แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 969


    ครั้งที่ ๙๖๙

    สาระสำคัญ

     อัฏฐสาลินี แสดงลักษณะของธรรมที่เป็นอดีต  อรรถของจิตประการต่างๆ 


    ทุกอย่างเป็นของท่านผู้ฟังในขณะที่วิถีจิตเกิดเท่านั้นเอง แต่ถ้าวิถีจิตไม่เกิด ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เช่น ในขณะที่นอนหลับสนิท แม้ว่ายังไม่สิ้นชีวิต ขณะนั้นก็ไม่มีเยื่อใย ไม่มีความอาลัยอาวรณ์ ไม่มีความผูกพันในสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่ในขันธ์ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเราหรือว่าเป็นตัวตน ในขณะนั้นก็ไม่มี เพราะวิถีจิตไม่ได้เกิดขึ้นรู้อารมณ์ใดๆ ยังไม่ทันจะสิ้นชีวิต ก็ยังขาดความสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสในวันหนึ่งๆ ได้ ในขณะที่นอนหลับสนิท

    เพราะฉะนั้น ทำไมถึงไม่ตัดแม้เยื่อใยเวลาที่มีการเห็น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดๆ ทางตา ได้ยินเสียงใดๆ ทางหู ได้กลิ่นใดๆ ทางจมูก ลิ้มรสใดๆ ทางลิ้น หรือกระทบสัมผัสสิ่งใดๆ ทางกาย ซึ่งเป็นทางที่จะทำให้อกุศลลดน้อยลง เพราะรู้ว่าสภาพธรรมปรากฏเพียงชั่วขณะที่วิถีจิตเกิดขึ้นเท่านั้น

    เมื่อจิตใดเกิดขึ้นแล้วดับไป จิตนั้นก็ดับจริงๆ รูปใดเกิดขึ้นแล้วดับไป รูปนั้นก็ดับจริงๆ รูปที่ปรากฏทางตาเมื่อครู่นี้ดับหมดจริงๆ จิตเห็นเมื่อครู่นี้ดับหมดจริงๆ เสียงที่ปรากฏทางหูดับหมดจริงๆ ได้ยินก็ดับหมดจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดขึ้นและดับไปจริงๆ แต่ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ความเกิดดับจริงๆ ก็ยังไม่เข้าถึงอรรถของความหมายของคำว่า ดับ เพราะไม่ประจักษ์การดับ เช่น เวลานี้จะพูดถึงการดับไปของจักขุวิญญาณ ของสัมปฏิจฉันนะ ของสันตีรณะ ของโวฏฐัพพนะ ของชวนะ ของตทาลัมพนะ ก็ยังไม่ประจักษ์ความดับ

    จะพูดถึงการดับไปของสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ยังไม่ประจักษ์การดับ เพราะฉะนั้น จึงต้องอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ

    แต่ถึงแม้ว่าปัญญาขั้นนั้นยังไม่เกิด การฟังพระธรรมและการพิจารณาให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องละเอียดยิ่งขึ้น ก็จะเกื้อกูลเป็นปัจจัยให้สังขารขันธ์ปรุงแต่งให้ สติปัฏฐานมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ และศึกษาจนกระทั่งเข้าใจลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    มีข้อความใน อัฏฐสาลินี ที่แสดงลักษณะของธรรมที่เป็นอดีต ที่ล่วงไปแล้ว ใน อตีตติกะ ซึ่งเป็นคำอธิบายอตีตธรรม หมายความถึงธรรมที่ล่วงไปแล้วหรือ ดับไปแล้ว ซึ่งมีหลายพยัญชนะ คือ

    คำว่า ล่วงไปแล้ว คือ ล่วงไปแล้ว ๓ ขณะ ทั้งขณะที่เกิด ขณะที่ตั้งอยู่ และขณะที่ดับ

    จิตมีอายุที่สั้นมาก เล็กน้อยเหลือเกิน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ขณะที่เกิดไม่ใช่ขณะที่ตั้งอยู่ ไม่ใช่ขณะที่ดับ ขณะที่ตั้งอยู่ไม่ใช่ขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ดับ ขณะที่ดับไม่ใช่ขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ตั้งอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดขึ้นและกำลังตั้งอยู่ ยังไม่ชื่อว่าเป็นอดีตสำหรับฐีติขณะ แต่สำหรับอุปาทขณะเป็นอดีตแล้ว

    เวลาที่ศึกษาต่อไปในเรื่องของรูปจะทราบว่า รูปเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เกิดทุกขณะของจิต คือ ทั้งอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ ส่วนรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดพร้อมกับจิต คือ ที่อุปาทขณะของจิต เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ในขณะที่ต่างกัน ๓ ขณะของจิต คือ ในอุปาทขณะ มีรูปที่เกิดเพราะจิตเกิดด้วย มีรูปที่เกิดเพราะกรรมเกิดด้วย ในภังคขณะ มีแต่รูปที่เกิดเพราะกรรมเท่านั้นเกิดขึ้น

    จิตเกิดดับอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ขณะทั้ง ๓ ก็หมดไปอย่างรวดเร็วด้วย แต่ธรรมใดที่เป็นอดีต หมายความว่า คำว่า ล่วงไปแล้ว คือ ล่วงไปแล้ว ๓ ขณะ ไม่มีเหลือ ทั้งอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ หมดไปๆ ทุกขณะ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ ก็จะไม่ประจักษ์ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว

    คำอธิบายต่อไปมีว่า

    คำว่า ดับแล้ว คือ ถึงความดับแล้ว

    เหมือนไฟดับ ใช่ไหม ดับแล้ว ไม่มีอีก หมดจริงๆ หายไปจริงๆ ดับแล้วจริงๆ

    คำว่า ปราศไปแล้ว คือ ถึงความปราศไปแล้ว หรือไปปราศแล้ว

    เหมือนคนตายไหม ปราศไปแล้ว หรือไปปราศแล้ว ไม่เหลือเลย นั่นคือลักษณะของความดับ

    คำว่า แปรไปแล้ว คือ ถึงความแปรไป ด้วยการละปกติ

    ปกติ คือ มี แต่แปรไปด้วยการละปกติ คือ ไม่มี

    คำว่า อัสดงคตแล้ว ด้วยอรรถว่า ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ กล่าวคือ ความดับ

    คำว่า อพฺภตฺถงฺคตา ที่แปลว่า ถึงความดับสูญแล้ว ทรงเพิ่มบทด้วยอุปสรรค

    ถ้าใช้คำว่า ดับ ก็จะชินกับคำว่า ดับ เพราะฉะนั้น ต้องเพิ่มบทด้วยอุปสรรค คือ ให้รู้ว่าถึงความดับสูญแล้ว ไม่เหลือจริงๆ จะคิดว่ามีอะไรที่เหลืออยู่เวลานี้ เป็นความเข้าใจผิด เพราะสิ่งที่ดับแล้ว สูญแล้วจริงๆ

    คำว่า เกิดขึ้นแล้วปราศไป คือ บังเกิดแล้วปราศไป

    ไม่ใช่ว่าไม่มี มี เพราะเกิดขึ้น แต่ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ปราศไป คือ หมดไป สูญจริงๆ ไม่เหลือเลย

    ธรรมส่วนที่ล่วงไปแล้วเหล่านั้น อะไรบ้าง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ได้แก่ ธรรมที่เป็นสังขารธรรม คือ ขันธ์ทั้ง ๕ รูปขันธ์ รูปทุกชนิดที่เกิดขึ้นและดับไป เวทนา ความรู้สึกทุกชนิดเกิดขึ้นและดับไป สัญญา ความจำทุกชนิด เกิดขึ้นและดับไป สังขาร เจตสิกซึ่งปรุงแต่งเป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นอิสสา เป็นมัจฉริยะ เป็นปัญญา เป็นวิริยะ ทุกอย่าง เกิดขึ้นและดับไป วิญญาณ สภาพที่รู้แจ้งอารมณ์เกิดขึ้นและดับไป

    ยังอาลัย ยังยึดถือ ยังผูกพันอยู่กับขันธ์ไหนบ้าง ในเมื่อทุกขันธ์เกิดและ ดับไปๆ สูญไปด้วย ไม่ใช่ดับแล้วจะมีเหลือ แต่ว่าดับสูญไป ปราศไป

    เพียงขั้นการฟัง ดับกิเลสไม่ได้ ใช่ไหม ยังอยู่เต็ม เพราะฉะนั้น จึงต้องฟังให้เข้าใจ เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติระลึกรู้สิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง และเข้าใจจนกว่าจะประจักษ์ลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไป จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้

    ยังไม่ต้องถึงขณะที่ตาย ในชั่ววันหนึ่งๆ เคยชอบสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ยึดถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นสมบัติของเรา แท้ที่จริงทุกอย่างเกิดขึ้นปรากฏขณะที่เป็นวิถีจิตเท่านั้นเอง และสภาพธรรมใดที่เป็น วิบากจิต ก็เป็นผลของกรรม ใครจะมีบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ เสื้อผ้าอาภรณ์มากมายอย่างไร ประณีตสวยงามอย่างไร วิบากจิตซึ่งเป็นผลของอดีตกรรมก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และไม่ยั่งยืนเลย เพียงชั่วขณะที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่า กรรมใดจะให้ผลในขณะต่อไป เพราะว่าทุกคนมีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้ว พร้อมที่ว่า มีปัจจัยที่จะทำให้กรรมใดให้วิบากใดเกิดขึ้น วิบากนั้นก็เกิดขึ้น ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง เท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น นี่เป็นวิริยารัมภกถา ที่จะทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และน้อมศึกษาพิจารณาจนกว่าจะรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมหรือรูปธรรมแต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

    พอที่จะเป็นปัจจัยให้ชวนวิถีที่เป็นกุศลเพิ่มขึ้นได้ไหม ในเมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม แต่ถ้าไม่ฟังเลย ไม่รู้ว่าขณะใดเป็นผลของ อดีตกรรม เป็นวิบาก ขณะใดเป็นชวนวิถีที่จะสั่งสมสันดานที่เป็นกุศลหรืออกุศล ผู้นั้นก็ย่อมจะไม่เห็นโทษของอกุศล ไม่มีการอบรมเจริญกุศล สังสารวัฏฏ์ก็ต้องยืดยาวต่อไป และอกุศลจิตเกิดมากหรือกุศลจิตเกิดมาก เพราะฉะนั้น ผลข้างหน้าจะเป็นกุศลวิบากหรือว่าอกุศลวิบาก ซึ่งทุกท่านย่อมสามารถพิจารณารู้ธรรมที่เกิดกับตัวท่านได้ตามความเป็นจริง

    สำหรับอรรถ คือ ความหมาย ที่เป็นลักษณะของจิตที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ

    ประการที่ ๑ จิตเป็นสภาพรู้แจ้งอารมณ์

    ย่อมจะเกื้อกูลให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะที่กำลังเห็น หรือว่ากำลังได้ยิน หรือว่ากำลังได้กลิ่น หรือว่ากำลังลิ้มรส หรือว่ากำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางกายลักษณะต่างๆ ว่านั่นเป็นจิต ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏนั้นๆ ได้

    ประการที่ ๒ ชื่อว่าจิต เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถชวนวิถี

    ทุกท่านจะทราบได้ว่า ท่านมีอุปนิสัยอย่างนี้ เพราะท่านสะสมโลภะมาก หรือว่าโทสะมาก หรือว่าโมหะมาก หรือว่าสะสมโลภะแรง โทสะอ่อน โมหะอ่อน ซึ่งทำให้แต่ละบุคคลมีอัธยาศัยต่างๆ กัน

    และประการต่อไป คือ

    ประการที่ ๓ ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก

    ถ้าทราบเรื่องของวิถีจิต คงจะเข้าใจความหมายที่เป็นสังสารวัฏฏ์ได้ เพราะ ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก

    ที่ทุกท่านกำลังสั่งสมชวนวิถีนี้ ไม่สูญหายไปไหน แม้ว่าจิตจะเกิดขึ้นและดับไป แต่การดับของจิตดวงก่อนเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิตดวงต่อไปที่เกิดก็สั่งสมทุกอย่างของจิตดวงก่อน เนื่องจากเกิดเพราะจิตดวงก่อนเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ชวนวิถีจิตที่สั่งสมสันดานก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก

    สังสารวัฏฏ์ ที่ท่านผู้ฟังเคยได้ยินได้ฟังก็มี กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์

    กิเลสวัฏฏ์ วนเวียน กิเลสทั้งหลายเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สั่งสมสันดาน และเป็นเหตุให้กระทำกัมมวัฏฏ์ เมื่อมีกรรมซึ่งเป็นเหตุ เป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ซึ่งเป็นกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ไม่สูญหาย เพราะจะเป็นปัจจัยให้เกิดวิปากวัฏฏ์

    เวลาที่วิบากเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ปราศจากกิเลสวัฏฏ์อีก เพราะมีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น เมื่อมีกิเลส ก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดวิบาก เป็นกุศลวิบากบ้าง อกุศลวิบากบ้าง ไม่รู้จบ ตราบใดที่ปัญญายังไม่เกิดขึ้นประจักษ์แจ้งในอริยสัจธรรม สังสารวัฏฏ์ทั้ง ๓ คือ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ ก็จะต้องเกิดขึ้นวนเวียนอยู่เรื่อยๆ

    ท่านที่เคยอยากทราบเรื่องของปฏิจจสมุปปาทะ คือ ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น นี่คือเรื่องของกิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ และวิปากวัฏฏ์ เริ่มตั้งแต่อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ เป็นกิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์หรือยัง

    อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารในที่นี่ คือ ปุญญาภิสังขาร ได้แก่ กุศลกรรม อปุญญาภิสังขาร ได้แก่ อกุศลกรรม และอเนญชาภิสังขาร ได้แก่ อรูปกุศลกรรม

    กรรมใดที่เนื่องกับรูปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกามาวจรกุศล เป็นกุศลที่เนื่องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือรูปฌาน กุศลกรรมใดก็ตามซึ่งยังเนื่องกับรูป เป็นปุญญาภิสังขาร

    เพราะฉะนั้น สังขารจึงมี ๓ โดยนัยของปฏิจจสมุปปาทะ คือ ปุญญาภิสังขาร ได้แก่ กุศลกรรมทั้งหลายที่เนื่องกับรูป อปุญญาภิสังขาร ได้แก่ อกุศลกรรม อเนญชาภิสังขาร ได้แก่ อรูปฌานกุศล ๔ เท่านั้น เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ได้แก่ ปฏิสนธิจิตในภูมิต่างๆ ตามเหตุของกรรมนั้น เป็นปฏิจจสมุปปาทะหรือเปล่า ปฏิจจสมุปปาทะไม่ได้อยู่ที่อื่น และไม่ได้อยู่ในหนังสือ

    ธรรมทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง คือ ในทุกๆ ขณะนี้ ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยใด จะทรงแสดงโดยนัยของปรมัตถธรรม ๔ หรือว่าทรงแสดงโดยนัยของ อริยสัจธรรม ๔ หรือว่าทรงแสดงโดยนัยของปฏิจจสมุปปาทะ ก็เป็นเรื่องของ สภาพธรรมที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้นั่นเอง

    . ปฏิจจสมุปปาทะ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าเป็นธรรมที่ลึกซึ้ง แต่ท่านพระอานนท์ได้ยินแล้วก็กล่าวว่า ปฏิจจสมุปปาทะที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าลึกซึ้งๆ ท่านพระอานนท์ก็รู้และเข้าใจดี ซึ่งท่านก็บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ท่านรู้จริงๆ ว่า ปฏิจจสมุปปาทะนี้อาศัยธรรมซึ่งกันและกันเกิดขึ้น ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับ ท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เพราะเหตุใด

    สุ. รู้แค่ไหน ถ้ารู้เพียงแค่กิเลสวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดกัมมวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดวิปากวัฏฏ์ และวิปากวัฏฏ์สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสวัฏฏ์อีก และกิเลสวัฏฏ์นั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดกัมมวัฏฏ์อีก กัมมวัฏฏ์นั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิปากวัฏฏ์อีก รู้แค่นี้ หรือว่ารู้ลึกซึ้งยิ่งกว่านี้อีก มีหลายขั้น หลายระดับสำหรับความเข้าใจปฏิจจสมุปปาทะ

    . ความรู้ของพระโสดาบัน จะต้องรู้มากกว่านี้

    สุ. แต่ว่ายังไม่ถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    . ใช่ เพราะว่าปฏิจจสมุปปาทธรรมเป็นความรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ผมสงสัยว่า อัครสาวก หรือมหาสาวก ก็ยังรู้ไม่หมดอย่างนั้นหรือ

    ส. หมายความว่า ไม่สามารถที่จะรู้ละเอียดและลึกซึ้ง โดยทั่ว โดยตลอด เช่นเดียวกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านผู้ฟังลองไล่ไปก็ได้จะได้รู้ว่า ความรู้ของท่านถึงที่สุดตรงไหน

    เช่น ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมหนึ่งกรรมเดียวเท่านั้นในบรรดากรรมนับไม่ถ้วนที่ได้กระทำมาแล้วในชาติ ก่อนๆ ทั้งหมด แล้วแต่กรรมใดจะให้ผล ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ปฏิสนธิจิตนั้นเป็นผลของกรรมนั้น และกรรมนั้นเองที่เกิดขึ้น ก็เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย

    ทุกท่านที่เกิด ปฏิสนธิจิตเกิด ในปฏิสนธิจิตนั้นจะปราศจากอวิชชานุสัยไม่ได้ แม้ว่าจิตที่เป็นกุศลวิบากจิต ไม่มีโมหเจตสิกเกิดขึ้นกระทำกิจการงาน เพราะเป็น กุศลวิบาก แต่อวิชชาไม่ได้ดับ ยังไม่หมด ยังสะสมเป็นพืชเชื้อนอนเนื่องอยู่ในจิต ไม่ได้เกิดขึ้นกระทำกิจการงาน แต่ว่ามีอนุสัยคือความไม่รู้ นอนเนื่องอยู่ในปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นกุศลวิบาก ถ้าเกิดในกามสุคติภูมิ

    แต่ว่าอวิชชามาจากไหน

    ลองไล่ความรู้ของท่านผู้ฟังไป จะสามารถรู้อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พอที่จะกล่าวว่า ปฏิจจสมุปปาทะนั้นตื้นได้ไหม

    พอไปถึงอวิชชา ไม่ใช่ว่าท่านไม่สามารถจะรู้อวิชชา แต่อวิชชาที่ท่านสามารถรู้ได้ คือ ขณะนี้ ไม่ใช่สาวไปจนถึงชาติก่อนโน้นๆ ในอนันตชาตินับไม่ถ้วน แต่ว่า ในขณะนี้เอง สามารถที่จะรู้ว่ามีอวิชชา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๙๖๑ – ๙๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564