รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 019


    ตอนที่ ๑๙

    ลมหายใจก็เป็นส่วนหนึ่งของกายที่ทำให้ระลึกได้ ทั้งๆ ที่มีอยู่ทุกขณะ ระลึกบ้างหรือเปล่า ก็ไม่ระลึกอีก เมื่อไม่ระลึกจึงมีไว้ให้ระลึก ในมหาสติปัฏฐาน หมวดของกาย เมื่อมีรูปประชุมรวมกัน การนั่ง การนอน การยืน การเดิน มีตลอดเวลา ระลึกได้ ไม่ว่าขณะนั่งก็ระลึกได้ ขณะยืนก็ระลึกได้ ขณะนอนก็ระลึกได้ ขณะเดินก็ระลึกได้ ไม่ใช่ห้ามว่าเดินระลึกไม่ได้ ไม่ใช่ห้ามว่ายืนระลึกไม่ได้ ไม่ใช่ห้ามว่านอนระลึกไม่ได้ ให้ระลึกแต่ขณะที่กำลังนั่งอย่างเดียว ไม่ใช่ ทุกขณะไม่ว่าจะเป็นอิริยาบทใดก็ตาม ขอให้ระลึก เพราะฉะนั้นส่วนต่างๆ ของกายก็เหมือนกัน ทั้งผม ทั้งขน ทั้งเล็บ ทั้งฟัน ทั้งหนัง โลหิต หัวใจ ไต ปอด ทุกอย่างที่มีจริง ขอให้สติระลึกรู้

    ขณะที่ระลึกเกิดขึ้น สงบไหม จากโลภะ โทสะ โมหะ เพราะสติเกิดขึ้น เมื่อระลึกแล้วรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ คือ โลกทางหนึ่งทางใดใน ๖ โลก จึงจะไม่ใช่ตัวตน ความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนจึงจะหมดสิ้นไปได้ แต่ว่าสิ่งนั้นก็เป็นของที่มีจริง เป็นสิ่งที่ปฏิกูลเพื่อจะให้จิตสงบ ระลึกได้ และปัญญาก็รู้ชัด

    แต่ถ้าเป็นโดยนัยของสมถภาวนานั้นไม่เหมือนกัน นัยของสมถภาวนานั้นมีจุดประสงค์ที่จะให้จิตเป็นสมาธิแน่วแน่ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นจึงต้องทราบว่า ส่วนต่างๆ ของกายที่เป็นปฏิกูลนั้น แบ่งเป็นอะไรบ้าง แล้วก็ท่องด้วยปากให้ขึ้นใจ เพื่อให้จิตสงบนั่นเอง วิธีของสมถภาวนานั้นมีแบบ มีวิธี มีเจตนาที่จะทำให้จิตสงบ เพราะฉะนั้น ต้องรู้วิธีด้วย โดยการท่องทีละหมวดๆ ให้คล่องโดยอนุโลม และโดยปฏิโลมจากท้ายไปหาต้น ทีละหมวดๆ จนกระทั่งคล่องแคล่วชำนาญ เมื่อท่องด้วยปากแล้ว ท่องด้วยใจต่อไป เพื่อให้ระลึกถึงลักษณะที่เป็นปฏิกูล เพื่อให้จิตสงบยิ่งขึ้น การเจริญแบบสมถภาวนาต้องมีวิธีที่จะทำให้จิตมั่นคงขึ้น แต่ไม่ใช่โดยนัยของมหาสติปัฏฐาน แต่นั่นโดยนัยของสมถภาวนา เพราะเหตุว่าส่วนต่างๆ ของกายนั้นก็เป็นหมวดหนึ่งของสมถภาวนาด้วย แต่ว่าวิธีเจริญผิดกัน

    ถ้าสมมติว่าพบส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย จับดู อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน เพราะฉะนั้น โดยนัยของการเจริญสติปัฏฐานนั้นเพื่อรู้ลักษณะโดยความเป็นธาตุ เพราะเหตุว่าบางท่านนั้นไม่สามารถที่จะพิจารณาธาตุโดยตรง ที่มีอยู่ที่กายได้ ที่กายนี้ธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานก็มี ๔ ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่เพราะเหตุว่าไม่ระลึกบ่อยๆ เนืองๆ แต่อาจจะเป็นผู้ที่ระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของส่วนต่างๆ เสียก่อน แล้วจึงจะรู้ชัดในลักษณะของสิ่งนั้น โดยความเป็นธาตุอีกทีหนึ่ง

    เย็นร้อนอ่อนแข็งทุกวันๆ ระลึกบ่อยไหม จับผม ก็ถูกแข็งๆ จับเล็บก็แข็งอีก แต่ก็ไม่ได้ระลึกรู้ในลักษณะที่แข็งนั้น แต่พอจิตระลึกถึงความเป็นปฏิกูลก่อน แล้วก็ระลึกรู้ลักษณะของความเป็นธาตุของเล็บได้ ของผมได้ โดยอาการของธาตุดิน โดยอาการของธาตุต่างๆ

    ถ้าพิจารณาแล้วปฏิกูล ท่านจึงให้หมั่นพิจารณาเนืองๆ ถึงความเป็นปฏิกูลของส่วนต่างๆ ที่ปฏิกูลจริงๆ แต่ไม่ปรากฏ อย่างเช่น ส่วนต่างๆ หนังหุ้มไว้มิดชิดเป็นที่สุดรอบ แต่ว่าพอดึงหนังตั้งแต่เบื้องบนริมฝีปากไปจนกระทั่งตลอดร่างกาย ความเป็นปฏิกูลทุกหนทุกแห่ง จะหาแก้วมณีเพชรนิลจินดาอะไรสักอย่างเดียวในร่างกายนี้ไม่ได้เลย แต่เพราะเหตุว่าหนังปกปิดไว้ชั้นหนึ่ง แล้วยังพวกสิ่งที่จรมาเป็นพวกเครื่องประดับประดาต่างๆ ก็ทำให้ไม่เห็นความเป็นปฏิกูล เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรู้ความจริงคือความเป็นปฏิกูลของสิ่งต่างๆ ได้ ก็จะต้องหมั่นระลึกถึงความเป็นปฏิกูล แล้วรู้ชัดโดยความเป็นธาตุ เพื่อจะได้ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ระลึกแล้วรู้ชัด เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐานท่านทรงแสดงไว้ทีเดียว อาตาปี สัมปชาโน สติมา มีความเพียรที่จะรู้สึกตัว แล้วเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ไม่ใช่ระลึกเฉยๆ ถ้าระลึกเฉยๆ ไม่มีสัมมาทิฏฐิจะเป็นมรรคมีองค์ ๘ ได้อย่างไร ส่วนต่างๆ ที่เป็นกายก็เห็นว่าเป็นกาย ไม่เห็นว่าเป็นตัวตน เวทนาในเวทนา เวลาที่สติระลึกรู้ความรู้สึก ก็รู้ว่าเป็นเพียงความรู้สึกไม่ใช่ตัวตน การเห็น กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ก็คือว่า ไม่เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นตัวตน เห็นตามความเป็นจริง กายก็เห็นว่าเป็นกาย เวทนาก็เห็นว่าเป็นเวทนา จิตก็เห็นว่าเป็นจิต ธรรมก็เห็นว่าเป็นธรรม

    ไม่จงใจ นี่เป็นเรื่องของความลำบากของการปฏิบัติผิด เพราะเหตุว่าไถ่ถอนยากเหลือเกิน เมื่อจิตน้อมไป โน้มไปสู่อารมณ์ใด ก็มักจะน้อมไปโน้มไปสู่อารมณ์นั้นเรื่อยๆ เพราะฝึกหัดมานานมาก ต้องตัดจริงๆ ทิ้งไปเลย ให้ทราบว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ อย่าทิ้งคำว่าตามปกติเลย และทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกๆ ขณะ ขณะไหนก็ได้ เพราะเหตุว่าขณะจิตแต่ละขณะเป็นวัฏฏะ ขณะที่ยังไม่เกิด ยังไม่มี ยังไม่ปรากฏ ไม่สามารถที่จะไประลึกได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่า จะไปทำกัมมัฏฐาน การเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าการเจริญปัญญา การเจริญวิปัสสนานั้น ระลึกทันที มีโลกปรากฏทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ใช่ไป “จะทำกัมมัฏฐาน” ไม่ใช่จะไปทำวิปัสสนา จะทำไม่ได้เลย ยิ่งเจริญสติต่อไปๆ จะพบว่า ความเป็นตัวตนแทรกอยู่ละเอียดมาก เพียงแต่คิดว่าจะทำ หรือกำลังทำ ก็เป็นตัวตน

    ท่านผู้ฟังถามว่า เวลาที่ระลึกได้แล้ว เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ใช่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่จะสำคัญอะไรในเมื่อสติเกิดระลึกชั่วนิดเดียวแล้วสติก็ดับ แล้วก็มีอย่างอื่นเป็นอารมณ์ต่อไปได้ทันที ไม่ใช่ให้ไปจ้องอยู่ที่กายอย่างเดียวนานๆ นั่นไม่ใช่ลักษณะของการเจริญสติ เพราะเหตุว่าการปรารภสติ คือ สติเกิดขึ้น เนืองๆ บ่อยๆ ท่านใช้คำว่า ปรารภ เริ่มเรื่อยๆ ระลึกได้เรื่อยๆ แม้แต่สติ พยัญชนะท่านก็อธิบายไว้ว่า ได้แก่ อนุสติ คือ การระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ถ้าต่ออยู่เรื่อยๆ สติจะดับไหม ก็เป็นสติอีกชนิดหนึ่ง ระลึกรู้นามคนละอย่าง รูปคนละอย่างแล้ว และสติก็ต้องดับไป ที่จะรู้ว่า สติเป็นธรรมชาติที่ระลึกก็ดับด้วย เพราะเหตุว่าสิ่งที่สติระลึกนั้นมีลักษณะผิดกัน ไม่ใช่ว่ามีลักษณะอย่างเดียวอยู่เรื่อย ๆ นั่นเป็นการบังคับสติ ปัญญาไม่เจริญ ไม่รู้อะไร ไปนั่งบังคับ เป็นนามหรือเป็นรูป สติระลึกรู้ลักษณะสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง อย่าลืม “เจริญปัญญา” มหาสติปัฏฐานเป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ปัญญาเพิ่มความรู้ขึ้น ไม่ใช่เพิ่มความสงบ ไม่ใช่เพิ่มสมาธิ แต่เพิ่มความรู้ชัดในสิ่งที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ บังคับก็เป็นอัตตา

    ท่านผู้ฟังถามว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหล่านั้น จะต่างกันอย่างไร ในเมื่อระลึกถึงผมด้วยความเป็นปฏิกูล และก็เป็นจิตที่ระลึก ไม่ใช่ระลึกเป็นไปในกาย เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานนั้น ขอให้ทราบว่า ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดระลึกรู้เพียงรูป จะไม่ละการยึดถือว่าเป็นตัวตน ต้องรู้ทั่ว และก็รู้ชัดด้วยจึงจะละ ไม่ใช่เพียงรู้กายอย่างเดียวแล้วจะบรรลุอริยสัจจธรรม แม้แต่ญาณขั้นที่ ๑ นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของนามและรูป ไม่ใช่รู้แต่รูป

    วิปัสสนา แปลว่า ปัญญาที่เกิดพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ท่องทางใจ นึกในใจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถึงลักษณะด้วย จนกว่าจะปรากฏชัด แต่จุดประสงค์ไม่ใช่การเจริญสมถภาวนา แต่เพื่อเทียบเคียงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าปฏิกูลมนสิการบรรพจะเป็นการเจริญสมถภาวนาก็ได้ เป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนาก็ได้ จุดประสงค์ต่างกัน วิธีเจริญต่างกัน ไม่ใช่เอาสมถมาเป็นวิปัสสนา ไม่ใช่เวลาที่เจริญปฏิกูลมนสิการบรรพ ให้ผู้เจริญสติปัฏฐานไปนั่งท่องให้คล่องแคล่วโดยอนุโลม โดยปฏิโลม ไม่ใช่อย่างนั้น นั่นไม่ใช่โดยนัยของการเจริญสติปัฏฐาน การเจริญสติปัฏฐานทุกอย่างที่มีในโลกทุกขณะ เป็นเครื่องระลึกของสติได้ทั้งสิ้น ขอให้ระลึก ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ได้ทุกอย่าง ข้อสำคัญคือว่า หลงลืมสติกันมาก ทำอย่างไรถึงสติจะเกิดระลึกได้ ก็โดยอาศัยบรรพต่างๆ ที่ได้ทรงสดงไว้โดยละเอียดนั่นเอง เป็นเครื่องที่ระลึกได้ อย่ากลัวว่าจะไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ปัญญาขั้นการฟังก็รู้ในเหตุในผลที่ได้ฟัง ปัญญาขั้นการคิด ก็พิจารณาเหตุผลได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนปัญญาที่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่เป็นนาม หรือเป็นรูป เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป ต้องเกิดพร้อมกับสติที่ระลึกรู้ในขณะที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏ ต้องเจริญสติมากทีเดียวจึงจะรู้ชัดได้ เพราะเหตุว่าไม่มีอกุศลธรรมอื่นใดทั้งสิ้น ไม่มีอุทธัจจะ ไม่มีวิจิกิจฉา ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีอกุศลที่จะไปปรุงแต่งให้หลงลืมสติ พระอรหันต์จึงเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ แต่ว่าปุถุชน หรือว่าผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์นั้น ยังมีอกุศลมากมายเหลือเกินที่จะปรุงแต่งให้เป็นผู้ที่หลงลืมสติ

    คิดเป็นนามธรรม ไม่มีเชื้อของกิเลสใดๆ ในจิตนั้น เพราะเหตุว่า ท่านเจริญสติมากมายเหลือเกินกว่าที่จะบรรลุมรรคผลแต่ละขั้นๆ ปัญญาท่านก็รู้ชัดและก็ละกิเลสไปตามลำดับด้วย

    บรรพต่อไป

    ใน มหาสติปัฏฐานสูตร ฑีฆนิกาย มหาวรรค ได้กล่าวถึงอุเทศวารกถา อานาปานบรรพ อิริยาปถบรรพ สัมปชัญญบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ต่อไปก็เป็น ธาตุมนสิการบรรพ

    ธาตุมนสิการบรรพ ใน มหาสติปัฏฐานสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ ตั้งอยู่ตามปกติโดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

    คนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ขยัน ฆ่าโคแล้ว แบ่งออกเป็นส่วน นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ ตั้งอยู่ตามปกติโดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้น ในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    จบธาตุมนสิการบรรพ

    ข้อความในธาตุมนสิการบรรพนี้สั้น ไม่เหมือนกับในปฏิกูลมนสิการบรรพ เพราะเหตุว่าในปฏิกูลมนสิการบรรพนั้น ให้พิจารณาโดยความเป็นปฏิกูลตั้งแต่ปลายผมลงมา และก็พื้นเท้าขึ้นไป ซึ่งมีหนังเป็นที่สุดรอบ ห่อหุ้มปกปิดความเป็นปฏิกูลไว้ แต่ว่าผู้ที่พิจารณาโดยความเป็นธาตุ ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ ตั้งอยู่ตามปกติ ถ้าเป็นปกติทุกอย่าง ถ้าตรวจสอบเทียบเคียงในพระไตรปิฎกโดยตรง จะเป็นการที่สติระลึกรู้สิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ ไม่ใช่ให้ทำขึ้นมารู้ ไม่ต้องทำอะไรช้าๆ เพื่อที่จะให้สติเกิดขึ้น แต่ไม่รู้ในขณะที่กำลังเป็นปกติ ก็ต้องฟังแล้วก็เทียบเคียงแล้วพิจารณา สิ่งใดที่ไม่ได้เหตุผลก็ต้องทิ้งไป

    สำหรับโดยความเป็นธาตุ มีปรากฏให้รู้ได้ตลอดเวลาที่กายนี้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไประลึกถึงโดยความเป็นปฏิกูล คำว่า ธาตุ หมายความถึง สภาพที่มีปรากฏแต่ละลักษณะตามความเป็นจริงของธาตุนั้นๆ ธาตุดินไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่ลม ธาตุไฟก็ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ดิน ไม่ใช่ลม จะเห็นได้ไม่ว่าจะพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง ภายนอกบ้าง ทั้งภายในและภายนอกบ้าง ธาตุดินมีลักษณะแข็ง ธาตุไฟ มีลักษณะเย็นหรือร้อน ธาตุลม มีลักษณะตึงหรือไหว ปกติทุกคนก็มี เดินเมื่อยๆ เข้า มีตึง เป็นสิ่งที่ระลึกรู้ของจริงที่กำลังปรากฏ ไม่มีอะไรที่ผิดปกติหรือว่าต้องไปทำขึ้นเลย เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วทั้งนั้น ระลึกรู้ได้ เป็นธาตุแต่ละชนิดที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล บางส่วนของร่างกาย อย่างผม ไม่มีความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงาน มีแต่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม และรูปอื่นพอสมควร แต่ไม่ใช่มีความอ่อน ความเบา ความควรแก่การงาน เหมือนเวลาที่ส่วนอื่นของร่างกายสามารถที่จะเคลื่อนไหว เหยียด คู้ ได้ มีความอ่อน ความเบา ความควรแก่การงานด้วย เป็นลักษณะของธาตุนั่นเอง ไม่ใช่อีกรูปหนึ่งที่แยกออกไปจากธาตุนั้น อุปมาเหมือนทองที่เอาไปหล่อ และมีความอ่อนเกิดขึ้น ความอ่อนของทองก็ไม่ได้แยกออกไปจากตัวทอง ต้องอยู่ด้วยกันแต่เป็นลักษณะที่อ่อน ที่เบา ที่ควรแก่การงาน ไม่เหมือนกับทองที่ไม่ได้หล่อ ที่ไม่ได้อยู่ในเบ้าไฟ เป็นลักษณะหนึ่งของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อาจจะเกิดเพราะจิต เพราะอาหาร เพราะอุตุ ปรากฏทีละลักษณะ เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละดวง ไม่ใช่พร้อมกันในจิตหรือสติขณะเดียว เพราะสติขณะหนึ่งก็ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเพียงอย่างเดียว จะรู้ทั้งร้อนทั้งเย็นพร้อมกันไม่ได้ ขณะใดที่สติระลึกรู้ลักษณะที่ร้อน สติที่ระลึกรู้ลักษณะที่ร้อนต้องหมดเสียก่อน จึงจะระลึกรู้ลักษณะที่เย็นต่อไปได้

    สำหรับธาตุมนสิการบรรพก็โดยนัยเดียวกัน คือ เป็นสมถกัมมัฏฐานก็ได้ เป็นวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ได้ แต่ความมุ่งหมายผิดกัน และสภาพของจิตในขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของธาตุก็ผิดกันด้วย เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ของสมถภาวนาทั้งหมดนั้น เพื่อให้จิตแน่วแน่ตั้ง มั่นคง อยู่ที่อารมณ์เดียว แต่จุดประสงค์ของการเจริญวิปัสสนานั้นเพื่อรู้ชัด แล้วละ ละการยึดถือ การติดข้อง ความต้องการ โดยหลงเข้าใจผิดว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดศึกษาเรื่องสมถกัมมัฏฐาน จะมีธาตุมนสิการด้วย แต่ว่าสำหรับผู้ที่เจริญสมถกัมมัฏฐานนั้น เวลาที่จะระลึกถึงธาตุหนึ่งธาตุใดใน ๔ ธาตุนี้ ก็มีความมุ่งหมายที่จะระลึกเพื่อให้จิตสงบอยู่ที่อารมณ์เดียว เพื่อให้จิตตั้งมั่นคง ไม่ใช่เพื่อการรู้ชัดแล้วละ ซึ่งถ้ารู้ชัดแล้วละ สติจะต้องรู้ทั่ว ไม่ใช่เฉพาะธาตุนั้นธาตุเดียว หรือว่าไม่ใช่มีความประสงค์จะให้จิตแน่วแน่ ตั้งมั่น อยู่ที่เฉพาะธาตุนั้น

    สำหรับธาตุมนสิการ ถึงแม้ว่าจะเป็นโดยนัยของสมถภาวนาก็ตาม เป็นอารมณ์ที่ไม่สามารถจะทำให้จิตบรรลุถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เพียงแต่ให้จิตสงบได้ถึงขั้นอุปจารสมาธิเท่านั้น เพราะเหตุว่ามีลักษณะของธาตุเป็นอารมณ์


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    31 พ.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ