รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 027


    ตอนที่ ๒๗

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ท่านพระราหุลเจริญอานาปานสติภาวนา ตลอดเวลาเหล่านั้นใช่ไหม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของรูป ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ท่านพระราหุลท่านก็บรรพชาอุปสมบท เจริญสติปัฏฐาน เป็นเวลานานไม่ใช่เป็นเวลาเพียงนิดหน่อย ท่านพระภิกษุในครั้งโน้นท่านมีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เจริญสติปัฏฐานกันวันแล้ววันเล่า แต่ว่าการที่จะละคลายการยึดถือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นนก็เป็นสิ่งที่ยาก และก็เป็นสิ่งที่ต้องเจริญเป็นเวลานาน ไม่ใช่เพียงชั่วเวลานิดหน่อย ก็จะมีปัญญารู้แจ้งแทงตลอดกันได้อย่างที่หวัง หรืออย่างที่คิดเอาไว้ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงลักษณะของรูป ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ยังต้องแสดงกับท่านพระราหุลด้วย เรื่องที่ทรงแสดงก็ไม่พ้นไปจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ถึงแม้ว่าจะระลึกลักษณะของนามทางตา รูปทางตา นามทั้งหู รูปทางหู ทำจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ยังไม่คลาย ยังไม่ละ ปัญญายังไม่เพิ่มสมบูรณ์ขึ้นถึงขั้นที่จะหมดสิ้นอาสวะกิเลสก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยพระธรรมเทศนา ซึ่งบรรดาท่านพระภิกษุเหล่านั้น ท่านก็ไปเฝ้าไปฟังธรรมเป็นปกติ และพระธรรมที่ทรงแสดงก็เป็นชีวิตจริงๆ ตามปกติ ไม่ได้ให้กั้นไว้หรือไม่ได้ให้ยับยั้ง ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ที่ผิดปกติเลย จะเห็นได้จากมหาราหุโลวาทะสูตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงลักษณะของรูป คือธาตุดินส่วนต่างๆ ได้แก่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อย่างในปฏิกูลมนสิการบรรพ ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยความว่า ส่วนต่างๆ เหล่านั้นเป็นปฐวีธาตุภายใน แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็ปฐวีธาตุ เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด ปฐวีธาตุนั้นเป็นปฐวีธาตุเหมือนกัน. ปฐวีธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้. เพราะบุคคลเห็นปฐวีธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้วย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในปฐวีธาตุ.

    แล้วต่อไปก็เป็นอาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาศธาตุ อย่างข้อความที่ได้กล่าวในสูตรต่างๆ พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนา (อบรมจิต) เสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

    ได้ความเข้าใจจากพยัญชนะหรือพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคตอนนี้บ้างไหม ไม่มีเลยที่จะให้บังคับที่จะให้กั้น แต่ว่าให้เจริญอบรมจิตเสมอด้วยแผ่นดิน เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. ไม่ได้ห้ามว่าอย่าเกิด มีไหมว่า กลั้นไว้อย่าให้เกิดโลภ อย่าให้เกิดความพอใจไม่พอใจ มีไหมในพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำ ไม่ครอบงำด้วยความเป็นตัวตน ด้วยทิฏฐิ ด้วยตัณหา ด้วยมานะ นี่คือประโยชน์ที่ได้รับจากการฟังพระดำรัสโดยตรงทีเดียว เกื้อกูลแก่การเจริญสติปัฏฐาน ให้เจริญได้ถูกต้องด้วย ไม่ได้บังคับท่านพระราหุลว่าอย่าให้ไปประสบกับอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ อย่าให้เกิดโลภะโทสะหรืออะไรเลย เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะเป็นท่านพระราหุล หรือท่านพระภิกษุในครั้งนู้น ซึ่งมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีวิบากกรรมที่ได้สะสมที่จะได้กระทบอารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่พอใจบ้างไม่พอใจบ้าง เมื่อกิเลสยังมีเป็นเหตุปัจจัย ก็เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าไม่เกิด แต่ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ จักไม่ครอบงำ ก็เพราะผู้นั้นเจริญสติ เวลาที่ให้เจริญอบรมจิตเสมอด้วยแผ่นดิน ไม่ใช่ให้นึกเอา แต่ว่าท่านพระราหุลท่านก็เจริญสติปัฏฐาน ได้ฟังธรรม ระลึกในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ในนาม ในรูป ทางตา ทางหู ทั้งจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ถ้าจิตยังไม่เสมอด้วยแผ่นดิน ย่อมทำให้ยึดถือนามรูปที่กำลังกระทบด้วยความพอใจไม่พอใจ ด้วยความเป็นตัวตน ด้วยทิฏฐิบ้าง ด้วยตัณหาบ้าง ด้วยมานะบ้าง แล้วแต่คุณธรรมของบุคคลผู้กำลังเจริญสติ เวลาที่กระทบกับความชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้าง ขณะที่ไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามเป็นแต่เพียงรูป ไม่ละไม่คลาย ย่อมถูกครอบงำด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้างในขณะนั้นได้ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคปรับให้ท่านพระราหุลละคลายความที่จะยึดถือให้จิตที่กำลังเจริญอบรมภาวนานั้นเสมอด้วยแผ่นดินพี่จะไม่ยึดมั่นด้วยความเป็นตัวตน หรือว่าด้วยตัณหา ด้วยมานะใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่พยัญชนะที่ว่า ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง เมื่ออาจารย์อธิบายมาถึงตอนนี้ ก็จะเอาเรื่องของสำนักหนึ่ง ได้สอนปฏิบัติตอนหนึ่งว่า ให้เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะปรากฏได้ชัด และผู้ที่เป็นเนยยะบุคคลอย่างพวกเราสมัยนี้ ควรอย่างยิ่ง ส่วนเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานจะเจริญไม่ได้ เพราะเป็นของผู้ที่ฉลาด ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่า จะตั้งอยู่ในฐานของอภิชชาและโทมนัส เพราะเวทนานี้ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานก็จะพบอิฏฐารมณ์บ้าง อนิฏฐารมณ์บ้าง คำว่าพบอิฏฐารมณ์ จิตใจยังโง่เป็นเนยยะบุคคล ก็ไม่สามารถที่จะเจริญวิปัสสนาให้เป็นไปได้ เกิดนิมิตรเป็นไปทางโลภะก็ดี โทสะก็ดี ไม่ตรงกับวิปัสสนาที่ว่า จะต้องให้เป็นไปทางที่ไม่มีอภิชชาและโทมนัส นี่เป็นข้อความตอนหนึ่งของสำนักวิปัสสนามีชื่อแห่งหนึ่ง จึงเรียนมาขอแจ้งให้สาธุชน ได้ฟังเทียบ ก็เห็นจะมีประโยชน์อยู่บ้างไม่มากก็น้อย

    ท่านอาจารย์ จุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐานเพื่อปัญญารู้ชัด ไม่ใช่เพื่อไม่รู้ ไม่รู้นู่นไม่รู้นี่ไม่รู้นั่น นั่นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน พระโสดาบันในอดีต มีปัญญารู้ชั้นในโลก ๖ โลก ตามความเป็นจริงอย่างไร ในนามและรูปทั้งปวง ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตนอย่างไร พระโสดาบันในสมัยนี้ หรือว่าในกาลต่อไปข้างหน้า ก็ต้องรู้อย่างนั้น รู้แจ้งอริยสัจจ์เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ไม่รู้ มีไหมในพระไตรปิฎกที่บอกว่าไม่ให้รู้ แล้วดีไหมเจริญความไม่รู้ เวทนาความรู้สึกมีไหม มี เป็นตัวตนทุกขณะที่ไม่ระลึกรู้ ใช่ไหม แล้วเมื่อไหร่จะรักกันสักที ถ้าไม่รู้ แต่จะตรวจสอบได้ว่า ข้อความใดที่ไม่ใช่เหตุผลจะไม่ปรากฏมีในพระไตรปิฎก ที่จะไม่ให้รู้เวทนานั้น ไม่มี และในตอนต้นในสูตรทั้งหลายที่ได้กล่าวถึงเรื่องธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็มีเรื่องของการรู้ชัดในความแช่มชื่นของปฐวีธาตุ หมายความถึงนามหรือรูป ความแช่มชื่น สุขโสมนัสที่เกิดจากปฐวีธาตุดิน ก็ต้องรู้ชัด ไม่ใช่ไม่รู้ ไม่ใช่ให้รู้แต่เฉพาะลักษณะที่แข็งอย่างเดียวแล้วก็จะเป็นพระอริยเจ้า การที่จะเป็นพระอริยบุคคลได้ ปัญญาต้องรู้ชัดแล้วละคลายความไม่รู้ ความสงสัย ความเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปเป็นตัวตนได้หมดสิ้น ถ้าปกติในชีวิตประจำวัน ไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปที่เป็นตัวของท่านจริงๆ เลย เมื่อไหร่จะรู้ได้ ของจริงหรือเปล่าทุกวันๆ นี้ แล้วไม่รู้ไปเรื่อยๆ หนีแล้วเมื่อไหร่จะละได้ มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ถามว่า มีบางท่านกล่าวว่า ผู้ที่ไม่ไปสู่สำนักปฏิบัตินั้นเป็นเพราะกิเลส ดิฉันขอเรียนถามว่า ผู้ที่ไปสำนักปฏิบัติมีความต้องการอะไร ความต้องการนั้นเป็นกิเลสหรือไม่ใช่กิเลส ในขณะนี้มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ที่กำลังเป็นของจริง เป็นปัจจุบัน ไม่ใช่อนาคต ไม่ใช่อดีต กำลังเกิดขึ้นกำลังปรากฏ ถ้าปัญญาไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จะชื่อว่าปัญญาไหม สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้รู้ได้ไหม นี้เป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วก็จะต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ใช่ไหม แต่ถ้าไป ไปด้วยความต้องการ ไม่ได้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏก่อนจะไปเลย ที่กำลังเป็นความจริง ที่ไปนั้นต้องการไหมถึงได้ไป ถ้าไม่มีความต้องการ ทำไมไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เป็นปัจจุบันในขณะนั้น เพราะฉะนั้นผู้ที่ไปหรือผู้ที่ไม่ไปเป็นผู้ที่มีความต้องการ ผู้ที่ไม่ไประลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทันที ระลึกได้กำลังเป็นปัจจุบัน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่มีความต้องการที่จะไปรู้อย่างอื่น ที่อื่น ไม่มีโทมนัสที่จะไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่มีอภิชาและโทมนัสใดๆ จึงระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทันที ไม่ได้มีความต้องการหวังที่จะไป นั่นเป็นความหวังนั่นเป็นโลภะ นั่นเป็นอภิชชาที่จะไปรู้อย่างอื่น และมีโทมนัสที่จะไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ ที่ผู้อื่นระลึกได้ทันทีเพราะไม่มีความต้องการมาปิดกั้น แล้วอีกประการหนึ่ง ไปแล้วไม่รู้ ไม่ใช่ไปแล้วรู้ ไปแล้วไม่รู้อะไร ไปแล้วไม่รู้นามรูปตามปกติที่เป็นชีวิตจริงๆ ที่ไปนี้ทำให้ไม่รู้นามและรูปที่เป็นปกติในชีวิตจริงๆ ที่เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย ไปไม่รู้ ไม่ใช่ไปรู้ ไปแล้วไม่รู้ ใช่หรือไม่ ถ้ารู้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นชีวิตจริงๆ ก็รู้เดี๋ยวนี้สิ ที่ยังไม่ไป นั่นเป็นการรู้ชีวิตจริงๆ ตามปกติ ไม่ใช่ไม่รู้ แต่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นปกติในชีวิตจริงๆ แต่ผู้ที่ไป ไปแล้วไม่รู้ชีวิตจริงๆ ตามปกติ จะชื่อว่ารู้ได้ไหม ไม่มีหนทางที่จะกลับมารู้ชีวิตจริงๆ ตามปกติ ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของนามรูปที่กำลังปรากฏ ในชีวิตปกติประจำวัน ชื่อว่ามีอวิชชา ไม่พ้นจากอวิชชาไปได้เลย ผู้ที่จะเกิดวิชารู้ความจริงก็ต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนี้เป็นปัจจุบัน ขอให้เข้าใจคำว่าปัจจุบันไว้ด้วย คือขณะนี้ ไม่ต้องรอ ไม่ต้องผัด ไม่ต้องคอย นามใดรูปใดก็ได้ จะเป็นโลภะ จะเป็นโทสะ จะเป็นตา เป็นหู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ได้ทั้งนั้น กำลังเป็นของจริงที่สติจะต้องรู้ชัด จึงจะไม่ใช่อวิชชา เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ขอให้พิจารณาเหตุผลด้วย บางทีฟังทันทีเชื่อตามทันที ได้ยินว่าคนที่ไม่ไป ไปไม่ได้เพราะมีกิเลส เชื่อทันที

    ไปสำนัก ไปทำไม เวลานี้ไม่มีรูปนามหรือ ทำไมไม่ระลึก

    ถ. ที่สำนักเขามีคนคุม

    ท่านอาจารย์ คุมไม่ให้เป็นบ้า ก็เดี๋ยวนี้เป็นปกติทำไมจะต้องไปทำให้เป็นบ้า ขอประทานโทษ มีปรากฏในพระไตรปิฎกไหม ถ้าไม่มีก็ไม่ควรจะสนใจ ใครจะเป็นยังไงก็เป็นเรื่องของนอกพระไตรปิฎก บุคคลในครั้งหนอนจะไปที่ไหน ก็เป็นผู้มีปกติเจริญสติ ไม่ใช่ห้ามการไป ไปวัด ไปธุระ ไปที่ไหนก็ตาม เกิดมาแล้วไม่ไปไม่มี ไป แต่เป็นผู้มีปกติเจริญสติ ไม่ใช่เป็นผู้เข้าใจผิด คิดว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้นอยู่ที่บ้าน อยู่ที่ชีวิตปกติชีวิตประจำวัน หรือแจ้งอริยสัจจะทำไม่ได้ บุคคลในครั้งโน้นไม่ได้เข้าใจผิดอย่างนี้ เพราะเหตุว่าบางท่านกล่าวอีกว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็เจริญได้แต่ไม่ได้ผล ลืมไปว่า ผลของการเจริญสติปัฏฐานนั้นคืออะไร การที่ปัญญารู้ลักษณะของนามและรูป แต่ละขณะ แต่ละอย่าง ตามปกติ จนกระทั่งชินขึ้น มากขึ้น คมกล้าขึ้น นั่นเป็นปัญญาใช่ไหม เป็นผลของการเจริญสติปัฏฐานใช่ไหม ชื่อว่าได้ผลไหม ถ้าขนาดนี้สติของใครจะระลึกรู้ลักษณะงามหรือรูป ทางตา หรือทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วแต่สติ จะระลึกบ่อยๆ เนืองๆ เพิ่มขึ้น มากขึ้น ปัญญารู้ชัดขึ้น คมกล้าขึ้น ละได้ เป็นอนัตตา ไม่มีใคร สามารถจะกฏเกณฑ์ได้ว่า จะต้องบรรลุมรรคผล อินทรีย์แก่กล้า ที่นั่นที่นี่ ซึ่งไม่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่าจะต้องเป็นที่นั่นหรือที่นี่ เพราะฉะนั้นแม้แต่ผลของการเจริญสติปัฏฐาน บุคคลที่กล่าวเช่นนั้นก็ไม่เข้าใจ เพราะว่าผลของการเจริญสติปัฏฐานทุกขณะจิตที่สติดูลักษณะของนามและรูปชัดเจนขึ้น เพิ่มขึ้น มากขึ้น ผลของการเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็ความเป็นอนัตตาของสติ ความเป็นอนัตตาของญาณแต่ละขั้น ความเป็นอนัตตาของอินทรีย์ที่แก่กล้า ไม่เคยมีจำกัดว่าเฉพาะที่นั่นหรือที่นี่

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมจึงเป็นเรื่องที่ต้องใคร่ครวญ พิจารณา แล้วก็ให้ทราบจริงๆ ว่าผลของการเจริญสติปัฏฐาน คือเมื่อไหร่ ขณะไหน ถ้าไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเชื่อว่าเป็นผลของการเจริญสติปัฏฐานได้ไหม แม้แต่รูปที่ท่านไปเพียรรู้กัน ตรงตามรูปที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกไหม รูปที่กล่าวว่าอย่ารู้นั้น มีอยู่ในพระไตรปิฎกว่าเป็นสิ่งที่ควรรู้เพราะเป็นสิ่งที่ปรากฏ ใช่ไหม

    ข้อความต่อไปเรื่องของอาโปธาตุ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกับท่านพระราหุล โดยในนัยเดียวกัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงในน้ำ น้ำจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะ อันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

    ถ้าเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน การศึกษาพระไตรปิฎกก็คือความเข้าใจให้ชัดเจนขึ้นตลอดไปทุกๆ พยัญชนะ เพราะไม่ว่าจะเจริญอบรมจิตใจให้เสมอด้วยน้ำ ก็เช่นเดียวกัน คือไม่ว่าจะกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ชอบใจไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ครอบงำจิตด้วยทิฏฐิ ตัณหา มานะได้

    สำหรับการเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟ ก็โดยนัยเดียวกัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรราหุล เปรียบเหมือนไฟที่เผาของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ไฟจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

    เป็นปกติธรรมดา แต่ว่าเมื่อปัญญาเจริญมากขึ้น การละการคลายมากขึ้น จิตก็ย่อมจะเสมอด้วยแผ่นดิน เสมอกับน้ำมากยิ่งขึ้น เสมอกับไฟมากยิ่งขึ้น

    สำหรับการเจริญภาวนาเสมอด้วยลม ก็โดยนัยเดียวกัน นี่ไม่ใช่ให้นึก แต่เป็นการเจริญภาวนาเสมอด้วยลม ไม่ใช่ให้นึกเอาเองว่า เป็นดิน เป็นลม เป็นน้ำ ใครทำอะไรก็ไม่โกรธ ไม่อึดอัด ไม่ระอา ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ว่าเมื่อเจริญสติแล้ว ให้ละคลาย สำหรับข้อความที่ให้เจริญภาวนาเสมอด้วยลม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรราหุล เปรียบเหมือนลมย่อมพัดต้องของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลมจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลม ฉันนั้น เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

    ต่อไปก็เป็นการเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ ซึ่งก็เป็นโดยนัยเดียวกัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรราหุล เปรียบเหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

    พยัญชนะนี้เข้าใจไหม ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ก็เพราะเหตุว่าอากาศ แทรกซึมไปทั่วหมด ในร่างกายมีอากาศไหม แทรกซึมอยู่ทุกส่วนที่จะแตกย่อยกระจัดกระจายไปได้อย่างละเอียด ในรูปต่างๆ วัตถุสิ่งของเหล่านี้มีอากาศแทรกซึมอยู่ไหม ก็มี เพราะฉะนั้นอากาศก็ไม่ได้เลือก ที่จะอึดอัด ที่จะระอา ที่จะแทรกซึมแต่เฉพาะสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ว่าเมื่อเป็นผู้ที่เจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ จิตก็มั่นคง ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

    ส่วนข้อความต่อไปก็เกื้อกูลกับท่านที่เจริญสติปัฏฐานด้วย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรราหุล เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่ จักละพยาบาทได้. เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จักละวิหิงสาได้. เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จักละอรติได้. เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จักละปฏิฆะได้. เธอจงเจริญอสุภภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละราคะได้. เธอจงเจริญอนิจจสัญญาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่ จักละอัสมิมานะได้.

    ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้ให้ท่านพระราหุลเจริญอานาปานสติภาวนา พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

    ทำไมว่า ข้อความตอนท้ายจึงเกื้อกูลแก่การเจริญสติปัฏฐาน ที่ว่า ดูกรราหุล เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่ จักละพยาบาทได้. ขณะนั้นท่านพระราหุลยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ยังมีกิเลส ตามธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น ยังมีความไม่พอใจ ความไม่แช่มชื่น พยาปาทะ มหิงสา อรติ ปฏิฆะ ราคะ อัสมิมานะ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ขอให้ทราบว่าการทรงแสดงธรรมทั้งหมด เพื่ออนุเคราะห์กับทุกๆ ขณะที่เป็นปกติ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ในชีวิตของแต่ละคน เลือกเห็นสิ่งที่พอใจอย่างเดียวไม่ได้ เลือกที่จะรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์แต่ที่ชอบใจอย่างเดียวไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อได้กระทบกับอารมณ์ที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง มีราคะเกิดขึ้นบ้าง โทสะเกิดขึ้นบ้าง อรติเกิดขึ้นบ้าง เหล่านี้ ใครยับยั้งความคิดของคนได้ไหม ชีวิตปกติประจำวัน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    25 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ