รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 04


    ตอนที่ ๔

    ท่านอาจารย์ สำหรับอานาปานสตินั้น ควรจะได้ทราบว่า เจริญอย่างไร เพราะถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียดแล้วคงจะสับสน เพราะมีทั้งในเรื่องของสมถภาวนาและในมหาสติปัฏฐาน

    ก่อนอื่น ขณะนี้ลมหายใจมีไหม มี ปรากฏไหม บางทีก็ปรากฏ บางทีก็ไม่ปรากฏ คำตอบก็ไม่แน่นอนว่า สำหรับที่ปรากฏนั้นปรากฏเมื่อไร ที่ถูกแล้ว ลมหายใจถึงแม้ว่ามีอยู่จริง แต่เป็นสภาพที่ละเอียดประณีต เพราะเหตุว่าจิตของบุคคลใดๆ ก็ตามที่ไม่เคยเจริญความสงบ ที่จะให้จิตตั้งมั่นที่ลมหายใจ ถึงแม้ว่าในขณะนั่ง นอน ยืน เดิน เคลื่อนไหว เหยียดคู้ ประกอบกิจการงานต่างๆ นั้น จะมีลมหายใจก็ตาม แต่จิตของบุคคลย่อมคล้อยไปสู่อารมณ์ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง เป็นปกติ

    สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเจริญความสงบให้จิตตั้งมั่นที่ลมหายใจ ตื่นขึ้นมา ลืมตาเห็น เสียงกระทบปรากฏ กลิ่นกระทบปรากฏ รสกระทบปรากฏ กายกำลังกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็งปรากฏ ในขณะนี้มีใครบ้างที่กำลังรู้ลักษณะของลมหายใจที่กำลังกระทบปรากฏ ไม่มีใช่ไหม นอกจากท่านที่เคยอบรมอานาปานสติสมาธิให้จิตตั้งมั่นที่ลมหายใจ ถึงแม้ว่า ขณะนี้จะนั่งอยู่ที่นี่ มีสีปรากฏ มีเสียงปรากฏ มีเย็น ร้อน อ่อน แข็งปรากฏ แต่โดยการที่เคยสั่งสม อบรม การเจริญสมาธิให้จิตตั้งมั่น จดจ้อง ที่ลมหายใจ ก็ทำให้ลมหายใจปรากฏได้สำหรับผู้นั้น แต่ปกติไม่ปรากฏ นี่เป็นธรรมชาติที่ทุกคนพิสูจน์ได้ถึงความละเอียดของลมหายใจ เพราะฉะนั้นในการเจริญมหาสติปัฏฐานนั้นข้อสำคัญ คือ จะต้องทราบว่า การเจริญสติปัฏฐานสามารถเจริญได้ทุกขณะ ทุกอารมณ์ ไม่ว่าบุคคลใด ถึงแม้ผู้นั้นจะเคยอบรมเจริญอานาปานสติสมาธิมาก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตาม แต่การเจริญสติต้องระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตลอดเวลาทุกขณะ ตื่นขึ้นมาไม่ว่าจะทำกิจใดๆ จะบิณฑบาต จะฉันภัตตาหาร จะทำกิจการงานใดๆ ทั้งสิ้น ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ และแม้ในขณะที่ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ตามอัธยาศัยที่เคยสะสม อบรมการเจริญอานาปานสติ ก็ให้สติตามระลึกรู้แม้ในขณะที่หายใจเข้า ในขณะที่หายใจออก

    เรื่องการเจริญสติปัฏฐานนั้นไม่จำกัดว่า บุคคลนั้นเคยอบรมเจริญสมาธิมามากน้อยเท่าไร แต่ขณะใดที่สติระลึกถึงส่วนหนึ่งส่วนใดของกายก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และลมหายใจก็เป็นส่วนหนึ่งของกาย ตราบใดที่ยังมีชีวิต มีกายอยู่ ก็ต้องมีลมหายใจเกิดปรากฏและดับไปเป็นส่วนหนึ่งของกายจริงๆ

    ตามปกติในวันหนึ่งๆ จิตย่อมคล้อยไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นธรรมดา มีสักกี่ท่านที่สติระลึกที่ลมหายใจ เนื่องจากไม่มี เพราะเหตุว่า ลมหายใจเป็นสภาพที่ละเอียด ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เคยอบรมอานาปานสติ เมื่อเคยอบรมมาเช่นนั้น ในขณะที่ว่าง ก็ย่อมไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ ไปสู่เรือนว่าง เพราะต้องอาศัยความสงัดจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มิฉะนั้นแล้วสติจะไม่ตั้งที่ลมหายใจ จิตย่อมจะคล้อยไปตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะตามปกติ นี่เป็นเหตุผลว่า เหตุใดการเจริญอานาปานสติจึงต้องไปสู่ป่าบ้าง สู่โคนไม้บ้าง สู่เรือนว่างบ้าง

    แต่การเจริญสติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเป็นกายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ ธรรมทั้งปวงก็ได้ นั่นเป็นมหาสติปัฏฐาน แต่ผู้ที่เคยเจริญอานาปานสติแล้ว ถ้าจะให้จิตตั้งมั่นสงบอยู่ที่ลมหายใจก็จะต้องไปสู่สถานที่สงัด เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องมหาสติปัฏฐานจะต้องทราบด้วยว่า ในหมวดอานาปานสติที่จะให้สติระลึกที่ลมหายใจนั้นจะต้องไปสู่สถานที่เช่นไร

    ผู้ฟัง ………

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังถามเรื่อง “อานาปานบรรพ” ที่กำลังพูดถึงขณะนี้ ดูเหมือนจะพาดพิงไปทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ทั้งมหาสติปัฏฐานและสมาธิ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุว่า แม้ผู้ที่เคยเจริญสมาธิมาแล้วก็สามารถเจริญสติได้ อย่าลืมพระปัจฉิมโอวาท “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง” เพราะฉะนั้นผู้ที่ต้องการรู้ความจริง เจริญปัญญาก็จะต้องเจริญสติไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม ไม่ว่าจะเคยเจริญสมาธิ เคยน้อมใจไปให้จิตตั้งมั่นที่ลมหายใจ แม้ขณะนั้นสติก็ต้องตามระลึกรู้จึงจะเกิดปัญญา

    ผู้ฟัง ……

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังถามว่า “การที่ไปสู่ป่าก็ดี โคนไม้ก็ดี เรือนว่างก็ดีนั้น จุดประสงค์เพื่อไปเจริญสมาธิก่อนแล้วเจริญสติปัฏฐานใช่ไหม” ถ้าเป็นเรื่องของอานาปานสติให้ทราบว่า การที่จะให้จิตสงบอยู่ที่ลมหายใจตลอดเวลานานๆ ถ้าไม่ใช่ที่สงัดเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่า จิตปกติธรรมดาย่อมคล้อยไปสู่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นผู้ที่เคยเจริญอานาปานสติสมาธิมาแล้ว อัธยาศัยเคยสะสมอบรมมาแล้ว ในขณะที่ว่างจากกิจการงานจึงไปสู่ป่า แต่ไม่ใช่ทุกคนจะต้องไปสู่ป่า การไปสู่ป่าเป็นเรื่องของบุคคลที่เคยเจริญอานาปานสติสมาธิ เคยสะสมมา แต่การเจริญสติปัฏฐานไม่ต้องไปสู่ป่า ไม่ต้องไปสู่โคนไม้ ไม่ต้องไปสู่เรือนว่าง แต่สำหรับผู้ที่เคยสะสมอบรมมาให้สติระลึกตั้งมั่นที่ลมหายใจเป็นเวลานาน เป็นสมาธิ เป็นอานาปานสติสมาธิ ผู้นั้นจึงต้องไปสู่ป่า สู่โคนไม้ สู่เรือนว่างมิฉะนั้นจิตจะสงบตั้งมั่นที่ลมหายใจไม่นาน เวลานี้อาจจะมีบางท่านที่สติระลึกที่ลมหายใจ นานไหม ปรากฏนิดเดียว แต่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตก็คล้อยไปอยู่เรื่อยๆ สู่อารมณ์ต่างๆ

    ผู้ถาม ……

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ผู้ที่จะเจริญ ผู้ที่เจริญสติแต่เคยเจริญอานาปานสติมาก่อน ผู้ที่มีปกติเจริญสติ แต่เพราะเคยเจริญอานาปานสติมาก่อน ผู้นั้นจึงไปสู่ป่า โคนไม้ เรือนว่าง เพราะเป็นอัธยาศัยของผู้นั้น ไม่ใช่ว่าการเจริญสติจะต้องไป ผู้นั้นไปเป็นปกติอย่างนั้นแต่ไม่ได้เข้าใจผิดว่า การเจริญสติปัฏฐานจะต้องไปอย่างนั้นแต่เขาไปตามปกติ

    ผู้ถาม ……

    ท่านอาจารย์ ถึงแม้ผู้ที่เคยเจริญอานาปานสติมาแล้วก็จะต้องเป็นผู้มีปกติเจริญสติ ในขณะที่บิณฑบาต ฉันภัตตาหาร นั่ง นอน ยืน เดิน เคลื่อนไหว พูด นิ่ง คิด ประกอบกิจการงาน หรือแม้ขณะที่ไปสู่ป่าก็ต้องมีสติเจริญสติเป็นปกติ แต่ใครจะไปหรือไม่ไปก็แล้วแต่ การเจริญสติปัฏฐานเป็นไปตามอัธยาศัยของแต่ละบุคคล ไม่ได้หมายความว่า จะต้องไปเจริญสติปัฏฐานที่นั่น เขาไม่ใช่ไปเพื่อเจริญ ปกติเขาไปเพราะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติและอัธยาศัยเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ใครเคยมีอัธยาศัยอย่างไรก็ไปอย่างนั้นแล้วระลึกได้ เป็นอัธยาศัยที่เขาไปเหมือนเวลานี้ท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะไปที่ไหนก็ไปเป็นอัธยาศัย แต่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ เพราะฉะนั้นผู้ที่เคยเจริญอานาปานสติ มีอัธยาศัยไปก็ไปตามธรรมดา คนนี้ไปสู่ที่นั่น คนนั้นไปสู่อีกที่หนึ่ง อีกคนไปสู่อีกที่หนึ่ง แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นปรากฏเป็นอารมณ์ในขณะนั้น เป็นผู้มีปกติเจริญทำไม “จะต้องไปเจริญ” ปกติเขาเจริญแต่เขาไปที่โน่น ทีนี้ปกติท่านผู้หนึ่งผู้ใดเจริญแล้วมาวัดก็ไปวัด คนหนึ่งไม่มาวัด อีกคนหนึ่งไปป่า เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ปกติเจริญมหาสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา เป็นเรื่องของมหาสติปัฏฐาน

    ผู้ถาม ……

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ใครจะไปไหนก็ตามใจ คนไหนจะไปป่า คนไหนจะไปวัด คนไหนจะไปหาเพื่อน คนไหนจะไปเฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็แล้วแต่จะไปทั้งนั้น ปกติผู้นั้นเคยเจริญอานาปานสติเขาก็ไปป่า เพราะทราบว่า การมีสติตั้งมั่นที่ลมหายใจจะตั้งมั่นไม่นานถ้าไม่ไปสู่ที่สงัดเช่นนั้น เคยศึกษา เคยทราบ เคยปฏิบัติ เคยอบรมจนกระทั่งเป็นนิสัยที่จะไปที่นั้น แต่จะต้องมีสติระลึกรู้ตลอดเวลา เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ มิฉะนั้นเวลาที่จิตสงบสติระลึกรู้ไม่ได้ ที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะกล่าวว่า “ไปเจริญสมาธิเสียก่อนเป็นปฐมฌาณ แล้วยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา” ไม่ใช่จะเป็นไปได้ด้วยความต้องการหรือด้วยอัตตา แต่จะเป็นไปได้เพราะเหตุว่า เคยเป็นผู้มีปกติเจริญสติ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจิตสงบก่อนจะถึงปฐมฌาณสติก็ระลึกได้ หรือแม้ว่าปฐมฌานเกิดแล้วสติก็ตามระลึกได้ แต่ถ้าไม่ใช่ผู้ที่มีปกติเจริญสติ สติจะไม่เกิดเลยเป็นปฐมฌาน เป็นทุติยฌาน เป็นตติยฌาน เป็นจตุตถฌาน และเป็นปัญจมฌานสติก็ไม่เกิดเลย หรือว่าออกจากฌานต่างๆ เหล่านั้นมาแล้ว สติก็ไม่เกิดไม่ตามระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปในขณะนั้นเลย

    ผู้ถาม ……

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ชีวิตปกติใครจะไปที่ไหนอย่างไรก็แล้วแต่บุคคลเพราะเคยอบรมมาในเรื่องการไป เพราะเคยเจริญอานาปานสติมาแล้วจึงได้ไป แต่ผู้ใดไม่เคยเจริญไม่ได้ไปก็ระลึกรู้กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมได้

    ผู้ถาม ……

    ท่านอาจารย์ เคยเจริญมาก่อน เพราะเหตุว่า สมถภาวนานั้นมีก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอัธยาศัยของผู้นั้นแล้ว ขอให้ระลึกถึงความหมายของมหาสติปัฏฐานว่า “ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่า สติสามารถจะแทรกตามระลึกรู้ลักษณะของธรรมทั้งปวงได้” จะขอกล่าวถึงพยัญชนะเป็นลำดับไป ที่ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า ที่ชื่อว่าจะเห็นกายในกายนั้นคืออย่างไร

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี

    พยัญชนะที่ว่าป่า ที่ว่าโคนไม้ ที่ว่าเรือนว่าง ก็ควรจะได้ทราบความหมายที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ภาค ๑ อานาปานกถา ได้แสดงความหมายของคำว่า ไปสู่ป่าก็ดี มีข้อความว่า

    คำว่า อรัญฺญํ หมายความว่า สถานที่ทุกแห่งนอกเสาเขื่อนไป สถานที่นั้นเป็นป่า

    ใน อภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ ภาค ๒ ฌานวิภังค์ คือ เป็นการจำแนกฌานซึ่งเป็นสุตันตภาชนีย์ มีข้อความว่า

    ป่า ได้แก่ บริเวณนอกเสาเขื่อนทั้งหมดนั้น

    นอกเสาเขื่อนที่นี้ ก็คือ นอกเขตบ้าน นอกอาคารนั่นเอง ถ้าไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่อาคาร ก็เป็นป่า

    ใน สมันตภาสาทิกา อรรถกถา พระวินัย อานาปานสติสมาธิกถา มีข้อความกล่าวถึงการเจริญอานาปานสติสมาธิว่า อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร

    บทว่า ไปสู่ป่าก็ดี มีพยัญชนะอธิบายว่า คือ ไปสู่ป่าอันสะดวกแก่ความสงัด แห่งใดแห่งหนึ่ง

    บรรดาป่าทั้งหลาย อันมีลักษณะที่กล่าวไว้แล้วอย่างนี้ว่า ชื่อว่าป่า ได้แก่ สถานที่ออกไปภายนอกเสาเขื่อน ทั้งหมดนี้จัดเป็นป่า ดังนี้

    และว่า เสนาสนะ ชั่วระยะ ๕๐๐ ธนู คือ ๕๐๐ ธนูห่างจากบ้านเป็นอย่างต่ำ ชื่อว่าเสนาสนะป่า ดังนี้

    เพราะฉะนั้นเรื่องของพยัญชนะต้องเข้าใจความหมายของคำว่าป่าเสียก่อนว่า หมายความถึงสถานที่ทุกแห่งนอกเสาเขื่อนไป ท่านใช้พยัญชนะว่า เสาเขื่อน ถ้าต้องการความละเอียดก็ต้องดูในอรรถกถาฎีกาต่อไปอีก แต่ความหมายสำคัญแม้ใน อานาปานสติกถา ที่มีกล่าวไว้ใน สมันตภาสาทิกา ที่เป็นอรรถกถาพระวินัย มีว่า

    บทว่า ไปสู่ป่าก็ดี มีพยัญชนะอธิบายว่า คือ ไปสู่ป่าอันสะดวกแก่ความสงัด สำหรับอานาปานสติสมาธิ

    เพราะเหตุว่า ลมหายใจมีแต่เป็นสภาพที่ละเอียดประณีตมาก ไม่เหมือนกับธรรมชาติที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่จิตคล้อยไปอยู่ตลอดเวลา การให้สติตั้งมั่นอยู่ที่ลมหายใจเป็นสมาธิได้จึงต้องไปสู่ที่สงัด เพราะฉะนั้นคำว่า “ไปสู่ป่าก็ดี” นั้นคือไปสู่ป่าอันสะดวกแก่ความสงัด ใน อภิธรรมปิฎก เล่ม ๔ วิภังคปกรณ์ ภาค ๒ ฌานวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ ได้อธิบายความหมายของคำว่า สงัด

    บทว่า สงัด มีอธิบายว่า แม้หากเสนาสนะใดจะอยู่ในที่ใกล้ แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนกล่นด้วยเหล่าคฤหัสถ์ บรรพชิต ด้วยเหตุนั้นเสนาสนะนั้นชื่อว่า สงัด

    แม้หากเสนาสนะใดจะอยู่ในที่ไกล แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนกล่นด้วยเหล่า คฤหัสถ์ บรรพชิต ด้วยเหตุนั้นเสนาสนะนั้นชื่อว่า สงัด

    คำว่า เกลื่อนกล่น ในที่นี้ คือ วุ่นวายนั่นเอง ไม่ใช่ว่าไม่มีใครเลย ที่เขาคิชกูฎพระผู้มีพระภาคก็มิได้ประทับเพียงพระองค์เดียว ถึงแม้เป็นที่สงบ เป็นที่สงัด ก็มีพระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในบริเวณเขาบริเวณป่านั้นด้วย เพราะฉะนั้น คำว่า สงัดจึงต้องมีคำอธิบายว่า แม้หากเสนาสนะใดจะอยู่ในที่ใกล้ แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนกล่น คือ ไม่วุ่นวายด้วยเหล่าคฤหัสถ์ บรรพชิต ด้วยเหตุนั้นเสนาสนะนั้นชื่อว่า สงัด

    เพื่อให้พยัญชนะสมบูรณ์ขึ้น ข้อความต่อไปมีว่า

    แม้หากเสนาสนะใดจะอยู่ในที่ไกล แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนกล่นด้วยเหล่า คฤหัสถ์ บรรพชิต ด้วยเหตุนั้นเสนาสนะนั้นชื่อว่า สงัด

    เพราะฉะนั้น ความหมายของคำว่า สงัด ไม่ใช่อยู่ที่ใกล้ หรือไกล แต่อยู่ที่ไม่วุ่นวาย เพราะเหตุว่าไกลก็วุ่นวายได้ ที่เขาคิชกูฏวุ่นวายก็ได้ ที่พระวิหารเชตวัน ถ้ามีภิกษุที่ไม่สำรวมกายวาจาเป็นอาคันตุกะมา ก็วุ่นวายได้ ในขณะนั้นก็ไม่ใช่ที่สงัดสำหรับอานาปานสติสมาธิ สำหรับ

    บทว่า เสนาสนะ ได้แก่ เสนาสนะ คือ เตียงบ้าง ตั่งบ้าง ที่นอนบ้าง หมอนบ้าง วิหารบ้าง เพิงบ้าง ปราสาทบ้าง ป้อมบ้าง โรงบ้าง

    เสนาสนะ คือ ที่เร้นลับ ถ้ำบ้าง โคนไม้บ้าง พุ่มไม้บ้าง หรือภิกษุยับยั้งอยู่ในที่ใด ที่นั้นทั้งหมดชื่อว่า เสนาสนะ

    ท่านผู้ฟังอาจจะสงสัยในพยัญชนะที่ว่า เสนาสนะจะเป็นอะไรก็ได้ เตียง ตั่ง ที่นอน หมอน วิหาร เพิง หรือแม้ปราสาท ป้อม ถ้ำ โคนไม้ พุ่มไม้ ที่ภิกษุอยู่ในที่ใด ที่นั้นทั้งหมดชื่อว่า เสนาสนะ

    นอกจากป่า ซึ่งได้แก่บริเวณนอกเสาเขื่อนทั้งหมดนั้น ก็ยังมีเสนาสนะ คือ รุกขมูล ได้แก่โคนไม้ อพฺพต ได้แก่ภูเขา กันทร ได้แก่ซอกเขา คิริคูหา ได้แก่ถ้ำในเขา สุสาน ได้แก่ป่าช้า อัพโพกาส ได้แก่ที่แจ้ง ตลาลปุญชะ ได้แก่ลอมฟาง

    ไม่ใช่แต่เฉพาะป่ากับโคนไม้ รวมทั้งที่อื่นด้วย แล้วก็ดง คือ เสนาสนะที่อยู่ที่ไกล เป็นชื่อของเสนาสนะ ราวป่า น่าหวาดกลัว น่าหวาดหวั่น ที่อยู่ปลายแดน ไม่อยู่ใกล้มนุษย์ เป็นชื่อของเสนาสนะที่หาความเจริญได้ยาก

    ถ้าเป็นที่ห่างไกลอย่างนั้นแล้ว ในพระไตรปิฎกใช้คำว่า ดง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะไปที่โคนไม้ หรือว่าภูเขา ซอกเขา ถ้ำในเขา สุสาน คือ ป่าช้า หรือที่แจ้ง ก็เป็นที่สงัด สมควรแก่การที่สติจะตั้งมั่นที่ลมหายใจได้ ผู้นั้นเคยเจริญอบรมมาอย่างนั้น ก็ไปสู่ที่นั้น

    แต่ถ้าเป็นสถานที่สงัดในความหมายของ ไปสู่ป่าอันสะดวกแก่ความสงัด ความสงัดจึงได้แสดงไว้ว่า

    แม้หากเสนาสนะใดจะอยู่ในที่ใกล้ แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนกล่นด้วยเหล่าคฤหัสถ์ บรรพชิต ด้วยเหตุนั้นเสนาสนะนั้นชื่อว่า สงัด

    และเสนาสนะ ยังได้บอกไว้ว่า คือ เตียงบ้าง ตั่งบ้าง จะอยู่ที่ไหนก็ได้ ที่ในวิหารก็ได้ เพิงก็ได้ ปราสาทก็ได้ ป้อมก็ได้ โรงก็ได้ ขอให้เป็นที่สงัดเพื่อจะให้สติระลึกตั้งมั่นที่ลมหายใจ เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นการเจริญอานาปานสติสมาธิแล้ว ไม่ใช่การระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏอย่างอื่น นอกจากการให้จิตสงบระงับที่ลมหายใจนาน นั่นเป็นเรื่องของอานาปานสติสมาธิ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    26 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ