แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 985


    ครั้งที่ ๙๘๕

    สาระสำคัญ

    สนทนาความสนใจธรรมของคุณนีน่า วัน กอร์ คอม  ปัญญาไม่ทำให้เกิดปัญหา  วิบากเกิดขึ้นเพราะกรรมในอดีตเป็นปัจจัย


    . โลภะ โทสะ โมหะ เกิดบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ทำอย่างไรสติและปัญญาจึงจะให้เกิดบ่อยๆ ส่วนโลภะ โทสะ โมหะ ให้เกิดน้อยๆ

    นีน่า ศึกษาธรรม พิจารณาธรรม และมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้กิเลสลดน้อยลงทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง สวัสดีครับ ผมเพิ่งมีโอกาสรู้จักคุณนีน่าวันนี้ และยังไม่เคยอ่านหนังสือที่ท่านเขียนไว้ ทำให้ผมล้าหลังไปหน่อย สำหรับธรรมที่คุณนีน่าได้เขียน เมื่อครู่นี้ได้พบก็ไม่ทราบว่าท่านเป็นทูต นึกว่าเป็นแขกมาร่วมฟัง ต้องขออภัยด้วยที่ท่านยิ้มผมก็ยิ้มด้วย แต่ไม่ได้ไหว้สวัสดีท่าน

    นีน่า เป็นเพื่อนธรรม

    . ผมมีความยินดีที่มีโอกาสได้พบคุณนีน่า และได้ฟังธรรม รู้สึกว่า คุณนีน่ามีความเข้าใจธรรมอย่างดี ผมมีปัญหาว่า สำหรับผู้ที่ศึกษาศาสนาพุทธจะมีอุปสรรคในการอยู่ร่วมกันกับครอบครัวหรือไม่ ตามความรู้สึกของคุณนีน่า การสนใจในศาสนาพุทธและมีการปฏิบัติจริงจังอย่างนี้ จะเป็นอุปสรรคต่อการครองเรือนระหว่างสามีภรรยาไหม นี่เป็นปัญหาข้อแรกที่ผมอยากจะฟังความคิดเห็นของคุณนีน่า

    นีน่า ชีวิตของฆราวาสไม่เหมือนชีวิตของพระ พระผู้มีพระภาคทรงสอนทุกคนให้เข้าใจธรรมถูกต้อง เจริญความเข้าใจให้ถูกต้อง ให้รู้ลักษณะของนามและรูป ไม่ว่าในชีวิตธรรมดาของพระ หรือชีวิตธรรมดาของฆราวาส สามีภรรยา ชีวิตไม่ต้องเปลี่ยน ชีวิตฆราวาสไม่เหมือนชีวิตพระ แต่ทุกคนเจริญสติปัญญาได้ ไม่ต้องบังคับหรือเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะมีนามและรูปปรากฏแล้ว รู้ลักษณะได้

    . ถ้าทั้งสามีและภรรยาเป็นผู้ที่สนใจในการปฏิบัติธรรมด้วยกัน ปัญหานี้จะน้อย หรือเกือบจะไม่มี แต่ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ที่สนใจในการปฏิบัติธรรม ผมว่าปัญหาจะมีมาก เพราะว่าบางโอกาสภรรยาอาจจะนึกว่า สามีนี้วางเฉยไม่ค่อยจะคิดในเรื่องครอบครัว ดังนี้ เป็นต้น ผมจึงคิดว่า น่าจะมีปัญหาอยู่

    นีน่า ชีวิตของทุกคนมีปัญหา แต่ถ้าสนใจในธรรม ช่วยมาก ถ้ามีปัญหา ให้มีกุศลจิตมากกว่า ถ้าเจริญสติเดี๋ยวนี้ เป็นห่วงเสมอ เป็นห่วงเรื่องอนาคต คิดถึงอนาคต หรืออดีต แต่ถ้าเจริญปัญญาในสิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้เท่านั้นเอง ช่วยมากทีเดียวให้มีปัญหาน้อยลง เป็นห่วงน้อยลง เป็นห่วงเสมอ ธรรมดาๆ มีลักษณะด้วย เวลาปัญญารู้ลักษณะความเป็นห่วง เป็นสิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ เวลานี้ไม่มีปัญหา แต่ต่อไปอาจจะมีปัญหา เพราะว่ายังมีกิเลส กิเลสจะน้อยลงถ้าเจริญปัญญา

    . สรุปว่า ทั้งสามีและภรรยาควรสนใจในการปฏิบัติธรรมด้วยกัน

    นีน่า แล้วแต่เหตุปัจจัย บางทีสนใจคนเดียว คนอื่นไม่สนใจ แต่อาจจะช่วยคนอื่นได้โดยไม่บังคับ พูดเรื่องปัญหาในชีวิต และธรรมช่วย แต่ไม่ต้องบังคับ เพราะว่าบังคับไม่ได้เลย แล้วแต่เหตุปัจจัย

    . อีกปัญหาหนึ่ง ในขั้นต้นที่คุณนีน่าจะเริ่มมีความสนใจในการศึกษาพระพุทธศาสนานั้น เป็นความสนใจที่เกิดขึ้นเอง หรือมีผู้แนะนำ

    นีน่า มีเหตุปัจจัยเสมอๆ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้ามีความเข้าใจมากขึ้น แม้แต่ที่พบกันเดี๋ยวนี้ มีเหตุปัจจัยในอดีต พบกับคุณสุจินต์ มีเหตุปัจจัยที่พบ ต้องมีเหตุปัจจัยเสมอ แต่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องมีเหตุปัจจัย อาจจะเป็นในชาติก่อน . สรุปว่า เป็นเหตุปัจจัยตั้งแต่ในชาติก่อน อีกปัญหาหนึ่ง ผมขออภัย อย่าหาว่าผมล้วงชีวิตเบื้องหลังของท่านเลย แต่เดิมนั้นท่านนับถือศาสนาอื่นหรือไม่

    นีน่า นับถือศาสนาคริสต์ ก่อนที่จะมาประเทศไทย

    . และขณะที่จะมีการเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องต่อสู้กับความรู้สึกมากไหม มี conflict มากไหมที่เปลี่ยนแปลงมานับถือศาสนาพุทธ

    นีน่า เกิดขึ้นโดยมีเหตุปัจจัยที่สนใจในพุทธศาสนา

    . ในความรู้สึกของคุณนีน่าเองเห็นว่า พระพุทธศาสนามีความเหมาะสมมากกว่าไหม

    นีน่า ดิฉันมีความรู้สึกเสมอ เปรียบเทียบไม่ได้เลย คริสต์ศาสนาหรือ พุทธศาสนาเป็นชื่อ ความสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจลักษณะของการเห็นเดี๋ยวนี้ การได้ยินเดี๋ยวนี้ นี่เป็นความสนใจของดิฉัน ไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องศาสนาเลย ไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบ ที่ปรากฏเดี๋ยวนี้เป็นความสนใจของดิฉัน

    . ท่านทูตเองเป็นอย่างไร

    นีน่า ต้องให้ตอบเอง

    ท่านทูต ความสนใจของผมในพระพุทธศาสนา คุณนีน่ามาเมืองไทย ได้เรียนเกี่ยวกับพุทธศาสนา directly concern the reality of everyday life I think it’s the most important thing.

    นีน่า แต่ก่อนนับถือคริสต์ศาสนา มาเมืองไทยและรู้เรื่องพุทธศาสนา ไม่สนใจในอย่างอื่น เพราะเข้าใจว่า พุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันนี่เอง

    . ถ้าอย่างนั้น เราก็มีความคิดเห็นเป็นแนวเดียวกัน ทางพวกผมที่เป็นประชาชนชาวไทยมีความยินดีอย่างมาก

    ผู้ฟัง ดิฉันก็ขออนุโมทนา เพราะว่าพระพุทธศาสนานั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นของประเทศไทยเรา ก็หลายประเทศ หลายชาติ หลายภาษา เรียกว่าเป็นของที่อนุเคราะห์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง เป็นโชค เป็นลาภอันประเสริฐ

    นีน่า ดิฉันพูดภาษาไทยมานานแล้ว จะขอให้อาจารย์พูด

    ผู้ฟัง ผมอยากจะสรรเสริญว่า ผมเกิดมาในเมืองไทย ลูบคลำแต่ชายผ้าเหลือง แต่ทั้งท่านทูตและผู้รจนาหนังสือเล่มนั้นได้เข้าไปถึงใจกลางของพระธรรม ผมขอแสดงความยินดี และหวังว่าเพื่อนชาวตะวันตกทั้งหลายคงจะรู้อย่างท่านทูตและคุณนีน่า

    สุ. ขอขอบคุณและอนุโมทนาคุณนีน่า เข้าใจว่าท่านผู้ฟังและผู้ที่อ่านหนังสือแล้ว อาจจะมีเรื่องถามคุณนีน่าอีก แต่เวลามีจำกัด และก็ไม่ทราบว่า เมื่อไรจะได้พบคุณนีน่าอีก ซึ่งท่านผู้ฟังวันนี้ก็คงไม่ทราบใช่ไหมว่า อะไรจะเกิดขึ้น ไม่มีใครรู้ ทุกอย่างที่จะเกิดแต่ละอาทิตย์ แต่ละขณะ แต่ละวัน เพราะฉะนั้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ

    สำหรับเรื่องของวิบาก ทุกขณะที่ทุกท่านเห็นให้ทราบว่า ขณะที่เห็นเป็นวิบาก ของจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เวลาที่ได้ยินก็เหมือนกัน ขณะใดที่ได้ยิน อาจจะหลงลืมไปแล้ว ก็ไม่ทราบว่า ขณะนั้นเป็นวิบาก แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น รู้ทันทีว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยจึงเกิดขึ้น อย่างการได้ยินเสียง ขณะนี้อาจจะไม่มีเสียงปรากฏ แต่ขณะต่อไปจะไม่มีใครทราบล่วงหน้าเลยว่า สภาพธรรมที่ได้ยินนั้นจะเกิดขึ้นได้ยินเสียงอะไร นี่คือวิบากเกิดขึ้นเพราะกรรมในอดีตเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แต่เพียงรู้คร่าวๆ ว่า ขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะนั้นเป็นวิบาก แต่ว่าสามารถจะรู้ชัดในลักษณะของวิบากที่ปรากฏ โดยสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะหนึ่งขณะใดก็ได้

    เวลาที่ได้ยินเสียงไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่า ใครจะได้ยินเสียงอะไร เนื่องจากกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดการได้ยินเสียงนั้น แต่เวลาที่ได้ยินเสียงแล้ว ทุกท่านคิดเหมือนกันหรือเปล่า บางท่านเป็นกุศล บางท่านเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น หลังจากที่ได้ยินแล้ว กุศลและอกุศลไม่ใช่วิบาก แต่ทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ ลิ้มรส ทางกายที่กระทบโผฏฐัพพะ เป็นวิบาก แล้วแต่กรรมจริงๆ เพราะไม่รู้ว่าจะเห็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ได้ยินเสียงที่ดีหรือไม่ดี เลือกไม่ได้ ทั้งๆ ที่ปรารถนาจะได้รับอารมณ์ที่ดีทั้งนั้น แต่เวลาที่วิบากดับไปแล้ว ก็อาจจะเป็นกุศล หรืออกุศล ไม่ใช่วิบาก

    ถ้าท่านจะดูชีวิตของบุคคลอื่น อาจจะเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ตามกรรม และเป็นที่กล่าวถึงว่า ทำไมถึงช่างวิจิตรต่างๆ กันอย่างนั้น ตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์บ้าง หรือว่าเรื่องของญาติมิตรทั้งหลายบ้าง นั่นก็พอที่จะเห็นได้ว่า แต่ละชีวิตย่อมเป็นไปตามกรรม แต่ว่านั่นเป็นเรื่อง ซึ่งเวลาที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นจริงๆ จะรู้ว่า ในขณะใดเป็นวิบาก ในขณะใดไม่ใช่วิบาก สำหรับตัวท่าน เพราะถ้าเป็นเรื่องของคนอื่น นั่นเป็นเรื่องของวิบาก แต่ไม่ใช่สติที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมซึ่งเป็นวิบากที่ปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    ทุกท่านอ่านหนังสือพิมพ์ ในยุคนี้ สมัยนี้ ทุกท่านก็ดูละคร ดูหนัง แล้วแต่ว่าจะที่โรงหนัง หรือที่บ้าน เป็นละครโทรทัศน์ หนังโทรทัศน์ก็ตามแต่ สติเคยระลึกถึงวิบากขณะที่กำลังดูละครบ้างไหม เป็นเรื่องใช่ไหม เหมือนอย่างกับเวลาที่มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ก็คิดว่า วิบากของแต่ละบุคคลช่างวิจิตรต่างๆ ไปตามกรรม แต่วิบากแท้ๆ ในขณะที่ตากำลังเห็น ขณะที่อ่านหนังสือพิมพ์ หรือว่ากำลังดูละครโทรทัศน์ นั่นแหละเป็นวิบากแท้ๆ ที่สติจะต้องระลึกรู้

    ท่านผู้ฟังเคยรอดพ้นจากอันตรายอะไรบ้างไหม ขณะนั้นเป็นเพราะกรรมของท่านเองทำให้ท่านรอดพ้นจากภัยอันตรายเหล่านั้น หรือว่าเป็นเพราะวัตถุสิ่งอื่น บุคคลอื่น นี่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเพื่อที่จะได้เข้าใจในกัมมัสสกตาญาณว่า ทุกท่านมีกรรมเป็นของตนเอง เพราะฉะนั้น วิบากทั้งหลายเกิดเพราะกรรม เป็นผลของกรรมของท่านเองที่ได้กระทำแล้ว แม้แต่การที่จะรอดพ้นจากอันตรายต่างๆ หรือการที่จะได้รับอันตรายต่างๆ ก็ต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คือ กรรมของตนเอง เป็นผู้ที่เข้าใจชัดเจนในเรื่องของวิบากและในเรื่องกรรมของตน

    ผู้ฟัง ดิฉันขอยกตัวอย่าง เช่น อ่านข่าวหนังสือพิมพ์เรื่องผู้หญิงถูกข่มขืน หรือว่าถูกฆ่า เราก็จะเดือดร้อนขึ้นมาทันที ทั้งๆ ที่บุคคลนั้นก็ไม่ใช่ญาติพี่น้องของเรา เพราะว่าเราเกลียดสิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม แต่เมื่อปฏิบัติธรรมแล้วก็ค่อยๆ เชื่อว่า ทุกคนมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัยของตัวโดยเฉพาะจริงๆ แต่เราผู้ไม่รู้อะไร ก็วิ่งเข้าไปรับเอาอกุศลของคนอื่นมาเป็นอกุศลของตน โดยความเป็นตัวตนที่ไม่รู้จักว่า ทุกคนได้สะสมเหตุปัจจัยของตนมาอย่างนั้นๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๙๘๑ – ๙๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564