รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 026


    ตอนที่ ๒๖

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    เป็นของที่แน่นอนทีเดียวที่ว่า ถ้าตายแล้ววันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ก็ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีกายของใครบ้างที่จะไม่เป็นอย่างนี้ แต่ใครจะรู้ว่า อาจจะเป็นเย็นนี้ พรุ่งนี้ อีกเดือนหนึ่ง หรือว่าอีกปีหนึ่ง ก็ไม่มีใครที่จะพ้นสภาพอันนี้ได้เลย ถ้ามีดินน้ำไฟลมเกิดขึ้นปรากฏแล้ว ก็ต้องดับไป เพราะเหตุว่า สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สภาพที่ไม่เที่ยงนั้น เป็นทุกข์ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ตั้งแต่เกิดทีเดียว เพียงขณะแรกที่เกิด รูปที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิตก็ดับ แล้วก็เกิดสืบต่อมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ความสิ้นไปของรูปที่เกิดปรากฏ มากเข้าๆ ก็ปรากฏให้เห็นเป็นความเสื่อม เป็นความแปรปรวนของร่างกาย ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็มีรูปที่เกิดจากกรรมบ้าง เกิดจากจิตบ้าง เกิดจากอุตุบ้าง เกิดจากอาหารบ้าง ไม่เหมือนกับซากศพที่มีแต่รูปที่เกิดจากอุตุ ไม่มีรูปที่เกิดจากกรรม ไม่มีรูปที่เกิดจากจิต ไม่มีรูปที่เกิดจากอาหาร และขอให้ดูว่า ต้นไม้ใบหญ้าทั้งหลายที่เกิดจากอุตุ ก็ยังไม่น่ารังเกียจ ไม่น่าเกลียดเท่ากับซากศพ เท่ากับดินน้ำไฟลมที่เกิดเพราะกรรม เพราะจิต เพราะอุตุ เพราะอาหาร แล้วเมื่อถึงกาลที่จะต้องเสื่อมสลายแปรปรวน ก็กลายเป็นซากที่ขึ้นพอง น่าเกลียด ยิ่งกว่าต้นไม้ใบไม้ที่มองเห็นเวลาที่ต้นไม้ใบไม้เหี่ยวแห้งตายไป ไม่น่ารังเกียจเท่ากับซากศพ ซึ่งทุกคนจะต้องเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครหนีพ้นเลย ควรระลึกถึงความจริงข้อนี้ ระลึกบ้างหรือเปล่า ควร แต่ไม่ค่อยจะระลึก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อให้ระลึกแล้วพิจารณารู้ชัดในลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ จุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐาน ก็เพื่อให้รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่เพราะเหตุว่า ไม่ค่อยจะระลึกรู้ลักษณะของจริงตามปกติ จึงต้องมีเครื่องระลึกรู้หลายๆ ประการ รวมทั้งความเป็นอสุภะของกายที่ทุกคนก็จะต้องเป็นอย่างนั้น ในวันหนึ่ง

    ถ. ความเป็นอสุภะนี้จะเป็นการพิจารณาในแง่ไหน คือจะพิจารณาในแง่ของความเป็นธาตุ หรือพิจารณาในแง่ของความเป็นปฏิกูล

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีการเห็น ยังไม่เป็นอสุภะ มีการได้ยิน มีกลิ่น มีโผฏฐัพพารมณ์ธัมมารมณ์กำลังปรากฏ ผู้ที่สามารถระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ ก็ระลึกรู้ แต่เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ หลงลืมสติกันมากทีเดียว แม้จะเห็นอสุภะก็ไม่ระลึก อาจจะเข้าใจว่า ขณะนั้นเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ จึงไม่ระลึกรู้ความเป็นอสุภะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จากกายภายนอกก่อนก็ได้ แล้วจึงจะน้อมมาระลึกถึงความเป็นอสุภะที่จะต้องเป็นซากศพในวันหนึ่ง แต่ว่าความรวดเร็วของจิต ความรวดเร็วของอารมณ์ ความรวดเร็วของสติ ไม่ใช่มีผู้หนึ่งผู้ใดไปวางกฎเกณฑ์ว่า ให้ระลึกเป็นขั้นๆ อย่างไร เพราะเหตุว่าในขณะที่ระลึกเช่นนั้นแล้ว สติอาจจะเกิดขึ้นรู้ว่า แม้การระลึกอย่างนั้นก็เป็นนามชนิดหนึ่งเท่านั้น จึงจะตรงกับสติปัฏฐาน แต่อสุภะเป็นเครื่องให้ระลึก ไม่ควรที่จะให้เห็นอสุภะแล้วหลงลืมสติ แต่ทั้งหมดเพื่อให้รู้ชัดในลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ แต่ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้น เป็นเครื่องให้ระลึกได้ ถ้าไม่ตรัสไว้ในสติปัฏฐานสูตร เวลาที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดเห็นอสุภะ จะระลึกไหม ไม่ระลึก เพราะคิดว่าเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ แต่ความจริงแล้วทุกขณะทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเห็นอะไรก็ตาม ถ้าเนื่องกับกาย ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แม้แต่เห็นอสุภะที่ขึ้นพอง แทนที่จะผ่านไป ก็ขอให้เป็นที่ให้สติระลึก และปัญญารู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    ถ. เวลาเห็นอสุภะ จะเจริญสติปัฏฐานอย่างไร

    สุ. เรื่องของการที่ไม่รู้จะเจริญสติปัฏฐานอย่างไร เป็นเรื่องที่ไม่รู้ทั้งนั้น ไม่ใช่เฉพาะอสุภะ กำลังนั่ง กำลังนอน กำลังยืน กำลังเดิน กำลังเห็น กำลังพูด ก็ไม่รู้ว่าจะเจริญสติปัฏฐานอย่างไร เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นอสุภะ ก็ไม่รู้ว่าจะเจริญสติปัฏฐานอย่างไร

    แต่ผู้ที่เข้าใจถูกว่า สติเป็นสภาพที่ระลึกได้ แล้วความที่เป็นปุถุชนผู้หนาแน่นด้วยกิเลสนั้น ก็ทำให้เป็นผู้ที่หลงลืมสติอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น จึงสะสมเหตุปัจจัยด้วยการอบรมเจริญสติเนืองๆ บ่อยๆ ทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาลมหายใจก็ได้ หรือว่าธาตุก็ได้ หรือว่าส่วนต่างๆ ของร่างกายก็ได้ หรือแม้อสุภะ ซากศพที่ปรากฏก็ได้ ทุกโอกาสที่สติจะระลึกรู้เป็นไปในกายได้

    บรรพต่อไป ก็เป็นเรื่องของอสุภะเช่นเดียวกัน สำหรับอสุภะทั้งหมดมีด้วยกัน ๙ บรรพ ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า อันฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขจิ้งจอกกัดกินอยู่บ้าง หมู่สัตว์ตัวเล็กๆ ต่างๆ กัดกินอยู่บ้าง เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในและภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    ถ้าไม่ระลึกอย่างนี้จะเป็นอย่างไร สีสวยจริง รูปสวยจริง มีความยินดีพอใจเกิดขึ้น แต่ถ้าระลึกได้ก็ไม่ติด สติสามารถที่จะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ จึงควรระลึกเนืองๆ ถึงความเป็นอสุภะ ความเป็นซากศพ

    เวลานี้เหมือนกับทุกคนยังไม่เป็นอย่างนั้นเลย แต่ว่า อีกร้อยปีผ่านไป กระดูกทุกชิ้นที่อยู่ที่นี่ ก็เหมือนกับป่าช้าแห่งหนึ่ง เวลานี้ยังไม่เป็น มีมนุษย์ มีชีวิต อยู่กันเยอะแยะทีเดียว พูดคุย ยิ้มแย้มกัน สนุกสนานรื่นเริง แต่อีกร้อยปีจะเหลืออะไร เนื้อเหลือไหม ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะปรากฏความเป็นอสุภะ ถ้าคิดอย่างนี้ ในขณะนี้ ถึงเห็นมีเนื้อมีหนัง ก็เหมือนกับกระดูก ระลึกได้ไหมอย่างนี้ ถ้าไม่ระลึกก็เพลินไป สวย ชอบ ถูกใจ เพลินไปแล้ว แต่ระลึกสักหน่อยเถิดว่า นั่นกระดูก หรือว่าเนื้อ ก็แล้วแต่จะฉาบทาติดเอาไว้มากน้อยเท่าไรตามกาลเวลาที่ว่า ตอนแรกก็อาจจะขึ้นพอง แล้วก็มีสีเขียวน่าเกลียด ต่อไปจนกระทั่งถึงความเป็นกระดูก ขอให้ระลึกได้เพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น

    ขอเรียนให้ทราบว่า เพราะเหตุใด อสุภะจึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    เพราะเหตุว่า ทั้งๆ ที่บุคคลอบรมเจริญสติ เนืองๆ บ่อยๆ ระลึกรู้ลักษณะของนามบ้าง รูปบ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง แต่ยังไม่บรรลุอริยสัจจธรรม ยังมีกิเลส เป็นปัจจัยให้กิเลสเกิดขึ้น อกุศลธรรมเกิดขึ้น นานาชนิด ในวันหนึ่งๆ มากมายแล้วแต่ว่าใครจะสะสมมามากน้อย

    ขอกล่าวถึง สมณพราหมณสูตรที่ ๓ ซึ่งมีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์บางพวกย่อมไม่ทราบชัด ซึ่งปฐวีธาตุ เหตุเกิดแห่งปฐวีธาตุ ความดับแห่งปฐวีธาตุ ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งปฐวีธาตุ ย่อมไม่ทราบชัดซึ่งอาโปธาตุ ... ซึ่งเตโชธาตุ ... ซึ่งวาโยธาตุ เหตุเกิดแห่งวาโยธาตุ ความดับแห่งวาโยธาตุ ปฏิปทา เครื่องให้ถึงความดับแห่งวาโยธาตุ สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น ย่อมไม่ได้รับสมมติว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ ไม่ได้รับสมมติว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ และท่านเหล่านั้น ย่อมไม่กระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ หรือประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ฯ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์บางพวกย่อมทราบชัด ซึ่งปฐวีธาตุ เหตุเกิดแห่งปฐวีธาตุ ความดับแห่งปฐวีธาตุ ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งปฐวีธาตุ ย่อมทราบชัด ซึ่งอาโปธาตุ ... ซึ่งเตโชธาตุ ... ซึ่งวาโยธาตุ เหตุเกิดแห่งวาโยธาตุ ความดับแห่งวาโยธาตุ ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งวาโยธาตุ สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น ย่อมได้รับสมมติว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ ได้รับสมมติว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ และท่านเหล่านั้นย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ หรือประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดังนี้ ฯ

    ดูเหมือนเรื่องคนอื่นใช่ไหม สมณะ กับ พราหมณ์ แต่ความจริงไม่ใช่ เป็นเรื่องของท่านผู้ฟังเอง ที่กำลังจะเจริญสติปัฏฐาน หรือที่กำลังเจริญสติปัฏฐาน คำว่า สมณะ หมายความถึง ความเป็นผู้สงบ หรือผู้สงบ หรือธรรมของผู้สงบ คำว่า พราหมณ์ หมายถึง ผู้ประเสริฐ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เป็นสมณะ เป็นพรามหณ์ โดยความหมายที่ว่า กำลังเจริญข้อประพฤติปฏิบัติของผู้สงบ ผู้ดำเนินไปสู่ความสงบจากกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นผู้ประเสริฐ คือ ผู้ที่ดำเนินไปสู่ความสงบจากราคะโทสะ โมหะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็สมณะหรือพราหมณ์บางพวกย่อมไม่ทราบชัด ซึ่งปฐวีธาตุ เหตุเกิดแห่งปฐวีธาตุ ความดับแห่งปฐวีธาตุ ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งปฐวีธาตุ แล้วก็ธาตุอื่นๆ อาโป เตโช วาโย สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น ย่อมไม่ได้รับสมมติว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ ไม่ได้รับสมมติว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ และท่านเหล่านั้น ย่อมไม่กระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ หรือประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ฯ

    ไม่มีผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน แล้วไม่รู้ลักษณะของธาตุที่ปรากฏที่กาย เพราะอะไร สิ่งนั้นปรากฏ แล้วก็เป็นผู้เจริญสติ เพื่อให้ปัญญารู้ชัด ถ้าไม่รู้ชัดในสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วปัญญาจะรู้อะไร รู้อะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้น ท่านเป็นผู้ที่รู้ชัดในปฐวีธาตุแล้วหรือยัง ถ้าไม่รู้ซึ่งความเกิด ซึ่งความดับ ซึ่งข้อปฏิบัติให้รู้ชัดในความเกิดความดับแล้ว จะไม่ใช่สมณะในหมู่สมณะ ไม่ใช่พราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ ไม่มีปัญญาที่จะละคลายกิเลสได้ ข้ามไม่ได้ อย่าไปหลงแสวงหาสิ่งอื่นที่ไม่ปรากฏ ด้วยความเข้าใจผิด แล้วละเลยที่จะพิจารณาแล้วรู้ชัดสิ่งที่กำลังปรากฎ นี่เป็นพระดำรัสโดยตรงจากพระไตรปิฏก ซึ่งจะมีท่านใดไม่เห็นด้วย คัดค้าน ไม่ให้รู้ที่แข็ง ที่อ่อน ที่ร้อน ที่เย็น ที่ตึง ที่ไหว

    ผู้ฟัง สงสัยตรงที่ ให้รู้ความเกิดของปฐวีธาตุ และความดับของปฐวีธาตุ เหมือนกับให้รู้ความดับของนามรูป ดูเหมือนเป็นนัยอันเดียวกัน สงสัยว่า รูปนี้เป็น จิตตชรูปหรืออุตุชรูป อาหารชรูปหรือกรรมชรูป และในตำราต่างๆ ก็ใช้คำว่า รูปเกิดดับ เท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ หรือ ๕๑ ขณะเล็ก

    ท่านอาจารย์ ปฐวีก็ได้กล่าวถึงแล้วในคราวก่อน หมายถึง รูปที่มีลักษณะแค่นแข็ง ถ้าจะใช้คำว่า อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ก็ได้ นั่นเป็นลักษณะของปฐวีธาตุ สำหรับรูป มี ๒๘ รูป ก็ได้จัดเป็นประเภทว่า รูปใดเกิดขึ้นจากกรรม เกิดขึ้นจากจิต เกิดขึ้นจากอุตุ เกิดขึ้นจากอาหาร เพราะเหตุว่า สมุฏฐานที่ทำให้เกิดรูปนั้นมี ๔ สมุฏฐาน แต่ผู้เจริญสติ สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของรูปก่อน จะรู้ไหมว่า ขณะนั้นเป็นรูปที่เกิดจากกรรม หรือเกิดจากจิต หรือเกิดจากอุตุ หรือเกิดจากอาหาร ไม่รู้ เพราะว่า ปัญญาต้องเริ่มเจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ขั้นแรกที่สุด ขอให้รู้ลักษณะของรูปแต่ละรูปที่กำลังปรากฏ ที่กล่าวว่าเกิด ก็เพราะเหตุว่า ทุกอย่างมีปัจจัยทำให้เกิดแล้วดับ ไม่ใช่ว่าตั้งอยู่ให้รู้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ในขณะที่สติระลึกถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็หมายความว่า สิ่งนั้นเกิดแล้วจึงได้ปรากฎ แล้วเมื่อรู้ลักษณะนั้นมากขึ้น ก็จะรู้ด้วยว่า ขณะนั้น สติ กำลังรู้ลักษณะของรูปชนิดใด และรูปชนิดนั้น ก็ไม่ได้ตั้งยั่งยืน ปรากฏแล้วก็หมดไป จะให้สติไปตามรู้อยู่เรื่อยๆ ได้ไหม ไม่ใช่ของจริงโดยลักษณะนั้น ลักษณะที่ให้จิตไปจดจ้องรู้อยู่ที่รูปเดียวตลอดเวลา นั่นไม่ใช่ลักษณะที่เป็นจริงของรูป ไม่ใช่ลักษณะที่เป็นจริงของนาม ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับอยู่เรื่อยๆ สติก็ดับ แล้วสติก็ระลึกลักษณะของรูปอื่น หรือว่า นามที่กำลังปรากฏในขณะนั้นก็ได้ ไม่ใช่ให้สติไม่ดับ ให้รูปไม่ดับ ให้รู้ไปอยู่เรื่อยๆ จดจ้องอยู่อย่างนั้น นั่นไม่ใช่ความจริง การรู้อย่างนั้นไม่ใช่รู้สิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏแล้วหมดไป สืบต่อกันอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ในการศึกษา ศึกษาจากพระปัญญาคุณที่ได้ทรงแสดงธรรมไว้ตามความเป็นจริง โดยละเอียด ซึ่งผู้ประพฤติปฏิบัติเพื่อจะให้เกิดปัญญารู้ชัด จะต้องเริ่มเป็นลำดับขั้น ด้วยปัญญาของตนเอง เข้าถึงอยู่ ไม่ใช่เอาปัญญาของท่านผู้อื่นมากระทำ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ที่จะไปรู้ว่า รูปหนึ่งดับไป เท่ากับ ขณะเล็กของจิต ๕๑ ขณะ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่า ยังไม่ได้รู้ลักษณะของรูป ยังไม่ได้รู้ลักษณะของนาม ยังไม่ได้ละคลายความไม่รู้ ความสงสัยในนามรูปทั้ง ๖ โลก ซึ่งเกิดสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว จะตั้งกฏเกณฑ์จะไปประจักษ์อย่างนั้น อย่างนี้ ไม่ได้

    สำหรับเรื่องธาตุทั้ง ๔ มีอยู่ตลอดเวลา ทั้งภายใน ทั้งภายนอก แต่ว่า การที่จะละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตนนั้น ก็แสนที่จะยาก และไม่ได้ยากแต่เฉพาะบุคคลในครั้งนี้ แม้บุคคลในครั้งพุทธกาล ก็เช่นเดียวกัน สัตวโลกในสมัยนี้ฉันใด ในครั้งพุทธกาลก็ฉันนั้น ไม่ต่างกัน คนในสมัยนี้ มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ มีความเห็นผิดยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ฉันใด คนในครั้งโน้นก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ ก็อุปการะให้ท่านที่กำลังเจริญสติ ได้มีความเห็นถูก แล้วละคลายความยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เพราะเหตุว่า ถึงแม้ว่า สติจะระลึกรู้ลักษณะของนาม ของรูป ก็ไม่ใช่ว่าจะละคลายได้โดยง่าย ผู้ที่เป็นอุคฆฏิตัญญูนั้นมีน้อย (คือ ผู้ที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็วเปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำเมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที) ผู้เป็นวิปัญจิตัญญูนั้นมีน้อย (คือ ผู้ที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติมจะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป) ส่วนผู้ที่เป็นเนยยบุคคลนั้น (คือ พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิเมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธาปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง) ก็ต้องเจริญสติปัฏฐานมาก ระลึกรู้นามรูป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า บ่อยๆ เนืองๆ จนกว่าจะชิน จนกว่าจะคลาย ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะละคลายได้โดยรวดเร็ว ถ้าผู้นั้นไม่ได้สะสมอบรมอินทรีย์มาแก่กล้า

    ถึงแม้ท่านพระราหุล ก็คงจะได้ทราบ ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมกับท่านพระราหุล ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภาค ๑ มหาราหุโลวาทสูตร ณ พระวิหารเชตวัน

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จบิณฑบาตรในนครสาวัตถี มีท่านพระราหุลเป็นปัจฉาสมณะ ตามหลังพระผู้มีพระภาคไป พระผู้มีพระภาคได้ทรงโอวาทท่านพระราหุล ซึ่งก็ทำให้ท่านกลับไป เพราะเห็นว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสโอวาทแก่ท่านแล้ว ท่านก็ควรที่จะเจริญสมณธรรม เมื่อท่านกลับจากที่นั้นแล้ว ก็นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง. ท่านพระสารีบุตรได้เห็นท่านพระราหุลผู้นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง แล้วบอกกะท่านพระราหุลว่า ดูกรราหุล ท่านจงเจริญอานาปานสติเถิด ด้วยว่า อานาปานสติภาวนาที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก. ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระราหุลออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. แล้วได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงจะมีผล มีอานิสงส์

    เวลาที่อ่านพระสูตรหรือศึกษาพระสูตร ตอนแรกๆ ก็อาจจะข้ามพยัญชนะ ไม่ค่อยได้คิดถึงเหตุผลว่า เพราะเหตุใดบุคคลจึงกล่าวกะบุคคลนั้นว่าอย่างนั้น แต่ถ้าอ่านซ้ำหลายๆ ครั้ง ก็อาจจะได้ความแจ่มแจ้งถึงเหตุถึงผลได้ แล้วก็เข้าใจได้โดยตลอดว่า เพราะเหตุใด ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวกะท่านพระราหุลอย่างนั้น แต่ว่า เวลาที่พระราหุลออกจาที่เร้นแล้ว ก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคและได้ทูลถามว่า อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงจะมีผล มีอานิสงส์ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ท่านพระราหุลเจริญอานาปานสติภาวนา ตลอดเวลาเหล่านั้นใช่ไหม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของรูป ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ท่านพระราหุล


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    25 เม.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ