แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 986


    ครั้งที่ ๙๘๖

    สาระสำคัญ

    อรรถของจิตประการต่างๆ  อถ. ธรรมสังคณี อรรถของสัมปยุตตธรรม  ขุท.อิติวุตตกะ รูปสูตร แสดงว่า อรูปธรรมละเอียดกว่ารูปธรรม


    สุ. สำหรับอรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการต่างๆ ประการแรก ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติที่รู้แจ้งอารมณ์

    ประการที่สอง ชื่อว่าจิต เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี ประการที่สาม ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก ซึ่งทุกท่านจะเห็นได้ว่า วิบากที่เกิดขึ้นต่างๆ กันไปตามการสั่งสมของกรรมและกิเลส อันเนื่องกับลักษณะของจิตประการที่ ๔ คือ

    อนึ่ง จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

    นี่เป็นอรรถ คือ ลักษณะ ของจิตประการที่ ๔ ซึ่งสืบเนื่องกับลักษณะประการที่ ๓ ที่ว่า ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก

    วิบากที่ปรากฏต่างกัน ต่างกันตามอรรถคือความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๔ ที่ว่า ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

    พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ครบถ้วนทั้งอรรถและพยัญชนะ วิบาก ซึ่งเป็นผลในปัจจุบันของชาตินี้ของทุกท่านต่างกัน เพราะความวิจิตรของกรรมและจิตที่สะสมมาในอดีตต่างๆ กัน เพราะเหตุว่า ที่ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตร ซึ่งแปลว่า ต่างๆ ไม่เหมือนกัน ที่วิจิตร คือ ต่างๆ

    ต้องมีเหตุที่ทำให้จิตต่างกัน เพราะฉะนั้น อะไรเป็นเหตุที่ทำให้จิตต่างกัน จิตเป็นสังขารธรรม เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นซึ่งจะต้องมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งโดยเจตสิก เจตสิกเป็นธรรมชาติอีกประเภทหนึ่งที่เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิต เพราะฉะนั้น เจตสิกนั่นเองเป็นสัมปยุตตธรรมที่เกิดกับจิต ที่ทำให้จิตต่างๆ กันไป

    ในอดีตจิตของแต่ละท่านก็ต่างกันมาก จนกระทั่งทำให้ผล คือ วิบาก ในปัจจุบันต่างกัน ไม่ว่าจะมีประชาชนมากน้อยสักเท่าไรในโลก ย่อมต่างกันตามกรรม ตามความวิจิตรของเหตุ ตั้งแต่รูปร่างหน้าตา จนกระทั่งถึงการได้ลาภ การเสื่อมลาภ การได้ยศ การเสื่อมยศ สุข ทุกข์ นินทา สรรเสริญ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลที่มาแต่เหตุในอดีตที่ต่างกัน เมื่อเหตุในอดีตทำให้วิบากในปัจจุบันต่างกันตั้งแต่เกิด จนกระทั่งถึงแม้แต่จะสิ้นชีวิตก็ยังไม่มีใครรู้ว่า แต่ละท่านจะจากโลกนี้ไปโดยอาการอย่างไร ในวันไหน นอกบ้านหรือว่าในบ้าน บนบกหรือว่าในน้ำ ด้วยโรคภัยไข้เจ็บชนิดหนึ่งชนิดใด ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ ซึ่งย่อมเป็นไปตามกรรมที่เป็นเหตุในอดีต

    วิบากในปัจจุบันชาติที่เห็นก็ต่างกันจริงๆ และไม่ใช่แต่เฉพาะวิบากในปัจจุบันที่ต่างกัน แม้เหตุ คือ ความวิจิตรของจิตในปัจจุบันชาตินี้เอง ก็ยิ่งต่างกันออกไปอีก สำหรับที่จะให้เกิดวิบาก คือ ผลข้างหน้า ที่ต่างกันออกไป

    เพราะฉะนั้น ความต่างกัน คือ ความวิจิตร ไม่มีที่สิ้นสุดตามสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบความหมายของสัมปยุตตธรรมว่า ปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑ นิพพานปรมัตถ์ ๑

    สำหรับจิตและเจตสิกเป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดร่วมกัน พร้อมกัน ปราศจากกันไม่ได้ แยกกันไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นพร้อมกัน ก็ดับพร้อมกัน มีอารมณ์เดียวกัน เกิดที่เดียวกัน นั่นคืออรรถของสัมปยุตตธรรม

    อัฏฐสาลินี ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่า

    จริงอยู่ เมื่อรูปธรรมและอรูปธรรมเกิดร่วมกัน รูปย่อมเกิดร่วมกับอรูป แต่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่สัมปยุตต์กัน

    อรูปก็เหมือนกัน คือ เกิดร่วมกับรูป แต่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่สัมปยุตต์กัน

    และรูปก็เกิดร่วมกับรูป แต่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่สัมปยุตต์กัน

    ส่วนอรูป โดยนิยมทีเดียวเกิดร่วมกันกับอรูป เกี่ยวข้องกัน สัมปยุตต์กันทีเดียว

    ที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ก็เพื่อที่จะให้ประจักษ์ชัดจริงๆ ว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรมนั่นเอง โดยขั้นของการฟัง ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ที่จะค่อยๆ ปรุงจนกว่าสติปัฏฐานจะเกิด และน้อมระลึก พิจารณา รู้ลักษณะของนามธรรม รู้ลักษณะของรูปธรรม จนกว่าลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจะปรากฏโดยสภาพที่แยกขาดจากกัน ไม่เกี่ยวข้องกัน ไม่สัมปยุตต์กัน แม้ว่าจะเกิดร่วมกัน

    เพราะฉะนั้น สำหรับนามธรรม คือ จิตและเจตสิก ใช้คำว่า สัมปยุตตะ เพราะเข้ากันได้ และเกี่ยวข้องโดยเหตุ ๔ ประการ ท่านใช้คำว่า โดยประการต่างๆ คือ นอกจากจะเกิดร่วมกันแล้ว ก็ยังรู้อารมณ์เดียวกันด้วย

    ดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ให้เห็นว่า สภาพของนามธรรมเป็นสภาพที่ละเอียด และละเอียดกว่ารูปธรรม ซึ่งรูปธรรมก็แยกออกเป็นรูปหยาบและรูปละเอียด แต่แม้กระนั้นสภาพธรรมที่เป็นรูปละเอียด ก็ยังไม่ละเอียดเท่ากับนามธรรม

    ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต วรรคที่ ๓ รูปสูตร ข้อ ๒๕๑ มีข้อความที่แสดงว่า อรูปธรรมละเอียดกว่ารูปธรรม

    ข้อความในรูปสูตรมีว่า

    จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อรูปละเอียดกว่ารูป นิโรธละเอียดกว่าอรูป ฯ

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้วในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

    สัตว์เหล่าใดเข้าถึงรูปภพ และสัตว์เหล่าใดดำรงอยู่ในอรูปภพ สัตว์เหล่านั้นไม่รู้ชัดซึ่งนิโรธ เป็นผู้ยังต้องกลับมาสู่ภพใหม่ ส่วนชนเหล่าใดกำหนดรู้รูปภพแล้ว ไม่ดำรงอยู่ในอรูปภพ ชนเหล่านั้นย่อมน้อมไปในนิโรธ เป็นผู้ละมัจจุเสียได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หาอาสวะมิได้ ถูกต้องอมตธาตุอันไม่มีอุปธิด้วยนามกายแล้ว กระทำให้แจ้งซึ่งการสละคืนอุปธิ ย่อมแสดงบทอันไม่มีความโศก ปราศจากธุลี ฯ

    เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วฉะนี้แล ฯ

    จบ สูตรที่ ๔

    ถ้าจะกล่าวถึงพระสูตรนี้ทั้งหมด ก็เกี่ยวข้องถึงเรื่องของภพภูมิต่างๆ ด้วย เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาถึงข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อรูปละเอียดกว่ารูป นิโรธ (นิพพาน) ละเอียดกว่าอรูป เพื่อที่จะได้เข้าใจจริงๆ ในลักษณะของนามธรรม ประโยชน์ คือ สติจะได้ระลึกในขณะนี้ และปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ละเอียดกว่ารูป

    สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ท่านผู้ฟังไม่เคยประจักษ์ชัดว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะขณะใดที่ยังเห็นว่าเป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาที่รู้จริงๆ ว่า ไม่มีคน ไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ ในขณะที่สภาพนั้นๆ กำลังปรากฏทางตา สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นรูปชนิดหนึ่ง เป็นของจริงกำลังปรากฏ ขอเพียงให้ปัญญารู้ชัดจริงๆ ว่า ไม่ใช่คน ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ อย่างนี้ถูกหรือผิด

    สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น รู้แค่นี้ตามความเป็นจริง รู้ได้ไหม ยากหรือง่าย หยาบหรือละเอียดที่จะรู้ว่า ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นรูปที่มีจริง เพราะกำลังปรากฏ รูปที่กำลังปรากฏทางตาที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลย หยาบหรือละเอียด ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่าละเอียดแล้ว แต่ความจริงโดยนัยของรูป ๒๘ รูป สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่รูปละเอียด เป็นรูปหยาบ ทั้งๆ ที่เป็นรูปหยาบ ก็ยังไม่รู้รูปหยาบตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น การที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพเห็น ขณะนี้กำลังเห็นจริงๆ มีสภาพเห็นเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น นามธรรมก็เป็นสภาพที่ละเอียดกว่ารูป นามธรรมทั้งหมดเป็นสภาพที่ละเอียดกว่ารูป ทั้งจิตและเจตสิกเป็นสภาพที่ละเอียดกว่ารูป เพราะข้อความใน อัฏฐสาลินี แสดงว่า ถึงแม้ว่ารูปจะเกิดพร้อมกับรูปก็จริง แต่ว่ารูปไม่ได้เกี่ยวข้องหรือสัมปยุตต์กับรูปซึ่งเกิดร่วมกัน ต้องพิจารณาให้ละเอียดเข้าไปอีก ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นมหาภูตรูป ๔ ต้องเกิดพร้อมกัน จะขาดรูปหนึ่งรูปใดไม่ได้ จะมีแต่ธาตุดินเกิดขึ้นโดยไม่มีธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมไม่ได้ จะมีแต่ธาตุไฟเกิดขึ้นโดยไม่มีธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลมไม่ได้ จะมีธาตุลมเกิดขึ้นโดยไม่มีธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุน้ำไม่ได้ จะมีแต่ธาตุน้ำเกิดขึ้นโดยไม่มีธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลมไม่ได้ ซึ่งแต่ละธาตุนั้นแม้ว่าจะเกิดพร้อมกัน ร่วมกัน ดับพร้อมกันด้วยก็จริง แต่รูปทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกัน ไม่สัมปยุตต์กัน เพราะรูปนั้นเป็นธรรมชาติที่หยาบกว่านามธรรม

    ธาตุไฟไหม้ธาตุดินได้ไหม ไหม้ธาตุน้ำได้ไหม ไม่ได้ เราอาจจะมองเห็นวัตถุที่แปรสภาพโดยการถูกไฟเผาก็จริง แต่ว่าธาตุไฟนั้นไม่สามารถที่จะไหม้ธาตุดินได้ เพราะเหตุว่าทั้ง ๔ ธาตุจะต้องเกิดร่วมกัน พร้อมกัน ถ้าธาตุไฟไหม้ธาตุดินที่เกิดร่วมกันจะยังเหลือธาตุดินไหม หรือถ้าธาตุไฟไหม้ธาตุดิน ก็จะต้องกล่าวว่า ธาตุดินนั้นมีลักษณะร้อน เพราะถูกธาตุไฟไหม้ แต่ธาตุดินไม่มีลักษณะร้อน ธาตุดินมีลักษณะแข้นแข็ง ธาตุไฟมีลักษณะร้อน ธาตุน้ำมีลักษณะเอิบอาบเกาะกุม ธาตุลมมีลักษณะไหว เคร่งตึง

    เพราะฉะนั้น ข้อความในพระไตรปิฎกแสดงว่า ภาวะ คือ ลักษณะที่ปรากฏของธาตุแปรเปลี่ยนได้ แต่ว่าลักษณะของแต่ละธาตุเปลี่ยนไม่ได้ แม้กระนั้นก็ไม่สัมปยุตต์กัน ไม่เกี่ยวข้องกัน ไม่ใช่นามธรรม ไม่ใช่นามธาตุ แต่นามธาตุ ถึงแม้ว่าจิตไม่ใช่เจตสิก และเจตสิกมีถึง ๕๒ ประเภท เจตสิกแต่ละประเภทก็ต่างกันออกไปว่า ผัสสเจตสิกไม่ใช่เวทนาเจตสิก ไม่ใช่สัญญาเจตสิก ไม่ใช่เจตนาเจตสิก เป็น สภาพธรรมที่มีลักษณะต่างกันก็จริง มีกิจการงานต่างกัน มีเหตุใกล้ให้เกิดต่างกัน แต่เกิดร่วมกัน พร้อมกัน เกี่ยวข้องกัน และสัมปยุตต์กัน เพราะว่ามีอารมณ์เดียวกัน ชั่วขณะที่จิตและเจตสิกเกิดขึ้น สั้นมาก น้อยมาก

    ไม่มีใครสามารถเปรียบได้เลยว่า การเกิดดับของจิตนี้เร็วสักแค่ไหน เร็วจนเกินกว่าจะอุปมาเปรียบเทียบกับความเร็วทั้งหลายได้ เพราะว่าเพียงเกิดขึ้นและดับไป มีอายุเพียง ๓ ขณะ คือ ขณะเกิดเป็นอุปาทขณะ ฐีติขณะ ขณะที่ตั้งอยู่ คือ ขณะที่ยังไม่ดับไป และภังคขณะ ขณะที่ดับ ๓ ขณะนี้เร็วเหลือเกิน และทันทีที่เกิด ทั้งจิตและเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมก็เกิดพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน จึงเกี่ยวข้อง สัมปยุตต์กัน และก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น สำหรับคำว่า สัมปยุตตธรรม หรือสัมปยุตตปัจจัย ใช้เฉพาะกับนามธรรม คือ จิตและเจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรมที่รู้อารมณ์เท่านั้น

    ต่อไปจะได้ทราบถึงปัจจัยของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ไม่ว่านามธรรมหรือรูปธรรม ไม่ว่าจิต เจตสิก รูปที่เกิดขึ้น ล้วนมีปัจจัยให้เกิดขึ้น และปัจจัยก็ไม่ใช่อื่น จิตนั่นเองเป็นปัจจัยให้กับสภาพธรรมอื่นซึ่งเกิดร่วมกัน หรือว่าเกิดเพราะจิตนั้นเป็นปัจจัย เจตสิกก็เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันนั้นเอง และรูปก็เป็นปัจจัยให้รูปหรือนามธรรมเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น นามธรรมก็เป็นปัจจัยให้นามธรรมอื่นเกิดขึ้นโดยสัมปยุตตปัจจัย แต่เวลาที่นามธรรมเป็นปัจจัยให้รูปธรรมเกิดขึ้น จะไม่ใช้คำว่า สัมปยุตต์ แต่จะเป็นโดยปัจจัยอื่น หรือว่ารูปธรรมก็เป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิดขึ้นได้ เป็นปัจจัยให้รูปธรรมเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่โดยสัมปยุตตปัจจัย

    ทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงโดยละเอียด เพื่อทรงอนุเคราะห์ให้เวลาที่สติระลึก จะได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ตรงตามความเป็นจริงว่า นามธรรมเป็นแต่เพียงสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ส่วนรูปธรรมนั้นแม้ว่าจะปรากฏ แต่อวิชชาเป็นสภาพซึ่งไม่สามารถที่จะแทงตลอด หรือรู้ชัดแม้ในสิ่งซึ่งกำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าไม่เจริญสติก็ไม่ทราบ คือ การกระทบสัมผัสที่เราเรียกว่า ลม บางครั้งรู้สึกสภาพของธาตุลมที่ไหวตามผิวของร่างกาย รู้สึกไหว แต่บางครั้ง เมื่อมีสติระลึกรู้ ก็มีสติระลึกรู้สภาพเย็น และบางครั้งก็มีสติระลึกรู้ลมที่กระโชกมารู้สึกว่าร้อน ทั้งๆ ที่เกิดจากการสัมผัสของธาตุลม แต่ปรากฏโดยลักษณะของธาตุไฟ และบางครั้งก็ปรากฏโดยลักษณะของธาตุลมจริงๆ ก็มี ซึ่งความรู้สึกที่สัมผัสนั้นไม่ใช่ว่า ทุกครั้งเมื่อถูกลมแล้วจะต้องรู้สึกว่าไหว แต่ขณะใดที่มีสภาพใดปรากฏก็ให้รู้ ให้มีสติระลึกรู้ในสภาวะตามความเป็นจริง อย่างที่อาจารย์ได้กล่าวไว้ เพราะฉะนั้น ทำให้มีความเชื่อว่า ที่ใดมีธาตุลม ที่นั่นมีธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ร่วมอยู่ด้วย

    . ขอถามอาจารย์ เพราะจะกลับบ้านนอกแล้ว จะไปพูดให้ลูกหลานฟัง พูดก็ยังไม่ค่อยเป็น จำก็ยังไม่ค่อยจะได้ ฉันอ่านหนังสืออาจารย์แถวหนึ่งตั้ง ๕ วัน ยังไม่ได้สักตัว จะทำอย่างไร อยากจะรู้ว่า ในพระไตรปิฎกที่อาจารย์ได้เรียนมา การพูดมุสา โกหกกันอะไรอย่างนี้ เป็นบาป ตกนรกไหม

    สุ. ถ้าทำให้คนอื่นเดือดร้อน เป็นกรรมบถ ทำให้เกิดในอบายภูมิ

    . เมียโกหกผัว ผัวโกหกเมียอย่างนี้มีเวรไหม มีนรกไหม

    สุ. ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ถ้าเป็นผลของกรรมนั้น ก็ทำให้ตกนรกได้

    . นรกมีจริงไหม

    สุ. นรกมีจริง แต่ว่าใครจะไปเกิดเมื่อไร ไม่ทราบ แต่มี เพราะฉะนั้น กิเลสทั้งหลายเมื่อสำเร็จลง กรรมที่ได้กระทำแล้ว ชื่อว่ามีภูมิซึ่งได้แล้ว ทุกท่านมีภูมิที่ได้แล้ว กามสุคติภูมิ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม และทุคติหรืออบายภูมิเป็นผลของอกุศลกรรม ทุกท่านมีภูมิรออยู่แล้ว เพียงแต่ว่าท่านจะไปภูมิไหน เมื่อไร เพราะกรรมอะไร แต่ให้ทราบว่า มีภูมิที่รออยู่แล้ว

    . เขาไม่ได้ทำจริง เราไปโทษ ไปว่าเขา มีกรรมไหม

    สุ. ทั้งนั้น ทุกอย่างที่เป็นอกุศล

    . ถ้าจริงแล้วไม่เป็นไร ถ้าไม่จริงคนที่ว่าก็มีเวร

    สุ. เป็นอกุศล เวรเป็นอย่างไร

    . ก็มาถามอาจารย์

    สุ. เป็นอกุศลกรรมซึ่งจะให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ไปเกิดในอบายภูมิ หรือไม่ก็ได้รับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ต่างๆ กันไป

    . มีกรรมเหมือนกัน ว่าเขาแล้วไม่จริง ว่าเขาผิดไป คนที่พูดก็ต้องรับกรรม แต่ถ้าจริง เขาก็มีกรรมของเขาเอง

    สุ. ใช่



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๙๘๑ – ๙๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564