รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 08


    ตอนที่ ๘

    ในขณะที่สติกำลังรู้ลักษณะนั้น อย่างลักษณะของเย็นที่กำลังปรากฏ ลักษณะเย็นนั้นไม่ใช่ตัวตน หมดแล้ว พอลักษณะร้อนปรากฏ หมดอีก ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่พิจารณากาย สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่คิด ถ้าคิด สติก็ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็คิดว่านามรูปไม่เที่ยง ร่างกายไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน แต่นี่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏจริงๆ ลักษณะเย็น ไม่พึงยึดถือว่าเป็นตัวตน ลักษณะแข็งไม่พึงยึดถือว่าเป็นตัวตน ลักษณะอ่อนที่ปรากฏไม่พึงยึดถือว่าเป็นตัวตน สติกำลังระลึกรู้ลักษณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เพียงคิด

    เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่จงใจจะรู้ที่ลม หรือไม่ใช่ลม แล้วแต่สติจะระลึกรู้นามรูปใดๆ ระลึกได้ทั้งนั้น เมื่อระลึกแล้ว ปัญญาก็รู้ชัดในลักษณะของสิ่งนั้น

    คงจะมีหลายท่านเหมือนกันที่เพ่งจ้อง กำหนดลมหายใจ แล้วระลึกได้บ้างไหมว่า กำลังจดจ้อง หรือกำลังต้องการที่จะให้สงบ หรือจะให้รู้ชัด แต่ที่จริงปัญญารู้แล้วละ ไม่ยึดถือ ไม่ใช่ไปจดจ้อง นี่เป็นความต่างกันของสมาธิกับปัญญา

    ถ้าเป็นสมาธิ ก็ให้จดจ้องอยู่ที่เดียว ไม่ให้ไปสู่อารมณ์อื่น แต่ถ้าเป็นปัญญาพิจารณา รู้ แล้วละ แต่ขอให้ผู้ที่เจริญสติพิจารณาว่า ถ้าปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของนามและรูปทั่วถ้วนจริงๆ จะคลายความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของนามรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ไหม

    ถ้าจำกัดปัญญาให้รู้เพียงเล็กน้อย ทางตาให้รู้แค่นั้น ทางหูให้รู้แค่นี้ ไม่ให้ระลึกรู้ลักษณะของนามรูปทั้งปวง ไม่ว่าภายใน หรือภายนอก อย่างนั้นแล้วก็ไม่สามารถละความหวั่นไหว ความเห็นผิด การยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้

    การหลงลืมสติในวันหนึ่งๆ มีมาก เพราะฉะนั้น ไม่ว่ากำลังมีสิ่งใดเป็นอารมณ์ ภายใน หรือภายนอกก็ได้ เพราะว่าปกติเป็นผู้ที่หลงลืมสติ ก็ควรเป็นผู้ที่ระลึกได้ ไม่ว่ากำลังมีกายภายใน หรือภายนอกเป็นอารมณ์ เวทนาภายใน หรือภายนอกเป็นอารมณ์ จิตภายใน หรือภายนอกเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง ...

    ท่านอาจารย์ ถ้าคิดก็ต้องรู้ว่าเป็นนามชนิดหนึ่ง การเจริญสติปัญญาจะต้องรู้ละเอียดขึ้น ทั่วขึ้น มากขึ้น ทั้งๆ ที่กำลังหายใจเข้าหรือออกก็ตาม ยาวหรือสั้นก็ตาม ถ้าในขณะนั้นมีความพอใจเกิดขึ้น สติระลึกรู้สภาพที่พอใจว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งก็ได้

    การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะเป็นอานาปานบรรพ หรือว่ากายหมวดอื่นก็ตาม บางท่านคิดว่าจะต้องรู้เฉพาะกายเท่านั้น คือ รู้เฉพาะรูปเท่านั้น นั่นผิดหรือถูก

    นามรูปปริจเฉทญาณ รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูป เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าผู้เจริญสติปัฏฐานจะเลือกเจริญเพียงหมวดเดียว และก็รู้แต่เฉพาะอย่างเดียว บางท่านเข้าใจว่า สติปัฏฐานมี ๔ เลือกได้ตามใจชอบ ใครจะเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็รู้กาย ใครจะเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็รู้เวทนา ใครจะเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็รู้จิต คิดว่าเลือกได้ แต่ว่าขอให้ระลึกถึงความจริงว่า มีใครบ้างที่จะให้สติรู้เฉพาะกายอย่างเดียวได้

    ขณะระลึกที่ลมหายใจ ท่านที่เคยระลึกที่ลมหายใจสังเกตบ้างหรือเปล่าว่า มีอะไรบ้างนอกจากลมหายใจที่ปรากฏ ถ้าไม่สังเกตก็จะไม่ทราบ หรือถ้าจดจ้องให้อยู่ที่ลมหายใจเป็นการเจริญสมาธิ ก็จะไม่ทราบเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ จะทราบได้ว่า แม้ในขณะที่หายใจเข้า ในขณะที่หายใจออก มีสภาพธรรมใดที่ปรากฏ และสติก็ระลึกรู้สภาพของธรรมนั้นได้ ไม่ใช่ให้รู้แต่เฉพาะกาย หรือว่าไม่ใช่ให้รู้แต่เฉพาะลมหายใจ เพราะถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น เป็นอัตตาที่จงใจ บังคับให้ระลึกรู้แต่เฉพาะที่ลมหายใจเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏ

    อานาปานสังยุตต์ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เอกธรรมสูตร ข้อ ๑๓๐๕ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

    เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ยาว หายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า สั้น

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจเข้า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจเข้า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจเข้า

    ผู้ที่มีสติแล้วจะต้องรู้อย่างอื่นด้วย ไม่ใช่รู้แต่เฉพาะลมหายใจเท่านั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ให้มีอย่างอื่นเกิดขึ้นปรากฏ จะให้มีแต่ลมหายใจปรากฏอย่างเดียวนั้นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโดยนัยของการเจริญสมาธิ หรือการเจริญสติปัฏฐานก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่จะให้การเจริญอานาปานสติมีผลมาก มีอานิสงส์มากแล้ว ไม่ใช่รู้เฉพาะลมอย่างเดียว ถ้าเป็นการเจริญอานาปานสติสมาธิที่รู้ลักษณะของลม ก็เป็น อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

    แต่ถ้าอานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจเข้า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจเข้า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจเข้า

    เวลาที่จิตเริ่มสงบ เพราะสติระลึกที่ลมหายใจ ยับยั้งปีติได้ไหม พอจิตสงบปีติก็เกิด เพราะฉะนั้น สติตามระลึกด้วย สำหรับผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าลักษณะของนามใดรูปใดเกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย สติจะต้องระลึกรู้เพื่อละการยึดถือว่าเป็นตัวตน เราไม่ได้ยึดถือแต่ลมว่าเป็นตัวตน เวทนา ความรู้สึกใดๆ เกิดขึ้นขณะใด ก็ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตนในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้ลักณษะของปีติ ในขณะที่หายใจออก ในขณะที่หายใจเข้า จะละการเห็นผิดที่เคยยึดถือปีติว่าเป็นตัวตนได้อย่างไร

    ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าเป็นอานาปานสติ ก็จะต้องรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏด้วย และสำหรับข้อความที่ว่า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจออก-หายใจเข้า... เราจักรู้แจ้งสุข หายใจออก-หายใจเข้า ... เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจออก-หายใจเข้า

    ก็เป็นนัยของการเจริญสติปัฏฐานที่เป็น เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่เนื่องกับลมหายใจ

    กำลังเห็น มีเวทนา ความรู้สึกไหม ขณะที่เห็น ก็ต้องมีความรู้สึก บางครั้งเฉยๆ บางครั้งดีใจ บางครั้งเสียใจ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ว่า ความรู้สึกเฉยๆ นั้น ก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ความรู้สึกดีใจก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ความรู้สึกเสียใจก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ถ้าสติไม่ระลึกรู้ในขณะนั้น ก็เป็น เราดีใจ เราเฉยๆ เราเสียใจ ถ้าปัญญาไม่เจริญ สติไม่ตามรู้ลักษณะของนามรูปโดยละเอียด โดยทั่วแล้ว การที่จะละการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตนนั้นจะมีไม่ได้เลย

    เพราะเหตุว่ามีอวิชชาท่วมท้นทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ

    เพราะฉะนั้น การที่จะละการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตนได้นั้น ต้องเจริญสติให้ปัญญารู้ชัด ซึมซาบเข้าไปแทนที่อวิชชาที่ซึมซาบอยู่ทุกขณะ ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้รูป รู้นาม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเพิ่มขึ้น มากขึ้น ทั่วขึ้น ชัดขึ้น จึงจะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ แต่ข้อสำคัญ อาจจะไม่ทราบว่ายึดถือนามอะไร รูปอะไรว่าเป็นตัวตน มีความเห็นผิด มีสักกายทิฏฐิ มีอวิชชาในขณะไหนบ้าง ถ้าไม่ทราบ ปัญญาก็ไม่เกิดขึ้นแทนที่อวิชชา เป็นต้นว่า กำลังเห็น ถ้าไม่รู้เลยว่าขณะนี้ไม่รู้ลักษณะของนามเห็น กับ สีที่ปรากฏ ว่าไม่ใช่ตัวตนทั้งสองอย่าง ในขณะที่กำลังได้ยิน สติไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของเสียง ไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของได้ยิน ก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นยังมีความไม่รู้ในลักษณะของเสียง ในลักษณะของการได้ยิน เพราะฉะนั้นก่อนอื่น ต้องรู้ว่า อวิชชามีทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะหมดไปได้ก็ต่อเมื่อสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่มีปรากฏในขณะนั้น ถูกต้องตามความเป็นจริงมากขึ้น เพิ่มขึ้น แม้ในขณะที่หายใจเข้า ในขณะที่หายใจออก ก็ไม่ใช่จะมีแต่ลักษณะของลมที่ปรากฏ ความรู้สึกปีติ ความรู้สึกเป็นสุข สติก็จะต้องระลึกรู้ในลักษณะนั้น จึงจะละการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้ หรือถ้าไม่ใช่ลมหายใจ ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เฉยๆ ก็เป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง ต้องระลึกด้วย สติก็จะต้องเจริญขึ้น ปัญญาก็จะต้องรู้ชัดขึ้นเรื่อยๆ จึงจะละการไม่รู้ได้

    มหาสติปัฏฐาน พยัญชนะก็ชี้ไว้แล้วว่า มาก ทุกอย่าง ทั้งปวง เป็นเครื่องให้สติระลึกได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกาย ไม่ว่าจะเป็นเวทนา ไม่ว่าจะเป็นจิต ไม่ว่าจะเป็นธรรมใดๆ อย่าเป็นห่วง กลัวว่าจะไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าเป็นผู้มีปกติหลงลืมสติมานานแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อมีสิ่งใดที่สติจะระลึกได้ ก็ให้ระลึก ไม่ต้องกลัว

    ขณะที่นอนหลับ มีสติเจตสิกเกิดร่วมกับภวังคจิตซึ่งเป็นมหาวิบาก แต่ว่าโดยชาติเป็นชาติวิบาก เกิดขึ้นเพราะกรรม ไม่ใช่เป็นการเจริญมรรค มีสติเจตสิกเกิดกับมหาวิบากจิต

    ผู้ฟัง ขณะที่กำลังเจริญอานาปานสติอยู่นั้น อาจารย์ได้อธิบายว่า ขณะที่กำลังเจริญอานาปาสติ เวทนาย่อมเกิดได้ ขณะที่สติไปรู้เวทนาก็ดี หรือไปรู้ที่จิตก็ดี แต่ทั้งนี้ยังเนื่องจากลมหายใจอยู่ จะเรียกว่าขณะนั้นสติขาดจากอานาปาสติไหม

    ท่านอาจารย์ เวทนาเนื่องจากลมหายใจ เพราะฉะนั้น ก็เป็นอานาปานบรรพ ไม่ใช่เวทนาที่เนื่องจากการเห็น ไม่ใช่เวทนาที่เนื่องจากอย่างอื่น แต่ว่าเป็นเวทนาที่เกิดพร้อมกับขณะที่หายใจออก หายใจเข้า เพราะฉะนั้น สติเร็วทันที่จะระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง และไม่ใช่รู้แต่เฉพาะรูป นามก็รู้ด้วย

    ในพระวินัยปิฏก วิภังคปกรณ์

    กายนั้นเองชื่อว่า โลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่า โลก

    เวทนานั้นเองชื่อว่า โลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่า โลก

    จิตนั้นเองชื่อว่า โลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่า โลก

    นี้เรียกว่า โลก ธรรมเหล่านี้เองชื่อว่า โลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่า โลก นี้เรียกว่าโลก

    ในขณะที่ระลึกที่กาย กายนั้นชื่อว่า โลก หรือแม้อุปาทานขันธ์ ๕ อื่นๆ ที่เกิดปรากฏ และสติระลึกรู้อันเนื่องจากกายนั้น ก็ชื่อว่า โลก ที่ว่าละอภิชฌาและโทมนัสในโลก คือ ในอุปาทานขันธ์ ๕ ที่เกิดปรากฏ

    ข้อความที่ว่า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจออก เป็นหมวดของเวทนานุปัสสนา เราจักรู้แจ้งสุข หายใจออก ก็เป็นเวทนานุปัสสนาด้วย ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร ก็ยังเป็นหมวดของเวทนานุปัสสนา

    เพราะเหตุว่าในปฐมฌาน ทุติยฌาน โดยนัยของจตุตถนัย มีสุขเวทนาเกิดร่วมกับปีติ เพราะฉะนั้น เวลาที่ลักษณะของความดีใจเกิดขึ้น มีปีติเป็นประธานในขณะนั้นก็ชื่อว่า จักรู้แจ้งปีติ หายใจออก จักรู้แจ้งปีติ หายใจเข้า

    พอถึงย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจออก ก็ยังเป็นหมวดของเวทนานุปัสสนา เพราะไม่ใช่ข้อความว่า เราจักรู้แจ้งจิต หายใจออก แต่เป็นพยัญชนะว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจออก เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจเข้า

    จิตสังขาร ได้แก่ เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต ปรุงแต่งให้เกิดจิตประเภทต่างๆ เวทนาก็เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต เพราะฉะนั้น การที่จิตสงบเพราะเจริญอานาปานสติ ไม่ใช่เพียงขั้นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน แต่จตุตถฌานก็มีเวทนาที่เป็นอุเบกขา

    เพราะฉะนั้น พยัญชนะที่ว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขารหายใจออก หายใจเข้า ก็หมายความถึงทั้ง ๔ ฌาน เวทนาที่เกิดร่วมด้วยทั้ง ๔ ฌาน หรือว่า โดยนัยของปฐมฌาน ทุติยฌานนั้น ก็รู้แจ้งปีติ ตติยฌานก็เป็นสุข จิตสังขารก็เป็นอุเบกขา เป็นเวทนาที่เกิดร่วมกับจิตในขณะนั้น

    ข้อความต่อไป เป็นการรู้แจ้งจิต หายใจออก หายใจเข้า

    เราจักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก โดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจเข้า โดยความคลายกำหนัด หายใจออก โดยความคลายกำหนัด หายใจเข้า

    นี่เป็นสติกับปัญญาที่รู้แจ้งความไม่เที่ยง หายใจออก หายใจเข้า เมื่อรู้แจ้งความไม่เที่ยงก็ย่อมคลายความพอใจ เป็นลำดับไป

    เพราะฉะนั้น โดยอานาปานบรรพนี้ไม่ใช่ให้รู้เฉพาะลม ไม่ว่าจะเป็นนามรูปอื่นที่เกิดเนื่องจากลม สติก็จะต้องระลึกรู้ เพื่อละการยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะจะพบข้อความของอานาปานสติสมาธิว่า เจริญอย่างไรจึงจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ไม่ใช่เพียงขั้นบรรลุอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ไม่ใช่เพียงขั้นนั้น ขั้นที่จะมีผลมากมีอานิสงส์มาก คือ สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามรูปที่เนื่องกับลมหายใจ และก็รู้ความไม่เที่ยง แล้วละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตนด้วย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    7 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ