รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 05


    ตอนที่ ๕

    ท่านอาจารย์ ไปที่นั่น แต่ผู้ที่มีปกติเจริญสติ สติต้องตามระลึกรู้ไปด้วยจึงจะชื่อว่า เป็นผู้มีปกติเจริญสติ จึงจะอยู่ในมหาสติปัฏฐาน ในอานาปานบรรพที่เป็นการเจริญมหาสติปัฏฐาน

    ผู้ถาม ……

    ท่านอาจารย์ อานาปานกถา เฉพาะอานาปาเท่านั้น

    ผู้ถาม ……

    ท่านอาจารย์ เขาไปใครห้ามได้ คนอื่นมาวัดคนนั้นไปป่าก็แล้วแต่ว่า ใครจะเจริญอานาปานสติสมาธิหรือใครจะพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม บรรพอื่น เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ผู้ที่เคยเจริญก็ไปแต่ไม่ใช่ไปเฉยๆ ถ้าไปเฉยๆ เป็นสมถภาวนา แต่ถ้าเป็นมหาสติปัฏฐานแล้วเป็นผู้มีปกติเจริญสติแม้ในขณะที่ไป แม้ในขณะที่มีสติรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก แม้ในขณะที่ลมหายใจละเอียดหรือปรากฏในลักษณะต่างๆ กันก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ที่ว่าไม่ใช่จุดประสงค์นั้นเพื่อที่จะให้สงบเป็นสมาธิ ไม่ใช่การเจริญสมถภาวนาแต่เขาไปเพราะเป็นปกติของเขา

    พยัญชนะที่ว่า ไปสู่โคนไม้ก็ดี ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ภาค ๑ มีข้อความว่า

    คำว่า รุกฺขฺมูลํ ความว่า อาสนะของภิกษุซึ่งจัดไว้ที่โคนไม้นั้น คือ เตียง ตั่งฟูก เสื่อ ท่อนหนัง เครื่องลาดทำด้วยหญ้า เครื่องลาดทำด้วยใบไม้ หรือเครื่องลาดทำด้วยฟาง ภิกษุ เดิน ยืน นั่ง หรือนอนที่อาสนะนั้น

    ท่านผู้ฟังเคยกล่าวไว้เรื่องโคนไม้ ไปนั่ง นอน ยืน เดิน ที่โคนไม้เป็น รุกฺขฺมูลํ และมีอาสนะที่จัดไว้จะเป็นเตียง ตั่ง หรือเสื่อก็แล้วแต่อัธยาศัย ท่านผู้ฟังเคยไปนั่งโคนไม้บ้างไหม เคยเอาเสื่อไปปูใต้ต้นไม้บ้างไหม ก็เคยใช่ไหม เพราะฉะนั้นพระภิกษุท่านเคยทำอย่างไร ท่านเคยเจริญอย่างไร ท่านก็ทำเป็นปกติอย่างนั้น ไม่ใช่ด้วยความเข้าใจผิดว่า เมื่อจะเจริญสติปัฏฐานก็จะต้องเอาเสื่อไปใต้โคนไม้เท่านั้นจึงจะเป็นสถานที่สำหรับการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่อย่างนั้นแต่เป็นผู้มีปกติเจริญสติแม้ว่าจะไปสู่โคนไม้ หรือจะมีเสื่อ มีฟูก มีท่อนหนัง มีเตียง มีตั่ง ซึ่งเป็นอาสนะอยู่ใต้ต้นไม้ก็ได้เป็นปกติ

    ผู้ถาม ……

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ว่าอะไร ที่ไหนก็ได้ ทำไมถึงจะต้องจำกัด

    ผู้ถาม ……

    ท่านอาจารย์ การเจริญสติปัฏฐาน คอยแต่จะจำกัด อย่างนี้ไม่ได้ อย่างนั้นไม่ได้ ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างโน้น แต่ความจริงแล้วมหาสติปัฏฐาน “มหา” แปลว่า มาก ทุกอย่างหมดไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม โคนไม้ที่ไหนก็ตามถ้าผู้นั้นไปแล้วเจริญสติ แม้ขณะที่ไปก็เจริญสติด้วย ไม่ใช่คิดว่า จะต้องไปที่โน่นจึงจะเป็นที่เดียวที่จะเจริญสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ……

    ท่านอาจารย์ ต้องเว้นอะไร ก็แล้วแต่ใครจะไปดง ห้ามได้หรือ แล้วแต่ใครจะไปตรงนั้นก็เจริญสติได้ อยู่ที่ไหนในโลกนี้หรือในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็ตาม จะเป็นโลกไหนก็ตามเป็นผู้มีปกติเจริญสติ อย่าไปจำกัดว่า ไม่ได้ถ้าพระไตรปิฎกแสดงว่า เตียง ตั่ง ฟูก เสื่อ ท่อนหนัง ต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เป็นผ้าเช็ดหน้าได้ไหม จะเป็นอะไรก็อย่าไปจำกัดหรืออย่าเป็นห่วง

    ผู้ฟัง ……

    ท่านอาจารย์ เพียงแต่พยัญชนะ “ป่า” ก็เดือดร้อน วุ่นวาย ที่จะต้องให้เป็นป่าในลักษณะตามที่กล่าวไว้ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่ใช่ เจริญสติไม่ได้อีก แต่ความจริงการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่อย่างนั้นเลย ขอให้เข้าใจให้ถูกว่า ที่ไหนก็ได้

    ผู้ฟัง ……

    ท่านอาจารย์ สำหรับอานาปานสติสมาธิ แต่ถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐานได้ทุกแห่ง การเจริญสติปัฏฐานเป็นการระลึกได้ วันหนึ่งๆ ทุกคนคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่เสมอ นึกได้เรื่องนั้น นึกได้เรื่องนี้ แต่ผู้ที่ฟังการเจริญสติปัฏฐานแล้วระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ระลึกรู้ว่า จะต้องพิจารณาเพื่อการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ การคิดการระลึกในวันหนึ่งๆ ของทุกคนมีเป็นปกติ แล้วแต่ว่าจะระลึกเรื่องอะไร ผู้ที่เคยฟังเรื่องการเจริญสติ-ปัฏฐานก็เริ่มระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรกฏตามปกติ

    ผู้ฟัง ……

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่การเจริญความสงบ การเจริญปัญญาเพียงระลึกขณะใด สติ คือ สภาพที่ระลึกได้ เพราะฉะนั้นเมื่อระลึกแล้วสิ่งที่กำลังปรากฏมี สติระลึกได้ตลอดเวลาจะมากหรือจะน้อยไม่จำกัดจึงจะเป็นการอบรมให้มีขึ้น เพราะการเจริญภาวนาหมายความว่า อบรมให้มาก ให้เจริญขึ้น ถ้าสมมติว่า ท่านปลีกตัวไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใดด้วยความเข้าใจผิดคิดว่า จะต้องเป็นสถานที่นั้นเท่านั้น จะต้องเป็นอารมณ์นั้นเท่านั้นในสถานที่นั้นเท่านั้น ไม่ใช่อารมณ์อื่นในสถานที่อื่น ท่านก็เข้าไปพากเพียรอบรมให้มีสติปัญญาเกิดขึ้น แล้วท่านก็ออกมาด้วยความเข้าใจผิดคิดว่า ต้องเข้าต้องออก แต่ที่ท่านต้องใช้เวลาเข้าไปในสถานที่นั้นเป็นวลา ๑-๒ อาทิตย์ หรือ ๑ เดือนก็ตาม เมื่อท่านออกมาแล้วไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ สติการระลึกได้ไม่มีเลยเพราะคิดว่า เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการระลึกได้ในขณะเห็น ในขณะได้ยิน ในขณะพูด ในขณะนิ่ง ในขณะคิด ในขณะประกอบกิจการงานต่างๆ ถ้าเป็นเช่นนี้ไม่เกิดปัญญาเพราะว่าไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ การอบรมปัญญาหมายความว่า ให้มีการพิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏมากขึ้น เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดปัญญาก็รู้ชัด เพราะฉะนั้นถ้าไปแล้วกลับมาไม่รู้อะไรจะชื่อว่าเป็นการอบรมเจริญภาวนาให้เกิดปัญญาได้ไหมเพระว่าไม่รู้อะไร ขณะที่กำลังนั่งขณะนี้ก็ระลึกไม่ได้ ปัญญาก็ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะชื่อว่าท่านไปอบรมอะไร ไปเจริญภาวนาอย่างไร เพราะปัญญาไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ใน สมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาพระวินัย

    สำหรับ บทว่า ไปสู่โคนไม้ก็ดี คือ ไปสู่ที่ใกล้ต้นไม้ และต่อไป บทว่า ไปสู่เรือนว่างก็ดี ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ภาค ๑ มีข้อความว่า

    คำว่า สุญฺญํ ความว่า เป็นสถานที่ที่ไม่เกลื่อนกล่นด้วยใครๆ เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม

    คำว่า อาคารํ คือ วิหาร โรงมีหลังคาครึ่งหนึ่ง ปราสาท เรือนโล้น ถ้ำ

    สำหรับใน สมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาพระวินัย

    บทว่า ไปสู่เรือนว่างก็ดี คือ ไปสู่โอกาส หมายความถึงสถานที่อันสงัดว่างเปล่า

    เรื่องของการเจริญอานาปานสติสมาธิเป็นเรื่องที่ต้องสงบจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสตามสมควร สติจึงจะระลึกที่ลมหายใจได้นานจนกระทั่งเป็นสมาธิ นอกจากนั้น มีข้อความว่า

    ภิกษุ แม้ไปสู่เสนาสนะ ๗ อย่างที่เหลือ เว้นป่า และโคนไม้เสีย จะกล่าวว่าไปสู่เรือนว่าง ดังนี้ก็ควร

    เห็นไหมว่า “เรือนว่าง” มีความหมายกว้างออกไปอีก ยังมีข้อสงสัยไหม ลมหายใจก็มีตลอดเวลา ไม่ทราบว่า ยังไม่ได้เป็นเครื่องระลึกหรือเป็นเครื่องระลึกในลักษณะของสถมหรือในลักษณะของสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง คำว่า กาย หายใจเข้าหรือหายใจออกยาวก็รู้ หายใจออกสั้นก็รู้ นี่คือคำว่า กาย ใช่ไหม เมื่อเราทราบแล้วว่า นี้เป็นกาย ถ้าเราจะอยู่ในป่า ราวป่า โคนไม้ หรือเรือนว่างก็ดี เมื่อเข้าใจในความหมายนี้แล้วจะเรียกว่า อานาปานสติได้ไหม

    ท่านอาจารย์ อานาปานสติ คือ การระลึกรู้ลักษณะที่ลมหายใจ

    ผู้ฟัง เมื่อผู้ปฏิบัติรู้แล้วว่า หายใจเข้าหายใจออกก็มีสติกำหนดรู้อยู่ ที่นี้เมื่อจะทำอย่างนี้ เราจะอยู่ในโคนไม้ก็ได้ จะอยู่ในเรือนว่าง หรืออยู่ในศาลาที่ไหนก็แล้วแต่ อย่างนี้เมื่อมีสติกำหนดรู้ในลมหายใจเข้าหายใจออกจะเรียกว่า อานาปานสติได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นสติที่ระลึกที่ลมหายใจก็เป็นอานาปานสติทั้งนั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ถ้ารู้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่ใช่อานาปานสติ ที่ว่า ไปสู่ป่าก็ดี โคนไม้ก็ดี เรือนว่างก็ดีนั้นเพราะเป็นอัธยาศัยที่เคยอบรมเคยเจริญอานาปานสติสมาธิแต่ไม่ใช่ว่า ทุกคนต้องไปอย่างนั้นและในหมวดเดียว คือ อานาปานสติเท่านั้นเพราะว่า ลมหายใจเป็นสภาพที่ละเอียด ประณีต ธรรมดาจิตย่อมคล้อยไปสู่อารมณ์ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง เพราะฉะนั้นจึงไม่ตั้งมั่นที่ลมหายใจ ถ้าเป็นการเจริญให้สติตั้งมั่นอยู่ที่ลมหายใจเพราะได้อบรมว่าก็ต้องไปสู่สถานที่สงัด เช่น ป่า โคนไม้ เรือนว่าง ทั้งๆ ที่ลมหายใจมีไม่ทราบว่าจะเป็นเครื่องระลึกแล้วหรือยัง ถ้าสมมติว่า จะเจริญสติปัฏฐานและได้ฟังพยัญชนะเรื่องอานาปานบรรพ จะไปสู่โคนไม้ เรือนว่างไหม ผู้ที่เคยอบรมแล้วใครก็ห้ามไม่ได้ ระลึกได้โดยลักษณะของมหาสติปัฏฐานไม่ใช่โดยลักษณะของสมถภาวนา แต่เมื่อเป็นของจริงแล้วแต่ว่าจะปรากฏหรือไม่ปรากฏ อย่างอื่นปรากฏก็รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งใดไม่ปรากฏก็ไม่ใช่ไปจดจ้องพากเพียรด้วยความต้องการ ถ้าเป็นลักษณะนั้นจะทำให้ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่เกิดปรากฏแล้วในขณะนี้เพราะว่า มีความพากเพียร จดจ้อง ต้องการสิ่งอื่นบังไม่ให้ประจักษ์ลักษณะของสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ ต่อไปข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

    มีพยัญชนะเพิ่มเติมที่ว่า นั่งคู้บัลลังก์ ซึ่งมีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงชี้แจงความมั่นคงแห่งกิริยานั่ง ความสะดวกแห่งความเป็นไปของลมหายใจออก และลมหายใจเข้า ถึงอิริยาบถอันสงบ เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน จึงตรัสว่า

    นั่งคู้บัลลังก์ เมื่อนั่งอย่างนี้ หนัง เนื้อ และเอ็น ย่อมไม่โน้มเอียงไป เวทนาที่จะเกิดเพราะเนื้อ และเอ็นเหล่านั้นโน้มเอียงไปย่อมไม่เกิด เมื่อเวทนาเหล่านั้นไม่เกิดจิตย่อมมีอารมณ์เป็นอันเดียว สมาธิย่อมเพิ่มพูนเจริญได้

    เวลานี้ทุกคนมีหนัง มีเนื้อ มีเอ็น แล้วก็อาจจะโน้มเอียงไปทางหนึ่งทางใดที่จะทำให้ทุกขเวทนาเกิดได้ เพราะความโน้มเอียงไปของหนัง ของเนื้อ ของเอ็นนั่นเอง

    บางคนเวลาที่นั่งไม่สะดวก ประเดี๋ยวก็เกิดทุกขเวทนา เมื่อยขัด ปวดไปหมดการที่จะให้จิตสงบเป็นเอกัคคตาตั้งมั่นที่ลมหายใจ ก็ย่อมจะไม่สะดวก ด้วยเหตุนี้จึงทรงแสดงพยัญชนะว่า นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง เพื่อที่ว่า เมื่อหนัง เนื้อ เอ็น ไม่โน้มเอียงไป ก็ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นรบกวน จิตย่อมมีอารมณ์เป็นอันเดียว สมาธิย่อมเพิ่มพูน

    ผู้ฟัง ……

    ท่านอาจารย์ เพราะเคยสะสมมา คนที่ไปสู่ป่า สู่โคนไม้ สู่เรือนว่างต้องเป็นผู้เคยเจริญสะสมอานาปานสติ

    ผู้ถาม ……

    ท่านอาจารย์ สมาธิแน่นอน ถ้าไม่ใช่สมาธิอยู่ที่นี่ก็ระลึกลักษณะของนามและรูป กาย เวทนา จิต ธรรมใดๆ ที่กำลังปรากฏ ถ้าลมหายใจปรากฏก็ระลึกนิดเดียวเท่านั้น ไม่นานเหมือนอย่างที่สงัดเพราะว่าจิตต้องคล้อยไปสู่อารมณ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นที่สงัดแล้ว สงบพอสมควรจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จิตย่อมตั้งมั่นที่ลมหายใจได้ สมาธิเพิ่มพูนได้ สำหรับผู้ที่เคยเจริญจะห้ามได้อย่างไร ถึงไปก็ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติด้วยไม่ใช่เพียงหยุดอยู่แค่สมาธิ เพราะฉะนั้นในมหาสติปัฏฐานไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่เคยเจริญสมาธิเท่านั้น ถึงแม้ผู้นั้นเคยเจริญสมถภาวนาอย่างไร เจริญอานาปานสติสมาธิมาแล้วอย่างไร ก็เจริญสติปัฏฐานด้วยเป็นผู้มีปกติเจริญสติต่อไป ไม่เหมือนผู้ที่ไม่เคยฟังธรรมก็ได้แต่เจริญอานาปานสติสมาธิบรรลุ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานและไม่สามารถเจริญสติปัฏฐานต่อไปได้ ถ้าผู้ใดฟัง อัธยาศัยเคยเป็นอย่างไร เคยไปที่ไหนก็ไปอย่างนั้น แต่สติต้องตามระลึกรู้ด้วย ถ้าสติไม่ตามระลึกรู้ก็ไม่ใช่มหาสติปัฏฐาน ต้องเอาอานาปานบรรพนี้ออกไป ไปอยู่ในหมวดของสมถภาวนาเท่านั้น ที่อานาปานบรรพไม่อยู่เฉพาะในหมวดของสมถภาวนาเท่านั้นแต่อยู่ในมหาสติปัฏฐานด้วยเพราะว่า แม้ผู้ที่เคยเจริญอานาปานสติก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติได้ สติตามระลึกรู้ลมหายใจได้เป็นระยะๆ ต่อไปนี้สติจะต้องตามรู้แล้ว ไม่ใช่มีแต่สมาธิเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็น ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อานาปานบรรพของมหาสติปัฏฐานไม่ใช่อย่างนั้นแต่เป็นเรื่องสติที่จะตามระลึกรู้ต่อไปเป็นขั้นๆ

    สำหรับเรื่องของอานาปานสติ ท่านที่สนใจต้องการศึกษาค้นคว้าเอง ในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕๐ ฉบับภาษาไทย มหาวรรค อานาปานกถา มีมากตั้งแต่หน้า ๒๕๒ - ๓๒๓ ข้อ ๓๖๒ - ๔๒๒ นอกจากนั้นในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ภาค ๒ ใน อานาปานสังยุตต์ ก็มีเรื่องของอานาปานสติมากโดยนัยต่างๆ ฉบับภาษาไทย พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ ในพระวินัยปิฎก ฉบับภาษาไทยเล่ม ๑ ตติยปาราชิกกัณฑ์ อานาปานสติสมาธิกถา ส่วนในพระอภิธรรมปิฎกเป็นเรื่องของ มหาสติปัฏฐาน ๔ โดยรวม ไม่ได้แยกเป็นบรรพต่างๆ สำหรับพยัญชนะต่อไป

    นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

    เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว

    เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น

    นี่เป็นลักษณะของผู้ที่มีสติที่ลมหายใจ เวลานี้ลมหายใจเข้าสั้น ออกสั้น เข้ายาว ออกยาว ถ้าสติไม่รู้ที่ลมหายใจจะไม่ทราบเลย ผู้ที่จะทราบต้องเป็นผู้รู้ลักษณะของลมหายใจที่กำลังกระทบ สำหรับพยัญชนะในที่ต่างๆ ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ภาค ๑ อานาปานกถา มีข้อความว่า

    ลมอัสสาสะ คือ ลมหายใจออกชื่อว่า อานะ

    ลมปัสสาสะ คือ ลมหายใจเข้าชื่อว่า อปานะ

    ส่วนใน สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย มีพยัญชนะที่อธิบายเรื่องลมอัสสาสะ ปัสสาสะ โดยนัยเดียวกัน คือ ลมออกภายนอกชื่อว่า ลมอัสสาสะ ลมเข้าภายในชื่อว่า ลมปัสสาสะ และมีข้อความว่า ลมหายใจออกชื่อว่า อานะ ลมหายใจเข้าชื่อว่า ปานะ

    สำหรับผู้ที่สนใจในพยัญชนะ อยากทราบความหมายของอานาปานะ ก็จะได้ทราบว่า หมายความถึง ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ถ้าเป็นลมหายใจออก พยัญชนะก็ว่า อานะ ลมหายใจเข้า ก็เป็นปานะ หรืออปานะ

    การเจริญอานาปานสติเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่าอารมณ์ละเอียดมาก ลมหายใจเป็นของที่ละเอียด เวลานี้บางท่านอาจจะรู้สึกลักษณะของลมที่กระทบส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย ลมเย็น อ่อน ร้อน หรือแข็ง อาจจะรู้ได้แต่ลมหายใจละเอียดกว่าลมที่กระทบที่กาย เบากว่า ประณีตกว่า เพราะฉะนั้นการเจริญสติที่เป็นไปกับลมหายใจจึงเป็นการเจริญสติที่ละเอียด ถ้าไม่เข้าใจเรื่องการเจริญอานาปานสติจริงๆ ย่อมไม่บรรลุผลสมความมุ่งหมายได้เพราะว่า เป็นสิ่งที่ละเอียดมากและท่านที่เคยเจริญมาแล้วสามารถทำให้สมาธิจิตตั้งมั่นที่ลมหายใจทั้งๆ ที่ลมหายใจนั้นจะละเอียดขึ้น ประณีตขึ้นทุกที แม้ลมหายใจไม่เกิด จิตก็ยังสงบเป็นปัญจมฌานได้ เป็นเรื่องของความละเอียดของอารมณ์ที่จะทำให้จิตสงบถึงขั้นนั้นได้ ถ้าเป็นการเจริญสมถภาวนาหมดอื่น เช่น อสุภกรรมฐาน การพิจารณาอสุภะ ซากศพต่างๆ ในลักษณะต่างๆ อารมณ์หยาบกว่าลมหายใจมาก ทั้งกลิ่น ทั้งสี แต่ลมหายใจเป็นเรื่องที่ละเอียด

    เพราะฉะนั้นควรเข้าใจว่า ผู้ที่จะเจริญอานาปานสติให้จิตสงบตั้งมั่นอยู่ที่ลมหายใจได้นั้นต้องเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะจริงๆ และต้องเริ่มเป็นขั้นๆ ต้องทราบวิธีเจริญ วิธีกำหนดลมหายใจ จะพิจารณาลมอย่างไรสติจึงจะตั้งมั่นไม่ขาดสติได้

    ใน สมันตปาสาทิกา มีข้อความว่า

    อาการ ๔ อย่าง คือ ลมหายใจออกยาวและสั้น และแม้ลมหายใจเข้าเช่นนั้น ย่อมเป็นไปที่ปลายจมูกของภิกษุ ฉะนี้แล

    ที่จะรู้ว่าเป็นลมหายใจไม่ใช่ลมที่อื่นนั้นจะรู้ได้อย่างไร จะรู้ได้ที่ไหน ถ้าลมกำลังกระทบที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายส่วนอื่น ใช่ลมหายใจไหม ลมกำลังกระทบที่แขน ใช่ลมหายใจไหม ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ที่จะเป็นลมหายใจที่สติจะตั้งมั่น จิตสงบได้นั้น จะต้องรู้ด้วยว่า ส่วนใด ลักษณะใดเป็นลมหายใจ

    เพราะฉะนั้น ที่เป็นลมหายใจนั้นก็คือ ลักษณะของลมที่ปรากฏที่ปลายจมูก ไม่ว่าจะเป็นลมเข้า หรือลมออก ยาวหรือสั้นก็ตาม

    ข้อความต่อไปมีว่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    11 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ