รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 034


    ตอนที่ ๓๔

    แล้วก็เลือกไม่ได้ด้วยที่จะกะเกณฑ์ให้ประจักษ์รูปนั้นนามนั้นสำหรับทุกๆ คน แล้วแต่ว่าถ้าปัญญาของใครที่ได้สะสมการเจริญสติปัฏฐาน สมบูรณ์ที่จะเกิดนามรูปปริจเฉทญาณในขณะนี้ ปัญญาความรู้ชัด จะรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทางมโนทวาร โดยสภาพความไม่ใช่ตัวตน ไม่สืบต่อในลักษณะของการที่เป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นจะกะเกณฑ์ไม่ได้ว่าใครจะต้องรู้เฉพาะรูปนั้น หรือว่าจะต้องรู้เฉพาะนามนี้ และบุคคลหนึ่งจะรู้ลักษณะของนามกี่ชนิด รูปกี่ชนิด ในขณะที่ปัญญาสมบูรณ์เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ก็ไม่สามารถที่จะจำกัดไปได้ ว่าจะต้องรู้นามรูปเท่าๆ กัน หรือว่ากี่ประเภทเท่าๆ กัน แต่ว่าแค่นั้นก็ยังไม่พอ ผู้เจริญสติปัฏฐานก็ต้องเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปต่อไปอีก การรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยก็ละเอียดขึ้นมากขึ้น ไม่ใช่ว่าผู้เจริญสติปัฏฐาน ไม่รู้ ไม่รู้ ก็จะไปรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ หรือว่าเพียงรู้ปัจจัยนิดๆ หน่อยๆ ก็จะละคลาย แล้วก็จะไปประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามรูปเป็นอุทยัพพยญาณ เป็นเรื่องของการเจริญสติปัญญาเพิ่มความรู้มากขึ้น แล้วก็เรื่องของการที่จะสมบูรณ์เป็นญาณแต่ละขั้นนั้นก็เป็นเรื่องของอนัตตา ขอให้ทราบว่า การรู้ลักษณะของปัจจัย หรือว่าการรู้ลักษณะของนามและรูป ก็ตามการรู้สภาพธรรมทุกอย่างตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ไม่คลาดเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นรูป ๒๘ รูป บุคคลใดจะรู้ลักษณะของรูปใดก็แล้วแต่สติปัญญาของผู้นั้น แต่เป็นรูปที่มีลักษณะจริงตรงตามลักษณะของรูปนั้นๆ ที่ได้ทรงแสดงไว้ ไม่ใช่ว่าผสมรวมกันเป็นรูปหนึ่งรูปใดเกิดขึ้น แต่ว่าผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของรูปก็จะต้องรู้ชัดในลักษณะของรูปนั้นๆ ตามความเป็นจริงด้วย แล้วก็เรื่องของปัจจัยนี้ก็เช่นเดียวกัน บางทีโดยการศึกษา ท่านก็รู้สึกว่า เหมือนกันตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ทุกอย่าง แต่ว่าผู้เจริญสติรู้ชัดในลักษณะของปัจจัยที่ได้ทรงแสดงไว้ว่า เป็นสิ่งที่จริงตรง ในขณะที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ด้วยปัญญาที่สมบูรณ์ขึ้น คมขึ้น ไวขึ้น ไม่ใช่เพียงขั้นต้นต้นก็จะให้ปัญญาไปเท่ากับญาณนั้น แล้วก็กล่าวว่า รู้แล้ว ตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ ถ้วยแก้ว ๒ ใบ รูปสัณฐานต่างกัน ลายต่างกัน ขอให้ทราบว่า แท้ที่จริงแล้วรูปภายในก็ไม่พ้นจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งเป็นรูปที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ ถ้วย จาน ชาม เครื่องใช้ทุกสิ่งทุกอย่าง เสื้อผ้า อาหาร ที่พอใจไม่พอใจ ในวันหนึ่งวันหนึ่งก็ไม่พ้นจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม นั่นเอง ถ้าผู้ที่ระลึกลักษณะของรูปภายใน รูปภายนอก ก็ย่อมจะรู้ชัด ในสภาพของความเป็นธาตุ ทางกายที่กระทบปรากฏ ไม่ว่าภายในหรือภายนอก ก็เพียงเท่านั้น คือเป็นธาตุภายใน ดินน้ำไฟลมภายใน ดินน้ำไฟลมภายนอก วันหนึ่งวันหนึ่ง โลกหนึ่ง ที่มีชีวิต เป็นไปในวันหนึ่งวันหนึ่ง ก็ธาตุภายในดินน้ำไฟลมภายใน ดินน้ำลมภายนอก แต่ว่าเป็นปัจจัยให้เกิดความแช่มชื่นบ้าง ความโทมนัสบ้าง ความชอบบ้าง ความไม่ชอบบ้างได้ ด้วยอำนาจของกิเลสที่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นถ้วยแก้ว ๒ ใบ รูปสัณฐานต่างกัน ลายต่างกัน เป็นปัจจัยให้เกิดความชอบและความไม่ชอบได้ในถ้วยแก้ว ๒ ใบนั้น ถ้าถูกอัธยาศัยกับใบไหน ความชอบก็เกิดขึ้น ไม่ถูกอัธยาศัยกับสัณฐานของอีกใบหนึ่ง กับลวดลายสัณฐานของอีกใบหนึ่ง ความไม่ชอบก็เกิดขึ้น เพียงชั่วตาเห็น ก็ยังนำมาซึ่งความแช่มชื่นหรือความโทมนัสได้ ขอให้เห็นความไวของกิเลสที่มีอยู่ในใจที่พร้อมที่จะรับสิ่งที่กระทบ เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้างทางตา ทั้งหูก็เหมือนกัน สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นปรากฏเฉพาะทางหู การที่มีสัญญาจดจำไว้ว่าเป็นเสียงคนนั้นเสียงคนนี้สภาพที่รู้อย่างนั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง แต่ลักษณะของเสียงก็เป็นแต่เพียงความกังวาลของปฐวีธาตุที่แข็งเกิดปรากฏกระทบทางหู ปรากฎทางหูเท่านั้น ไม่กระทบทวารอื่น ปรากฏทางหูนิดเดียวแล้วก็หมดไป เกินกว่าที่จะเป็นเจ้าของ หรือว่าเกินกว่าที่จะไปยึดไปจับว่าเป็นของเราได้ ไม่ใช่สภาพที่เป็นตัวตน ไม่ใช่สภาพที่เป็นสัตว์เป็นบุคคล แต่แม้กระนั้น ความเข้าใจในอรรถ ถ้าเป็นเสียงสรรเสริญ เสียงยกย่อง เสียงชมเชย ก็ทำให้เชื้อที่มีอยู่ในใจ กิเลสที่หนาแน่นพร้อมที่จะเกิดได้ทันทีเป็นความยินดีบ้าง เป็นความยินร้ายบ้าง เป็นความแช่มชื่นบ้าง เป็นความโทมนัสบ้าง ความเป็นปัจจัยของสิ่งที่กระทบ ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ใช่เพียงนึก แต่ว่าผู้เจริญสติรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏ แล้วก็พิจารณา มีความละเอียด มีความคม มีความไวขึ้น เพราะเหตุว่ารู้ลักษณะว่า ชอบไม่ใช่เห็น ชอบไม่ใช่ได้ยิน เป็นลักษณะคนละชนิด เกิดขึ้นเพราะกระทบรู้สิ่งที่ปรากฏผ่านตาในขณะใด ทางหูในขณะใด ตรงตามที่ท่านได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฏก ไม่ว่าจะเป็นความแช่มชื่นหรือความไม่แช่มชื่นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุว่ามีหู มีเสียงมากระทบ มีสีมากระทบ ทั้งสิ้น นี่ก็เป็นเรื่องที่ผู้เจริญสติปัฏฐานก็จะรู้ได้แล้วก็ละคลายการที่ไม่รู้ การที่หลงยึดถือนามนั้นบ้างรูปนี้บ้าง ว่าเป็นตัวตน แต่สิ่งเหล่านี้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าไม่รู้ ไม่ละ ไม่มีโอกาสเลยที่ไม่รู้แล้วจะละได้ แล้วความรู้ก็ต้องเป็นความรู้ที่มากขึ้น เพิ่มขึ้นเจริญขึ้นด้วยจึงจะละได้ไม่ใช่นิดๆ หน่อยๆ นะคะก็ไปรู้ผิดๆ ถูกๆ โดยที่ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงแล้วก็ไม่ตรงกับที่ได้ทรงแสดงไว้ อย่าง”นามสั่ง” ท่านอาจจะเข้าใจจนชิน คิดว่า นามสั่งรูป แต่ผู้เจริญสติ นามอะไรสั่งบ้างไหม ระลึกรู้นามสั่งอันไหนบ้างไหม ระลึกรู้นามที่สั่งบ้างไหม มีไหม ไม่มี เพราะเหตุว่า นามที่สั่งไม่มีจริง นามเป็นปัจจัยให้เกิดรูป ท่านใช้คำว่า “เป็นปัจจัย” แต่ไม่ใช่นามสั่ง อย่างนั่งอยู่นี่ต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งอยู่ที่อื่น โลภมูลจิตความต้องการสิ่งนั้นเกิดขึ้นในทางอกุศล หรือว่ากุศลจิตความต้องการที่จะทำให้เป็นไปในทานหรือเป็นไปในศีลเกิดขึ้น ก็ทำให้รูปไหวไป จิตนั่นเองเป็นปัจจัยให้รูปนั้นไหวไป ไม่ใช่มีนามสั่งให้รูปลุกขึ้นยืน เวลาที่นั่งนอนยืนเดินวันหนึ่งวันหนึ่ง เกิดนามสั่งขึ้นก่อนหรือเปล่า เกิดนามสั่งขึ้นก่อนหรือเปล่า กำลังนั่งอยู่นี้ ลุกขึ้นลุกมาแล้วเกิดนามสั่งขึ้นก่อนหรือเปล่าว่า ให้รูปลุกขึ้น แต่ขอให้ทราบถึงความจริง ผู้เจริญสติเป็นผู้ที่รู้ความจริง รู้ของจริง สิ่งที่มีจริง ใครจะยกมือ ใครจะเดินไป ใครจะหยิบ ใครจะทำอะไร ก่อนที่จะเคลื่อนไหวไปแต่ละครั้ง มีนามสั่งเกิดขึ้นที่สติไม่รู้หรือเปล่า ไม่มี เพราะเหตุว่าไม่มีนามที่สั่ง ถ้าเกิดนึกขึ้นมาว่าจะยืนเป็นนามคิดนึก รูปยังไม่ได้ยืน เป็นนามที่คิดนึก แต่รูปยังนั่งอยู่ และนามคิดนึกก็ดับไป ส่วนความต้องการจะยืนก็มีนามที่มีความต้องการเป็นปัจจัยให้รูปนั้นไหว แต่ไม่ใช่สั่ง นี้เป็นสิ่งที่ท่านผู้ฟังจะต้องเจริญสติ เข้าใจพยัญชนะอรรถให้ตรงตามความเป็นจริง ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็จะเคลื่อนไปนิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ ทำให้ท่านไม่สามารถที่จะรู้แจ้งลักษณะของนามและรูป ตามความเป็นจริงได้ อย่างนามนึกคิดไม่รู้เลยใช่ไหม ก็ไปเป็นนามสั่งเสีย แต่ว่าความจริงแล้วที่คิดว่าจะลุกขึ้น หรือจะทำอะไรนั่น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมที่นึก แต่ว่ารูปก็ยังอยู่อย่างนั้น ส่วนที่จะเดินไป จะพูดไปนั่น ก็เป็นนามที่ทำให้รูปนั้นไหวไป แต่ไม่ใช่ว่าต้องสั่ง

    สติ เป็นโสภณเจตสติ เกิดกับโสภณจิตเท่านั้น เป็นสภาพที่ระลึกได้แล้วแต่ว่าจะเป็นขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมาธิ หรือว่าขั้นสติปัฏฐาน แต่ว่าในขณะที่ให้ทานก็เป็นสติปัฏฐานได้ เพราะว่ามีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม เกิดปรากฏตลอดเวลา เพียงแต่ว่าถ้าเป็นกุศลจิต สติก็ระลึกรู้ในสภาพที่่ผ่องใสเป็นกุศล ถ้าเป็นอกุศลจิต สติก็ระลึกรู้ในลักษณะที่เป็นอกุศลว่าไม่ใช่ตัวตน

    ถ้าใช้พยัญชนะว่า อาตาปี สัมปชาโน สติมา หมายความว่า ความเพียรรู้สึกตัวเห็นกายในกายขณะนี้ มีเห็น มีความเพียรเกิดขึ้นที่จะใส่ใจระลึก คือรู้สึกตัวไหม เมื่อรู้สึกตัวก็เห็นกายในกาย รู้ว่าเป็นรูปหรือว่าเป็นนาม เห็นเวทนาในเวทนา ถ้าระลึกที่เวทนาก็รู้ว่าเป็นเวทนา เห็นจิตในจิต ถ้าระลึกที่จิตก็รู้ว่าเป็นจิต เห็นธรรมในธรรม ถ้าระลึกที่ธรรมก็รู้ว่าเป็นธรรม ที่จะรู้ว่าเป็นธรรมได้ ก็จะต้องมีความเพียรที่จะระลึกรู้สึกตัว แล้วก็เห็นธรรมว่าเป็นธรรม เห็นจิตว่าเป็นจิต เห็นเวทนาว่าเป็นเวทนา เห็นกายว่าเป็นกาย อาตาปี คือ ความเพียร ไม่ใช่เพียรอย่างอื่น เพียรระลึกรู้สึกตัว รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นกายก็รู้ว่าเป็นกาย เวทนาก็รู้ว่าเวทนา จิตก็รู้ว่าจิต ธรรมก็รู้ว่าธรรม

    สำหรับข้อความในพระไตรปิฎกที่จะช่วยให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจความหมายของคำว่า อารมณ์ปัจจุบัน คือ ในขณะนี้

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เสทกสูตรที่ ๒ (ข้อ ๗๖๓ ทุติยเสทกสูตร) มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวสุมภะ ชื่อเสทกะ ในสุมภชนบท ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนหมู่มหาชนได้ทราบข่าวว่า มีนางงามในชนบท นางงามในชนบทพึงประชุมกัน ก็นางงามในชนบทนั้นน่าดูอย่างยิ่งในการฟ้อนรำ น่าดูอย่างยิ่งในการขับร้อง หมู่มหาชนได้ทราบข่าวว่า นางงามในชนบทจะฟ้อนรำขับร้อง พึงประชุมกันยิ่งขึ้นกว่าประมาณ

    ครั้งนั้นบุรุษผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย ปรารถนาความสุข เกลียดทุกข์ พึงมากล่าวกะหมู่มหาชนนั้นอย่างนี้ว่า

    ดูกร บุรุษผู้เจริญ ท่านพึงนำภาชนะน้ำมันอันเต็มเปี่ยมนี้ไปในระหว่างที่ประชุมใหญ่กับนางงามในชนบท แล้วจักมีบุรุษเงื้อดาบตามบุรุษผู้นำหม้อน้ำมันนั้นไปข้างหลังๆ บอกว่า

    ท่านจักทำน้ำมันนั้นหกแม้หน่อยหนึ่งในที่ใด ศีรษะของท่านจักขาด ตกลงไปในที่นั้นทีเดียว

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจักสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษผู้นั้นจักไม่ใส่ใจภาชนะน้ำมันโน้น แล้วพึงประมาทในภายนอกเทียวหรือ

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    ไม่เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราทำอุปมานี้ เพื่อให้เข้าใจเนื้อความนี้ชัดขึ้น เนื้อความในข้อนี้ มีอย่างนี้แล

    คำว่า ภาชนะน้ำมันอันเต็มเปี่ยมเป็นชื่อของกายคตาสติ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า กายคตาสติจะเป็นของอันเราเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดังยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง กระทำไม่หยุด สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล

    พระธรรมเทศนาทั้งหมดที่ทรงแสดงกับพระภิกษุเป็นเรื่องการเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้แจ้งธรรม เพื่อบรรลุอริยสัจธรรม แม้แต่ในคำอุปมานี้ จะต้องเดินถือภาชนะน้ำมันไปโดยที่ว่า ถ้าประมาท ไม่ใส่ใจในภาชนะน้ำมันที่ถือไป ก็จะต้องถึงแก่ความตาย ฉันใด ถ้าประมาทไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็จะต้องถึงแก่ความตายเหมือนกัน เพราะเหตุว่าไม่มีโอกาสที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละเธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า กายคตาสติจักเป็นของอันเราเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดังยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง กระทำไม่หยุด สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล

    กายคตาสติ เป็นอีกชื่อหนึ่งของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ใช่หมายเฉพาะปฏิกูลมนสิการบรรพ หรือธาตุมนสิการบรรพ เพราะเหตุว่าชื่อกายคตาสติ สติที่ระลึกเป็นไปในกาย ก็ทุกบรรพ และสำหรับการระลึกที่เป็นไปในกายก็ไม่ใช่ว่าจะรู้แต่เฉพาะกาย แม้เวทนาก็รู้ แม้จิตก็รู้ แม้ธรรมก็รู้

    มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ กายคตาสติสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไรๆ ก็ตาม เจริญกายคตาสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ชื่อว่า เจริญแล้ว ทำให้มากซึ่งกุศลธรรม ส่วนวิชชาอย่างใดอย่างหนึ่ง อันรวมอยู่ในภายในด้วย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลไรๆ ก็ตาม นึกถึงมหาสมุทรด้วยใจแล้ว ชื่อว่านึกถึงแม่น้ำน้อยที่ไหลมาสู่สมุทรสายใดสายหนึ่งอันรวมอยู่ในภายในด้วยฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุไรๆ ก็ตามเจริญกายคตาสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ชื่อว่าเจริญ และทำให้มากซึ่งกุศลธรรมส่วนวิชชาอย่างใดอย่างหนึ่ง อันรวมอยู่ในภายในด้วย

    จะต้องพิจารณารู้ลักษณะของรูปว่าเป็นรูป รู้ลักษณะของนามว่าเป็นนาม และสภาพของสิ่งที่ปรากฏที่สติระลึกนั้นก็ชั่วขณะเล็กน้อยเท่านั้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะก็ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏต่อไป เวทนาที่เกิดที่กายก็รู้ว่าเป็นเวทนา ถ้าเป็นผู้ที่ชื่อว่ามีสติแล้ว สติระลึกสิ่งใด สิ่งนั้นดับแล้ว ก็เป็นผู้ที่มีสติระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏต่อไป


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    28 พ.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ