แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1010


    ครั้งที่ ๑๐๑๐

    สาระสำคัญ

    อกุศลจิต ๑๒ จำแนกเป็นสัมปยุตต์ ๔ 


    สุ. ท่านผู้ฟังเห็นไหมว่านี่อะไร เรียกชื่อถูกใช่ไหม ทำไมใช้คำเดียวกันเรียกสิ่งนี้ว่า นาฬิกา ทั้งๆ ที่เห็นก็รู้ ไม่เรียกว่านาฬิกาก็ได้ ใช่ไหม หรือว่าต้องเรียก สิ่งนี้ปรากฏทางตา เมื่อเห็นแล้ว หลังจากเห็นแล้วมีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานและอาจจะนึกถึงคำว่า นาฬิกา เวลาที่ถามว่า เห็นอะไร ทุกท่านใช้คำเดียวกันหมด คือ ตอบว่า นาฬิกา ทราบไหมว่าทำไมจึงพูดอย่างนั้น

    ที่กล่าวถึงชื่อ เพื่อความสะดวก จริงไหม แทนที่จะต้องอธิบายมากมายว่า มีรูปร่างอย่างนี้ มีอะไรอยู่ตรงกลาง มีสิ่งที่ยาวเรียกว่า เข็มยาว หรือสั้นอย่างนั้น อย่างนี้ เป็นการลำบาก ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ที่กล่าวถึงชื่อเพื่อความสะดวก ไม่ว่าจะเรียกโต๊ะ เก้าอี้ นาฬิกา หนังสือ แว่นตา อะไรๆ ทั้งหมด เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา มีการเห็น และก็มีความพอใจ ถ้าเป็นโลภมูลจิตเกิดขึ้น เพราะตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ และเวลาที่จะอธิบายว่าพอใจอะไร เพื่อความสะดวกก็กล่าวว่า ชอบนาฬิกาเรือนนี้ หรือว่าชอบวิทยุเครื่องนั้น หรืออะไรก็ตามแต่ ก็เพื่อความสะดวกทั้งหมด

    แต่ตามความเป็นจริงแล้ว มีการเห็นสิ่งที่ปรากฏ มีความยินดีพอใจในรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ความเห็นผิด ไม่ใช่ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เป็นแต่เพียงว่า เมื่อเห็นแล้ว ที่จะยับยั้งไม่ให้ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏไม่ได้ เป็น จิตตนิยาม ซึ่งเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางจักขุทวารดับไปแล้ว จิตเกิดขึ้นทางมโนทวาร รู้อารมณ์นั้นต่อ ใครจะบอกว่าเมื่อจักขุทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้วมโนทวารไม่เกิดต่อ ไม่ให้เกิดขึ้นต่อก็ไม่ได้ ทางมโนทวารนี้เกิดขึ้นต่อ และยังมีการเห็น มีการตรึกนึกถึง สิ่งที่ปรากฏโดยละเอียด ถ้าจะพิจารณาโดยละเอียด และที่กล่าวถึงชื่อก็เพื่อความสะดวก เพราะฉะนั้น ที่ชอบ ชอบสิ่งที่ปรากฏ พร้อมกับนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏซึ่งเป็นที่พอใจ จึงเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ในขณะนั้นไม่ได้มีความเห็นใดๆ เกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ

    แต่ขณะใดก็ตาม ถ้ามีการพูดถึงธรรม และมีความเห็นต่างๆ บุคคลนี้มีความเห็นว่า ตายแล้วสูญ อีกท่านหนึ่งมีความเห็นว่า บาปไม่มี บุญไม่มี ในขณะนั้นไม่ใช่เพียงโลภมูลจิตแล้ว แต่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ขณะใดที่มีความเห็นผิดเกิดขึ้น ขณะนั้นโลภมูลจิตเป็นไปกับความเห็นผิดจึงบัญญัติเรียกว่า โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แต่ให้ทราบว่า ถ้าพอใจเฉยๆ ในรูปร่าง ในสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ จะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่ แม้ไม่เรียกก็คือความพอใจในสิ่งที่ปรากฏ ในรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏนั่นเอง จึงเป็นเพียงโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ แม้พระโสดาบันหรือพระสกทาคามีบุคคลก็ยังมี

    ผู้ที่จะดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ คือ พระอนาคามีบุคคล และพระอรหันต์ซึ่งดับกิเลสหมด ไม่มีกิเลสอะไรเหลืออีกเลย แต่สำหรับพระโสดาบันไม่มีความเห็นผิดทุกอย่าง เพราะเวลาที่โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้นมีนิพพานเป็นอารมณ์ ดับความเห็นผิดทั้งหมดที่เป็นอนุสัย แม้แต่ความเห็นผิดอย่างอ่อน อย่างละเอียดซึ่งนอนเนื่องอยู่ในจิตก็ไม่มีที่จะเกิดขึ้นอีกเลย

    เพราะฉะนั้น พระโสดาบันยังเห็น ยังพอใจในสิ่งที่เห็น ยังนึกถึงรูปร่าง ยังนึกถึงชื่อ แต่ว่าไม่ใช่ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ไม่ได้ประกอบด้วยความเห็นผิด

    สำหรับอกุศลจิต จำแนกออกแล้วเป็นสัมปยุตต์ ๔ ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๑ เกิดกับโลภมูลจิตเท่านั้น ปฏิฆสัมปยุตต์เกิดกับโทสมูลจิตเท่านั้น เพราะขณะนั้นจิตประกอบด้วยสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ในขณะใดที่เป็นโทสมูลจิต จะเห็นได้ว่า สภาพของจิตต่างจากโลภะ

    โลภะเป็นสภาพที่พอใจ ไม่เดือดร้อน ยินดี ติดข้อง แต่สภาพของโทสะ ตรงกันข้าม ในขณะนั้นถ้าสังเกตจะรู้ว่า ประกอบด้วยปฏิฆะ คือ ความหยาบกระด้าง จิตหยาบ จิตกระด้าง และความรู้สึกในขณะนั้นไม่แช่มชื่น นั่นเป็นลักษณะของ โทสมูลจิต ที่จะรู้ว่าขณะใดเป็นโทสะ ก็รู้ได้เพราะประกอบด้วยสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ซึ่งเป็นปฏิฆะ หรือโทสะนั่นเอง มิฉะนั้นแล้ว ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ทั้ง ๒ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวงประกอบด้วยปฏิฆะ คือ โทสะ จึงสามารถที่จะรู้ความต่างกันว่า ขณะไหนเป็นโลภมูลจิต ขณะไหนเป็นโทสมูลจิต ขณะไหนเป็นโมหมูลจิต เพราะถ้าโทสมูลจิตไม่ประกอบด้วยโทสเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่เป็นปฏิฆะ คือ ความหยาบกระด้าง ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นโทสมูลจิต

    ปฏิฆะ หรือโทสะ เป็นไวพจน์กัน คือ มีความหมายเหมือนกัน จะใช้คำว่า โทสะก็ได้ ใช้คำว่าปฎิฆะก็ได้ เพราะพูดถึงโทสะ ทุกท่านคิดถึงแต่ความโกรธ แต่เวลาที่ไม่ใช่ลักษณะของความโกรธ สภาพนั้นเป็นสภาพที่หยาบกระด้าง เวลาที่โทสมูลจิตเกิดแล้ว กิริยาอาการเป็นอย่างไร นั่นคือความหมายของปฏิฆสัมปยุตต์

    . โทสะที่สัมปยุตต์ด้วยปฏิฆะ พระโสดาบันยังมีใช่ไหม

    สุ. พระโสดาบันบุคคลละโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง และโมหวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ๑ ดวง

    ในอกุศลจิต ๑๒ ดวง พระโสดาบันดับอกุศลจิต ๕ ดวง ไม่เกิดอีกเลย เหลือเพียง ๗ ดวงเท่านั้น คือ โลภมูลจิต ๔ ดวง ที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ โทสมูลจิต ๒ ดวง และโมหมูลจิตที่เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ ๑ ดวง

    สำหรับอกุศลจิตมีทั้งหมด ๑๒ ประเภท คือ เป็นโลภมูลจิต ๘ เป็นโทสมูลจิต ๒ เป็นโมหมูลจิต ๒

    เมื่อชื่อว่าโลภมูลจิต ๘ ก็ต้องมีสภาพธรรมซึ่งแสดงความต่างของโลภะว่า ทำไมจึงต่างกันเป็น ๘ ซึ่งก็ได้ทราบว่า เพราะประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ๔ และไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ๔ และใน ๔ แต่ละ ๔ นั้น ยังแยกอีกว่าที่ต่างกันเป็น ๔ เพราะเป็นโสมนัสเวทนา ๒ เป็นอุเบกขาเวทนา ๒ จึงต่างกัน และในโสมนัสเวทนา ๒ นี้ ก็ต้องรู้ด้วยว่าทำไมจึงเป็น ๒ ที่ต่างกันเป็น ๒ เพราะโดยสังขาร คือ เป็น อสังขาริก เกิดขึ้นเองโดยไม่อาศัยการชักชวน ๑ และเป็นสสังขาริก คือ เกิดขึ้นเองเพราะอาศัยการชักชวน ๑ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมที่มีประเภทอย่างนั้น มีจำนวนอย่างนั้น ต่างกันอย่างนั้น เพราะอะไร

    และสำหรับปฏิฆสัมปยุตต์ มี ๒ ปฏิฆสัมปยุตต์เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง ในอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นโลภมูลจิต ๘ เป็นโทสมูลจิต ๒ เป็นโมหมูลจิต ๒

    สำหรับโทสมูลจิต ๒ ดวง ต้องประกอบด้วยปฏิฆะ เป็นปฏิฆสัมปยุตต์ทั้ง ๒ ดวง เวลาที่โทมนัสเวทนาเกิดขึ้น จะไม่ประกอบด้วยโทสเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง เป็นปฏิฆสัมปยุตต์นั้นไม่ได้ ทุกครั้งที่โทมนัสเวทนาเกิดต้องเป็น ปฏิฆสัมปยุตต์ แต่ที่ต่างกันเป็น ๒ เพราะเป็นอสังขาริก คือ เกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องอาศัยการชักชวน ๑ และเป็นสสังขาริก คือ ต้องอาศัยการชักชวน ๑ นี่คือ ปฏิฆสัมปยุตต์

    เพราะฉะนั้น สำหรับสัมปยุตต์ ขอให้ชินกับคำว่า สัมปยุตต์ ว่าได้แก่ สัมปยุตต์ซึ่งมีอยู่ ๕ คือ ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๑ ปฏิฆสัมปยุตต์ ๑ วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ๑ อุทธัจจสัมปยุตต์ ๑ และญาณสัมปยุตต์ ๑ ซึ่งไม่ได้มุ่งหมายให้ท่านผู้ฟังท่องจำ แต่มุ่งหมายให้เข้าใจประกอบพร้อมกันไปว่า สัมปยุตต์หรือวิปปยุตต์นั้นเกิดกับจิตดวงใด

    เช่น เวลาได้ยินคำว่า ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ทราบทันทีว่า ทิฏฐินี้หมายถึง มิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดซึ่งต้องเกิดกับโลภมูลจิต และถึงแม้ว่าโลภมูลจิตมี ๘ ดวง หรือ ๘ ประเภท แต่ที่จะเกิดกับมิจฉาทิฏฐิได้มีเพียง ๔ คือ เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา ๒ และอุเบกขาเวทนา ๒ ซึ่งในโสมนัสเวทนา ๒ นั้น เป็นอสังขาริก ๑ เป็นสสังขาริก ๑ และในอุเบกขาเวทนา ๒ ก็เช่นเดียวกัน คือ เป็นอสังขาริก ๑ เป็นสสังขาริก ๑ จบเรื่องโลภมูลจิต ๘

    สำหรับโทสมูลจิต ก็เป็นปฏิฆสัมปยุตต์ทั้ง ๒ ดวง ต่างกันโดยเป็นอสังขาริก ๑ สสังขาริก ๑ และสำหรับโมหมูลจิต มี ๒ ดวง ต่างกันคือ ดวงหนึ่งเป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ เกิดพร้อมกับความสงสัยในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในอดีต ในขันธ์ ในธาตุ เป็นต้น คือ ความไม่รู้ สภาพของโมหะเป็นสภาพที่ไม่รู้ แม้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับอารมณ์ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของอารมณ์ที่ปรากฏได้

    เช่น ในขณะที่กำลังเห็นนี้ ขณะใดที่ไม่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีจริงที่กำลังปรากฏให้เห็น ไม่ใช่เสียงที่รู้ได้ทางหู ซึ่งเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง แม้ว่ากำลังเห็น โมหเจตสิกเป็นสภาพที่ไม่รู้ในอารมณ์แม้ที่กำลังเผชิญหน้า เห็นลักษณะของโมหะไหม

    รูปารมณ์กำลังปรากฏ สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นแต่เพียงสิ่งที่สามารถปรากฏทางตา แต่แม้อย่างนั้นโมหะไม่สามารถที่จะรู้ในลักษณะของรูปารมณ์ได้ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น สำหรับโมหมูลจิต ๒ ดวง ดวงหนึ่งเป็น วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ เมื่อไม่รู้ก็สงสัย ที่กำลังเห็นอยู่นี่ สิ่งที่เห็นนี้เป็นอะไร เป็นคนหรือว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะใดที่สงสัย ขณะนั้นเป็นโมหมูลจิตที่เป็น วิจิกิจฉาสัมปยุตต์

    แต่ไม่ใช่ว่าความสงสัยจะเกิดอยู่ได้ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าเวลาที่โลภมูลจิตไม่เกิด โทสมูลจิตไม่เกิด จะเกิดความสงสัยอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่อย่างนั้น เพียงบางครั้ง บางขณะเท่านั้นที่โมหมูลจิตเกิดพร้อมกับวิจิกิจฉา ความสงสัยในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสภาพธรรมที่ปรากฏ

    โดยปกติเวลาที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และหลงลืมสติ โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์เกิด เพราะว่าขณะนั้นไม่มีความสงสัยเกิดร่วมด้วย ไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือว่าไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพราะฉะนั้น ลักษณะของโมหมูลจิตดวงนั้นจึงเป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ ที่จะให้รู้ว่า ขณะใดที่หลงลืมสติ คือ ขณะนั้นไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ และเมื่อขณะนั้นไม่ประกอบด้วยโลภเจตสิก หรือโทสเจตสิก จึงเป็นโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์

    สำหรับสัมปยุตต์ ๕ เป็นอกุศลสัมปยุตต์ ๔ และเป็นโสภณสัมปยุตต์ ๑ คือ ญาณสัมปยุตต์ เวลาที่จิตเกิดขึ้นพร้อมกับปัญญาขณะใด ก็เป็นญาณสัมปยุตต์ ในขณะนั้น

    . ที่พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวว่า ผู้ใดได้จับชายสังฆาฏิอยู่ หรือได้ฟัง พระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์อยู่ก็ตาม ถ้าหากว่าผู้นั้นไม่เห็นธรรม ผู้นั้นก็ไม่เห็นตถาคต ซึ่งก็มีความหมายว่า ได้ประกอบด้วยมหากุศล คือ ได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์ แต่ว่าไม่ได้เกิดความเข้าใจ ไม่มีการระลึกได้ในสภาพธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดง มีแต่ศรัทธา ความเชื่อ ไม่มีปัญญาแทงตลอดในสภาพธรรมนั้น ขณะนั้นก็เป็นมหากุศลที่ไม่ใช่ญาณสัมปยุตต์ ดิฉันจะกล่าวถูกหรือไม่

    สุ. ถ้าท่านผู้ฟังอยากจะทราบในชีวิตประจำวันว่า ขณะไหนเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ หรือว่ามหากุศลญาณวิปปยุตต์ ในขณะนี้ท่านกำลังฟังธรรม ขณะใดที่ฟังด้วยความไม่ตั้งใจ ขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์ เพราะไม่เข้าใจในสิ่งที่ฟัง นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันที่จะทราบในขณะที่ฟังธรรมว่า ขณะใดเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ และขณะใดเป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์

    หรือในขณะที่ให้ทาน ถ้าไม่มีปัญญาที่รู้เหตุและผล กรรมและวิบาก เป็นต้น หรือไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นก็เป็นแต่เพียง มหากุศลญาณวิปปยุตต์ ไม่ใช่ญาณสัมปยุตต์

    เพราะฉะนั้น โดยนัยของสัมปยุตต์ ๕ ท่านผู้ฟังพอจะระลึกรู้ได้ใช่ไหมว่า ในขณะนี้เอง โดยสัมปยุตต์และวิปปยุตต์มีอะไรบ้าง

    ถ้าเป็นกุศลและกำลังเข้าใจ ที่เข้าใจนั้นไม่ใช่ตัวท่าน แต่ขณะนั้นเป็นมหากุศล เกิดพร้อมกับความเข้าใจซึ่งเป็นปัญญา จึงเป็นญาณสัมปยุตต์ นี่ก็มีใช่ไหม ในระหว่างที่ฟัง แต่อาจจะไม่ใช่ตลอด เพราะฉะนั้น บางขณะก็อาจจะเป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์ก็ได้ และบางครั้งก็อาจจะเป็นโมหมูลจิตซึ่งเป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ มีไหม มี และบางครั้งก็อาจจะเป็นโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ เวลาที่เกิดความสงสัย และบางครั้งก็เป็นปฏิฆสัมปยุตต์ก็มีใช่ไหม เวลาที่ไม่พอใจ ไม่แช่มชื่น และบางครั้งก็อาจจะเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์

    แต่คงจะไม่มีใครในที่นี่มีโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เพราะกำลังฟังธรรม เกิดความเข้าใจ ซึ่งขณะที่เข้าใจเป็นญาณสัมปยุตต์ แต่ขณะอื่นก็เป็นญาณวิปปยุตต์บ้าง หรือว่าเป็นอุทธัจจสัมปยุตต์บ้าง หรือว่าเป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์บ้าง หรือว่าเป็น ปฏิฆสัมปยุตต์บ้าง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๐๐๑ – ๑๐๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564