รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 025


    ตอนที่ ๒๕

    เคยยับยั้งความคิดของตนได้ไหม ชีวิตปกติประจำวัน จะละ สั่งให้ไม่ให้คิดได้ไหม ปกติไม่ได้ พระธรรมวินัยไม่เคยบังคับให้ผิดปกติ แต่ว่าธรรมใดที่จะเกื้อกูลให้เกิดกุศลทุกประการ เมื่อผู้นั้นเจริญกุศลอย่างนั้น สติสามารถที่จะแทรกไปตามอารมณ์ได้ทุกอารมณ์ แทนที่จะให้ตรึกเป็นพยาปาท อรติ ปฏิฆะ วิหิงสา ก็ให้ผู้นั้นเจริญกุศล แล้วสติที่เจริญเป็นปกติ เพราะได้ฟังธรรม เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ก็สามารถจะแทรกรู้ลักษณะของนามของรูปทั้งปวงได้ แล้วก็เป็นปัจจัยให้รู้อริยสัจจธรรม

    เป็นชีวิตจริงๆ ไม่ใช่ว่าห้าม อย่าคิด ให้รู้แต่เฉพาะแค่เห็น แค่เสียง แค่สี หรืออะไรต่างๆ เหล่านั้น นั่นไม่ถูก ไม่ใช่ว่าห้ามอย่างนั้น แต่ว่าให้เจริญกุศลทุกประการ แล้วการเจริญสติเป็นปกติก็จะทำให้สติระลึกรู้ในอารมณ์ทั้งปวงได้ ผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสแต่ให้เจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว ให้แค่รู้สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ห้ามการคิดนึก ห้ามการรู้เรื่อง ไม่มีในพระไตรปิฎก เพราะว่าไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่สิ่งที่เป็นปกติ เพราะเหตุว่าถ้าปัญญาจะรู้เพียงแค่นั้นแล้วไม่ชื่อว่าปัญญา เพราะเหตุว่าถ้าเป็นปัญญาที่แท้จริง ต้องรู้ได้ทุกอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง จึงจะชื่อว่าเป็นปัญญาจริงๆ

    เพราะฉะนั้นชีวิตของแต่ละท่าน พระภิกษุทั้งหลายก็เป็นปกติ ฟังธรรมแล้วแต่สติจะตรึกไปในเรื่องใด ก็ให้เป็นไปในทางกุศล และก็ความเป็นผู้มีปกติเจริญสติก็ทำให้ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติ ไม่มีการบังคับเลย

    ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเมตตา อุเบกขา กรุณา มุทิตา สติสามารถที่จะแทรกไปในอารมณ์ทั้งปวงได้ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปในขณะนั้นได้ ไม่ใช่บังคับว่า อย่าคิด อย่ารู้เรื่อง อย่ารู้ความหมาย ในพระไตรปิฎกไม่มีอย่างนั้น จิตของใครที่จะห้ามไม่ให้คิด เป็นไปไม่ได้ แต่แทนที่จะคิดเป็นอกุศล ก็ให้เจริญอบรมในทางกุศล เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสให้พระโสดาบันบุคคลระลึกเป็นไปในพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ เพราะรู้ว่าการคิดนึก ยับยั้งไม่ได้ ห้ามไม่ให้คิดไม่ได้ แต่ว่า สิ่งใดที่ควรระลึก คือ พุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ และการที่เป็นผู้มีปกติเจริญสติ ก็ทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้ แล้วก็ละคลายกิเลสได้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ไปให้บังคับไม่ให้รู้ ให้รู้แค่สี ให้รู้แค่เสียง ไม่ให้รู้ความหมายไม่ให้คิดนึก ไม่ให้ชอบไม่ชอบอย่างนั้น ทรงรู้แจ้งโลกพร้อมทั้งอัธยาศัยของสัตว์ทั้งปวง

    เวลานี้มีท่านผู้ใดยังสงสัยบ้างไหมว่า วันหนึ่งวันหนึ่งสติเกิดได้น้อยเหลือเกิน รู้ลักษณะของนามของรูปน้อย เป็นเพราะอะไร เพราะเหตุว่า ผู้ที่เป็นปุถุชนนั้น เป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลส มีกิเลสหนาแน่นเหนียวแน่นมาก เป็นปัจจัยให้หลงลืมสติบ่อยๆ เนืองๆ มากกว่าให้มีสติ การที่แต่ละท่านจะหลงลืมสติมากในวันหนึ่ง แล้วก็สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปบ้างเป็นบางครั้งบางคราว ก็เป็นเพราะเหตุปัจจัยที่ท่านเป็นปุถุชนมีกิเลสหนาแน่นเหนียวแน่น กิจของกิเลสก็คือทำให้หลงลืมสติ แต่ว่า การฟังธรรม การเข้าใจถูกต้อง การเห็นประโยชน์ (สาตถกสัมปชัญญะ) ของสติ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้มีการระลึกได้เพิ่มขึ้น สะสมอุปนิสัยใหม่ต่อไป

    มีข้อความในพระสูตรอีกที่ก็แสดงให้เห็นความไม่เที่ยงของธาตุทั้ง ๔ เป็นธาตุมนสิการซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องรู้

    มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหาหัตถิปโทปมสูตร ข้อ ๓๔๒ มีข้อความว่า

    สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ท่านพระสารีบุตรได้ กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่ปฐวีธาตุที่เป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อมจะมีได้ แล ในสมัยนั้นปฐวีธาตุอันเป็นภายนอกจะเป็นของอันตรธานไป

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่า ความที่ปฐวีธาตุอันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยงจักปรากฏได้ ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดาจักปรากฏได้ ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดาจักปรากฏได้ ความเป็นของแปรปรวนไปเป็นธรรมดาจักปรากฏได้ ก็ไฉนความที่แห่งกายนี้อันตัณหาเข้าไปถือเอาแล้วว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลพอประมาณนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดาจักไม่ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ความยึดถือด้วยสามารถ ตัณหา มานะ และทิฏฐิในปฐวีธาตุนั้นจะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่าชนเหล่าอื่นจะด่า จะตัดพ้อ จะกระทบกระเทียบ จะเบียดเบียนภิกษุนั้นไซร้ ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนาอันเกิดแต่โสตสัมผัสสะนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าทุกขเวทนานี้แลอาศัยเหตุจึงมีได้ ไม่อาศัยเหตุจะมีไม่ได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยอะไรจึงมีได้

    ทุกขเวทนานี้อาศัยผัสสะจึงมีได้ ภิกษุย่อมเห็นว่า ผัสสะแม้นั้นแลเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า เวทนานั้นเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สัญญานั้นเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่าสังขารทั้งหลายนั้นเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า วิญญาณนั้นเป็นของไม่เที่ยง จิตอันมีธาตุเป็นอารมณ์นั่นเทียวของภิกษุนั้นย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ด้วยดี ย่อมหลุดพ้น

    ต่อจากนั้น ภิกษุนั้นก็จะระลึกถึง กกจูปมสูตร คือ พระโอวาทเปรียบด้วยเลื่อย ที่ไม่ว่าโจรจะมาเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ก็ไม่ควรพยาบาท หรือโกรธเคืองในโจรนั้น เมื่อระลึกถึงพระโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อย ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมตั้งอยู่ด้วยดีไซร้ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว

    ไม่ได้ห้ามให้คิดใช่ไหม ไม่ได้ห้ามเลย เพราะว่าแม้แต่ขณะที่มีใครด่า เปรียบกระทบกระเทียบต่างๆ ก็รู้ว่าขณะนั้นเกิดจากอะไร ทุกขเวทนานั้นเกิดจากโสตสัมผัสสะ โสตสัมผัสสะถ้าไม่มีธาตุต่างๆ ดิน น้ำ ไฟ ลม มีได้ไหม ก็ไม่ได้ เมื่อมนสิการอย่างนั้น และจิตก็ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมตั้งอยู่ด้วยดีไซร้ ความหมายของพยัญชนะนี้คือ วิปัสสนาเกิดขึ้น การที่ไม่ยึดถือนามและรูปด้วยกุศลธรรม ด้วยสติที่ระลึกลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริงในขณะนั้น ก็เป็นวิปัสสนาปัญญา

    ระลึกได้ตลอดเวลา ในลักษณะของนามและรูปทั้งปวง ไม่ว่าจิตจะระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขณะนั้นเป็นนามหรือเป็นรูป ระลึกแล้วก็ดับไป ก็เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น

    ส่วนสมัยที่อาโปธาตุซึ่งเป็นของภายนอกกำเริบก็ย่อมจะมีได้ คือ ย่อมพัดบ้าน พัดนิคม พัดเมือง พัดประเทศแห่งชนบทไป บางคราวก็ลึกถึง ๑๐๐ โยชน์บ้าง ๒๐๐ โยชน์บ้าง บางคราวก็เพียงชั่ว ๗ ลำตาลบ้าง ๕ ลำตาลบ้าง ชั่วลำตาล ๑ บ้าง บางคราวก็ชั่ว ๗ บุรุษบ้าง ๖ บุรุษบ้าง ๕ บุรุษบ้าง บางคราวก็ขังอยู่เพียงกึ่งชั่วบุรุษบ้าง บางครั้งก็มีประมาณเพียงเข่าบ้าง ข้อเท้าบ้าง

    นี่เป็นเรื่องความไม่เที่ยงของธาตุน้ำ แม้ภายนอกก็ย่อมปรากฏ บางครั้งก็มากมายจนกระทั่งพัดพาบ้าน นิคม ชนบทไป บางครั้งก็เหลือน้อยนิดเดียว เพียงแต่จะทำให้ข้อมือเปียกก็กระทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น ธาตุน้ำในกายซึ่งน้อยกว่านั้นมาก ก็ย่อมเป็นสภาพที่ไม่เที่ยงเช่นเดียวกัน

    สำหรับธาตุไฟภายนอกที่กำเริบก็ย่อมจะเห็นได้ว่า บางคราวก็ไหม้บ้าน เมือง นิคม ชนบท ประเทศ แต่พอไปถึงที่ๆ เป็นหญ้าสด หนทาง ภูเขา น้ำ หรือว่าภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ที่ไม่มีเชื้อ ไฟนั้นก็ย่อมดับ ก็เป็นอนิจจังไม่เที่ยง ถ้าแม้ว่าจะมากมายใหญ่โตสักเท่าไรก็มีวันสิ้นสุดหมดลงได้ เพราะฉะนั้น ในบางคราวไม่มีธาตุไฟมากๆ อย่างที่จะไปไหม้บ้านไหม้เมือง ก็ต้องแสวงหาไฟด้วยขนไก่บ้าง ด้วยการขุดหนังบ้าง นี่ก็เป็นความไม่เที่ยงของธาตุไฟ แล้วธาตุไฟภายนอกก็ยังปรากฏความไม่เที่ยงถึงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ธาตุไฟในกายซึ่งเล็กน้อยกว่า ก็ย่อมจะเห็นได้ชัดว่า มีสภาพความไม่เที่ยง

    สำหรับธาตุลมภายนอกก็เหมือนกัน มีสมัยที่ลมพัดจัด พัดบ้าน พัดเมือง พัดชนบทไป แล้วบางสมัยที่ลมไม่มีเลย ต้องแสวงหาด้วยพัดใบตาลบ้าง พัดสำหรับพัดไฟบ้าง นี่เป็นความไม่เที่ยงของธาตุลมภายนอก เพราะฉะนั้น ธาตุลมภายในก็เช่นเดียวกัน

    เป็นพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงอนุเคราะห์เกื้อกูลให้ผู้ที่กำลังเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ได้เกิดการละคลายการยึดถือ ให้ชินขึ้นทุกครั้งที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามรูป จะได้มนสิการถูกต้องตามความเป็นจริง

    ธาตุไฟมีลักษณะร้อน และธาตุไฟภายนอกก็ร้อน แล้วก็เผาไหม้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ ไม่ไหม้ก็เป็นเรื่องของสมาบัติ ธาตุไฟก็ยังร้อนอยู่เช่นเคย ใครจะไปเปลี่ยนลักษณะของธาตุไฟได้ แต่ว่าที่ไม่ไหม้นั้นเป็นเพราะด้วยอภิญญาสมาบัติ ลักษณะของธาตุไฟก็ร้อนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือเย็น มีลักษณะ 2 อย่างที่ปรากฏ เป็นลักษณะของธาตุไฟจะเปลี่ยนเป็นแข็งเป็นอ่อนไม่ได้ ลักษณะของธาตุไฟก็ต้องร้อนหรือเย็น เรื่องของอภิญญาสมาบัติไม่ใช่เรื่องของธรรมดาคน อยากจะลองไหม ลองฤทธิ์ของธาตุไฟไหม ลองได้ ทดลองได้ พิสูจน์ได้ว่าร้อนจริงไหม เย็นจริงไหม

    ในมหาราหุโลวาทสูตร ให้อบรมจิตเสมอด้วยแผ่นดิน ไม่ว่าจะกระทบอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ ผัสสะที่พอใจไม่พอใจ ก็ไม่ให้เป็นไปด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ เพราะเลือกไม่ได้ ตาจะเห็นแต่สิ่งที่พอใจเสมอๆ ก็ไม่ได้ หูจะได้รับกระทบแต่เสียงที่พอใจเสมอๆ ก็ไม่ได้ เมื่อมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ก็แล้วแต่วิบากกรรมจะทำให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส สัมผัสกระทบสิ่งที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ว่าในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง ไม่ยึดถือด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ จึงจะชื่อว่า “เสมอด้วยดิน น้ำ ไฟ ลม”

    สำหรับความเข้าใจในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ควรที่จะได้ทราบว่า เพราะผู้ที่เป็นปุถุชน ที่เริ่มจะเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นผู้ที่มีกิเลสมาก เพราะฉะนั้นก็มีปัจจัยที่ทำให้หลงลืมสติมากกว่ามีปัจจัยที่ทำให้สติเกิดขึ้นเนืองๆ บ่อยๆ มีใครที่บังคับให้สติเกิดขึ้นติดต่อนานๆ บ้างไหม ถ้าเป็นการกระทำอย่างนั้น จะทราบถึงเหตุปัจจัยของตนเองว่า เป็นผู้ที่มีกิเลสมาก แล้วก็มีเหตุปัจจัยให้หลงลืมสติในวันหนึ่งๆ มาก และสตินั้นก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถที่จะบังคับให้เกิดติดต่อกันได้เป็นเวลาเท่านั้นเท่านี้นาที หรือว่าเท่านั้นเท่านี้ชั่วโมง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐานที่รู้ลักษณะของสติว่าเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏแล้ว ก็จะเห็นความเป็นอนัตตา แล้วก็รู้ในลักษณะของสติ ขณะนี้ ผู้ใดบ้างที่ยังไม่ทราบลักษณะของสติ แต่ถ้าฟังมาพอสมควร ก็พอจะทราบได้ว่า สัมมาสติ เป็นลักษณะที่ระลึกทันทีที่สิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ขณะที่หลงลืมสติ คือขณะที่ไม่ได้ใส่ใจรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ผิดกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง

    ขณะที่หลงลืมสติ คือ ขณะที่ไม่ได้ใส่ใจพิจารณาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าเป็นขณะที่มีสติไม่หลงลืมสติแล้ว ก็ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ รู้ชัดหรือว่าเริ่มรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางหนึ่งทางใด ได้ทุกขณะ ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ จมูกก็ได้ ลิ้นก็ได้ กายก็ได้ ใจก็ได้ ขอให้ทราบลักษณะของสติให้ชัดเจน เพื่อว่าท่านจะได้ไม่มีความต้องการ เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐาน อาศัยความเข้าใจไม่ต้องทำอะไรจริงๆ เพราะอะไร ขณะนี้เห็น ต้องทำไหม การได้ยินก็เหมือนกัน มีการได้ยินเกิดขึ้นปรากฏแล้วเพราะมีเหตุปัจจัยให้เห็น มีเหตุปัจจัยให้ได้ยิน ในขณะนี้ถ้าจะคิดจะนึกก็มีเหตุปัจจัยให้คิดให้นึก ถ้าจะเป็นสุขเป็นทุกข์ก็มีเหตุปัจจัยให้เกิดสุขในขณะนี้ ให้เกิดทุกข์ในขณะนี้ ถ้าจะชอบไม่ชอบก็มีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดชอบไม่ชอบในขณะนี้ มีเหตุปัจจัยที่ทำให้ทุกขณะของจิตเกิดขึ้นเป็นไป มีเหตุปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมแต่ละขณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้เกิดปรากฏการณ์แล้ว เพราะฉะนั้น พรุ่งนี้เก็เหมือนกัน ต้องทำไหม ที่จะให้เห็น ให้ได้ยิน ไม่ต้องเลย มีเหตุปัจจัย เรียบร้อยเสร็จสรรพมาในอดีต ที่จะให้การเห็นพรุ่งนี้ก็มีเหมือนในขณะนี้ การได้ยินพรุ่งนี้ก็มี การคิดนึกก็มี ความสุขความทุกข์ก็มี เพราะฉะนั้นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานนั้นเจริญปัญญา ด้วยการที่สติระลึกลักษณะของสิ่งที่มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จึงจะชื่อว่า เริ่มรู้สภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง

    นี่เป็นการที่จะทำให้ท่านผู้ฟังไม่เข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็จะทำให้เข้าใจมหาสติปัฏฐานชัดเจนถูกต้องขึ้นว่า ด้วยเหตุใดในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี จึงรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของจริง ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก เพื่อให้เป็นเครื่องระลึกของจิต เพราะว่าปุถุชนนั้นหลงลืมสติ ถ้าคิดว่าขณะนั้นเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ขณะนี้เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ก็ยิ่งเป็นปัจจัยให้หลงลืมสติมากขึ้น แต่ในมหาสติปัฏฐานนั้นไม่เว้นอะไรเลย ทุกอย่างที่เป็นของจริง ไม่ว่าจะเป็นที่กายของตนเองหรือว่าผู้อื่น เวทนาของตนเองหรือของผู้อื่น จิตของตนเองหรือผู้อื่น ธรรมทั้งหลายทั้งภายในและภายนอก เป็นเครื่องให้สติระลึกแล้วก็รู้ชัดว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นในธาตุมนสิการบรรพ ที่ได้กล่าวถึงแล้วในคราวก่อน ท่านผู้ฟังก็คงจะเห็นความสำคัญได้ว่า เพราะเหตุใด พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงธาตุมนสิการบรรพในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าที่กายนี้ ถ้าระลึกรู้ลักษณะของรูปที่เกิดปรากฏที่กายขณะใด จะไม่พ้นจากธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม คือลักษณะที่อ่อนบ้าง แข็งบ้าง เย็นบ้าง ร้อนบ้าง ไหวบ้าง เคร่งตึงบ้างเหล่านี้ ปรากฏอยู่ตลอดเวลา เป็นเครื่องให้ระลึกถึงความจริง ใครจะหลงเพลิดเพลินยึดถือร่างกายนี้สักเท่าไหร่ก็ตาม แต่ถ้าทราบว่าที่หลงยึดถือว่าเป็นตัวตนเป็นร่างกายของเรานั้น ก็มีลักษณะเพียงธาตุทั้ง ๔ เท่านั้นเอง ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ก็ยังคงเป็นอย่างนั้น ก็คงมีแต่ธาตุทั้ง ๔ ที่เป็นภายใน ที่ยึดถือว่าเป็นร่างกายของเรา แล้วก็ไม่ควรที่จะละเลยการพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ที่เป็นภายนอกด้วย เพื่อประโยชน์แก่การที่จะให้สติระลึกรู้ แล้วก็ละการเห็นผิด การเข้าใจผิด การยึดถือว่าเป็นตัวตน วันหนึ่งๆ ความยินดีพอใจที่กายมีไหม เป็นเหตุให้เกิดความยินดีพอใจได้ไหม ที่กายของตนเอง เมื่อวานนี้ก็มี วันนี้ก็มี พรุ่งนี้ก็มี ธาตุดินน้ำไฟลมแท้ๆ ที่กาย แต่ก็ยังเป็นปัจจัยทำให้เกิดความแช่มชื่น หรือว่าความพอใจ ความติด การยึดข้อง เพียงแต่ในสิ่งที่อ่อนแข็งเย็นร้อนเคร่งตึงไหวเหล่านี้ นี่เฉพาะเพียงที่กาย แต่ขอให้ทราบว่า การยึดถือ หรือว่าความพอใจ ความแช่มชื่น ที่อาศัยเกิดเพราะธาตุทั้ง ๔ นั้น ไม่ใช่แค่แต่สภาพที่กายของตนเท่านั้น เก้าอี้ โต๊ะ ชอบไหม สะดวกไหม จำเป็นต้องมีไหม ทุกสิ่งทุกอย่างในบ้าน จาน ข้าว ผลไม้ ชาม เครื่องอำนวยความสะดวกทุกอย่างทั้งหมด หาดูเถอะ ไม่มีเลยที่จะพ้นจากธาตุดินน้ำไฟลม เพราะฉะนั้นตลอดชีวิตที่มีอยู่ในโลกที่ไม่ปราศจากรูป ก็จะต้องมีธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธาน คือ ดินน้ำไฟลม ทั้งที่ภายในที่ตัวเอง ก็เพียงแต่ดินน้ำไฟลมเท่านั้น แล้วก็ภายนอกก็ยังมีแต่เพียงดินน้ำไฟลมเท่านั้นเหมือนกัน กระทบสัมผัสดิน เกิดมาในโลกนี้ มีต้นไม้ มีดอกไม้ ก็ไม่พ้นจากธาตุดินน้ำไฟลม เพราะฉะนั้น ก็เพียงแต่ดินน้ำไฟลม กับ ธาตุดินน้ำไฟลม ภายใน กับ ภายนอก ที่มีความไม่รู้ มีความเห็นผิด ทำให้เกิดการยึดถือมีความพอใจต่างๆ เกิดขึ้น แล้วก็ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ด้วยความเข้าใจผิด เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดไตร่ตรองธรรม พิจารณาเห็นความจริง ก็ย่อมเป็นเครื่องทำให้สติระลึกได้ในเนืองๆ บ่อยๆ แล้วก็รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    มีใครมีข้องสงสัยไหมว่า ธาตุมนสิการบรรพ เหตุใดจึงเป็นบรรพหนึ่งในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในมหาสติปัฏฐาน ระลึกบ้างหรือเปล่า ดินน้ำไฟลม เย็นร้อนอ่อนแข็ง วันหนึ่งๆ ปรากฏทั้งที่กายภายในทั้งภายนอก ระลึกบ้างหรือเปล่า เป็นรูปไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล แล้วก็ต้องระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ด้วย เพราะฉะนั้นในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็เป็นเรื่องของรูปที่ปรากฏที่กาย ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจ ไม่ว่าจะเป็นผมขนเล็บฟันหนัง หรือขณะที่รูปประชุมรวมกันนั่งนอนยืนเดิน เคลื่อนไหว เหยียดคู้ต่างๆ เหล่านั้น ก็เป็นสิ่งที่มีลักษณะของรูปปรากฏให้รู้ชัดได้

    สำหรับบรรพต่อไป ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของอสุภะ ในมหาสติปัฏฐานสูตร ต่อจากธาตุมนสิการบรรพ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ที่ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เธอย่อมน้อมเข้าสู่กายนี้แหละว่า ถึงว่ากายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ได้ ดังพรรณนามานี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    เป็นของที่แน่นอนทีเดียวที่ว่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    25 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ