เป็นไปในอกุศลในขณะที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีเพียง ๔ ส่วน อกุศลธรรมอื่นก็เป็นประเภทอื่น เช่น เป็นกิเลส เป็นสังโยชน์ เป็นนิวรณธรรม เป็นต้น หรือว่าเป็นอนุสัย

    เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องพิจารณา และค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่ไม่ใช่เพียงขั้นเข้าใจที่จำว่า นี่คืออภิธรรม และก็อยากจะเรียนพระอภิธรรม จบแค่นั้น ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นเรื่องของชีวิตแต่ละขณะ ซึ่งเป็นอภิธรรม เป็นธรรมที่พร้อม จะให้เข้าใจได้ทันทีว่า ขณะใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นอวิชชา และถ้าไม่ปรากฏลักษณะที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองเป็นกิเลส ขณะนั้นก็เป็นประเภทของ อาสวะ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๙๗๑ – ๙๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564