แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 981


    ครั้งที่ ๙๘๑

    สาระสำคัญ

    วิบาก เป็นสภาพธรรมที่เป็นผลของอดีตกรรม  ท่านมีสมบัติมากไหม  อัง.จตุกกนิบาต อจินติตสูตร-อจินไตย ๔ ประการ


    สุ. สำหรับสภาพธรรมที่เป็นวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม สามารถจะรู้ได้ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบัน คือ ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยิน ในขณะที่กำลังได้กลิ่น ในขณะที่กำลังลิ้มรส ในขณะที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย

    การที่สามารถจะรู้ชัดได้จริงๆ คือ เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะไม่ใช่มีในตำราเท่านั้น แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ วิบากจิตในขณะนี้เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัยในอดีต ที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ที่เป็นวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ขณะจิตต่อไปว่า จะเห็นสิ่งอะไร หรือว่าจะได้ยินเสียงอะไร หรือว่าจะได้กลิ่นอะไร หรือว่าจะลิ้มรสอะไร หรือว่าจะกระทบสัมผัสอะไร ไม่มีใครจะสามารถบอกได้เลย

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเสียงอะไรที่ปรากฏ ก็เป็นผลของอดีตกรรมที่ทำให้วิบากจิตและเจตสิกเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น ไม่ใช่เฉพาะเวลาที่มีอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์พิเศษ แต่ชีวิตปกติประจำวันก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และถ้ารู้ละเอียดขึ้นจะรู้ว่าว่า ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทันทีที่เห็น หรือทันทีที่ ได้ยิน ทันทีที่ได้กลิ่น ทันทีที่ลิ้มรส ทันทีที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จะมีการยึดถือ สภาพธรรมนั้นว่าเป็นของเรา หรือว่าเป็นเรา

    ท่านผู้ฟังแต่ละท่านมีสมบัติมากไหม เป็นของท่านจริงๆ หรือเปล่า

    เป็นของท่านชั่วขณะที่ตาเห็น และเกิดความยึดถือว่า นี่ของเรา นี่สมบัติพัสถานของเรา นี่แก้วแหวนเพชรนิลจินดาของเรา แต่แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่ปรากฏเป็นอารมณ์ เป็นของจักขุวิญญาณชั่วขณะที่จักขุวิญญาณเห็น และไม่ใช่ของ จักขุวิญญาณจริงๆ เพราะว่าปรากฏภายนอก ไม่สามารถที่จะเอาเข้ามาเป็นภายในว่า เป็นของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเพชรนิลจินดา เสื้อผ้าอาภรณ์ หรือสิ่งใดๆ ก็ตามทั้งหมดที่ปรากฏในขณะที่เห็น เป็นของสาธารณะกับทุกจักขุวิญญาณซึ่งเห็นสิ่งนั้น ไม่ใช่ของใคร แล้วแต่ใครจะยึดถือว่า ของฉัน ของเรา แต่โดยสภาพธรรมตามความเป็นจริง สิ่งนั้นไม่ใช่ของใคร แต่ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏกับจักขุวิญญาณเท่านั้น

    เมื่อสิ่งนั้นปรากฏแล้ว กิเลส ความไม่รู้ ยึดถือทันทีว่าของเรา ทั้งวัตถุภายนอก ทั้งรูปร่างกาย แม้รูปร่างกายนี้ เวลาที่ปรากฏทางตา สูงต่ำ ดำขาวต่างๆ ก็ปรากฏ ชั่วขณะที่กระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น แต่ถ้าไม่มีการลืมตา ไม่มีการเห็นเกิดขึ้น จะไม่มีการนึกถึงรูปร่างสัณฐาน สูงต่ำ ดำขาว ที่ยึดถือว่าเป็นของเราเลย

    เพราะฉะนั้น สิ่งใดๆ ทั้งภายใน คือ รูปร่างกายของตนเอง และวัตถุภายนอกทั้งหมด ตามสภาพความจริงไม่ใช่ของใครเลย แต่ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏเพียงชั่วขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น และดับไปอย่างรวดเร็ว ทั้งสิ่งที่ปรากฏและสภาพรู้คือ จักขุวิญญาณ

    เพราะฉะนั้น มีอะไรบ้างที่ควรจะยึดถือว่าเป็นของเรา เพราะว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบตา เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบหู และดับไปหมดแล้ว ไม่มีของเราเลย

    การรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง จะทำให้ละการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และรู้ว่าขณะไหนเป็นวิบาก ขณะไหนเป็นกิเลส ขณะไหนเป็นกรรม

    ชั่วขณะที่ได้เห็นครั้งหนึ่ง ได้ยินครั้งหนึ่ง ได้กลิ่นครั้งหนึ่ง ลิ้มรสครั้งหนึ่ง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสครั้งหนึ่ง หรือคิดนึกต่างๆ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และสามารถที่จะเป็นสติปัฏฐานให้ปัญญาศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น วันนี้ท่านผู้ฟังคงจะสำรวจดูทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่อาจมีมาก ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็ทั่วไปกับจักขุวิญญาณ เพราะถ้าเข้าใจว่ามีทรัพย์สมบัติมาก แต่ไม่เห็นทรัพย์สมบัตินั้นเลย จะเกิดความรู้สึกว่าเป็นของเราได้ไหม หรือว่าจะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อเข้าใจว่ามีทรัพย์สมบัติมาก แต่ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสใดๆ จากทรัพย์สมบัติทั้งหลายนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ จะมีความเสมอกัน เพราะไม่มีเรา ไม่ว่าจะเป็นจักขุวิญญาณของใคร ก็เห็นสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นเรา หรือของเรา

    ทุกคนเท่ากัน โดยสภาพลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมเหมือนกัน แต่ว่าการจะยึดถือสภาพธรรมที่มีปรากฏว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา ซึ่งเป็นกิเลสนั้น ก็ย่อมมีมากน้อยต่างกัน

    เพราะฉะนั้น ท่านที่เคยยินดีในทรัพย์สมบัติของท่านมากมายนี้ เริ่มรู้สึกหรือยังว่า ท่านไม่มีทรัพย์สมบัติ เพราะว่าจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นและดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าจักขุวิญญาณไม่เห็น ทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ไหน เพียงจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น ชั่วขณะที่เห็นจะยึดถือว่าเป็นทรัพย์สมบัติของท่านได้อย่างไร

    เสียงก็เช่นเดียวกัน กลิ่น รสก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่กระทบสัมผัสก็ชั่วขณะที่กระทบสัมผัสกายปสาทจึงปรากฏว่าลักษณะนั้นมี เพราะฉะนั้น ไม่สมควรที่จะยึดถือลักษณะนั้นว่า เป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา

    ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีสมบัติ จะดีไหม ไม่ดี ต้องมี หรือว่าแท้ที่จริงแล้ว จะมีหรือไม่มีเป็นเรื่องของวิบาก ถูกไหม

    ถึงแม้ว่าทุกท่านอยากจะมีทรัพย์สมบัติมากๆ ให้เท่าๆ กัน ให้เหมือนๆ กัน แต่ตามความเป็นจริง ผลที่ปรากฏในปัจจุบันมาจากเหตุในอดีต ไม่อยู่ในอำนาจ บังคับบัญชาของใคร ควรที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า วิบากได้แก่ ปรมัตถธรรมในขณะที่เพียงเห็น เพียงได้ยิน เพียงได้กลิ่น เพียงลิ้มรส เพียงรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นผลซึ่งเกิดจากเหตุในอดีต ใครก็ตามเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดและอยากจะได้สิ่งนั้นมาก จะได้หรือไม่ได้สิ่งนั้นย่อมแล้วแต่เหตุในอดีต แต่ไม่ใช่เพราะด้วยกำลังของความปรารถนา ถ้าเป็นเพราะกำลังของความปรารถนา ทุกคนที่ปรารถนาย่อมได้

    สมมติว่า มีเพชรนิลจินดาที่สวยงาม และทุกท่านที่เห็นก็เกิดความอยากได้ การที่บุคคลใดจะได้วัตถุสิ่งใดนั้น ไม่ใช่ด้วยกำลังของความอยากได้ แต่การที่จะได้เห็นสิ่งนั้นบ่อยๆ หรือสามารถที่จะถือกรรมสิทธิ์ มีวัตถุสิ่งนั้นไว้สำหรับให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นบ่อยๆ เป็นผลของอดีตกรรม มิฉะนั้นแล้วทุกคนที่อยากได้อะไร ย่อมได้ ถ้าสามารถที่จะได้ด้วยกำลังของความต้องการ

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะแยกวิถีจิตหนึ่งออกได้ว่า ชั่วขณะที่เห็นทางตาเป็นวิบาก ส่วนความยินดีพอใจ ความต้องการในสิ่งนั้นจะมีมากน้อยสักเท่าไร ไม่ใช่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากได้ทันที ไม่ใช่ว่าผลจะเกิดได้ทันที แต่ว่าการที่ผลต่อไปจะเกิดขึ้นอาศัยเหตุในอดีต

    ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีผู้ใดจะพยากรณ์ได้ว่า ในขณะที่มีการเห็นแต่ละครั้ง หรือว่าการได้ยินแต่ละครั้งนั้นเป็นผลของกรรมอะไร ซึ่งข้อความใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ อปัณณกวรรคที่ ๓ พระสูตรที่ ๗ ข้อ ๗๗ มีว่า

    อจินติตสูตร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน อจินไตย ๔ ประการเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน ฯ

    จบ สูตรที่ ๗

    จริงไหม ขณะนี้วิบากทางตา สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของ สภาพนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น จะรู้เกินไปจนกระทั่งถึงว่า ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นผลของอดีตกรรมอะไร ในชาติไหน ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่แม้กระนั้น ในชั่วการเห็นขณะหนึ่งๆ สติปัฏฐานและปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดว่า ขณะที่เห็นเป็นวิบาก ไม่ใช่ขณะที่เกิดความพอใจหรือความไม่พอใจ ซึ่งเป็นอกุศลจิตหรือกุศลจิต ที่เกิดขึ้นต่อจากขณะที่เห็น

    นี่เป็นความรวดเร็วของวิถีจิต ซึ่งผู้ที่จะดับกิเลสได้ต้องรู้ตรงตามความเป็นจริงว่า แม้แต่ชั่วขณะวาระหนึ่งของวิถีจิตที่เห็น มีวิบากจิต ซึ่งเป็นผลของกรรมในอดีต เนิ่นนานมาแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นผลของกรรมในชาตินี้ หรือว่าเป็นผลของกรรมในชาติก่อน หรือว่าเป็นผลของกรรมในชาติโน้นๆ แต่ไม่ต้องเสียเวลาคิด เพราะว่าเป็นอจินไตย ถ้าคิดจะมีประโยชน์อะไร ตรงกันข้าม ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ศึกษารู้ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และละการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา จะเป็นประโยชน์แก่การที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะเป็นสิ่งที่ปัญญาสามารถที่จะรู้ได้

    เพราะฉะนั้น ปฏิจจสมุปปาท ชั่วในขณะที่วิถีจิตเกิดขึ้นวาระหนึ่งๆ ทางตาขณะที่เห็น รู้ลักษณะที่ต่างกันของวิบากจิตและกุศลจิตหรืออกุศลจิตซึ่งเกิดต่อ ทางหูก็เช่นเดียวกัน พร้อมกันนั้นก็รู้ว่า ไม่มีสมบัติ ไม่มีเรา ไม่มีของเรา เพราะว่าทุกสิ่งปรากฏเวลาที่กระทบกับทวารแล้ว ก็ดับไป ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย

    . เรื่องกรรมและผลของกรรม พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า ไม่ควรคิด แต่บางครั้งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า การกระทำอันใดเป็นผลให้เกิดอะไร เช่น การฆ่าสัตว์จะทำให้ชีวิตสั้นอย่างนี้เป็นต้น แต่ไม่ยอมให้คิด หมายความว่าอย่างไร

    สุ. มิได้ แต่หมายความว่า การที่จะรู้ลักของสภาพธรรมที่เป็นวิบาก คือ สภาพธรรมที่เป็นจิตและเจตสิกในขณะที่เกิดขึ้นเห็น ในขณะนั้นที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็คือ รู้ลักษณะที่เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ และในขณะนั้นจะรู้ไหมว่า เป็นผลของกรรมอะไร พิสูจน์ได้จากขณะนี้ กำลังเห็นนี้เป็นผลของกรรมอะไร

    . ก็ละเอียดขึ้น ถ้าพูดถึงสิ่งใหญ่ๆ เช่น ในพระสูตรหนึ่ง ที่สุภมาณพ ลูกของโตเทยยพราหมณ์ไปทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า บุคคลทั้งหลายที่ปรากฏในโลกนี้ คือ ถาม ๗ คู่ มีคนอายุสั้นกับอายุยืน มีผิวพรรณทรามกับมีผิวพรรณงาม ร่ำรวย กับยากจน สูงศักดิ์กับต่ำศักดิ์ เกิดในตระกูลสูงกับเกิดในสกุลต่ำ มีปัญญากับ ปัญญาทราม ที่ปรากฏอยู่ในโลกนี้ เพราะเหตุอะไร ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมจำแนกไปตามกรรม มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ซึ่งสุภมาณพบอกว่า ฟังแล้วไม่รู้เรื่อง ขอให้ทรงจำแนกโดยพิสดาร พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงว่า

    ผู้ที่มีอายุสั้น มักจะฆ่าสัตว์บ่อยๆ เกิดมาอีกชาติหนึ่งก็จะมีอายุสั้น ถ้าผู้ที่ไม่ได้ฆ่าสัตว์ หรือวิรัติไม่ฆ่าสัตว์ เกิดในชาติใหม่ก็มีอายุยืน ผู้ที่มีความมักโกรธ คือ คนขี้โกรธ จะมีผิวพรรณทราม ผู้ที่ไม่มักโกรธจะมีผิวพรรณงาม คนที่อิจฉาริษยา เกิดมาจะไม่มีเกียรติ ไม่มีศักดิ์ คนที่อิจฉาในลาภของสมณพราหมณ์ก็จะต่ำศักดิ์ คนที่ไม่อิจฉาริษยาลาภของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ก็จะสูงศักดิ์

    คนที่มีการกราบไหว้ผู้ใหญ่ หรือกราบไหว้ลุกรับผู้ที่ควรกราบไหว้จะเกิดในตระกูลสูง คนที่ไม่กราบไหว้ต่อผู้ที่ควรกราบไหว้จะอยู่ในตระกูลต่ำ ผู้ที่สอบถามธรรมกับบัณฑิตทั้งหลายจะมีปัญญา ผู้ที่ไม่สอบถามจะทรามปัญญา อย่างนี้เป็นต้น พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงอย่างนี้ เรื่องของกรรม ผลของกรรม แสดงไว้ชัด แต่ไม่ยอมให้คิด เพราะอะไร

    สุ. ไม่ใช่ไม่ยอมให้คิด แต่เวลาที่บุคคลใดก็ตามอายุสั้น รู้ได้ตามที่ทรงแสดงว่า เป็นผลของการเบียดเบียน หรือว่าการฆ่าสัตว์ซึ่งเป็นอดีตกรรม ไม่ใช่หมายความว่าไม่ให้คิด ความคิดย่อมเกิดขึ้นเสมอ แต่การที่จะรู้ลักษณะของวิบากในขณะที่กำลังเกิดขึ้นปรากฏโดยรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นวิบาก ไม่ใช่รู้เรื่องของวิบาก แต่เป็นการรู้ลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นวีตราคจิต เป็นวิบากจิต เป็นผลของอดีตกรรม ต้องในขณะที่เกิดขึ้นทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทวาร คือ ทางตาเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หลังจากนั้นจะคิดว่าเห็นอะไรก็แล้วแต่ แต่การที่กำลังคิดไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น

    เพื่อที่จะรู้ลักษณะของวิบาก เวลาที่เกิดโรคภัยไข้เจ็บ มีทุกขเวทนาเกิดขึ้น และสติระลึกรู้ลักษณะสภาพซึ่งเป็นทุกข์ทางกายในขณะนั้น จึงจะรู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเป็นวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม ไม่ใช่ในขณะที่คิดถึงเรื่องอดีตกรรม แต่ขณะที่สติระลึกตรงลักษณะที่เป็นทุกขเวทนาที่ปรากฏที่กาย จึงรู้ว่าที่กล่าวว่าวิบาก คือ ขณะที่กำลังรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย

    และขณะที่ได้ฟังเรื่องของวิบาก ไม่ใช่ในขณะที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของวิบาก ขณะที่กำลังฟังเรื่องของผลของปาณาติบาต ขณะนั้นรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาหรือเปล่า รู้ลักษณะของเสียงที่ปรากฏทางหู รู้สภาพที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนั้นหรือเปล่าว่า ขณะนั้นไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าที่กำลังได้ยินเสียงนั้นเป็นผลของอดีตกรรมอะไร เพราะอดีตกรรมในอดีตเป็นปัจจัยให้เกิดการได้ยินเสียงนั้น ส่วนการที่จะรู้เรื่องผลของปาณาติบาต นั่นไม่ใช่ในขณะที่ได้ยินเสียง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๙๘๑ – ๙๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564