รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 030


    ตอนที่ ๓๐

    เจริญสติปัฏฐานแล้วก็รู้ข้อความในมหาสติปัฏฐาน บรรพต่างๆ แต่ทำไมยังรักสวยรักงามอยู่ เกิดความสงสัยขึ้นบ้างไหม เพราะเหตุว่า มีใครบ้างที่จะระลึกถึงอสุภะซากศพได้ตลอดเวลา ไม่มี เพียงชั่วระลึกนิดเดียว ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานทราบว่า ดับแล้ว หมดแล้ว มีลักษณะของนามอื่นรูปอื่นที่ผู้นั้นสะสมอบรมมาเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น แต่ว่าสติยังสามารถที่จะตามรู้นามอื่นรูปอื่นที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยและไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน นี่เป็นจุดที่สำคัญที่สุด การละกิเลส ต้องละเป็นขั้นๆ คือ ขั้นแรกต้องละความเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปทั้งปวงว่าเป็นตัวตน การระลึกถึงอสุภะ มีขณะหนึ่งแล้วหมดไป แล้วก็ระลึกถึงอย่างอื่น เพราะมีปัจจัยที่ได้สะสมมาแล้วที่จะให้เกิดขึ้น เป็นอนัตตาไม่ใช่ไปนั่งบังคับว่าไม่ให้เกิด เพราะฉะนั้นเรื่องของอสุภกรรมฐานนี้จึงได้มีโดยนัยของสมถภาวนา กับโดยนัยของการเจริญปัญญา สำหรับนัยของการเจริญปัญญานั้น เพียงให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ว่าสติควรเกิดเนืองๆ บ่อยๆ ทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใด เห็นสิ่งใดก็ให้สติระลึกแล้วก็รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่ฝืน ปิดบังกิเลสที่ได้สะสมมา ที่ไม่ใช่เป็นพระอริยบุคคล ไม่ได้บรรลุอริยสัจธรรมแล้วก็ไปฝืน บังคับไว้ แต่ไม่ว่าผู้ใดจะสะสมโลภะโทสะมามากสักเท่าไหร่ก็ตาม ผู้เจริญสติปัฏฐานระะลึกรู้สภาพของธรรมที่กำลังเกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ตามความเป็นจริงว่า สภาพนั้นๆ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล แล้วก็จะไปแลกเปลี่ยนกับอีกบุคคลหนึ่งก็ไม่ได้ บุคคลหนึ่งอาจจะขัดเกลาโลภะโทสะเบาบาง จนกระทั่งกุศลจิตเกิดมากในวันหนึ่งวันหนึ่ง เป็นผู้สงบ เป็นผู้อ่อนโยน เป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยกุศล ส่วนอีกท่านหนึ่งก็สะสมเหตุปัจจัยของโลภะกล้า โทสะกล้า เพราะฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐานจึงมีทั้งทุกขาปฏิปทา และสุขาปฏิปทา ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานสุขาปฏิปทาก็เป็นผู้ที่มีกิเลสเบาบาง เพราะฉะนั้นสติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามรูปที่มีกิเลสเบาบางนั้นเอง แต่ว่าถ้าผู้ใดเป็นทุกขาปฏิปทาผู้ปฏิบัติลำบาก เพราะเหตุว่ามีกิเลสกล้า มีโลภะกล้า มีโทสะกล้า สติขอผู้นั้นก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปที่เกิดปรากฏกับผู้นั้นจนกว่าจะละคลายได้ ไม่ใช่ว่าไปเปลี่ยน ไปทำเป็นอีกบุคคลหนึ่ง แล้วก็ไม่รู้ลักษณะสภาพนามและรูปที่มีปัจจัยที่เกิดขึ้นกับตน นี่ก็เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องพิจารณาด้วย เพราะเหตุว่าบางทีได้ฟังเรื่องของมหาสติปัฏฐาน แล้วก็อาจจะไม่เข้าใจว่าถ้าเป็นอย่างนี้ก็คงจะไม่มีความยินดีพอใจอะไรเลย ระลึกแต่ซากศพแล้วก็หมดโลภะ โทสะ แต่ว่าไม่ใช่ลักษณะของอสุภะจะเกิดได้เพียงอย่างเดียว แต่ว่ามีเหตุปัจจัยให้คิดเรื่องอื่นด้วย

    ข้อความต่อไปมีว่าข้อความต่อไปนี้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูกปราศจากเส้นเอ็นผูกรัดแล้ว เรี่ยรายไปในทิศใหญ่ ทิศน้อย คือ กระดูกมือไปทางหนึ่ง กระดูกเท้าไปทางหนึ่ง กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง กระดูกขาไปทางหนึ่ง กระดูกสะเอวไปทางหนึ่ง กระดูกหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสันหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสีข้างไปทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกไปทางหนึ่ง กระดูกไหล่ไปทางหนึ่ง กระดูกแขนไปทางหนึ่ง กระดูกคอไปทางหนึ่ง กระดูกคางไปทางหนึ่ง กระดูกฟันไปทางหนึ่ง กะโหลกศีรษะไปทางหนึ่ง เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจาณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    ละเอียดดี ที่ทุกคนกำลังมี แต่ยังไม่กระจัดกระจาย ยังไม่เรี่ยรายไปในทิศใหญ่ทิศน้อย แต่ผูกรัดไว้ด้วยเอ็น ฉาบไว้ด้วยเนื้อ แต่ว่าความจริงก็เป็นกระดูกแต่ละชิ้น แต่ละส่วนจริงๆ ที่สามารถจะกระจัดกระจายออกเมื่อไรก็ได้ ในพริบตานี้ก็ได้ ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่สิ่งที่มั่นคงแข็งแรงที่จะตั้งมั่น ไม่ให้เสื่อมไม่ให้กระจัดกระจายอย่างนั้นเลย แต่ว่าสภาพตามความเป็นจริงแล้ว สามารถกระจัดกระจายได้ทุกขณะที่มีเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นอสุภะ ซากศพ ก็น้อมมาสู่กาย เพื่อจะละคลายความพอใจ ความยินดี ความเห็นผิดยึดถือในร่างกายได้ แล้วก็อย่าลืมว่าเมื่อระลึกอย่างนั้นแล้ว สติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป แล้วก็รู้ชัดด้วยปัญญาว่า สภาพธรรมเหล่านั้นไม่ใช่ตัวตน ก็จะได้เห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง แล้วก็เห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง โดยที่ว่าไม่ละเลยโอกาสที่จะให้สติเกิดขึ้นเวลาที่ได้พบกับอสุภะต่างๆ เหล่านั้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือเป็นกระดูกมีสีขาวเปรียบด้วยสีสังข์ เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    เคยเห็นกระดูกที่มีสีขาวเหมือนสีสังข์ไหม กระดูกใคร วันหนึ่งทุกคนก็ต้องเป็นอย่างนั้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นกระดูกกองเรี่ยรายอยู่แล้วเกิน ๑ ปีขึ้นไป เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    ถึงกระดูกที่เกิน ๑ ปี ก็ยังเป็นเครื่องให้สติระลึกได้ ทุกอย่างที่เป็นของจริง ไม่ควรที่จะให้ผ่านไปด้วยโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยให้โลภะเกิด โทสะเกิด โมหะเกิด แต่ก็ให้อบรมสติให้เกิดขึ้น รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้นด้วย มิฉะนั้นแล้ววันหนึ่งๆ ก็จะมีแต่โลภะ โทสะ โมหะ

    ประการสุดท้ายมีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูกผุเป็นจุลแล้ว เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีเป็นอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    จบนวสีวถิกาบรรพ

    จบกายานุปัสสนา

    ถึงที่สุดของกาย โดยเป็นกระดูกที่ผุจนเป็นผง ไม่เหลืออีกแล้ว ส่วนที่เคยยึดถือตั้งแต่เกิดมา ไม่ว่าจะเป็นขน ผม เล็บ ฟัน หนัง ร่างกายส่วนต่างๆ แต่ว่าถึงที่สุดก็โดยการที่เป็นกระดูกผุจนป่น อีกสัก ๕๐๐ ปี หรือ ๑,๐๐๐ ปี ๒,๐๐๐ปี ก็คงจะมีกระดูกผุมากมาย ส่วนของแต่ละท่านที่อยู่ที่นี่ก็ต้องเป็นอย่างนั้นแน่นอน แต่เวลาที่ยังไม่เป็นอย่างนั้น ก็ระลึกทั้งๆ ที่กำลังนั่ง กำลังยืน กำลังเดิน กำลังนอน ก็เหมือนซากศพที่พูดได้ เดินได้ ไม่ได้ผิดกันเลย มีความเป็นอสุภะจริงๆ แต่ว่าถูกปกปิดหรือว่าหุ้มห่อไว้มิดชิด ก็ไม่ปรากฏความเป็นอสุภะ จนกว่าจะประจักษ์หรือได้ประสบกับอสุภะในลักษณะต่างๆ ที่จะทำให้สติเกิดระลึกได้

    การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่เป็นอสุภะบรรพ ต่างกับการเจริญอสุภกรรมฐาน โดยนัยของสมถภาวนาอย่างไร

    พอท่านเห็นข้อความในมหาสติปัฏฐานว่า คล้ายคลึงหรือว่ามีข้อความเดียวกันกับสมถกรรมฐาน ท่านก็ไปเข้าใจคิดเองว่า จะต้องเจริญสมถภาวนาให้เป็นฌานจิตเสียก่อน แล้วถึงจะเจริญวิปัสสนา แต่ในมหาสติปัฏฐานไม่ใช่อย่างนั้นเลย เป็นคนละเรื่องทีเดียว ไม่ว่าในอานาปานบรรพ หรือว่าในปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ หรือว่าอสุภภาวนานี่ก็ตาม ถ้าเป็นเรื่องของสติปัฏฐานแล้ว ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ให้ท่านไปทำขึ้น แต่ว่าเรื่องของสมถภาวนานั้น เป็นเรื่องที่ต้องการให้จิตสงบ แล้วก็เป็นเรื่องของการให้ไปทำขึ้น เวลานี้ติดไม่สงบถ้าจะให้สงบจะเจริญอสุภกรรมฐานที่เป็นสมถภาวนาแล้วก็จะต้องศึกษาทีเดียวว่าจะเจริญด้วยวิธีอย่างไรจะต้องมีซากศพจริงๆ ในลักษณะนั้นๆ ที่ตรงเป็นสัปปายะแก่ที่ตรงเป็นสัปปายะแก่จริตของแต่ละคนที่จะทำให้จิตสงบระคายจากการพอใจในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แล้วก็ให้มีนิมิตของซากศพนั้นเป็นอารมณ์ โดยที่ไม่ได้รู้ลักษณะของนามรูป ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจเลย นั่นเป็นนัยของสมถภาวนา ซึ่งจะต้องศึกษาว่า ในการพิจารณาอสุภะจนกระทั่งจิตสงบเป็นฌานจิตนั้นจะต้องเจริญอย่างไร เพราะเหตุว่าอสุภะนี้น่ากลัว เวลานี้ไม่น่ากลัวเพราะว่าทุกคนยังมีชีวิต แต่เป็นซากศพที่ขึ้นพอง สีเขียวน่าเกลียด เกิดความรู้สึกอย่างไร ไม่พอใจ กลิ่นก็ไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้นผู้ที่ต้องการระงับจากความยินดีพอใจในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้จิตสงบโดยมีนิมิตของอสุภะเป็นอารมณ์ ก็จะต้องศึกษาถึงวิธีเจริญจนกระทั่งเกิดนิมิต ให้จิตสงบเป็นขั้นๆ จนกระทั่งเป็นปฐมฌาน ไม่รู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอื่นๆ เลย เพราะฉะนั้นการเจริญสมาธิกับการเจริญสติปัฏฐานนี้แยกกันต้องเข้าใจให้ชัดเจนว่าสมาธิต้องการทำให้มีขึ้นในสิ่งที่ขณะนั้นไม่มี เช่นในขณะนี้ไม่สงบ สมาธิต้องการทำให้สงบโดยอาศัยว่าจะพิจารณาอย่างไร จะมนสิการอย่างไร จะบังคับอย่างไร หรือ จะมีวิธีเจริญอย่างไร เพื่อให้จิตสงบ แต่ในขณะที่กำลังทำให้จิตสงบไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจตามความเป็นจริงเลย และในขณะที่เป็นฌานจิตก็ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ไม่ใช่ปัญญาที่รู้แล้วละการยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏสิ่งที่กำลังปรากฏว่าไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของการเจริญสมถภาวนากับการเจริญสติปัฏฐานนั้นต่างกัน ก็จะต้องเข้าใจให้ถูกแม้ในอสุภะที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็จะต้องเข้าใจด้วยว่าเป็นเพียงเครื่องระลึกเท่านั้น ไม่ใช่ว่าให้ไปสร้างให้ไปทำขึ้นให้จิตสงบ มีนิมิตของซากศพ ไม่ให้รู้รูปสิ่งกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์ที่กำลังปรากฏทุกๆ ขณะ นั่นเป็นคนละอย่าง แล้วก็ไม่ใช่ให้ท่านไปเจริญอสุภกรรมฐานจนเป็นฌานจิตเสียก่อนแล้วถึงจะเจริญวิปัสสนา เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐานเป็นการฝึกอบรมปัญญาให้มีกำลังเพิ่มขึ้น ให้เป็นอินทรีย์ ให้เป็นพละ ให้ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ใดๆ ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าในสถานที่ใดทั้งสิ้น นั่นเป็นลักษณะของพละความไม่หวั่นไหวของอินทรีย์ทั้ง ๕ ที่จะต้องเจริญอบรมให้มาก เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตน้อมไปสู่ความสงบ ผู้ที่มีปกติเจริญสติจึงสามารถระลึกได้ ว่าขณะนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง แล้วก็ละคลายการที่จะยึดถือความสงบนั้นว่าเป็นตัวตน แต่ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐานเป็นการที่ให้เจริญสมถภาวนาจนกระทั่งได้ฌานแล้วก็มีอัตตาเป็นตัวตนไปยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้ตามใจชอบ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เรื่องของการที่สติจะเกิดขึ้นระลึกได้ รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามเป็นแต่เพียงรูป ต้องอาศัยการเจริญสติเป็นปกติจนกระทั่งเป็นพละไม่หวั่นไหว ไม่ว่านามและรูปใดๆ จะปรากฏเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    สำหรับความต่างกันของอสุภกัมมัฏฐานที่เป็นสมถภาวนา กับนวสีวถิกาบรรพที่เป็นกายานุปัสสนาก็มีหลายประการ ซึ่งในอสุภกัมมัฏฐานนิเทส ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้แสดงอสุภะ ๑๐ ประการ แต่นวสีวถิกาบรรพ การพิจารณาซากศพ ๙ อย่างเป็นมหาสติปัฏฐาน

    สำหรับสมถภาวนาก็ต่างกันตามจริตของผู้เจริญ แต่สำหรับนวสีวถิกาบรรพที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น ต่างกันโดยกาลเวลา

    อสุภกัมมัฏฐานนิเทส ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ก็มีลักษณะของซากศพ ๑๐ ประการที่ต่างกันตามจริตของผู้เจริญ คือ

    ประการที่ ๑ อุทธุมาตกอสุภะ ได้แก่ ซากศพที่เกิดขึ้นพองตั้งแต่สิ้นชีวิตไป ๑ วันบ้าง ๒ วันบ้าง เป็นสัปปายะของผู้ที่พอใจในทรวดทรง บางคนอาจจะพอใจที่รูปร่างที่ทรวดทรง เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาลักษณะของซากศพที่ขึ้นพองก็จะทำให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอนของทรวดทรง เวลานี้ทรวดทรงดี เย็นนี้ พรุ่งนี้ก็ขึ้นพองได้

    ประการที่ ๒ วินีลกอสุภะ เป็นซากศพที่โดยปกติทั่วไปมีสีเขียวคล้ำ แต่ว่าบางแห่งที่มีเนื้อหนาก็เป็นสีแดง แล้วก็บางแห่งที่บ่มหนองก็เป็นสีขาว แต่ว่าโดยปกติแล้วก็มีสีเขียวคล้ำ เป็นสัปปายะของผู้ที่มีความพอใจในสีของกาย เพราะเหตุว่าปรากฏแล้ว ให้เห็นว่าผิวกาย สีกายที่น่าพอใจนั้นก็ไม่เที่ยง ในที่สุดก็จะต้องมีสีเขียวคล้ำ

    ประการที่ ๓ วิปุพพกอสุภ ได้แก่ อสุภะที่มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด ในที่แตกปริทั้งหลาย เวลาขึ้นพองแล้วก็ต้องแตกปริ แล้วก็มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เพราะฉะนั้น ซากศพนี้เหมาะสำหรับผู้ที่พอใจในกลิ่น ถึงแม้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ จะมีกลิ่นที่น่าพอใจสักเท่าไร ก็จะหนีสภาพที่มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด แล้วก็มีกลิ่นที่ไม่น่าพอใจไปไม่ได้

    ประการที่ ๔ วิจฉิททกอสุภะ คือ ซากศพที่แยกขาดเป็น ๒ ท่อน โดยการที่ถูกตัดกลางตัว เป็นสัปปายะสำหรับผู้ที่พอใจในความเป็นชิ้นทึบที่ติดต่อกัน มองเห็นเป็นส่วนเป็นสัด ที่อาจจะพอใจในทรวดทรงที่หนาแน่นอย่างนั้น

    ประการที่ ๕ วิกขายิตกอสุภะ ได้แก่ ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกิน เช่น สุนัขบ้าน สุนัขป่ากัดกิน เป็นสัปปายะสำหรับผู้ที่พอใจในส่วนของร่างกายที่ตึง เต็ม หรือที่เป็นเนื้อนูน ก็จะเห็นว่ากระจัดกระจาย และเปลี่ยนสภาพนั้นไปแล้ว

    ประการที่ ๖ วิกขิตตกอสุภะ ได้แก่ ซากศพที่กระจุยกระจาย มือเท้าไปทางหนึ่ง ศีรษะไปทางหนึ่ง เป็นสัปปายะสำหรับผู้ที่พอใจในลีลา ท่าทางของอวัยวะน้อยใหญ่

    ประการที่ ๗ หตวิกขิตตกอสุภะ ได้แก่ ซากศพที่ถูกสับอวัยวะใหญ่น้อย แล้วก็กระจัดกระจายไป เป็นสัปปายะสำหรับผู้ที่มีความพอใจในสมบัติแห่งเรือนร่าง

    ประการที่ ๘ โลหิตกอสุภะ ได้แก่ ซากศพที่เปื้อนโลหิต เป็นสัปปายะสำหรับผู้ที่มีความพอใจในความงาม ของเครื่องประดับ เวลาที่มีชีวิตอยู่ก็มีเครื่องประดับมากมาย แต่พอตายแล้วเครื่องประดับก็เป็นพวกโลหิต พวกของปฏิกูลต่างๆ เท่านั้นเอง

    ประการที่ ๙ ปุฬุวกอสุภะ ได้แก่ ซากศพที่เต็มไปด้วยหนอน ไม่ว่าซากศพของใคร ชาติชั้นวรรณะใดก็จะไม่พ้นจากลักษณะนี้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นสัปปายะสำหรับผู้ที่พอใจในกายว่าของเรา แต่ว่าไม่ใช่ของเรา เวลาที่เต็มไปด้วยหนอนนั่นของใคร กลายเป็นของหนอนไปเสียแล้ว

    ประการที่ ๑๐ อัฏฐิกอสุภะ ได้แก่ ซากศพ ร่างกระดูก หรือว่าเป็นกระดูกท่อนเดียวกันก็ได้ นี่สำหรับผู้ที่พอใจในฟัน บางคนพอใจในตา บางคนพอใจในผม แต่ก็มีผู้ที่พอใจในฟันด้วย

    สำหรับในมหาสติปัฏฐาน นวสีวถิกาบรรพ นั้น เป็นลักษณะของซากศพที่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา คือ ตั้งแต่ขึ้นพอง เมื่อสิ้นชีวิตได้วันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง มีสีเขียวคล้ำ มีน้ำเหลืองไหล มีสัตว์กัดกิน ทำให้กระจัดกระจาย ต่อจากนั้นก็เป็นซากศพที่เป็นร่างกระดูก แล้วก็เปื้อนเลือด

    ต่อไปเป็นร่างกระดูกที่ปราศจากเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือด และยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่

    จากนั้นเป็นร่างกระดูกที่ปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว แต่ก็ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ก็เป็นร่างกระดูกที่ปราศจากเส้นเอ็นผูกรัด แล้วก็เรี่ยรายไปในทิศใหญ่ทิศน้อย ไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึด ก็จะต้องกระจัดกระจายไปตามกาลเวลาด้วย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    26 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ