รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 017


    ตอนที่ ๑๗

    ส่วนที่จะยึดถือว่าเป็นสัตว์ก็ดี เป็นบุคคลก็ดี เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ก็ดี นั่นเป็นเรื่องของการยึดถือ แต่ถ้าจะไม่ยึดถือก็หมายความว่าปัญญารู้ชัดว่าสิ่งนั้นแยกออกเป็นแต่ละส่วน แต่ละโลก สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏเฉพาะทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล การที่จะรู้ความหมายว่าเป็นคนนั้นคนนี้นั้นอีกส่วนหนึ่ง แต่ว่าส่วนที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏเฉพาะทางตาเท่านั้น ไม่ปนกัน นั่นจึงจะเรียกว่าเป็นผู้ที่รู้ชัด และไม่ถือการประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น

    เวลาที่รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั่นเป็นสภาพของนามธรรมที่รู้ เกิดภายหลังการเห็น เกิดภายหลังการได้ยิน ต้องแยกโลกที่ติดกัน ๖ โลกนี้ออกเป็นแต่ละส่วน จึงจะประจักษ์ความเป็นอนัตตาของสิ่งทั้งปวงได้ เพราะเวลานี้ประชุมรวมกันติดกันก็ทำให้ปรากฏเป็นวัตถุเป็นสิ่งของ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่จำเป็นต้องรู้พยัญชนะว่าอัตตา ไม่ว่าเป็นเด็กเป็นเล็กเกิดมาไม่รู้ความจริงในขณะที่เห็น ที่ได้ยิน มีการยึดถือสิ่งที่ปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นก็เป็นลักษณะของอัตตาแล้ว นี่ก็เป็นความเห็นผิดที่ปัญญาจะต้องรู้ชัดจึงจะละได้ ถ้าปัญญารู้ไม่ชัด ไม่สามารถที่จะแยกออกได้ การละกิเลสก็จะมีไม่ได้เลย

    เรื่องของกิเลสมีมาก เรื่องของการยึดถืออัตตานี่ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะละสักกายทิฏฐิ การยึดถือนามรูปทั้งหลายว่าเป็นอัตตาได้จริงๆ ผู้นั้นต้องเจริญสติ เจริญปัญญารู้ชัดในโลกทั้ง ๖ โลกตามความเป็นจริง แล้วละคลายการยึดถือเป็นสมุจเฉท ไม่ใช่ยังมีความสงสัยที่นามนั้นบ้างรูปนี้บ้าง มีความไม่รู้ในนามนั้นบ้างในรูปนี้บ้าง แล้วเป็นพระอริยบุคคล

    ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคลได้ คือ ผู้ที่รู้ชัดตามความเป็นจริงทั้ง ๖ โลก ไม่ใช่ทางตาไม่รู้อย่างนั้นก็ได้ ทางหูไม่รู้อย่างนี้ได้ เวลานี้อวิชชามีอยู่ที่ไหน ยังไม่ทราบใช่ไหม แต่ว่าเต็มไปหมดแล้วทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นแต่เพียงนามธรรมที่เกิดปรากฏนิดเดียวแล้วก็หมดไป เป็นแต่เพียงรูปธรรมที่เกิดปรากฏนิดเดียวแล้วก็หมดไป แต่ละขณะเป็นลักษณะของนามของรูปแต่ละทาง ในพระไตรปิฎกมีข้อความที่จะให้เกิดความสลด หรือเห็นความเป็นปฏิกูลของส่วนต่างๆ ของร่างกายนี้มากทีเดียว ซึ่งถ้าท่านได้ฟังคาถาของท่านพระเถระในครั้งอดีตที่ท่านได้กล่าวไว้ก็จะทำให้ระลึกได้ และดูเหมือนกับว่า ท่านพระเถระนั้นได้กล่าวกับท่านโดยตรงทีเดียว เพราะเหตุว่า ไม่ว่าท่านจะกล่าวกับผู้ใดในครั้งโน้น ก็เป็นการแสดงถึงความคิด แสดงถึงปัญญาของท่านที่รู้ชัดในลักษณะของนามรูปทั้งปวงตามความเป็นจริง

    ขุททกนิกาย เถรคาถา รัฐปาลเถรคาถา มีข้อความว่า

    เชิญดูอัตภาพอันธรรมดาตกแต่งให้วิจิตร มีกายเป็นแผล อันกระดูก ๓๐๐ ท่อน ยกขึ้นแล้ว กระสับกระส่าย

    ขอให้พิจารณาอรรถด้วย ที่ท่านกล่าวว่า เชิญดูอัตภาพอันธรรมดาตกแต่งให้วิจิตร มีกายเป็นแผล อันกระดูก ๓๐๐ ท่อนยกขึ้นแล้ว กระสับกระส่าย

    กายที่ประกอบด้วยกระดูก ๓๐๐ ท่อน นั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง กระสับกระส่ายยิ่งนักทุกขณะเพราะโลภะบ้าง เพราะโทสะบ้าง เพราะโมหะบ้าง

    คนพาลพากันดำริหวังมาก อันไม่มีความยั่งยืน ตั้งมั่น

    ความหวังนี้มากจริงๆ อยากจะได้อย่างนั้น อยากจะเป็นอย่างนี้ อยากจะทำอย่างโน้น เมื่อมีกายที่แสนจะปฏิกูล แล้วก็ยังเป็นผู้ที่ไม่เห็นตามความเป็นจริง พวกคนพาลพากันดำริแล้วก็หวังเป็นไปต่างๆ ในกายนี้ ท่านกล่าวต่อไปว่า

    เชิญดูรูปอันปัจจัยกระทำให้วิจิตร ด้วยแก้วมณีและกุณฑล

    เพราะเหตุว่าถูกแก้วมณีบ้าง กุณฑลบ้าง เครื่องประดับต่างๆ ปกปิดบังไว้ เป็นเครื่องที่จรมาปกปิดความเป็นปฏิกูลของร่างกาย แต่ท่านกล่าวว่า

    เชิญดูรูปอันปัจจัยกระทำให้วิจิตร ด้วยแก้วมณีและกุณฑล หุ้มด้วยหนัง มีร่างกระดูกอยู่ภายใน งามพร้อมไปด้วยผ้าต่างๆ มีเท้าทั้งสองอันฉาบทาด้วยครั่งสด

    การประดับตกแต่งร่างกายที่ปฏิกูลมีทุกกาลสมัย แต่แม้กระนั้นพระอริยเจ้าทั้งหลายก็ยังสามารถเห็นธรรมตามความเป็นจริง คือ สัจธรรมของร่างกายที่แม้ว่าจะถูกประดับตกแต่งด้วยเครื่องตกแต่งต่างๆ ท่านกล่าวว่า

    มีเท้าทั้งสองอันฉาบทาด้วยครั่งสด มีหน้าอันไล้ทาด้วยฝุ่น สามารถจะทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้แสวงหาฝั่งโน้นลุ่มหลง

    พวกที่ยังเพลิดเพลินยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นผู้ที่ยังอยู่ฝั่งนี้ ยังไม่ข้ามไปถึงฝั่งโน้น คือ ฝั่งที่ละความยินดี เพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ละความเห็นผิด ความยึดมั่นในตัวตน ท่านกล่าวต่อไปว่า

    ผมทั้งหลายอันบุคคลตกแต่งเป็นลอน คล้ายกระดานหมากรุก นัยน์ตาทั้งสองอันหยอดด้วยยาตา สามารถทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้แสวงหาฝั่งโน้นลุ่มหลง กายอันเปื่อยเน่าอันบุคคลตกแต่งแล้วเหมือนกล่องยาตาใหม่ๆ วิจิตรด้วยลวดลายต่างๆ สามารถทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้แสวงหาฝั่งโน้นลุ่มหลงได้

    เวลาดูลวดลายต่างๆ ที่กล่องใส่ของนั้นเพลิดเพลินดี ก็เหมือนกับร่างกายนี้เหมือนกัน เป็นกายที่เปื่อยเน่าที่บุคคลตกแต่งแล้ว ก็เหมือนกับกล่องยาตาใหม่ๆ วิจิตรด้วยลวดลายต่างๆ สามารถทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้แสวงหาฝั่งโน้นลุ่มหลง

    นายพรานเนื้อดักบ่วงไว้ แต่เนื้อไม่ติดบ่วง เมื่อนายพรานเนื้อคร่ำครวญอยู่ พวกเนื้อพากันมากินเหยื่อแล้วหนีไป บ่วงของนายพรานขาดไปแล้ว เนื้อไม่ติดบ่วง เมื่อนายพรานเศร้าโศกอยู่ พวกเนื้อพากันมากินเหยื่อแล้วหนีไป ท่านกล่าวว่า เราเห็นหมู่มนุษย์ที่มีทรัพย์ในโลกนี้ ได้ทรัพย์แล้วไม่ให้ทาน เพราะความลุ่มหลง ได้ทรัพย์แล้วทำการสะสมไว้ และปรารถนาอยากได้ยิ่งขึ้นไป พระราชากดขี่ช่วงชิงเอาแผ่นดิน ครอบครองแผ่นดินอันมีสาครเป็นที่สุด ตลอดฝั่งสมุทรข้างนี้แล้ว ไม่รู้จักอิ่ม ยังปรารถนาครอบครองฝั่งสมุทรข้างโน้นอีกต่อไป

    พระราชาก็ดี มนุษย์เหล่าอื่นเป็นอันมากก็ดี ผู้ยังไม่ปราศจากตัณหา ย่อมเข้าถึงความตาย ยังไม่เต็มความประสงค์ก็พากันละทิ้งร่างกายไป ความอิ่มด้วยกามทั้งหลายย่อมไม่มีในโลกเลย

    ทำไมกล่าวถึงพระราชา เพื่อเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นพระราชาที่ครอบครองแผ่นดิน อันมีสาครเป็นที่สุดตลอดฝั่งสมุทร แล้วก็ยังไม่อิ่ม ไม่ว่าจะเป็นใคร ถึงแม้ว่าจะมีทรัพย์สมบัติมากมายสักเท่าไร แต่ถ้าไม่รู้สัจธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่สามารถละกิเลสได้ ยังเป็นผู้ที่มีความปรารถนาเต็มที่

    พระราชาก็ดี มนุษย์เหล่าอื่นเป็นอันมากก็ดี ผู้ยังไม่ปราศจากตัณหาย่อมเข้าถึงความตาย เพราะเหตุว่าจะต้องมีการเกิดอยู่เรื่อยๆ เมื่อยังมีการเกิดอยู่ ก็ต้องมีความตายเป็นของธรรมดา ยังไม่เต็มความประสงค์ก็พากันละทิ้งร่างกายไป

    ไม่มีใครทราบใช่ไหมว่า พรุ่งนี้จะอยู่ที่ไหน ยังคงเป็นโลกนี้หรือว่าโลกอื่นก็ไม่ทราบ แต่ทั้งๆ อย่างนั้น ความประสงค์ก็ไม่เคยเต็ม ไม่เคยอิ่ม ไม่เคยพอ ทั้งๆ ที่รู้ว่า จะต้องจากโลกนี้ไปเมื่อไรก็ไม่ทราบ

    ความอิ่มด้วยกามทั้งหลายย่อมไม่มีในโลก หมู่ญาติพากันสยายผม ร้องไห้คร่ำครวญถึงผู้นั้น และรำพันว่าทำอย่างไรหนอพวกญาติของเราจึงจะไม่ตาย ครั้นพวกญาติตายแล้วก็เอาผ้าห่อ นำไปเผาเสียที่เชิงตะกอน ผู้ที่ตายไปนั้นถูกเขาแทงด้วยหลาวเผาด้วยไฟ ละโภคะทั้งหลาย มีแต่ผ้าผืนเดียวติดตัวไป คือ ผ้าที่ใช้ห่อศพ

    เมื่อบุคคลจะตาย ย่อมไม่มีญาติ หรือมิตรสหายช่วยต้านทานได้ พวกที่รับมรดกก็มาขนเอาทรัพย์ของผู้ที่ตายนั้นไป ส่วนสัตว์ที่ตายย่อมไปตามยถากรรม เมื่อตายไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรๆ คือ พวกบุตร ภรรยา ทรัพย์ แว่นแคว้นสิ่งใดๆ จะติดตามไปไม่ได้เลย

    บุคคลจะได้อายุยืนเพราะทรัพย์ก็หาไม่

    นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนั้นแลว่า เป็นของน้อย ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ทั้งคนมั่งมีและคนยากจน ย่อมถูกต้องผัสสะเหมือนกัน

    คนมั่งมีหรือว่าคนยากจนก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ต้องรับกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ไม่มีความต่างกันเลย

    ทั้งคนพาล และคนฉลาดก็ต้องถูกผัสสะเหมือนกันทั้งนั้น แต่คนพาลถูกอารมณ์ที่ไม่พอใจเบียดเบียน ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เพราะความเป็นคนพาล

    ส่วนนักปราชญ์อันผัสสะถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะฉะนั้นแล ปัญญาจึงจัดว่าประเสริฐกว่าทรัพย์ เพราะปัญญาเป็นเหตุให้บรรลุนิพพาน แต่คนพาลไม่ปรารถนาจะบรรลุ

    แต่ละคนที่ฟังเป็นประเภทไหน ถ้าไม่ปรารถนาที่จะบรรลุก็เป็นประเภทคนพาล

    แต่คนพาลไม่ปรารถนาจะบรรลุ พากันทำกรรมชั่วต่างๆ อยู่ในภพน้อยภพใหญ่เพราะความหลง ผู้ใดทำกรรมชั่วแล้ว ผู้นั้นจะต้องเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในวัฏฏะสงสารร่ำไป บุคคลผู้มีปัญญาน้อย เมื่อมาเชื่อต่อการทำของบุคคลผู้ที่กระทำกรรมชั่วนั้น ก็จะต้องเวียนตายเวียนเกิดอยู่ร่ำไปเหมือนกัน

    โจรผู้มีธรรมอันชั่วช้า ถูกเขาจับได้พร้อมทั้งของกลาง ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตน ฉันใด หมู่สัตว์ผู้มีธรรมอันชั่วช้า ละไปแล้ว ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตน ฉันนั้น

    กามทั้งหลายอันงามวิจิตร มีรสอร่อยน่ารื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตด้วยรูปแปลกๆ ดูกร มหาบพิตร เพราะอาตมาภาพได้เห็นโทษในกามคุณทั้งหลายจึงออกบวช สัตว์ทั้งหลาย ทั้งหนุ่ม ทั้งแก่ ย่อมตกไปเพราะร่างกายแตก เหมือนผลไม้หล่น ฉันนั้น

    ดูกร มหาบพิตร อาตมภาพเห็นความไม่เที่ยง แม้ข้อนี้ จึงออกบวช

    ท่านกล่าวต่อไปว่า

    ความเป็นสมณะอันไม่ผิดนั้นแล ประเสริฐ

    ที่ว่า ความเป็นสมณะอันไม่ผิด เพราะเหตุว่าสมณะแปลว่าผู้สงบ ผู้ที่ออกบวชเป็นสมณะนั้นก็มีมากมาย แต่ความเป็นสมณะอันไม่ผิดนั้นแล ประเสริฐ

    อาตมาภาพออกบวชด้วยศรัทธา เข้าถึงการปฏิบัติชอบในศาสนาของพระชินเจ้า บรรพชาของอาตมาภาพไม่มีโทษ อาตมาภาพไม่เป็นหนี้บริโภคโภชนะ อาตมาภาพเห็นกามทั้งหลายโดยความเป็นของอันไฟติดทั่วแล้ว เห็นทองทั้งหลายโดยเป็นศาสตรา เห็นทุกข์จำเดิมแต่ก้าวลงในครรภ์ เห็นภัยใหญ่ในนรก จึงออกบวช

    ถ้าพูดถึงนรก เวลานี้คงไม่ค่อยกลัวเพราะว่ายังไม่ถึง แต่พรุ่งนี้จะไปอยู่ที่ไหน ทราบไหม ก็ไม่มีใครทราบอีกเหมือนกัน วันหนึ่งก็อาจจะต้องไปก็ได้ แต่ว่าผู้ที่เห็นภัยใหญ่ในนรกอย่างท่านพระรัฐปาละ ท่านก็กล่าวว่า เห็นภัยใหญ่ในนรกจึงออกบวช

    อาตมาภาพเห็นโทษอย่างนี้แล้ว ได้ความสังเวชในกาลนั้น ในกาลนั้น อาตมาภาพเป็นผู้ถูกลูกศร คือ ราคะเป็นต้นแทงแล้ว บัดนี้บรรลุถึงความสิ้นอาสวะแล้ว พระศาสดาอันอาตมาภาพคุ้นเคยแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอาตมาภาพทำสำเร็จแล้ว อาตมาภาพได้ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพขึ้นแล้ว บรรลุถึงประโยชน์ที่กุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตต้องการนั้นแล้ว บรรลุถึงความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวงแล้ว

    คุ้นเคยกับพระผู้มีพระภาคแล้วหรือยัง คุ้นโดยวิธีไหน เจริญสติปัฏฐานแล้วก็รู้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นคืออย่างไร เป็นความจริงแค่ไหน ในพระไตรปิฎก เถรคาถาก็ดี เถรีคาถาก็ดี ท่านอาจจะคิดว่า เป็นคำพูดธรรมดาๆ แต่ไม่ใช่ธรรมดา เพราะเหตุว่าท่านรู้แจ้งในธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่รู้แจ้งสัจธรรม ก็ย่อมสามารถที่จะมีพยัญชนะ หรือว่ามีคำภาษิต คำคาถาที่เแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจจิตใจ ความบริสุทธิ์ของปัญญาของท่านที่หมดจดจากกิเลสแล้ว

    มีอีกข้อความหนึ่งที่ใคร่จะให้ท่านผู้ฟังได้ฟังโดยตรงจากพระไตรปิฎก เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของชีวิตในครั้งอดีต ให้ท่านได้ทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในครั้งกระโน้น

    ขุททกนิกาย เถรีคาถา ติงสนิบาต สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา ข้อ ๔๗๒ มีข้อความที่ท่านพระสุภาเถรีกล่าวคาถาตอบนักเลงเจ้าชู้ที่ยืนกั้นทาง ในขณะที่พระสุภาภิกษุณีกำลังเดินไปสู่สวนอัมพวัน อันเป็นสถานที่รื่นรมย์ของหมอชีวกโกมารภัท เมื่อนักเลงเจ้าชู้รำพันเรื่องความสุข ความสำราญต่างๆ ของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นข้อความที่ไม่มีสาระ แต่เป็นข้อความที่ไพเราะ และยาวมาก จะขอกล่าวถึงบางตอนที่เป็นสาระที่ท่านพระสุภาเถรีได้กล่าวกับนักเลงผู้นั้น

    เมื่อนักเลงนั้นประกาศความประสงค์ของตนอย่างนั้นแล้ว พระเถรีเมื่อจะประกาศความที่สรีระเป็นสภาพที่เต็มด้วยอสุภะต่างๆ จึงได้กล่าวตอบว่า

    ก็เป็นเรื่องของผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เรื่องของปฏิกูลนั่นเอง

    ในร่างกายซึ่งเต็มไปด้วยอสุภะ อันจักทอดทิ้งไว้ในป่าช้า มีอันแตกทำลายไปเป็นธรรมดานี้ อะไรเล่าที่ท่านเข้าใจว่าเป็นแก่นสาร ท่านเห็นสิ่งใดแล้วมีความพอใจในสิ่งนั้น ขอจงบอกแก่เรา

    ท่านพระเถรีอยากจะทราบว่า จิตใจของผู้นั้นคิดอย่างไร ยึดมั่นในสิ่งใด นักเลงนั้นก็กล่าวตอบมีข้อความว่า

    นัยน์ตาทั้งสองของพระสุภาเถรี เหมือนนัยน์ตาลูกเนื้อ และเหมือนนัยน์ตานางกินรีที่เที่ยวไปภายในภูเขา ความรักเกิดขึ้นอย่างแรงกล้า เพราะเห็นดวงตาทั้งคู่ เพราะเห็นหน้าซึ่งเปรียบปานดังดอกบัวปราศจากมลทิน งามดังแผ่นทองคำ

    ถึงแม้ว่านักเลงนั้นจะไปไกลสักเท่าไร ก็จะไม่นึกถึงอะไรเลยนอกจากดวงตาทั้งคู่ที่บริสุทธิ์ ทั้งยาวทั้งกว้างของพระสุภาเถรีเท่านั้น สิ่งอื่นที่จะเป็นที่รักยิ่งไปกว่าดวงตาของพระสุภาเถรีนั้นไม่มีเลย

    พระสุภาเถรีตอบว่า

    ท่านปรารถนาเราผู้เป็นธิดาของพระพุทธเจ้า ชื่อว่าปรารถนาจะดำเนินไปโดยทางผิด ชื่อว่าแสวงหาดวงจันทร์มาเป็นของเล่น ปรารถนาจะโดดขึ้นภูเขาสิเนรุ บัดนี้ ความกำหนัดในอารมณ์ใด อารมณ์นั้นไม่มีแก่เราในโลกพร้อมทั้งเทวโลก เราทราบว่า สภาพอันน่ารื่นรมย์แม้ทุกชนิดไม่มีแก่เรา และเรากำจัดเสียได้แล้วพร้อมทั้งรากด้วยมรรคญาณ สภาพอันน่ารื่นรมย์เป็นเหมือนถูกทิ้งไปในหลุมถ่านเพลิง เหมือนถูกดื่มยาพิษ เราทำให้พินาศแล้วแต่ยอด เราเห็นว่าสภาพอันน่ารื่นรมย์แม้ทุกชนิดมิได้มีแก่เรา และเรากำจัดเสียแล้วพร้อมทั้งรากด้วยมรรคญาณ เบญจขันธ์นี้อันหญิงใดไม่พิจารณาแล้ว ท่านจงเล้าโลมหญิงเช่นนั้น ท่านมาเล้าโลมเราผู้รู้ตามเป็นจริงนี้ ย่อมจะลำบากเปล่า เพราะว่าสติของเรามั่นคงดีแล้วในการด่า การไหว้ และในสุขทุกข์

    ท่านจงรู้ว่า ธรรมอันเป็นปัจจัยปรุงแต่งเป็นของไม่งาม ใจของเราไม่ติดอยู่ในอารมณ์ทั้งปวงเลย เราเป็นสาวิกาของพระสุคตเจ้า เป็นผู้ดำเนินไปสู่นิพพานด้วยญาณ กล่าวคือ อัฏฐังคิกมรรค มีลูกศรอันถอนขึ้นได้แล้ว ไม่มีอาสวะ ยินดีอยู่ในเรือนว่างเปล่า ก็รูปภาพทำด้วยใบลาน หรือท่อนไม้ ที่บุคคลทำให้งดงาม ผูกด้วยเชือก หรือเอาไม้ตอกตะปูติดไว้โดยอาการต่างๆ ทำให้เหมือนกับจะฟ้อนรำได้ เราเคยได้เห็นมาแล้ว เมื่อแก้เชือกและถอนตะปูออกจากรูปนั้น และแยกออกจากกันแล้ว โดยทำให้เป็นแผนกๆ เรียงรายไว้ เมื่อทำรูปนั้นโดยเป็นชิ้นๆ อย่างนี้ ไม่พึงได้ชื่อว่ารูป

    นี่ก็แยกกายออกเป็นส่วนๆ

    เมื่อเป็นอย่างนั้น บุคคลพึงตั้งความสำคัญใจไว้ในรูปนั้น จะเป็นประโยชน์อะไร ร่างกายนี้ก็เหมือนกับรูปไม้ฉะนั้น เว้นจากธรรมมีธาตุ ๔ เป็นต้นแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้ บุคคลพึงตั้งความสำคัญใจไว้ในร่างกายนั้น จะเป็นประโยชน์อะไร เหมือนบุคคลได้เห็นรูปภาพอันนายช่างผู้ฉลาดวาดเขียนไว้ที่ฝาด้วยหรดาลฉะนั้น

    ปัญญาสำหรับมนุษย์ของท่านหาประโยชน์มิได้ เพราะท่านมีความเห็นวิปริต ในร่างกายนั้น แน่ะท่านผู้บอด ท่านเข้าไปยึดถืออัตภาพอันว่างเปล่า เป็นเหมือนพยับแดดที่ปรากฏอยู่ข้างหน้า และเหมือนดังต้นไม้ทองที่ปรากฏในความฝัน

    จะฝันอย่างไรก็ฝันได้ ฝันให้มีต้นไม้ ดอกไม้จริงๆ ที่เป็นทองทั้งนั้น ก็คงจะฝันได้ เพราะฉะนั้น ถ้าใครยังคงยึดถือรูปร่างกายซึ่งวิปริตหรือปฏิกูล เป็นของว่างเปล่า เหมือนพยับแดดที่ปรากฏอยู่ข้างหน้า เหมือนดังต้นไม้ทองที่ปรากฏในความฝัน

    เป็นดังเช่นรูปยนต์ที่คนเล่นกลแสดงแล้ว ในท่ามกลางแห่งชน

    จะแสดงอย่างไรก็ได้ทุกอย่าง ดูเหมือนกับว่าของจริง แต่ว่าความจริงแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่เป็นจริง ทุกวันๆ นี้ก็เป็นนามและรูปแต่ละชนิดประชุมรวมกัน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วทุกๆ ขณะทีเดียว จะย้อนกลับไปหารูปเก่าเพียงเมื่อสักครู่นี้ก็ไม่ได้แล้ว ก็เป็นของที่เสื่อมไปสิ้นไป

    เป็นดังเช่นรูปยนต์ที่คนเล่นกลแสดงแล้ว ในท่ามกลางแห่งชน ดวงตาเป็นดังฟองน้ำ ปรากฏเหมือนโพรงไม้ มีฟองน้ำตั้งอยู่กลางตา เป็นของมีขี้ตา และน้ำตา เกิดเป็นต่อมดำๆ มีสีต่างๆ กัน

    พระสุภาเถรีผู้มีดวงตางาม มีใจไม่ข้องอยู่ในอารมณ์ไหนๆ ได้ควักดวงตาออกจากเบ้าตา แล้วส่งให้นักเลงนั้น พร้อมกับกล่าวว่า เชิญท่านเอาดวงตานั้นไปเถิด เราให้ดวงตานั้นแก่ท่าน

    เมื่อสักครู่นี้สวยเหลือเกิน อย่างกับตาของนางกินรี แต่พอออกจากตามาอยู่ที่ฝ่ามือ ปฏิกูลไหม แต่ท่านพระเถรีก็ใคร่ที่จะให้บุคคลผู้นั้นได้ประจักษ์ความเป็นปฏิกูล สภาพที่แท้จริงของร่างกาย ท่านก็ควักดวงตาออกจากเบ้าตา แล้วส่งให้นักเลงนั้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    31 มี.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ