แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 980


    ครั้งที่ ๙๘๐

    สาระสำคัญ

    กรรมเป็นอจินไตยเป็นเรื่องที่รู้ได้ยาก หนทางที่จะดับสักกายทิฏฐิ 


    เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ยากจะรู้ได้ และก็เป็นอจินไตย คือ เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิด เพราะถ้าใครคิดจะไม่พ้นจากความเป็นบ้าและความเดือดร้อน เพราะคิดถึงสิ่งที่ไม่อาจจะรู้ได้ แต่ว่าวิบากมีปรากฏ

    จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพที่ ๑ สราคจิต คือ จิตที่ประกอบด้วยราคะ หรือโลภะ ความยินดี ความพอใจ ซึ่งมีเป็นปกติธรรมดาโดยที่ท่านผู้ฟังอาจจะไม่เคยสังเกตลักษณะของโลภะ ความยินดี ความพอใจเลย แต่ด้วยเหตุใดสราคจิตจึงเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพที่ ๑ ก็เพราะเกิดขึ้นเป็นประจำ เป็นปกติ เมื่อมีการเห็นอาจจะไม่รู้เลยว่า เวลาที่วิบากจิตซึ่งเห็นดับไปแล้ว โลภมูลจิตเป็นสภาพที่ยินดีพอใจในสิ่งที่เห็นก็เกิดสืบต่ออย่างรวดเร็วอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลสได้ ปัญญาจะต้องสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    เมื่อมีการเห็นและก็มีโลภะ มีการได้ยินและก็มีโลภะ มีการได้กลิ่นและก็มีโลภะ มีการลิ้มรสและก็มีโลภะ มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสและก็มีโลภะ เป็นประจำ แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมที่เกิดปรากฏเป็นปกติมีโลภมูลจิตเป็นประจำ ถ้าสติปัฏฐานของใครจะระลึกรู้ได้ หรือมิฉะนั้นก็เป็นวีตราคจิต ซึ่งเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพที่ ๒ คือ จิตที่ปราศจากราคะ ได้แก่ กุศลจิต หรืออัพยากตจิตซึ่งเป็นวิบากจิตและกิริยาจิต แต่กิริยาจิตไม่ปรากฏ ส่วนวิบากจิตมีปรากฏ คือ ในขณะที่เห็นเป็นวิบากจิต ในขณะที่ได้ยินเป็นวิบากจิต ในขณะที่ได้กลิ่นเป็นวิบากจิต ในขณะที่ลิ้มรสเป็นวิบากจิต ในขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายเป็นวิบากจิต

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีวิบากจิตสลับกับกุศลจิตหรืออกุศลจิต ถ้าขณะใดที่เป็นอกุศลจิต เป็นโลภมูลจิต ก็เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพแรก เป็นสราคจิต เป็นจิตที่พอใจอยู่ตลอดเวลาในการเห็น ในการได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และถ้าขณะใดที่มีการระลึกได้ก็รู้ว่า เห็นไม่ใช่ความยินดีพอใจ ขณะที่ได้ยินเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสภาพรู้เสียง ไม่ใช่ความยินดีพอใจในเสียง ในขณะนั้นลักษณะของวิบากจิตที่เป็นผลในปัจจุบันเกิดขึ้น เพราะเหตุในอดีตเป็นปัจจัย

    การที่จะรู้ลักษณะของวิบากจิต อย่ารู้หยาบๆ เพียงแค่เวลาที่มีอุบัติเหตุ มีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้น มีการได้ลาภ หรือว่าเสื่อมลาภ หรือว่าเป็นสุข เป็นทุกข์ ทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้น แต่ต้องรู้ว่า วิบากจิตทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นรับผลของกรรม ทางตา คือ เห็น ทุกขณะที่เห็นเป็นวิบาก ทุกขณะที่ได้ยินเป็นวิบาก ทุกขณะที่ได้กลิ่นเป็นวิบาก ทุกขณะที่ลิ้มรสเป็นวิบาก ทุกขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายเป็นวิบาก

    วิบากจิตของท่านผู้ฟังมีคนอื่นทำให้หรือเปล่า พร้อมที่จะโทษคนอื่นหรือเปล่าว่า บุคคลนั้นบุคคลนี้กระทำให้ หรือว่ารู้ชัดตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ด้วยกรรมของตนเองที่ได้กระทำแล้วในอดีตเป็นปัจจัย

    ตัวอย่างในพระไตรปิฎกก็มีเรื่องของบุคคลที่ได้รับวิบากกรรมต่างๆ ในยุคนั้นสมัยนั้น และสำหรับสมัยนี้ก็มีตัวอย่างของเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แต่ละบุคคลย่อมได้รับวิบาก คือ ผลของอดีตกรรม โดยไม่คาดคิดว่าจะเป็นในลักษณะใด เพราะไม่มีใครสามารถรู้ถึงเหตุในอดีตได้

    ท่านผู้ฟังคงได้ทราบข่าวที่ว่า มีตึกทั้งหลังพังลงมาทับเจ้าของบ้านตาย ไม่ต้องอาศัยลูกระเบิด ไม่ต้องอาศัยคนอื่นยิง หรือว่าทำร้าย แต่ว่าอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยที่จะให้ได้รับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะโทษบุคคลอื่น แต่เป็นเรื่องที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ จึงจะรู้ว่า เป็นสภาพธรรมที่ เป็นผลของอดีตกรรม ไม่ใช่ในขณะที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นเหตุปัจจุบันที่จะให้เกิดผลในอนาคต

    . เมื่อก่อนสงครามญี่ปุ่นขึ้น ผมมีโอกาสได้เป็นกรรมการประกวด ผู้หญิงไทย เพื่อนฝูงมาแสดงความยินดี ผมเองก็ยินดีที่จะได้เห็นผู้หญิงสาวๆ สวยๆ ระยะนั้นผมมีโลภะ มีอกุศลจิตเกิดขึ้น ประเภทที่ ๑ ที่เรียกว่า สราคจิต ใช่ไหม

    สุ. ใช่ ปกติ และเวลานั้นคงจะมีกำลังเพิ่มขึ้นจนปรากฏเป็นลักษณะที่ยินดีพอใจ เพราะโลภะมีหลายระดับขั้น ถ้าเป็นอาสวะ คือ กามาสวะ ยากที่จะรู้ได้ เพราะทันทีที่เห็น ยินดีพอใจในสิ่งที่เห็นแล้ว เป็นกามาสวะทันที บางเบาละเอียด จนไม่ปรากฏว่า เป็นลักษณะของความพอใจ แต่เวลาที่ปรากฏลักษณะเป็นความยินดี พอใจให้รู้ได้ ขณะนั้นมีกำลังขึ้นแล้ว

    . หลังจากที่ได้เดินตามหลังท่านผู้รู้ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นี่ ทุกครั้งที่เห็นคนสวยๆ ผมก็พยายามนึกว่า หน้าตาสวยอย่างนี้ ก็จะต้องร่วงโรยและตาย กลิ่นน้ำหอมเดินผ่านไปเมื่อครู่นี้ ประเดี๋ยวก็คงจะเหม็น อย่างนี้จะเป็นช่องทางให้เกิดกุศลจิตบ้างหรือเปล่า

    สุ. ขณะใดที่เกิดระลึกได้ ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ว่าก่อนที่จะระลึกอย่างนั้น การเห็นดับไปพร้อมกับความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็นแล้ว ใครจะรู้ ผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐานจะมีความละเอียดขึ้น จากการเห็นอกุศลอย่างแรงว่าเป็นอกุศล และก็มีความรังเกียจในการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตนก่อน ไม่ใช่รังเกียจว่าเป็นอกุศลเท่านั้น

    นี่เป็นความต่างกัน ส่วนมากเวลาที่อกุศลใดๆ เกิดขึ้น และมีสติที่ไม่ใช่ สติปัฏฐานเกิดก็ระลึกได้ว่า ไม่ควรที่จะมีความยินดีอย่างนี้ รังเกียจในสภาพของธรรมที่เป็นโลภะหรือราคะว่าเป็นอกุศล แต่ว่าควรจะรังเกียจการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นตัวตนก่อน นี่เป็นความต่างกัน

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังพิจารณาได้ว่า ท่านผู้ฟังรังเกียจโลภะในลักษณะใด ถ้าท่านรังเกียจโลภะว่า ท่านไม่อยากมีโลภะ ขณะนั้นเป็นการรังเกียจด้วยความเป็นตัวตน ยึดถือโลภะนั้นเป็นเราไม่ควรจะมีโลภะ แต่เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของโลภะ และก็รู้ว่า สภาพนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มีลักษณะจริงๆ ซึ่งเป็นสภาพที่ยินดีพอใจ ต่างกับลักษณะของโทสะ ต่างกับลักษณะของสภาพเห็น ต่างกับลักษณะของสภาพได้ยิน ลักษณะของความพอใจเป็นเพียงธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น รังเกียจในการที่จะยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล โดยการรู้ว่า สภาพธรรมนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นั่นเป็นการรังเกียจที่จะยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา หรือเป็นตัวตน ซึ่งเป็นหนทางที่จะดับสักกายทิฏฐิ การยึดถือสภาพธรรมใดๆ ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาและการดับกิเลสต้องเป็นขั้นๆ เพราะถึงแม้ว่าจะรังเกียจโลภะสักเท่าไร แต่ถ้ายังมีความเห็นว่า เป็นเรา เป็นของเรา ก็ไม่ใช่หนทางที่จะดับโลภะ มีแต่ความเดือดร้อนใจ เกิดโทสะเพราะไม่ชอบโลภะ

    ในขณะที่เป็นโทสะ ก็เป็นตัวตนอีกที่ไม่ชอบโลภะ จนกว่าสติปัฏฐานจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของโลภะ หรือลักษณะของโทสะก็รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลส อย่าข้ามขั้น พอรู้ว่ามีโลภะก็เดือดร้อน นั่นไม่ใช่ลักษณะของปัญญา ถ้าเป็นปัญญาไม่เดือดร้อน เพราะรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ยั่งยืน ทุกคนที่มีโลภะ อย่าเข้าใจว่าโลภะนั้นยั่งยืน แต่เป็นเพียงชั่วขณะเล็กน้อยและก็ดับไป และก็มีสภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นปรากฏ เช่น ในขณะที่กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และมีความพอใจมากในสิ่งที่เห็น การเห็นจริง เป็นสภาพธรรมที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เป็นขณะที่พอใจ ความพอใจก็จริง ไม่ใช่สภาพธรรมที่เพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ทั้งการเห็นหรือความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น โดยสติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ทีละลักษณะ และจะไม่เดือดร้อน เพราะโลภะนั้นไม่ใช่เรา แต่ถ้ารังเกียจโดยความเป็นเรา จะเดือดร้อนมาก และไม่ใช่หนทางที่จะดับโลภะได้ตามความเป็นจริง ตราบใดที่ยังไม่ได้ละสักกายทิฏฐิ ที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา

    . ผมไม่ได้รังเกียจและเดือดร้อน แต่เพียงนึกว่า เดี๋ยวนี้ผมเดินถูกทางบ้างหรือเปล่า เพราะเมื่อเห็นรูปสวยเกิดขึ้น ก็รู้ว่ารูปนี้ไม่จีรัง ไม่ควรแก่การยึดมั่นถือมั่น ไม่ควรแก่การยึดว่า คนนี้จะต้องสวยอย่างนี้เสมอไป ไม่ช้าก็ผุพัง

    สุ. ไม่ช้า แต่เวลานั้นล่ะ

    . ยกตัวอย่างง่ายๆ ชั่วระยะตื่นนอน ผมเองพอตื่นนอนแล้วหน้าสกปรกเหลือเกิน รู้สึกรังเกียจ ต้องรีบไปชำระล้างทำความสะอาด

    สุ. กุศลหรืออกุศล

    . นี่ละ ที่ผมจะมาเรียนถาม

    สุ. ใครรู้

    . อาจารย์คงจะรู้

    สุ. ไม่ได้ จิตของใคร คนนั้นรู้ สภาพของจิตละเอียดมาก เกิดดับอย่างรวดเร็ว และจิตที่ดับไปแล้ว ไม่มีใครจะติดตามไปรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล

    . ผมรู้แต่เพียงว่า ร่างกายของผมนี้ปฏิกูล

    สุ. ของเราใช่ไหม ร่างกายเรา

    . อยากจะบอกว่า ไม่ใช่ของเรา ไม่ช้าก็จะทิ้งไป

    สุ. เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังเป็นเราอยู่ เวลาที่สภาพธรรมนั้นน่ารังเกียจ จิตใจก็จะไม่แช่มชื่น เป็นโทสะ

    . นี่ผมยังหลงทางอยู่อีกไกลใช่ไหม

    สุ. เรื่องของการที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จนสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท อย่าเข้าใจว่าง่าย เพราะเคยได้ยินรายการธรรมบางรายการเป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรม ซึ่งเมื่อท่านผู้ที่บรรยายพูดจบแล้ว บุคคลที่เชิญท่านผู้บรรยายมาก็กล่าวว่า เรื่องของการปฏิบัติธรรมมีหลายแบบ หลายอย่าง แล้วแต่อัธยาศัย ความพอใจของผู้ใด ก็จงยึดถือในข้อปฏิบัตินั้น หรือว่าเห็นว่าข้อปฏิบัติใดง่าย ก็ให้ถือเอา

    นี่ไม่ใช่การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยการเห็นว่าสิ่งใดง่ายก็จะถือเอา เพราะการอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทนั้น ไม่ง่ายเลย ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นหนทางง่าย ก็จงถือเอา ทำเอา เพราะง่ายดี

    แต่หนทางใดที่จะให้ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ลองพิจารณาดูว่า ยากหรือง่าย แต่ถึงจะยาก ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะท้อถอย เพราะบุคคลที่ตรัสรู้แล้วมีมาก ตั้งแต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จนถึงพระอรหันต์ทั้งหลาย พระอนาคามีบุคคลทั้งหลาย พระสกทาคามีบุคคลทั้งหลาย พระโสดาบันบุคคลทั้งหลาย ถ้าท่านเหล่านั้นกระทำสำเร็จแล้วได้ และก็มีหนทางที่คนอื่นสามารถ ที่จะศึกษา เข้าใจ น้อมประพฤติปฏิบัติตาม ก็ย่อมสามารถที่จะบรรลุถึงความสำเร็จนั้นได้ด้วย แต่ต้องอดทน และเป็นเรื่องที่ปัญญาจะต้องรู้หนทางนั้นถูกต้องจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่หนทางใดง่าย ก็ให้ถือเอาหนทางนั้น

    . อาจารย์กล่าวว่า โลภะนั้นควรรู้ ผมก็ยังรู้ไม่หมด เพราะโลภะมี ๘ ดวง หรือ ๘ ประเภท มีอสังขาริก ๔ ดวง สสังขาริก ๔ ดวง อสังขาริก เขาก็แปลกันว่า มีกำลัง หรือไม่ต้องอาศัยการชักชวน สสังขาริก ก็หมายความว่ามีกำลังน้อย หรือว่าต้องอาศัยการชักชวน ผมยังไม่เข้าใจว่า ขณะโลภะเกิดนั้น ไม่รู้ว่าโลภะนั้นเป็น อสังขาริก หรือสสังขาริก ยกตัวอย่าง ถ้าผมเห็นรถยนต์รุ่นใหม่คันหนึ่ง เห็นว่ารถยนต์คันนี้สวยมาก อยากจะได้รถยนต์คันนั้น เป็นโลภะอสังขาริกหรือสสังขาริก

    สุ. ท่านผู้ฟังอยากรู้คำ หรืออยากรู้ลักษณะของจิตเป็นลำดับ

    . อยากรู้ลักษณะของจิต

    สุ. เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มจากไหน ต้องรู้ลักษณะของโลภะก่อน โดยขณะนี้หรือขณะใดก็ตามที่มีโลภะ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของโลภะในขณะนั้น จะชื่อว่า รู้ลักษณะของโลภะไม่ได้ เพราะโลภะเกิดขึ้นแต่ว่าสติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของโลภะ เพราะฉะนั้น จะชื่อว่ารู้ลักษณะของโลภะไม่ได้ เพียงแต่รู้ชื่อโลภะ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของโลภะ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะรู้ว่าโลภะต่างกันเป็น ๘ ประเภท จะต้องมีสติระลึกรู้ลักษณะของโลภะก่อน

    ท่านผู้ฟังบอกว่า อยากจะรู้ลักษณะ เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มจากสติระลึกรู้ลักษณะของโลภะ จึงจะรู้ลักษณะที่ต่างกันออกไปเป็น ๘ ลักษณะว่า ขณะใดเป็นลักษณะของโลภะประเภทใดใน ๘ ประเภทนั้น

    . โลภะก็พอจะรู้บ้าง

    สุ. พอจะรู้ชื่อ หรือรู้ลักษณะ

    . รู้ลักษณะ

    สุ. ถ้ารู้ลักษณะแล้ว ในตอนต้นยังไม่รู้ว่า เป็นประเภทไหนใน ๘ ใช่ไหม

    . ใช่

    สุ. ก็ระลึกต่อไป จนกว่าอาการที่ต่างกันของโลภะจะปรากฏ ว่าในขณะนั้นโลภะนั้นเป็นลักษณะใดใน ๘ ประเภท

    . ระลึกหลายทีแล้ว ก็ยังไม่เห็น จึงมาถามอาจารย์

    สุ. ชาตินี้คงจะเป็นพระอรหันต์แน่ ถ้าหลายทีแล้วสามารถที่จะรู้ได้ในลักษณะของโลภะ ๘ ประเภท ต้องเป็นพระอรหันต์แน่นอน ถ้าบุคคลนั้นเมื่อระลึกหลายทีแล้วสามารถรู้ได้

    เพราะฉะนั้น แสดงว่า หลายทียังไม่พอ ใครรู้ บุคคลนั้นเองรู้ว่ายังไม่พอ ตรงตามความเป็นจริง เมื่อยังไม่พอ และหนทางจะเป็นอย่างไร จะขวนขวายอยากรู้ โดยไม่เจริญเหตุที่จะให้รู้ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือว่าจะเกิดความเดือดร้อนใจ เศร้าหมองใจว่า หลายทีแล้วทำไมยังไม่รู้ ก็เป็นการเปล่าประโยชน์

    เวลาที่ต้นไม้กำลังจะมีดอกมีผล เริ่มมีดอกตูมเล็กๆ ขึ้น ท่านผู้ฟังก็ไปนั่งจ้องว่า เมื่อไรดอกนั้นจะโตและจะบาน จ้องสักเท่าไรก็คงจะไม่เห็น เพราะว่าต้องอาศัยกาลเวลา ฉันใด ก็เหมือนกับการที่ท่านผู้ฟังจะนั่งนับว่า หลายที และก็ยังไม่รู้ลักษณะของโลภะประเภทต่างๆ และก็อยากที่จะรู้

    เพราะฉะนั้น ไม่มีวิธีอื่นเลย นอกจากอบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรม โดยไม่เลือกไม่เจาะจงว่า จะต้องรู้ลักษณะของโลภะที่ต่างกันเป็น ๘ ประเภท เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๙๗๑ – ๙๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564