แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 962


    ครั้งที่ ๙๖๒

    สาระสำคัญ

    ถูกลวง(รูปเพียงแค่กระทบทวาร)  สั่งสมสันดานของตน  อัฏฐสาลินี อุปมาลักษณะของมหาภูตรูป(เหมือนกับนักเล่นกล)


    . ที่อาจารย์บรรยายว่า จักขุวิญญาณกระทบอารมณ์ เหมือนแขกที่นำเอาเครื่องบรรณาการมา แขกนั้นไม่ได้เข้าไปทางทวาร หมายความว่า เป็นอารมณ์ทางปัญจทวาร

    สุ. อารมณ์มีความสามารถหรือว่ากระทำกิจได้เพียงกระทบปสาท

    . กระทบปสาท และดับไป หมดไป

    สุ. อารมณ์ยังไม่ดับ แต่ว่าอยู่ที่ปสาทเท่านั้น

    . อยู่แค่ที่ปสาท แต่ที่เสพอารมณ์ จิตที่ทำหน้าที่ต่อไป คิดแล้วเหมือนภาพลวงทั้งนั้น ของจริงอยู่แค่กระทบจักขุปสาท และหมดไปเท่านั้นเอง อยู่ภายนอก

    สุ. เท่านั้นเอง แต่จิตรับอารมณ์ แม้ว่าจะไม่ได้กระทำกิจเห็น และอารมณ์นั้นก็ยังไม่ดับไป

    . ต่อไปจากจักขุปสาทไปถึงชวนะ ก็ยิ่งลวงหนักเข้าไปใหญ่

    สุ. เพราะฉะนั้น ทุกๆ ท่านจะไปเอารูปารมณ์มาเป็นของท่าน เป็นไปไม่ได้ เพราะรูปารมณ์เพียงกระทบจักขุปสาทได้เท่านั้นเอง แต่จิตก็พอใจในสิ่งที่เพียงปรากฏที่ปสาทอย่างมากมาย จนกระทั่งเป็นอกุศลประการต่างๆ

    . เป็นของลวง ต่อจากนั้นก็เป็นของลวงทั้งหมด

    สุ. ลวงทั้งหมด ถูกลวง ทุกท่านอยากจะได้รูป แต่รูปที่ท่านจะได้นี้ เพียงแค่กระทบทวาร เกินกว่านั้นเอามาได้ไหม เพียงแค่นั้นก็ยังอยากได้ เห็นความหลงไหมว่า ทันทีที่ตื่นขึ้นมาจากเป็นภวังค์ ก็หลงเลย

    . อย่างที่เขาเปรียบ เหมือนสุนัขที่แทะกระดูก อร่อยที่น้ำลาย อย่างนั้นจริงๆ

    สุ. พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาไว้มาก นี่คือประโยชน์ของพระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพื่อที่จะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ด้วยสติที่ระลึกได้

    . สติปัฏฐานที่เกิด รู้ที่รูปที่กระทบจักขุปสาทเท่านั้น รู้จุดนั้น

    สุ. แต่ไม่เห็น สัมปฏิจฉันนะไม่เห็น สันตีรณะไม่เห็น โวฏฐัพพนะไม่เห็น เพียงรับเครื่องราชบรรณาการ รับและส่งต่อๆ แต่ผู้ที่เสวย ผู้ที่กิน ผู้ที่แล่นไปในอารมณ์ คือ พระราชา ได้แก่ ชวนวิถีจิต

    . ที่อาจารย์กล่าวว่า สั่งสมสันดานของตน โดยเป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ถ้าเป็นสติปัฏฐาน สั่งสมอะไร เป็นการสั่งสมปัญญา

    สุ. เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่ง

    . สั่งสม รู้ว่า ตัวถูกลวงอยู่ตลอดเวลา

    สุ. รู้ว่าลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของรูปซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจไว้มากมาย เพื่อที่จะให้เกิดปัญญาเห็นตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะยินดีพอใจ เช่น ลักษณะของมหาภูตรูป ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินี แสดงไว้มาก เช่น กล่าวว่า

    พึงทราบภาวะที่รูปได้ชื่อว่า “มหาภูตะ” โดยเหตุมีความปรากฏเป็นของใหญ่โต เป็นต้น

    จริงอยู่ รูปเหล่านี้เรียกกันว่า มหาภูตะ โดยเหตุเหล่านี้ คือ ปรากฏเป็นของใหญ่โต ๑ เป็นเหมือนมหาภูตะ คือ นักเล่นกล ๑ เป็นเหมือนกับมหาภูตะ คือ ยักษ์ผู้ชายและยักษ์ผู้หญิง ๑ ต้องบำรุงรักษามาก ๑ มีความเปลี่ยนแปลงมากมาย ๑ และเป็นสิ่งใหญ่ที่มีอยู่ ๑

    ข้อความโดยละเอียดจะค่อยๆ กล่าวถึงบ้างทีละเล็กทีละน้อย เพราะถ้ากล่าวถึงทั้งหมดจะเลยเรื่องของการสั่งสมสันดานตนเอง ซึ่งเป็นลักษณะของจิต แต่ก็จะขอแสดงข้อความบางประการว่า ลักษณะของมหาภูตรูปนั้นเป็นอย่างไร

    ที่ว่าอุปมาเหมือนอย่างมหาภูตะ มียักษ์ผู้ชาย เป็นต้น สิงเอาผู้คนใดเข้า มหาภูตะเหล่านั้น จะเข้าไปข้างในของคนนั้นก็หามันไม่ได้ หรือจะอยู่ข้างนอก ก็ไม่พบ และใช่ว่าจะไม่แอบอิงคนผู้นั้นก็หาไม่ ข้อนี้ฉันใด แม้มหาภูตรูปเหล่านี้ ก็เหมือนฉันนั้นแหละ จะเข้าค้นหาภายในของกันและกันก็หาไม่ได้ จะอยู่ภายนอก หาดูก็ไม่เจอ และใช่ว่ามหาภูตรูปจะไม่อิงอาศัยกันและกันก็หาไม่ ฉะนั้น รูปจึงชื่อว่า มหาภูตะ แต่เพราะมันเหมือนกันกับมหาภูตะ มียักษ์ผู้ชาย เป็นต้น โดยเหตุที่มหาภูตรูปเป็นธรรมชาติอยู่ในฐานะที่ใครๆ คิดไม่ถึง

    มีใครรู้จักมหาภูตรูปจริงๆ หรือยัง ที่ว่าเปรียบเหมือนยักษ์ผู้ชายเข้าไปสิงคนอยู่ข้างใน แต่หาข้างในไม่เห็นใช่ไหมว่า ยักษ์อยู่ที่ไหน และหาข้างนอกก็ไม่เจออีก เพราะว่ายักษ์นั้นเข้าไปสิงอยู่ข้างใน เพราะฉะนั้น ก็ยากที่จะเข้าใจลักษณะของมหาภูตรูป โดยเหตุที่มหาภูตรูปเป็นธรรมชาติอยู่ในฐานะที่ใครๆ คิดไม่ถึง

    ถ้าท่านผู้ฟังจะหามหาภูตรูป มหาภูตรูปอยู่ที่ไหน หามาให้หน่อยเวลานี้ ใครจะเอามหาภูตรูปมาให้ ข้างนอกนี่

    รู้หรือ ว่าเป็นมหาภูตรูป เพราะว่าโดยทั่วไป คนหาโต๊ะได้ หาเก้าอี้ได้ หา เพชรนิลจินดาได้ หาผลไม้ทุกชนิดได้ หากล้วย อ้อย เผือก มันได้ แต่รู้หรือเปล่าว่า นั่นเป็นมหาภูตรูป มหาภูตรูปไม่ได้อยู่ข้างนอก โต๊ะ เก้าอี้ กล้วย อ้อย แท้ที่จริงแล้ว เป็นมหาภูตรูปนั่นเอง แต่โดยเป็นภาวะที่ใครๆ ก็คิดไม่ถึงว่าเป็นมหาภูตรูป เพราะปกติธรรมดาย่อมยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นต้น ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ให้ไปหากระเป๋า หาได้ แต่บอกให้ไปหามหาภูตรูป หาได้ไหม หรือว่ากล้วยปอกเปลือกออกแล้ว ก็ยังเป็นเนื้อกล้วย ไหนมหาภูตรูป ก็หาไม่เจออีก ใช่ไหม ที่เปลือกกล้วยเป็นมหาภูตรูปหรือเปล่า สิงอยู่ข้างใน หาไม่เจอ เพราะเห็นว่าเป็นเปลือกกล้วย หรือเห็นว่าเป็นเนื้อกล้วย หรือเห็นว่าเป็นกล้วย แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นมหาภูตรูป

    ถ้าไม่ได้ฟังเรื่องของมหาภูตรูป ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน จะรู้ไหมว่า มหาภูตรูปเป็นมหาภูตรูป เพราะย่อมเข้าใจว่าเห็นคน รู้จักคน ไม่ใช่รู้จักมหาภูตรูป

    สภาพธรรมที่ปรากฏ ที่เป็นรูป จะปราศจากมหาภูตรูปไม่ได้ มีปรากฏอยู่ มองไป เห็นเป็นเจดีย์ เห็นเป็นวัด ก็คือมหาภูตรูป แต่คิดไม่ถึงว่าเป็นมหาภูตรูป เข้าใจว่า เป็นเจดีย์ เป็นวัด เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ใหญ่โต เป็นภูเขาสูงใหญ่ ปรากฏโดยความเป็นรูปที่ใหญ่โต ก็เป็นมหาภูตรูป แต่เมื่อไม่รู้ว่าเป็นมหาภูตรูป ก็หามหาภูตรูปไม่เจอ ไม่ว่าจะเป็นข้างนอกหรือข้างใน แม้แต่ที่ร่างกายเป็นมหาภูตรูปแท้ๆ แต่เคยเข้าใจไหมว่า นี่มหาภูตรูปเท่านั้น แต่เข้าใจว่า เป็นร่างกายของเรา เป็นหัวใจของเรา เป็นแขนของเรา เป็นส่วนต่างๆ ของเรา ไม่เคยคิดว่า เป็นมหาภูตรูป ทั้งข้างนอกและข้างใน ไม่เห็น หาไม่เจอ เพราะปัญญาไม่ได้รู้ลักษณะของมหาภูตรูปตามความเป็นจริง

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี อุปมาลักษณะของมหาภูตรูปอีกว่า

    อุปมาเหมือนมหาภูตะ กล่าวคือ ยักษ์ผู้หญิง ก็เพราะปิดบังความที่ตัวมัน น่ากลัวไว้ด้วยสีสัน ทรวดทรง และการเยื้องกรายอันน่าชื่นใจ ลวงล่อสัตว์ทั้งหลาย ฉันใด แม้มหาภูตรูปนี้ก็เหมือนฉันนั้นแหละ ปิดบังลักษณะตามสภาพซึ่งต่างเป็นความหยาบคาย เป็นต้น (สภาพของมหาภูตรูปเป็นลักษณะที่กระด้าง เวลาที่เป็นลักษณะของปฐวีธาตุ) ของตนไว้ ด้วยผิวพรรณอันน่าชื่นใจ ด้วยทรวดทรงแห่ง องคาพยพ (คือ อวัยวะ สัณฐาน ส่วนสัดต่างๆ) อันน่าชื่นใจ และด้วยการเยื้องย่าง มือเท้า กระดิกนิ้ว และยักคิ้วอันน่าชื่นใจ ในสรีระแห่งหญิงและชาย เป็นต้น ไว้ แล้วลวงล่อคนเขลาไม่ให้เห็นสภาวะของตนเลย รูปจึงชื่อว่า มหาภูตะ แม้เพราะมันเหมือนกับมหาภูตะ คือ ยักษ์ผู้หญิง ด้วยอรรถว่า ลวงล่อ ด้วยประการฉะนี้

    นี่คือข้อความในอรรถกถา และมีข้อความที่แสดงต่อไปว่า ลวงล่ออย่างไร คือ

    ตัวมหาภูตรูปเอง มิใช่เป็นสีเขียวเลย ก็แสดงอุปาทายรูปเป็นสีเขียว มิใช่เป็นสีเหลืองเลย ก็แสดงอุปาทายรูปเป็นสีเหลือง มิใช่เป็นสีแดงเลย ก็แสดงอุปาทายรูปเป็นสีแดง มิใช่เป็นสีขาวเลย ก็แสดงอุปาทายรูปเป็นสีขาว เพราะฉะนั้น รูปจึงชื่อว่า มหาภูตะ เพราะมันเป็นเหมือนกับมหาภูตะ คือ นักเล่นกล

    รู้จักมหาภูตรูปหรือเปล่า ถ้าให้ไปหามหาภูตรูป ก็จะไปเอาสีแดงมาให้ สีเขียวมาให้ แต่มหาภูตรูปเองไม่มีสีเลย ปฐวีธาตุมีลักษณะที่แค่นแข็ง ขณะนี้สิ่งใดที่ปรากฏเป็นลักษณะที่แค่นแข็ง นั่นเป็นลักษณะของปฐวีธาตุ ไม่เขียว ไม่เหลือง ไม่แดง ไม่ขาว แต่เวลาที่ปรากฏให้เห็นทางตา สิ่งที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นอาหารต่างๆ เป็นดอกไม้ต่างๆ ที่มีลักษณะอ่อนหรือแข็งเวลาที่จับ ก็ปรากฏเป็น สีสันวัณณะต่างๆ ทางตา ซึ่งสีสันวัณณะต่างๆ ทางตา แยกออกจากมหาภูตรูปไม่ได้ เป็นรูปที่ปรากฏทางตา แต่ไม่ใช่มหาภูตรูป

    ตัวมหาภูตรูปเอง ไม่มีสีอะไรเลย พอใจไหมในมหาภูตรูปซึ่งไม่มีสี ทางตาพอใจสี หรือว่าพอใจมหาภูตรูป ทางตาพอใจสี ใช่ไหม สีต่างๆ ที่น่ายินดีน่าพอใจ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ตัวมหาภูตรูปเอง ไม่ใช่สี ไม่ใช่รูปารมณ์ แต่มีอุปาทายรูปปรากฏเป็นสีสันวัณณะต่างๆ เพราะฉะนั้น จึงอุปมาเหมือนกับนักเล่นกล เวลากระทบทางตาให้ทราบว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏที่จักขุปสาท แต่ว่าชวนะที่เป็นอกุศลพอใจ สั่งสมสันดาน ซึ่งยากเหลือเกินที่จะละได้ เพราะว่าเป็นไปอย่างละเอียดและแผ่วเบา

    วันนี้มีใครรู้สึกว่า มีอกุศลประเภทโลภะมากๆ บ้างไหม น้อยหรือมาก แต่โลภะอย่างเบาบางรู้ไหมว่า เกือบตลอดเวลา ทันที่ลืมตา วันนี้จิตใจสบายแช่มชื่น เริ่มแล้ว สั่งสมสันดานของความพอใจแล้ว และยังปรารถนาให้เป็นอย่างนั้นอยู่เรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้น การละกิเลสยากจริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจว่า จะละได้โดยรวดเร็ว หรือว่าโดยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    แต่การฟังธรรมจะเกื้อกูลได้ ท่านผู้ฟังเคยลองสังเกตไหมว่า ถ้าวันไหนท่านฟังธรรมมากๆ ที่เมืองไทยรายการธรรมทางวิทยุก็มีมาก เกือบจะตลอดเวลา ถ้าท่านเป็นผู้ฟังที่พิจารณาประโยชน์ที่จะได้รับจากการฟังธรรม ซึ่งก็มีธรรมหลายระดับ ล้วนแต่เกื้อกูล ถ้าพิจารณาแล้ว ก็เป็นไปในทางที่จะให้เป็นกุศลประการต่างๆ และส่วนใหญ่ถ้าเป็นไปในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ก็เป็นธรรมที่ถูกต้อง แต่ถ้าเป็นไปในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ท่านผู้ฟังจะต้องพิจารณาใคร่ครวญด้วยดี เพื่อที่จะได้อบรมเจริญปัญญาได้ถูกต้องจริงๆ และไม่ควรที่จะละเลยการฟังธรรมขั้นอื่นๆ ด้วย ซึ่งในขณะที่มีการฟังธรรม มีการพิจารณาธรรม สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ในขณะนั้นจิตผ่องแผ้ว ซึ่งต่างกับเวลาที่กุศลจิตไม่เกิด หรือสติปัฏฐานไม่เกิด แต่ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงสามารถรู้สภาพของจิตได้ว่า สภาพของจิตซึ่งเป็นกุศลต่างกับสภาพของจิตที่เป็นอกุศล

    ผู้ที่ยังมีอกุศลอยู่ ผู้ที่ยังมีปัจจัยให้อกุศลจิตเกิด อดไม่ได้ที่จะตื่นมาแล้วรู้สึกสบายใจสำหรับบางท่าน และสำหรับบางท่าน บางวาระ บางกาลตื่นมาแล้ว ก็หงุดหงิด ซึ่งก็แล้วแต่ว่าการสะสมที่โวฏฐัพพนจิต จะมนสิการให้วิถีจิตที่เกิดต่อ เป็นอกุศลประเภทใด หรือว่าเป็นกุศล

    . พูดถึงเรื่องรูป ๓ อาทิตย์ก่อน ผมอยู่ที่ลำปาง สนทนากับพระรูปหนึ่ง ท่านถามว่า รูปนั่งมีไหม ผมบอกว่า ไม่มี ท่านถามอีกว่า ที่นั่งอยู่นั้นคืออะไร ผมบอกว่า เป็นอาการของมหาภูตรูปและอุปาทายรูป ท่านก็ถามอีกว่า อาการของมหาภูตรูปและอุปาทายรูปเป็นรูปใช่ไหม ผมบอกว่า ใช่

    แค่นี้แหละ ท่านสรุปว่า เมื่ออาการของมหาภูตรูปและอุปาทายรูปเป็นรูป สติจะตั้งไว้ที่รูป ระลึกที่รูป รู้ที่รูปไม่ได้หรือ ผมก็ไม่รู้จะตอบท่านว่าอย่างไร ก็ขอถามอาจารย์ว่า รูปนั่งเป็นอาการของมหาภูตรูปและอุปาทายรูป ใช่ไหม และอาการของมหาภูตรูปและอุปทายรูปเป็นรูป ใช่หรือไม่ใช่

    สุ. อาการของมหาภูตรูป คือ อาการที่เบา อาการที่อ่อน อาการที่ควรแก่การงาน แต่ไม่ใช่ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน

    . ถ้าอย่างนั้น อาการของรูป ก็เป็นสติปัฏฐานได้

    สุ. สติของใครจะระลึกรู้อาการเบา อาการอ่อน อาการควรแก่การงานของมหาภูตรูปได้ ถ้าสติไม่ระลึกลักษณะของมหาภูตรูปก่อน เพราะอาการที่เบา อาการที่อ่อน อาการที่ควรแก่การงาน ไม่ใช่แยกออกจากมหาภูตรูป เพราะฉะนั้น เวลาที่มหาภูตรูปปรากฏที่กาย อย่าลืมว่า กายวิญญาณเป็นสภาพที่รู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวของมหาภูตรูปที่กระทบที่กายปสาท แต่ความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงานของรูป ปรากฏทางมโนทวาร ไม่ใช่ทางปัญจทวาร

    เพราะฉะนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะเอาสติไปตั้งที่อาการเบา อาการอ่อน อาการควรแก่การงานลอยๆ โดยที่ไม่รู้ลักษณะของมหาภูตรูป

    . วิการรูปทั้ง ๓ เป็นรูป สติก็ตั้งอยู่ที่รูป ที่นามได้

    สุ. ได้ แต่จะต้องรู้ว่า มหาภูตรูปปรากฏที่ไหน และวิการรูป คือ ลักษณะที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงานของมหาภูตรูป รู้ได้ที่ไหน ไม่ใช่แยกจากมหาภูตรูป

    . ใช่ อุปาทายรูปทั้งหมดต้องอาศัยมหาภูตรูปเกิด ความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงาน มีจริง เพราะฉะนั้น ถ้าความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงานเกิดขึ้นเมื่อไร สติก็ระลึกรู้ได้

    สุ. โดยไม่แยกจากมหาภูตรูป เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน อย่าลืมว่า เมื่อไม่แยกจากมหาภูตรูป ต้องมีลักษณะของมหาภูตรูปปรากฏ และมโนทวารวิถีจิตจึงจะรู้ลักษณะที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงานของมหาภูตรูปที่ปรากฏ ต่อจากทางปัญจทวาร หรือทางกายทวาร

    . มหาภูตรูปปรากฏ แต่ไม่ได้ใส่ใจในมหาภูตรูป ไปใส่ใจในวิการรูป ไม่ได้หรือ

    สุ. วิการรูปลอยๆ มีไม่ได้

    . วิการรูปลอยๆ มีไม่ได้ ใช่ แต่มหาภูตรูปมีอยู่ ไม่ได้ใส่ใจ

    สุ. เพราะฉะนั้น มหาภูตรูปจะไม่ปรากฏหรือ ในเมื่อมหาภูตรูปไม่ได้แยกกับวิการรูป เมื่อไม่ได้แยกจากวิการรูป จะมีลักษณะของวิการรูปปรากฏลอยๆ โดยลักษณะของมหาภูตรูปไม่ปรากฏได้หรือ

    ปัญญาต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง จึงจะไม่เข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะเวลาที่ลักษณะของมหาภูตรูปปรากฏ มหาภูตรูปที่ไม่มีลักษณะที่เบา ไม่มีลักษณะที่อ่อน ไม่มีลักษณะที่ควรแก่การงานก็อย่างหนึ่ง แต่มหาภูตรูปที่มี วิการรูป เป็นลักษณะที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงาน ก็อีกอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น การรู้ลักษณะของสภาพธรรมต้องรู้ตรงตามความเป็นจริง คือ ไม่แยกกัน แยกกันไม่ได้ จะมีการรู้วิการรูปลอยๆ โดยไม่มีมหาภูตรูปปรากฏไม่ได้ แต่ว่าลักษณะของมหาภูตรูปนั้นปรากฏที่กายทวาร ซึ่งทางมโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ รู้มหาภูตรูปนั้นเอง แต่ว่าทางมโนทวารวิถีจิตยังสามารถรู้ความละเอียดของมหาภูตรูปที่ปรากฏว่า มหาภูตรูปนั้นมีลักษณะที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงาน ต่างจาก มหาภูตรูปอื่นซึ่งเคยรู้ สติเคยระลึก ที่ไม่มีลักษณะที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงาน และขณะนั้นไม่มีท่าทาง ไม่มีรูปนั่ง ไม่มีท่าทางยืน ไม่มีท่าทางนอน ไม่มีท่าทางเดิน เพราะลักษณะของมหาภูตรูปที่ประกอบด้วยวิการรูปปรากฏ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๙๖๑ – ๙๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 83
    28 ธ.ค. 2564