รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 039


    ตอนที่ ๓๙

    เพราะพิจารณา รู้ชัดว่ามีอยู่ พิจารณารู้ชัดต่อไปๆ เรื่อยๆ แม้ในขณะที่ไม่มีก็รู้ แม้ในขณะที่ดับหมดเป็นสมุจเฉทแล้วก็รู้ เพราะว่าสติระลึก รู้ชัดว่าไม่เกิดอีกแล้วเพราะอะไร เพราะปัญญาเพิ่มขึ้น ละคลายมากขึ้นเพราะรู้ชัด ไม่ใช่เพราะว่าไปบังคับไว้ไม่ให้เกิด นี่เป็นหนทางที่จะทำให้ดับกิเลสได้ ด้วยการรู้ชัดไม่ใช่ว่าด้วยการไม่รู้ ก็ขอให้ท่านที่เจริญสติ (ไม่ใช่บังคับสติ) สำเหนียกเพิ่มขึ้นและก็รู้ว่า ท่านมีความต้องการในสีที่กำลังปรากฏ ในเสียงที่กำลังปรากฏ ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะไหม ถ้าท่านไม่รู้ ปัญญาก็ไม่เจริญต่อไป เพราะเหตุว่าไม่รู้แล้วจะละได้อย่างไร จะหมดคลายไปจากความยินดีต้องการในสีที่กำลังปรากฏขณะนี้ ในเสียงที่กำลังปรากฏขณะนี้ ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่กำลังปรากฏตลอดวันหนึ่งวันหนึ่งได้อย่างไร จะละคลายไปได้ ต้องรู้ชัดจริงๆ ถึงความพอใจที่มีเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป จนกระทั่งไม่เกิดก็รู้ว่าไม่เกิด เพราะว่าสติรู้ว่า หมดปัจจัยที่จะเกิดแล้ว หรือว่าในขณะที่ยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท ขณะที่เกิดก็รู้ชัด ขณะที่ไม่เกิดก็รู้ชัด เพราะเหตุปัจจัยทั้งนั้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร อานนท์ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นี้แล ซึ่งเป็นที่ๆ ภิกษุพึงเป็นผู้พิจารณาเห็น ทั้งความเกิดและความดับอยู่ว่า

    อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป

    อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดแห่งเวทนา อย่างนี้ความดับแห่งเวทนา

    อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความเกิดแห่งสัญญา อย่างนี้ความดับแห่งสัญญา

    อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความเกิดแห่งสังขาร อย่างนี้ความดับแห่งสังขาร

    อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ

    เธอพิจารณาเห็นทั้งความเกิด และความดับในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้อยู่ ย่อมละอัสสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราละอัสสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ของเราได้แล้ว ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอุปาทานขันธ์ ๕

    นี่เป็นการรู้สึกตัว เป็นการเจริญสติทั้งนั้น ไม่ว่าท่านจะนั่ง นอน ยืน เดิน พูด นิ่ง คิดอยู่ที่ใดก็ตาม การเจริญสติปัฏฐานนั้นเพื่อให้ปัญญารู้ชัดในขันธ์ ๕

    รูปขันธ์ไม่รู้ ละได้ไหม ความไม่รู้ก็มีอยู่ที่รูปขันธ์ต่อไป

    เวทนา ความรู้สึก วันหนึ่งๆ มีทั้งเฉยๆ มีทั้งดีใจ มีทั้งเสียใจ มีทั้งเป็นทุกข์ มีทั้งเป็นสุข ในขณะที่กำลังสุขก็ไม่รู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นความรู้สึกเกิดขึ้น อาศัยตาเห็นบ้าง หูได้ยินบ้าง เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่หมดไม่ได้ เพราะว่ามีเห็นรูปอื่นต่อไป มีคิดนึกเรื่องอื่นต่อไป

    เพราะฉะนั้น การที่ไม่รู้เวทนาแล้วจะละการยึดถือเวทนาว่าเป็นตัวตนนั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การเจริญสติเพื่อปัญญารู้ยิ่ง ไม่ใช่ไปจำกัดปัญญาไม่ให้รู้ หรือให้รู้นิดเดียว แม้แต่สัญญาก็ต้องรู้ เกิดขึ้นชั่วขณะนิดหนึ่งแล้วก็ดับไป จึงพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอยู่ว่า อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดแห่งเวทนา อย่างนี้ความดับแห่งเวทนา อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความเกิดแห่งสัญญา อย่างนี้ความดับแห่งสัญญา อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความเกิดแห่งสังขาร อย่างนี้ความดับแห่งสังขาร อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ

    ที่จะรู้ทั่วจริงๆ รู้ชัดจริงๆ รู้ยิ่งจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่คิดว่ารู้แล้ว หรือคิดว่าเพียงการศึกษาก็จะทำให้รู้ได้ แต่ถ้าศึกษาโดยตลอดจะเห็นว่า ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน การเป็นผู้รู้สึกตัวในขณะที่ยืน เดิน นั่ง นอน นั้นคืออย่างไร และสิ่งที่จะต้องรู้คือ อุปาทานขันธ์ ๕

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค คังคาทิปเปยยาล แห่งสติปัฏฐานสังยุตต์ ที่ ๖ (ข้อ ๘๓๙) พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน แม้ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ เมื่อกระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ ก็เป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเมื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ เมื่อกระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ อย่างไร จึงจะเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ เมื่อกระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ อย่างนี้แล จึงจะเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน

    ขณะที่กำลังขับรถยนต์มีกายไหม มีเวทนาไหม มีจิตไหม มีธรรมไหม ระลึกได้ไหม เป็นสติปัฏฐานไหม เมื่อเป็นสติปัฏฐาน แล้วระลึกแล้วเนืองๆ บ่อยๆ จะเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน เพราะเกิดความรู้ชัดได้ไหม เป็นของจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วสติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องสูง ๕ เหล่านี้ สังโยชน์ ๕ เป็นไฉน คือ รูปราคะ ๑ อรูปราคะ ๑ มานะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อวิชชา ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องสูง ๕ เหล่านี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อ กำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละสังโยชน์ อันเป็นส่วนเบื้องสูง เหล่านี้แล

    สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ เห็นเวทนาในเวทนาอยู่ เห็นจิตในจิตอยู่ เห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องสูง ๕ เหล่านี้แล

    มีไหมที่จะไม่ให้เพื่อความรู้ยิ่ง จะให้รู้นิดๆ หน่อยๆ ได้ไหม

    ถ. คำว่า รู้จริง รู้แจ้ง รู้ชัด ที่อาจารย์อธิบายนั้น ผมไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะรู้จริง ต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้จึงจะชื่อว่ารู้จริง ไม่ต้องไปทำอะไรขึ้นอีก เพราะเหตุว่ามีปัจจัยทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว ก็รู้ในลักษณะของสิ่งที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ผู้ที่เจริญสติต้องระลึกรู้สิ่งที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนี้ เพราะมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นแล้ว ต้องรู้ชัดถึงปัจจัย และต้องรู้ยิ่งถึงการเกิดขึ้นและการดับไปด้วย จึงจะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน และรู้ชอบตามความเป็นจริง เพราะว่าสิ่งที่เกิดปรากฏนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นนามและเป็นรูปที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป นั่นจึงจะชื่อว่า รู้จริง รู้ชัด รู้ยิ่ง

    ในสมัยพระผู้มีพระภาคนั้นมีผู้ที่เป็นอุคฆฏิตัญญู เมื่อได้ฟังพระคาถาเพียงย่อๆ สั้นๆ ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ หรือว่าบางท่านก็เป็นวิปัญจิตัญญู เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจบแล้วก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ จะเป็นเนยยบุคคลในชาตินี้ หรือว่าจะเป็นอุคฆฏิตัญญู วิปัญจิตัญญู ในชาติโน้นๆ เลือกไม่ได้ แต่เจริญเหตุได้ อาจจะเป็นอุคฆฏิตัญญู หรือวิปัญจิตัญญูในชาติไหนก็ได้

    เพื่อให้ท่านผู้ฟังทราบถึงพระสาวกในครั้งอดีตที่ท่านบรรลุอริยสัจจธรรมกันโดยไม่ยาก แต่ว่าท่านจะต้องเป็นผู้ที่ได้เคยมีความเลื่อมใสในพระธรรมเป็นเวลานานมาก่อน

    พระนางเขมาเถรี ในสมัยพระปทุมุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเกิดเป็นทาสี เลื่อมใสในพระธรรม ได้ถวายขนมแก่พระสาวกรูปหนึ่ง แล้วอธิฐานขอให้ได้เป็นสาวิกาผู้มีปัญญามาก นั่นก็เป็นในสมัยของพระปทุมุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งใครก็ไม่ทราบได้ว่า เคยเป็นทาสีในสมัยไหนมาแล้ว แต่ว่าพระธรรมนั้นไม่จำกัดความเลื่อมใสว่า เฉพาะบุคคลนั้นบุคคลนี้ ไม่ว่าจะมีอาชีพใด มีกิจการงานประเภทใดก็ตาม ก็เป็นผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาได้

    ในสมัยพระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเกิดในตระกูลที่มั่งคั่ง แล้วก็ได้ถวายสวนแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ซึ่งในสมัยพระโกนาคมนสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ได้กระทำเช่นเดียวกัน ในสมัยพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็เป็นพระธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน ท่านมีนามว่า สุมนี เป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสมาก แล้วก็ได้สร้างอารามถวาย

    ในสมัยพระสมณโคดม พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ท่านเกิดในตระกูลกษัตริย์ ในแค้วนมคธมีชื่อว่า เขมา เป็นผู้ที่มีความสวยงามมาก ผิวกายของท่านนั้นดั่งทอง ท่านได้เป็นมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเวฬุวัน ท่านไม่ไปเฝ้าเลย เพราะท่านยังติดในความสวยงามของท่าน แต่ภายหลังก็ได้ฟังธรรม แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในขณะนั้น

    บางท่านคิดว่าต้องลำบากๆ ทุกข์ๆ ยากๆ ถึงจะเกิดความเลื่อมใสในพระธรรม แต่นี่ไม่จริง แล้วแต่อัธยาศัยของแต่ละบุคคล อย่างพระนางเขมาเถรี เป็นถึงตระกูลกษัตริย์ แล้วก็เป็นมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารด้วย ทุกอย่างสะดวกสบายพร้อม ไม่จำเป็นต้องทุกข์ๆ ยากๆ โศกๆ เศร้าๆ อะไรเลย แต่เพราะได้อบรมเจริญเหตุมาสมควรแก่ผล ถึงแม้ว่าในภพที่ท่านจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์นั้น ท่านยังติดในความสวยงามของท่านก็จริง แต่ถึงอย่างนั้นท่านก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แล้วก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ด้วย

    ชีวิตของทุกคนในขณะนี้ ไม่มีใครทราบว่า พระธรรมจะเปลี่ยนท่านไปได้มากน้อยอย่างไร ทำให้ท่านเริ่มเจริญสติ พิจารณารู้ลักษณะของนามและรูป ไม่หวั่นไหวในลาภสักการะ ในวงศาคณาญาติ หรือโลกธรรมต่างๆ ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป แต่ถ้าท่านไม่รู้อะไรเลย แล้วได้ฟังพระธรรมเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ทั้งๆ ที่มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ มีสี มีเสียง มีกลิ่น มีรสปรากฏ ก็ไม่รู้ลักษณะของนามและรูป จะให้เป็นอุคฆฏิตัญญูเวลาที่ฟังเข้าใจแล้วบรรลุมรรคผล นั่นก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่สะสมเจริญอบรม จนกว่าจะเป็นเนยยบุคคล หรืออุคฆฏิตัญญู หรือวิปัญจิตัญญู

    ฟังอย่างนี้เหมือนกับพระนางเขมาเถรีไม่ได้เจริญสติปัฏฐานเลย แต่ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานเลยจะรู้ชัด รู้จริง รู้ยิ่งก็ไม่ได้ บางคนอาจจะกำลังมีสติระลึกที่ลักษณะของนาม หรือรูปทางหนึ่งทางใด แต่ยังไม่รู้ชัด ยังไม่รู้ยิ่ง ยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามนั้นรูปนั้น ยังรวมกันอยู่ ยังไม่รู้ทั่วถึงว่า เสียงไม่ใช่นามได้ยิน ไม่ใช่นามรู้เรื่อง ไม่ใช่ความพอใจ หรือความไม่พอใจที่เกิดเนื่องมาจากการได้ยิน เป็นสิ่งที่จะแสดงให้เห็นจริงๆ ว่า การที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามจริงๆ ของรูปจริงๆ แต่ละลักษณะได้นั้น ผู้เจริญสติเป็นผู้ที่รู้ชัด

    เพื่อให้ท่านเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องทุกข์ยากหรือโศกเศร้า ตัวอย่างเช่น

    สุชาตาเถรี ซึ่งท่านได้สะสมบุญกุศลมาแล้วในอดีต ในสมัยพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้ ท่านเกิดที่เมืองสาเกตในตระกูลสูง ท่านแต่งงานกับบุคคลผู้มีตระกูลเสมอกัน ภายหลังท่านได้ฟังธรรม รู้แจ้งอริยสัจในขณะที่ท่านนั่งฟังอยู่นั่นเอง ท่านได้ออกบวชแล้วได้กล่าวคาถาว่า

    เมื่อเราเป็นฆราวาสได้ตกแต่งร่างกาย นุ่งห่มผ้าอันงาม ทัดทรงดอกไม้ ลูบไล้ด้วยจุนจันท์ ปกคลุมด้วยอาภรณ์ทั้งปวง ห้อมล้อมด้วยหมู่นางทาสี ให้หมู่นางทาสีถือเอาข้าวน้ำ ของเคี้ยว ของบริโภคไม่น้อย ออกจากเรือนไปสู่อุทยาน รื่นรมย์ชมเชยเล่นอยู่ในสวนนั้นแล้วมาสู่เรือนของตน เข้าไปสู่ทักขีวิหารในป่าอัญชนวัน ใกล้เมือง สาเกต ได้พบพระพุทธเจ้าผู้เป็นแสงสว่างของโลกแล้ว เข้าไปถวายบังคมพระองค์ผู้มีพระจักษุ ได้ทรงแสดงธรรมแก่เราด้วยความทรงอนุเคราะห์แล้ว เราได้ฟังพระธรรมของพระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ แล้วได้ตรัสรู้ของจริง ได้บรรลุอมตธรรม อันปราศจากธุลีในที่นั้นนั่นเอง เราได้รู้แจ้งพระสัทธรรม แล้วได้บรรพชาในพระธรรมวินัย ได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่เปล่าจากประโยชน์

    การพิสูจน์พระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคโดยการเจริญสติ ทรงแสดงธรรมเรื่องจิตมีทุกขณะ เรื่องของเจตสิก เวทนาเป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิตก็เป็นสิ่งที่มีจริงพิสูจน์ได้ว่า เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป

    เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้เห็นตัวอย่างในพระไตรปิฎก ขอกล่าวถึงบุคคลในครั้งโน้นหลายๆ ท่าน เพื่อจะได้เห็นว่า การเจริญสติอบรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันจนกว่าปัญญาจะรู้ชัด แล้วก็รู้แจ้งจริงๆ

    ใน ขุททกนิกาย เถรีคาถา

    อโนปมาเถรี ซึ่งท่านเป็นผู้ที่ได้สะสมบุญมาแล้ว ในสมัยพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดม ท่านเกิดที่เมืองสาเกตในตระกูลสูง ท่านก็เป็นผู้ที่มีความงามมาก ได้ฟังธรรม รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แล้วได้กล่าวคาถาว่า

    เราเกิดแล้วในตระกูลสูง อันมีเครื่องปลื้มใจมาก มีทรัพย์มาก สมบูรณ์ด้วยผิวพรรณสัณฐาน เป็นธิดาของเมฆีเศรษฐี เป็นผู้อันพระราชบุตรปรารถนา พวกเศรษฐีบุตรพากันมุ่งหวัง อิสสรชนมีพระราชบุตร เป็นต้น พากันส่งทูตไปขอกับบิดาของเราว่า ขอจงให้นางอโนปมาแก่เรา นางอโนปมาธิดาของท่านนั้นมีน้ำหนักเท่าใด เราจักให้เงินและทองมีน้ำหนัก ๘ เท่าของน้ำหนักนั้น เรานั้นได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ไม่มีผู้อื่นยิ่งไปกว่า ได้ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ แล้วเข้าไปนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมแก่เราด้วยความทรงอนุเคราะห์ เรานั่งอยู่ที่อาสนะนั้น บรรลุผลที่ ๓ ครั้นแล้วได้โกนผมออกบวชในธรรมวินัย ตั้งแต่ตัณหาอันเราให้เหือดแห้งแล้ว ถึงวันนี้เป็นวันที่ ๗

    มีตัวอย่างของอีกท่านหนึ่ง คือ

    ปุณณิกาเถรี ซึ่งท่านเป็นผู้ที่ได้สะสมบุญมาแล้วในอดีต เคยฟังธรรม เคยบวชในสมัยพระผู้มีพระภาคพระองค์ก่อนๆ ท่านศึกษาธรรมจนเชี่ยวชาญ แต่ไม่บรรลุมรรคผล เพราะความทะนงตน

    ในสมัยพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดม ท่านเกิดเป็นทาสีในบ้านของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เมื่อได้ฟังมหาสีหนาทสูตรแล้ว ท่านก็บรรลุมรรคผลเป็นพระโสดาบัน แต่การบรรลุมรรคผลนั้นไม่มีใครทราบ ภายหลังได้แสดงธรรมให้พราหมณ์ซึ่งเป็นผู้ถือการอาบน้ำล้างบาปได้รู้อริยมรรค ทำให้นายของท่านยกย่องในคุณธรรม ให้ท่านเป็นอิสระ และอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุณี ภายหลังก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

    พระปุณณิกาเถรีกล่าวว่า (นี่เป็นข้อความที่ท่านกล่าวกับพราหมณ์ที่ท่านกลับใจให้พ้นจากการหลงผิดคิดว่าการอาบน้ำมันล้างบาปได้)

    เราเป็นหญิงตักน้ำ กลัวต่อภัย คือ อาชญาของนาย และถูกภัย คือวาจา และโทสะของนายบีบคั้นแล้ว จึงลงตักน้ำในฤดูหนาวทุกเมื่อ ดูกร พราหมณ์ ท่านกลัวต่อใครเล่าจึงลงตักน้ำทุกเมื่อ ท่านมีตัวอันสั่นเทาเสวยทุกข์ คือ ความหนาวอันร้ายกาจ

    ถึงแม้ว่าจะหนาวสักเท่าไร พวกพราหมณ์ที่ถือการอาบน้ำเป็นการล้างบาป ก็ยังไปอาบน้ำล้างบาปอยู่นั่นเอง ปุณณิกาได้กล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า ที่ท่านไปตักน้ำก็เพราะท่านกลัวภัย คือ อาชญาของนาย ถูกภัยคือวาจาและโทสะของนายบีบคั้น จึงลงตักน้ำในฤดูหนาว แต่พราหมณ์กลัวใครถึงได้อุตส่าห์ไปตักน้ำในฤดูหนาวด้วยกายที่สั่นเทา เสวยทุกข์ คือ ความหนาวอันร้ายกาจ

    พราหมณ์กล่าวว่า

    ดูกร นางปุณณิกาผู้เจริญ ก็เมื่อท่านรู้อยู่ว่า เราผู้ทำซึ่งกุศลกรรม อันห้ามซึ่งบาปกรรม จะสอบถามเราทำไม ก็ผู้ใดเป็นคนแก่หรือคนหนุ่มทำบาปกรรมไว้ แม้ผู้นั้นก็ย่อมพ้นจากบาปกรรมได้ด้วยการอาบน้ำ

    ไม่รู้เหตุผลก็เลยตอบว่า ก็รู้อยู่แล้วว่า ไม่ได้ทำบาปกรรมอะไรๆ แล้วจะมาสอบถามทำไม เพราะว่าใครๆ ไม่ว่าจะคนแก่หรือคนหนุ่มที่ได้ทำบาปกรรมไว้ ก็ย่อมพ้นจากบาปกรรมนั้นได้ด้วยการอาบน้ำ

    นางปุณณิกากล่าวว่า

    ก็ใครหนอบอกความนี้แก่ท่านผู้ไม่รู้ เขาก็ไม่รู้เหมือนกัน ก็เมื่อบุคคลจะพ้นจากบาปกรรมได้เพราะการอาบน้ำ กบ เต่า นาค จระเข้ และสัตว์เหล่าอื่นที่เที่ยวไปในแม่น้ำ ก็จักพากันไปสู่สวรรค์แน่นอน พวกคนฆ่าเนื้อทรายเลี้ยงชีวิต คนฆ่าสุกร พวกชาวประมง พวกพรานเนื้อ พวกโจร พวกนายเพชฌฆาต และคนที่มีกรรมอันเป็นบาปเหล่าอื่น แม้คนเหล่านั้นก็พึงพ้นจากบาปกรรมเพราะการอาบน้ำ ถ้าแม่น้ำเหล่านี้พึงนำบาปที่ท่านทำไว้แล้วในกาลก่อนไปได้ไซร้ แม่น้ำเหล่านี้ก็พึงนำบุญมาให้ท่านบ้าง เพราะเหตุนั้น ท่านพึงเป็นผู้เหินห่างจากพระศาสนา

    ดูกร พราหมณ์ ท่านกลัวต่อบาปกรรมอันใดจึงลงอาบน้ำทุกเมื่อ ท่านอย่าได้ทำบาปกรรมอันนั้นเลย ความหนาวอย่าได้เบียดเบียนผิวของท่าน

    ถ้างดบาปเสีย ก็คงจะไม่ต้องมาหนาวสั่นด้วยการอาบน้ำ

    พราหมณ์กล่าวว่า

    ท่านนำข้าพเจ้าผู้เดินทางผิดไปสู่อริยมรรค ดูกร นางปุณณิกาผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถวายผ้าสาฎกสำหรับสรงน้ำนี้แก่ท่าน

    นางปุณณิกากล่าวว่า

    ผ้าสาฎกจงเป็นของท่านตามเดิมเถิด เราไม่ประสงค์ผ้าสาฎก ถ้าท่านกลัวต่อทุกข์ ถ้าท่านเกลียดทุกข์ ท่านอย่าทำกรรมอันเป็นบาปทั้งในที่แจ้งหรือในที่ลับ ก็ถ้าท่านจักทำ หรือกำลังทำกรรมอันเป็นบาปไซร้ แม้ท่านจะเหาะหนีไปในอากาศ ก็จักไม่พ้นทุกข์ได้เลย ถ้าท่านกลัวต่อทุกข์ ถ้าท่านไม่ชอบทุกข์ จงเข้าถึงพระพุทธเจ้ากับทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ผู้คงที่ เป็นสรณะ จงสมาทานศีลทั้งหลาย สรณคมน์และการสมาทานศีลของท่านจักเป็นไปเพื่อความพ้นจากทุกข์

    พราหมณ์กล่าวว่า

    เมื่อก่อนเราเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพรหม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    4 มิ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ