รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 040


    ตอนที่ ๔๐

    จงสมาทานศีลทั้งหลาย สรณคมน์และการสมาทานศีลของท่านจักเป็นไปเพื่อความพ้นจากทุกข์

    พราหมณ์กล่าวว่า

    เมื่อก่อนเราเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพรหม วันนี้เราได้เป็นพราหมณ์จริงๆ เราได้เป็นผู้มีวิชชา ๓ สมบรูณ์ด้วยเวท มีความสวัสดี มีบาปอันล้างแล้ว

    ทาสีก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันได้ โดยที่บุคคลอื่นไม่รู้ แล้วไปตักน้ำตามปกติธรรมดา แต่สามารถเกื้อกูลให้คนที่หลงผิดเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องได้ ถ้าดูตัวอย่างในพระไตรปิฎกจะเห็นได้ว่า เป็นชีวิตจริงๆ ธรรมดา ปกติ แต่เพราะได้เคยสะสมเหตุที่ถูกที่ควรแก่การรู้แจ้งอริยสัจในภพชาตินั้น เป็นบุคคลปกติธรรมดาที่มีวิถีชีวิตต่างกันไป บางท่านเป็นอุบาสิกาที่ครองเรือน บางท่านไม่ครองเรือน บางท่านมีความเศร้าโศกมาก บางท่านเพียบพร้อมสมบูรณ์ด้วยกามคุณ ทรัพย์สมบัติมากมาย แต่ท่านเหล่านั้น ทุกชีวิตสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    อีกตัวอย่างหนึ่ง ใน ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ

    รัชชุมาลา นางเทพธิดาได้กล่าวกับท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงอดีตชาติของท่านว่า

    เมื่อชาติก่อน ดิฉันเป็นหญิงรับใช้ของพราหมณ์ อยู่ในบ้านคยา เป็นคนมีบุญน้อย ต่ำทราม ชนทั้งหลายเรียกดิฉันว่า รัชชุมาลา ดิฉันถูกเจ้านายลงโทษด้วยการด่าว่า เฆี่ยนตี และขู่เข็ญอย่างหนัก จึงถือเอาหม้อน้ำออกไปจากบ้านเพื่อตักน้ำ แล้ววางหม้อน้ำไว้เสียข้างทาง บ่ายหน้าเข้าสู่ป่าชัฏด้วยตั้งใจว่า เราจักตายเสียในที่นี้แหละ ความเป็นอยู่ของเราหาประโยชน์อะไรมิได้เลย

    ครั้นแล้วผูกเชือกให้เป็นบ่วง รัดคออย่างแน่น แล้วปล่อยห้อยไปตามต้นไม้ คิดว่าจะโดดลงไปให้ตาย เหลียวไปดูรอบทิศ ด้วยเกรงว่าจะมีผู้ใดมาแอบดูอยู่บ้าง ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนไม้ เกิดความเลื่อมใส แล้วคิดว่า พระองค์เป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ขณะที่กำลังคิดอยู่อย่างนั้น พระตถาคตเจ้าก็ได้ตรัสเรียกด้วยพระวาจาอันอ่อนหวานว่า

    ดูกร นางรัชชุมาลา ดังนี้แล้ว มีพระดำรัสสืบต่อไปว่า ท่านจงถึงตถาคตเป็นที่พึ่งเถิด

    ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงอริยสัจจธรรมแก่รัชชุมาลา รัชชุมาลาได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในขณะนั้น

    นี่เป็นชีวิตจริงๆ ปกติธรรมดา ไม่ต้องไปทำอะไรให้ผิดปกติ แต่ต้องเป็นผู้ที่เจริญเหตุให้สมควรแก่ผล

    อีกท่านหนึ่ง

    สิริมา เทพธิดาชั้นนิมมานรดี ได้กล่าวถึงอดีตชาติของท่าน กับพระวังคีสเถระว่า

    ดิฉันเป็นพระสนมของพระเจ้าพิมพิสาร อยู่ในพระนครราชคฤห์ มีความชำนาญในการฟ้อนรำขับร้องชั้นเยี่ยม ชาวเมืองพากันเรียกว่า นางสิริมา ได้ฟังธรรม สำรวมเคร่งครัดในศีล ตั้งมั่นในธรรมปฏิบัติ แล้วก็ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระโสดาบัน

    ผู้ฟัง ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ เป็นปัญหาเก่าๆ ที่ยังทำความกระจ่างชัดให้ผมไม่ได้ เกี่ยวกับอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน ทั้ง ๔ อิริยาบถนี้ท่านอาจารย์ก็ได้อธิบายให้ทราบแล้วว่า ในขณะที่กำลังนั่ง มีรูปมีนามใดปรากฏขึ้นทางทวารทั้ง ๖ บ้าง ผมก็พอเข้าใจในเรื่องนี้ แต่พอมาดูในอิริยาบถบรรพเข้า ก็อดคลางแคลงไม่ได้ว่า ไฉนพระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติว่า เมื่อเดินอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี ก็รู้ชัดว่า เราเดิน เรายืน เรานั่ง เรานอน คล้ายๆ กับว่า ท่านจะให้รู้ว่ากำลังเดิน กำลังยืน กำลังนั่ง กำลังนอนอย่างนี้ นี่ประการหนึ่ง และในอิริยาบถบรรพนี้เอง ท่านก็บอกไว้ในตอนท้ายว่า

    อนึ่ง เมื่อเธอนั้นเป็นผู้ตั้งกายไว้แล้วอย่างใดๆ จะตั้งกายไว้ในอิริยาบถใดๆ ก็ตาม ก็ย่อมรู้ชัดอาการกายนั้นอย่างนั้นๆ

    คำว่า อาการกายนี้ สงสัยว่า อาการกายนี้จะเป็นอย่างไร จะเป็นว่า ยืน เดิน นั่ง นอน นี้เป็นอาการของกาย หรือว่า อาการกายจะมีอย่างอื่นนอกจากนี้ นี่เป็นจุดหนึ่งที่ผมยังไม่เข้าใจชัด ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาชี้ให้ชัดลงไปด้วย

    ท่านอาจารย์ สำหรับอิริยาปถบรรพก็ดี สัมปชัญญบรรพก็ดี ก็เป็นสิ่งที่จะต้องมีสติระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏที่กาย เพราะเหตุว่าผู้เจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ที่พิจารณาเห็นกายในกาย และการเห็นกายในกายต้องตรงตามลักษณะอาการของกายด้วย ไม่ว่าจะเป็นอานาปานบรรพ ลมหายใจเป็นรูปเป็นส่วนหนึ่งของกาย ผู้ที่เจริญสติปัญญาระลึกพิจารณารู้ว่าสภาพของกายที่เป็นลมหายใจนั้นมีลักษณะอย่างไร ไม่ใช่ว่ายังติดว่าเป็นลมหายใจอยู่ เวลาที่เป็นอิริยาปถบรรพ สัมปชัญญบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพคือส่วนต่างๆ ของกายที่มีอยู่ เห็นอยู่ ปรากฏ ถูกต้องสัมผัสกระทบทุกวันๆ ก็ขอให้เป็นสิ่งที่ให้สติระลึกรู้ลักษณะของกายตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่ายังคงเป็นส่วน เป็นคำบัญญัติที่ว่าเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง โดยนัยของสมถภาวนา ถ้าเป็นอย่างนั้น แต่การเจริญสติปัฏฐานเพื่อให้ปัญญารู้ชัด พิจารณาเห็นกายในกาย ลักษณะของกายส่วนใดเป็นอย่างไร ปัญญารู้ชัดในลักษณะของกายตามความเป็นจริง ก็ไม่มีคำที่น่าสงสัยใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นอิริยาปถบรรพ กำลังยืน มีสติ รู้สึกตัว พิจารณาเห็นกายในกาย กายปรากฏมีลักษณะอย่างไร ขณะที่กำลังยืนอยู่พิจารณาเห็นกายในกาย ที่กายมีลักษณะอย่างไร ปัญญาก็ต้องรู้ชัดในอาการ ในลักษณะของกายนั้น และที่กายในขณะนี้ ทุกท่านกำลังนั่ง มีลักษณะอะไรปรากฏ ขอให้บอกลักษณะ กำลังนั่งเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ รู้ที่กาย แล้วก็รู้กาย พิจารณาเห็นกายเป็นกายตามความเป็นจริงด้วย ลักษณะอะไรกำลังปรากฏที่กาย มีหลายอย่าง เย็นมีไหม มี เห็นกายในกายถูกต้องไหม ถ้าขณะที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะที่เย็น ที่ว่าเป็นกายไม่ใช่ตัวตนก็เพราะเหตุว่าเป็นรูปชนิดหนึ่งใน ๒๘ รูป เย็นเป็นมหาภูตรูปหนึ่งในมหาภูตรูป ๔ เป็นสิ่งที่มีจริงทรงแสดงไว้โดยละเอียดในลักษณะของรูป ๒๘ รูป เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ประจักษ์ได้ว่าทางกายนั้นรู้อะไร ก็เห็นรูปที่กายตามความเป็นจริง เห็นกายเป็นกาย ไม่ใช่เห็นเวทนา ไม่ใช่เห็นส่วนที่เป็นนามธรรม แล้วที่จะเห็น เห็นที่ไหน ก็เห็นที่กายนี่แหละ ในขณะไหน ถ้านั่งอยู่ก็เห็นในขณะที่นั่ง ถ้ายืนอยู่ก็เห็นกายในกายในขณะที่ยืนอยู่

    ผู้ฟัง คำว่ากายในกาย ขออนุญาตทราบว่ากายแรกคืออะไร กายหลังคืออะไร

    ท่านอาจารย์ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค อานาปานกถา มีข้อความว่า

    กาย ในคำว่า กาโย มี ๒ คือ นามกาย ๑ รูปกาย ๑

    นามกาย เป็นไฉน เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ เป็นนามด้วย เป็นนามกายด้วย

    ในที่นี้คำว่า กาย หมายความว่าประชุมรวมกัน ไม่ใช่แยกกันอยู่ อย่างเวทนาก็ไม่ใช่แยกกับสัญญา ไม่ใช่แยกกับเจตนา ไม่ใช่แยกกับผัสสะ

    นามกาย เป็นไฉน เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ เป็นนามด้วย เป็นนามกายด้วย และท่านกล่าวจิตตสังขารว่า นี้เป็นนามกาย

    คือแทนที่จะพูดถึงเจตสิกอื่นๆ ท่านกล่าวจิตตสังขารว่า นี้เป็นนามกาย

    รูปกาย เป็นไฉน มหาภูตรูป ๔ รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ นิมิต และท่านกล่าวว่า กายสังขารที่เนื่องกัน นี้เป็นรูปกาย

    ที่ท่านแสดงนามกายกับรูปกายนั้น ก็เป็นเพราะผู้เจริญสติจะต้องทราบลักษณะของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่มีสติว่าต่างกัน การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ให้รู้รูปใดรูปหนึ่งรูปเดียว ถ้าผู้ใดไม่รู้ความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่มีสติแล้ว ผู้นั้นเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติต้องมีปัญญารู้ว่า ขณะนี้มีสติ สติเป็นนามกาย ไม่ใช่รูปกาย

    ข้อความต่อไป ข้อ ๔๐๔

    กายเหล่านั้นย่อมปรากฏอย่างนี้ กาย คือ ความเป็นผู้รู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจออก หายใจเข้าปรากฏ

    สติเป็นอนุปัสสานาญาณ กายปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย บุคคลย่อมพิจารณากายนั้น ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น เพราะเหตุดังนี้ ท่านจึงกล่าวว่า สติปัฏฐานภาวนา คือ การพิจารณาเห็นกายในกาย

    เห็นที่กายนั่นเอง แต่ว่าเห็นลักษณะของกาย คือลักษณะของรูปที่กายตามความเป็นจริง

    อานาปานบรรพระลึกลมหายใจ ก็มีลักษณะของรูปปรากฏให้รู้ ไม่ใช่ว่าเป็นชื่อลมหายใจหรือว่าเป็นรูปรวมๆ กันที่ไม่มีลักษณะของรูป แต่ว่าแม้ในขณะที่ระลึกที่ลักษณะของลม สติระลึกรู้ลักษณะของรูปปรากฏให้รู้ฉันใด ขณะที่นั่ง นอน ยืน เดิน เป็นอิริยาปถบรรพก็ดี ขณะที่เคลื่อนไหว เหยียด คู้ พูด สัมปชัญญบรรพก็ดี ปฏิกูลมนสิการบรรพพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังก็ดี อสุภมนสิการระลึกถึงซากศพในลักษณะต่างๆ ก็ดี ตลอดหมดทุกบรรพนั้น สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏลักษณะอาการของรูปตามความเป็นจริง จึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    สติระลึกรู้ลักษณะที่ปรากฏที่กายนั้นเอง รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง ไหวที่ปรากฏ ต้องรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงในลักษณะของรูปนั้นๆ บางท่านอาจจะเข้าใจว่าท่านรู้แล้ว แต่ท่านรู้ผิดได้ ถ้าไม่รู้ตรงตามปกติ ตามความเป็นจริงอย่างนี้

    ถ. สรุปได้ว่า อาจารย์ชี้แจงให้ทราบว่า การรู้รูปนามในขณะที่กายนั้นอยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง จะเป็นอิริยาบถยืนก็ตาม นอนก็ตาม นั่งก็ตาม หรือว่าอย่างอื่นก็ตาม ก็รู้รูปนามในขณะที่อยู่ในอิริยาบถนั้นๆ จะเป็นอะไรก็สุดแล้วแต่ แต่ก็ยังไม่เข้าใจอีก เพราะบางท่านบอกว่า ให้รู้รูปทั้งกลุ่ม และอาการของรูปทั้งกลุ่ม เป็นอาการนั่ง นอน ยืน เดิน คือ ให้รู้วิการรูป หรือรู้วิญญัติรูป ทีนี้ทั้ง ๒ ประเภทนี้เท่าที่ศึกษามาก็เป็นสุขุมรูปทั้งนั้น ไม่สามารถที่จะรู้ได้ นี่ก็จุดหนึ่ง

    อีกจุดหนึ่ง คือ ท่านอธิบายว่า รู้เพียงอาการนั่ง หรือว่ายืน หรือว่านอน อย่างใดอย่างหนึ่งก็พอ ก็สามารถจะให้รู้รูปนามตามความเป็นจริงได้แล้ว ผมก็สงสัยว่า รู้เพียงรูปนั่งอย่างนี้แล้วจะรู้อะไร เพราะลักษณะก็ไม่ได้ปรากฏอย่างที่อาจารย์กรุณาชี้ให้เห็นเมื่อสักครู่นี้ ไม่มีลักษณะอะไรที่ปรากฏออกมาเลย นอกจากนั่งแล้วก็โงกหลับไปเท่านั้นเอง ผมพยายามทำความเข้าใจในเรื่องนี้เพื่อจะได้ไม่สับสนในเรื่องของการปฏิบัติ ขอความกรุณาอาจารย์ด้วย

    ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฎกไม่มีรูปนั่ง ไม่มีรูปนอน ไม่มีรูปยืน ไม่มีรูปเดินในรูป ๒๘ รูปเลย รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธานก็ได้แก่มหาภูตรูป ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีลักษณะปรากฏให้รู้ชัดได้จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะมหาภูตรูป ๔ รูปเท่านั้นที่มีลักษณะปรากฏให้รู้ รูปทุกรูปทรงแสดงลักษณะความต่างกันที่ได้ทรงจำแนกรูปออกเป็น ๒๘ รูป แต่ละรูปมีลักษณะ ที่ท่านกล่าวว่ารูปนั่งเป็นวิการรูป ขอให้สอบทานดูในพระไตรปิฎกว่า วิการรูป


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    4 มิ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ