แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 977


    ครั้งที่ ๙๗๗

    สาระสำคัญ

    อกุศลธรรมทั้งหลายเป็น กลิ่นดิบ    


    พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ เมื่อทอดพระเนตรเห็นดาบสนั้นแล้ว ก็ได้ตรัสปฏิสันถารโดยนัยเดียวกับพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ติสสดาบสนั้นได้ทูล พระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระกัสสปะผู้เจริญ พระองค์เสวยกลิ่นดิบหรือไม่

    คราวนี้พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ ไม่ได้ตรัสเช่นเดียวกับพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดม แต่พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะตรัสว่า

    พราหมณ์ เราหาได้เสวยกลิ่นดิบไม่

    ดาบสทูลว่า

    ข้าแต่พระกัสสปะผู้เจริญ สาธุ สาธุ พระองค์เมื่อไม่เสวยซากศพของสัตว์อื่น ได้ทรงกระทำกรรมดีแล้ว ข้อนั้นสมควรแล้วแก่ชาติ สกุล และโคตรของพระกัสสปะ ผู้เจริญ

    พอใจ เข้าใจว่า มีข้อประพฤติปฏิบัติเช่นเดียวกับการประพฤติปฏิบัติของตน

    ต่อแต่นั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงดำริว่า เราพูดว่าเราไม่บริโภคกลิ่นดิบ ดังนี้ หมายถึง กลิ่นดิบคือกิเลสทั้งหลาย แต่พราหมณ์เจาะจงเอาปลาและเนื้อ

    พระผู้มีพระภาคจึงทรงพระดำริที่จะไม่เข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น แต่จะบริโภคบิณฑบาตที่เขานำมาจากพระราชวังของพระเจ้ากิกิ ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินพาราณสีในสมัยนั้น และจะทรงเทศนาให้ดาบสนั้นเข้าใจความหมายของ กลิ่นดิบ

    ในวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงกระทำบริกรรมสรีระแต่เช้าตรู่ เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี ซึ่งเมื่อพระภิกษุทั้งหลายเห็นพระคันธกุฎีปิด ก็รู้ว่าวันนั้นพระผู้มีพระภาคไม่ประสงค์จะเสด็จเข้าไปบิณฑบาตพร้อมกับภิกษุทั้งหลาย จึงได้กระทำประทักษิณพระคันธกุฎี และเข้าไปเพื่อบิณฑบาต

    เมื่อภิกษุเหล่านั้นออกไปเพื่อบิณฑบาตแล้ว พระผู้มีพระภาคก็เสด็จออกจากพระคันธกุฎี แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ฝ่ายติสสดาบสก็ต้มใบไม้ แล้วเคี้ยวกินอยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาค

    เมื่อพระเจ้ากิกิเห็นภิกษุทั้งหลายเที่ยวบิณฑบาตก็ตรัสถามว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จไปไปไหน เมื่อทราบว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหาร ก็ได้จัดส่งโภชนะที่ถึงพร้อมด้วยกับและรสต่างๆ สมบูรณ์ด้วยเนื้อชนิดต่างๆ เพื่อถวายแด่ พระผู้มีพระภาค อำมาตย์ทั้งหลายก็ได้นำภัตตาหารเหล่านั้นเข้าไปสู่พระวิหาร แล้วได้ถวายน้ำ แล้วก็อังคาสโดยถวายข้าวยาคู ซึ่งถึงพร้อมด้วยเนื้อนานาชนิดให้ทรงบริโภคก่อน ดาบสนั้นก็เห็น และยืนคิดว่า พระผู้มีพระภาคจะเสวยหรือไม่เสวยเมื่ออำมาตย์นั้นถวายข้าวยาคูซึ่งปรุงด้วยเนื้อชนิดต่างๆ

    พระผู้มีพระภาคเมื่อดาบสดูอยู่นั้นแล จึงทรงดื่มซึ่งข้าวยาคู ทรงใส่ชิ้นเนื้อลงไปในพระโอษฐ์ ดาบสเห็นแล้วก็โกรธ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงดื่มข้าวยาคูเสร็จแล้ว อำมาตย์ทั้งหลายก็ได้ถวายโภชนะที่ประกอบด้วยรสต่างๆ ดาบสก็เห็นพระผู้มีพระภาคทรงรับแม้โภชนะนั้นเสวยอยู่ ก็โกรธยิ่งขึ้น

    เมื่อครู่นี้ก็เสวยข้าวยาคูหมดแล้ว และก็ยังเสวยอาหาร โภชนะที่ประกอบด้วยรสต่างๆ

    ครั้งนั้นติสสดาบสได้เข้าไปหาพระผู้มีพระภาค ผู้ทำภัตตกิจเสร็จแล้ว และได้กราบทูลว่า

    ข้าแต่ท่านกัสสปะผู้เจริญ ท่านตรัสคำเท็จ ข้อนั้นไม่ใช่กิจของบัณฑิต ด้วยว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงติเตียนมุสาวาทไว้แล้ว แม้พวกฤๅษีเหล่านั้นเหล่าใดยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยมูลผลาผลในป่า อยู่ ณ เชิงแห่งเขา ฤๅษีแม้เหล่านั้นก็ไม่ยอมพูดคำเท็จ

    ต่อจากนั้นก็ได้พรรณนาคุณของฤๅษีทั้งหลาย

    และติสสดาบสก็ได้กล่าวติเตียนต่อพระผู้มีพระภาค โดยสรรเสริญฤๅษีทั้งหลาย ฤๅษีทั้งหลายไม่ยึดถือของของตน บริโภคอยู่ซึ่งข้าวฟ่าง ย่อมไม่พูดคำเหลาะแหละเพราะปรารถนากาม ซึ่งหมายความถึง รสอร่อยต่างๆ

    แต่พระผู้มีพระภาคทรงเสวยกลิ่นดิบ และยังตรัสว่า พราหมณ์ เราหาบริโภคกลิ่นดิบไม่ ชื่อว่าตรัสคำเหลาะแหละ ดังนี้

    และก็ได้กล่าวคำเปรียบเทียบถึงเนื้อนกซึ่งมีรสอร่อย วิธีปรุงต่างๆ เพราะในวันนั้น พระเจ้ากิกิได้ถวายอาหารซึ่งปรุงด้วยเนื้อนกแด่พระผู้มีพระภาค

    แต่ดาบสนั้น เมื่อจะกล่าวติเตียนพระผู้มีพระภาค ก็ได้แหงนมองดูพระวรกายของพระผู้มีพระภาค ในเบื้องล่างตั้งแต่ฝ่าพระบาท จนถึงปลายพระเกศาในเบื้องบน

    มีจุดประสงค์ที่จะดูมหาปุริสลักษณะของพระผู้มีพระภาค

    เมื่อได้เห็นความสมบูรณ์แห่งพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ และ อนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ รวมทั้งได้เห็นกำแพงแห่งพระรัศมีอันขยายออกไปวาหนึ่ง ก็คิดได้ว่า ผู้ที่มีกายประดับด้วยมหาปุริสลักษณะเห็นปานนี้ ไม่สมควรที่จะพูดเท็จ และยังมีพระอุณาโลมซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างคิ้ว เป็นขนอ่อนนุ่มสีขาวคล้ายนุ่น และยังขุมขนทั้งหลายเป็นอเนกที่เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค ซึ่งเป็นผลอันไหลออกแห่ง สัจวาจาในภพที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ก็รู้ว่า บุคคลเช่นนี้จะพูดเท็จในบัดนี้ไม่ได้ กลิ่นดิบของพระผู้มีพระภาคจะต้องเป็นอย่างอื่น ที่พระองค์ตรัสคำนั้นหมายความถึงกลิ่นดิบอะไรที่ว่า พราหมณ์ เราหาได้บริโภคกลิ่นดิบไม่ ดังนี้

    เมื่อติสสดาบสคิดได้ ก็ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงเรื่องกลิ่นดิบว่า กลิ่นดิบได้แก่อะไร ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงว่า อกุศลธรรมทั้งหลายเป็น กลิ่นดิบ ชื่อว่ากลิ่นดิบ คือ เป็นกลิ่นที่มีพิษ เป็นกลิ่นดุจซากศพ

    อกุศลมีกลิ่น ไม่ทราบว่า ทุกท่านได้กลิ่นของอกุศลที่มีอยู่ที่ตัวบ้างหรือยัง ไม่ใช่กลิ่นปลา กลิ่นเนื้อ แต่ว่าเป็นกลิ่นของอกุศล เพราะชื่อว่ากลิ่นดิบ คือ เป็นกลิ่นที่ มีพิษ เป็นกลิ่นดุจซากศพ

    เพราะเหตุไร

    ตอบว่า

    เพราะไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะคลุกเคล้าด้วยของไม่สะอาดคือกิเลส เพราะเป็นของที่สัปบุรุษทั้งหลายเกลียด และเพราะนำมาซึ่งความเป็นกลิ่นที่เหม็นอย่างยิ่ง

    ในขณะที่อกุศลเกิดขึ้นกับบุคคลใด ชื่อว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีกลิ่นเหม็นอย่างยิ่ง ยิ่งกว่ากลิ่นดิบทั้งหลายเหล่านั้น

    เวลาที่ได้กลิ่นปลา กลิ่นเนื้อ เป็นกลิ่นดิบ เป็นกลิ่นที่ไม่สะอาด แต่กลิ่นของอกุศลที่เกิดกับบุคคลใด ไม่สะอาดยิ่งกว่ากลิ่นที่กระทบจมูก ที่เป็นกลิ่นภายนอก

    ข้อความต่อไปมีว่า

    แม้ร่างที่ตายแล้วของคนที่หมดกิเลสทั้งหลาย ก็ยังไม่จัดว่ามีกลิ่นเหม็น เพราะฉะนั้น กลิ่นนี้ คือ การฆ่าสัตว์ เป็นต้น จึงเป็นกลิ่นดิบ ส่วนเนื้อและโภชนะซึ่งผู้บริโภคไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง และไม่ได้รังเกียจว่า เขาฆ่าเพื่อตน จัดเป็นสิ่งหาโทษมิได้ เพราะฉะนั้น เนื้อและโภชนะจึงไม่ใช่กลิ่นดิบ

    ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงกลิ่นดิบทั้งหลาย คือ อกุศลทั้งหลายเมื่อติสสพราหมณ์ได้ฟังพระเทศนาที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ก็เป็นผู้ที่มีใจนอบน้อม ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคผู้ไม่มีกลิ่นดิบ คือ เป็นผู้ที่หมดจดจากกิเลส เป็นผู้ที่บรรเทาความทุกข์ทั้งปวงเสียได้ และได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ ก็ได้ตรัสให้ติสสดาบสนั้นเป็นภิกษุมาเถิด

    เมื่อติสสดาบสได้บำเพ็ญเพียรเพียง ๒ – ๓ วันเท่านั้น ก็ได้บรรลุสาวกบารมีญาณ ได้เป็นอัครสาวกชื่อว่าติสสะ ในสมัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ในครั้งนั้นจึงมีอัครสาวก ๒ ท่าน คือ ติสสะ ท่านหนึ่ง กับภารทวาชะ ท่านหนึ่ง

    . อย่างเช่น ปลาดุก เขาจะมีการสับหรือหั่นไว้ขาย ถ้าเราไปซื้อ จะถือว่ามีส่วนในการทำบาปนั้นหรือไม่ ไม่ได้สั่ง หรือไม่ได้ให้คนอื่นไปสั่งอะไร

    สุ. คงจำได้เรื่องสีหเสนาบดี เมื่อท่านได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ท่านก็ได้ให้พนาย คือ คนรับใช้ของท่าน ไปซื้อเนื้อและปลาที่ฆ่าแล้วมาปรุงเป็นอาหารถวายพระผู้มีพระภาคและสาวกของพระองค์ ไม่ใช่ฆ่าเอง

    . แสดงว่า เราบริโภคเนื้อที่เขาฆ่าไว้แล้ว ไม่บาป

    สุ. ไม่มีเจตนาฆ่า

    . อย่างคนที่เขาทำ จะมีเจตนาเพื่อเราหรือไม่ ไม่ทราบ ผู้ขายอาจจะเตรียมไว้ให้

    สุ. แสดงไว้ชัดเจนว่า ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจ เพราะรู้ว่า ไม่ได้เจาะจงเพื่อตน

    . แต่ถ้าเห็น ก็ต้องบาป

    สุ. ไม่สมควรที่จะให้เขาฆ่าเพื่อตน

    . ที่เขาฆ่าอยู่นั้น เขาไม่ได้เจาะจงว่าเพื่อเรา

    สุ. อย่างไรเขาก็ฆ่า

    . เขาทำตามหน้าที่ของคนขาย แต่เราเดินผ่านไป เห็นเขาทำและก็วางขาย

    สุ. อย่างไรเขาก็ฆ่า จะทำอย่างไรให้เขาไม่ฆ่า นอกจากให้เขาเข้าใจเรื่องกลิ่นดิบ

    . ดิฉันคิดถึงเรื่องชาดกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องโจรโปลิสาท ที่ปลาตัวหนึ่งมาติดหาดอยู่ ชาวเมืองทั้งเมืองมาเฉือนไปกินคนละชิ้น สมัยนั้นพระพุทธเจ้าเกิดเป็น พระเจ้าโสมทัต ที่ว่า เขาฆ่าไว้แล้วไม่บาป แต่ทำไมพวกนั้นต้องมาใช้กรรม โดยถูกโจรโปลิสาทฆ่ากิน แม้แต่นักโทษในคุกก็ยังเอามาฆ่า ในชาดก

    สุ. แสดงว่าเป็นผลของกรรมอะไร

    . ของกรรมที่กินเนื้อปลา

    สุ. แสดงไว้ว่า เป็นผลของการกินเนื้อปลาหรือ

    . เป็นเทศน์ชาดก ดิฉันเคยฟังตั้งแต่ยังเด็กๆ ดิฉันอ้างไม่ได้ แต่ฟังมาอย่างนั้น

    สุ. ถ้าเฉือนเนื้อปลาเป็นๆ ทำให้ปลานั้นตาย ต้องบาปแน่ แต่ถ้าปลานั้นตายแล้ว เฉือนเนื้อปลาที่ตายแล้วกินก็ไม่บาป เพราะทรงแสดงชัดถึงกรรมว่า ได้แก่เจตนา

    ดิฉันเป็นคนที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ แต่สาเหตุที่ไม่รับประทานไม่ใช่ว่ากลัวบาป แต่เพราะไม่ชอบของคาว อาจจะไม่ชอบมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะร่างกายเราไม่ต้องการ พูดถึงเรื่องกิเลสของคนที่ไม่ทานเนื้อสัตว์นั้นมีแน่ ที่ว่าเป็นกลิ่นดิบนั้น ดิฉันสนับสนุน ขณะที่เราปรุงอาหารมังสวิรัติ ทั้งๆ ที่ใครๆ ว่าไม่อร่อย แต่ขณะที่เราปรุงไป เราจะมีความอยากเกิดขึ้น รู้สึกว่าน้ำลายสอ ก็คิดว่า ขนาดเราทานอาหารมังสวิรัติที่ใครๆ เขาว่าไม่อร่อย น้ำลายก็ยังสออย่างนี้ แสดงว่า กลิ่นดิบมีแน่

    สุ. ทั้งๆ ที่เป็นอาหารผัก ก็ยังมี

    . ยังมีกิเลส ดิฉันสนับสนุนเรื่องนี้ กลิ่นดิบนี้มีแน่ๆ สำหรับคนที่รับประทานมังสวิรัติ อย่าคิดว่าจะหมดเลย

    สุ. ท่านผู้ฟังคงจะมีสุขภาพที่ดีมาก แข็งแรงด้วยการบริโภคอาหารผัก ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจผิดว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้จะต้องไม่บริโภคเนื้อสัตว์ นั่นก็แล้วแต่อัธยาศัย เพราะสำหรับบางท่าน ร่างกายเหมาะสมกับการบริโภคอาหารผักมากกว่าอาหารอื่น ซึ่งหลายท่านก็ชอบอาหารประเภทผัก แล้วแต่ว่าท่านจะบริโภคเฉพาะอาหารผัก หรือว่าถึงแม้ว่าจะมีอาหารอื่นบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ได้เข้าใจผิดว่า ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมต้องบริโภคอาหารผัก ไม่บริโภคปลาและเนื้อ

    แต่ต้องคิดถึงเจ้าของบ้าน ถ้าเป็นแขก เพราะว่าส่วนใหญ่ รู้สึกว่าเจ้าของบ้านจะลำบาก ถ้าเชิญแขกที่บางท่านบริโภคเนื้อสัตว์ บางท่านไม่บริโภคเนื้อสัตว์ แต่ ถ้าเป็นผู้ที่มีความเป็นอยู่ง่าย ถ้าท่านไม่ชอบชิ้นเนื้อ ท่านก็หลีกเลี่ยงไม่รับประทาน หรือถ้ามีแต่ชิ้นเนื้อไม่มีอาหารอื่นเลย ท่านก็ยังบริโภคได้ เพราะไม่ใช่กลิ่นดิบจริงๆ กลิ่นดิบจริงๆ ต้องเป็นความยินดียินร้าย ยินดีที่จะบริโภคผัก ยินร้ายที่จะบริโภคเนื้อ ถ้ายังเป็นอย่างนั้น ก็ไม่หมดกิเลส

    . ผมเคยได้ยินมาหลายคนแล้วที่ไม่ถูกกับปลาและเนื้อ ไม่ได้เจตนาที่จะวิรัติ และไม่มีความเห็นผิดว่า การที่จะบรรลุอริยสัจธรรมนี้จะต้องเว้น แต่ท่านกินไม่ได้จริงๆ เป็นธรรมชาติของเขาอย่างนั้น ทำให้ผมนึกถึงอรรถกถาที่ท่านกล่าวว่า พระอริยบุคคล ถ้าใครเอาเหล้าผสมกับน้ำ พระอริยบุคคลดื่มเข้าไป น้ำจะเข้าไป เหล้าจะอยู่ที่ก้นแก้ว นี่เป็นธรรมดาของพระอริยบุคคล และนกกระเรียน เอานมผสมกับน้ำให้นกกระเรียน เวลานกกระเรียนกิน นมจะเข้าไป น้ำอยู่ที่ก้นแก้ว เป็นธรรมชาติของนกกระเรียนอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ธาตุต่างๆ บางครั้งดูจะแปลกๆ เพราะธาตุบางอย่างเข้ากันได้ บางอย่างเข้ากันไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่กินเนื้อและปลาไม่ได้ คิดว่าน่าจะมีธาตุอะไรที่แปลกกว่าคนธรรมดากระมัง

    สุ. เป็นไปได้ และตราบใดที่ไม่เห็นผิด ก็ไม่เป็นไร ถ้าท่านผู้ฟังจะบริโภคหรือไม่บริโภคเนื้อ เพราะท่านรู้หนทางว่า กลิ่นดิบจริงๆ ไม่ใช่กลิ่นเนื้อหรือกลิ่นปลา แต่ว่าเป็นกลิ่นของอกุศล เพราะฉะนั้น ก็พร้อมที่จะรู้จักกลิ่นของตัวเอง น่ารู้ เพราะว่าถ้าไม่รู้ ไม่มีทางที่จะดับกลิ่นดิบที่ตัว

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมดโดยละเอียด แม้ในเรื่องลักษณะของจิต ประการที่ ๓ ที่ว่า ที่ชื่อว่าจิต เพราะกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก สั้นๆ ก็จริง แต่ว่าขณะเห็น สติระลึกได้ นั่นคือการที่ได้ฟังพระธรรม และไม่หลงลืมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม

    สำคัญที่สุด คือ ฟัง นอกจากเพื่อให้เข้าใจแล้ว ยังเพื่อประพฤติปฏิบัติตามด้วย จึงจะชื่อว่าสาวก เพราะถ้าเป็นเดียรถีย์ ผู้ที่นับถือศาสนาอื่น หรือว่าลัทธิอื่น มีโอกาสได้ฟัง มีโอกาสได้พิจารณา แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๙๗๑ – ๙๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564