แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1014


    ครั้งที่ ๑๐๑๔

    สาระสำคัญ

    อเหตุกจิต และสเหตุกจิต  เหตุ กับปัจจัย มีความต่างกันอย่างไร  เหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖


    เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ เข้าใจตามลำดับ คือ แยกเหตุ กับนเหตุ และต้องรู้ต่อไปว่า จิตซึ่งเป็นนเหตุ บางดวงเกิดพร้อมกับเหตุ และบางดวงไม่มีเหตุสักเหตุเดียวเกิดร่วมด้วย เช่น จักขุวิญญาณที่เห็น ในขณะนี้ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ มีเจตสิกที่เกิดกับจักขุวิญญาณเพียง ๗ ดวง ได้แก่ ผัสสเจตสิกทำกิจกระทบรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา เวทนาเจตสิกทำกิจรู้สึก อุเบกขาเวทนา อทุกขมสุขในขณะที่กำลังเห็น สัญญาเจตสิกทำกิจจำสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้น เจตนาเจตสิกเป็นสภาพที่ขวนขวายให้กิจ คือ การเห็น สำเร็จ

    ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก มนสิการเจตสิก เหล่านี้ไม่ใช่เหตุ แต่ว่าจิตบางดวงก็มีเหตุเกิดร่วมด้วย เช่น โลภมูลจิต เห็นแล้ว ดับไปแล้ว ชอบสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะที่ชอบ ในขณะนั้นไม่ใช่จักขุวิญญาณ แต่ว่าจิตที่เกิดต่อจากจักขุวิญญาณในขณะนั้นประกอบด้วยเหตุ คือ มีสภาพของความพอใจติดข้องในสิ่งที่ปรากฏเกิดกับจิตนั้น เป็นโลภมูลจิตเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น แม้ว่าจิตเป็นนเหตุก็จริง แต่ว่าจิตบางดวงมีเหตุเกิดร่วมด้วย และจิตบางดวงไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ซึ่งจิตที่เป็นนเหตุ เวลาที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เป็นสเหตุกะ หมายความว่าจิตนั้นประกอบด้วยเหตุ

    ค่อยๆ เข้าใจไปเป็นลำดับขั้น คือ รู้ว่าเหตุได้แก่อะไร เหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง ซึ่งตลอดพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก หรือ พระอภิธรรมปิฎก จะไม่มีเหตุ ๗ บางแห่งอาจจะแสดงเหตุ ๙ คือ เป็นอกุศลเหตุ ๓ เป็นกุศลเหตุ ๓ เป็นอัพยากตเหตุ ๓ ซึ่งอัพยากตเหตุจะเกินเหตุ ๖ ไปไม่ได้ หมายความว่า ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยของเหตุ ๓ โดยนัยของเหตุ ๖ โดยนัยของ เหตุ ๙ โดยนัยใดๆ ก็ตาม สเหตุ อเหตุ นเหตุ ได้แก่ สภาพธรรมที่เป็นเหตุ คือ เจตสิก ๖ ดวงเท่านั้น นี่แน่นอนไม่เป็นอื่น ทั้ง ๓ ปิฎกจะต้องทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นเหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง และชื่อก็คุ้นหู โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก

    ถ้าเป็นกุศล ก็เป็นกุศลเหตุ ๓ คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก

    ถ้าเป็นอัพยากต คือ ไม่ใช่กุศลและอกุศล ก็มี ๓ เมื่อปฏิเสธว่า ไม่ใช่กุศลและอกุศล ก็ต้องเป็นอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เพราะอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุที่ไม่ใช่กุศลก็มี แต่ว่าโลภะ โทสะ โมหะที่ไม่ใช่อกุศล ไม่มี

    นี่เพิ่งเริ่ม ยังไม่ได้เรียนเรื่องจิตโดยละเอียดทีละดวงๆ แต่ถ้าเรียนจะเข้าใจ เวลาที่ได้ทราบจิตที่ต่างกันโดยประเภทต่างๆ และเริ่มที่จะจำโดยเข้าใจ ไม่ต้องท่อง คือ เหตุ ได้แก่อะไร เหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง เพราะฉะนั้น จิตเป็นนเหตุ เจตสิกอื่นนอกจากเจตสิก ๖ ดวง ไม่ใช่เหตุ เป็นนเหตุ รูปไม่ใช่เหตุ เป็นนเหตุ นิพพานไม่ใช่เหตุ เป็นนเหตุ

    แต่จิตซึ่งเป็นนเหตุ บางครั้งเกิดพร้อมกับเหตุจึงเป็นสเหตุกะ หมายความว่า มีเหตุเกิดร่วมด้วย ขณะใดก็ตามที่จิตไม่ได้มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยสักเหตุเดียว จิตนั้นชื่อว่า อเหตุกะ หมายความว่า ไม่ประกอบด้วยเหตุ นี่เป็นศัพท์ภาษาบาลีซึ่งจะต้องเข้าใจในภาษาไทยง่ายๆ ธรรมดา คือ

    สเหตุกะ หมายความว่า ประกอบด้วยเหตุ เกิดพร้อมกับเหตุ

    อเหตุกะ หมายความว่า ไม่ประกอบด้วยเหตุ ไม่เกิดพร้อมด้วยเหตุ คือ ไม่เกิดพร้อมกับเจตสิก ๖ ดวงที่เป็นเหตุ

    รูปไม่ใช่เหตุ เป็นอะไร เป็นนเหตุ

    รูปมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น รูปเป็นอเหตุกะ

    เมื่อได้ยินคำว่า อเหตุกะ ทราบได้เลยว่า สภาพธรรมนั้นไม่ได้เกิดพร้อมกับเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ

    รูป เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สัมปยุตตธรรม ไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์เดียวกับจิต เพราะฉะนั้น รูป เป็นทั้งนเหตุและอเหตุกะ

    แต่จิตเป็นนเหตุ และบางดวงเป็นสเหตุกะ บางดวงเป็นอเหตุกะ

    เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว เจตสิกก็โดยนัยเดียวกัน เพราะเจตสิก เช่น ผัสสะ ไม่ใช่เหตุ เพราะฉะนั้น ผัสสเจตสิกเป็นนเหตุ แต่ว่าผัสสเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ถ้าจิตดวงนั้นเกิดพร้อมกับเหตุ ผัสสเจตสิกนั้นก็เป็นสเหตุกะ หมายความว่าเกิดพร้อมกับเหตุ ถ้าจิตนั้นเกิดขึ้นไม่ประกอบด้วยเจตสิกซึ่งเป็นเหตุทั้ง ๖ เมื่อจิตนั้นเป็นอเหตุกะ ผัสสเจตสิกซึ่งเกิดกับอเหตุกจิตนั้นก็เป็นอเหตุกะ เพราะฉะนั้น ผัสสะก็เป็นนเหตุ และบางครั้งเป็นสเหตุกะ บางครั้งเป็นอเหตุกะ

    ไม่ต้องท่อง เข้าใจ และใช้ศัพท์ภาษาบาลีด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เหตุ ตรงกันข้ามกับนเหตุ สเหตุตรงกันข้ามกับอเหตุ

    สเหตุกะ ประกอบด้วยเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ อเหตุกะ ไม่ประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นเหตุ ซึ่งทุกท่านมีทั้งสเหตุกจิตและอเหตุกจิต เพียงแต่ยังไม่ทราบว่าเมื่อไรเป็น สเหตุกะ และเมื่อไรเป็นอเหตุกะ แต่นี่คือชีวิตของท่านในวันหนึ่งๆ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยขณะจิตอย่างละเอียดว่า ขณะใดเป็นอเหตุกะ ไม่ประกอบด้วยเหตุ และขณะใดเป็นสเหตุกะ

    นอกจากนั้นในจิตประเภทที่เป็นสเหตุกะ ยังจำแนกออกว่า ประกอบกับเหตุ กี่เหตุ บางครั้งประกอบกับเหตุเดียว คือ ประกอบกับโมหเหตุเหตุเดียวเท่านั้น จึงเป็น โมหมูลจิต บางครั้งประกอบกับ ๒ เหตุ คือ โมหเหตุและโลภเหตุ จึงเป็นโลภมูลจิต และบางครั้งที่ประกอบด้วย ๒ เหตุ คือ โมหเหตุและโทสเหตุ จึงเป็นโทสมูลจิต

    ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำว่า เอกเหตุกะ ทวิเหตุกะ และติเหตุกะ ก็เป็นศัพท์ภาษาบาลีเท่านั้น ซึ่งขณะใดประกอบด้วยเหตุเดียว เช่น โมหมูลจิต ก็เป็นเอกเหตุกะ เพราะประกอบกับโมหเจตสิกเท่านั้นที่เป็นโมหเหตุ เหตุเดียว

    สำหรับโลภมูลจิต ไม่ได้ประกอบเฉพาะโมหเจตสิกเท่านั้น แต่ต้องประกอบด้วย โลภเจตสิกด้วยจึงเป็นโลภมูลจิต เพราะฉะนั้น สำหรับโลภมูลจิต เป็นสเหตุกะและเป็นทวิเหตุกจิต เพราะประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ โมหเหตุ และโลภเหตุ

    สำหรับโทสมูลจิต ก็เป็นสเหตุกะ และเป็นทวิเหตุกะ เพราะประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ โมหเหตุ และโทสเหตุ

    ทางฝ่ายกุศลที่จะไม่มีเหตุเกิดขึ้น ไม่ได้ ถ้าไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็ไม่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลจิตเกิด จะต้องประกอบด้วยเหตุ ๒ ทางฝ่ายกุศลไม่มีเอกเหตุ มีแต่ทวิเหตุ คือ ประกอบด้วยอโลภะและอโทสะ และบางครั้งก็เป็นติเหตุกะ คือ ประกอบด้วย ๓ เหตุ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ ซึ่งอโมหะ คือ ปัญญา หรือญาณนั่นเอง

    ชีวิตประจำวันอีกเหมือนกันซึ่งทุกท่านก็พอจะทราบได้ว่า ขณะไหนเป็นสเหตุกะ และขณะไหนเป็นอเหตุกะ ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏละเอียดขึ้น ต้องละเอียดขึ้นด้วย

    . คำว่า เหตุ กับปัจจัย มีความต่างกันอย่างไร

    สุ. ต่างกันที่ว่า ปัจจัย หมายความถึงธรรมที่อุปการะเกื้อกูลให้ธรรมอื่นเกิดขึ้น แล้วแต่ประเภทของปัจจัยนั้นๆ เช่น ผัสสเจตสิกไม่ใช่โลภเจตสิก แต่ทั้ง ผัสสเจตสิกก็ดี โลภเจตสิกก็ดีเป็นปัจจัย และในเมื่อสภาพของผัสสะต่างกับสภาพของโลภะ คือ ผัสสเจตสิกมีลักษณะ มีกิจ ต่างกับโลภเจตสิก ความเป็นปัจจัยของ ผัสสเจตสิกจึงต่างกับความเป็นปัจจัยของโลภเจตสิก

    ผัสสเจตสิกเป็นปัจจัยโดยเป็นอาหารปัจจัย เป็นอาหาร คือ เป็นสภาพที่นำมาซึ่งผล แต่ไม่ใช่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้าซึ่งจะงอกงามไพบูลย์ขึ้นอีกมากเหมือนกับรากแก้ว

    สำหรับสภาพธรรมซึ่งเป็นเหตุนี้ เป็นปัจจัยโดยความเป็นเหตุ ซึ่งอุปมาเหมือนรากแก้วของต้นไม้ แต่ไม่ใช่ว่าต้นไม้จะมีแต่รากแก้ว ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เจตสิกอื่น สภาพธรรมอื่นก็เป็นปัจจัยโดยเป็นปัจจัยอื่น ซึ่งไม่ใช่เป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุ

    ถ้าเรียนเรื่องของปัฏฐาน ซึ่งเป็นคัมภีร์สุดท้ายของพระอภิธรรม ปัจจัยแรก คือ เหตุปัจจัย ให้เห็นถึงความสำคัญของสภาพธรรมซึ่งเป็นเหตุ เวลาที่ไปงานศพ และมีสวดอภิธรรม จะเริ่มต้นด้วยคำว่า เหตุปัจจโย ซึ่งหมายความถึง โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เตือนให้รู้ถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นตัวสำคัญของการที่จะให้เกิดผล เกิดภพ เกิดชาติ ซึ่งได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก และอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก

    สภาพธรรมแต่ละลักษณะมีความสำคัญของตนๆ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยปัจจัย ไม่ใช่มีปัจจัยแต่เฉพาะเหตุซึ่งเป็นเหตุปัจจัยอย่างเดียว ไม่ใช่มีปัจจัยเฉพาะแต่อารมณ์ซึ่งปรากฏให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นโดยเป็นอารัมมณปัจจัยเพียงปัจจัยเดียว แต่มีปัจจัยมาก ปัจจัยประเภทใหญ่ๆ มี ๒๔ ปัจจัย และยังมีปัจจัยละเอียดนอกจาก ๒๔ ปัจจัยนั้นด้วย

    เช่น จักขุปสาท ไม่ใช่เกิดขึ้นมาแล้วก็ไร้ความหมาย แต่ว่าเป็นปัจจัยโดยเป็น อินทริยปัจจัย เป็นจักขุนทรีย์ เป็นรูปซึ่งเป็นใหญ่ในการให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่มีจักขุปสาท ไม่มีโสตปสาท ไม่มีฆานปสาท ไม่มีชิวหาปสาท และไม่มีกายปสาท รูปนี้จะเหมือนอะไร ก็เหมือนกับท่อนไม้ ไม่เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร ไม่ได้กลิ่นอะไร ไม่ลิ้มรสอะไร ไม่รู้การกระทบสัมผัส ท่อนไม้ไม่รู้อะไรเลย ใครจะใช้ไม้ทำอะไร ไม้ก็ไม่มีความรู้สึก ไม่มีการรู้สิ่งที่มากระทบสัมผัส

    ถ้าสัตว์ บุคคล ไม่มีจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท จะทำอะไรได้ไหม จะต่างอะไรกับท่อนไม้ เพราะฉะนั้น รูปเหล่านั้นเป็นปัจจัยโดยเป็นอินทริยปัจจัย เป็นใหญ่เฉพาะในกิจของตน คือ จักขุปสาทเป็นใหญ่ในการที่จะให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา รูปอื่นไม่สามารถที่จะกระทำกิจนี้ได้ และสิ่งที่ปรากฏทางตาจะเห็นชัดเจนหรือว่าจะเห็นไม่ชัด ก็แล้วแต่ลักษณะ ความใสของจักขุปสาทนั้นอีก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจตนา หรือความต้องการของใครเลย แต่ขึ้นกับเหตุปัจจัยของการเห็น คือ จักขุปสาท

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิด โดยปัจจัยต่างๆ

    สำหรับโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก และอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุ และเหตุอะไรมากในวันหนึ่งๆ อกุศลเหตุมาก กุศลเหตุไม่ใช่ว่าจะไม่มี มี แต่ถ้าเทียบส่วนแล้วน้อยกว่ามาก

    เพราะฉะนั้น เมื่อไรทางฝ่ายกุศลเหตุจะค่อยๆ เจริญขึ้นจนกระทั่งมีกำลังมากกว่าทางฝ่ายอกุศลเหตุ ก็ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ในขณะนั้นเป็นอโมหเหตุ เป็นปัญญาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง ซึ่งตราบใดปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่จะไม่ให้โลภเหตุ โทสเหตุ หรือโมหเหตุเจริญงอกงามไพบูลย์นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่มีธรรมอื่นที่จะละคลาย หรือว่าสามารถดับ อกุศลเหตุได้นอกจากปัญญา ซึ่งเป็นอโมหเหตุ

    และเมื่อกุศลกำลังเจริญ เช่น ท่านที่ศึกษาธรรม มีความสนใจที่จะรู้เรื่องของธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน กุศลที่เป็นอโมหะก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น เมื่อบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคลเมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะดับอกุศลเป็นประเภทๆ ได้ แต่ไม่ใช่ว่า ดับได้ทีเดียวทั้งหมดถึงความเป็นพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน ก็เป็นพระเสกขบุคคล คือ จะต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไปอีกจนกว่าแม้กุศลเหตุก็ดับด้วยพร้อมกับอกุศลเหตุ ถึงแม้ว่าจะมีอโลภะ อโทสะ อโมหะเกิด ก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดผลข้างหน้า ไม่เป็น กุศลเหตุอีกต่อไป แต่เป็นอัพยากตเหตุ คือ เป็นกิริยาเหตุ ซึ่งเป็นจิตของพระอรหันต์ทั้งหลาย ที่ไม่มีทั้งอกุศลเหตุและกุศลเหตุเกิดอีกเลย เพราะว่าอโลภะ อโทสะ อโมหะนั้นเป็นโสภณเหตุ เกิดกับกิริยาจิตและวิบากจิตซึ่งไม่เป็นเหตุให้เกิดผล แต่ว่าเมื่อไร จะถึงวันนั้น

    ถึงได้ถ้าเพียรอบรมเจริญไปเรื่อยๆ เพราะผู้ที่บรรลุผลในอดีตมีแล้วเป็นอันมาก ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ก็ไม่มีผู้ใดที่สามารถบรรลุผลนั้นได้ แต่ว่าผลนั้นไม่ใช่เร็ว ต้องช้าตามควรแก่เหตุ ซึ่งถ้าปัญญายังไม่เกิด อย่าหวังที่จะดับกิเลส และปัญญาก็จะต้องเกิดตามลำดับขั้นที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น การรู้เรื่องของจิต เจตสิก และรูป อย่าลืมว่า เพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อนจากที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง ถ้าเรียนอย่างหนึ่ง ทำอีกอย่างหนึ่ง รู้อีกอย่างหนึ่ง ไม่ตรงกัน อย่างนั้นก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้

    อย่าลืม เหตุ ตรงกันข้ามกับนเหตุ สเหตุ หรือสเหตุกะ ตรงกันข้ามกับ อเหตุกะ

    เหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ คือ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ เป็นอกุศลเหตุ ๓ ซึ่งเมื่อชื่อเป็นอกุศลเหตุ จะเป็นอื่นไปไม่ได้ ไม่ว่าโลภะจะเกิดขึ้นขณะใด โทสะจะเกิดขึ้นขณะใด โมหะจะเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นเป็นชาติอกุศล เป็นตัวเหตุที่จะให้เกิดอกุศลวิบากข้างหน้า

    สำหรับโสภณเหตุ ๓ คือ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ และอโมหเจตสิก ๑ ไม่ใช้คำว่า กุศลเหตุ แต่ใช้คำว่า โสภณเหตุ เพราะว่าเป็นกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี หมายความว่า อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับกุศลวิบากจิตก็ได้ เกิดกับกิริยาจิตก็ได้ ด้วยเหตุนี้จึงชื่อว่า โสภณเหตุ

    เพราะฉะนั้น คำว่า โสภณ มีความหมายกว้างกว่าคำว่า กุศล เพราะโสภณนั้น ได้แก่ สภาพธรรมที่เป็นกุศล หรือเป็นกุศลวิบาก หรือเป็นกิริยา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๐๑๑ – ๑๐๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564