รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 016


    ตอนที่ ๑๖

    (การท่องด้วยใจทำให้แม่นยำ) และเป็นปัจจัยที่จะให้ระลึกถึงลักษณะของส่วนต่างๆ ที่เป็นปฏิกูลเพื่อที่จะให้จิตสงบด้วย นั่นเป็นสมถภาวนา ซึ่งก็จะต้องมีวิธีศึกษา แล้วก็เจริญจนกระทั่งจิตสงบถึงขั้นที่เป็นฌานจิต

    แต่สำหรับนัยของการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่อย่างนั้น เป็นนัยที่เมื่อระลึกลักษณะส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะนั้น แล้วปัญญาก็รู้ชัดในลักษณะนั้นโดยความเป็นธาตุ แต่ว่าระลึกก่อนถึงส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยความเป็นปฏิกูล แล้วก็รู้ชัดโดยความเป็นธาตุ

    ท่านที่เคยศึกษาในเรื่องของธาตุ จะเห็นได้ว่า ในอาการ ๓๒ นี้ เป็นอาการของปฐวีธาตุ ๒๐ เป็นอาการของธาตุน้ำ ๑๒ ไม่มีอาการของธาตุไฟกับธาตุลมเลย ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะทรงแสดงปฐวีธาตุและอาโปธาตุโดยความเป็นวัตถุภายในกาย วัตถุก็เป็นส่วน เป็นชิ้น แต่ที่ไม่ได้รวมไฟกับลมเพราะลักษณะของไฟกับลมนั้นไม่ปรากฏโดยความเป็นปฏิกูล แต่จะเห็นได้ว่า ธาตุดินกับธาตุน้ำมีลักษณะที่เป็นปฏิกูล แต่ธาตุไฟกับธาตุลมไม่ปรากฏโดยความเป็นปฏิกูล ลักษณะที่เพียงอบอุ่น หรือว่าร้อน ไม่เป็นของปฏิกูล ลักษณะที่ไหวไป เคร่งตึง ก็ไม่ปรากฏโดยความเป็นปฏิกูล

    ลักษณะของผมที่คิดว่าสวยงามน่าพอใจนั้น ถ้าพิจารณาโดยสี เวลาที่อยู่กับร่างกายก็สวยดี แต่ถ้าคิดว่าสีอย่างผมนี้สวย เวลาที่พบลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีสีคล้ายผม แม้ในอาหาร จะเป็นพวกเชือกปอหรืออะไรที่มีสีเหมือนผม ก็ยังรังเกียจแล้วหยิบออก

    เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าไม่ปฏิกูลไม่ได้ โดยลักษณะ โดยสี ก็ปฏิกูลเหมือนกัน โดยกลิ่น ถ้าไม่ทำความสะอาด ไม่สระผม ไม่ใส่น้ำมัน หรือน้ำหอม โดยเฉพาะเวลาที่ตกลงไปในไฟ หรือเผาไฟ ก็มีกลิ่นที่น่ารังเกียจ และท่านแสดงไว้ว่า ที่เกิดของผมก็เกิดบนหนังชุ่มที่ห่อหุ้มกะโหลกศีรษะไว้ ข้างหน้าถึงหน้าผาก ข้างหลังถึงท้ายทอย ข้างๆ ถึงข้างหูทั้ง ๒ ข้าง เปิดออกมาดูที่เกิดของผม ก็ปฏิกูลยิ่งนัก อุปมาเหมือนกับผักเกิดที่ป่าช้า และที่ทิ้งขยะมูลฝอยเป็นต้น

    นี่เป็นลักษณะของแต่ละส่วนของร่างกายที่มีความเป็นปฏิกูล แล้วก็ท่านทรงแสดงไว้อย่างละเอียดถึงลักษณะของส่วนต่างๆ ซึ่งถ้าท่านผู้ใดสนใจสามารถอ่าน หรือฟังได้ในอรรถกถาฎีกาต่างๆ ที่เป็นข้อความเกี่ยวกับอาการส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่จะขอกล่าวถึงเพียงบางส่วนบางประการเท่านั้น

    อย่างเล็บเหมือนเกล็ดปลา กระดูกฟันเหมือนเมล็ดน้ำเต้า

    สำหรับหนังที่สำคัญมาก เพราะหนังนั้นหุ้มห่อสิ่งต่างๆ ที่ปฏิกูล ถ้าเอาหนังออกเสียแล้วความเป็นปฏิกูลของร่างกายหรือว่าส่วนต่างๆ ก็จะปรากฏชัดมาก แต่เพราะเหตุว่าหนังนั้นหุ้มห่อปกปิดไว้มิดชิด ไม่ให้เห็นความเป็นปฏิกูล ก็ควรที่จะได้พิจารณาหนังด้วยว่า ความเป็นปฏิกูลของหนังนั้นเป็นอย่างไร โดยสภาพของหนังเอง ความจริงเป็นสีขาว แต่หุ้มห่อเนื้อปกปิดไว้ ก็ทำให้ดูเป็นสีดำบ้างสีเหลืองบ้าง และสัณฐานรูปร่างลักษณะของหนังที่หุ้มห่อส่วนต่างๆ ของร่างกายไว้นั้นก็มีต่างๆ กัน เช่น หนังนิ้วเท้า ก็มีสัณฐานเหมือนรังตัวไหม หนังหลังเท้ามีสัณฐานเหมือนรองเท้าหุ้มส้น หนังแข้งมีสัณฐานเหมือนใบตาลห่อข้าวสวย หนังขามีสัณฐานเหมือนถุงยาวอันเต็มไปด้วยข้าวสาร หนังสะโพกมีสัณฐานเหมือนผ้ากรองน้ำอันเต็มไปด้วยน้ำ หนังหลังมีสัณฐานเหมือนหนังหุ้มโล่ หนังท้องมีสัณฐานเหมือนหนังหุ้มรางพิณ หนังอกโดยมากมีสัณฐานสี่เหลี่ยม หนังแขนทั้งสองข้างมีสัณฐานเหมือนหนังหุ้มแร่งธนู หนังหน้าก็ปรุเป็นช่องเล็กช่องน้อย มีสัณฐานเหมือนรังตั๊กแตน

    นี่เป็นส่วนต่างๆ ถ้าดูอย่างนี้จริงๆ ก็คงจะไม่สวยไม่งามเลย แต่ไม่ได้แยกพิจารณาเป็นส่วนๆ ท่านให้พิจารณาโดยการดึงหรือลอกออกตั้งแต่ริมฝีปากเบื้องบน ไปตลอดทั้งตัว ก็จะเห็นความเป็นปฏิกูลที่มีซ่อนอยู่ใต้ผิวหนังนั้น

    สำหรับความเป็นปฏิกูลของร่างกาย จะเป็นการเจริญสมถภาวนาก็ได้ เป็นการเจริญสติปัฏฐานก็ได้ เพราะเหตุว่าการเจริญสมถภาวนานั้นจะต้องท่องด้วยปาก จนกระทั่งแม่นยำ แล้วก็จำลักษณะด้วยใจ จนกว่าจะชัดเจนทั้ง ๓๒ อาการ แล้วลักษณะใดที่เด่นชัด ก็ยึดลักษณะนั้นเป็นกัมมัฏฐานที่ทำให้ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เป็นปฐมฌาน แต่ไม่ได้รู้ลักษณะโดยสภาพความเป็นธาตุที่ไม่ใช่ตัวตน

    แต่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานนั้นมักจะหลงลืมสติ ไม่มีใครสามารถเลือกระลึกรู้ลักษณะของนามใดรูปใดได้ตามความพอใจ เพราะถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นก็เป็นความจงใจ แล้วปัญญาก็ไม่รู้ทั่ว เมื่อปัญญารู้ไม่ทั่วก็ละการยึดถือว่าเป็นตัวตนไม่ได้ นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ไม่ว่าจะมีสิ่งใดที่ทำให้จิตระลึกได้ก็ให้ระลึก ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ใช่สติปัฏฐาน เมื่อระลึกแล้ว สามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏโดยสภาพความไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นการเห็นกายในกายตามความเป็นจริง แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญาระลึกรู้ลักษณะของธาตุทั้ง ๔ ทันที โดยที่ไม่ต้องระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของอาการ ๓๒ นี้เลย

    ต่อจากปฏิกูลมนสิการบรรพ ก็เป็นธาตุนมสิการบรรพ ทรงแสดงไว้ตามลำดับ

    สำหรับธาตุมนสิการบรรพนั้นรวมธาตุทั้ง ๔ คือ ทั้งธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่เพราะเหตุว่าธาตุไฟ ธาตุลม ไม่ปรากฏโดยความเป็นปฏิกูล ในหมวดของปฏิกูลมนสิการบรรพจึงมีแต่เฉพาะอาการของธาตุดินกับธาตุน้ำเท่านั้น เคยมีท่านผู้ใดพิจารณาปฏิกูลมนสิการบรรพในส่วนต่างๆ ของร่างกายบ้างไหม

    ท่านแสดงส่วนต่างๆ ของร่างกายว่าเป็นของปฏิกูลทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนังก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งปฏิกูลทั้งนั้น

    มีอะไรที่น่ารังเกียจยิ่งกว่ากายส่วนต่างๆ ที่ปฏิกูลนี้บ้างไหม

    มี คือ กิเลส หรืออกุศลธรรมที่น่ารังเกียจกว่า จึงควรระลึกรู้เพื่อให้ปัญญารู้ชัดแล้วละ เพราะเหตุว่าความยินดีพอใจก็เป็นไปในกายบ้าง ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์บ้าง ถ้าตราบใดที่ยังมีอวิชชา ไม่รู้ลักษณะของนามของรูป ก็ต้องมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะอยู่เรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรรังเกียจที่ควรจะละที่สุด คือ อกุศลธรรมเป็นลำดับขั้น คือ ละความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปว่า เป็นตัวตน เป็นเบื้องแรก

    ผู้ฟัง การท่องจำเป็นอย่างไร ในการเจริญสมถะ

    ท่านอาจารย์ การเจริญสมถภาวนาเพื่อให้จิตสงบ จดจ้องแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ไม่ฟุ้งซ่านไป

    เพราะฉะนั้น ถ้าสมมติว่าไม่ท่อง จิตก็ย่อมฟุ้งซ่านไปเป็นอื่น จึงต้องท่องให้จิตระลึกอยู่ที่อาการทั้ง ๓๒ นั้น ไม่ให้จิตแลบหรือฟุ้งซ่านไปที่อื่น การท่องต้องมีเหตุผลด้วยว่า จะต้องท่องไปโดยลำดับ เพื่อให้แม่นยำชัดเจน ถ้าการท่องไม่เป็นไปตามลำดับก็หลงลืมได้ และเวลาที่ท่องก็ไม่ต้องรีบร้อนด้วย เพราะเหตุเดียวกัน คือ ถ้าท่องอย่างรีบร้อนก็ทำให้ไม่สามารถที่จะจดจำ หรือระลึกถึงลักษณะได้อย่างชัดเจน เพียงแต่รีบท่องให้จบ แต่ไม่สามารถพิจารณาเข้าใจถึงความเป็นปฏิกูลของส่วนต่างๆ ได้

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสิ่งที่จะให้สติระลึกรู้ ไม่ว่าจะเป็นโลก ๖ โลก คือทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ผู้ฟังก็ยังหลงลืมสติอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ก็ทรงแสดงทุกสิ่งทุกประการ ที่จะเป็นเครื่องให้สติระลึกรู้ได้ แม้แต่ผมที่ทุกคนก็ต้องเห็นอยู่ทุกวัน ขน เล็บ ฟัน หนัง ซึ่งก็มีปรากฏให้ระลึกได้อยู่ทุกวัน ก็ควรระลึกถึงความเป็นปฏิกูล เพื่อรู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริงด้วย

    ผู้ฟัง ขณะที่กำลังเห็น กำหนดนามหรือกำหนดรูป

    ท่านอาจารย์ ทำไมถามว่า จะกำหนดนาม หรือกำหนดรูป

    ผู้ฟัง ถามเพื่อจะให้เห็นสภาวะ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เห็นมีของจริง คือเห็น กับสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งปัญญาจะต้องรู้ชัดทั้ง ๒ อย่างไม่ปะปนกัน เห็นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เป็นสภาพรู้ทางตา สิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตาไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่เห็น แล้วทำไมจึงถามว่า เวลาที่เห็นจะให้กำหนดอะไร อกุศลทั้งหมดที่มี การบรรลุอริยสัจธรรมนั้นเพื่อละอกุศล ซึ่งไม่ใช่จะละได้ด้วยความเป็นตัวตน แต่เป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จึงจะละได้

    การละนี่ต้องรู้ ถ้าไม่รู้ก็ละไม่ได้ การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญความรู้ เป็นการเจริญปัญญา แต่ไม่ใช่มีกฎเกณฑ์ว่าจะต้องอย่างนั้นจะต้องอย่างนี้

    พิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ทางตาก็ต้องรู้ชัดในสภาพที่เห็นในสิ่งที่ปรากฏ ทางหูก็ต้องรู้ชัดในสภาพที่รู้ทางหูในสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหู ต้องรู้ชัด การเจริญสติปัฏฐานต้องรู้ทุกสิ่งตามความเป็นจริง ระลึกไม่ทันก็ไม่เป็นไร ใครไปบังคับได้ สติระลึกที่ไหนก็ระลึกที่นั่น จนกระทั่งชินแล้ว ปัญญารู้แล้วก็เข้าใจเพิ่มขึ้นจากการฟังว่า ยังมีนามอื่นรูปอื่นอีกมากที่ยังไม่รู้ สติก็เริ่มระลึกรู้นามอื่นรูปอื่นต่อไปจนกว่าจะทั่ว แต่ไม่ใช่ไปบังคับ ใครจะระลึกทางใจก่อนก็ได้ ใครจะระลึกทางตาก็ได้ ใครจะระลึกทางกายก็ได้ ระลึกรูปก็ได้ ระลึกนามก็ได้ ไม่มีกฎเกณฑ์ที่จะไปบังคับว่าต้องอย่างนั้นอย่างนี้ หรือว่าไม่ให้รู้สิ่งนั้นไม่ให้รู้สิ่งนี้ สติจะเกิดระลึกรู้ที่นามใดรูปใดไม่มีใครบังคับได้

    จะต้องรู้ปกติธรรมดา การเจริญสติปัฏฐานไม่ผิดปกติเลย ถ้าผิดปกติหมายความว่าไม่ใช่เจริญสติปัฏฐาน ฟังให้เข้าใจ และปัญญาจะต้องรู้ทั่วทั้ง ๖ ทาง ไม่ใช่ว่าทางนั้นไม่รู้อย่างนี้ ทางนี้ไม่รู้อย่างนั้น จะทำให้จดจ้อง และรู้เฉพาะบางนามบางรูป แล้วก็เป็นตัวตนที่ต้องการด้วย

    ถ้าไม่ทั่วจะละได้อย่างไร การยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ผู้ฟัง ขอให้ยกตัวอย่างการเข้าไปยึดถือว่าเป็นตัว เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ มีท่านผู้ฟังบางท่านบอกว่า ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยยึดถืออะไรว่าเป็นอัตตาตัวตนเลย เพราะไม่เคยได้ยินคำว่า “อัตตา” ไม่เคยได้ยินคำว่า “ตัวตน” เพราะฉะนั้น ทุกวันๆ ไม่เคยยึดถืออะไรว่าเป็นอัตตาตัวตน แต่ว่าความจริงถึงใครจะไม่พูดอย่างนี้ ใช้ศัพท์พยัญชนะว่า อัตตา ตัวตน แต่ว่าการยึดถือมีแล้วตั้งแต่เกิด ไม่ใช่พระอริยบุคคล ไม่ใช่พระอรหันต์ เมื่อเกิดมาแล้วไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาตามความเป็นจริง ย่อมมีความยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตาว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่เสมอ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อว่าเป็นอัตตาเป็นตัวตน แต่เพราะเหตุว่าไม่รู้ชัดของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นเมื่อยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นนั่นเป็นลักษณะของการเป็นอัตตา

    เมื่อเห็นแล้วมีความเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยที่ไม่รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นต้นว่า เห็นเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคน เป็นอัตตาแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้พยัญชนะว่าอัตตาเลย แต่เมื่อมีความเห็นผิด ไม่รู้สภาพความจริงว่าสิ่งนั้นเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ส่วนที่จะยึดถือว่าเป็นสัตว์ก็ดี เป็นบุคคลก็ดี เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ก็ดี นั้นเป็นเรื่องของการยึดถือ แต่ถ้าจะไม่ยึดถือก็หมายความว่าปัญญารู้ชัดว่าสิ่งนั้นแยกออกเป็นแต่ละส่วน แต่ละโลก สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏเฉพาะทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล การที่จะรู้ความหมายว่าเป็นคนนั้นคนนี้นั้นอีกส่วนหนึ่ง แต่ว่าส่วนที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏเฉพาะทางตาเท่านั้น ไม่ปนกัน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    8 มี.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ