รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 032


    ตอนที่ ๓๒

    การใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ในทางธรรม ก็มีต่างกันตามระดับของความเข้าใจ ถ้าเข้าใจผิดนิดเดียว กลัวว่าจะขาดสมาธิ ก็ไปทำสมาธิซึ่งตลอดเวลาครึ่งชั่วโมงที่ทำสมาธิ ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทางตาหูจมูกลิ้นกายใจเลย บางท่านเกรงว่าจะขาดสมาธิก็อุตส่าห์ไปทำสมาธิครึ่งชั่วโมงก็น่าเสียดายใช่ไหม เพราะเหตุว่าความเข้าใจผิดนิดเดียวก็ทำให้เป็นตัวตนที่ต้องการ ไม่รู้ลักษณะของนามและรูป ซึ่งแต่ละขณะที่สติระลึกในลักษณะของนามและรูปนั้นเป็นประโยชน์มาก เพื่อการละคลายในภายหลัง แต่ถ้าสติไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปเลย จะละคลายความยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นแต่ละขณะที่สติระลึกได้ มีคุณมาก มีประโยชน์มาก และการระลึกก็ระลึกเป็นปกติ ซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะเหตุว่าเป็นนามธรรม

    การเจริญสมถภาวนาเป็นปัญญา การเจริญสติปัฏฐานก็เป็นปัญญา ไม่ใช่อวิชชา ไม่ใช่ความไม่รู้ วิธีเจริญก็ต้องรู้แล้วว่าเจริญอย่างไร สมาธิจึงจะเกิดได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ เจริญผิดๆ ถูกๆ ก็จะให้อัปปนาสมาธิเกิดเป็นฌานจิต ไม่ได้

    เรื่องมหาสติปัฏฐาน ความจริงก็เป็นเรื่องละเอียดแล้วก็เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเข้าใจของท่านผู้ฟังเท่านั้น ถ้าท่านพูดฟังมีความเข้าใจถูกต้องชัดเจนจะไม่มีข้อสงสัยใดๆ ในมหาสติปัฏฐานสูตร แต่โดยมากอาจจะไม่ได้อ่านโดยตลอด ยังไม่ได้พิจารณาโดยตลอดก็ทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือว่าผิดไปได้ และแม้ลักษณะของสติก็คลาดเคลื่อน ไม่รู้ลักษณะของสัมมาสติที่เป็นปกติธรรมดา ไปทำอะไรขึ้นมาให้จดจ้อง ให้วุ่นวาย ให้ผิดปกติ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน

    เรื่องของการหลงลืมสติในวันหนึ่งวันหนึ่งมีมาก เพราะฉะนั้นบางทีสติที่ระลึกได้ บางทีระลึกที่กายภายใน แต่ว่าบางทีก็ระลึกกำลังรู้ลักษณะของกายภายนอกที่คนอื่นก็ได้ใช่ไหม เวลาเห็นก็ไม่ได้เห็นแต่ตัวเองใช่ไหม ก็เห็นคนอื่นด้วย มีกายของคนอื่นเป็นอารมณ์ แต่ถ้าสติระลึกได้ ก็แล้วแต่จะระลึกเป็นไปในกายอย่างไรที่จะให้สติเกิดขึ้นพิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏไม่ใช่ว่าเมื่อเห็นก็หลงลืมสติไป

    ในคราวที่แล้วที่ได้กล่าวถึงเรื่องของพระมหาติสสเถระ ซึ่งท่านไปบิณฑบาตที่เมืองอนุราธ และก็เห็นหญิงผู้หนึ่งที่โกรธกับสามีแล้วก็แต่งตัวสวยงามมากออกจากบ้านเดินไปบ้านญาติ ท่านก็สติระลึกถึงความเป็นอสุภะคือกระดูก เวลานี้เราก็เห็นตั้งหลายคน หรือว่าจะดูแต่เฉพาะคนเดียวก็ได้ ระลึกอย่างเป็นอสุภะได้ไหม ทำให้จิตสังเวช แทนที่จะเป็นโลภะก็จะทำให้เกิดสติระลึกได้ แล้วก็รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ขอทบทวนอีกครั้ง จากพระไตรปิฎก ที่ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ตายแล้ววัน ๑ บ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ที่ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    อย่าละเลยโอกาสที่สติจะเกิดขึ้น ระลึกที่กายของตนเป็นภายในก็ได้ เวลาเห็นคนอื่นก็ระลึกได้ โครงกระดูกทั้งนั้นที่นั่งอยู่ที่นี่แน่นอนที่สุด ระลึกได้จริงๆ ถ้าระลึกอย่างนี้สติเกิด พิจารณาแล้วรู้ชัดตามความเป็นจริง ดีกว่าไม่ระลึกเลย กายก็เป็นเครื่องให้ระลึกได้ถึงความเป็นจริง คือ ความเป็นอสุภะ เวลานี้ยังไม่ขึ้นพอง ยังไม่เขียวน่าเกลียด น้ำเหลืองยังไม่ไหล แต่ทุกคนจะไม่พ้นสภาพอันนี้เลย ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง ถ้าเกิดความรู้สึกว่าจะพอใจ จะยินดีในบุคคลที่เห็น ถ้าเพียงระลึกอย่างนี้ก็สังเวช แล้วก็สลด ละความยินดีพอใจในบุคคลที่เห็นได้ ชั่วครั้งชั่วคราวก็ยังดี เพียงให้สติระลึกได้ แล้วก็รู้ชัดในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    อีกประการหนึ่ง ท่านที่ได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ในหมวดของกายานุปัสสนา อาจจะเคยได้ยินได้ฟังว่า ในหมวดของอานาปานบรรพก็ดี ในหมวดของปฏิกูลมนสิการบรรพก็ดี ธาตุมนสิการบรรพก็ดี หรือว่า อสุภบรรพก็ดี ถ้าท่านเคยได้ ยินได้ฟังมาว่า จะต้องเจริญฌานเสียก่อนแล้วจึงจะยกขึ้นสู่วิปัสสนา ก็ขอให้เข้าใจด้วยว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นไม่ใช่สมาธิ ซึ่งสมถภาวนาหรือสมาธินั้น ทำให้เกิดสิ่งที่ไม่มีในขณะนี้ ไม่ใช่การรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย นี่เป็นความต่างกันของสมาธิกับวิปัสสนา

    ถ้าเป็นสมาธิ ไม่ว่าจะโดยกัมมัฏฐานหนึ่งกัมมัฏฐานใดที่เป็นสมถภาวนาแล้ว เป็นการทำให้เกิดความสงบ ทำให้เกิดสิ่งที่ไม่มีในขณะนี้ แต่การเจริญสติปัฏฐานเป็นการระลึก เพื่อรู้ชัดในสิ่งที่กำลังปรากฏทุกๆ ขณะ ไม่ต้องไปทำให้เกิดขึ้น การเห็นขณะนี้มีแล้ว เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะให้เห็น การได้ยินในขณะนี้ก็มีแล้ว เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัยที่ทำให้ได้ยิน พรุ่งนี้ก็มีการเห็นอีก พรุ่งนี้ก็มีการได้ยินอีก มีการคิดนึก มีความสุข มีความทุกข์เกิดขึ้นอีกแน่นอนในวันพรุ่งนี้ เพราะเหตุว่า มีปัจจัยที่จะให้เกิดเห็นพรุ่งนี้ เกิดได้ยินพรุ่งนี้ เกิดทุกข์พรุ่งนี้ เพราะเหตุว่ามีปัจจัยแล้ว ไม่ต้องทำอะไร การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการระลึกแล้วรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเกิดขึ้นแล้ว เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น การประพฤติธรรม การปฏิบัติธรรม คือการปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้มีพระภาค การให้ทาน การรักษาศีล การทำจิตให้สงบ การเจริญสติปัญญา ผู้ใดประพฤติเช่นนั้นปฏิบัติเช่นนั้นก็ชื่อว่า เป็นผู้ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม ไม่ใช่หมายความว่าต้องไปทำ อย่างการเจริญสติปัฏฐานบางท่านไม่เข้าใจก็จะทำวิปัสสนา แต่พอเข้าใจผิดอย่างนี้ก็เลยทำไม่ถูก จะทำอย่างไร ถ้าทำวิปัสสนาทำไม่ถูก เวลานี้ใครบอกว่าให้ทำวิปัสสนาก็ทำไม่ถูกเพราะว่าจะทำ การเจริญสติต้องรู้ลักษณะของสติว่า สติเป็นสภาพที่ระลึกได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นอานาปานบรรพ หรือว่าปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ อสุภบรรพในมหาสติปัฏฐาน ไม่ใช่ไปทำให้เกิดความสงบ หรือว่าไปทำให้ฌานจิตเกิดขึ้น แต่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นเพื่อรู้ชัด ดังพยัญชนะที่ท่านทรงแสดงไว้ว่า

    กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น

    กายนี้หมายความถึงนามกายด้วย สติเป็นนามกาย ผู้ที่มีกายแต่ไม่รู้ลักษณะของสติ เจริญสติไม่ถูก เจริญสติไม่ได้ เพราะไม่ทราบว่า ขณะใดเป็นขณะที่หลงลืมสติ และขณะใดเป็นขณะที่มีสติ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญสติจะต้องทราบว่า ลักษณะของสติคือในขณะไหน ขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ มีเห็น มีได้ยิน มีกลิ่น มีรส มีเย็น มีร้อน อ่อน แข็ง มีคิดนึก มีสุข มีทุกข์ แล้วแต่ว่าสติจะระลึกที่ลักษณะใด ตรงไหนก็ตรงนั้น นิดเดียวก็นิดเดียว แต่เมื่อระลึกแล้ว รู้ว่ากำลังพิจารณา หรือรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏ หรือว่ารู้ลักษณะของสภาพรู้ ทางหู หรือทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าผู้ใดจะเจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่รู้ลักษณะของสติ ไม่มีทางเจริญสติได้เลย เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานเป็นการระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไปทำให้เกิดขึ้น

    ถ้าเป็น มหาสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะเป็นอานาปานบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ นวสีวถิกาบรรพ ไม่ใช่เป็นการทำให้เกิด แต่เป็นการระลึกรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ต้องไปทำให้สงบถึงฌานจิต แล้วก็ยกขึ้นสู่วิปัสสนา

    นี่เป็นการไม่เข้าใจอรรถของพยัญชนะ ซึ่งตามธรรมดาแล้ว ปุถุชนนั้นเป็นผู้ที่หลงลืมสติ เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่มากด้วยกิเลส กิเลสทำให้หลงลืมสติ พระอรหันต์ไม่หลงลืมสติเพราะว่าหมดกิเลสแล้ว เมื่อยังมีกิเลสเป็นปัจจัยอยู่ ก็เป็นผู้ที่หลงลืมสติเรื่อยๆ บ่อยๆ แต่ผู้ที่ได้ฟังการเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็เข้าใจลักษณะของสติ เวลาสติเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏก็รู้ เวลาที่หลงลืมสติไปก็รู้ว่า ในขณะนั้นขาดสติ

    ถ้าเป็นการรู้อย่างนี้ทีละเล็กทีละน้อย ไม่ว่าจะเคยเจริญสมาธิมาก่อน จิตน้อมไปสู่ความสงบ สติที่อบรมจนมีกำลังก็สามารถที่จะระลึกได้ว่า ลักษณะของจิตที่สงบนั้น เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่ใช่ไม่เคยเจริญสติปัฏฐานมาก่อนเลย แล้วเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งจิตเป็นฌาน แล้วก็มีอัตตาตัวตนไปยกฌานขึ้นมาพิจารณาเป็นวิปัสสนา อย่างนั้นไม่ใช่ บางท่านกล่าวว่าเจริญได้ สติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ใช่วิปัสสนาจริงๆ

    ท่านผู้ฟังพิจารณาแล้วคิดว่าอย่างไร เพราะเหตุว่าคำว่าวิปัสสนานั้น หมายความถึงปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ทุกคนเข้าใจคำว่า ต้องรู้อารมณ์ปัจจุบัน อารมณ์ปัจจุบัน คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้ ไม่ใช่เมื่อสักครู่นี้ เมื่อวานนี้ หรือว่าพรุ่งนี้ แต่สิ่งที่กำลังเป็นปัจจุบันก็คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้นั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดยังไม่เคยเจริญสติ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติเพราะมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น ท่านคิดว่า จะต้องไปแสวงหา ไปดูอารมณ์ปัจจุบันที่อื่น แต่ทันทีที่คิดอย่างนั้น สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามรูปที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ นามรูปที่กำลังปรากฏทางหูในขณะนี้ นามรูปที่กำลังปรากฏทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่เป็นปกติทุกๆ วันนี้ แล้วเมื่อไรท่านจะรู้ความจริงว่า สภาพธรรมทั้งหลายนี้ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าวิปัสสนาเป็นการรู้ชัดในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นปรากฏ ไม่ใช่ว่าต้องไปทำขึ้นมาให้รู้ ความเข้าใจผิดในการเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นสิ่งที่มีได้ รู้อะไรสักเท่าไรก็ตาม แต่ไม่เกิดสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ ก็ไม่ชื่อว่าเป็นการเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ความเข้าใจผิดมีมาก ความเห็นผิด หรือว่าการพ้นผิดก็มี

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อสัปปุริสสูตร ที่ ๒ มีข้อความว่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    26 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ