รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 09


    ตอนที่ ๙

    แล้วแต่ปัญญา ถ้าเป็นการรู้ลักษณะของนามรูป ก็เป็นสติปัฏฐาน เป็นปัญญา ถ้าเป็นการที่จิตสงบเป็นสมาธิ ก็เป็นสมถภาวนา

    ขอกล่าวถึงอีกสูตรหนึ่ง คือ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค กิมิลสูตร ข้อ ๑๓๕๕ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้เมืองกิมิลา ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระกิมิละว่า

    ดูกร กิมิละ สมาธิอันสัมปยุตต์ด้วยอานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระกิมิละนิ่งอยู่ แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสถามท่านพระกิมิละว่า

    ดูกร กิมิละ สมาธิอันสัมปยุตต์ด้วยอานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    ท่านพระกิมิละก็นิ่งอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เป็นกาลสมควรที่พระองค์จะพึงตรัสสมาธิอันสัมปยุตต์ด้วยอานาปานสติ ข้าแต่พระสุคต เป็นกาลสมควรที่พระองค์จะพึงตรัสสมาธิอันสัมปยุตต์ด้วยอานาปานสติ ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

    ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ สมาธิอันสัมปยุตต์ด้วยอานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงอานาปานสติ คือ

    นั่งคู้บัลลังก์ มีสติ หายใจออก หายใจเข้า

    ต่อไปก็เหมือนกับในอานาปานบรรพ

    สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร

    เพราะเรากล่าวกายอันหนึ่ง ในบรรดากายทั้งหลาย ซึ่งได้แก่ลมหายใจออก และลมหายใจเข้า

    เพราะฉะนั้น นั่นแหละอานนท์ สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

    ที่จะมีผลมากมีอานิสงส์มากนั้น คือ จะต้องเห็นกายในกาย และมีความเพียร มีการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏในขณะนั้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร อานนท์ สมัยใดภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก จักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า

    จะเพียงให้รู้อยู่เฉพาะที่เดียวอย่างเดียวไม่ได้ ปัญญาไม่เจริญ ไม่สามารถที่จะละการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้ ถึงแม้ว่าในขณะที่หายใจออก หายใจเข้า มีปีติเกิดขึ้น ก็จะต้องเป็นผู้ที่กำหนดรู้ปีติ หรือแม้สุข

    ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก หายใจเข้า

    ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก หายใจเข้า

    สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

    ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเรากล่าวว่า เวทนาอันหนึ่งในบรรดาเวทนาทั้งหลาย ซึ่งได้แก่การกระทำไว้ในใจให้ดีซึ่งลมหายใจออกและลมหายใจเข้า เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ สมัยนั้นภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

    แม้ในขณะที่หายใจออกมีสติ หายใจเข้ามีสติ เวทนาความรู้สึกเกิดขึ้น สติก็จะต้องระลึกรู้ เพื่อละ ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร อานนท์ ในสมัยใดภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักกำหนดรู้จิต หายใจออก เราจักกำหนดรู้จิตหายใจเข้า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้บันเทิง หายใจออก เราจักทำจิตให้บันเทิงหายใจเข้า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก เราจักทำจิตให้ตั้งมั่นหายใจเข้า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเปลื้องจิต หายใจออก เราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า

    สมัยนั้น ภิกษุย่อมเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราไม่กล่าวซึ่งการเจริญสมาธิอันสัมปยุตต์ด้วยอานาปานสติสำหรับผู้มีสติหลง ไม่มีสัมปชัญญะ

    เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

    แม้จิต สติก็จะต้องระลึกรู้ เพื่อละการยึดถือจิตว่า เป็นตัวตน ในขณะที่หายใจออก หายใจเข้า

    ใน สมันตปาสาทิกา อรรถกถา พระวินัย มีข้อความอธิบายว่า

    บทว่า รู้แจ้งซึ่งปีตินั้น ก็คือ เมื่อปีติปรากฏ ขณะหายใจออก ขณะหายใจเข้า ในคำว่า รู้แจ้งปีตินั้น ปีติย่อมเป็นอันรู้แจ้งโดยอาการ ๒ อย่าง คือ โดยอารมณ์ ๑ และโดยไม่หลง ๑

    ที่ว่า ปีติ ย่อมเป็นอันรู้แจ้งโดยอารมณ์นั้นอย่างไร

    ในปฐมฌานก็ดี ในทุติยฌานก็ดี โดยจตุตถนัย อันเป็นไปกับด้วยปีติ ปีติย่อมเป็นอันภิกษุนั้น รู้แจ้งโดยอารมณ์

    คือ รู้ว่ามีปีติในขณะนั้น คนที่เจริญสมาธิไม่ใช่ว่าหลง ไม่ใช่ว่าขาดสติ ในขณะที่จิตจะเป็นปฐมฌาน มีองค์วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ก็รู้ ไม่ใช่ว่าไม่รู้ รู้ลักษณะของสิ่งที่มีเกิดขึ้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อมีปีติก็รู้ว่ามีปีติ นั่นเป็นอารมณ์อันภิกษุรู้แจ้งแล้ว

    ส่วนพยัญชนะที่ว่า ปีติ ย่อมเป็นอันภิกษุรู้แจ้ง โดยความไม่หลง อย่างไร

    คือ เมื่อออกจากฌานแล้ว พิจารณาปีติอันสัมปยุตต์ด้วยฌาน โดยความสิ้นไป โดยความเสื่อมไป ปีติย่อมเป็นอันภิกษุนั้นรู้แจ้งโดยความไม่หลง ด้วยการแทงตลอดลักษณะ ในขณะแห่งวิปัสสนา

    ปฐมฌาน เกิดแล้วดับไหม ธรรมชาติของสังขารธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดก็ตาม เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าปฐมฌานนั้นเกิดติดต่อกันนาน ก็มีการเกิดดับๆ สืบเนื่องติดต่อกันนาน แต่ว่าขณะสติระลึกรู้ลักษณะของปีติที่เกิดกับปฐมฌาน แล้วแทงตลอดในความเสื่อมไปความสิ้นไป คือ ปีตินั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป นั่นชื่อว่า โดยความไม่หลง ชื่อว่า ปีติย่อมเป็นอันภิกษุนั้นรู้แจ้งโดยความไม่หลง ด้วยการแทงตลอดลักษณะ ในขณะแห่งวิปัสสนา แยกเห็นไหมว่า โดยนัยของการเจริญสมถะเป็นอย่างไร โดยนัยของการรู้แจ้งปีติ ในการเจริญวิปัสสนานั้นเป็นอย่างไร

    พยัญชนะที่ว่า ในบท รู้แจ้งซึ่งสุข รู้แจ้งซึ่งจิตสังขาร มีข้อแปลกกัน คือ รู้แจ้งสุขด้วยฌาน ๓ โดยจตุตถนัย รู้แจ้งซึ่งจิตสังขารด้วยสามารถแห่งฌานทั้ง ๔ เพราะฉะนั้น จตุกะนี้โดยนัยของเวทนานุปัสสนา เพราะเหตุว่าเวทนาก็เป็นจิตสังขาร

    ที่ว่า รู้แจ้งปีติ รู้แจ้งสุข รู้แจ้งจิตสังขารนั้น เป็นเรื่องการรู้ลักษณะของเวทนา

    ส่วนพยัญชนะที่ว่า ยังจิตให้บันเทิง หายใจออก หายใจเข้า เป็นเรื่องของ จิตตานุปัสสนา

    ในขณะที่หายใจออก จิตมีลักษณะอย่างไร ในขณะที่หายใจเข้า จิตมีลักษณะอย่างไร ผู้ที่เจริญสติจะต้องพิจารณารู้ด้วยในขณะนั้น

    ที่ว่า ยังจิตให้บันเทิง บันเทิง คือ เบิกบาน มีความผ่องใส มีความเบิกบาน และความเบิกบานของจิตที่หายใจออก ที่หายใจเข้านั้น ก็มีโดยอาการ ๒ อย่าง คือ ด้วยสามารถแห่งสมาธิ ๑ และด้วยสามารถแห่งวิปัสสนา ๑ ที่ว่าเบิกบานด้วยสมาธินั้น คือ ภิกษุเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน โดยจตุตถนัย อันเป็นไปกับปีติ ย่อมยังจิตให้บันเทิงทั่ว คือ ย่อมให้ปราโมทย์ด้วยปีติอันสัมปยุตต์ ในขณะแห่งสมาบัติ

    เวลาที่เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน จิตใจก็บันเทิง เพราะว่ามีปีติเกิดร่วมด้วย

    ส่วนเบิกบานด้วยวิปัสสนานั้นอย่างไร

    เวลาที่เข้าปฐมฌาน หรือทุติยฌาน แล้วออกจากฌาน พิจารณาปีติที่เกิดร่วมกับฌานจิตนั้นโดยความสิ้นไปเสื่อมไป ย่อมบันเทิงปราโมทย์ นี่โดยนัยของวิปัสสนา

    ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดเจริญสติ พิจารณาลักษณะของนามและรูป แล้วประจักษ์ความเสื่อมไป สิ้นไป ความไม่เที่ยงของนามรูป มีปัญญารู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จะปีติปราโมทย์ไหม ถ้าท่านได้ประจักษ์สภาพธรรมซึ่งเป็นนามเป็นรูป ไม่ใช่ตัวตนทั่วถ้วน ไม่ว่าจะเป็นนามใดๆ รูปใดๆ เป็นมหาวิปัสสนา คลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เพราะมีนามรูปปริจเฉทญาณ รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูป เพราะรู้ปัจจัยของนามและรูปที่เกิดปรากฏว่า นามและรูปนั้นๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    เมื่อละคลาย รู้การเกิดดับสืบต่อกัน และยังสามารถที่จะมีปัญญาแทงตลอดในความไม่เที่ยง ความเกิดดับของนามและรูป จิตใจจะเป็นอย่างไร หดหู่ โศกเศร้า ท้อถอย หรือว่า บันเทิง ร่าเริง

    ขอให้เทียบดูลักษณะของจิตใจ ในขณะที่สติไม่เกิด อาจจะเป็นห่วงกังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนโน้นจะคิดอย่างไร คนนี้จะต้องการอะไร ทำอะไรไปแล้วจะถูกใจคนโน้นไหม จะดีไหม ล้วนแต่เป็นเรื่องกังวลทั้งสิ้นในขณะที่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย แต่พอระลึกได้ สติรู้เฉพาะลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ปล่อยแล้ว วางแล้ว มีแต่เฉพาะลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเพียงเท่านั้น ก็ทำให้เบาใจ ไม่ยึดถือ ไม่ห่วงใยเรื่องยุ่งๆ เมื่อสักครู่นี้

    นี่เป็นเพียงการเจริญสติที่ปัญญาเริ่มรู้ว่า สภาพนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามรูปแต่ละชนิดแต่ละลักษณะเท่านั้นเอง และถ้าสามารถจะประจักษ์ชัดถึงสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนยิ่งกว่านั้น คือ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความเบาใจ ความโล่งใจเพราะไม่ยึดถือนามรูปนั้นย่อมทำให้จิตใจปีติบันเทิงที่ได้รู้ความจริง ไม่ใช่เศร้าสร้อย เสียดายว่า ไม่ใช่เราอีกต่อไป นั่นไม่ใช่เรื่องปัญญา เรื่องของปัญญาเป็นโสภณเจตสิก เกิดกับโสภณจิต ถ้าเป็นมหากุศลจิต จะไม่ทำให้เกิดความทุกข์เลย ความรู้สึกเป็นทุกข์เป็นอกุศลจิต เป็นโทสมูลจิต ร้องไห้ โศกเศร้า คร่ำครวญ เสียดาย นั่นเป็นเรื่องของอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของธรรมแล้ว มีความบันเทิง เบาใจ โล่งใจ ไม่ยึดไม่ติดว่าเป็นตัวตน ไม่หลงผิด ไม่เข้าใจผิด พ้นจากความเคยเห็นผิด พ้นจากความเคยยึดถือ พ้นจากความเคยหลงผิดในสิ่งนั้นๆ เพราะฉะนั้น ความปีติ ความบันเทิงก็เกิด

    ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ถ้ามีปัญญาเพิ่มขึ้น ความบันเทิง ความเบาใจ ความโล่งใจก็เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ว่ายิ่งเจริญหน้าตายิ่งเหี่ยวแห้ง ทุกข์โศก ตรอมตรม ผอมดำยิ่งขึ้น เพราะเหตุว่าเป็นทุกข์ทั้งนั้น อะไรๆ ก็เป็นทุกข์ ปัญญารู้ทุกข์ แต่ไม่ใช่เป็นทุกข์เพราะปัญญา

    เพราะฉะนั้น ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ที่เห็นก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสในความผ่องใสเอิบอิ่มในธรรมของท่าน ไม่ใช่ว่าจะไปเคี่ยวเข็ญให้เป็นทุกข์ แต่ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ แล้วก็บันเทิง โล่งใจ ไม่ยึดไม่ถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ทางโสตทวาร กำหนดเสียงเป็นอารมณ์ ท่านบอกว่า เวลาเมื่อเสียงมากระทบโสตทวาร ก็เพียงรู้สักแต่ว่าเสียง ถ้าหาวกว่า เรามีสติรู้เพียงว่า สักแต่ว่าเสียง อย่างนี้ เราจะฟังอะไร ก็ฟังไม่รู้เรื่อง ถ้าหากว่ารู้ต่อไปก็จะเป็นการรู้บัญญัติไป สำหรับข้อนี้จะเป็นการผิดหรือถูก ขอให้อาจารย์ช่วยวินิจฉัย

    ท่านอาจารย์ เสียงก็เป็นของจริง นามที่รู้เสียงก็เป็นของจริง นามที่รู้ความหมายของเสียงก็เป็นของจริง สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน เสียงก็ไม่ใช่ตัวตน ปรากฏเฉพาะทางหูแล้วก็หมดไป ที่จะยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนนั้นไม่ได้ ธรรมชาติที่ได้ยิน ก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็หมดไป เมื่อธรรมชาติที่ได้ยินดับไปแล้ว ก็ยังเป็นปัจจัยให้จิตต่อๆ ไปเกิดขึ้น รวมทั้งจิตที่รู้ความหมายของเสียงที่ได้ยินด้วย เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติระลึกรู้ว่า ที่กำลังรู้เรื่องในขณะนี้ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่รูปธรรม แต่ไม่ใช่มีผู้หนึ่งผู้ใดไปกั้น เป็นอัตตาว่า ให้รู้เพียงแค่เสียง อย่าให้รู้เรื่อง เพราะเหตุที่สภาพที่รู้เรื่องเป็นของจริง แต่เป็นนามธรรม รูปรู้อะไรไม่ได้ รูปรู้ความหมายของสิ่งต่างๆ ไม่ได้ แต่ว่า นามธรรมนั้นเป็นธรรมชาติที่รู้ได้ เพราะฉะนั้นขณะใดที่รู้ความหมายของเสียง รู้เรื่องที่กำลังได้ยิน ขณะนั้นสติก็รู้ว่าธาตุที่รู้นั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ถ้าการเจริญสติปัฏฐานยับยั้งให้มีเพียงแค่เสียงกับได้ยิน ธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่เกื้อกูลกับสาวกเลย เพราะเหตุว่าไม่รู้เรื่องว่าทรงแสดงว่าอย่างไร มีแต่เสียงเท่านั้นเองเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเสียงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสียงนก เสียงใบไม้ เสียงลม ก็เป็นเพียงแค่เสียงเท่านั้น เพราะฉะนั้น ธรรมนั้นจะอุปการะเกื้อกูลแก่สาวกได้อย่างไร ถ้ามีการเจริญสติเพียงแค่เสียง แต่ที่ท่านอัญญาโกณฑัญญะบรรลุอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยสาวก เมื่อได้ฟังธรรม ธรรมเกื้อกูล อุปการะ อนุเคราะห์ ให้ท่านเข้าใจ แล้วก็มนสิการพิจารณารู้ชัดในลักษณะของธรรมทั้งปวงที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ตามความเป็นจริง ทางตามีนามมีรูป ทางหูมีนามมีรูป ทางจมูกมีนามมีรูป ทางลิ้นมีนามมีรูป ทางกายมีนามมีรูป ทางใจมีนามมีรูป สภาพของจิตที่รู้เรื่อง เป็นจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งสติจะต้องระลึกรู้ทางใจว่าลักษณะนั้นเป็นนามชนิดหนึ่ง มิฉะนั้นแล้ววันหนึ่งๆ ส่วนที่รู้เรื่อง รู้ความหมายนั่นเป็นอะไร ก็ต้องเป็นตัวตน ถ้าสติไม่ระลึกรู้ว่าเป็นนามชนิดหนึ่งเท่านั้น ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงบัดนี้ หรือแม้ในวัฏฏะที่ยืดยาว ก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นแต่เพียงนามและรูปชนิดต่างๆ ซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน โดยนัยของพระอภิธรรมก็ได้แสดงไว้ว่า เมื่อมีการได้ยินทางโสตทวาร นามรูปทางโสตทวารดับไปแล้ว นามรูปทางใจ ก็รับเสียงสัททารมณ์นั้นต่อ หลายขณะ และมีนามที่รู้ความหมาย เกิดต่อ แล้วก็ดับไป นามที่รู้ความหมายก็ดับ ไม่ใช่รู้ความหมายอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ดับ ถ้าเป็นบัญญัติธรรม ไม่มีการเกิดขึ้น ไม่มีการดับไป แต่ที่รู้ความหมายนั้น มีแล้วก็หมด เกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น สภาพที่รู้ความหมายนั้น เป็นนามชนิดหนึ่ง ซึ่งสติก็จะต้องระลึกรู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นเพียงนามชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่ได้ยิน จึงจะแยกโลกทั้ง ๖ โลกนี้ กระจัดกระจาย ไม่มีสาระ ไม่มีการยึดมั่นว่าเป็นตัวตนได้ ถ้ายังรวมติดกันอยู่ ไม่รู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของเสียงกับได้ยิน ของนามที่รู้เรื่อง เวลาที่สภาพธรรมนั้นหมดสิ้นไป ปัญญาก็ไม่รู้ชัดว่า เสียงดับ หรือได้ยินดับ หรือว่ารู้เรื่องดับ เพราะเหตุว่า ได้ยินก็รู้เรื่องแล้ว แต่สภาพที่รู้เรื่องนั้นเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ได้ยิน และไม่ใช่เสียงด้วย ถ้าเริ่มรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูปที่เกิดดับสืบต่อกัน ก็จะประจักษ์ว่า แต่ละนามแต่ละรูปนั้นไม่ใช่ประเภทเดียวกัน เกิดดับสืบต่อกันจริง แต่ว่าเป็นนามแต่ละชนิดเป็นรูปแต่ละชนิด แล้วก็จะไม่หวั่นไหว จะไม่มีตัวตนที่คอยไปกั้นเอาไว้ว่าเพียงแต่ให้ได้ยินเสียง ถ้าเพียงแต่ได้ยินเสียงแล้ว ธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่เกื้อกูล ไม่อุปการะแก่สัตว์โลกเลย ใครที่กำลังรู้เรื่อง ก็ต้องเป็นนามชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่โสตวิญญาณ เป็นนามอีกชนิดหนึ่ง เป็นสภาพที่รู้เรื่อง

    แล้วในวันหนึ่งๆ โดยตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีการรู้เรื่องรู้ความหมายของสิ่งที่รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจแล้ว รับประทานอาหารก็ไม่ได้ ทำกิจการงานก็ไม่ได้ นอนก็ไม่ได้ เจ็บไข้ได้ป่วย รับประทานยาก็ไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้เพราะไม่รู้อะไร แต่สภาพที่รู้นั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเองที่สติระลึกรู้แล้วก็หมดไป เพราะว่าเมื่อรู้เรื่องแล้วก็หมด แล้วก็มีเห็น แล้วก็มีได้ยิน แล้วก็มีสุข แล้วก็มีเสียง แล้วก็มีรูป แล้วก็มีกลิ่น ตลอดเวลาไม่เคยขาด เป็นเครื่องให้สติระลึกได้ทั้งสิ้น

    สำหรับพยัญชนะที่ว่า ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก หายใจเข้า มีข้อความอธิบายว่า

    ตั้งจิตไว้เสมอในอารมณ์ด้วยสามารถแห่งปฐมฌาน เป็นต้น

    ตั้งมั่น ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก คือการที่จิตอยู่ในอารมณ์หนึ่งเสมอๆ เรื่อยๆ นั่นเป็นลักษณะของสมถภาวนา เป็นลักษณะของปฐมฌาน ด้วยสามารถแห่งปฐมฌาน อยู่ที่อารมณ์นั้นตลอดเวลา

    อีกนัยหนึ่ง เมื่อออกจากฌาน พิจารณาจิตอันสัมปยุตต์ด้วยฌาน ด้วยองค์ฌานโดยความสิ้นไป เสื่อมไป เอกัคคตาแห่งจิตชั่วขณะย่อมบังเกิดขึ้นด้วยการแทงตลอดลักษณะในขณะแห่งวิปัสสนา

    ภิกษุตั้งจิตไว้เสมอ (คือวางไว้เสมอในอารมณ์) แม้ด้วยสามารถเอกัคคตาแห่งจิตชั่วขณะอันบังเกิดขึ้นอย่างนี้ เรียกว่า ย่อมศึกษาว่า เราจักตั้งจิตไว้มั่น หายใจออก หายใจเข้า

    ตั้งมั่นเพียงชั่วขณะเดียวที่รู้แจ้งลักษณะที่ไม่เที่ยง นั่นคือการตั้งจิตไว้มั่นโดยนัยของวิปัสสนา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    7 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ