รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 018


    ตอนที่ ๑๘

    พระสุภาเถรีผู้มีดวงตางาม มีใจไม่ข้องอยู่ในอารมณ์ไหนๆ ได้ควักดวงตาออกจากเบ้าตา แล้วส่งให้นักเลงนั้น พร้อมกับกล่าวว่า เชิญท่านเอาดวงตานั้นไปเถิด เราให้ดวงตานั้นแก่ท่าน

    เมื่อสักครู่นี้สวยเหลือเกิน อย่างกับตาของนางกินรี แต่พอออกจากตามาอยู่ที่ฝ่ามือ ปฏิกูลไหม แต่ท่านพระเถรีก็ใคร่ที่จะให้บุคคลผู้นั้นได้ประจักษ์ความเป็นปฏิกูล สภาพที่แท้จริงของร่างกาย ท่านก็ควักดวงตาออกจากเบ้าตา แล้วส่งให้นักเลงนั้น

    ในทันใดนั้น ความกำหนัดในนัยน์ตาของนักเลงนั้น ได้หายไปแล้ว

    จะยังคงรักดวงตา ๒ ดวงที่อยู่ในฝ่ามือนั้น ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นักเลงนั้นได้ขอให้พระเถรีนั้นอดโทษด้วยคำว่า

    ข้าแต่ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ขอความสวัสดีพึงมีแก่ท่าน การประพฤติอนาจารเช่นนี้ จักไม่มีอีกต่อไป

    ความประพฤติอนาจาร คือ การประพฤติที่ไม่สมควร

    ท่านพระสุภาเถรีกล่าวว่า

    ท่านกระทบกระทั่งชนเช่นนี้ เหมือนกอดไฟอันลุกโพลงฉะนั้น

    นักเลงกล่าวว่า

    เราดุจจับอสรพิษ ขอความสวัสดีพึงมีแก่เราทั้งหลายบ้าง ขอท่านจงอดโทษให้เราทั้งหลายเถิด

    ก็พระภิกษุณีนั้นพ้นจากนักเลงนั้นแล้ว ได้ไปสู่สำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ได้ชมเชยบุญลักษณะอันประเสริฐ จักษุได้เกิดมีขึ้นเหมือนเดิม

    นี่เป็นข้อความที่แสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์จริงๆ ในครั้งโน้น แล้วท่านเหล่านั้นพิจารณาธรรมอย่างไร เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดสติ การระลึกได้ ไม่ประมาท แล้วก็เจริญสติเนืองๆ บ่อยๆ เท่าที่สามารถจะกระทำได้ในวันหนึ่งๆ ให้ถูกต้อง หน้าที่มีเท่านี้เอง ถึงจะได้ฟังธรรม พิจารณาธรรมแล้ว ก็เพื่อให้สติระลึกได้ พิจารณารู้กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เพียงเฉพาะมหาสติปัฏฐานสูตรอาจจะไม่ช่วย ไม่อุปการะเกื้อกูลให้สติเกิดขึ้น แต่ถ้าได้ฟังธรรมส่วนอื่นก็อาจจะทำให้น้อมใจมนสิการไปตามท่านที่ได้บรรลุธรรมแล้ว

    ผู้ฟัง พิจารณาธัมมานุปัสสนาทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องห่วง รู้นาม รู้รูปพอแล้ว ทำไมถึงจะต้องไปเลือกว่าจะต้องทำจิตตานุปัสสนาอย่างไร ทำธัมมานุปัสสนาอย่างไร ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องไปแยกเป็น กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา ขอให้สติเกิดขึ้น ขณะนี้ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ อย่าลืม พอจะระลึกได้ไหม ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทางลิ้นก็ได้ ทางกายก็ได้ ทางใจก็ได้ ผมก็ได้ ขนก็ได้ เล็บก็ได้ ฟันก็ได้ หนังก็ได้

    ให้สติระลึกรู้ที่ลักษณะนั้นแล้วปัญญาก็รู้ชัด บางทีหนังบางส่วนใกล้ๆ เล็บอาจจะหลุด อาจจะลอกออกมา ระลึกได้ไหม หวีผม ผมร่วง ระลึกได้ไหม ไม่ค่อยระลึกท่านถึงทรงแสดงไว้เพื่อให้ระลึก ไม่มีใครระลึกถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานบ่อยๆ จนกระทั่งเป็นผู้มีปกติเจริญสติและยากนักที่จะระลึก ระลึกทุกอย่างทั้งภายในและภายนอก ในพระไตรปิฎกภายในและภายนอก พระองค์แสดงเพื่อเกื้อกูลแก่การเจริญสติ เพราะว่าทรงทราบดีว่าปกตินั้นเป็นผู้ที่หลงลืมสติ ทั้งๆ ที่กล่าวเตือนไว้โดยนัยของมหาสติปัฏฐานว่า ทุกอย่างที่เป็นของจริงที่เกิดขึ้นที่ปรากฏนั้นเป็นสติปัฏฐานทั้งหมด ทั้งภายในและภายนอก ขอให้สติระลึก ไม่ต้องกลัวไม่ต้องห่วงว่าจะไม่ใช่สติปัฏฐานเลย เพราะเหตุว่าปกติเป็นผู้หลงลืมสติกันมาก มีสิ่งใดที่จะทำให้ระลึกได้ก็ระลึก ไม่ผิด ทราบได้อย่างไรว่าไม่ผิด ดูในมหาสติปัฏฐานสูตร แท้ที่จริงแล้วทุกอย่างเป็นสิ่งที่ควรจะระลึกทั้งสิ้น ใครจะระลึกผมก็ได้ ขนก็ได้ สติระลึกและปัญญารู้ชัด ข้อสำคัญคือเครื่องเตือนให้สติเกิดขึ้นเพราะเหตุว่าสติเป็นอนัตตาบังคับให้เกิดไม่ได้ ไม่มีใครบังคับสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นอนัตตาได้

    เรื่องของการเจริญปัญญามีหลายขั้น ปัญญาที่รู้เหตุรู้ผลจากการศึกษาการฟังธรรมก็ขั้นหนึ่ง รู้การที่จะทำให้จิตสงบจากอกุศลก็ขั้นหนึ่ง แต่ไม่ละกิเลสเป็นสมุจเฉท หนทางเดียวที่จะละกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ต้องเป็นปัญญาที่รู้ชัด รู้จริง รู้ทั่ว ถ้าเป็นปัญญาที่แท้จริงไม่ต้องกลัวเลย ปัญญาที่แท้จริงไม่ใช่จำกัดว่ามีอยู่เฉพาะในสถานที่เดียว หรือในสถานที่ที่จำกัด แต่เป็นปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอดในลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏที่ไหนก็ได้ ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ต้องรู้ได้เพราะว่าเป็นปัญญา ปัญญาไม่ใช่ความไม่รู้ แต่ปัญญาเป็นความรู้ เมื่อเป็นความรู้ที่แท้จริงแล้วจะจำกัดสถานที่ไม่ได้เลย ถ้ารู้ไม่จริงนั่นก็อีกเรื่องหนี่ง ต้องอบรมด้วยสติการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ระหว่างนั้นเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า ตลอดเวลาที่ไม่ได้มาที่นี่ เจริญสติปัฏฐานหรือว่าสมาธิ

    ผู้ฟัง เจริญทั้ง ๒ อย่าง

    ท่านอาจารย์ ขณะไหนเป็นสมาธิ ขณะไหนเป็นสติปัฏฐาน ถ้าสมมติว่ารู้วิธีเจริญสติปัฏฐานแล้ว ทำไมขณะที่พักผ่อนไม่เจริญสติปัฏฐานด้วย สบายก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งทำไมสติไม่ระลึกรู้ การเจริญสติปัฏฐานบางท่านไม่เข้าใจจริงๆ ทำให้ผลไม่เกิดขึ้นเท่าที่ควรจะเกิดขึ้น บางท่านเคยเจริญสมาธิมาก่อน แล้วก็ทราบว่าสมาธิเป็นการพักผ่อนวิธีหนึ่ง บางทีไม่สบาย ปวดศรีษะ ร่างกายเป็นไข้ ผิดปกติไป เคยใช้สมาธิแล้วทำให้อาการไข้นั้นหาย การปวดศรีษะพวกนั้นคลายไปได้ เป็นเรื่องของการสะสมที่เคยทำมา ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ห้ามหรือยับยั้ง แต่สติต้องตามรู้ แม้ขณะนั้นก็ให้รู้ว่าเป็นนามธรรมที่พอใจในการที่จะทำเช่นนั้นให้จิตสงบ หรือว่าความสบายใจนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง หรือว่าเวทนาที่กำลังมีปรากฏในขณะนั้นสติก็จะต้องตามรู้ ไม่ใช่ให้ใครไปทำอะไรที่ผิดปกติเลย แต่ว่าสติจะต้องเจริญขึ้นและก็ตามระลึกรู้ลักษณะของนาม ของรูป ของแต่ละบุคคลที่ไม่เหมือนกัน ถ้าคนหนึ่งไม่เคยเจริญสมาธิมาก่อน จิตไม่โน้มไปสู่ความสงบ ผู้นั้นก็เจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนาม ของรูป ไม่ว่าจะ กำลังคิด กำลังพอใจ กำลังไม่พอใจ กำลังสุข กำลังทุกข์ใดๆ ก็ตาม สติของผู้นั้นก็จะต้องระลึกรู้สภาพที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย แต่ว่าผู้ใดเคยเจริญสมาธิมาก่อนจิตน้อมไปสู่สมาธิ ผู้มีปกติเจริญสติก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามที่สงบ หรือความต้องการในสมาธิในขณะนั้นที่เกิดก็ต้องรู้ว่าเป็นนามชนิดหนึ่ง ขาดไม่ได้ ไม่ใช่แบ่งเป็นตอนๆ ว่าตอนนี้เจริญสมาธิ อย่าให้สติมาก้าวก่ายมารบกวนเป็นอันขาด แยกไปเสีย อย่างนั้นก็ไม่มีทางที่จะละกิเลส เพราะเหตุว่าปัญญาไม่ได้รู้ในขณะที่จิตสงบ ขณะนั้นก็เป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง แต่ว่าเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้วเป็นเรื่องที่ผู้ที่เข้าใจถูกจะไม่ทิ้งโอกาสที่จะเจริญสติปัฏฐาน แม้ว่าจิตจะโน้มไปสู่ความสงบเป็นสมาธิ ผู้เจริญสติปัฏฐานก็จะเจริญสติระลึกรู้ในขณะนั้นจนชินเพื่อจะได้ละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่ไปบังคับอะไรเลย ปกติธรรมดาของแต่ละบุคคล และสติก็เพิ่มขึ้นมากขึ้น ระลึกรู้บ่อยขึ้น ทั่วขึ้น เพราะฉะนั้น จึงไม่มีกฏเกณฑ์ ไม่มีระเบียบว่าจะต้องตั้งต้นอย่างนั้น ทำอย่างนั้น เพราะเหตุว่าถ้าเป็นอย่างนั้นจะเป็นในลักษณะของอัตตาไม่ใช่อนัตตา

    อย่าแยกว่าขณะนั้นสมาธิก็ให้สมาธิไปเลย ไม่มีสติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปเลย ไม่ได้ ไม่ใช่ผู้มีปกติเจริญสติ ถ้าเป็นผู้มีปกติเจริญสติแล้ว สติเกิดได้แม้ในขณะนั้น ไม่ว่าจิตใจจะมีสภาพอย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ต้องรู้ชัดแล้วก็รู้ทั่วจริงๆ ถ้าไม่ทั่วก็ยังไม่ละ ไม่ประจักษ์การเกิดดับของนามรูป

    เวทนา เวลาที่ไม่เจริญสมาธิมีเวทนาไหม มี ก็ระลึกได้ ระลึกตลอดเวลา อย่าเอาอะไรมาเป็นเครื่องกั้นเลย เวลานี้สมาธิสติเกิดไม่ได้ เวลานี้เวทนาสติเกิดไม่ได้ อย่าให้มีอะไรกั้นสติ ถ้าไม่มีอะไรกั้น สติจะเกิดได้เนืองๆ บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเวทนาอะไร ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทไหน ผู้เจริญสติแล้วก็ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปได้ สติขั้นสมาธิก็เป็นตัวตนอยู่ สติที่เป็นการเจริญวิปัสสนานั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งแล้วก็ดับไป อย่าแยกกัน อย่าไปคิดว่ากี่โมงถึงกี่โมงจะเจริญสมาธิ กี่โมงถึงกี่โมงจะเจริญสติปัฏฐาน นั่นไม่ใช่เป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้วจะไม่ทิ้งโอกาสให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามใดๆ รูปใดๆ เลย เพราะฉะนั้น ต้องเจริญสติปัฏฐาน ฟังธรรมให้เข้าใจ รู้ลักษณะของสติ ว่าลักษณะของสติไม่ใช่สมาธิ อย่าเอาสมาธิมาเป็นสติ อย่าปนสติกับสมาธิ ต้องรู้ว่าขณะไหนสติกำลังระลึกรู้ที่ลักษณะของนามหรือรูปที่เป็นสติปัฏฐาน ขณะที่ไหนกำลังพอใจที่จะให้สงบ ขณะนั้นเป็นตัวตนที่พอใจให้สงบ แล้วสติปัฏฐานต้องมีลักษณะของนาม รูป

    ทำไมขออนุญาต ปัญญาต้องรู้ทั่ว ปัญญาต้องรู้ชัด ปัญญาของใคร ใครจะบรรลุมรรคผล จะรู้แจ้งอริยสัจ ผู้นั้นก็ต้องเจริญปัญญาให้ทั่วให้ชัด ไม่ใช่ไปขออนุญาตใครว่าตอนนี้ไม่รู้ ตอนนั้นไม่รู้จะได้ไหม ไม่รู้ๆ อย่างนี้จะบรรลุมรรคผลได้ไหม ไม่ใช่

    เรื่องของการรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็เป็นเรื่องของปัญญาที่เจริญ แล้วก็รู้ชัด รู้ทั่ว คำว่ารู้ทั่ว ดูไม่ค่อยจะยินยอม ชอบที่จะรู้เพียงบางนามบางรูปเท่านั้น อวิชชาก็มีล้นเหลือในทางอื่น ไม่ได้ขัดลอกออกไปเลย เข้าใจผิดๆ อย่างทางตา บางท่านคิดว่าจะต้องรู้เฉพาะนาม ก็ผิดแล้ว ตรวจสอบได้ในพระไตรปิฏก การเห็นไม่เที่ยง สีไม่เที่ยง มีไหมในพระไตรปิฏก ลองดู ไม่ใช่มีแต่เห็นไม่เที่ยง สีก็ไม่เที่ยงด้วย ได้ยินไม่เที่ยง เสียงไม่เที่ยงด้วย ไม่ใช่เฉพาะได้ยินไม่เที่ยง ถ้าไม่รู้ชัดในเห็นกับไม่รู้ชัดในสี จะรู้ได้อย่างไรว่าไม่ปนกัน อาจจะเอาสีมาเป็นเห็นก็ได้ อาจจะเอาเสียงมาเป็นได้ยินก็ได้ แต่ที่ต้องรู้ชัดก็เพราะเหตุว่า ถ้าไม่รู้ชัดแล้วจะประจักษ์ความเกิดขึ้นและความดับไปของนามหนึ่งนามใด รูปหนึ่งรูปใดไม่ได้ ถ้ายังไม่รู้ชัดในลักษณะของนามได้ยิน ยังไม่รู้ชัดในลักษณะของเสียง จะประจักษ์การเกิดดับไม่ได้ เพราะเหตุว่าการเกิดดับ ต้องเป็นนามที่ได้ยินดับ หรือเสียงดับ หรือนามที่รู้เรื่องดับ ต้องมีลักษณะธรรมแต่ละประเภทแต่ละชนิดที่ปรากฏความเกิดขึ้นและดับไป แต่ว่าปัญญาจะต้องรู้ชัดเสียก่อน ว่าเป็นลักษณะของนามใดของรูปใด แล้วถึงจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปที่แท้จริงได้ เพราฉะนั้น จะไม่รู้ทั่วไม่ได้ โดยมากไม่ค่อยอยากจะรู้ทั่ว ทำไมถึงจะเก็บอวิชชาเอาไว้ ถ้าไม่รู้ก็ต้องเป็นอวิชชาแน่ๆ ความไม่รู้นั้นเป็นอวิชชาไม่ใช่วิชชา ต้องหัดนิสัยใหม่คือเจริญสติเป็นปกติ

    อย่าไปจงใจที่จะรู้ไหว กำลังเดินทางตามีไหม หูมีไหม คิดนึกมีไหม ชอบไม่ชอบมีไหม มีทุกอย่าง แล้วแต่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามใดก็ได้ รูปใดก็ได้ ในปฏิกูลมนสิการบรรพมีอะไรสงสัยไหม ถ้าแสดงให้เห็นความเป็นปฏิกูลของอาการทั้ง ๓๒ ก็คงจะรู้สึกว่าเป็นปฏิกูล แต่เพียงชั่วขณะที่ฟังเท่านั้นเอง อาหารใหม่ อาหารเก่า เพราะฉะนั้น สติต้องเกิดระลึก แล้วก็รู้ โดยที่ไม่ต้องเป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกยังไงก็ตาม สามารถเป็นสิ่งที่จะทำให้สติระลึกรู้ได้

    ขอให้สติเกิด เป็นอะไรได้ทั้งนั้น สติเกิดก็แล้วกัน จะระลึกทางตา หรือทางหู จะระลึกโดยความเป็นปฏิกูลของผม ของเล็บ ของฟัน ของหนัง อะไรได้ทั้งนั้น ขอให้สติระลึก และปัญญาก็รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นสมถภาวนา ไม่ได้รู้ลักษณะของนามหรือรูปที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เป็นปัญญาขั้นของการทำให้จิตสงบ ไม่ใช่เป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ มีท่านผู้ใดสงสัยอะไรบ้างไหม เริ่มเจริญสติบ้างหรือยัง ทางไหน ใครรู้ ตัวเองรู้ใช่ไหม หรือว่าคนอื่นรู้ ไม่มีคนอื่นที่จะรู้ได้ นอกจากตัวเองเท่านั้น

    มีคนอื่น มีจิตของคนอื่นเป็นอารมณ์ได้ มีเวทนาความรู้สึกของคนอื่นเป็นอารมณ์ได้ แต่ไม่ใช่ไปรู้ว่าคนนั้นกำลังระลึกรู้ลักษณะของนามทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติเองเป็นผู้รู้ว่า ขณะนี้มีเวทนาของคนอื่นเป็นอารมณ์ มีจิตของคนอื่นเป็นอารมณ์ หรือว่ามีความรู้สึกของตัวเองเป็นอารมณ์ มีจิตของตนเองเป็นอารมณ์ แต่ว่าข้อสำคัญที่สุด สติปัฏฐานควรที่จะเจริญขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทุกขณะ กาย เวทนา จิต ธรรมทั้งปวงที่ปรากฏตลอดเวลา เมื่อของมีให้ระลึกได้ตลอดเวลา ขาดแต่การที่จะระลึกเท่านั้น ก็จะต้องอาศัยปัจจัยคือการฟังให้เข้าใจ ขาดการฟังไม่ได้เพราะว่าเป็นเครื่องเตือนอันนึง นี่เป็นเหตุที่สาวกของพระผู้มีพระภาคตามเสด็จไปเฝ้าเพื่อฟังธรรมให้เป็นเครื่องระลึก เพื่อสติจะได้เกิดขึ้น และก็ทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้นด้วย ถ้าสมมติว่าขาดการฟังหรือว่าเป็นผู้ที่ประมาท ก็ไม่มีสิ่งที่จะทำให้สติเกิดระลึกได้ ทั้งๆ ที่ทางตาก็มีเห็นตลอดเวลา หูก็ได้ยินตลอดเวลา จมูก ลิ้น กาย ใจ ความสุข ความทุกข์ กาย เวทนา จิต ธรรม มีตลอดเวลา ระลึกได้ทั้งนั้น อย่าลืม ถ้ากำลังมีความรู้สึกของคนอื่นเป็นอารมณ์ ระลึกได้ไหม ได้ คนนั้นกำลังหัวเราะนี่เวทนาเขารู้สึกอย่างไร เขากำลังร้องไห้ความรู้สึกจิตใจของเขาเป็นอย่างไร ขณะนั้นระลึกได้ว่ากำลังมีเวทนาของคนอื่นเป็นอารมณ์ ขอให้สติระลึกเถอะไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ใช่สติปัฏฐาน ข้อสำคัญคือไม่ระลึกเท่านั้นเอง ในมหาสติปัฏฐานไม่เว้นอะไรเลย ขอให้สติระลึก ด้วยความเข้าใจผิดจึงทำให้หลงลืมสติ เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ บางท่านมีจิตคนอื่นเป็นอารมณ์ มีเวทนาความรู้สึกของคนอื่นเป็นอารมณ์ คนนั้นกำลังโกรธ คนนี้ไม่พอใจ คนนั้นกำลังเป็นสุข คนนี้กำลังเป็นทุกข์ ในวันหนึ่งๆ มักจะมีจิตของคนอื่นบ้าง ความรู้สึกของคนอื่นบ้างเป็นอารมณ์ ถ้าเป็นผู้ที่หลงลืมสติก็ไม่มีวันที่จะระลึกได้เลย ถ้าไม่ศึกษาธรรมโดยละเอียดว่า ในขณะนั้นสามารถที่จะระลึกรู้เกิดสติ และรู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ ขอให้ระลึก ทุกขณะทุกโอกาสที่จะระลึกได้

    ผู้ฟัง ปฏิกูลมนสิการบรรพแสดงถึงอวัยวะต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในร่างกาย แสดงถึงความไม่สะอาดของอวัยวะเหล่านั้น ทีนี้การพิจารณา หรือเจริญสติปัฏฐานเพื่อจะรู้รูปของอวัยวะเหล่านั้น จะเจริญสติปัฏฐานไปในลักษณะใด จึงจะรู้ว่านี่คือรูป ถ้าจะเจริญในฐานะที่ว่า รูปเหล่านี้ไม่สะอาด กระผมก็รู้สึกว่า จะเป็นเรื่องคิดนึกมากไป ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยอธิบายด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจเรื่องมหาสติปัฏฐานว่าปกติธรรมดา ผู้ที่ยังไม่ได้อบรมไม่ได้เจริญสติจนกระทั่งเป็นปกติแล้วก็เป็นผู้ที่หลงลืมสติ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้น ในมหาสติปัฏฐานจะเห็นได้ว่า ในแต่ละบรรพนั้นก็ล้วนแต่เป็นโลก เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกเพื่อจะได้รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่สติกำลังระลึกได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิด กำลังนึก กำลังเป็นสุข กำลังเป็นทุกข์ กำลังมีจิตของคนอื่นเป็นอารมณ์ กำลังมีความรู้สึกของคนอื่นเป็นอารมณ์ กำลังมีรูปใดๆ ทั้งสิ้นที่เป็นของจริงที่มีปรากฏให้รู้ได้ ให้สติระลึกเพื่อปัญญาจะได้รู้ชัดตามความเป็นจริง กายมีตลอดเวลาวันนี้ระลึกกี่ครั้ง หรือไม่ได้ระลึกเลย หลงลืมสติ ที่กายมีอะไรบ้าง ผมมีไหม ขน เล็บ ฟัน หนัง มีไหม เล็บต้องตัดไหม วันหนึ่งๆ ต้องเห็นเล็บไหม วันหนึ่งๆ ต้องเห็นหนังไหม วันหนึ่งๆ ต้องเห็นผมไหม แต่ว่าผู้หลงลืมสติก็ไม่เคยระลึกเลยสักนิดเดียว ไม่ว่าจะโดยนัยใดก็ตาม ไม่เคยจะให้กุศลจิตเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริง ด้วยเหตุนี้ ทุกอย่างที่มีจริงที่เนื่องกับกาย เป็นส่วนของกาย จึงอยู่ในหมวดของกายานุปัสนาสติปัฏฐาน ตั้งแต่ส่วนที่ละเอียดที่สุด คือลมหายใจ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีลมหายใจจะระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปได้ไหม ไม่ได้ ต้องเป็นคนที่สิ้นชีวิตแล้ว ตายแล้ว ความต่างกันของคนที่มีชีวิตกับคนที่ตายแล้วก็คือว่า คนที่มีชีวิตนั้นมีลมหายใจ เรียกว่ากายสังขาร ปรุงแต่งให้กายดำรงอยู่ ไม่ให้เน่าใม่ให้เปื่อยไป เพราะฉะนั้น ลมหายใจก็เป็นส่วนหนึ่งของกายที่ทำให้ระลึกได้ ทั้งๆ ที่มีอยู่ทุกขณะ ระลึกบ้างหรือเปล่าก็ไม่ระลึกอีก เมื่อไม่ระลึกจึงมีไว้ให้ระลึกในมหาสติปัฏฐาน หมวดของกาย เมื่อมีรูปประชุมรวมกัน การนั่ง การนอน การยืน การเดิน มีตลอดเวลา ระลึกได้ ไม่ว่าขณะนั่งก็ระลึกได้ ขณะยืนก็ระลึกได้ ขณะนอนก็ระลึกได้ ขณะเดินก็ระลึกได้ ไม่ใช่ห้ามว่าเดินระลึกไม่ได้ ไม่ใช่ห้ามว่ายืนระลึกไม่ได้ ไม่ใช่ห้ามว่านอนระลึกไม่ได้ ให้ระลึกแต่ขณะที่กำลังนั่งอย่างเดียว ไม่ใช่ ทุกขณะไม่ว่าจะเป็นอิริยาบทใดก็ตาม ขอให้ระลึก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    24 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ