รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 036


    ตอนที่ ๓๖

    ถ้าท่านผู้ฟังคิดว่า ท่านพระราหุลขอกัมมัฏฐานพระผู้มีพระภาค ก็จะได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคจะทรงโอวาทว่าอย่างไร จะเป็นกัมมัฏฐาน เป็นกฎเป็นเกณฑ์อย่างที่ท่านคิดหรือไม่

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระราหุลว่า ตาเที่ยงไหม หูเที่ยงไหม จมูกเที่ยงไหม ลิ้นเที่ยงไหม กายเที่ยงไหม ใจเที่ยงไหม ทั้ง ๖ ทวารเที่ยงไหม

    ท่านพระราหุลกราบทูลว่า

    ไม่เที่ยง

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

    สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์หรือเป็นสุข ก็สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา

    ท่านพระราหุลกราบทูลว่า

    ไม่ควรตามเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ราหุลอริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในโสตะ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในกายะ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในใจ

    ถ้าไม่เห็นอย่างนี้ไม่เบื่อ และต้องตามปกติด้วย ย่อมเห็นอยู่อย่างนี้จึงจะเบื่อ จึงจะหน่าย จึงจะคลายได้ เวลานี้มีท่านผู้ใดคลายความพอใจในภพชาติ ในนาม ในรูปบ้างไหม หรือไปจ้องจะดูนามนั้น ดูนามนี้ด้วยความต้องการ นั่นไม่ใช่ลักษณะของการคลาย แต่ลักษณะของการคลาย เป็นเพราะรู้ชัดตามปกติจึงคลายได้ ไม่ใช่ด้วยความไม่รู้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า จิตหลุดพ้นแล้ว ดังนี้ อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

    พระผู้มีพระภาคทรงให้ทำอะไรที่ผิดปกติบ้างหรือไม่ พิจารณาจากพยัญชนะ จากพระโอวาทที่ทรงประทานแก่ท่านพระราหุล ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น แล้วก็รู้ชัดยิ่งขั้น มิฉะนั้นแล้วท่านจะไม่รู้ชัดสภาพของธรรมตามความเป็นจริง คือ ตามปกติได้

    สำหรับพยัญชนะที่ว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว หรือว่า เป็นผู้เดียวหลีกออก

    ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ภิกขุสังยุตต์ เถรนามสูตร อีกครั้งหนึ่ง ข้อความในเถรนามสูตร มีว่า

    สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้นภิกษุรูปหนึ่งมีชื่อว่าเถระ มีปกติอยู่ผู้เดียว และสรรเสริญการอยู่ผู้เดียว เธอเป็นผู้เดียวเข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต เป็นผู้เดียวเดินกลับ ย่อมนั่งอยู่ในที่ลับผู้เดียว และย่อมเป็นผู้เดียวอธิฐานจงกรม ภิกษุมากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้ มีชื่อว่าเถระ มีปกติอยู่คนเดียว มีปกติกล่าวสรรเสริญการอยู่คนเดียว

    พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งมา แล้วรับสั่งให้ไปบอกภิกษุชื่อเถระว่าพระศาสดารับสั่งให้หา เมื่อท่านพระเถระเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระเถระว่า เป็นจริงดังที่ภิกษุทั้งหลายกล่าวหรือ

    ซึ่งพระเถระก็กราบทูลว่า

    จริง

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร เถระ การอยู่คนเดียวนี้มีอยู่ เราจะกล่าวว่า ไม่มีก็หาไม่ เถระ อนึ่งการอยู่คนเดียวของเธอย่อมเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารกว่าด้วยประการใด เธอจงฟังประการนั้น จงทำไว้ในใจให้ดี เราจักกล่าว

    ท่านพระเถระทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังต่อไปนี้

    ดูกร เถระ ก็การอยู่คนเดียว ย่อมเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารกว่าอย่างไร ในข้อนี้ สิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ละได้แล้ว สิ่งใดยังมาไม่ถึง สิ่งนั้นก็สละคืนได้แล้ว ฉันทราคะในการได้อัตตภาพที่เป็นปัจจุบันถูกกำจัดแล้วด้วยดี การอยู่คนเดียวย่อมเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารกว่า อย่างนี้แล

    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

    เราย่อมเรียกนรชนผู้ครอบงำขันธ์ อายตนะ ธาตุ และไตรภพทั้งหมดได้ ผู้รู้ทุกข์ทุกอย่าง ผู้มีปัญญาดี ผู้ไม่แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง ผู้ละสิ่งทั้งปวงเสียได้ ผู้หลุดพ้นในพระนิพพาน เป็นที่สิ้นตัณหาว่า เป็นผู้มีปกติอยู่คนเดียว ดังนี้

    ถ้าการเจริญสติปัฏฐานจะต้องอยู่ผู้เดียว พระภิกษุทั้งหลายก็ไม่ควรจะไปเฝ้ากราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงความประพฤติของท่านพระเถระ เพราะว่าพระภิกษุในธรรมวินัยย่อมเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้แจ้งธรรม นี่เป็นจุดประสงค์ของการอุปสมบท เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรที่จะต้องไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเถระท่านเป็นผู้ที่ประพฤติเช่นนั้น แต่เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องปกติ แล้วสติก็จะต้องรู้ในสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง

    ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค มิคชาลสูตรที่ ๑ เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจชัดในพยัญชนะที่ว่า ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว

    ณ พระนครสาวัตถี ท่านพระมิคชาละไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลถามว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว ฉะนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรพระเจ้าข้า ภิกษุจึงชื่อว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว และด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่า อยู่ด้วยเพื่อนสอง

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มิคชาละ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจให้เกิดความรัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุยินดีกล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ เมื่อเธอยินดีกล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ ย่อมเกิดความเพลิดเพลิน เมื่อมีความเพลิดเพลิน ก็มีความกำหนัดกล้า เมื่อมีความกำหนัดกล้า ก็มีความเกี่ยวข้อง

    ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และมีความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่า ผู้มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง

    แล้วก็ต่อไปถึง รูปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ ถึงจะเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าหญ้า และป่าไม้ เงียบเสียง ไม่อื้ออึง ปราศจากลม แต่ชนซึ่งเดินเข้าออก ควรเป็นที่ประกอบกิจของมนุษย์ ผู้ต้องการสงัด สมควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ยังเรียกว่า มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้นั้นยังมีตัณหาเป็นเพื่อนสอง เขายังละตัณหานั้นไม่ได้ ฉะนั้นจึงเรียกว่า มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง

    โดยนัยที่ตรงกันข้าม พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงว่า สำหรับรูปที่น่ารัก น่าพอใจ น่าปรารถนาทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้นมีอยู่ แต่ว่าภิกษุไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่หมกมุ่น ไม่ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ แม้จะปะปนกับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ในที่สุดบ้านก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ยังเรียกว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว

    ใครทราบว่า ใครกำลังอยู่ผู้เดียว หรือว่าอยู่กับเพื่อนสอง ผู้เจริญสติทราบ จิตที่เป็นโลภะเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วทำอย่างไร จึงจะทิ้งเพื่อนคนนั้นเสียได้ แล้วก็มีปกติอยู่ผู้เดียว ถ้าไม่เจริญสติ ไม่ละกิเลสเป็นลำดับขั้น ก็ไม่มีหนทางอื่นเลย ที่จะเพียงเจริญความสงบ ปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถหมดกิเลสได้

    อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ปฏิลีนสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีทิฏฐิสัจจะแต่ละอย่าง อันบรรเทาได้แล้ว มีการแสวงหาทั้งปวงอันละแล้ว มีกายสังขารอันสงบระงับ เราเรียกว่า ผู้มีการหลีกออก เร้นอยู่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีทิฏฐิสัจจะแต่ละอย่าง อันบรรเทาได้แล้ว อย่างไร

    ทิฏฐิสัจจะแต่ละอย่างเป็นอันมากของสมณพราหมณ์ ผู้มีกิเลสหนาแน่นเหล่าใด คือ เห็นว่าโลกเที่ยง หรือว่าโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด หรือว่าโลกไม่มีที่สุด ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่น สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีก หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้

    ทิฏฐิสัจจะเหล่านั้นทั้งหมด อันภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรเทาได้แล้ว สละแล้ว คลายออกแล้ว ปล่อยแล้ว ละได้แล้ว สละคืนแล้ว ภิกษุเป็นผู้มีทิฏฐิสัจจะแต่ละอย่างอันบรรเทาได้แล้ว ดังนี้แล ทิฏฐิสัจจะนั้น คือ เห็นว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก

    “เห็นว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก” ยังเห็นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล การเกิดขึ้นก็เพราะยังมีปัจจัยที่ให้เกิด และปัจจัยที่ให้เกิดนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น เวลาที่จะหลีกออกจากกิเลส หรือว่าหลีกออก เร้นอยู่จากกิเลส คือ ความเห็นผิดเป็นเบื้องแรก ซึ่งข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาทั้งปวงอันสละแล้วอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีการแสวงหากามอันละได้แล้ว มีการแสวงหาภพอันละได้แล้ว มีการแสวงหาพรหมจรรย์อันสงบแล้ว ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาทั้งปวงอันสละแล้วอย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีกายสังขารอันสงบระงับอย่างไร

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ภิกษุเป็นผู้มีกายสังขารอันสงบระงับอย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้หลีกออก เร้นอยู่อย่างไร

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละอัสมิมานะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นดัง ตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุเป็นผู้หลีกออก เร้นอยู่อย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีทิฏฐิสัจจะแต่ละอย่างอันบรรเทาได้แล้ว มีการแสวงหาทั้งปวงอันสละแล้ว มีกายสังขารอันสงบระงับแล้ว เราเรียกว่าผู้หลีกออก เร้นอยู่

    การแสวงหากาม การแสวงหาภพ กับการแสวงหาพรหมจรรย์ อันภิกษุในธรรมวินัยนี้สละคืนแล้ว การเชื่อถือสัจจะในฐานะแห่งทิฏฐิทั้งหลาย อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ถอนขึ้นแล้ว ด้วยประการดังนี้ ภิกษุผู้สำรอกราคะทั้งปวง ผู้หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา สละคืนการแสวงหา ถอนฐานะแห่งทิฏฐิทั้งหลายได้แล้ว ภิกษุนั้นแลเป็นผู้สงบ มีสติ ระงับกายสังขาร เป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ เป็นผู้ตรัสรู้ เพราะรู้เท่าถึงมานะ เราเรียกว่า เป็นผู้หลีกออก เร้นอยู่

    มีเรื่องของสถานที่บ้างไหม เป็นเรื่องของปัญญาที่รู้แล้วละกิเลสทั้งนั้น จนกระทั่งถึงที่สุด คือ การเป็นพระอรหันต์

    ขอกล่าวถึง มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อนังคณสูตร มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ณ ที่นั้น ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า

    บุคคล ๔ พวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในโลก คือ

    บุคคลบางคนในโลกนี้มีกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า เรามีกิเลสในภายใน

    อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้มีกิเลส รู้ตามเป็นจริงว่า เรามีกิเลสในภายใน

    บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่มีกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีกิเลสในภายใน

    อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่มีกิเลส รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีกิเลสในภายใน

    บุคคลพวกที่มีกิเลส แต่ไม่รู้ชัดตามเป็นจริงว่ามีกิเลส บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษเลวทราม

    บุคคลพวกที่มีกิเลส แต่รู้ตามเป็นจริงว่ามีกิเลส บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษประเสริฐ

    บุคคลไม่มีกิเลส แต่ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่าเราไม่มีกิเลสในภายใน บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษเลวทราม

    บุคคลไม่มีกิเลส แต่รู้ชัดตามเป็นจริงว่าไม่มีกิเลสในภายใน บัณฑิตกล่าวว่า เป็นผู้ประเสริฐ

    บุคคลที่ ๑ บุคคลบางคนในโลกนี้มีกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่าเรามีกิเลสในภายใน มีกิเลสกันทั้งนั้นเลย แต่ใครบ้างที่ทราบว่าตนเองมีกิเลสถ้าไม่มีสติ ผู้ที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นผู้เจริญสติเท่านั้น จึงจะรู้ชัดตามความเป็นจริง ถ้าเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานคลาดเคลื่อนก็ผิดอีกแล้ว มีกิเลสแต่ก็ไม่รู้ว่ามีกิเลส อาจจะคิดว่าหมดกิเลสไปแล้วก็ได้ ใช่ไหม เพราะเจริญผิด ไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงเลย ก็เข้าใจว่าเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ อุทยัพพยญาณ ไม่รู้อริยสัจจธรรม เป็นอริยบุคคล โดยที่สติไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริงเลย แล้วก็อาจจะเข้าใจผิดคิดว่า ปกติรู้ไม่ได้ แต่ได้เรียนให้ทราบแล้วที่ได้ขอให้ท่านผู้ฟังระลึกอยู่เสมอว่า ปัญญาไม่ใช่ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    2 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ